การเก็บข้อมูลคืออะไร
การเก็บข้อมูล (Documentation) เป็นหนึ่งในวิธีการทำงานเพื่อการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนด้วยการบันทึกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพ (restriction or limitation of freedom) หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน (human rights right abuse/violation) ให้ได้รายละเอียดครบถ้วน ถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริง รอบด้านและเป็นระบบ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและเป็นหลักประกันประสิทธิภาพในการนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการทำงานเพื่อวิเคราะห์ วิจัย รายงานข่าว รณรงค์ต่อไป
การเก็บข้อมูลสำคัญอย่างไร
ด้วยพัฒนาการที่ก้าวไกลของเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบันอย่างสื่อสังคมออนไลน์ (Social Network) การเผยแพร่ข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รวดเร็วและง่ายดายเพราะผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโดยทั่วไปสามารถเป็นผู้ส่งสารได้โดยไม่มีมาตรการตรวจสอบอย่างรอบคอบและเป็นระบบทำให้ปรากฏข้อผิดพลาดทั้งโดยไม่เจตนา และในหลายกรณีมีการบิดเบือนเพื่อหวังผลบางประการซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน แม้แต่สื่อมวลชนหรือสำนักข่าวในบางครั้งยังมีความผิดพลาดในการให้ข้อเท็จจริงที่สำคัญตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างตรงไปตรงมาทั้งด้วยเหตุผลทางการค้า แนวนโยบายของสำนักข่าวหรือเหตุผลอื่น การเก็บข้อมูลอย่างถูกต้องแม่นยำจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ท่ามกลางความสับสนและความขัดแย้งในข้อเท็จจริงดังกล่าว
ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพของไอลอว์เก็บข้อมูลกรณีใดบ้าง
การบันทึกข้อมูลของศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพของไอลอว์มีขอบเขตอยู่ที่ "กรณีการละเมิดสิทธิและการจำกัดเสรีภาพเสรีภาพการแสดงออกด้วยการฟ้องร้องหรือบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศไทย รวมทั้งการคุกคามด้วยรูปแบบอื่นๆ เช่น การถูกคุกคามหรือกดดันโดยเจ้าหน้าที่รัฐ” ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน โดยเสรีภาพการแสดงออกนั้นถือตามนิยามตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะที่ประเทศไทยเป็นภาคี เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของสหประชาชาติซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีตั้งแต่ปี 2539
แม้การใช้เสรีภาพการแสดงออกจะถูกจำกัดได้ตามหากขัดต่อบทบัญญัติทางกฎหมายไทย แต่ทางศูนย์ฯก็จะบันทึกการจำกัดเสรีภาพที่เกิดขึ้นไว้ เพราะถือว่าการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกแม้จะทำตามกรอบของกฎหมายก็จำเป็นที่จะต้องได้บันทึกไว้อย่างละเอียด เช่นเดียวกับการจำกัดเสรีภาพที่ไม่ได้ทำตามกรอบของกฎหมาย สำหรับการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกที่ปรากฏในฐานข้อมูลของไอลอว์ประกอบไปด้วย การดำเนินคดีบุคคลด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ข้อหายุยง ปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เป็นต้น รวมไปถึงการจำกัดเสรีภาพด้วยวิธีการอื่น เช่น การส่งทหารไปที่บ้านของนักกิจกรรมทางสังคมหรือการปิดสื่อปิดเว็บไซต์ เป็นต้น
การเก็บข้อมูลทำอย่างไร
เมื่อสามารถระบุวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บข้อมูล ขอบเขตของกรณีการจำกัดเสรีภาพหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอดจนแหล่งข้อมูลได้อย่างชัดเจนแล้ว การเก็บข้อมูลมีวิธีการหลากหลายขึ้นอยู่กับความพร้อม (availability) ของแหล่งข้อมูลและผู้เก็บข้อมูลประกอบกับเหตุผลด้านความปลอดภัยและจริยธรรม อย่างไรก็ตามสำหรับข้อมูลในฐานข้อมูลของไอลอว์นั้นส่วนใหญ่ได้มาจากการสัมภาษณ์หรือรายงานโดยตรงจากผู้เกี่ยวข้องในกรณีนั้น อาทิ จำเลยหรือผู้ต้องหา ทนายความ ญาติ หากเป็นไปได้อาจสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง เอกสารทางราชการที่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ เช่น คำพิพากษา บันทึกการพิจารณาคดี การร่วมสังเกตการณ์พิจารณาคดี ข่าวสารที่มีการรายงานจากสำนักข่าวที่มีความน่าเชื่อถือโดยมีการตรวจสอบ (Cross Check) ข่าวจากหลายสำนัก นอกจากนี้ยังเก็บจากที่เกิดเหตุเช่นพื้นที่ชุมนุมด้วย
ทันทีที่ได้รับรายงานเกี่ยวกับการละเมิดหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออก วิธีการที่สามารถทำได้เป็นอย่างแรกในขณะนั้นจะถูกนำมาใช้ก่อน เช่น หากพบจำเลยที่ศาลโดยบังเอิญจะทำการสัมภาษณ์ทันทีหรือหากมีรายงานข่าวเกี่ยวกับกรณีหนึ่งบนเว็บไซต์ผู้บันทึกข้อมูลจะเก็บหลักฐานนั้นด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ไว้ อย่างไรก็ตามวิธีการอื่นๆ จะถูกนำมาใช้เมื่อจำเป็น เพื่อความครบถ้วนและถูกต้องแม่นยำจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ไม่ว่าด้วยวิธีการใด ข้อมูลทั้งหมดจะถูกจัดเก็บลงแบบบันทึกข้อมูลรายกรณีที่เรียกว่าเคสฟอร์ม (Case form) เมื่อตรวจสอบความถูกต้องเพียงพอแล้วจะเผยแพร่ให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโดยทั่วไปสามารถเข้าถึงหรือสืบค้นได้ที่ฐานข้อมูลออนไลน์ของเรา อย่างไรก็ตามด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของผู้เก็บข้อมูลและผู้ให้ข้อมูล รวมทั้งเหตุผลด้านจริยธรรมและความเป็นส่วนตัว ข้อมูลบางอย่างที่สามารถทำให้ระบุอัตลักษณ์ของเหยื่อหรือจำเลย เช่นนามสกุลหรือชื่อจริงในบางกรณีจะถูกละไว้ นอกจากนี้เพื่อความทันสมัย (up-to-date) ในแต่ละกรณีจะมีการบันทึกความคืบหน้าหรือความเคลื่อนไหวที่สำคัญเสมอตราบจนกรณีนั้นสิ้นสุด ไม่ว่าด้วยผลของคำพิพากษาศาล หรือผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัวในบางกรณี
ฐานข้อมูลคดีเสรีภาพ: ฐานของการสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนในสังคม
ไอลอว์เผยแพร่ข้อมูลการละเมิดเสรีภาพการแสดงออกในประเทศไทยรายกรณีให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและสืบค้นได้บนฐานข้อมูลของศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพเพื่อส่งเสริมการติดตามและให้ความสนใจหรือใส่ใจสถานการณ์สิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งสำหรับสื่อมวลและคนทั่วไป
นอกจากนี้ เราก็หวังว่าการมีฐานข้อมูลที่บันทึกข้อมูลการละเมิดเสรีภาพการแสดงออกที่ครบถ้วนและรอบด้าน จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อการรณรงค์ของภาคประชาสังคม ในการเรียกร้องนโยบายหรือกฎหมายที่สอดรับกับมาตรฐานสากลในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมถึงเป็นจุดตั้งต้นในการนำผู้ละเมิดสิทธิเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในอนาคต ที่สำคัญการบันทึกข้อมูลการละเมิดเสรีภาพการแสดงออกอย่างละเอียดและรอบด้าน ย่อมทำให้เจ้าหน้าที่รัฐระมัดระวังในการใช้อำนาจและบังคับใช้กฎหมาย เพราะเจ้าหน้าที่ย่อมตะหนักว่าการทำงานของพวกเขาถูกจับตาโดยประชาชน ไอลอว์ยังหวังด้วยว่า การบันทึกข้อมูลของเราจะเป็นประโยชน์ในฐานะแหล่งอ้างอิงสำหรับสื่อและองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศด้วย