1531 1141 1735 1359 1956 1578 1057 1838 1148 1327 1359 1263 1422 1069 1118 1693 1502 1603 1374 1869 1377 1045 1349 1843 1764 1958 1764 1305 1295 1738 1354 1062 1264 1092 1627 1968 1407 1438 1897 1253 1451 1784 1431 1401 1464 1139 1570 1674 1868 1472 1727 1498 1454 1891 1217 1011 1353 1884 1885 1511 1424 1167 1853 1828 1608 1214 1740 1469 1649 1545 1503 1534 1352 1642 1703 1586 1803 1121 1595 1376 1249 1537 1303 1183 1366 1818 1284 1727 1771 1873 1520 1601 1212 1980 1671 1008 1947 1909 1552 ยกฟ้อง ม.116 คดี 13 นักกิจกรรมชุมนุมปราศรัยวิจารณ์คสช. หน้าสน.ปทุมวัน ปี 58 | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ยกฟ้อง ม.116 คดี 13 นักกิจกรรมชุมนุมปราศรัยวิจารณ์คสช. หน้าสน.ปทุมวัน ปี 58

3023
 
 
18 ธันวาคม 2566 เวลา 10.00 น. ห้อง 405 ชั้น 4 ศาลอาญากรุงเทพใต้  มีนัดอ่านคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในราชอาณาจักร ของอดีตนักกิจกรรมและนักศึกษาจากกลุ่มดาวดินและขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) จำนวน 13 ราย ซึ่งถูกดำเนินคดีสืบเนื่องจากการชุมนุมปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่หน้า สน.ปทุมวัน เมื่อ 24 มิถุนายน 2558
 
โดยจำเลยที่ถูกฟ้องในคดีนี้ 13 คน ได้แก่ 1) รัฐพล ศุภโสภณ 2) อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ 3) ปกรณ์ อารีกุล 4) ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ 5) อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ 6) พายุ บุญโสภณ 7) ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ 8) ศุภชัย ภูครองพลอย 9) วสันต์ เสตสิทธิ์ 10) สุไฮมี ดูละสะ 11) ชลธิชา แจ้งเร็ว 12) พรชัย ยวนยี และ 13) สุวิชชา พิทังกร.
 
ศาลอ่านคำพิพากษา ใจความว่า การชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 ที่หน้าสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันของจำเลยทั้งหมด เป็นการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีการใช้อาวุธ ไม่ได้ปรากฏเหตุการประทะหรือใช้กำลังกับเจ้าหน้าที่ และยุติการชุมนุมเองโดยไม่มีการสลายการชุมนุมจากเจ้าหน้าที่ แม้จะมีการปราศรัยโจมตีคสช. และเชิญชวนประชาชนให้ไม่ยอมรับอำนาจของการรัฐประหาร ก็ถือว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ตามสิทธิพึงมีในรัฐธรรมนูญชั่วคราวซึ่งบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น จึงพิพากษายกฟ้อง 
 
อนึ่ง คดีนี้ในตอนแรกมีผู้ถูกกล่าวหารวมทั้งหมด 17 ราย โดยมีอีกสี่ราย ที่เคยถูกแจ้งข้อหา ได้แก่ วรวุฒิ บุตรมาตร, “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, รังสิมันต์ โรม และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แต่อัยการยังไม่ได้คำสั่งฟ้องทั้งสี่แต่อย่างใด 
 
ที่มาของคดีนี้ ตามคำฟ้องของพนักงานอัยการ ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 กลุ่มจําเลยได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นเวทีปราศรัยชั่วคราว บริเวณใกล้กับ สน.ปทุมวัน โดยมีกลุ่มมวลชนผู้ให้การสนับสนุนอยู่ร่วมด้วยประมาณ 200 คน กล่าวโจมตีรัฐบาลในทํานองว่าไม่ยอมรับหมายจับที่ออกโดยอํานาจศาลทหาร ไม่ยอมรับอํานาจของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มาจากการรัฐประหาร และกล่าวปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์ผลกระทบจากการรัฐประหารในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา ในด้านสิทธิมนุษยชน ทรัพยากร และเสรีภาพในการแสดงออก และกล่าวโจมตีว่ารัฐบาลหนุนหลังกลุ่มนายทุนใช้อํานาจข่มเหงประชาชน ไม่ยอมรับการทำงานของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
 
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการปลุกปั่นท้าทายเจ้าหน้าที่ทหาร และตํารวจ ให้เข้าไปทําการจับกุมตัวจำเลยกับพวกบางส่วน ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลทหาร ในความผิดฐานมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจํานวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป จนเจ้าหน้าที่ทหารและตํารวจหวั่นเกรงว่าหากใช้ดุลพินิจเข้าไปสลายการชุมนุมหรือบุกเข้าไปจับกุมผู้ต้องหาดังกล่าว ออกมาจากกลุ่มมวลชน อาจเกิดการชุลมุนและต่อต้านของกลุ่มมวลชนเพื่อช่วยเหลือหรือแย่งตัวผู้ต้องหา อันจะนําไปสู่วิกฤติการจลาจลก็เป็นได้ 
 
นอกจากนี้ จําเลยกับพวกยังได้เชิญชวนประชาชนทั่วไปให้ออกมาร่วมต่อต้านรัฐบาล พร้อมกับปลุกระดมประชาชนให้ไม่ยอมรับในอํานาจการปกครองของ คสช. เป็นการกระทําที่ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไปด้วยวาจา โดยมีเจตนาอันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
 
พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ (ยศขณะนั้น) เจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายกฎหมาย คสช. ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดี จากเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน 2558 ซึ่งมีการชุมนุมให้กำลังใจกลุ่มนักกิจกรรมและผู้ชุมนุมที่ถูกออกหมายเรียกไปดำเนินคดีจากการชุมนุมครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ทางกลุ่มนักกิจกรรมต้องการแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงในวันดังกล่าว และปฏิเสธการเข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากไม่ยอมรับการใช้อำนาจของ คสช. จึงไปทำกิจกรรมที่หน้า สน.ปทุมวัน
 
เมื่อกลุ่มนักศึกษาจะเดินทางเข้าแจ้งความกลับใน สน.ปทุมวัน กลับถูกปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ สน. จึงมีการตั้งเวทีปราศรัยขึ้นบริเวณหน้าสถานีตำรวจ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่เปิดให้ผู้ที่จะเข้าแจ้งความเท่านั้นเข้าไปใน สน. ขณะทำกิจกรรมมีการร้องเพลง มอบดอกไม้ อ่านบทกวี ดำเนินไปตลอดบ่ายถึงค่ำ ก่อนจะมีการยุติการชุมนุมในเวลาต่อมา
 
ปกรณ์ อารีกุล หนึ่งในจำเลยคดีนี้กล่าวว่า “หลังจากนี้คงต้องรอดูว่าทางพนักงานอัยการจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ เบื้องต้นตนและเพื่อนๆ ขอขอบคุณ ศาลที่มอบความยุติธรรมให้กับพวกตน ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่พึงกระทำได้ไม่ว่าผู้มีอำนาจจะมาจากการรัฐประหารหรือไม่ก็ตาม”