1905 1406 1023 1791 1399 1649 1652 1891 1905 1782 1912 1367 1925 1598 1034 1523 1675 1150 1402 1020 1776 1413 1441 1726 1911 1101 1839 1354 1944 1928 1026 1918 1380 1400 1008 1583 1088 1211 1299 1875 1445 1031 1444 1047 1337 1364 1426 1064 1349 1588 1885 1142 1167 1502 1292 1677 1353 1021 1093 1184 1043 1794 1831 1275 1322 1538 1034 1179 1034 1670 1059 1064 1054 1209 1153 1579 1942 1666 1229 1952 1805 1759 1169 1041 1620 1531 1057 1091 1680 1260 1694 1030 1211 1407 1638 1993 1848 1281 1689 "ขอพระราชทานอภัยโทษ" ช่องว่างบนเส้นทางสู่อิสรภาพ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

"ขอพระราชทานอภัยโทษ" ช่องว่างบนเส้นทางสู่อิสรภาพ

 
ว่ากันว่า แม้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะมีโทษหนักแต่กฎหมายนี้ก็ไม่ได้น่ากลัวและไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน เพราะเมื่อมีใครถูกลงโทษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็จะพระราชทานอภัยโทษให้ในท้ายที่สุด ดังเช่น กรณีนายวีระ มุกสิกพงศ์ ในปี 2531 นายโอลิเวอร์ ชาวสวิตเซอร์แลนด์ ในปี 2550 นายแฮรี่ ชาวออสเตรเลีย ในปี 2552 
 
การพระราชทานอภัยโทษ เป็นขั้นตอนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259-267 มีอยู่สองประเภทหลักๆ คือ หนึ่งการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป เนื่องในวาระโอกาสสำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เช่น วันที่ 5 ธันวาคม วันที่ 12 สิงหาคม โดยคณะรัฐมนตรีจะตราพระราชกฤษฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่นักโทษทุกคนที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ สอง การขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ซึ่งเป็นช่องทางพิเศษที่นักโทษทุกคนที่คดีถึงที่สุดแล้ว สามารถยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้
 
ในช่วงปี 2552-2553 มีการชุมนุมใหญ่ทางการเมือง และเริ่มมีการก่อตัวของกลุ่มคนเสื้อแดง พร้อมกับที่ข้อหา “ล้มเจ้า” ถูกปลุกขึ้นมาใช้อย่างหนักหน่วงในสังคมไทย ทำให้มีคดีตามมาตรา 112 เกิดขึ้นจำนวนมาก ถึงขั้นที่คดีจำนวนหนึ่ง ฝ่ายผู้กล่าวหาและอัยการอ้างความเป็น “คนเสื้อแดง” ของจำเลยเป็นหนึ่งในพยานแวดล้อม จำเลยหลายคดียังดิ้นรนต่อสู้หาความบริสุทธิ์ให้กับตัวเองอยู่ หลายคดีก็สิ้นสุดไปแล้วด้วยการพระราชทานอภัยโทษ
 
นักโทษที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดตามมาตรา 112 จะสนใจการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษแบบเป็นกรณีพิเศษรายบุคคล เนื่องจากเชื่อว่าวิธีการนี้มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่อิสระภาพได้โดยเร็วที่สุด
 
แม้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะไม่ได้เขียนไว้โดยตรง จำเลยต้องรับสารภาพก่อนจึงจะยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้ แต่ก็มีธรรมเนียมปฏิบัติกันว่าจำเลยต้องรับสารภาพและต้องแสดงออกถึงความสำนึกผิดในสิ่งที่ตัวเองทำลงไป โดยเขียนสิ่งเหล่านี้ลงในหนังสือที่ทูลเกล้าต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ธรรมเนียมปฏิบัตินี้เองทำให้ระบบการขอพระราชทานอภัยโทษในปัจจุบันสร้างช่องว่างขึ้นระหว่างทางของกระบวนการยุติธรรมอยู่บ้าง ดังจะกล่าวต่อไปนี้
 
1.  การรับสารภาพ ตัดตอนการค้นหาความจริง
 
การที่ต้องรับสารภาพก่อนทำให้หลายคดีจำเลยตัดสินใจไม่สู้คดี รีบรับสารภาพและยื่นขอพระราชทานอภัยโทษโดยเร็วที่สุด ทั้งๆ ที่จำเลยเชื่อว่าตัวเองไม่ได้กระทำความผิด แต่ต้องเลือกวิธีนี้เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้ได้รับอิสรภาพเร็วกว่า ตัวอย่างเช่น
 
โจ กอร์ดอน หรือนายเลอพงษ์ ชาวไทยสัญชาติอเมริกัน ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2554 แม้นายเลอพงษ์จะยืนยันว่าเขาไม่ได้กระทำความผิด แต่เนื่องจากเขาไม่เชื่อว่าจะสามารถต่อสู้คดีจนชนะได้ เพราะเขาเชื่อว่าคดีตามมาตรา 112 จะถูกพิจารณาด้วยอคติของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม นายเลอพงษ์จึงเลือกใช้วิธีขอพระราชทานอภัยโทษ ในวันนัดขึ้นศาลครั้งแรกเมื่อศาลถามว่าจำเลยจะรับสารภาพหรือไม่ นายเลอพงษ์ให้การต่อศาลว่า “ผมไม่ขอต่อสู้คดี” แต่ศาลต้องถามจนกว่านายเลอพงษ์จะยอมตอบว่า “รับสารภาพ” และสั่งลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ก่อนจะยื่นขอพระราชทานอภัยโทษและได้รับอิสรภาพในวันที่ 11 กรกฎาคม 2555 ทำให้จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครรู้ความจริงว่านายเลอพงษ์กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ และตำรวจใช้หลักฐานใดในการกล่าวหาว่าเขากระทำความผิด
 
อากงSMS หรือ นายอำพล ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 นายอำพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี คดีนี้เป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศ ขณะที่นายอำพลยืนยันมาตลอดว่าตัวเองไม่ได้กระทำความผิดและต้องการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง แต่ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษและไม่ให้ประกันตัว ต่อมานายอำพลจึงตัดสินใจถอนอุทธรณ์ และยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ (ต่อมาเสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังก่อนได้รับการอภัยโทษ) จนถึงวันนี้นายอำพลก็ยังไม่เคยได้โอกาสอย่างเต็มที่ในการพิสูจน์ตัวเอง
 
หนุ่ม เรดนนท์ หรือ นายธันย์ฐวุฒิ ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2553 นายธันย์ฐวุฒิต่อสู้คดีในศาลชั้นต้นและถูกตัดสินจำคุก 13 ปี แม้ว่าหลักฐานในคดีของเขายังมีจุดอ่อนอยู่มาก แต่หลังยื่นอุทธรณ์ไปเกือบหนึ่งปีแล้วยังไม่มีวี่แววว่าจะได้รับอิสรภาพเมื่อใด นายธันย์ฐวุฒิจึงตัดสินใจถอนอุทธรณ์เพื่อยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ และได้รับอิสรภาพจากการอภัยโทษในเวลาต่อมา
 
 
2. การยอมรับว่าการแสดงออกนั้นเป็นความผิด ทำให้ไม่มีบรรทัดฐานการตีความ
 
บางกรณีจำเลยยอมรับว่าตัวเองได้กระทำไปตามที่ถูกฟ้องจริง แล้วเลือกที่จะรับสารภาพและยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเพื่อให้ได้รับอิสรภาพโดยเร็วที่สุด มากกว่าเลือกที่จะต่อสู้ว่าการแสดงออกของตัวเองนั้นเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามปกติที่ควรจะได้รับการคุ้มครอง และไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย ต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือกล่าวได้ว่า ไม่ต่อสู้ในประเด็นเนื้อหา ตัวอย่างเช่น
 
สุรชัย แซ่ด่าน หรือ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 เนื่องจากการปราศรัยในหลายพื้นที่ นายวราวุธ ฐานังกร หรือสุชาติ นาคบางไทร ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2553 เนื่องจากการปราศรัยที่ท้องสนามหลวง นายวันชัย แซ่ตัน ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2552 จากการแจกเอกสารแผ่นปลิว พวกเขาเลือกที่จะรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาและยื่นขออภัยโทษในทันที และในปัจจุบันได้รับพระราชทานอภัยโทษเป็นอิสระแล้ว โดยสุรชัยได้รับอภัยโทษแบบเฉพาะราย ส่วนสุชาติและวันชัย ได้รับอภัยโทษแบบเป็นการทั่วไป
 
ขณะที่คดีที่เลือกต่อสู้ในประเด็นเนื้อหา คือ ยอมรับว่าตัวเองได้กระทำไปตามที่ถูกฟ้อง แต่เนื้อหาของสิ่งตัวเองที่แสดงออกนั้นไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112 และไม่เลือกขอพระราชทานอภัยโทษ เช่น นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, ดา ตอร์ปิโด, นางปภัสนัญญ์ ฉิ่งอินทร์ (เจ๊แดง) หรือ นายเอกชัย ต่างก็ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ
 
เมื่อคนที่เลือกต่อสู้ไม่เคยชนะ ทำให้คนอื่นๆ เลือกที่จะไม่ยืนยันต่อสู้ในประเด็นการตีความเนื้อหาและเลือกใช้ช่องทางยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ดังนั้น จึงไม่ค่อยปรากฏว่ามีคดีความตามมาตรา 112 ที่ขึ้นถึงศาลฎีกา และไม่มีแนวบรรทัดฐานของศาลที่วินิจฉัยว่าเนื้อหาแบบใดที่เป็นความผิดหรือไม่เป็นความผิด ทำให้พื้นที่ของการตีความมาตรา 112 ก็ยังเป็นแดนสนธยาที่ไม่ว่าอะไรเฉียดใกล้ก็ถือเป็นผิดไปหมด และผลักให้การเอ่ยถึงบุคคลในสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องที่น่ากลัวที่สุดต่อไป
 
 
3. การยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ยังต้องแลกกับอิสรภาพระดับหนึ่งที่ไม่แน่นอน
 
เนื่องจากคดีที่จะยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ต้องเป็นคดีที่ถึงที่สุดแล้ว หมายความว่า หมดระยะเวลาที่จะยื่นอุทธรณ์ หรือฎีกาคำพิพากษาของศาลแล้ว ดังนั้นหลายคดีต้องรอให้กำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์หรือฎีกาสิ้นสุดลงก่อน หรือคดีที่ยื่นอุทธรณ์ไปแล้วจึงต้อง “ถอนอุทธรณ์” ก่อน จึงจะยื่นขออภัยโทษได้ซึ่งก็หมายความว่าจำเลยจะไม่มีสิทธิต่อสู้คดีด้วยช่องทางอื่นอีกต่อไปแล้ว ความหวังที่เหลืออยู่อย่างเดียวของพวกเขาก็คือรอวันที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษเท่านั้น
 
ซึ่งระยะเวลาในการรอคำสั่งอภัยโทษของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน และไม่แน่นอน กว่าแต่ละคนจะได้รับอิสรภาพก็ต้องลุ้นกันตัวโก่งโดยไม่มีใครบอกได้ว่าการจะได้อิสรภาพเร็วหรือช้านั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง เมื่อนักโทษที่อยู่ระหว่างถูกคุมขังทิ้งหนทางอื่นที่จะต่อสู้ด้วยสิทธิตามกฎหมายของตนจนหมดแล้ว ก็เหลือแต่การรอคอยคำสั่งอภัยโทษเท่านั้นโดยไม่มีหลักประกันว่าจะได้หรือไม่ และเมื่อใด ซึ่งเป็นการผลักให้นักโทษเดินเข้าสู่ช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิต
 
สิ่งที่ปฏิบัติและเชื่อกัน คือ ระหว่างที่ขอคำสั่งอภัยโทษนั้น นักโทษต้องแสดงออกถึงความสำนึกผิด โดยการเลิกเคลื่อนไหวทางการเมือง เลิกกิจกรรมรณรงค์ หรือยอมทำตัวให้เงียบเพื่อแลกกับอิสรภาพนอกห้องขังนั่นเอง โดยมีข้อสังเกตว่ายิ่งคนที่เงียบเท่าไรก็ยิ่งได้รับอิสรภาพเร็วเท่านั้น
 
ตัวอย่าง ในกรณีของนายวันชัย นายธันย์ฐวุฒิ และนายสุรชัย ซึ่งยื่นหนังสือทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษในไปในคราวเดียวกันแต่ได้รับอิสรภาพไม่พร้อมกัน โดยนายวันชัย ซึ่งเป็นคดีที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2556 นายธันย์ฐวุฒิ ซึ่งเป็นคดีที่มีคนรู้จักบ้าง ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2556 และนายสุรชัย ซึ่งเป็นคดีที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2556 
 
64
 
(ตารางอินโฟกราฟิก แก้ไขข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2556)
 
อย่างไรก็ดี ยังมีข้อสังเกตอีกว่า ไม่ว่าจะเงียบเท่าไรก็ตาม กว่าคดีจะถึงที่สุด กว่าจะยื่นขอหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษและรอคำสั่ง จนถึงวันที่ได้รับอิสรภาพจริง ก็ต้องแลกมากับการถูกจองจำเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนเสมอ เช่น กรณีนายเลอพงษ์ ต้องถูกจองจำอยู่ทั้งหมด 1 ปี 1 เดือน 18 วัน กรณีนายอำพล ต้องถูกจองจำอยู่ทั้งหมด 1 ปี 9 เดือน 6 วัน ก่อนจะเสียชีวิต กรณีนายวันชัย ต้องถูกจองจำอยู่ทั้งหมด 4 ปี 2 เดือน 1 วัน กรณีนายธันย์ฐวุฒิ ต้องถูกจองจำอยู่ทั้งหมด 3 ปี 3 เดือน 5 วัน (ระยะเวลานี้รวมช่วงเวลาที่ถูกคุมขังในชั้นสอบสวนและในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น)
 
มีกรณีของนักโทษบางคนยื่นขอพระราชทานอภัยโทษแบบรายบุคคลแล้ว แต่ในระหว่างรอคำสั่งอยู่นั้นก็ได้รับการลดโทษในระบบอภัยโทษแบบทั่วไปจึงได้รับการปล่อยตัวก่อนที่คำสั่งอภัยโทษรายบุคคลจะมาถึง เช่น กรณีนายสุชาติ นาคบางไทร หรือนายสุริยันต์ เป็นต้น
 
ขณะที่คดีในอดีต อย่าง กรณีนายแฮรี่ ก็ต้องถูกจองจำอยู่ทั้งหมด 5 เดือน 19 วัน กรณีนายโอลิเวอร์ ต้องถูกจองจำอยู่ทั้งหมด 4 เดือน 6 วัน หรือกรณีของนายวีระ มุสิกพงศ์ ต้องถูกจองจำอยู่ประมาณ 1 เดือน ก่อนได้รับอิสรภาพ
 
กล่าวโดยสรุป การใช้ช่องทางยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ของนักโทษคดีมาตรา 112 นั้น เป็นช่องทางที่ช่วยให้นักโทษหลายคนได้รับอิสรภาพอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันช่องทางนี้ก็ต้องแลกกับการถูกจองจำเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อน ซึ่งเป็นการจองจำที่ไม่มีหลักประกันและระยะเวลาที่แน่นอน ต้องแลกกับการยกเว้นเสรีภาพการแสดงออกของตัวเองโดยการทำตัวให้เงียบที่สุด ต้องยอมรับว่าการแสดงออกของตัวเองนั้นไม่ใช่สิทธิแต่เป็นการกระทำความผิด และยอมสละสิทธิที่จะไม่ต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความจริงบางประการ