- เว็บไซต์ไอลอว์
- ศูนย์ข้อมูลฯ
เรื่องของดาวดิน...ดาวที่ไม่อยากอยู่บนฟ้า
วันที่ 19 มิถุนายน 2558 นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ทั้ง 7 คน ซึ่งเรียกตัวเองว่ากลุ่ม 'ดาวดิน' มีกำหนดให้ไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจภูธรขอนแก่น หลังจากพวกเขาถูกจับข้อหาชุมนุมฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา
นักศึกษาทั้ง 7 คน ยืนยันว่า พวกเขาจะไม่ไปรายงานตัว และยินดีให้เจ้าหน้าที่มาจับตัวไปโดยไม่ขัดขืน นอกจากนี้ จะไม่มีการขอประกันตัวด้วย หากเจ้าหน้าที่จะปล่อยตัวจะต้องกระทำโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น
ไอลอว์ชวนย้อนรอยขุดคุ้ยประวัติของกลุ่มดาวดิน ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน ไปจนถึงอนาคต พอให้เห็นภาพว่านักศึกษากลุ่มดาวดินเป็นใคร แตกต่างจากขบวนการนักศึกษากลุ่มอื่นอย่างไร ทำไมพวกเขาจึงต่อต้านรัฐประหารถึงขนาดยอมติดคุก
22 ธันวาคม 2556 นักศึกษากลุ่มดาวดินได้รับ “รางวัลเยาวชนต้นแบบ” ในงานประกาศผลรางวัล “คนค้นฅนอวอร์ด" ครั้งที่ 5 จากเหตุการณ์ที่นักศึกษากลุ่มนี้ใช้ตัวเองเป็นรั้วกั้นชาวบ้านระหว่างเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีการขอประทานบัตรเหมืองทองคำที่จังหวัดเลย เพื่อปกป้องชาวบ้านที่กำลังเผชิญกับความไม่ยุติธรรม
นี่คือเหตุการณ์ที่ทำให้หลายคนเริ่มรู้จักดาวดินในภาพของนักศึกษาผู้กล้าหาญ
20 พฤศจิกายน 2557 นักศึกษากลุ่มดาวดิน 5 คน ใส่เสื้อยืดสีดำติดสติ๊กเกอร์ข้อความว่า “ไม่-เอา-รัฐ-ประ-หาร” พร้อมชู 3 นิ้วซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านรัฐประหาร ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นบนเวทีเพื่อกล่าวเปิดงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งในจังหวัดขอนแก่น
นี่เป็นเหตุการณ์ที่อาจทำให้ใครหลายคนตั้งคำถามว่า นักศึกษากลุ่มนี้ต้องการอะไร และทำทั้งหมดไปเพื่ออะไร
"จริงๆ กลุ่มของเราต่อสู้กับชาวบ้าน ยื่นหนังสือกับรัฐบาลมาตั้งหลายชุดแล้ว แต่มันไม่ดัง มาดังตอนเหมืองแร่เมืองเลยเนี่ยแหละ" ไผ่ หนึ่งในนักศึกษากลุ่มดาวดินกล่าว ก่อนเล่าประวัติความเป็นมาของกลุ่มดาวดินให้ฟัง
'ดาวดิน' คือ กลุ่มนักศึกษาซึ่งส่วนใหญ่เรียนอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พวกเขารวมตัวกันทำกิจกรรมลงพื้นที่เรียนรู้ปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดภาคอีกสาน กลุ่มดาวดินเกิดขึ้นมาพร้อมกับคณะนิติศาสตร์ มข. รุ่นที่ 1 ซึ่งเดือนกรกฎาคมปีนี้ กลุ่มดาวดินจะมีอายุครบ 12 ปีแล้ว
ไผ่ ซึ่งปัจจุบันรับตำแหน่งเป็นผู้ประสานงานกลุ่มดาวดิน เล่าให้ว่า ดาวดินเกิดจากการที่รุ่นพี่คณะนิติศาสตร์ มข. รุ่นที่ 1 ได้ไปลงพื้นที่ศึกษาปัญหาชาวบ้านในตอนนั้นเรื่องพืชจีเอ็มโอ สมัยนั้นรุ่นพี่ของเขาไปแบบนักศึกษาทั่วไป ไม่ได้รู้เรื่องอะไร แต่หลังกลับจากลงพื้นที่รุ่นพี่ของพวกเขาก็ตั้งคำถามกับความเดือดร้อนของชาวบ้าน รวมถึงตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรม ตั้งคำถามกับทฤษฎีทางกฎหมายที่พวกเขาร่ำเรียนมาในชั้นเรียน พวกเขาสงสัยว่าทำไมวิชานิติศาสตร์ที่เขาเรียนจึงไม่ได้เชื่อมโยงกับสังคมและปัญหาของชาวบ้านที่พวกเขาได้สัมผัส
ต่อมาจึงเกิด 'กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม' ซึ่งเริ่มแรกมีประมาณ 11 คน ใช้วิธีการทำงานแบบแบ่งกันลงพื้นที่ แล้วเอาประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนกัน ภายใต้หลักการของกลุ่ม คือ หนึ่ง เรียนรู้ปัญหาจากพื้นที่จริง สอง นำประเด็นปัญหามาแลกเปลี่ยน สาม นำปัญหามาเผยแพร่สู่สาธารณะ สี่ เป็นอิสระทั้งทางด้านความคิดและอิสระจากคณะ
ส่วนชื่อ 'ดาวดิน' คือ ชื่อวารสารของกลุ่มกฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม เป็นวารสารที่มีมาตั้งแต่รุ่นแรก จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้รับรู้ถึงสิ่งที่กลุ่มได้จากการลงพื้นที่เรียนรู้
เมื่อถามถึงความหมายของดาวดิน พายุ สมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มเล่าว่า ดาวดินเป็นชื่อที่รุ่นพี่ได้มาตอนพูดคุยกันในวงเหล้า ตอนนั้นถกเถียงกันเรื่องปัญหาสังคมแล้วมีพี่คนหนึ่งแหงนหน้ามองท้องฟ้าเห็นดาว แล้วก็บอกว่า "ดาวที่เห็นสวยงามอยู่บนท้องฟ้า ที่จริงแล้วก็คือก้อนดิน แต่มนุษย์เรากับให้คุณค่ามันมากเกินไป จริงๆ แล้ว ดาวกับดินก็ค่าเท่ากัน"
สมาชิกกลุ่มดาวดินรุ่นแรกๆ เน้นการทำงานแบบลงพื้นที่และเรียนรู้ประเด็นปัญหาจากชาวบ้าน พวกเขามีชาวบ้านเป็นครู เมื่อเรียนรู้ปัญหาแล้ว สมาชิกกลุ่มก็ช่วยกันสรุปบทเรียน
พอมาถึงดาวดินรุ่นที่ 4 พวกเขาเริ่มคิดว่า แค่การเรียนรู้จากชาวบ้านอย่างเดียวอาจไม่พอ จึงเริ่มให้คำปรึกษาด้านกฎหมายกับชาวบ้าน และพวกเขาก็ศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไปด้วย จึงทำให้ดาวดินรุ่นหลังๆ เริ่มขยับวิธีการทำงานไปเป็นการ์ดป้องกันชาวบ้าน และร่วมช่วยชาวบ้านเคลื่อนไหว
“ทำก่อน คิดทีหลัง” คือ สไตล์การทำงานของดาวดิน
ดาวดินทุกคนเป็น 'นักปฏิบัติ' ทุกครั้งที่จะจัดกิจกรรมใดๆ ก็ตาม สมาชิกจะช่วยกันคิดว่าอยากผลักดันประเด็นอะไร และจะทำออกมาในรูปแบบไหน หากมีคนเห็นด้วยก็ลงมือทำแล้วจึงมาสรุปบทเรียนทีหลัง อะไรที่ทำแล้วไม่ดีก็นำมาปรับปรุง
แม้หลายคนอาจไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ เพราะไม่ยอมคิดก่อนทำจึงทำให้ไม่เห็นผลที่จะตามมาว่ารุนแรงเพียงใด แต่ไผ่บอกว่า "ถ้าคิดก็ไม่ได้ทำ เพราะบางครั้งคิดมากเกินไปจนกลัว ข้อดีของการ 'ทำก่อน คิดทีหลัง' คืออย่างน้อยก็ได้ทำอะไรที่อยากทำ เราให้คุณค่ากับสิ่งที่เราจะทำอะไรก่อนเสมอ"
แม้ว่าดาวดินจะเป็นสายปฏิบัติ แต่ก็มีการศึกษาการเคลื่อนไหวจากประสบการณ์ที่ทำและศึกษาทฤษฎีบ้าง แต่หากถามว่ากลุ่มดาวดินถือเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบไหนก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน
"เราเป็นของเราแบบนี้ ใครอยากทำอะไรก็เสนอ ถ้ามีคนเอาด้วยก็ทำ แล้วค่อยมาสรุปบทเรียนกัน" ไผ่กล่าว "นอกจากนี้ดาวดินไม่เคยมีประธานรุ่น เราเชื่อเรื่องการสร้างประชาธิปไตยฐานล่าง ทุกคนมีสิทธิแสดงความเห็น มีสิทธิเสนอเรื่อง ดาวดินเพิ่งมีประธานรุ่นก็ตอนที่ทหารมาถามเนี่ยแหละ ก็เลยตอบๆ ไป"
การที่ดาวดินเป็นนักปฏิบัติ จึงไม่ได้เน้นการหาทุนมาทำกิจกรรมมากนัก สมาชิกดาวดินเล่าว่า วิธีการหาทุนของกลุ่ม คือ การเปิดหมวก และหากไปลงพื้นที่ก็อาศัยวิธีการโบกรถไป
สมาชิกคนหนึ่งยังเล่าแบบติดตลกว่า "อย่างกิจกรรมที่ไปชู 3 นิ้วหน้าประยุทธ์เนี่ย ก็ใช้งบแค่ 15 บาท เป็นค่าสติกเกอร์ติดคำว่า "ไม่-เอา-รัฐ-ประ-หาร" แค่นั้นเอง"
"เราไม่ได้สู้เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เราสู้เรื่องความเป็นมนุษย์"
แม้ว่าดาวดินตั้งแต่รุ่นแรกจะเกิดขึ้นมาเพราะปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และเรื่องราวของพวกเขาก็ถูกทำให้เด่นชัดด้วยการร่วมกันต่อสู้กับชาวบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากกรณีเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย แต่สมาชิกดาวดินต่างย้ำเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่พวกเขาทำไม่ใช่แค่ความต้องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แต่พวกเขาสู้เพื่อความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน
ทุกครั้งหลังจากลงพื้นที่ สมาชิกจะมาสรุปบทเรียนกันเพื่อศึกษาว่าปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่หนึ่งๆ เกิดจากปัจจัยใดบ้าง และสิ่งที่พวกเขาค้นพบก็คือ ปัญหาเรื่องทรัพยากรเกิดจากการร่วมมือของรัฐและทุน ทำให้ชาวบ้านไม่มีสิทธิในการเข้าถึงและแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจจากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านอื่นๆ ด้วย
เมื่อชาวบ้านไม่มีสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง โอกาสในการกระจายทรัพยากรให้ตกถึงมือชาวบ้านก็ลดน้อยลง ดังนั้น เมื่อมีการรัฐประหาร และสมาชิกวางแผนจะจัดกิจกรรมไม่ยอมรับอำนาจรัฐประหาร จึงไม่มีสมาชิกคนใดไม่เห็นด้วย
"ทำไมพวกคุณไม่ตั้งใจเรียน เรียนจบไปช่วยชาวบ้านได้เต็มที่" คือสิ่งที่อาจารย์ถามตลอดเวลา
ภาพของดาวดินในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถูกมองว่า เป็นพวกเถื่อน ไม่มีระเบียบ ไม่ชอบเข้าเรียน ไปจนถึง เป็นคอมมิวนิสต์
ไผ่เล่าว่า อาจารย์มักบอกเขาและเพื่อนดาวดินคนอื่นๆ เสมอว่า "หากอยากช่วยชาวบ้านก็ขอให้ตั้งใจเรียนจะได้จบไปช่วยเหลือชาวบ้านได้" แต่ไผ่กลับเห็นว่า ช่วงชีวิตในมหาวิทยาลัยควรใช้ให้คุ้มค่า การออกไปทำกิจกรรม ลงพื้นที่ เรียนรู้ร่วมกับชาวบ้าน และได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนอื่น ทำให้ได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก และรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่ามากขึ้น
"ผมมั่นใจว่า อย่างน้อยพวกพี่ที่ได้รับการบ่มเพาะจากดาวดิน จะไม่ไปกดขี่รังแกใคร" ไผ่กล่าว
สมาชิกดาวดินส่วนใหญ่ที่เรียนจบจากคณะนิติศาสตร์ไปแล้วก็ล้วนเดินตามความฝันของตนเอง บางคนไปเป็นทนายความ เป็นอัยการ ผู้พิพากษา เพราะฉะนั้นการที่พวกเขาเคยได้มาอยู่กับชาวบ้าน เรียนรู้ปัญหาของชาวบ้าน ทำให้พวกเขาเห็นความเป็นมนุษย์มากขึ้น ทฤษฎีในห้อง กับการปฏิบัติมันไม่เหมือนกัน
สมาชิกดาวดินเล่าต่อไปว่า ยังมีพี่บางคนที่เขายังอยากทำงานเป็นทนายความช่วยชาวบ้านแบบนี้อยู่ จึงตั้ง "ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม" อยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ดูแลเรื่องคดีความที่เกี่ยวกับปัญหาทรัพยากร ผู้ที่ตั้งศูนย์กฎหมายนี้เป็นสมาชิกดาวดิน รุ่นที่ 1 ตอนนี้ที่ศูนย์ฯ มีคนทำงาน 4 คน ตั้งใจตั้งขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่รองรับความฝันของน้องๆ กลุ่มดาวดินต่อไป
ในปี 2558 เมื่อกลุ่มดาวดินทำกิจกรรมคัดค้านการรัฐประหาร ชื่อของพวกเขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น และถูกป้ายสีทางการเมืองต่างๆ นานา ไปตามแต่จินตนาการของผู้รับสารที่จะวาดภาพพวกเขาเป็นคนอย่างไร
หลังผ่านประสบการณ์การต่อสู้เรื่องความเป็นมนุษย์ ร่วมกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการแย่งชิงทรัพยากรมาหลายปี สมาชิก 7 คนของกลุ่มดาวดิน กำลังเดินหน้าเข้าสู่การเป็นผู้ต้องหาฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช. ข้อหาทางการเมืองที่ต้องขึ้นศาลทหาร ซึ่งมีผลให้พวกเขามีพื้นที่มากขึ้นในการสื่อสารเรื่องประเด็นปัญหาที่พวกเขาติดตามมาตลอดออกไปในวงกว้าง ขณะที่ชีวิตของสมาชิกทั้ง 7 คน ก็กำลังจะเปลี่ยนไป
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคดีความของทั้ง 7 คนจะเป็นอย่างไร พวกเขาก็ยังหวังให้มีกลุ่มดาวดินต่อไป เพราะดาวดินคือแหล่งบ่มเพาะความฝันของเด็กๆ ที่เพิ่งเข้ามหาวิทยาลัย และหวังที่จะสร้างสังคมที่งดงาม และมีความเท่าเทียม
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ชนิดบทความ: