1734 1012 1066 1283 1018 1875 1724 1671 1879 1708 1113 1170 1760 1452 1495 1579 1048 1719 1083 1042 1358 1137 1905 1173 1298 1000 1740 1128 1396 1404 1670 1119 1574 1834 1840 1760 1793 1280 1705 1482 1335 1414 1654 1575 1124 1941 1963 1512 1898 1194 1221 1936 1851 1712 1669 1558 1676 1079 1515 1379 1634 1432 1379 1132 1289 1014 1281 1525 1165 1688 1431 1840 1218 1437 1574 1371 1136 1804 1748 1793 1263 1548 1758 1678 1310 1759 1612 1849 1517 1563 1102 1298 1737 1755 1038 1522 1355 1847 1144 สรุปสถานการณ์ปี 2557 3/5: เสรีภาพการชุมนุม/การแสดงออกสาธารณะ และการตั้งข้อหาทางการเมือง | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

สรุปสถานการณ์ปี 2557 3/5: เสรีภาพการชุมนุม/การแสดงออกสาธารณะ และการตั้งข้อหาทางการเมือง

ปี 2557 หลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 สถานการณ์การใช้เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ การจัดกิจกรรมสาธารณะต่างๆ และการแสดงความคิดเห็นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ภายใต้การประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศต่อเนื่องกว่าหกเดือน คสช. ออกประกาศฉบับที่ 7/2557 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน ซึ่งมีคนถูกตั้งข้อหาและดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนประกาศฉบับนี้อย่างน้อย 24 คน และยังมีการนำข้อหา "ปลุกปั่นยั่วยุ" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 มาใช้กับประชาชนอย่างน้อย 7 คน มีการนำพ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาใช้ปรับคนที่แสดงออกในที่สาธารณะอย่างน้อย 3 กรณี

นอกจากนี้ คสช.ยังใช้วิธีการต่างๆ ปิดกั้นการจัดกิจกรรมสาธารณะของประชาชน อย่างน้อย 42 ครั้ง เช่น การใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าปิดกั้นโดยตรง การออกคำสั่งไม่อนุญาต การโทรศัพท์เจรจา การจับกุมผู้เข้าร่วมกิจกรรม ฯลฯ และตั้งข้อหาดำเนินคดีกับคนที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่งคสช. อย่างน้อย 11 คน

 

คดีการเมืองก่อนการรัฐประหาร

มีคดีเสรีภาพการแสดงออก ที่เกิดขึ้นและพิจารณาคดีกันมาก่อนการรัฐประหาร อย่างน้อย 3 คดี ที่มีความเคลื่อนไหวน่าสนใจในปี 2557 ดังนี้

1. วันที่ 25 มีนาคม 2557 ศาลจังหวัดเชียงรายพิพากษายกฟ้อง คดีเสื้อแดงเชียงรายชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อปี 2553 เนื่องจากเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่ปรากฏว่าเป็นการก่อให้เกิดความวุ่นวาย

2. วันที่ 21 ตุลาคม 2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา สมชาย ไพบูลย์ ส.ข.พรรคเพื่อไทย จากการปราศรัยที่แยกผ่านฟ้า ฐานปลุกปั่นยั่วยุให้ประชาชนละเมิดกฎหมาย มั่วสุดก่อความวุ่นวาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, 215 และ 216 และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

3. วันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง คดี “ปีนสภา สนช.” เมื่อปี 2550 เนื่องจากเป็นการคัดค้านการออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เมื่อการประชุมยกเลิกผู้ชุมนุมก็ออกจากรัฐสภาโดยดี ไม่มีเจตนาก่อให้เกิดความวุ่นวาย

ทั้งสองคดีที่ศาลยกฟ้อง เป็นคำพิพากษาที่ขยายขอบเขตของเสรีภาพการชุมนุมให้อยู่เหนือความผิดอื่นตามประมวลกฎหมายอาญา หากเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ศาลก็จะตีความว่าไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายอาญา แต่ในคดีของสมชาย ไพบูลย์ การชุมนุมในวันนั้นมีการใช้กำลังทั้งจากฝ่ายเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม ศาลจึงพิจารณาว่าอยู่นอกเหนือขอบเขตของเสรีภาพ

 

คดีฝ่าฝืน 7/2557 ชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน

หลังการรัฐประหารไม่กี่ชั่วโมง คสช. ออกประกาศฉบับที่ 7/2557 มีเนื้อหาคือ ห้ามไม่ให้ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หลังการรัฐประหารมีผู้ออกมารวมตัวกันแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการรัฐประหารจำนวนมาก มีผู้ถูกจับกุมจากการออกมาชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธอย่างน้อย 134 คน มีผู้ถูกตั้งข้อหาตามประกาศฉบับที่ 7/2557 อย่างน้อย 48 คน

ในจำนวน 48 คนนั้น เป็นผู้ถูกจับกุมในกรณี “ขอนแก่นโมเดล” 24 คน ซึ่งเป็นการตั้งข้อหาจากการรวมตัวเพื่อพูดคุยกันในสถานที่ปิด ไม่ใช่การแสดงออกในที่สาธารณะ จึงเหลือคนที่ถูกตั้งข้อหาจากการแสดงออกในที่สาธารณะอย่างน้อย 24 คน แบ่งเป็น 15 คดี

คดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วมีอย่างน้อย 12 คดี เรียงตามลำดับวันที่ศาลมีคำพิพากษา ดังนี้

 

วันที่พิพากษา

จำเลย

ศาล

การกระทำ

ผลคดี

3 กรกฎาคม 2557

วีระยุทธ

ศาลแขวงปทุมวัน

ชุมนุมต้านรัฐประหารที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อ 23 พฤษภาคม 2557

จำคุก 2 เดือน ปรับ 6,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอลงอาญา

14 สิงหาคม 2557

สราวุทธิ์

ศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย

ชูป้ายต้านรัฐประหารหลายจุด

จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอลงอาญา

25 สิงหาคม 2557

ชาวเชียงรายสามคน

ศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย

ร่วมกิจกรรมกินแมคต้านรัฐประหาร

จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอลงอาญา

26 สิงหาคม 2557

ชาวเชียงรายสี่คน

ศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย

ร่วมกิจกรรมกินแมคต้านรัฐประหาร

จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอลงอาญา

4 กันยายน 2557

สุรสิทธิ์

ศาลทหารกรุงเทพ

ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารที่ห้างสยามพารากอน เมื่อ 8 มิถุนายน 2557

จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอลงอาญา

8 กันยายน 2557

อนุรักษ์

ศาลทหารกรุงเทพ

โพสต์เฟซบุ๊คชวนคนไปชุมนุมต้านรัฐประหาร

จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอลงอาญา

18 กันยายน 2557

ภิณโญภาพ

ศาลทหารกรุงเทพ

ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารหน้าแมคโดนัลด์ ราชประสงค์ เมื่อ 25 พฤษภาคม 2557

จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอลงอาญา

18 กันยายน 2557

วรภพ

ศาลทหารกรุงเทพ

ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารหน้าแมคโดนัลด์ ราชประสงค์ เมื่อ 25 พฤษภาคม 2557

จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอลงอาญา

18 กันยายน 2557

ณัฐวุฒิ

ศาลทหารกรุงเทพ

ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารหน้าแมคโดนัลด์ ราชประสงค์ เมื่อ 31 พฤษภาคม 2557

จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอลงอาญา

18 กันยายน 2557

สุเมศ

ศาลทหารกรุงเทพ

ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารบริเวณแยกอโศก เมื่อ 1 มิถุนายน 2557

จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอลงอาญา

27 ตุลาคม 2557

ชัยนรินทร์

ศาลทหารกรุงเทพ

ชูป้ายกระดาษต้านรัฐประหาร ที่ห้างสยามพารากอน เมื่อ 1 มิถุนายน 2557

จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอลงอาญา

8 ธันวาคม 2557

หนึ่ง

ศาลทหารกรุงเทพ

ร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อ 28 พฤษภาคม 2557

จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอลงอาญา

 

ข้อสังเกตต่อคดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วคือ ทุกคดีศาลพิพากษาให้รอลงอาญา จำเลยคดีฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 จึงยังไม่มีใครต้องรับโทษจำคุกจริงๆ จำเลยส่วนใหญ่ได้ประกันตัวระหว่างการสอบสวนด้วยหลักทรัพย์ 10,000 - 40,000 บาท มีสุเมศคนเดียวที่ยื่นประกันตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2557 แต่ศาลทหารกรุงเทพไม่อนุญาต จึงถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพก่อนได้ประกันตัวเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2557 รวมแล้วถูกคุมขังอยู่ 7 วัน

คำพิพากษาในคดีฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 มีแนวโน้มให้โทษจำคุกได้รอการลงโทษ ไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษาของศาลพลเรือนหรือศาลทหาร แต่คดีของวีระยุทธซึ่งพิพากษาโดยศาลพลเรือน ศาลลงโทษน้อยกว่า คือ จำคุก 2 เดือน ปรับ 6,000 บาท ขณะที่คดีอื่นๆ ที่ขึ้นศาลทหาร ศาลลงโทษเท่ากันหมดทั้ง 11 คดี คือ จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท หากนับโทษหลังลดแล้ว จำเลยทั้ง 16 คน เสียค่าปรับจากการแสดงออกโดยสงบในที่สาธารณะรวมกัน 83,000 บาท

 

คดีที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา มีดังนี้

1. คดีของอภิชาติ ถูกจับเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 จากการชุมนุมต้านรัฐประหารที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันคดียังอยู่ในชั้นอัยการ อภิชาติถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และมั่วสุมสิบคนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 215 ด้วย

2. คดีของพรรณมณี และสมบัติ ก. ถูกจับจากการชุมนุมต้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการสืบพยานที่ศาลทหารกรุงเทพ ทั้งสองคนถูกตั้งข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และทำลายทรัพย์สินราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 และ 360 ด้วย

3. คดีของชาวนนทบุรี 4 คน ถูกจับเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 จากการชุมนุมต้านรัฐประหารที่บริเวณท่าน้ำนนท์ฯ ปัจจุบันคดียังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน

ข้อสังเกตต่อการดำเนินคดีตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 จากสถิติคดีทั้งหมดยังไม่พบเกณฑ์การพิจารณาที่แน่ชัดว่า พฤติกรรมการชุมนุมแบบใดจะเป็นเหตุให้ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีบ้าง หลายคนที่ถูกตั้งข้อหาไม่ใช่แกนนำจัดการชุมนุมหรือคนที่มีประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน หลายคนที่ถูกจับจากพฤติการณ์ที่เป็นคนจัดการชุมนุมก็ไม่ถูกตั้งข้อหานี้ ตัวอย่างเช่น การจับกุมผู้ชุมนุม 7 คนเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2557 ทุกคนมีพฤติกรรมเป็นผู้มาร่วมชุมนุมด้วยกัน มีคนถูกตั้งข้อหาเพียงคนเดียวคือ สุรสิทธิ์

เนื่องจากการตั้งข้อหาไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอน และศาลก็มีแนวโน้มรอลงอาญา จึงเห็นได้ว่าข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ถูกนำมาใช้แบบเหวี่ยงแหเพื่อการขู่หรือปรามให้ผู้ที่จะออกมาชุมนุมรู้สึกกลัว ไม่ได้เป็นการดำเนินคดีเพื่อมุ่งลงโทษบุคคลที่สร้างความเสียหายแก่สังคม จึงเป็นข้อหาที่ใช้เพื่อหวังผลทางการเมืองโดยแท้

แม้ยังไม่อาจสรุปได้ทันทีว่าการใช้กฎหมายในลักษณะนี้มีผลให้คนกลัวหรือไม่ และช่วยยับยั้งการชุมนุมต้านรัฐประหารได้มากน้อยเพียงใด แต่ภาพที่ปรากฏคือ กระแสการชุมนุมต้านรัฐประหารเงียบลงภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังการรัฐประหาร สวนทางกับตัวเลขการจับกุมและการดำเนินคดี ก่อนที่การชุมนุมจะก่อตัวขึ้นมาอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2557 และเบาลงไปจากการปิดกั้นที่เข้มงวดและจับกุมผู้เกี่ยวข้อง

 

118 Compare activities, arrests and prosecutions statistics

 

 

ความผิดฐาน “ปลุกปั่นยั่วยุ” และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือความผิดฐาน “ปลุกปั่นยั่วยุ” เป็นกฎหมายมาตราหนึ่งที่ถูกนำมาใช้หลังการรัฐประหาร คนที่ถูกตั้งข้อหามาตรา 116 มีลักษณะเป็นนักเคลื่อนไหวระดับแกนนำที่รัฐบาลทหารต้องการปรามให้หยุด มีคดีมาตรา 116 หลังการรัฐประหารอย่างน้อย 4 คดี ซึ่งยังไม่มีคดีที่ศาลพิพากษาแล้ว ปัจจุบันจำเลยทุกคนได้ประกันตัว

1. คดีของจาตุรนต์ ฉายแสง ถูกจับเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ จาตุรนต์ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย

2. คดีของสมบัติ บุญงามอนงค์ ถูกจับเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 ที่บ้านพักในจังหวัดชลบุรี ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ สมบัติถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย

3. คดีของชาวเชียงราย 3 คน ถูกจับเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2557 จากการติดป้ายมีข้อความขอแบ่งแยกประเทศ ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาที่ศาลจังหวัดเชียงราย

4. คดีของสิทธิทัศน์ และวชิร ถูกจับเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 จากการโปรยใบปลิวต่อต้าน คสช. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการสอบสวน

 

พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 หรือ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ เป็นกฎหมายอีกฉบับที่ถูกนำมาใช้ในลักษณะเพื่อปรามการแสดงออกในที่สาธารณะที่ไม่เข้าข่ายข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 หรือกฎหมายอื่น และไม่ได้ต้องการลงโทษให้รุนแรงจนเกินไป มีอย่างน้อย 3 กรณี

1. กรณีญาติผู้เสียชีวิตปี 53 โปรยใบปลิวเรียกร้องความเป็นธรรม บริเวณสถานีรถไฟฟ้าหมอชิต ถูกตำรวจนำตัวไปเสียค่าปรับ 5,000 บาท เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2557

2. กรณีนักศึกษากลุ่ม ศนปท. แขวนป้ายผ้าบนสะพานลอย ถ.วิภาวดีรังสิต นักศึกษาสามคนถูกเรียกไปเสียค่าปรับคนละ 1,000 บาท เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2557

3. กรณีนักศึกษาแขวนป้ายผ้าบนสะพานลอยหน้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักศึกษาสองคนถูกเรียกไปเสียค่าปรับคนละ 1,000 บาท เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557

ทั้ง 3 กรณีเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ก่อนหน้านั้นและหลังจากนั้นก็ยังไม่มีรายงานกรณีการปรับด้วยพ.ร.บ.ความสะอาดฯ อีก ทั้งที่มีการควบคุมตัวคนจากการโปรยใบปลิวหรือติดป้ายผ้าอีกหลายครั้ง

การตั้งข้อหาจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอีกคดีหนึ่งที่น่าสนใจคือ กรณีธนพร ซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2557 จากการโพสต์เฟซบุ๊คสาปแช่งนายทหารที่เสียชีวิตจากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก ต่อมาถูกตั้งข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน, หมิ่นประมาทคนตาย และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

 

คดีฝ่าฝืน 41/2557 ไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง

วันที่ 25 พฤษภาคม 2557 คสช. ออกประกาศฉบับที่ 41/2557 มีเนื้อหาคือ บุคคลใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกให้มารายงานตัวต่อ คสช. ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกสั่งห้ามทำธุรกรรมทางการเงิน

ตั้งแต่การรัฐประหารเป็นต้นมา คสช. ออกคำสั่งเรียกให้บุคคลมารายงานตัวอย่างเป็นทางการอย่างน้อย 476 คน และเรียกให้บุคคลมารายงานตัวอย่างไม่เป็นทางการ โดยการโทรศัพท์เรียก การไปหาที่บ้านพัก หรือการส่งหนังสือที่ไม่ได้ลงนามโดยหัวหน้า คสช. อย่างน้อย 163 คน

มีคนจำนวนมากที่ไม่ได้ไปรายงานตัวตามคำสั่ง อาจเป็นเพราะติดธุระไม่สามารถไปได้ตามกำหนดเวลา หรือตั้งใจไม่ไปเพราะไม่แน่ใจในความปลอดภัย หรือเพราะจงใจปฏิเสธอำนาจของ คสช. หลายคนเดินทางมารายงานตัวเองภายหลัง หลายคนถูกจับ มีผู้ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 อย่างน้อย 11 คน

คดีที่รับสารภาพและศาลทหารมีคำพิพากษาแล้วมีอย่างน้อย 5 คดี คือ คดีของเยี่ยมยอดคดีของธานัทคดีของสงวนคดีของสำราญ และคดีของณรงค์ศักดิ์ คำพิพากษาเหมือนกันทั้งห้าคดี คือ ศาลพิพากษาจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยรับสารภาพ โทษจำคุกให้รอการลงโทษ

คดีที่จำเลยปฏิเสธและอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี มีอย่างน้อย 6 คดี คือ คดีของจาตุรนต์ ฉายแสงคดีของสมบัติ บุญงามอนงค์คดีของจิตราคดีของวรเจตน์ ภาคีรัตน์คดีของสิรภพ และคดีของณัฐ ซึ่งมีสองคดีที่พิจารณาในศาลพลเรือนเพราะการฝ่าฝืนเกิดขึ้นก่อนวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 คือ คดีของสมบัติ บุญงามอนงค์ และคดีของณัฐ อีก 4 คดีพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ

ข้อสังเกตต่อการตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 คือ ไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอนว่าใครจะถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีจากพฤติการณ์ใดบ้าง เพราะมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง หรือไปรายงานตัวช้า แต่ก็ไม่ถูกตั้งข้อหาด้วย การตั้งข้อหาดำเนินคดีเช่นนี้จึงไม่ได้มุ่งลงโทษบุคคล แต่มุ่งหวังผลทางการเมืองเช่นเดียวกับข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557

 

121 Political Charges Statistic

 

การปิดกั้น-แทรกแซง การจัดกิจกรรมสาธารณะ

หลังการรัฐประหาร การจัดกิจกรรมเสวนาทางวิชาการในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง สิทธิเสรีภาพของประชาชน ถูกระงับด้วยวิธีการต่างๆ อย่างน้อย 24 ครั้ง ขณะที่การรวมตัวกันเรียกร้องหรือแสดงออกในที่สาธารณะถูกห้ามทุกประเด็น บันทึกไว้ได้อย่างน้อย 18 ครั้ง รวมทั้งสิ้นมีการปิดกั้น-แทรกแซงการจัดกิจกรรมสาธารณะอย่างน้อย 42 ครั้ง

ตัวอย่างเช่น การจับกุมผู้ชุมนุมกลุ่ม “ขาหุ้นพลังงาน” ที่เดินขบวนเรียกร้องขอให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปฏิรูประบบพลังงาน การห้ามศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจัดงานเสวนาในประเด็น “ความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง” การห้ามนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เดินขบวนคัดค้านการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EHIA กรณีเขื่อนแม่วงก์ เป็นต้น

จากข้อมูลการปิดกั้น-แทรกแซงกิจกรรม 42 ครั้ง มีจำนวน 23 ครั้ง ที่ชัดเจนว่าเป็นการปิดกั้นกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือการรัฐประหาร โดยเป็นการจัดกิจกรรมในประเด็นที่ดินและสิทธิชุมชน 9 ครั้ง ประเด็นการปฏิรูปพลังงาน 4 ครั้ง ประเด็นการศึกษา 3 ครั้ง ประเด็นความขัดแย้งในตะวันออกกลาง 2 ครั้ง และประเด็นจังหวัดจัดการตนเอง 2 ครั้ง

เจ้าหน้าที่ใช้วิธีการหลากหลายในการปิดกั้นและแทรกแซง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งการใช้กำลังทางกายภาพ การข่มขู่ หรือการคุกคาม บางกิจกรรมถูกกดดันด้วยหลายวิธีการ พอจะแบ่งได้ ดังนี้

1. การโทรศัพท์ไปเจรจาขอให้ยกเลิกการจัดกิจกรรม อย่างน้อย 14 ครั้ง

2. การส่งหนังสืออย่างเป็นทางการ แจ้งว่าไม่อนุญาตให้จัด อย่างน้อย 4 ครั้ง

3. การเดินทางไปเจรจาขอไม่ให้จัดกิจกรรม อย่างน้อย 7 ครั้ง

4. การแจ้งว่าไม่สามารถพิจารณาอนุญาตได้ทันเวลา อย่างน้อย 2 ครั้ง

5. การใช้กำลังเข้าขัดขวางการจัดกิจกรรม อย่างน้อย 8 ครั้ง

6. การกดดันให้เจ้าของสถานที่ยกเลิกการอนุญาตให้ใช้สถานที่ อย่างน้อย 4 ครั้ง

7. การส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาเฝ้าดูระหว่างการทำกิจกรรม อย่างน้อย 4 ครั้ง

8. การจับกุมผู้จัดและผู้เข้าร่วมกิจกรรม อย่างน้อย 12 ครั้ง

9. การเชิญตัวผู้จัดกิจกรรมไปพูดคุยหรือแจ้งข้อกล่าวหาภายหลัง 4 ครั้ง

หากพิจารณาตามช่วงเวลา จะเห็นว่าช่วงหลังการรัฐประหารใหม่ๆ ยังมีการปิดกั้นกิจกรรมไม่มาก เพราะผู้จัดส่วนใหญ่ไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมือง จึงยกเลิกกิจกรรมต่างๆ ไปเอง แต่หลังจากนั้นมาการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมก็กลับมาเดินหน้าต่อ และมีความพยายามจัดกิจกรรมเพื่อแสดงความคิดเห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงถูกเจ้าหน้าที่ปิดกั้น-แทรกแซงมากเป็นลำดับ

เดือนมิถุนายน 2557 มีการปิดกั้นกิจกรรมสาธารณะ อย่างน้อย 1 ครั้ง

เดือนกรกฎาคม 2557 มีการปิดกั้นกิจกรรมสาธารณะ อย่างน้อย 4 ครั้ง

เดือนสิงหาคม 2557 มีการปิดกั้นกิจกรรมสาธารณะ อย่างน้อย 6 ครั้ง

เดือนกันยายน 2557 มีการปิดกั้นกิจกรรมสาธารณะ อย่างน้อย 8 ครั้ง

เดือนตุลาคม 2557 มีการปิดกั้นกิจกรรมสาธารณะ อย่างน้อย 4 ครั้ง

เดือนพฤศจิกายน 2557 มีการปิดกั้นกิจกรรมสาธารณะ อย่างน้อย 15 ครั้ง

เดือนธันวาคม 2557 มีการปิดกั้นกิจกรรมสาธารณะ อย่างน้อย 5 ครั้ง

 

119 Activities Intervention monthly statistic

 

ข้อสังเกตคือ คสช. พยายามใช้วิธีการปิดกั้นที่นุ่มนวลเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของตัวเอง เช่น การโทรศัพท์เจรจา แต่หากผู้จัดกิจกรรมไม่ยอมก็อาจยกระดับขึ้นเป็นการข่มขู่ หรือใช้วิธีการทางอ้อม เช่นคุยกับเจ้าของสถานที่จัดกิจกรรม หากต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่ก็จะพยายามใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน ซึ่งจะให้ภาพลักษณ์ที่ไม่แข็งกร้าว แต่ก็จะวางกำลังเจ้าหน้าที่ทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบปะปนอยู่ด้วย

คสช. อ่อนไหวต่อการจัดกิจกรรมสาธารณะมาก ข้ออ้างที่เจ้าหน้าที่มักใช้เพื่อการปิดกั้นการแสดงออก คือ การป้องกันไม่ให้คนอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง แสดงให้เห็นว่า คสช. ไม่ต้องการให้ประชาชนจัดกิจกรรมในประเด็นสิทธิเสรีภาพและประเด็นทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียกร้องหรือเดินขบวนบนท้องถนน เพื่อ “ตัดไฟแต่ต้นลม” ป้องกันไม่ให้การใช้เสรีภาพลุกลามจนเป็นการจัดกิจกรรมต่อต้านอำนาจของ คสช. 

 

ดูสรุปสถานการณ์ประจำปี 2557 กรณีอื่นๆ

สรุปสถานการณ์ปี 2557: การขัดขวางการใช้สิทธิโดยภาคประชาชน ที่ปูทางสู่การยึดอำนาจและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง

สรุปสถานการณ์ปี 2557 1/5 : การเรียกบุคคลไปรายงานตัว การจับกุมและการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก

สรุปสถานการณ์ปี 2557 2/5: คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เดินหน้าหนึ่งก้าวก่อนถอยหลังสามก้าว

สรุปสถานการณ์ปี 2557 4/5: การฟ้องคดีหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อปิดกั้นการแสดงออก 

 
ไฟล์แนบ: 
ประเภทรายงาน: