1236 1948 1383 1527 1199 1588 1664 1018 1880 1751 1699 1528 1394 1543 1999 1254 1288 1364 1161 1454 1294 1863 1056 1349 1047 1006 1469 1215 1160 1088 1153 1393 1545 1113 1649 1066 1608 1902 1811 1602 1351 1606 1141 1683 1580 1460 1114 1175 1611 1365 1856 1203 1361 1128 1356 1030 1337 1528 1458 1781 1982 1771 1093 1755 1234 1965 1551 1553 1272 1084 1411 1335 1752 1227 1073 1247 1248 1150 1964 1046 1024 1287 1178 1488 1522 1078 1688 1682 1277 1650 1917 1405 1915 1506 1461 1076 1563 1061 1204 สรุปสถานการณ์เสรีภาพการแสดงออกปี 2557 4/5: การฟ้องคดีหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อปิดกั้นการแสดงออก | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

สรุปสถานการณ์เสรีภาพการแสดงออกปี 2557 4/5: การฟ้องคดีหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อปิดกั้นการแสดงออก

ปี 2557 กฎหมายหมิ่นประมาทและพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) ยังเป็นอาวุธที่ทั้งภาครัฐและเอกชนใช้เพื่อปิดกั้นหรือตอบโต้กับเรื่องราวที่ไม่อยากได้ยิน ในปีนี้มีกรณีที่การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หรือให้ความเห็นทางวิชาการ วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะเป็นเหตุให้ถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาทหลายกรณี 

การฟ้องคดีใหม่ๆ ในรอบปีที่ผ่านมาตอกย้ำให้เห็นถึงความเสี่ยงของสื่อมวลชน นักเคลื่อนไหว หรือนักวิชาการ ที่มุ่งนำเสนอข้อเท็จจริงต่อสังคม รวมไปถึงชาวบ้านที่ใช้เสรีภาพการแสดงออกเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง และทำให้วัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อการตรวจสอบความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนถูกคุกคาม
 
คดีหมิ่นประมาท และการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่เกิดขึ้นใหม่ในปี 2557
 
คดีบริษัททุ่งคำ ฟ้อง ชาวบ้านจังหวัดเลย 2 คดี 
กรณีความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานระหว่างบริษัททุ่งคำ ที่ได้รับประทานบัตรเหมืองทองคำ ในพื้นที่ อ.วังสะพุง จ.เลย กับกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมือง นำมาสู่การฟ้องคดีหมิ่นประมาท หลังเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มชายชุดดำที่ต้องการขนแร่ผ่านหมู่บ้าน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 มีสื่อมวลชนและองค์กรต่างๆ ลงพื้นที่ไปทำข่าวจำนวนมาก
 
บริษัททุ่งคำ ยื่นฟ้องจำเลยที่เป็นชาวบ้าน 2 คน 2 คดี ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 คือ สุรพันธุ์ หรือ “พ่อไม้” จากการให้สัมภาษณ์กับนักข่าวช่อง TNN24 ถึงกรณีที่มีเหตุไฟไหม้เต็นท์ของคนงานเหมือง และพรทิพย์ หรือ “แม่ป๊อป” จากการให้สัมภาษณ์กับนักข่าวช่อง Nation TV ถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านต้องประสบ 
 
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ทั้งสองคดีนี้บริษัททุ่งคำเลือกยื่นฟ้องที่ศาลจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่โจทก์มีสำนักงานสาขาตั้งอยู่ ทำให้จำเลยต้องรับภาระอย่างหนักในการเดินทาง การต่อสู้คดี และยังต้องแบกรับความเสี่ยงต่อชีวิตและร่างกายขณะเดินทางออกนอกพื้นที่ด้วย
 
ในวันที่ 4 ธันวาคม 2557 ตัวแทนชาวบ้านจาก อ.วังสะพุง จ.เลย เจรจาและลงนามบันทึกข้อตกลงกับกรรมการผู้จัดการ บริษัททุ่งคำ โดยตกลงกันว่าบริษัทยินดีถอนฟ้องทุกคดี แลกกับการที่ชาวบ้านยินยอมให้ขนแร่ที่ขุดแล้วออกจากพื้นที่ทำเหมือง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเลย อัยการจังหวัดเลย และนายอำเภอวังสะพุง เป็นพยานการทำบันทึกข้อตกลง วันที่ 8 ธันวาคม 2557 โจทก์จึงส่งทนายความเข้ายื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีที่มีการฟ้องร้องชาวบ้านทั้งหมด 
 
 
15 สิงหาคม 2557 เอกศักดิ์ ญาโนทัย ผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงพลังงาน ยื่นฟ้อง ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คเพจ “คุยกับหม่อมกร” ทำนองว่า ราคาขายน้ำมันดีเซลที่ส่งไปจำหน่ายที่ สปป.ลาว ต่ำกว่าราคาจำหน่ายในประเทศไทย ทำให้กระทรวงพลังงานได้รับความเสียหาย
 
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล จึงรับฟ้องไว้พิจารณา และนัดสอบคำให้การจำเลยในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 คู่ความทั้งสองฝ่ายได้มาที่ศาล เพื่อตกลงวันนัดสืบพยานกันโดยเป็นการสืบพยานโจทก์ 4 นัด สืบพยานจำเลย 9 นัด ศาลอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ เพราะจำเลยอาจมาศาลไม่ได้ทุกนัด 
 
 
25 สิงหาคม 2557 ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองยื่นฟ้องมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย, ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์  ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา และเสนาะ สุขเจริญ บรรณาธิการสำนักข่าวอิศรา ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) กรณีนำเสนอข่าวว่า ดิเรกฤทธิ์มีบันทึกส่วนตัวหรือที่เรียกกันว่า “จดหมายน้อย” ขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สนับสนุนการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจรายหนึ่ง
 
28 สิงหาคม 2557 มีรายงานว่า ดิเรกฤทธิ์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีแพ่งจำนวน 50 ล้านบาทด้วย หลังยื่นฟ้องคดีอาญาแล้วจำเลยยังไม่หยุดพฤติกรรมดังกล่าว
 
10 พฤศจิกายน 2557 ศาลอาญามีคำวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์ โดยให้เหตุผลว่า การกระทำของโจทก์เป็นสิ่งที่บุคคลทั่วไปย่อมตำหนิติเตียนได้ทั้งนั้น และยิ่งโจทก์เป็นผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองยิ่งต้องถูกบุคคลอื่นๆ ในสังคมตำหนิติเตียนได้หนักขึ้น และการที่จำเลยทั้งสามลงโฆษณาข้อความเช่นนั้น จึงถือว่าจำเลยทั้งสามแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนที่ย่อมกระทำได้
 
8 กันยายน 2557 บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (ช่อง 3) ยื่นฟ้องสุภิญญา กลางนรงค์ หนึ่งในคณะกรรมการ กสทช. ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) จากการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างๆ และรีทวีตข้อความ ในประเด็นความขัดแย้งระหว่างช่องสามและ กสทช. เรื่องการโอนย้ายสัญญาณมาสู่ระบบดิจิทัล 
 
1 ธันวาคม 2557 ศาลอาญานัดไต่สวนมูลฟ้อง ทนายฝ่ายโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง คู่กรณีเจรจาตกลงกัน ต่างฝ่ายต่างไม่ติดใจดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อกัน ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง
138
 
 
 
 
คดีหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่มีความเคลื่อนไหวสำคัญในปี 2557 
 
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีผู้ชุมนุมหนองแซงดูหมิ่นนายก อบต. คดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2553 โดยผู้ชุมนุมกล่าวปราศรัยพาดพิงนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทำนองว่า เป็นสุนัขรับใช้โรงไฟฟ้า ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2556 ว่าจำเลยทั้งสามคนมีความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ให้จำคุกคนละ 15 วัน ปรับคนละ 1,000 บาท  ให้รอการลงโทษ 2 ปี 
 
23 มกราคม 2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เนื่องจากพยานโจทก์ทั้งหมดไม่เคยมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยทั้งสาม อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น 
 
 
ถอนฟ้องคดี กสทช. ฟ้องหมิ่นประมาท ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และณัฏฐา โกมลวาทิน เป็นคดีความที่ต่อเนื่องมาจากปี 2556 โดยสำนักงาน กสทช. ยื่นฟ้องนักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ และผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ “ที่นี่ไทยพีบีเอส” จากกรณีที่ ดร.เดือนเด่น วิพากษ์วิจารณ์การออกประกาศ “ห้ามซิมดับ” ออกรายการดังกล่าว
 
10 กุมภาพันธ์ 2557 ศาลอาญานัดไต่สวนมูลฟ้อง และสั่งรับฟ้องในวันที่ 17 มีนาคม 2557 โดยศาลแนะนำให้คู่ความทั้งสองฝ่ายไปไกล่เกลี่ยกัน ต่อมาวันที่ 26 กันยายน 2557 หลังนายสุทธิพล ทวีชัยการ หนึ่งในกรรมการ กสทช. ที่เป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ลาออกจากตำแหน่งไปดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ศาลนัดไกล่เกลี่ยประนีประนอมคดี คู่ความทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้และแถลงร่วมกันว่า ในชั้นนี้ได้ให้อภัยซึ่งกันและกัน ไม่ติดใจดำเนินคดีต่อไป โจทก์จึงขอถอนฟ้องจำเลย 
 
ศาลอุทธรณ์ลดโทษจำคุก คดีคธา : Wet dream คธา ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์ข่าวลือเป็นเหตุให้หุ้นตกในปี 2552 ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) คดีนี้ไม่ใช่เรื่องการหมิ่นประมาทบุคคลแต่เป็นข้อกล่าวหาเรื่องการสร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุก 4 ปี เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2557 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้ว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปีแล้วลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือจำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 4 ปีนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าหนักเกินไป ควรแก้ไขใหม่เป็นให้จำคุกกรรมละ 2 ปี รวม 4 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือจำคุก 2 ปี 8 เดือน 
 
10 มีนาคม 2557 ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยเป็นการชั่วคราว โดยเห็นว่าศาลอุทธรณ์โทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน หากปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี
 
ส่งฟ้องคดี กองทัพเรือ ฟ้อง ภูเก็ตหวาน อลัน และชุติมา สองนักข่าวของภูเก็ตหวาน สำนักข่าวออนไลน์ในจังหวัดภูเก็ต ถูกกองทัพเรือแจ้งความฐานหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังเผยแพร่รายงานของรอยเตอร์ที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่กองทัพเรือเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา
 
17 เมษายน 2557 อัยการนัดส่งตัวฟ้องที่ศาลจังหวัดภูเก็ต ศาลนัดสืบพยานวันที่ 14 - 16 กรกฎาคม 2558
หลังจากส่งฟ้องแล้วทั้งสองฝ่ายมีความพยายามเจรจา โดยมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นคนกลาง แต่ยังตกลงกันไม่ได้ ช่วงเดือนตุลาคมกองทัพเรือภาคที่สามแจ้งกับสื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตว่า ของดการให้ข่าวกรณีการดำเนินคดีกับภูเก็ตหวาน และห้ามผู้สื่อข่าวภูเก็ตหวานเข้ามาทำข่าวในพื้นที่ของกองทัพเรือ เนื่องจากการเผยแพร่ข่าวของภูเก็ตหวานก่อให้เกิดความเสียหายแก่กองทัพเรือไทย 
 
พิพากษายืนยกฟ้อง คดีทิชา ณ นคร ถูก พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท โดยคดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2546  ซึ่งในวันที่22 เมษายน 2557 ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีการนัดฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา คำพิพากษาศาลฎีกาสรุปได้ว่า ก่อนที่จำเลยจะให้สัมภาษณ์และเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ มีข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมของโจทก์ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ อยู่ก่อนแล้ว ไม่ใช่เริ่มจากบทสัมภาษณ์และบทความของจำเลยเป็นคนแรก ทำให้คดีนี้ศาลทั้งสามชั้นพิพากษายกฟ้อง
 
 
เลื่อนการไต่สวนมูลฟ้องคดี บริษัท เบ็ทเทอร์ ลีฟวิ่ง ฟ้อง ประชาชาติธุรกิจ คดีนี้สืบเนื่องจากเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจและกรุงเทพธุรกิจ เผยแพร่เนื้อหากรณีมีบริษัททุนข้ามชาติขอจดโดเมนเป็น .thai ต่อมาทั้งหนังสือพิมพ์และแหล่งข้อมูลถูกบริษัทที่ถูกพาดพิงฟ้องฐานหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 19 พฤษภาคม 2557 แต่โจทก์ขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 4 สิงหาคม ก่อนที่จะเลื่อนนัดไต่สวนมูลฟ้องอีกครั้ง ไปเป็นวันที่ 19 มกราคม 2558
 
ยกฟ้องคดีหมิ่นประมาทของอานดี้ ฮอลล์  อานดี้ ฮอลล์ เป็นนักวิจัยด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติ ถูกบริษัท เนเชอรัล ฟรุ๊ต ฟ้องหมิ่นประมาท จากการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอัลจาซีราถึงสภาพการจ้างงานในโรงงานผลิตสับปะรดแปรรูปในประเทศไทย นอกจากคดีนี้ อานดี้ถูกฟ้องเป็นคดีทั้งแพ่งและอาญาอีก 3 คดี เป็นคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯด้วย 1 คดี
 
วันที่ 2 - 10 กันยายน 2557 ศาลจังหวัดพระโขนง นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย และวันที่ 29 ตุลาคม 2557 ศาลจังหวัดพระโขนงอ่านคำพิพากษาให้ยกฟ้อง เนื่องจากมูลเหตุคดีนี้อานดี้ให้สัมภาษณ์ขณะอยู่ที่ประเทศพม่า โดยสำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้มีพนักงานอัยการอยู่ร่วมในชั้นสอบสวนด้วย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในชั้นสอบสวนมีเพียงพนักงานสอบสวน สน.บางนา เท่านั้น จึงถือเป็นการสอบที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
แม้ศาลจะยกฟ้องไป 1 คดี แต่ก็ยังเหลืออีก 3 คดี วันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีนัดไต่สวนมูลฟ้อง คดีพ.ร.บ.คอมพิเตอร์ฯ โดยมีผู้สังเกตการณ์ชาวต่างชาติ จากสถานทูตฟินแลนด์ และทนายความด้านสิทธิมนุษยชนจากแคนาดามาร่วมสังเกตการณ์ด้วย แต่ตัวอานดี้ ฮอลล์ไม่มาศาล 
ก่อนเริ่มกระบวนพิจารณา ศาลขอให้คู่ความไกล่เกลี่ยยอมความกัน เพราะศาลยังไม่ได้สั่งฟ้องคดี แต่คู่ความตกลงกันไม่ได้ โจทก์ยืนยันว่าโรงงานของตนได้รับความเสียหายอย่างมากหลังจากงานวิจัยของฝ่ายจำเลยเผยแพร่สู่สาธารณะ  จึงมีการนัดไต่สวนมูลฟ้องครั้งต่อไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 
 
ถอนฟ้อง คดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ฟ้อง ไทยพับลิก้า คดีนี้สืบเนื่องจาก สำนักข่าวไทยพับลิก้าซึ่งทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน เผยแพร่บทสัมภาษณ์ประธานกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ฯ ในประเด็นความไม่โปร่งใสในการดำเนินกิจการของสหกรณ์ฯ และถูกศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานกรรมการสหกรณ์ฟ้องฐานหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2556
 
2 มิถุนายน 2557 ศาลจังหวัดมีนบุรีนัดไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง เนื่องจากคณะกรรมการสหกรณ์ชุดปัจจุบันได้ประชุมกันในวันที่ 11 เมษายน 2557 แล้วมีมติให้ถอนฟ้อง ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง
 
ถอนฟ้องคดี จอน อึ๊งภากรณ์ ถูกกลุ่มหมอฟ้องหมิ่นประมาท คดีนี้จอน อึ๊งภากรณ์และพวกอีก 9 คน ถูกฟ้องว่าแจกเอกสารในงานเปิดตัว “กลุ่มคนรักสุขภาพ” เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2555 มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาท
สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) ว่ามีเจตนาล้มระบบหลักประกันสุขภาพ 
 
19 สิงหาคม 2557 ศาลจังหวัดนนทบุรีนัดสืบพยานโจทก์ ผู้พิพากษากล่าวกับฝ่ายโจทก์และจำเลยว่า ศาลเห็นว่าควรไกล่เกลี่ยจึงเชิญทนายฝ่ายจำเลยและจำเลยทั้ง 6 คน ออกจากห้องพิจารณาเพื่อพูดคุยกับฝ่ายโจทก์ หลังจากนั้น จึงเชิญฝ่ายจำเลยพร้อมทนายมารับทราบการเจรจาระหว่างผู้พิพากษาและฝ่ายโจทก์ โดยข้อตกลงที่จะถอนฟ้องคือการทำหนังสือคำชี้แจง โจทก์และจำเลยยอมร่วมทำคำชี้แจง สุดท้ายตกลงกันได้ ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง 
 
ข้อสังเกต และแนวโน้มในปี 2557
 
ข้อสังเกตประการแรก เห็นได้ว่าคดีหมิ่นประมาทที่ฟ้องร้องดำเนินคดีกันมีแนวโน้มการไกล่เกลี่ยและถอนฟ้องค่อนข้างสูง กล่าวคือ ในปี 2557 จากคดีความ 12 คดี มีการถอนฟ้องกัน 6 คดี และยกฟ้อง 2 คดี มีคดีที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา 4 คดี ศาลยกฟ้องไปแล้ว 2 คดี และลงโทษ 1 คดี ซึ่งศาลพิพากษาให้รอการลงโทษ
 
สถิติเช่นนี้ทำให้เห็นว่า การฟ้องร้องดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทนั้น มีลักษณะเป็นการฟ้องเพื่อตอบโต้การนำเสนอข้อมูลที่ผู้ฟ้องคดีไม่ต้องการให้ปรากฏ เป็นการฟ้องเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของผู้ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือเพื่อสร้างภาระให้กับจำเลยและขบวนการเคลื่อนไหวของจำเลย และปรามไม่ให้มีการกระทำเช่นนี้เกิดขึ้นอีก ไม่ใช่การฟ้องคดีเพื่อมุ่งลงโทษบุคคล เพื่อชดเชยความเสียหายที่โจทก์ได้รับ หากมีข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงภายหลังและสามารถตกลงกันได้ โจทก์ก็ยินยอมที่จะถอนฟ้องไม่ติดใจเอาความ
 
ข้อสังเกตประการที่สอง จะเห็นได้ว่าบุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาท ล้วนเป็นองค์กรที่มีฐานะอยู่เหนือกว่าผู้ถูกฟ้องคดีในแง่ต้นทุนในการต่อสู้คดี ตัวอย่างเช่น กรณีบริษัททุ่งคำ ยื่นฟ้องชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ หรือกรณีบริษัท เนเชอรัล ฟรุ๊ต ยื่นฟ้องอานดี้ ฮอลล์ นักวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน เป็นต้น 
 
นอกจากนี้ ในปี 2557 ยังเป็นปีที่เห็นปรากฏการณ์ว่าหน่วยงานของรัฐเข้ามาเป็นโจทก์ฟ้องหมิ่นประมาทเอกชนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของหน่วยงานหรือบุคลากรของหน่วยงาน เช่น กรณีกระทรวงพลังงาน ยื่นฟ้อง ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระ กรณีคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ฟ้อง ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ และณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการ “ที่นี่ไทยพีบีเอส” กรณีกองทัพเรือฟ้องสำนักข่าวภูเก็ตหวาน และกรณีสำนักงานศาลปกครองฟ้องสำนักข่าวอิศรา เป็นต้น
 
จึงเป็นประเด็นคำถามเด่นในปีนี้ว่า หน่วยงานรัฐในฐานะที่รับผิดชอบจัดทำบริการสาธารณะที่กระทบต่อประชาชน มีความชอบธรรมหรือไม่ที่จะนำงบประมาณและทรัพยากรของหน่วยยงานมาใช้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ หรือควรปล่อยให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์และติเตียนการปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยไม่ถือเป็นการหมิ่นประมาท 
 
ข้อสังเกตประการที่สาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 5 ปี ยังคงถูกนำมาใช้ฟ้องร้องคู่กับการหมิ่นประมาทเสมอ ทั้งที่กฎหมายฉบับนี้มีเจตนาเพื่อใช้ปราบปรามการกระทำความผิดต่อระบบมากกว่าการจำกัดเนื้อหาบนโลกออนไลน์ การใช้กฎหมายที่ผิดไปจากเจตนามีผลให้จำเลยต้องรับภาระหนักขึ้นในการต่อสู้คดี ในการหาหลักทรัพย์ที่สูงขึ้นมาประกันตัว และในการเผชิญหน้ากับอัตราโทษตามกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นวัตถุประสงค์ที่โจทก์ต้องการก็ได้
 
 

ดูสรุปสถานการณ์ประจำปี 2557 กรณีอื่นๆ

 
 

สรุปสถานการณ์ปี 2557 2/5: คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เดินหน้าหนึ่งก้าวก่อนถอยหลังสามก้าว

สรุปสถานการณ์ปี 2557 3/5: เสรีภาพการชุมนุม/การแสดงออกสาธารณะ และการตั้งข้อหาทางการเมือง

ไฟล์แนบ: 
ประเภทรายงาน: