- เว็บไซต์ไอลอว์
- ศูนย์ข้อมูลฯ
สถานการณ์ปี 2559 1/5: ความเงียบที่เกิดจากความชินชา หลังตกอยู่ใต้อำนาจทหารนานกว่าสองปีโดยไม่สิ้นสุด
หมดจิตหมดใจจะใฝ่ฝัน
การสร้างสรรค์ย่อมสิ้นแผ่นดินหมอง
กลัวน้ำตาไหลหลั่งดั่งน้ำนอง
ก็จะต้องเห็นแก่ตัวชั่วนิรันดร์
ท่อนเปิดหัวกวีบทเก่าจาก ยังดี วจีจันทร์ ดูจะบ่งชี้สถานการณ์ความเงียบของกิจกรรมเคลื่อนไหวด้านการเมืองและสิทธิมนุษยชนไทยในรอบปี 2559 ได้เป็นอย่างดี 34 ครั้ง คือตัวเลขกิจกรรมที่ถูกปิดกั้นในปี 2559 ขณะเดียวกันย้อนไปในปี 2558 มีจำนวน 68 ครั้ง และในปี 2557 จำนวน 42 ครั้ง จำนวนตัวเลขที่ลดลงกว่าเท่าตัว ของปี 2559 เมื่อเทียบกับปีก่อน สะท้อนว่าปีนี้มีความพยายามจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองน้อยลง ก่อนรายงานนี้จะเผยแพร่ เราได้พูดคุยกับวรวุฒิ บุตรมาตร นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ เพื่อสะท้อนภาพใหญ่ของปีที่เงียบงันของกิจกรรมทางการเมืองและสังคมความชาชินของผู้คน กลไกและท่าทีภาครัฐ และการถูกดำเนินคดีพ่วงชนักติดหลัง ดูจะเป็นสิ่งแรกๆ ที่ถูกยกขึ้นมาสนับสนุน ถึงความเงียบที่เกิดขึ้น
กลไกรัฐและท่าทีเจ้าหน้าที่
วรวุฒิ เล่าว่า บรรยากาศรายรอบและความรู้สึกมันเริ่มล้า พอรู้สึกได้ว่าสังคมไม่แยแส ต่อปรากฎการณ์การใช้อำนาจของคสช.ที่ตรวจสอบยาก ประกอบกับช่วงหลังจากกลางปี เกิดเหตุการณ์สวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 คนในแวดวงนักกิจกรรมเลยต้องระมัดระวังมากขึ้น ทุกคนต่างลดบทบาท และคิดกันว่า ถ้าทำอะไรพลาดไป อาจจะส่งผลเสียต่อพวกเขา เปรียบเทียบท่าทีของเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจในช่วงสามปีหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ช่วงต้นของการรัฐประหารเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจอย่างเข้มข้น เพราะต้องการควบคุมสถานการณ์ให้เรียบร้อยที่สุด พอเข้าปี 2558 คสช.เริ่มจัดโครงสร้างและระเบียบทางการเมืองได้แล้ว จึงเริ่มปล่อยให้มีการจัดกิจกรรมมากขึ้น และเข้าปี 2559 ก็ค่อนข้างผ่อนคลายมากขึ้น ถ้าไม่ใช่ประเด็นที่ท้าทายคสช.หรือประเด็นที่แหลมคม อย่างแคมเปญคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ มีข้อสังเกตว่า กิจกรรมอย่าง Walk for Rights เดินเพื่อสิทธิชีวิตฅนอีสาน ถ้าจัดในปี 2557- 2558ก็มีความเชื่อกันว่าแม้แต่ก้าวแรกก็อาจไม่ได้เดิน แต่การจัดในปีนี้เจ้าหน้าที่ใช้วิธีกดดันและบีบโดยสั่งเร่งให้รีบเดิน และห้ามอยู่ในพื้นที่นาน ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐจะกลัวว่าเป็นการจุดประเด็นทางการเมือง นักกิจกรรมจากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่มองว่า จากบรรยากาศตอนนี้ ถึงจุดประเด็นแล้วก็จะอย่างไรต่อได้? เหมือนว่าแต่ละภาคส่วนตอนนี้เตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งแล้ว และยังหาช่องทางของตัวเองอยู่ ยิ่งกับกลุ่มกิจกรรมการเมือง ซึ่งพวกเขาเองก็ยังไม่มีทิศทางชัดเจนว่าจะทำอะไร หลังประชามติผ่าน จึงเหลือกิจกรรมไม่กี่อย่าง เช่น เรื่องผลพวงรัฐธรรมนูญ ตามแก้ไขปัญหาอำนาจจากคสช.
และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจดังกล่าว
กิจกรรม Walk for Rights ที่แม้จัดได้แต่ก็มีเจ้าหน้าที่คอยติดตามอย่างใกล้ชิด ภาพจาก Prachatai
การมีชนักติดหลังเพราะถูกดำเนินคดี
หลังถูกดำเนินคดี นักกิจกรรมต่างได้พิสูจน์แล้วว่า พวกเขาจะจัดการและประเมินเรื่องภัยอันตราย และต้นทุนค่าเสียโอกาสต่อตัวเองอย่างไร แต่ก็มีบางส่วนที่เลิกออกมาเคลื่อนไหวจริงๆจังๆ นักกิจกรรมอีกคนหนึ่งยกตัวอย่างอย่างกรณีที่ขอนแก่น กลุ่มดาวดินหลายคนที่โดนจับกุมจากการชุมนุมครบรอบ 1 ปีรัฐประหารเมื่อปี 2558 มาถึงปีนี้หลายคนบทบาทหายไปเลย กลับไปเรียน กลับไปทำงาน คิดว่าเขาคงชั่งน้ำหนักในเรื่องนี้ไว้แล้ว ว่าอันไหนมันส่งผลดีต่อตัวเขา ยิ่งกับโดนคดีที่มีโทษหนักๆ พวกเขาจะออกไปใช้ชีวิต อย่างคนปกติธรรมดาได้ยากลำบากมาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เป็นหลักใหญ่ใจความมีผลต่อการทำกิจกรรมปีนี้แน่นอน โดยเฉพาะการรณรงค์ของฝ่ายไม่เห็นด้วย มันรู้สึกหมดจิตหมดใจจะใฝ่ฝัน อนันต์ นักกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงกล่าว บางรายขอกลับไปเรียนต่อ พวกเขายอมรับว่า สิ่งที่ทำคืองานที่จะเปลี่ยนความคิดคน ซึ่งในความเป็นจริงก็เปลี่ยนได้ แต่เปลี่ยนได้ไม่มากพอ ขนาดหวังจะทำให้ชนะได้ ยิ่งโดยแคมเปญโหวตโนประชามติในปีนี้ ที่ต่างทุ่มหมดหน้าตัก ทำให้หลายคนที่ทำกิจกรรมหายไปเหมือนกัน ด้วยความท้อแท้ เหนื่อยหน่าย
หรือกระทั่งเขาเห็นว่าให้เวลากับงานเหล่านี้มากเกินพอแล้ว จึงอยากกลับไปสู่หนทางชีวิต ที่สังเกตเห็นในปีนี้รัฐไทยเรียนรู้การจัดการการชุมนุมและกิจกรรมทางการเมืองได้ดีขึ้น
มีทั้งมาตรการทางกฎหมายและจิตวิทยา เรากำลังเดินทางเข้าสู่ปีที่สี่ของ คสช. อย่างมาดมั่น คนไทยด้านชาต่อความเจ็บปวดทางการเมืองเศรษฐกิจ และสังคมทุกอย่าง วรวุฒิตัวแทนนักกิจกรรมทิ้งท้าย
ประเภทรายงาน: