1369 1360 1095 1767 1662 1504 1673 1634 1533 1351 1138 1995 1522 1546 1388 1396 1769 1127 1008 1636 1101 1623 1578 1153 1893 1662 1897 1462 1713 1630 1505 1859 1782 1137 1881 1461 1913 1758 1340 1601 1415 1263 1920 1730 1732 1734 1385 1511 1578 1958 1422 1442 1501 1825 1110 1073 1690 1838 1061 1242 1927 1031 1568 1479 1191 1605 1855 1948 1247 1197 1199 1884 1608 1499 1288 1464 1718 1527 1037 1432 1442 1842 1084 1652 1562 1688 1119 1651 1293 1397 1892 1797 1355 1895 1329 1623 1363 1067 1254 สามปี คสช. วางฐานอำนาจ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

สามปี คสช. วางฐานอำนาจ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

 

เป็นระยะเวลาสามปีเต็มแล้ว ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหารและเข้าปกครองประเทศ ภายใต้วาทกรรมสวยหรูว่าจะมา “ปฏิรูป” ประเทศ แก้ปัญหาเรื้อรังต่างๆ ตลอดช่วงเวลานี้ คสช. ใช้อำนาจออกประกาศ/คำสั่งเองโดยตรงอย่างน้อย 584 ฉบับ และแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขึ้นมาออกกฎหมายไปแล้วอย่างน้อย 239 ฉบับ 


สามปีที่ประชาชนอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร คสช. ได้ใช้กลไกต่างๆ สร้างวัฒนธรรมทางการเมืองการปกครองที่ให้ข้าราชการเป็นศูนย์กลาง ให้ผู้นำใช้อำนาจสั่งการแบบเบ็ดเสร็จโดยไม่จำเป็นต้องมีส่วนร่วม ไม่ต้องกระจายอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจ สร้างวัฒนธรรมการทางกฎหมายที่หลักนิติรัฐมีค่าน้อยกว่าอำนาจทหาร ทั้งในการออกกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายผ่านกระบวนการยุติธรรม สร้างวัฒนธรรมการตรวจสอบอำนาจที่สื่อถูกควบคุม องค์กรอิสระถูกแทรกแซง และเจ้าหน้าที่รัฐสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องกลัวความรับผิด   

 
เรียกได้ว่า ในยุคนี้ คสช. ได้เปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปไกลจากจุดเดิมที่เคยยืนอยู่ก่อนการรัฐประหารอย่างไม่อาจจะย้อนกลับคืนได้ และเมื่อลองวิเคราะห์รายประเด็น ก็จะเห็นว่า ทิศทางที่กลไกต่างๆ กำลังเดินหน้าล้วนมีจุดร่วม กัน คือ การสร้างฐานอำนาจของ คสช. ให้ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” มากขึ้นเรื่อยๆ 

 
1. เปลี่ยนผ่านจากตัวแทนประชาชนไปสู่ 'รัฐราชการ' มากขึ้น

อาจจะกล่าวได้ว่า 3 ปี ในยุค คสช. เป็นยุคที่ข้าราชการเติบโตขึ้นมาก เพราะพระราชบัญญัติ และคำสั่งหัวหน้า คสช. หลายฉบับ จัดตั้งหน่วยงานหรือคณะกรรมการขึ้นใหม่อย่างน้อย 78 ชุด อีกทั้ง ในคณะทำงานแต่ละชุดยังมีสัดส่วนของข้าราชการนั่งอยู่ถึง 57 เปอร์เซ็น โดยเฉลี่ย กฎหมายและคำสั่งต่างๆ ที่ออกมาในยุคนี้โน้มเอียงไปในทางลดทอนอำนาจของตัวแทนประชาชนและเปลี่ยนผ่านอำนาจไปสู่มือของ 'ข้าราชการ' มากขึ้น
 
ตัวอย่างเช่น กฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) จากเดิมที่กำหนดให้กรรมการ กสทช. บางส่วนมาจากระบบคัดเลือกกันเองของภาคประชาสังคม ได้ถูกเปลี่ยนโดยยกเลิกระบบการคัดเลือกกันเอง เป็นการสรรหาโดยให้ข้าราชการเป็นกรรมการสรรหาทั้งหมด และให้ส.ว.เป็นผู้ตัดสินใจเลือกสุดท้าย 
 
กฎหมายอีกฉบับที่สะท้อนภาพของการกุมอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรให้อยู่ในมือข้าราชการ ก็คือ 'พ.ร.บ.แร่' ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) นำโดยอานันท์ ปันยารชุน เคยอธิบายถึงความล้มเหลวของการจัดการทรัพยากรแร่ในประเทศไทยไว้ว่า เกิดจากความด้อยประสิทธิภาพของกลไกการกำกับดูแลเพราะกิจการเหมืองแร่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของระบบราชการตลอดมา แต่เนื้อหาของ พ.ร.บ.แร่ ฉบับที่เขียนกันขึ้นใหม่ ก็ไม่ได้ลดสัดส่วนของข้าราชการในทางกลับกันยังเพิ่มขึ้นอีกจนข้าราชการเป็นเสียงข้างมากเด็ดขาดของกฎหมายฉบับนี้
 
กฎหมายบางฉบับที่เคยถูกเสนอโดยภาคประชาชน เมื่อผ่าน สนช. ในยุคนี้ก็ถูกลดทอนสัดส่วนของภาคประชาชนลง อาทิ พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ซึ่งร่างฉบับภาคประชาชนกำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนจากภาคประชาชนนั่งเป็นคณะกรรมการ 8 คน แต่ในร่างที่ผ่านโดย สนช. กลับเหลือสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิเพียง 6 คน จากกรรมการทั้งหมด 16 คน แต่คงจำนวนข้าราชการไว้ตามเดิม
 
นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ 2560 ยังตั้ง คณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระและศาสรัฐธรรมนูญ โดยเพิ่มสัดส่วนของ 'ตัวแทนข้าราชการ' ให้เป็นเสียงส่วนใหญ่ และให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีอำนาจควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งครั้งหน้าได้อย่างง่ายดายและเบ็ดเสร็จ 
 
ในยุคนี้ยังมีการผ่าน พ.ร.บ.แก้ไขปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม อีกอย่างน้อย 6 ครั้ง ตั้งกระทรวงใหม่ คือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และจัดสรรอำนาจการบริหารส่วนราชการใหม่อีกหลายแห่ง 
 
 
 
 
 
2. ออกกฎหมาย/คำสั่ง แบบเบ็ดเสร็จ ทำลายหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน
 
วิธีการบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. เดินหน้าทิศทางตรงข้ามกับหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน  มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว ออกกฎเกณฑ์ต่างๆ อย่างน้อย 152 ฉบับ ด้วยความถี่ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ระบบบริหารประเทศและการตัดสินใจขึ้นอยู่กับหัวหน้า คสช. เพียงผู้เดียว เช่น การประกาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 8 จังหวัดการให้รัฐหาผู้ว่าจ้างเอกชนได้ก่อนการทำ EIA เป็นต้น และด้วยบรรยากาศการเมืองที่ปิดทำให้ประชาชนไม่อาจแสดงออกถึงสิ่งที่ต้องการหรือร่วมกำหนดผลกระทบกับชีวิตของตนเองได้ 
 
กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งก่อนและระหว่างกระบวนการร่างเลย กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทั้ง 21 คน ก็มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ทั้งหมด เช่นเดียวกับคำถามเพิ่มเติม หรือ "คำถามพ่วง" ที่มาจากการเสนอโดย สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และเลือกโดย สนช. รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่เพิ่งประกาศใช้จำกัดสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนโดยมีตัวอย่างที่สำคัญคือการตัดสิทธิการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งประชาชนเคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550
 
การออกกฎหมาย โดย สนช. ซึ่งสมาชิกกว่าครึ่งเป็นทหารที่ คสช. แต่งตั้งมาก็เป็นไปอย่างรวดเร็วโดยมีการออกกฎหมายแล้วอย่างน้อย 239 ฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น และประชาชนไม่มีตัวแทนนั่งอยู่ในสภาที่จะเป็นปากเป็นเสียงแทนได้ เมื่อประชาชนรวมตัวกันแสดงออกคัดค้านกฎหมายฉบับใด ก็มีโอกาสจะถูกดำเนินคดี เช่น กรณียื่นหนังสือคัดค้านร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ หรือกรณียื่นหนังสือขอให้แก้ไขพ.ร.ก.การประมง ที่หน้ารัฐสภา เป็นต้น 
 
การปฏิรูปประเทศโดย สปท.ที่ คสช. เป็นผู้แต่งตั้งสมาชิกทั้งหมดก็มีการประชุมกันมากว่าหนึ่งปีแล้วแต่ประชาชนแทบไม่ได้รับรู้ความคืบหน้าใดๆ ขณะที่การร่างยุทธศาสตร์ชาติก็เตรียมจะดำเนินการโดยคณะกรรมการที่มีแต่ทหารและข้าราชการไม่มีตัวแทนของภาคประชาชน 
 
อาจจะกล่าวได้ว่า ตลอดช่วงเวลาสามปี คสช. อาศัยเหตุจากความวุ่นวายและความเบื่อหน่ายทางการเมืองออกมาตรการต่างๆ ลดทอนการมีส่วนร่วมของประชาชนให้ค่อยๆ หดหายไป และใช้อำนาจบริหารประเทศไปตามความเห็นของตัวเอง โดยที่ประชาชนจำนวนมากอาจไม่ทันรู้ตัว ประชาชนในยุคนี้จึงทำได้เพียงรอให้ คสช. กับหน่วยงานต่างๆ ของ คสช. ตัดสินใจแทนโดยหวังว่า จะตัดสินใจไปในทิศทางที่กลุ่มของตนได้ประโยชน์ ซึ่งวัฒนธรรมทางการเมืองเช่นนี้นับได้ว่า เป็นมรดกตกทอดสำคัญที่ คสช. ได้ฝากไว้ให้กับสังคมไทยในอนาคตอีกชิ้นหนึ่ง
 
 
 
 
 
3. แช่แข็งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำลายความฝันกระจายอำนาจให้ประชาชน
 
เจตนารมณ์เดิมของการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่น คือ ต้องการกระจายอำนาจ โดยให้สมาชิกมาจากการเลือกตั้งของคนในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการกำหนดวิถีชีวิตของตัวเอง แต่แนวทางของ คสช. คือ ทำให้สมาชิกสภาท้องถิ่นไม่มีส่วนใดที่ยึดโยงกับประชาชนในท้องถิ่น ทำให้เจตนารมณ์ของการปกครองส่วนท้องถิ่นถูกทำลายจนหมดสิ้น 
 
หลังยึดอำนาจไม่นาน คสช. ออกประกาศฉบับที่ 85/2557 ระงับการเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้เหตุผลว่า สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่พร้อมให้มีการจัดเลือกตั้ง ในส่วนของตำแหน่งที่ว่างลงให้คัดเลือกผู้มีความรู้เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในการสรรหา กรณีของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยและฝ่ายข้าราชการมานั่งในคณะกรรมการสรรหาและยังกำหนดคุณสมบัติของสมาชิกสภาท้องถิ่นว่าต้องเคยรับราชการหรือกำลังรับราชการในระดับซีแปดขึ้นไป 
 
ความไม่ยึดโยงอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นปรากฏซ้ำอีกครั้งใน คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 1/2557 ที่ยังคง “แช่แข็ง” ไม่ให้เลือกตั้ง แต่ให้ผู้บริหารหน้าเดิมทำงานต่อไปอย่างไม่มีวาระ และถ้ายังขาดอยู่กี่ตำแหน่งก็ให้แทนที่ด้วยการสรรหาต่อไป 
 
ต่อมา คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2559 แก้ไขวิธีการสรรหาสมาชิกองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นอีกครั้ง ระบุว่า ระบบการสรรหาโดยให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดเป็นประธานไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล จึงแก้ไขให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานในการสรรหาแทน จะเห็นได้ว่า "ธรรมาภิบาล" ของ คสช. ก็เป็นเรื่องของ อำนาจของข้าราชการระดับสูงขึ้น แต่ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นแม้แต่น้อย
 
รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ยังลดทอนความยึดโยงของประชาชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมาตรา 252 เปิดช่องทางให้ผู้นำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษมาจากช่องทางอื่นที่ไม่ใช่การเลือกตั้งก็ได้ สอดคล้องกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 64/2559 ซึ่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนเดิมที่มาจากการเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งและแต่งตั้งพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ คนใหม่
 
ผลลัพธ์จากการใช้อำนาจ "แช่แข็ง" ที่ คสช. ทำไว้ทำให้ความฝันที่ประชาชนในท้องถิ่นจะมีอำนาจกำหนดอนาคตตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพถอยห่างจากความเป็นจริงออกไปเรื่อยๆ และพาประเทศไทยย้อนกลับไปสู่ระบบเจ้าขุนมูลนาย ที่ผู้ปกครองของทุกหัวระแหงจะถูกคัดเลือกและส่งตรงมาจากผู้มีอำนาจในส่วนกลาง
 
 
 
 
4. แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์
 
หลังจากรัฐบาล คสช. นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงลงปรมาภิไธย ได้มีข้อสังเกตพระราชทานให้ปรับแก้รัฐธรรมนูญในบางหมวด รัฐบาลจึงเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 ให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้วได้ และแก้ไข มาตรา 5, 15, 16, 17, 19 และ 182 ส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ ประเด็นการแต่งตั้งข้าราชการในพระองค์ และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีเพียงประเด็นในมาตรา 5 ที่เปลี่ยนกลับไปใช้หลักการในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 คือ "ในกรณีใดก็ตามที่ไม่มีรัฐธรรมนูญเขียนทางออกไว้ ก็ให้ทำไปตามประเพรีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"  
 
หลังจากสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังคปรินายก สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556 ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชก็ว่างลงแต่การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ไม่สามารถทำได้ในทันทีเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งภายในมหาเถรสมาคมทำให้ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลงเป็นเวลานาน 
 
ในวันที่ 29 ธันวาคม 2559 สนช.เห็นชอบให้แก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์ สามวาระรวด โดยมีใจความสำคัญคือ ให้พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชโดยตรงและให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง แทนการรอให้มหาเถรสมาคมเห็นชอบและให้นายกรัฐมนตรีเสนอพระสังฆราชองค์ใหม่ตามพ.ร.บ.ฉบับเดิม ทั้งนี้ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับแก้ไขไม่ได้กำหนดเรื่องลำดับอาวุโสของผู้ที่จะได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชไว้  
 
20 เมษายน 2560 สนช. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยพิจารณาเป็นการลับทุกขั้นตอนและให้เอกสารการประชุมเป็นความลับด้วย สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.นี้คือการให้ข้าราชการในพระองค์ที่สังกัดหน่วยงานราชการต่างๆย้ายมาสังกัดส่วนราชการในพระองค์และให้คณะรัฐมนตรีจัดสรรงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนให้แก่ส่วนราชการในพระองค์เพื่อปฏิบัติภารกิจด้านต่างๆ สำหรับรายได้ของส่วนราชการในพระองค์ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน รวมทั้งทรัพย์สินของส่วนราชการในพระองค์ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี และผู้ใดจะยกอายุความขึ้นอ้างกับทรัพย์สินของส่วนราชการในพระองค์ไม่ได้ 
 
 
5. ใช้ทั้งกฎหมายและอำนาจคุมเข้มสื่อเก่า-สื่อออนไลน์ บีบจนต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง
 
ในวันที่เข้ายึดอำนาจในปี 2557 คสช. ส่งกำลังทหารไปที่สถานีโทรทัศน์และวิทยุต่างๆ พร้อมทั้งออกประกาศคำสั่งหลายฉบับเพื่อควบคุมการเสนอข่าวของสื่อ เช่น ประกาศฉบับที่ 4/2557 ให้สื่อทั้งโทรทัศน์และวิทยุงดรายการปกติและเชื่อมสัญญาณจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบกแทนและประกาศฉบับที่ 15/2557 สั่งปิดสถานีดาวเทียมและสถานีวิทยุชุมชนทุกแห่ง  
 
แม้ว่าในเวลาต่อมา คสช. จะผ่อนมาตรการคุมสื่อลง แต่ก่อนที่สื่อโทรทัศน์และวิทยุจะกลับมาออกอากาศได้ ต้องทำความตกลงกับ คสช. ก่อนว่าจะไม่เผยแพร่เนื้อหาที่ "ก่อให้เกิดความขัดแย้ง" และสถานีวิทยุขนาดเล็กต้องเริ่มกระบวนการขออนุญาตออกอากาศใหม่ ทำให้หลายสถานีตัดสินใจยังไม่กลับมาทำหน้าที่จนถึงปัจจุบัน ส่วนสถานีที่กลับมาออกอากาศ ก็ต้องอยู่ภายใต้ ประกาศที่ 97/2557 และ 103/2557 ที่ คสช. ออกมาเพื่อควบคุมการนำเสนอเนื้อหาของสื่อ 
 
การพยายามควบคุมเนื้อหาในสื่อเก่าอย่าง โทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ ของ คสช. ไม่ค่อยปรากฏเป็นภาพการจับกุมดำเนินคดีบุคคลที่ฝ่าฝืนอย่างโจ่งแจ้ง แต่จะใช้ กสทช. เป็นเครื่องมือทำหน้าที่เรียกมาพูดคุย ตักเตือน สั่งปรับหรือสั่งพักใช้ใบอนุญาต กสทช. ซึ่งมีกรรมการเป็นอดีตนายทหารรวมห้าคน ใช้อำนาจลงโทษสื่อ เช่น สั่งพักใบอนุญาตพีซทีวีและทีวี 24 เป็นเวลาเจ็ดวัน ในเดือนเมษายน 2558 และสั่งพักใบอนุญาตว๊อยซ์ทีวี เป็นเวลาเจ็ดวัน ในช่วงเดือนมีนาคม 2560 
 
แม้ทุกวันนี้สื่อกระแสหลักจะยังออกอากาศรายการได้ตามปกติ แต่ก็ต้องพยายาม “เซ็นเซอร์ตัวเอง” โดยระมัดระวังการวิพากษ์วิจารณ์ คสช. เพื่อความอยู่รอด กรณีของว๊อยซ์ทีวีน่าจะอธิบายความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์สื่อในประเทศไทยได้ดีที่สุด หลังเคยถูกตักเตือน ถูกสั่งปรับ แบนผู้ดำเนินรายการหลายครั้ง และสั่งห้ามออกอากาศทั้งช่อง ล่าสุด ผู้บริหารจึงตัดสินใจปรับผังรายการ ยกเลิกรายการวิเคราะห์ข่าวและวิเคราะห์การเมืองไทย 
 
แม้คสช.จะควบคุมสื่อหลักอย่างวิทยุ โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ได้อย่างเด็ดขาด แต่การจัดการกับสื่อออนไลน์ก็เป็นความท้าทายใหม่ที่คณะรัฐประหาร "รุ่นพี่" ของ คสช. ไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน สื่อออนไลน์จึงกลายเป็นช่องทางที่บุคคลสาธารณะ เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง หรือ สมบัติ บุญงามอนงค์ ใช้ในการสื่อสารประกาศจุดยืนต่อต้านการรัฐประหาร 
 
การพยายามควบคุมสื่อใหม่อย่าง อินเทอร์เน็ต คสช. ยังไม่มีเครื่องมือทางกฎหมายที่สามารถใช้อำนาจได้เบ็ดเสร็จในทันใด เพียงแต่สร้างบรรยากาศให้ประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น นอกจากจะใช้วิธีการไล่จับ ผู้ที่แสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์แล้ว คสช. ก็ปรับกระบวนเพื่อรับมือกับความท้าทายของสื่อใหม่หลายวิธี เช่น เรียกผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเข้ามาพูดคุยและขอให้ติดตามตรวจสอบข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย, การผ่านพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ในเดือนธันวาคม 2559 พร้อมมาตรา 14(1) (2) ที่ขยายฐานความผิดจากการโพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์ให้กว้างขวางขึ้น, การออกประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ห้ามติดต่อกับบุคคล 3 คน บนเฟซบุ๊ก ฯลฯ 
 
ตลอดสามปีของ คสช. ทั้งสื่อเก่าและสื่อใหม่ล้วนตกอยู่ในภาวะเซ็นเซอร์ตัวเอง จำต้องเลือกประเด็นนำเสนอที่อ่อนไหวน้อยที่สุด และยิ่ง คสช. อยู่ในอำนาจนานเข้าก็ดูเหมือนเพดานการนำเสนอเนื้อหาที่ "ปลอดภัย" จะถูกกดต่ำลงเรื่อยๆ จนข้อมูลข่าวสารหลากหลายประเด็นที่ควรจะถูกนำเสนอค่อยๆ หายไปจากความรับรู้ของประชาชน
 
การพยายามเสนอร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน หรือ ร่างพ.ร.บ.จดทะเบียนสื่อ เป็นความพยายามครั้งสำคัญในยุค คสช. ที่จะควบคุมสื่อ โดยบังคับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อทุกคน รวมทั้งสื่อออนไลน์ ต้องขึ้นทะเบียนกับสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกสามปี ซึ่งร่างกฎหมายนี้อาจจะเป็นบทสะท้อนที่ชัดเจนว่า คสช. ต้องการควบคุมการทำงานของสื่อให้ได้สุดทางเพียงใด
 
 
ภาพจาก Sophie Tawan
 
 
6. สถาปนาอำนาจทหารในกระบวนการยุติธรรม
 
ปรากฎการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมช่วงสามปีของ คสช. คือ การดึงทหารเข้ามาอยู่ในกระบวนการยุติธรรมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การเริ่มต้นคดี หลายครั้งทหารเป็นผู้กล่าวโทษเอง คือ เป็นผู้ไปบอกแก่ตำรวจว่า มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและขอให้ตำรวจจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษ เช่น คดีมาตรา 112 ของบุรินทร์ หรือ คดีของแจกใบปลิวโหวตโน ของสามารถ
 
ในชั้นสอบสวน ทหารมีอำนาจ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ 13/2559 จับกุมและควบคุมตัวบุคคลในสถานที่ปิดลับเป็นเวลา 7 วันและร่วมกับตำรวจสอบสวนบุคคลที่ทาง คสช. เห็นว่าทำความผิด เช่น กรณีแปดแอดมินเพจ "เรารักพลเอกประยุทธ์" ที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 และถูกนำไปสอบสวนในค่ายทหาร เป็นเวลาหนึ่งวัน ก่อนถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 หรือ กรณีของทนายประเวศ ซึ่งถูกทหารจับจากที่บ้านในวันที่ 29 เมษายน 2560 และถูกนำไปสอบสวนในค่ายทหารเป็นเวลาห้าวันก่อนถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112, 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทั้งสองกรณี ผู้ถูกคุมตัวถูกสอบสวนโดยไม่มีทนายร่วมฟังการสอบสวนและไม่ได้รับอนุญาตให้พบญาติระหว่างถูกควบคุมตัว 
 
ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบทั้งต่อตัวผู้ถูกดำเนินคดีและต่อกระบวนการยุติธรรมในภาพรวม บุคคลที่ถูกควบคุมตัวในค่ายทหารเจ็ดวัน ตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงว่า จะถูกข่มขู่ หว่านล้อม หรือใช้กำลังในการสอบสวนเพื่อให้ได้คำรับสารภาพหรือข้อมูลอื่น เช่น กรณีของสรรเสริญ หนึ่งในผู้ต้องหาคดีปาระเบิดศาลอาญา ที่พบรอยแผลตามร่างกายหลังถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร ระหว่างสามปีของ คสช. ไอลอว์บันทึกข้อมูลของผู้ที่ถูกจับเข้าค่ายทหารก่อนถูกตั้งข้อกล่าวหา เช่น มาตรา 112 และมาตรา116 ได้อย่างน้อย 94 คน    
 
ในชั้นศาล คสช. ออกประกาศ ฉบับที่ 37/2557 และ 50/2557 กำหนดให้คดีทางการเมืองและคดีความผิดเกี่ยวกับอาวุธ ที่ประชาชนเป็นจำเลยอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร โดยคดีที่ขึ้นศาลทหาร มีอัยการผู้ฟ้องคดีเป็นทหาร มีพยาน คือ ผู้กล่าวโทษและผู้จับกุมเป็นทหาร และตุลาการผู้ตัดสินคดีก็เป็นทหาร ซึ่งเท่าที่ทราบมีประชาชนที่ต้องขึ้นศาลทหารในคดีการเมืองไปแล้วอย่างน้อย 300 คน แม้ว่า หัวหน้า คสช. จะออกคำสั่งที่ 55/2559 ยุติการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารแล้ว แต่คำสั่งดังกล่าวไม่มีผลย้อนหลัง คดีพลเรือนที่อยู่ในศาลทหารแล้วก็ยังคงถูกพิจารณาในศาลทหารต่อไป 
 
ทหารยังเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในส่วนงานราชฑัณฑ์ด้วย เมื่อมีการจัดตั้งเรือนจำชั่วคราวแขวงนครชัยศรี ขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นเรือนจำที่ตั้งอยู่ในค่าย มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) โดยมีทหารได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้คุมพิเศษ 80 นาย
 
การให้ทหารเข้ามามีอำนาจเหนือกระบวนการยุติธรรม ทั้งในขั้นตอนการจับกุม สอบสวน ชั้นศาล และเรือนจำ ขัดต่อหลักนิติรัฐและพันธกรณีระหว่างประเทศของไทยตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR เมื่อทหารเข้ามามีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมในคดีที่ทหารเป็นคู่ขัดแย้งกับตัวจำเลย เช่น คดีของผู้ชุมนุมต่อต้าน คสช. เป็นการเอาสถาบันยุติธรรมบังหน้าเพื่อหวังผลทางการเมืองเท่านั้น และย่อมส่งผลให้จำเลยไม่อาจรู้สึกว่า ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการเหล่านี้ ทำให้ ประชาชนไม่เชื่อถือกระบวนการยุติธรรม และอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งที่หาข้อยุติไม่ได้ในระยะยาว
 
 
ภาพจาก Banrasdr Photo
 
 
7. กินรวบองค์กรอิสระ ให้ตรวจสอบเฉพาะฝ่ายตรงข้าม
 
“องค์กรอิสระ” เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2540 ด้วยความคาดหวัง คือ ต้องการให้มีหน่วยงานของรัฐที่อิสระจากรัฐบาล เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น ดูแลผลประโยชน์ของประเทศชาติ และปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างไรก็ตามตลอดกว่า 20 ปี ที่ผ่านมา องค์อิสระก็ยังถูกตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระ เพราะถูกแทรกแซงจากนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐประหารตลอดเวลา 
 
ช่วงเวลาสามปีของ คสช. ภาพสะท้อนถึงปัญหาความเป็นอิสระขององค์กรอิสระยิ่งชัดเจนมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่า ระหว่างที่ คสช. ถืออำนาจเป็นรัฐบาลอยู่นั้น คสช. ก็มีอำนาจในกระบวนการคัดเลือกองค์อิสระหลายองค์กร ตั้งแต่ต้นจนจบ ตัวอย่าง การสรรหา “ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน” ทำโดย คสช. ตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นมาเจ็ดคน ส่วนใหญ่เป็นตัวแทนจากศาล หรือ การแต่งตั้ง “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ” (ป.ป.ช.) รวมทั้ง “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ที่คณะกรรมการสรรหาส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นฝ่ายตุลาการ และยังต้องได้รับความเห็นชอบจาก สนช.
 
คสช. ใช้โอกาสในยุคนี้วางเครือข่ายอำนาจของตนเองไว้ในองค์กรอิสระต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระเหล่านั้นหลายคนทำงานใกล้ชิดกับ คสช. เช่น พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ที่ลาออกจากสนช. เพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. หรือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ที่หลังยุติหน้าที่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกให้ คสช. ก็เขารับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น 
 
ด้วยเหตุนี้องค์กรอิสระ ซึ่งควรมีหน้าที่ในการตรวจสอบการงานรัฐบาลอย่างแข็งขัน กลับกลายเป็นหน่วยงานที่เชื่องและไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบ คสช. ดังจะเห็นกรณีทุจริตของกองทัพหลายครั้ง ที่ผลการพิจารณามักสร้างความเคลือบแคลงใจต่อสังคม เช่น ป.ป.ช. และผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ยืนยันว่าโครงการอุทยานราชภักดิ์ ของกองทัพบกดำเนินการไปด้วยความโปร่งใส เป็นต้น
 
ขณะที่หากเป็นการตรวจสอบฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของ คสช. องค์กรอิสระเหล่านี้ก็จะทำงานอย่างแข็งขันจนกระทั่งสนับสนุนการใช้ "อภินิหารทางกฎหมาย" เช่น ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินออกมาสนับสนุนให้รัฐบาลเก็บภาษี ทักษิณ ชินวัตร จากการหลีกเลี่ยงภาษี 
 
แม้จะยังไม่แน่นอนว่าบุคคลที่ถูกแต่งตั้งเข้าไปดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระหรือศาลรัฐธรรมนูญ ในยุคคสช. จะยังดำรงตำแหน่งต่อเนื่องตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เนื่องจากยังต้องรอกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจาก กรธ. ก่อน แต่ก็แน่นอนว่าหากมีการสรรหาใหม่ อำนาจในการแต่งตั้งจะอยู่ในมือ ส.ว. ทีมาจากการแต่งตั้งของ คสช. และคนที่ถูกแต่งตั้งก็สามารถดำรงตำแหน่งยาวนานถึงเจ็ดปี ซึ่งมากพอที่จะสนับสนุนและปกป้องการปกครองของ คสช. ต่อไป และมากพอที่จะเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบและ “ล้ม” รัฐบาลจากการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน
 
 
 
 
 
8. สร้างรากฐานการใช้อำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้
 
คสช. ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 โดยมีมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญยกเว้นความรับผิดให้การกระทำของตัวเองที่เป็นการละเมิดกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ การเขียนยกเว้นความรับผิดให้ตัวเองลักษณะนี้ คสช. เดินตามรอยคณะรัฐประหารรุ่นพี่ที่ทำเช่นนี้เหมือนกันหมด แต่ในยุคนี้ มาตรา 48 แสดงอิทธิฤทธิ์ให้ปรากฏเป็นรูปธรรม เมื่อมีประชาชนไปฟ้องร้องว่า คสช. ยึดอำนาจมีความผิดฐานกบฏ และศาลอาญาสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา โดยให้เหตุผลว่า คสช. พ้นจากความรับผิดแล้ว ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 48 
 
ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ยังบัญญัติมาตรา 44 ให้อำนาจ คสช. ออกคำสั่งใดๆ ก็ได้ โดย คสช. เคยใช้อำนาจ ตามมาตรา 44 ออกคำสั่งอย่างน้อย 4 ฉบับ ที่มีเนื้อหาจำกัดเสรีภาพของประชาชน และในคำสั่งยังระบุถึงการไม่ต้องรับผิดของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการตามคำสั่งของคสช. ซ้ำอีกครั้งอย่างรัดกุม ได้แก่ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 ที่ให้อำนาจแก่ กสทช. กำกับเนื้อหาในสื่อ โดยไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย และ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่จับกุม และควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในความผิดต่อความมั่นคงไว้ถึงเจ็ดวัน, คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 เรื่องการปราบปรามผู้มีอิทธิพล คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 5/2560 เรื่องการกำหนดพื้นที่ควบคุมที่นำมาใช้กับวัดพระธรรมกาย ที่ต่างก็มีบทยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่ซึ่งได้ ‘กระทําการไปตามอํานาจหน้าที่โดยสุจริต’
 
ผลลัพธ์ที่เห็นเด่นชัดของการใช้มาตรา 44 คือ ลดขั้นตอนในการออกกฎหมายและเพิ่มความรวดเร็วในการใช้อำนาจของ คสช. ความรวดเร็วดังกล่าวมีราคาที่ต้องแลก ไม่ว่าจะเป็นขาดการพิจารณาให้รอบคอบ และผลกระทบของผู้มีส่วนได้เสีย มีกรณีศึกษาที่ชัดเจน เมื่อประชาชนฟ้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้ผังเมือง ศาลปกครองก็สั่งไม่รับฟ้องไว้พิจารณา โดยให้เหตุผลว่า การออกคำสั่งด้วยอำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุดแล้ว จึงดูเหมือนว่า อำนาจตามมาตรา 44 จะไม่สามารถถูกตรวจสอบถ่วงดุลได้โดยอำนาจใด 
 
อำนาจการปกครองในลักษณะแนวดิ่งแบบที่ คสช. ใช้ให้เห็นตลอดสามปีที่ผ่านมา ได้วางป้อมปราการไว้จำนวนมาก ให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้อำนาจได้เต็มที่โดยได้รับการคุ้มครอง ไม่อาจถูกฟ้องร้อง หรือตรวจสอบโดยอำนาจตุลาการได้ และไม่มีกลไกคุ้มครองประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งป้อมปราการเหล่านี้ก็จะมีอยู่ต่อไปแม้ภายหลัง คสช. หมดอำนาจไปแล้ว ไม่เพียงในตัวคำสั่งของ คสช. แต่จะยังอยู่ในวัฒนธรรมการใช้อำนาจของสังคมไทยด้วย
 
 
 
 
 
ในวันที่ คสช. ใช้อำนาจปกครองประเทศครบสามปี รัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว พร้อมกับคำถามถึงการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่มากขึ้น การตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพ และการจัดการเลือกตั้ง หาตัวแทนของประชาชนไปใช้อำนาจแทน คสช. เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าไปตามรัฐธรรมนูญ 
 
อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างในยุค คสช. ยังวางกลไกไว้อีกหลายชั้นเพื่อรักษาฐานอำนาจที่สร้างไว้ไม่ให้ถูกเอาคืน เช่น ให้ คสช. แต่งตั้งส.ว.ชุดแรก 250 คน, ให้รัฐบาล คสช. จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งแผนการปฏิรูปประเทศ หรือ ให้รัฐบาลใหม่ต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานจริยธรรม ฯลฯ ดังนั้น ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อใด และใครจะชนะการเลือกตั้ง คณะทหารชุดนี้จะยังคงมีอำนาจและยัง ‘มีงานทำ’ อยู่ต่อไปอีกผ่านกลไกหลากหลาย รวมทั้งผลงานต่างๆ ที่ คสช. ได้ทำไว้ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในอำนาจ ก็จะยังอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไปอีกนานเช่นกัน 
 
 
ประเภทรายงาน: