1920 1815 1190 1803 1902 1969 1145 1762 1172 1540 1669 1130 1455 1119 1989 1299 1647 1506 1199 1701 1770 1596 1029 1720 1383 1858 1101 1221 1056 1466 1495 1954 1879 1979 1768 1178 1348 1452 1132 1580 1432 1566 1426 1089 1128 1528 1320 1766 1941 1275 1424 1245 1227 1151 1869 1875 1169 1835 1229 1078 1480 1982 1086 1999 1491 1735 1727 1688 1678 1314 1570 1849 1630 1335 1608 1216 1018 1888 1945 1132 1159 1352 1848 1841 1879 1072 1344 1187 1605 1834 1936 1300 1247 1059 1074 1629 1059 1119 1020 อานนท์ นำภา: วันนี้ วันก่อน วันหน้า ชีวิตหลากมุมของคุณพ่อลูกสอง | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

อานนท์ นำภา: วันนี้ วันก่อน วันหน้า ชีวิตหลากมุมของคุณพ่อลูกสอง

2877

 

“เด็กถามในสิ่งที่เราตอบไม่ได้ เช่น ทำไมศาลต้องทำตัวแบบนั้นแบบนี้ เราก็รู้สึกว่าตอบลำบากหวะ แต่เขาเห็นไง”
 
ท่ามกลางเสียงสับลาบ ดนตรีเพื่อชีวิต และการกระทบกันของภาชนะใส่เครื่องดื่ม อานนท์  นำภา ถูกเราขอเวลาบางส่วนขณะสังสรรค์เพื่อพูดคุยถึงสิ่งที่การเมืองไทยบีบให้เขากำลังต้องเผชิญ หรือในอีกแง่หนึ่ง สิ่งที่การเมืองไทยกำลังบีบให้เขาต้องจ่ายหลังการเคลื่อนไหวในประเด็น “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ที่ผ่านมา
 
“ผมคิดว่าการต่อสู้เป็นเรื่องปกติของชีวิต ต่อให้ไม่มีสถานการณ์การเมืองผมก็คงเป็นทนายความด้านสิทธิ ซึ่งงานสายนี้มีแรงเสียดทาน มีการปะทะกับความไม่ยุติธรรมอยู่แล้ว”
 
วันที่ 26 กันยายน 2566 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีการปราศรัยใน #ม็อบ14ตุลา เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 นับเป็นคำพิพากษาคดี มาตรา 112 ของอานนท์คดีแรก จากจำนวน 14 คดี ซึ่งหากศาลตัดสินให้เขามีความผิด เหตุการณ์นี้จะทำให้เขาถูกแยกจากครอบครัว โดยเฉพาะจากบทบาทคุณพ่อของลูกน้อยทั้งสองคน
 
“เราต้องทำให้มันจบในรุ่นเรา พวกเขาเติบโตมาต้องมีเสรีภาพ”
 
ร่วมสำรวจพัฒนาการจากนักกิจกรรมสู่คุณพ่อลูกสอง สำรวจราคาที่รัฐไทยเรียกร้องให้คนๆ หนึ่งต้องจ่ายหากต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของทุกคน และมุมมองของอนาคตการต่อสู้ครั้งใหม่เพื่อประชาธิปไตยไทยที่กำลังเปิดฉากอีกครั้ง
 
 
อานนท์ ดนตรี และจังหวะก้าวเท้าของการต่อสู้
 
การพูดคุยเริ่มถามถึงการเริ่มต้นความสนใจการเมืองของอานนท์ แน่นอนว่าเราต่างเคยได้ยินมาบ้างว่าเขาเคลื่อนไหวต่อต้านระเบียบที่ไม่เป็นธรรมของโรงเรียนหลายระลอกตั้งแต่สมัยชุดนักเรียน แต่อะไรคือสิ่งผลักดันให้เขาเริ่มต้นมีหัวคิดทางการเมืองและมองภาพของสังคมใหญ่กว่าตัวเองมากขึ้นบ้าง
 
“ความสนใจด้านกฎหมายยังเป็นเรื่องรองกว่าอุดคติทางการเมือง เราชอบธรรมศาสตร์ ชอบการชุมนุม การต่อสู้ของคนเดือนตุลา”
 
อานนท์ติดตามเรื่องราวการต่อสู้ของคนเดือนตุลาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐไทย กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ช่วงสงครามเย็น การต่อสู้เหล่านั้นส่งมาถึงมือของอานนท์ผ่านดนตรี คำกลอน และหนังสือ รวมทั้งยังส่งให้อานนท์ตัดสินใจเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนไปสู่มหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วยอุดมการณ์ที่แน่วแน่มั่นคงดั่งยอดทวน
 
“ผมชอบเพลงเดือนเพ็ญ คนที่ชอบอะไรเพื่อชีวิตต้องชอบเพลงเดือนเพ็ญ มันมีเสียงขลุ่ยมีบทกวี เล่าถึงบรรยากาศการเข้าป่าไปต่อสู้ในนามของ พคท. …พออยากรู้ว่าใครเป็นคนเขียนวะ อ๋อ นายผี เป็นนักเรียนกฎหมาย เป็นอัยการ แล้วก็นำไปสู่คนแรกที่เอาร้องคือใครอีก ไปเรื่อยๆ น่าจะเป็นจุดแรกเริ่มที่ทำให้เราสนใจศึกษาการต่อสู้ต่างๆ”
 
ดูเหมือนว่า ดนตรีจากการต่อสู้ครั้งเก่าก่อนจะเป็นสิ่งที่นำพาให้อานนท์มาสู่เส้นทางการต่อสู้ของยุคปัจจุบัน รวมทั้งเส้นทางของนักกฎหมายที่ไม่ได้ทำงานแค่เพียงในศาล แต่เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพอยู่บนท้องถนนอยู่หลายปี อย่างไรก็ตามการอยู่บนถนนสายนี้มานานทำให้เราสงสัยว่าเขามีมุมมองต่อการต่อสู้ของคนยุคนี้อย่างไรบ้าง
 
“ผมคิดว่าพวกเขาตรงไปตรงมา แต่การที่พวกเขาเป็นเจนเนอเรชันที่ตรงไปตรงมาก็ทำให้พวกเขาโดนคดี เช่น กรณีคดีของกลุ่มทะลุแก๊ซ”
 
ความตรงไปตรงมานี้ไม่ได้หมายถึงเพียงการสื่อสารประเด็นออกไปยังคนนอกขบวน แต่ยังหมายถึงการสื่อสารกันเองระหว่างกลุ่มต่างๆ ด้วย จุดนี้อานนท์อธิบายว่าการต่อสู้ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยคนที่มีความถนัดหลากหลาย บางคนถนัดการทำข้อมูล บางคนอาจจะถนัดปราศรัย บางคนอาจจะถนัดในการรักษาความปลอดภัยให้ผู้ชุมนุมระหว่างถูกสลายการชุมนุม การสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมาในสิ่งที่พวกเขาถนัด สิ่งที่พวกเขาต้องการจะทำ อานนท์กล่าวว่าคือจุดเด่นของการต่อสู้ของคนรุ่นนี้
 
 
อานนท์เวอร์ชั่นพ่อจ๋า การทำหน้าที่ป่ะป๊าของลูกน้อย
 
การเป็นคุณพ่อแน่นอนว่าไม่ง่าย แต่การมีลูกถึงสองคนที่ต้องเลี้ยงดูนอกเหนือไปจากการต่อสู้ในชั้นศาลและบนท้องถนนจริงแท้แล้วเป็นอย่างไรบ้างเราก็ไม่แน่ใจ จึงตัดสินใจถามขณะที่อานน์กำลังรินเครื่องดื่มลงแก้วเพิ่ม
 
“โอ้ย กินเวลาไปเยอะ ลูกคนเล็กเนี่ยเก้าเดือน ซนมากต้องดูตลอด สมัยก่อนจะขึ้นโซฟาแต่ขึ้นไม่ได้เพราะเราเอาเก้าอี้มาขวาง แต่ตอนนี้ปีนได้แล้ว เราต้องดูตลอดเลย เหนื่อย”
 
แต่ความเหนื่อยนี้ก็คุ้มค่า อานนท์รีบตอบต่อว่าลูกคนเล็กของเขาน่ารักมาก การดูลูกซนในสิ่งต่างๆ ก็เป็นความผ่อนคลายจิตใจชนิดหนึ่งของเขาเช่นกัน
 
สิ่งหนึ่งที่อานนท์บอกกับเราอีกประการ คือ ความรู้สึกของการมีลูกคนที่สองแตกต่างจากความรู้สึกของการมีลูกครั้งแรก เพราะทำให้เห็นรายละเอียดมากขึ้น แต่อย่างไรเสียสิ่งหนึ่งที่ตรงกันคือเด็กต่างเรียกร้องความรักและเวลาเอาใจใส่ จนทำให้อานนท์ต้องคิดอะไรให้ละเอียดขึ้นกว่าแต่ก่อน
 
ถึงจุดนี้ผู้สัมภาษณ์นึกย้อนไปถึงช่วงแรกที่ให้อานน์พูดถึงการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าลูกๆ ของอานนท์ต่างอยู่ในกลุ่ม “คนรุ่นใหม่” อย่างแน่นอน เราจึงพูดกันไปถึงมุมมองเรื่องความเป็นคนรุ่นใหม่ที่อานนท์เห็นในตัวลูกของเขาบ้าง
 
2878
 
“เด็กรุ่นนี้ อย่างลูกคนโตผมเนี่ยชอบตั้งคำถาม เวลาผมสอนเขาเรื่องสิทธิมนุษยชน เขาจะตั้งคำถามหรือเถียง แต่พอเขาไปคุยกับคุณตา-คุณยายเขาก็อธิบายเรื่องคนเราเท่ากันได้นะ คือ เขาอาจจะเถียงเรา แต่เวลาไปสื่อสารกับคนอื่นเขาเข้าใจ”
 
อานนท์จึงไม่ได้ใช้วิธีในการสอนลูกในเรื่องเหล่านี้ตรงๆ แต่ใช้ประโยชน์จากหน้าที่การงานในการพาลูกไปศาล พาลูกไปศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงเรียกได้ว่าอานนท์พยายาม “ทำ” ให้ลูกเห็นมากกว่าสอนสั่ง ซึ่งอาจเป็นวิธีการหนึ่งในการเลี้ยงดูเด็กในวัยที่มักตั้งคำถามตลอดเวลาวิธีหนึ่ง และบางคำถามก็อาจจะยากที่จะตอบได้ง่ายนัก
 
“เด็กถามในสิ่งที่เราตอบไม่ได้ เช่น ทำไมศาลต้องทำตัวแบบนั้นแบบนี้ เราก็รู้สึกว่าตอบลำบากหวะ แต่เขาเห็นไง”
 
อานนท์เล่าให้เราฟังถึงสิ่งที่ลูกคนโตตั้งคำถามเรื่องการถูกดำเนินคดีของเขาจากหลากหลายการชุมนุม ซึ่งอานนท์แม้ยังไม่แน่ใจว่าถูกต้องแค่ไหน แต่มั่นใจว่าการมองเห็นเรื่องพวกนี้ทำให้ลูกของเขาเรียนรู้เรื่องความไม่ชอบธรรมอย่างแน่นอน
 
“พ่อแค่ไปพูดเฉยๆ แต่งเป็น แฮรี่ พอตเตอร์ ทำไมต้องโดนจับ”
 
ต่อมาผู้ถามนึกถึงกรณีที่มีมวลชนฝ่ายตรงข้ามบนอินเทอร์เน็ตมักโจมตีบุคคลที่ออกมาปกป้องการเคลื่อนไหวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ว่า ขอให้ผู้ปกป้องต้องเจอลูกหลานของตนเองมา “ขบถ” ใส่แบบนี้บ้าง เราจึงถามต่อไปว่าอานนท์มีความกังวลไหมว่าความขบถ กล้าคิด กล้าถาม กล้าเถียง เหล่านี้จะวนกลับมาทำให้เขาปวดหัวในอนาคต
 
2879
 
“ไม่กลัวเลย ยิ่งต้องส่งเสริมด้วย ลูกผมตั้งคำถามแล้วว่าทำไมต้องใส่กระโปรงไปโรงเรียน ทำไมใส่กางเกงไม่ได้ ซึ่งเราก็ไม่ได้ยุแบบ ลูกใส่กางเกงไปเลยอะไร เราก็ส่งเสริมแค่ หนูตั้งคำถามถูกต้องแล้ว”
 
ในแง่นี้อานนท์กำลังทำหน้าที่คุณพ่อเสมือน “โค้ชชิ่ง” ที่ไม่ได้จับมือลูกๆ ไปในทางใดทางหนึ่ง แต่กำลังช่วยประคับประครองขณะพวกเขากำลังเดินตามหาเส้นทางข้างหน้าด้วยตนเอง ซึ่งก็แน่นอนว่าไม่ง่ายนัก บางคำถามของ “เด็กรุ่นใหม่” ก็ทำอานนท์ปวดสมองได้พอสมควร เช่น การที่ลูกคนโตสงสัยในการมีอยู่จริงของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผ่านการที่อานนท์ซื้อพวงมาลัยมาผูกไว้บนรถ เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตามอานนท์ไม่หวั่นไหวเลยแม้แต่น้อยเมื่อถูกเราถามว่า กระแสการย้ายประเทศ ไปจนถึงการไม่อยากมีลูกของคนรุ่นนี้เพราะสภาพการเมืองเศรษฐกิจไม่อำนวย ทำให้เขากลัวบ้างหรือไม่ในการมีลูกถึงสองคน ซึ่งสวนกระแสของยุคที่อนาคตหดหู่ที่สุดยุคหนึ่งเช่นนี้
 
“มันเป็นความสุขนะที่มีลูก ผมคิดว่าเราสามารถทำให้เขามีชีวิตในสังคมนี้ได้ ประเด็นการมีครอบครัวหรือย้ายประเทศเป็นเสรีภาพส่วนตัว แต่ความคิดผมนะ โคตรอยากทำให้สังคมที่ไม่ดีตอนนี้กลับมาดีเลย อย่างน้อยก็ทำให้มันดีขึ้นบ้าง”
 
สายตาของอานนท์แน่วแน่ว่าเขาจริงจังกับคำพูด เขามีความสุขกับการเป็นคุณพ่อของลูกน้อย ขณะเดียวกันเขาก็เชื่อมั่นว่าจะทำให้สังคมปัจจุบันนี้ให้ดีกว่าเดิมได้ ซึ่งคงไม่ใช่เพียงแค่เพื่อลูกของเขาเอง แต่เพื่อความหวังในการจะมีชีวิตครอบครัวที่ดีขึ้นของทุกคนในประเทศนี้เช่นกัน
 
 
ราคาสูงลิ่วของการแข็งขืน ความลำบากที่รัฐไทยหยิบยื่นให้อานนท์
 
อานนท์ยอมรับว่าเขาในฐานะผู้ต้องหาคดีการเมืองยังโชคดีกว่าผู้ต้องหาคนอื่นตรงที่ ครอบครัวของเขามี “จังหวะ” เดียวกัน คือ อานนท์เป็นทนาย ภรรยาก็ทำงานอยู่ที่ศูนย์ทนายความ งานของพวกเขาคือการไปศาล ดังนั้นการจัดการเวลาที่อานนท์ต้องมีบทบาททั้งการเป็นทนาย การเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย การเป็นจำเลยในคดีการเมือง และการเป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว จึงพอไปด้วยกันได้ ขณะที่บางครอบครัวของผู้ต้องหาคดีการเมืองต้องประสบความลำบากยิ่งกว่านี้มาก
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงความลำบากที่เหล่าผู้มีโอกาสไปยืนหยัดตั้งกระดูกสันหลังต่อหน้าบัลลังก์ศาลต้องประสบแล้ว เราจึงตัดสินใจถามคำถามสำคัญไปว่า เคยคิดจะลดบทบาทลงเพื่อให้เวลากับครอบครัวบ้างหรือไม่
 
“อยู่แล้ว อย่างล่าสุดที่เราไปปราศรัยก็กินเวลาไปมาก ทุกวันนี้ถ้ามีคนที่สามารถปราศรัยพูดถึงปัญหาสังคมได้อย่างแหลมคมได้อย่างเรา หรือมากกว่าเราได้ ก็จะให้น้องๆ เขาทำ เราก็ขยับกลับมาข้างหลัง”
 
ด้วยวิถีชีวิตเช่นนี้ ครอบครัวอานนท์ต้องปรับตัวกับสถานการณ์ปัจจุบันเช่นกัน การขึ้นโรงขึ้นศาลบ่อยทำให้อานนท์แทบไม่เหลือเวลาไปเที่ยวที่ไหนกับครอบครัวได้ พวกเขาจึงตัดสินใจให้เอาโอกาสในการทำงานบางส่วนมาเป็นส่วนหนึ่งกับของเวลาครอบครัว เช่น หากมีคดีที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ก็จะถือโอกาสเป็นการพาครอบครัวไปเที่ยวเชียงใหม่พร้อมๆ กับการทำงานในตัว
 
“ต้องปรับครอบครัวให้เข้ากับงาน มันเบียดเวลาชีวิตมากขึ้นจริง แต่ต้องทำให้มันคู่ไปกันให้ได้”
 
เราจึงถามต่อไปว่า จะมี “เส้น” ใดไหมที่หากไปถึงแล้วหรือไปแตะโดนจะลดบทบาทต่างๆ ลง คำถามนี้อานนท์ตอบทันควันโดยที่ผู้ถามยังไม่ทันได้วางแก้วในมือ
 
2880
 
“ไม่ครับ ผมคิดว่าการต่อสู้เป็นเรื่องปกติของชีวิต ต่อให้ไม่มีสถานการณ์การเมืองผมก็คงเป็นทนายความด้านสิทธิ ซึ่งงานสายนี้มีแรงเสียดทาน มีการปะทะกับความไม่ยุติธรรมอยู่แล้ว”
 
เส้นที่ว่านี้จึงหมายความรวมไปถึงการต้องเฉียดคุกเฉียดตารางอีกครั้งด้วย ซึ่งอานนท์ตอบเราว่าเขาไม่ได้มีควารู้สึกกังวลมากน้อยไปกว่าการเข้าเรือนจำครั้งก่อนนัก เพราะสิ่งที่ทำอยู่ก็รู้ตัวว่าเสี่ยงกับการกลับเข้าเรือนจำ ครอบครัวมีแววจะมีปัญหาแน่หากเขาต้องถูกจำคุก แต่ก็ต้องบริหารจัดการทุกอย่างให้เคลื่อนไปพร้อมกันให้ได้
 
“มันวุ่นวายแน่ ค่าใช้จ่ายหายไปครึ่งหนึ่ง แต่ต้องทำให้เคลื่อนไปได้โดยมีปัญหาน้อยที่สุด ผมโชคดีที่ภรรยาเข้าใจ พ่อตาแม่ยายก็เคยทำงานสายประชาสังคมมาก่อน และโชคดีที่เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่ทำงานก็คอยมาช่วยดูแลเด็ก”
 
อย่างไรก็ตามอานนท์แทบไม่รู้สึกเสียดายอะไรในการเข้ามาเคลื่อนไหวด้านการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สิ่งเดียวที่เขาเสียดายคือในอดีตเขายังประสบการณ์น้อย หากมีประสบการณ์เช่นทุกวันนี้ ในตอนนั้นก็อาจจะทำได้ดีกว่านี้ แต่เขาเข้าใจว่าเรื่องนี้คงเป็นเรื่องปกติ
 
อานนท์กล่าวต่อไปว่าตอนนี้เขาอยากใช้ชีวิตแบบสุขนิยม คือ อยากเลี้ยงดูลูก ดูพวกเขาเติบโต และหากต้องจากไปก็อยากจากไปตามกาลเวลา ยังอยากดื่มสุราเคล้าลาบกับผองเพื่อน และได้กลับไปขึ้นว่าความต่อด้วยความสนุกสนาน รวมทั้งยังอยากไปนั่งจิบสาเกที่ญี่ปุ่น และลองเดินทางด้วยเส้นทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรียสักครั้ง
 
น้ำเสียงของเขาเต็มไปด้วยความหวัง แต่ความหวังว่าสังคมไทยหลังการเลือกตั้ง 2566 จะเหลียวมองผู้ต้องหาคดีการเมืองหรือนักโทษการเมืองได้เท่ากับสมัยปี 2563-2564 มีน้อยนิดเสียเหลือเกิน คำถามต่อไปจึงเป็นการถามอานนท์อย่างตรงไปตรงมาว่า กลัวไหมที่คนข้างนอกจะลืมคนในเรือนจำ
 
2881
 
“ไม่ ผมคิดว่าเราเชื่อมั่นในเพื่อน เชื่อว่าคนข้างนอกเขาจะมีแนวทางต่อสู้ให้เรากลับออกมาข้างนอก และสิ่งที่เราทำมันเป็นเรื่องของขบวนไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ส่งผลกระทบต่อสังคมจนทำให้สังคมเปลี่ยนไปมาก นับวันนี้มันคุ้มแล้วแหละ แต่รายจ่ายที่มันมาถึงเรา เราก็ต้องแบกรับมันให้ได้มากที่สุด แล้วก็ช่วยกัน”
 
อานนท์ยังพูดไปถึงสิ่งที่หล่อเลี้ยงการต่อสู้ของเขา นั่นคือน้ำใจจาก “เพื่อน” มากมายที่คอยให้ความช่วยเหลือ เพื่อนเหล่านี้หลายครั้งไม่ใช่คนรู้จักสนิทสนม แต่เป็นเพื่อนห่างๆ เพื่อนของเพื่อน ไปจนถึงผู้คนในโลกออนไลน์ ด้านจิตใจคงกล่าวได้ว่ายังมีแรงฮึดจากผู้คนรอบตัวพอสมควร
 
แต่นั่นก็ไม่ได้ปฏิเสธความเป็นจริงว่า การพิพากษาคดีที่กำลังมาถึงนี้เขามีโอกาสต้องเข้าเรือนจำ หายไปจากชีวิตของลูกทั้งสองคนอีกครั้งเป็นระยะเวลานาน เราจึงถามอานนท์ว่า อยากอธิบายช่วงเวลาที่ตัวเองอาจจะต้องหายไปนี้ให้กับลูกๆ ที่อาจมีโอกาสอ่านบทสัมภาษณ์นี้ในอนาคตอย่างไร
 
“ช่วงเวลาที่เราเป็นเด็กแล้วได้ตามไปดูพ่อแม่ทำงาน เราได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า อย่างมีความสุข ใช้ความพยายามทุกอย่างในการเลี้ยงดูให้เขาเติบโตไปมีชีวิตที่มันดีขึ้น มันอาจจะผิดแผกไปจากครอบครัวอื่น แต่อยากให้ภูมิใจว่ามันเป็นเรื่องการต่อสู้ของคน หลายครอบครัวลำบากกว่านี้มาก น้องๆ ทะลุแก๊ซที่มีลูก พอติดคุกก็ขาดรายได้ หลายครอบครัวพ่อโดนอุ้มฆ่า ศพลอยกลางแม่น้ำโขง หลายครอบครัวพ่อไม่ได้กลับบ้าน ต้องลี้ภัยการเมือง เราสู้อย่างมากก็ติดคุก รายจ่ายเราน้อยกว่าหลายคน”
 
 
อานนท์ อนาคต และโอกาสการต่อสู้ครั้งใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้น
 
เราคุยกันถึงอดีตและปัจจุบันกับอานนท์ไปแล้ว จึงอยากลองชวนอานนท์พูดคุยกันถึงเรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตบ้าง ซึ่งก็เริ่มด้วยการถามว่า กลัวหรือไม่หากอนาคตลูกทั้งสองคนต้องมาเป็นนักกิจกรรมเพื่อต่อสู้ในประเด็นเดิมๆ ที่เราสู้อยู่
 
“ไม่ เราต้องทำให้มันจบในรุ่นเรา พวกเขาเติบโตมาต้องมีเสรีภาพ ผมคิดว่าในอนาคตอีกห้าถึงสิบปีนี้มีได้แน่นอน”
 
อนาคตที่อานนท์มองเห็นนั้นช่างดูมีความหวังและสวยงาม เราจึงลองถามถึงอีกด้านหนึ่งของเหรียญซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ ด้วยการยกตัวอย่างกระแสสังคมที่กลับตาลปัตรในกรณี “หยก” ซึ่งอนาคตรุ่นที่ลูกๆ ของอานน์เติบโตขึ้นมา สังคมไทยก็อาจจะวนมาอยู่ที่จุดเดิมจุดนี้หรือไม่
 
“กรณีหยกเป็นเรื่องของการตกตะกอนในใจของคนในสังคมโดยที่เราไม่รู้ตัว หลายคนโตมากับสังคมที่ไม่ชอบเด็กที่ตรงไปตรงมาจนชิน พอมาเจอหยกจึงเป็นแบบนี้… ถ้าหยกเติบโตมาในสังคมที่ดีกว่านี้คงไปได้ไกลกว่านี้ แต่ตอนนี้หยกเติบโตในสังคมที่ยังต่อสู้กันไม่จบ เลยกลายเป็นสิ่งที่สังคมเอาความล้มเหลวของตัวเองไปโยนให้”
 
พูดในอีกแง่ อานนท์เชื่อว่าถ้าสังคมเราพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่านี้ กรณีแบบ “หยก” จะไม่เกิดขึ้นอีก การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมจึงเป็นสิ่งสำคัญ
 
ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 คือ มวลชนหมดแรงกายและแรงใจในการออกมาชุมนุมให้คับคั่งเช่นเดิม อานนท์เองก็ต่อสู้มาอย่างยาวนานในฐานะ “กองหน้า” ของการปกป้องสิทธิเสรีภาพ เราจึงลองถามเขาดูว่าขณะนี้แล้ว แรงใจยังเหลืออยู่เท่าไหร่
 
“ผมพยายามบริหารอารมณ์และจิตใจ เหนื่อยก็หลับ เครียดก็ขอภรรยาออกไปกินเหล้ากับเพื่อน มันก็หายจริงๆ นะ”
 
ส่วนเรื่องการต่อสู้ที่ดูคนอื่นอาจจะมองว่าแผ่วลงไปบ้างเพราะรัฐใช้ “นิติสงคราม” ในการทำให้แกนนำหน้าเดิมๆ ต้องคดีความไปจนหมดนั้น อานนท์กล่าวว่าไม่ได้มีผลมากนักเพราะคนเติบโตกันในแต่ละรุ่นในลักษณะหน้ากระดาน คนรุ่นอานนท์เริ่มขยับสู่ตำแหน่งผู้บริหาร คนรุ่นถัดไปขยับขึ้นมาแทนที่ 
 
บางคนเคยเลือกพรรคที่เป็นประชาธิปไตย ผ่านไปอีกสี่ปีอาจขยับไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ ความเป็นไปได้ว่าอีกห้าถึงสิบปีอาจจะกลายเป็นรัฐมนตรีก็ยังมี สิ่งนี้อานนท์มองว่าเป็นข้อได้เปรียบที่เรามีในการต่อสู้
 
ตอนนี้อานนท์มองว่าสังคมถูกแบ่งเป็นการต่อสู้กันระหว่าง สังคมแบบเดิมและสังคมใหม่ ซึ่งจุดตัดนี้เป็นเส้นที่หนามากและมีทุกฝ่ายกำลังมาทุ่มเถียงกันอยู่ ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดและการเคลื่อนไหวที่ตามมาจึงสะท้อนการปะทะกันของความคิด ซึ่งหากคลี่คลายไม่ได้ก็อาจนำไปสู่ทางเลือกแค่สองทางในอนาคต คือ สันติวิธี หรือความรุนแรง ซึ่งอานนท์ยังหวังให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยสันติวิธี
 
อนาคตการปะทะกันบนเส้นแบ่งที่อานนท์กล่าวถึงนั้นซับซ้อนกว่าช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2566 เราจึงถามอานนท์ว่า เขามีคำแนะนำอะไรถึงนักกิจกรรมหน้าใหม่ที่กำลังเข้าสู่สภาวะที่สังคมไม่ได้แบ่งแค่สองขั้วชัดเจนแบบเดิมอย่างไรบ้าง
 
2883
 
“ผมอยากให้กำลังใจ แรงเสียดทานจะเยอะมาก ตอนนี้มันสู้กันแบบนักมวย คือ เจ็บจริง ติดคุกจริง ผมคิดว่าทุกคนต้องทบทวนตัวเองเรื่อยๆ อย่างละเอียดว่า การประคับประคองเพื่อนที่บาดเจ็บระหว่างทางคืออะไร เรื่องนี้คนรุ่นใหม่ทำได้ดี ขณะที่คนรุ่นพี่ก็เป็นพี่ที่ดีมาก เช่น อาจารย์ทิดา (ธิดา ถาวรเศรษฐ) และป้ามล (ทิชา ณ นคร) เราโชคดีมากที่มีกลุ่มคนเหล่านี้”
 
เมื่อพูดคุยมาถึงความสำคัญของคำแนะนำจากบรรดารุ่นพี่ คำถามต่อมาเราจึงสมมติว่า หากอานนท์กลับไปแตะไหล่ตัวเองก่อนปี 2563 ได้ จะบอกอะไรบ้าง
 
“ออกกำลังกายให้มากขึ้น ร่างกายดีความคิดจะดีขึ้น คิดหลายๆ เรื่องให้หลายรอบขึ้นด้วย”
 
ถึงจุดนี้เราตัดสินใจว่าเสียงงานสังสรรค์ภายนอกเรียกร้องให้เราทุกคนออกไปร่วมวง ประการแรกเป็นการคืนตัวอานนท์ให้กลับไปสนุกสนานนอกเวลางาน อีกประการหนึ่งคือการคืนตัวคุณพ่อให้กับลูกๆ ที่กำลังนั่งเล่นรออยู่ที่โต๊ะอาหาร เราจึงยิงคำถามสุดท้ายว่า หากการต่อสู้นี้ “ไม่จบที่รุ่นเรา” อยากบอกอะไรลูกๆ ในอนาคตไหม
 
“เขาจะทำชีวิตเขาไปในสิ่งที่เขาเลือก เขาอาจไม่ใช่เรา อาจไปร่วมชุมนุมเฉยๆ หรืออาจเป็นไทยเฉย ลูกคนเล็กอาจจะไปสอบโรงเรียนนายร้อยแล้วกลายเป็นคนทำรัฐประหาร ให้เขาเลือกชีวิตเขา แค่ระหว่างที่เขาอยู่กับเรา ก็พยายามสร้างความทรงจำที่ดีให้กับลูกเท่านั้น ชีวิตที่เหลือให้กับเขา”