1640 1254 1660 1967 1931 1503 1506 1575 1036 1648 1720 1071 1599 1078 1087 1363 1188 1656 1458 1750 1702 1702 1001 1224 1795 1225 1902 1830 1123 1272 1499 1939 1253 1536 1217 1100 1539 1127 1078 1578 1224 1387 1099 1626 1125 1434 1534 1312 1968 1497 1133 1104 1399 1211 1584 1350 1591 1934 1955 1913 1457 1704 1719 1777 1864 1872 1872 1669 1209 1749 1669 1601 1837 1950 1094 1871 1209 1542 1591 1615 1593 1452 1464 1736 2000 1466 1584 1928 1602 1212 1740 1247 1659 1878 1108 1705 1980 1165 1276 เรื่องของดาวดิน...ดาวที่ไม่อยากอยู่บนฟ้า | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

เรื่องของดาวดิน...ดาวที่ไม่อยากอยู่บนฟ้า

วันที่ 19 มิถุนายน 2558 นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ทั้ง 7 คน ซึ่งเรียกตัวเองว่ากลุ่ม 'ดาวดิน' มีกำหนดให้ไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจภูธรขอนแก่น หลังจากพวกเขาถูกจับข้อหาชุมนุมฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา
 
นักศึกษาทั้ง 7 คน ยืนยันว่า พวกเขาจะไม่ไปรายงานตัว และยินดีให้เจ้าหน้าที่มาจับตัวไปโดยไม่ขัดขืน นอกจากนี้ จะไม่มีการขอประกันตัวด้วย หากเจ้าหน้าที่จะปล่อยตัวจะต้องกระทำโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น
 
ไอลอว์ชวนย้อนรอยขุดคุ้ยประวัติของกลุ่มดาวดิน ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน ไปจนถึงอนาคต พอให้เห็นภาพว่านักศึกษากลุ่มดาวดินเป็นใคร แตกต่างจากขบวนการนักศึกษากลุ่มอื่นอย่างไร ทำไมพวกเขาจึงต่อต้านรัฐประหารถึงขนาดยอมติดคุก  
 

 

22 ธันวาคม 2556 นักศึกษากลุ่มดาวดินได้รับ “รางวัลเยาวชนต้นแบบ” ในงานประกาศผลรางวัล “คนค้นฅนอวอร์ด" ครั้งที่ 5 จากเหตุการณ์ที่นักศึกษากลุ่มนี้ใช้ตัวเองเป็นรั้วกั้นชาวบ้านระหว่างเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีการขอประทานบัตรเหมืองทองคำที่จังหวัดเลย เพื่อปกป้องชาวบ้านที่กำลังเผชิญกับความไม่ยุติธรรม

นี่คือเหตุการณ์ที่ทำให้หลายคนเริ่มรู้จักดาวดินในภาพของนักศึกษาผู้กล้าหาญ
 
283 Dao Din Anti-coup (Picture from Prachatai)
 

20 พฤศจิกายน 2557 นักศึกษากลุ่มดาวดิน 5 คน ใส่เสื้อยืดสีดำติดสติ๊กเกอร์ข้อความว่า “ไม่-เอา-รัฐ-ประ-หาร” พร้อมชู 3 นิ้วซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านรัฐประหาร ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นบนเวทีเพื่อกล่าวเปิดงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งในจังหวัดขอนแก่น

นี่เป็นเหตุการณ์ที่อาจทำให้ใครหลายคนตั้งคำถามว่า นักศึกษากลุ่มนี้ต้องการอะไร และทำทั้งหมดไปเพื่ออะไร
 
284 Picture from SIU
 
"จริงๆ กลุ่มของเราต่อสู้กับชาวบ้าน ยื่นหนังสือกับรัฐบาลมาตั้งหลายชุดแล้ว แต่มันไม่ดัง มาดังตอนเหมืองแร่เมืองเลยเนี่ยแหละ" ไผ่ หนึ่งในนักศึกษากลุ่มดาวดินกล่าว ก่อนเล่าประวัติความเป็นมาของกลุ่มดาวดินให้ฟัง
 
'ดาวดิน' คือ กลุ่มนักศึกษาซึ่งส่วนใหญ่เรียนอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พวกเขารวมตัวกันทำกิจกรรมลงพื้นที่เรียนรู้ปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดภาคอีกสาน กลุ่มดาวดินเกิดขึ้นมาพร้อมกับคณะนิติศาสตร์ มข. รุ่นที่ 1 ซึ่งเดือนกรกฎาคมปีนี้ กลุ่มดาวดินจะมีอายุครบ 12 ปีแล้ว
 
ไผ่ ซึ่งปัจจุบันรับตำแหน่งเป็นผู้ประสานงานกลุ่มดาวดิน เล่าให้ว่า ดาวดินเกิดจากการที่รุ่นพี่คณะนิติศาสตร์ มข. รุ่นที่ 1 ได้ไปลงพื้นที่ศึกษาปัญหาชาวบ้านในตอนนั้นเรื่องพืชจีเอ็มโอ สมัยนั้นรุ่นพี่ของเขาไปแบบนักศึกษาทั่วไป ไม่ได้รู้เรื่องอะไร แต่หลังกลับจากลงพื้นที่รุ่นพี่ของพวกเขาก็ตั้งคำถามกับความเดือดร้อนของชาวบ้าน รวมถึงตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรม ตั้งคำถามกับทฤษฎีทางกฎหมายที่พวกเขาร่ำเรียนมาในชั้นเรียน พวกเขาสงสัยว่าทำไมวิชานิติศาสตร์ที่เขาเรียนจึงไม่ได้เชื่อมโยงกับสังคมและปัญหาของชาวบ้านที่พวกเขาได้สัมผัส
 
ต่อมาจึงเกิด 'กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม' ซึ่งเริ่มแรกมีประมาณ 11 คน ใช้วิธีการทำงานแบบแบ่งกันลงพื้นที่ แล้วเอาประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนกัน ภายใต้หลักการของกลุ่ม คือ หนึ่ง เรียนรู้ปัญหาจากพื้นที่จริง สอง นำประเด็นปัญหามาแลกเปลี่ยน สาม นำปัญหามาเผยแพร่สู่สาธารณะ สี่ เป็นอิสระทั้งทางด้านความคิดและอิสระจากคณะ
 
ส่วนชื่อ 'ดาวดิน' คือ ชื่อวารสารของกลุ่มกฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม เป็นวารสารที่มีมาตั้งแต่รุ่นแรก จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้รับรู้ถึงสิ่งที่กลุ่มได้จากการลงพื้นที่เรียนรู้
 
เมื่อถามถึงความหมายของดาวดิน พายุ สมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มเล่าว่า ดาวดินเป็นชื่อที่รุ่นพี่ได้มาตอนพูดคุยกันในวงเหล้า ตอนนั้นถกเถียงกันเรื่องปัญหาสังคมแล้วมีพี่คนหนึ่งแหงนหน้ามองท้องฟ้าเห็นดาว แล้วก็บอกว่า "ดาวที่เห็นสวยงามอยู่บนท้องฟ้า ที่จริงแล้วก็คือก้อนดิน แต่มนุษย์เรากับให้คุณค่ามันมากเกินไป จริงๆ แล้ว ดาวกับดินก็ค่าเท่ากัน"
 
285 พายุ
 
สมาชิกกลุ่มดาวดินรุ่นแรกๆ เน้นการทำงานแบบลงพื้นที่และเรียนรู้ประเด็นปัญหาจากชาวบ้าน พวกเขามีชาวบ้านเป็นครู เมื่อเรียนรู้ปัญหาแล้ว สมาชิกกลุ่มก็ช่วยกันสรุปบทเรียน
 
พอมาถึงดาวดินรุ่นที่ 4 พวกเขาเริ่มคิดว่า แค่การเรียนรู้จากชาวบ้านอย่างเดียวอาจไม่พอ จึงเริ่มให้คำปรึกษาด้านกฎหมายกับชาวบ้าน และพวกเขาก็ศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไปด้วย จึงทำให้ดาวดินรุ่นหลังๆ เริ่มขยับวิธีการทำงานไปเป็นการ์ดป้องกันชาวบ้าน และร่วมช่วยชาวบ้านเคลื่อนไหว 
 
 
“ทำก่อน คิดทีหลัง” คือ สไตล์การทำงานของดาวดิน
ดาวดินทุกคนเป็น 'นักปฏิบัติ' ทุกครั้งที่จะจัดกิจกรรมใดๆ ก็ตาม สมาชิกจะช่วยกันคิดว่าอยากผลักดันประเด็นอะไร และจะทำออกมาในรูปแบบไหน หากมีคนเห็นด้วยก็ลงมือทำแล้วจึงมาสรุปบทเรียนทีหลัง อะไรที่ทำแล้วไม่ดีก็นำมาปรับปรุง
 
แม้หลายคนอาจไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ เพราะไม่ยอมคิดก่อนทำจึงทำให้ไม่เห็นผลที่จะตามมาว่ารุนแรงเพียงใด แต่ไผ่บอกว่า "ถ้าคิดก็ไม่ได้ทำ เพราะบางครั้งคิดมากเกินไปจนกลัว ข้อดีของการ 'ทำก่อน คิดทีหลัง' คืออย่างน้อยก็ได้ทำอะไรที่อยากทำ เราให้คุณค่ากับสิ่งที่เราจะทำอะไรก่อนเสมอ"
 
แม้ว่าดาวดินจะเป็นสายปฏิบัติ แต่ก็มีการศึกษาการเคลื่อนไหวจากประสบการณ์ที่ทำและศึกษาทฤษฎีบ้าง แต่หากถามว่ากลุ่มดาวดินถือเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบไหนก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน
 
"เราเป็นของเราแบบนี้ ใครอยากทำอะไรก็เสนอ ถ้ามีคนเอาด้วยก็ทำ แล้วค่อยมาสรุปบทเรียนกัน" ไผ่กล่าว "นอกจากนี้ดาวดินไม่เคยมีประธานรุ่น เราเชื่อเรื่องการสร้างประชาธิปไตยฐานล่าง ทุกคนมีสิทธิแสดงความเห็น มีสิทธิเสนอเรื่อง ดาวดินเพิ่งมีประธานรุ่นก็ตอนที่ทหารมาถามเนี่ยแหละ ก็เลยตอบๆ ไป"
 
การที่ดาวดินเป็นนักปฏิบัติ จึงไม่ได้เน้นการหาทุนมาทำกิจกรรมมากนัก สมาชิกดาวดินเล่าว่า วิธีการหาทุนของกลุ่ม คือ การเปิดหมวก และหากไปลงพื้นที่ก็อาศัยวิธีการโบกรถไป
 
สมาชิกคนหนึ่งยังเล่าแบบติดตลกว่า "อย่างกิจกรรมที่ไปชู 3 นิ้วหน้าประยุทธ์เนี่ย ก็ใช้งบแค่ 15 บาท เป็นค่าสติกเกอร์ติดคำว่า "ไม่-เอา-รัฐ-ประ-หาร" แค่นั้นเอง"
 
 
"เราไม่ได้สู้เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เราสู้เรื่องความเป็นมนุษย์"
แม้ว่าดาวดินตั้งแต่รุ่นแรกจะเกิดขึ้นมาเพราะปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และเรื่องราวของพวกเขาก็ถูกทำให้เด่นชัดด้วยการร่วมกันต่อสู้กับชาวบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากกรณีเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย แต่สมาชิกดาวดินต่างย้ำเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่พวกเขาทำไม่ใช่แค่ความต้องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แต่พวกเขาสู้เพื่อความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน
 
ทุกครั้งหลังจากลงพื้นที่ สมาชิกจะมาสรุปบทเรียนกันเพื่อศึกษาว่าปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่หนึ่งๆ เกิดจากปัจจัยใดบ้าง และสิ่งที่พวกเขาค้นพบก็คือ ปัญหาเรื่องทรัพยากรเกิดจากการร่วมมือของรัฐและทุน ทำให้ชาวบ้านไม่มีสิทธิในการเข้าถึงและแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจจากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านอื่นๆ ด้วย
 
เมื่อชาวบ้านไม่มีสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง โอกาสในการกระจายทรัพยากรให้ตกถึงมือชาวบ้านก็ลดน้อยลง ดังนั้น เมื่อมีการรัฐประหาร และสมาชิกวางแผนจะจัดกิจกรรมไม่ยอมรับอำนาจรัฐประหาร จึงไม่มีสมาชิกคนใดไม่เห็นด้วย
 
 
"ทำไมพวกคุณไม่ตั้งใจเรียน เรียนจบไปช่วยชาวบ้านได้เต็มที่" คือสิ่งที่อาจารย์ถามตลอดเวลา
ภาพของดาวดินในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถูกมองว่า เป็นพวกเถื่อน ไม่มีระเบียบ ไม่ชอบเข้าเรียน ไปจนถึง เป็นคอมมิวนิสต์
 
ไผ่เล่าว่า อาจารย์มักบอกเขาและเพื่อนดาวดินคนอื่นๆ เสมอว่า "หากอยากช่วยชาวบ้านก็ขอให้ตั้งใจเรียนจะได้จบไปช่วยเหลือชาวบ้านได้" แต่ไผ่กลับเห็นว่า ช่วงชีวิตในมหาวิทยาลัยควรใช้ให้คุ้มค่า การออกไปทำกิจกรรม ลงพื้นที่ เรียนรู้ร่วมกับชาวบ้าน และได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนอื่น ทำให้ได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก และรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่ามากขึ้น
 
"ผมมั่นใจว่า อย่างน้อยพวกพี่ที่ได้รับการบ่มเพาะจากดาวดิน จะไม่ไปกดขี่รังแกใคร" ไผ่กล่าว
 
สมาชิกดาวดินส่วนใหญ่ที่เรียนจบจากคณะนิติศาสตร์ไปแล้วก็ล้วนเดินตามความฝันของตนเอง บางคนไปเป็นทนายความ เป็นอัยการ ผู้พิพากษา เพราะฉะนั้นการที่พวกเขาเคยได้มาอยู่กับชาวบ้าน เรียนรู้ปัญหาของชาวบ้าน ทำให้พวกเขาเห็นความเป็นมนุษย์มากขึ้น ทฤษฎีในห้อง กับการปฏิบัติมันไม่เหมือนกัน
 
สมาชิกดาวดินเล่าต่อไปว่า ยังมีพี่บางคนที่เขายังอยากทำงานเป็นทนายความช่วยชาวบ้านแบบนี้อยู่ จึงตั้ง "ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม" อยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ดูแลเรื่องคดีความที่เกี่ยวกับปัญหาทรัพยากร ผู้ที่ตั้งศูนย์กฎหมายนี้เป็นสมาชิกดาวดิน รุ่นที่ 1 ตอนนี้ที่ศูนย์ฯ มีคนทำงาน 4 คน ตั้งใจตั้งขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่รองรับความฝันของน้องๆ กลุ่มดาวดินต่อไป
 
 
286 Dao Din
 
 
ในปี 2558 เมื่อกลุ่มดาวดินทำกิจกรรมคัดค้านการรัฐประหาร ชื่อของพวกเขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น และถูกป้ายสีทางการเมืองต่างๆ นานา ไปตามแต่จินตนาการของผู้รับสารที่จะวาดภาพพวกเขาเป็นคนอย่างไร 
 
หลังผ่านประสบการณ์การต่อสู้เรื่องความเป็นมนุษย์ ร่วมกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการแย่งชิงทรัพยากรมาหลายปี สมาชิก 7 คนของกลุ่มดาวดิน กำลังเดินหน้าเข้าสู่การเป็นผู้ต้องหาฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช. ข้อหาทางการเมืองที่ต้องขึ้นศาลทหาร ซึ่งมีผลให้พวกเขามีพื้นที่มากขึ้นในการสื่อสารเรื่องประเด็นปัญหาที่พวกเขาติดตามมาตลอดออกไปในวงกว้าง ขณะที่ชีวิตของสมาชิกทั้ง 7 คน ก็กำลังจะเปลี่ยนไป
 
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคดีความของทั้ง 7 คนจะเป็นอย่างไร พวกเขาก็ยังหวังให้มีกลุ่มดาวดินต่อไป เพราะดาวดินคือแหล่งบ่มเพาะความฝันของเด็กๆ ที่เพิ่งเข้ามหาวิทยาลัย และหวังที่จะสร้างสังคมที่งดงาม และมีความเท่าเทียม 
 
 

 

Article type: