1263 1246 1275 1675 1368 1367 1764 1141 1104 1737 1541 1494 1338 1897 1902 1231 1786 1704 1242 1084 1550 1605 1791 1668 1394 1620 1537 1947 1921 1158 1514 1987 1869 1361 1070 1720 1898 1935 1072 1583 1007 1401 1316 1420 1190 1059 1969 1004 1736 1947 1811 1426 1992 1395 1964 1530 1180 1516 1278 1733 1514 1173 1838 1318 1542 1379 1932 1060 1166 1986 1433 1101 1446 1109 1553 1194 1635 1549 1545 1046 1132 1440 1231 1987 1957 1528 1487 1003 1246 1659 1956 1866 1220 1062 1282 1853 1534 1480 1794 พฤษภาคม 2560: ขวางจัดรำลึกเหตุการณ์ปี 53' - สองจำเลยคดี 112 เปลี่ยนใจรับสารภาพ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

พฤษภาคม 2560: ขวางจัดรำลึกเหตุการณ์ปี 53' - สองจำเลยคดี 112 เปลี่ยนใจรับสารภาพ

 
เดือนพฤษภาคมเป็นเดือนที่ คสช. และฝ่ายความมั่นคง ต้องจับตาสถานการณ์เป็นพิเศษ เพราะมีวันครบรอบเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญเกิดขึ้นอย่างน้อยสามเหตุการณ์ ได้แก่ เหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2535 หรือเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" เหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มแนวประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือกลุ่ม นปช. ในปี 2553 และเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 
 
อย่างไรก็ตาม บรรยากาศทางการเมืองโดยรวมถือว่าไม่คึกคักนัก ในปีนี้ไม่มีการจัดกิจกรรมรำลึกขนาดใหญ่ มีเพียงกิจกรรมรำลึกเล็กๆ เช่นกิจกรรมทำบุญรำลึกถึงผู้เสียชีวิตที่วัดปทุมวนาราม หรือ กิจกรรมเสวนาครบรอบสามปีการรัฐประหาร ซึ่งก็มีผู้เข้าร่วมไม่มากนัก และถูกเจ้าหน้าที่จับตาอย่างหนัก บางกิจกรรมก็ถูกแทรกแซงด้วยรูปแบบต่างๆ กัน 
 
สำหรับความเคลื่อนไหวคดีเสรีภาพที่น่าสนใจในเดือนนี้ มีกรณีที่จำเลยคดี 112 สองคนที่เคยให้การปฏิเสธและสู้คดีในศาลทหารเป็นเวลามากกว่าหนึ่งปีตัดสินใจรับสารภาพเพื่อให้คดีจบเพราะถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี และการพิจารณาคดีในศาลทหารใช้เวลานานเกินไป 
 

คุมเข้มกิจกรรมรำลึกเดือนพฤษภาฯ

 
เดือนพฤษภาคมมีการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญๆ หลายกรณี ได้แก่ การรำลึกถึงพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) ที่ถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 และการรำลึกถึงผู้เสียชีวิตหกคนที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ขณะเดียวกันกิจกรรมรำลึกครบรอบสามปีการรัฐประหาร 2557 แม้จะจัดได้แต่ก็มีการแทรกแซงโดยเจ้าหน้าที่ให้งดพูดคำบางคำ งดแจกเอกสารรวมทั้งให้ถอดนิทรรศการบางส่วนออก  
 

ตรึงกำลังลานพระรูปร.6 อนุญาตให้ลูกสาวจุดเทียนรำลึก 'เสธ.แดง' เพียงคนเดียว

 
วันที่ 12 พฤษภาคม 2560 ขัตติยา สวัสดิผล อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2560 มีเจ้าหน้าที่โทรมาสอบถามเรื่องการจัดกิจกรรมรำลึกครบรอบเจ็ดปีที่พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง ซึ่งเป็นพ่อของขัตติยาถูกยิงเสียชีวิต
 
ขัตติยาให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ไปว่า ทางครอบครัวไม่ได้จะจัดกิจกรรมเป็นพิเศษ มีเพียงตนเองกับพี่สาวที่จะไปวางดอกไม้จุดเทียนรำลึก ณ จุดที่พ่อถูกยิงเสียชีวิตเท่านั้น อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่แจ้งกลับมาว่า "มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขัตติยาและพี่สาววางดอกไม้และจุดเทียน หรือทำอะไรได้" โดยไม่ได้ให้เหตุผลอื่นประกอบ 
 
ต่อมาในวันที่่ 12 พฤษภาคม 2560 พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช.ให้สัมภาษณ์ว่า เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเห็นว่าการจัดกิจกรรมรำลึกถึงพล.ต.ขัตติยะ น่าจะเกี่ยวข้องกับการเมืองจึงไม่ให้จัด แต่ยืนยันว่าการห้ามจัดไม่ใช่การกลั่นแกล้งครอบครัวสวัสดิผล  ต่อมาในวันที่ 13 พฤษภาคม 2560 ซึ่งเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของพล.ต.ขัตติยะ เจ้าหน้าที่ตำรวจหนึ่งกองร้อยเข้าตรึงกำลังบริเวณลานพระบรมรูปรัชกาลที่หก ตั้งแต่เวลาประมาณ 16.00 น. รวมทั้งมีการล้อมรั้วบริเวณทางลงรถไฟฟ้าใต้ดินฝั่งสวนลุมพินีซึ่งเป็นจุดที่พล.ต.ขัตติยะถูกยิงเสียชีวิตด้วย เมื่อเวลาประมาณ 18.45 ขัตติยาเดินทางมาถึงบริเวณทางลงรถไฟฟ้า เจ้าหน้าที่อนุญาตให้ขัตติยาเข้าไปวางดอกไม้และจุดเทียนรำลึกได้เพียงคนเดียวซึ่ึ่งขัตติยาใช้เวลาจุดเทียนรำลึกถึงพ่อประมาณห้านาทีก็ออกมาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสั้นๆ ก่อนจะเดินทางกลับ 
 

แต่งหน้าผีรำลึกหกศพวัดปทุมฯถูกรวบไปโรงพัก อีกรายเดินเฉียดป้ายราชประสงค์ถูกรวบเช่นกัน

 
วันที่ 19 พฤษภาคม 2560 ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 53 เช่น พะเยาว์ อัคฮาด แม่ของกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม และพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อของสมาพันธ์ ศรีเทพ หนุ่มวัย 17 ปีที่ถูกยิงเสียชีวิตในซอยรางน้ำเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ร่วมทำบุญที่วัดปทุมวนารามในช่วงเช้า เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตโดยมีเอกอัครราชทูตสหพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์ และตัวแทนจากฮิวแมนไรท์ วอทช์ ร่วมทำบุญด้วย ซึ่งระหว่างการทำกิจกรรมก็มีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบคอยจับตาไม่ให้มีการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง
 
 
700
 
เจ้าหน้าที่ตำรวจพูดคุยกับพันธ์ศักดิ์ นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับและญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 53 ที่มา ประชาไท
 
ต่อมาในเวลาประมาณ 15.30 น. ญาติผู้เสียชีวิต ได้แก่ พะเยาว์และพันธ์ศักดิ์ รวมทั้งนักกิจกรรม เช่น สิรวิชญ์หรือ "จ่านิว" ร่วมกันเล่นละครใบ้ แต่งหน้าเป็นผีเพื่อทวงถามความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิต พันธ์ศักดิ์หนึ่งในผู้ร่วมแสดงละครใบ้ระบุว่า ระหว่างทำกิจกรรมเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามเข้ามายุติการแสดงแต่ผู้แสดงก็พยายามแสดงจนจบ หลังจบการแสดงเจ้าหน้าที่ก็เชิญผู้ร่วมแสดงทั้งหมดเจ็ดคนไปที่สน.ปทุมวัน และมีการลงบันทึกประจำวันว่ามาทำอะไร ก่อนที่ทั้งเจ็ดได้รับการปล่อยตัวในเวลาประมาณ 18.40 น.โดยไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหา 
 
ในวันเดียวกันปิยรัฐ จงเทพ นักกิจกรรมกลุ่มเพื่อเพื่อน ซึ่งไปอยู่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ได้โพสต์ภาพบนเฟซบุ๊กว่า บนสกายวอล์กใกล้ป้ายสี่แยกราชประสงค์เจ้าหน้าที่วางกำลังเพื่อกันคนสังเกตการณ์ รวมทั้งมีการวางสิ่งกีดขวางกั้นทางเดินเข้าป้าย หลังจากนั้นปิยรัฐถูกเจ้าหน้าที่ 'เชิญตัว' ขึ้นรถแท็กซี่ไปยังสน.ลุมพินี ซึ่งปิยรัฐได้เผยแพร่บทสนทนาระหว่างตนเองกับเจ้าหน้าที่ไว้บนเฟซบุ๊ก พร้อมกับเขียนเล่าเหตุการณ์ซึ่งพอสรุปได้ว่า  
 
เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ปิยรัฐถูกควบคุมตัวเพราะไปถ่ายภาพป่ายราชประสงค์ซึ่งขณะนั้นปิยรัฐยังไม่ได้ถ่ายภาพเพียงแต่เดินเฉียดไป ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวบนแท็กซี่ โทรศัพท์มือถือของปิยรัฐถูกยึดเพื่อไปทำการตรวจสอบ ปิยรัฐระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่บอกกับตนว่าหากไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบโทรศัพท์จะให้ทหารพาไปสอบในค่าย อย่างไรก็ตามในภายหลังไม่พบว่ามีข้อมูลผิดกฎหมายในโทรศัพท์ เจ้าหน้าที่จึงคืนให้ พร้อมทั้งซื้ออาหารมาให้และปล่อยตัวกลับบ้านโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา  ซึ่งปิยรัฐโพสต์ข้อความอีกครั้งว่าตนกลับถึงบ้านในเวลาประมาณ 22 นาฬิกาโดยปลอดภัย 
 
701
 
เจ้าหน้าที่วางกำลังบริเวณป้ายแยกราชประสงค์และกั้นรั้วไม่ให้คนเข้าไปทำกิจกรรม ภาพจากประชาไท
 

งานรำลึก 3 ปีรัฐประหาร เจ้าหน้าที่ขอให้งดพูด 3 คำ

  
วันที่ 20 พฤษภาคม 2560 เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจไปพบชลธิชา สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยที่งานศพของน้องชายชลธิชา เพื่อพูดคุยขอให้ยกเลิกการจัดงาน "Army 360 องศา : ทหารไทยทำอะไรได้มากกว่าที่คุณคิด" โดยอ้างเหตุด้านความปลอดภัยและงานพระราชพิธี หากไม่ยกเลิกหรือย้ายสถานที่จัดงานจะควบคุมตัวชลธิชา อย่างไรก็ตามหลังการเจรจาเจ้าหน้าที่ยอมให้จัดงานโดยมีเงื่อนไขห้ามมีคำว่า "เผด็จการ และคสช." บนโปสเตอร์งาน หลังจากนั้นในวันที่ 21 และ 22 พฤษภาคมซึ่งเป็นวันงาน เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจมาตรวจสอบเอกสารที่ใช้ในกิจกรรม และไม่อนุญาตให้แจกเอกสาร ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นและเหตุการณ์อื่นๆที่เกิดขึ้นในช่วงสามปีของคสช. 
 
ระหว่างการเสวนาในวันที่ 21 พฤษภาคม 2560 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาประมาณ 40 - 50 คนโดยมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาถ่ายภาพและวิดีโอด้วย เจ้าหน้าที่ยังห้ามไม่ให้วิทยากรพูดคำว่า "รัฐประหาร เผด็จการ และคสช." ด้วยเพราะเป็นคำที่มีปัญหาด้านความมั่นคง ผู้ร่วมการเสวนาจึงใช้วิธีเขียนคำดังกล่าวบนกระดาษแล้วชูแทนการพูด เจ้าหน้าที่ยังขอไม่ให้ผู้จัดงานนำเสนอบอร์ดนิทรรศการที่พูดถึงการคอร์รัปชั่นของครอบครัวจันทร์โอชาที่ได้เตรียมไว้ด้วย
 
702
 
ผู้เข้าร่วมการเสวนาเขียนคำที่เจ้าหน้าที่ไม่ให้พูดบนกระดาษชูแทนการพูดออกเสียง ภาพจากเฟซบุ๊ก Noppakow Kongsuwan
 

ความเคลื่อนไหวคดี 112 

 

จำเลยคดี 112 สองคนรับสารภาพหลังถูกคุมขังระหว่างคดีอย่างยาวนาน

 
วันที่ 22 พฤษภาคม 2560 ศาลทหารกรุงเทพนัดจำเลยคดีมาตรา 112 สองคนมาเพื่อสืบพยาน คือ "ขวัญใจ" จำเลยคดีเครือข่ายบรรพต และวิชัย  จำเลยคดีปลอมเฟซบุ๊กโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จำเลยทั้งสองคนตัดสินใจกลับคำให้การจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพเนื่องจากการพิจารณาใช้เวลานานและทั้งสองไม่ได้รับการประกันตัวนะหว่างสู้คดี โดย "ขวัญใจ" ถูกคุมขังเป็นเวลาประมาณสองปีสี่เดือนกว่าจะมีการสื่บพยานนัดแรก ขณะที่วิชัยถูกคุมขังเป็นเวลาประมาณหนึ่งปีสองเดือน ก่อนจะมีการสืบพยาน (ดูรายงานพิเศษ "ต้นปี 2560 จำเลย 112 ทยอย 'ยอมแพ้' หลังคดีพิจารณานาน หวังอภัยโทษออกเร็วกว่า") คดีของ "ขวัญใจ" ศาลมีคำพิพากษาทันทีให้จำคุกสิบปีแต่จำเลยรับสารภาพลดโทษเหลือห้าปี ส่วนคดีของวิชัยศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 9 มิถุนายน 2560

 

ไม่ให้ประกันทนายประเวศ - อาจารย์มหาลัย

 
ตามที่มีข่าวว่าในวันที่ 29 เมษายน 2560 บุคคลรวมหกคนถูกควบคุมตัวจากบ้านไปค่ายทหาร โดยติดต่อญาติไม่ได้ ซึ่งมีประเวศ ทนายที่ว่าความให้จำเลยคดี 112 อย่างน้อยสองคน และมักใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะวิจารณ์การเมืองรวมอยู่ด้วย ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 บุคคลทั้งหกถูกคุมตัวมาที่ศาลอาญาในช่วงเย็นเพื่อทำการฝากขังโดยถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 
 
จากการตรวจสอบเบื้องต้นในบรรดาบุคคลหกคน ประเวศถูกตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมสิบกรรมจากการโพสต์ข้อความในลักษณะที่อาจเป็นการวิจารณ์การเมืองและพระมหากษัตริย์รวมสิบข้อความ และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมสามกรรมจากการโพสต์ข้อความตั้งคำถามถึงระบอบการปกครอง 
 
ดนัยผู้ถูกควบคุมตัวอีกคนหนึ่งถูกตั้งข้อกล่าวหามาตรา 112 และ 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เช่นเดียวกับประเวศแต่ไม่มีรายละเอียดการกระทำที่ทำให้มีการตั้งข้อกล่าวหา ส่วนบุคคลอีกสี่คนที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์ข้อความจากเฟซบุ๊กของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล  ซึ่งในวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 ศาลมีคำสั่งให้ฝากขังบุคคลทั้งหกคนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
 
ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยื่นคำร้องขอประกันตัวหนึ่งในหกผู้ถูกควบคุมตัวซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่งซึ่งศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว เพราะเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงและการกระทำของผู้ต้องหาก่อให้เกิดความเสื่อมเสียกับสถาบันพระมหากษัตริย์  
 
ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2560 ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยื่นคำร้องขอไต่สวนคัดค้านการฝากขังประเวศต่อเป็นผลัดที่สองและยื่นขอประกันตัวโดยใช้ตำแหน่งราชการของเพื่อนของประเวศเป็นหลักประกัน ซึ่งศาลมีคำสั่งให้อนุญาตให้ฝากขังประเวศต่อเป็นผลัดที่สอง โดยไม่อนุญาตให้ประกันตัว  
 
ในเดือนพฤษภาคมยังมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกี่ยวกับคดีมาตรา 112 อีกอย่างน้อยหนึ่งประเด็น คือ กรณีที่เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่าอาจมีการหาเครื่องมือมาระบุตัวตนผู้ที่เข้าไปอ่านเนื้อหาบนโลกออนไลน์ที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 
 
พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า คดีมาตรา 112 มีผู้เกี่ยวข้องสามส่วนคือผู้ผลิตเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย ผู้ชมที่แสดงความคิดเห็น แชร์ หรือกดไลค์ และผู้อ่านที่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ใดๆ แต่เข้าไปดูเฉยๆ ซึ่งกลุ่มแรกบางส่วนอยู่ต่างประเทศมีความยากลำบากในการติดตามตัว กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่อยู่ในประเทศซึ่งมีการดำเนินคดีกับบุคลบางส่วนแล้ว ซึ่งมักอ้างว่าทำไปโดยไม่รู้ตัว ส่วนกลุ่มที่สามเพียงแค่ติดตามดูโดยไม่แสดงความคิดเห็นซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังหาเครื่องมือระบุตัวตนว่าคนเหล่านี้เป็นใคร และทำไมจึงชอบเข้าไปดูเนื้อหาเหล่านั้น 
 

ห้ามจัดงานเสวนาหมุดคณะราษฎร/ค้นบ้านและเชิญนักการเมือง'เพื่อไทย'เข้าค่าย - ความเคลื่อนไหวประเด็นเสรีภาพอื่นๆ

 
วันที่ 3 พฤษภาคม 2560 สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) ประกาศยกเลิกการเสวนาเรื่องการหายไปของหมุดคณะราษฎร หลังจากเจ้าหน้าที่สน.ลุมพินีแจ้งว่า มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแสดงความกังวลว่าการเสวนาในประเด็นดังกล่าวจะกระทบต่อความมั่นคง 
 
วันที่ 27 พฤษภาคม 2560 สุชาติ ลายนำเงิน อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารมาทำการตรวจค้นบ้านพรรคของตนและยึดหนังสือ "ทำลายจำนำข้าว แต่ฆ่าชาวนา" ที่ตนเขียนไป 190 เล่ม 
 
วันที่ 30 พฤษภาคม 2560 อัยการศาลจังหวัดพระโขนง มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง "แจ่ม"  ในความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) และ (3) จากกรณีโพสต์ข้อความเรื่องการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ โดยชี้ว่าไม่มีพยานยืนยันว่า ข้อความที่ผู้ต้องหาโพสต์เป็นเท็จหรือไม่ และขณะเกิดเหตุประชาชนทั่วไปกำลังสนใจเรื่องโครงการอุทยานราชภักดิ์ การกระทำของผู้ต้องหาจึงเป็นการติชมเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ ไม่เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ แม้ว่าข้อความดังกล่าวอาจจะเป็นการใส่ความพล.อ.ประวิตร วงษ์สุววรณ และพล.อ.พิสิทธิ์ เข้าลักษณะหมิ่นประมาท แต่เมื่อผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์จึงไม่อาจดำเนินคดีกับผู้ต้องหาได้ 
 
วันที่ 31 พฤษภาคม 2560 วัน อยู่บำรุง อดีตผู้สมัครสสพรรคเพื่อไทยถูกเชิญตัวไปพูดคุยที่กองทัพภาคที่หนึ่งหลังโพสต์ข้อความวิจารณ์ผู้นำรัฐบาลด้วยถ้อยคำรุนแรง 
 
ในวันเดียวกันศาลแขวงดุสิต พิพากษายกฟ้อง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติรวมสิบคนซึ่งมีพล.ต.จำลอง ศรีเมือง, สนธิ ลิ้มทองกุล,และประพันธ์ คูณมี รวมอยู่ด้วย ในความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนประกาศ และข้อกำหนดห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่หรือสถานที่ที่กำหนด ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 โดยให้เหตุผลว่า การประกาศห้ามเข้าพื้นที่ตามพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาหลังจากพวกจำเลยเข้าไปชุมนุมในพื้นที่แล้ว จึงไม่สามารถบังคับโทษได้
 
 

 

ประเภทรายงาน: