1104 1224 1519 1348 1561 1699 1016 1122 1175 1348 1112 1103 1712 1873 1457 1008 1470 1847 1432 1748 1482 1738 1194 1346 1371 1232 1322 1661 1840 1776 1093 1858 1016 1553 1899 1441 1747 1879 1038 1311 1920 1894 1879 1275 1088 1013 1835 1746 1575 1299 1599 1855 1919 1287 1959 1368 1140 1119 1817 1736 1445 1086 1621 1130 1130 1671 1168 1074 1258 1043 1960 1094 1673 1118 1608 1394 1605 1332 1314 1423 1892 1174 1619 1146 1610 1094 1601 1669 1402 1764 1642 1063 1640 1473 1858 1398 1989 1809 1821 สรุปสถานการณ์ปี 2557 2/5: คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เดินหน้าหนึ่งก้าวก่อนถอยหลังสามก้าว | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

สรุปสถานการณ์ปี 2557 2/5: คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เดินหน้าหนึ่งก้าวก่อนถอยหลังสามก้าว

ช่วงต้นปี 2557 สถานการณ์คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ผ่อนคลายความตึงเครียดลงบ้าง เพราะคำพิพากษาของศาลหลายฉบับในช่วงต้นปีเป็นคุณกับจำเลย คำนึงถึงสิทธิของจำเลยและสังคมมากกว่าการมุ่งลงโทษให้หนัก โดยเฉพาะคดีที่จำเลยมีปัญหาด้านสุขภาพ

หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จำนวนคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 21 คดี ผู้ต้องคดีบางคนถูกคสช.ประกาศเรียกรายงานตัวก่อนแล้วถูกตั้งข้อหาในภายหลัง เกิดปรากฏการณ์ใหม่เมื่อคสช.ออกประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีของพลเรือน ศาลทหารสั่งพิจารณาคดีโดยลับและมีคำพิพากษากำหนดโทษอย่างรุนแรง ก่อนสิ้นปีมีนักโทษในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ อยู่ในเรือนจำอย่างน้อย 24 คน และยังมีการนำข้อหานี้มาใช้จับกุมดำเนินคดีกับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าแอบอ้างสถาบันฯ เพื่อเรียกรับผลประโยชน์อีกจำนวนมาก

 

บรรยากาศผ่อนคลายลงในช่วงต้นปี เนื่องจากศาลมีคำพิพากษาตามบรรทัดฐานที่ดี

17 กุมภาพันธ์ 2557 ศาลฎีกาพิพากษา คดีบัณฑิตแสดงความคิดเห็นที่งานสัมมนาของ กกต. เมื่อปี 2546 ยืนตามศาลชั้นต้น จำคุกบัณฑิตรวม 4 ปี แต่ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี เพราะจำเลยป่วยเป็นโรคจิตเภทและอายุมาก ก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในเดือนมีนาคม 2549 แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาในเดือนธันวาคม 2550 ให้จำคุกบัณฑิต 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ

26 มีนาคม 2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง คดีสุรภักดิ์ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กที่โพสต์เนื้อหาเข้าข่ายการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ยืนตามศาลชั้นต้น โดยให้เหตุผลว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักพอที่จะทำให้เชื่อได้ว่าจำเลยทำความผิด

17 เมษายน 2557 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษายกฟ้อง คนขายหนังสือกงจักรปีศาจ ซึ่งเป็นหนังสือต้องห้าม โดยให้เหตุผลว่า แม้จำเลยจะขายหนังสือที่เนื้อหามีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ แต่เมื่อโจทก์ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า จำเลยทราบเนื้อหาของหนังสือ จึงไม่เพียงพอให้เชื่อได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะทำความผิด

8 พฤษภาคม 2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุกเอกชัย จากการขายแผ่นซีดีสารคดีของสำนักข่าว เอบีซี และเอกสารของวิกิลีกส์ เป็นเวลา 5 ปี แต่ลดโทษให้เหลือ 3 ปี 4 เดือน เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์

21 พฤษภาคม 2557 หนึ่งวันก่อนการรัฐประหาร ศาลอาญาอ่านคำพิพากษา คดีฐิตินันท์ ที่ถูกกล่าวหาว่าลบหลู่พระบรมฉายาลักษณ์ โดยพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดให้ลงโทษจำคุก 2 ปี แต่จำเลยรับสารภาพให้ลดโทษเหลือ 1 ปี เนื่องจากจำเลยไม่เคยทำผิดมาก่อนและอาการป่วยทางจิตก็มีผลต่อการกระทำความผิด จึงให้รอการลงโทษจำเลยไว้ 3 ปี

จะเห็นได้ว่า นอกจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีของเอกชัยแล้ว คำพิพากษาอีก 4 ฉบับที่เหลือ ล้วนช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของการบังคับใช้กฎหมายลง ผู้ที่ศาลพิพากษาว่ามีความผิด แต่มีปัญหาสุขภาพหรือทำความผิดเพราะเงื่อนไขด้านสุขภาพ ก็ให้รอการลงโทษไว้ เพื่อให้จำเลยได้รักษาตัว ไม่สั่งจำคุกในทันที

หลายคดีศาลแสดงให้เห็นว่าได้ยึดหลักการของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรค 2 ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย” เมื่อโจทก์พิสูจน์ให้ปราศจากข้อสงสัยไม่ได้ ศาลก็ยกฟ้อง

นอกจากนี้เนื้อหาของคำพิพากษาคดีสุรภักดิ์และฐิตินันท์ ศาลไม่เพียงแต่วินิจฉัยในเนื้อหาคดีเท่านั้น หากแต่ยังวินิจฉัยไปถึงบริบททางสังคมการเมืองด้วย คดีของฐิตินันท์ ศาลชี้ว่าการรอการลงโทษจำเลยไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อตัวจำเลยเท่านั้น หากแต่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมด้วย ขณะที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีของสุรภักดิ์ ศาลวินิจฉัยไว้ด้วยว่า การลงโทษจำเลยในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวโดยขาดพยานหลักฐานที่ชัดเจนอาจสร้างความแตกแยกในสังคม

เป็นไปได้ว่าศาลเล็งเห็นว่า คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เป็นคดีสาธารณะ คำพิพากษาย่อมมีผลกระทบต่อบรรยากาศทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงจำเป็นต้องปรับตัว กระแสสังคมที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาลและปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 น่าจะมีผลต่อแนวทางในการเขียนคำพิพากษาในช่วงต้นปี 2557 ก่อนการรัฐประหารอยู่บ้าง

การเพิ่มจำนวนของคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ หลังการรัฐประหาร

ภารกิจที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ คือการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังที่ประกาศ คสช. ฉบับที่ 1 ระบุว่า “จะปกป้องเทิดทูนดำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์”

หลังการรัฐประหาร พบว่ามีการเร่งรัดจับกุมและดำเนินคดี ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทำความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จนปริมาณคดีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

22 พฤษภาคม 2557 อัยการยื่นฟ้อง “ธงชัย” ชายชาวจังหวัดเชียงใหม่ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โยนธงสัญลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัวลงไปในแม่น้ำระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่จังหวัดเชียงใหม่ในปี 2553 ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ “ธงชัย”เข้ามอบตัวในเดือนธันวาคม 2553 และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน ขณะนี้คดีของ “ธงชัย” ถูกจำหน่ายไว้ชั่วคราวเนื่องจากจำเลยกำลังรักษาอาการป่วย ไม่สามารถต่อสู้คดีได้

23 พฤษภาคม 2557 อภิชาติ ถูกควบคุมตัวจากการร่วมชุมนุมคัดค้านการรัฐประหาร ระหว่างถูกควบคุมตัวมีการตรวจสอบโทรศัพท์มือถือและแจ้งข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก อภิชาติถูกควบคุมตัวในชั้นสอบสวน 25 วัน ก่อนที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ฝากขังต่อ

25 พฤษภาคม 2557 คสช. ออกประกาศฉบับที่ 37/2557 ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง และคดีฝ่าฝืนประกาศและคำสั่งของ คสช. รวมทั้งคดีตามมาตรา 112 ด้วย เท่ากับว่าพลเรือนที่ทำความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ หลังประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะต้องขึ้นศาลทหาร และในช่วงเวลาที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก กระบวนการของศาลทหารไม่มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกา คำพิพากษาที่ออกมาจะถึงที่สุดในทันที  

ในวันเดียวกัน มีการจับกุม "สมศักดิ์ ภักดีเดช" บรรณาธิการเว็บไซต์ Thai E News ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จากการเผยแพร่บทความของ ใจ อึ๊งภากรณ์ ในเว็บไซต์เมื่อปี 2554 เบื้องต้น "สมศักดิ์" ถูกฝากขังที่ศาลอาญาก่อนถูกย้ายไปฝากขังและดำเนินคดีในศาลทหาร วันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 ศาลนัดสอบคำให้การ "สมศักดิ์" รับสารภาพ ศาลจึงพิพากษาให้จำคุก 9 ปี ลดเหลือ 4 ปี 6 เดือน

2 มิถุนายน 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ยุทธศักดิ์ คนขับแท็กซี่ที่ถูกผู้โดยสารบันทึกเสียงการสนทนาแล้วนำมาร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 ยุทธศักดิ์ถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน วันที่ 8 สิงหาคม 2557 ยุทธศักดิ์ถูกพาไปศาลโดยไม่มีทนายความ เขารับสารภาพ ศาลพิพากษาให้จำคุก 5 ปี แต่ลดเหลือ 2 ปี 6 เดือน

18 มิถุนายน 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม อัครเดช นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ที่ถูกประชาชนคนหนึ่งกล่าวโทษว่าโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ บนเฟซบุ๊กตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 ศาลพิพากษาจำคุกอัครเดช 5 ปี แต่ลดเหลือ 2 ปี 6 เดือน เพราะจำเลยรับสารภาพ คดีศาลอาญาจัดให้มีนัดสมานฉันท์ เพื่อให้โจทก์และจำเลยหาข้อตกลงร่วมกันแทนการดำเนินคดี ในนัดดังกล่าว ศาลเจรจาจนอัครเดชตัดสินใจรับสารภาพ

1 กรกฎาคม 2557 สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักกิจกรรมกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ถูกนำตัวไปสถานีตำรวจภูธรเมืองร้อยเอ็ด เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามที่มีผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 สมบัติได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างรอการพิจารณาคดี

2 กรกฎาคม 2557 เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจร่วมกันจับกุมตัว “ธเนศ” ที่บ้านพักในจังหวัดเพชรบูรณ์ ธเนศถูกกล่าวหาว่าใช้อีเมลส่งลิงก์ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ไปให้บุคคลที่สามตั้งแต่ปี 2553 “ธเนศ” มีโรคประจำตัว และสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์วินิจฉัยว่า “ธเนศ” เป็นโรคจิตหวาดระแวง ระหว่างการพิจารณาศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว

8 กรกฎาคม 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม สมัคร หลังมีผู้พบเขากำลังทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ที่ติดตั้งไว้ที่หน้าหมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย สมัครถูกคุมขังที่เรือนจำจังหวัดเชียงรายและถูกส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย คดีของสมัครเป็นคดีแรกที่การกระทำตามข้อกล่าวหาเกิดหลังการรัฐประหาร สมัครให้การรับสารภาพ โดยแถลงประกอบว่า ขณะทำความผิดไม่รู้ตัวเองเพราะมีอาการป่วยทางจิต โดยมีใบรับรองแพทย์ประกอบ ศาลนัดสืบพยานนัดแรกในวันที่ 11 มกราคม 2558

9 กรกฎาคม 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารร่วมกันจับกุม ธานัท หรือ "ทอม ดันดี" ศิลปินและหนึ่งในแกนนำคนเสื้อแดง ที่บ้านในจังหวัดเพชรบุรี การปราศรัยที่ธานัทถูกกล่าวโทษเกิดในปี 2556 แต่คลิปดังกล่าวมีผู้นำมาเผยแพร่ซ้ำในเดือนมิถุนายน 2557 คดีของธานัทจึงถูกส่งไปพิจารณาที่ศาลทหาร ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี

14 - 15 สิงหาคม 2557 มีการจับกุมผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับละครเวทีเรื่อง "เจ้าสาวหมาป่า" ซึ่งมีเนื้อเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ 2 คน ได้แก่ ปติวัฒน์ และ ภรณ์ทิพย์ ตามลำดับ ก่อนหน้านี้ในปี 2556 มีกลุ่มคนนัดกันนำแผ่นบันทึกภาพและเสียงละครเวทีดังกล่าวเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจพร้อมกัน 13 แห่ง แต่ยังไม่มีการจับกุมตัวหรือดำเนินคดีใดๆ จนกระทั่งหลังการรัฐประหาร ทั้งสองคนตัดสินใจรับสารภาพในชั้นศาล

15 ตุลาคม 2557 โอภาส ถูกพนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างซีคอนสแควร์จับตัวและส่งต่อให้ทหาร เขาถูกกล่าวหาว่าใช้ปากกาเขียนข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ บนผนังห้องน้ำของห้างดังกล่าว ศาลทหารไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการสอบสวน โอภาสมีโรคประจำตัวคือโรคเส้นเลือดในจอรับภาพบวมและโรคความดันโลหิตสูง

13 พฤศจิกายน 2557 ช่วงเช้ามืด ตำรวจและทหารบุกไปจับ “กวี” ที่บ้านพักในจังหวัดสุรินทร์ โดยตั้งข้อหาว่าเป็นเจ้าของบัญชียูทูปชื่อ “เมืองปรางค์” และ “หนูแมว” ซึ่งอัพโหลดคลิปวีดีโอและคลิปเสียงเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ไว้จำนวนมาก เขาถูกฝากขังต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 โดยไม่ได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวเนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์  

15 พฤศจิกายน 2557 พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ เข้าร้องทุกข์ต่อกองบังคับการปราบปราม ว่ามีการโพสต์ภาพและข้อความที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ บนเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อ “จารุวรรณ” วันรุ่งขึ้น จารุวรรณ สาวโรงงานจากจังหวัดราชบุรีประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อชี้แจงว่าเฟซบุ๊กตนถูกคนอื่นลักลอบใช้ เจ้าหน้าที่ตำรวจรับตัวเธอจากบ้านมาสอบสวนก่อนแจ้งข้อกล่าวหาและฝากขังต่อศาลทหาร ในกรณีเดียวกันนี้ยังมีการจับกุม อานนท์ แฟนหนุ่มของจารุวรรณและ ชาติชาย เพื่อนของอานนท์ ที่จารุวรรณสงสัยว่าเป็นคนลักลอบเข้าถึงเฟซบุ๊กของเธอด้วย ทั้งสามถูกฝากขังโดยไม่ได้ขอปล่อยตัวชั่วคราวเพราะไม่มีหลักทรัพย์

26 พฤศจิกายน 2557 บัณฑิต อานียา ซึ่งเคยเป็นจำเลยที่ศาลฎีกาเพิ่งยกฟ้องเมื่อต้นปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมขณะกำลังแสดงความคิดเห็นที่งานเสวนาเรื่องการปฏิรูปที่จัดโดยพรรคนวัตกรรม บัณฑิตถูกส่งตัวไปฝากขังต่อที่ศาลทหารในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 ศาลอนุญาตให้ประกันตัวด้วยเงินสด 400,000 บาท ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ

11 ธันวาคม 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจับกุม ปิยะ ใกล้บ้านพักของเขา ข้อกล่าวหาคือ มีเฟซบุ๊กชื่อ “นายพงศธร บันทอน” ที่ใช้รูปของปิยะเป็นรูปประจำตัว โพสต์พระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัวและมีข้อความหมิ่นประมาท ปิยะรับว่าภาพเป็นภาพของตนแต่ตนไม่ใช่เจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว ขณะนี้ปิยะถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ 

18 ธันวาคม 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจับกุม “ศิระ” ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊ค “ใหญ่ แดงเดือด” โพสต์ข้อความเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ หลังถูกสอบสวนในค่ายทหาร 6 วัน วันที่ 23 ธันวาคม 2557 เขาถูกตั้งข้อหาและฝากขังต่อศาลทหาร โดยศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว

กว่า 6 เดือนหลังการรัฐประหาร มีบุคคลถูกจับกุมและดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ อย่างน้อย 19 คน หลายคดีเป็นคดีที่การกระทำตามข้อกล่าวหาเกิดขึ้นมานานแล้ว คดีที่เหตุเกิดหลังการรัฐประหารมีเพียง 5 คดี บรรยากาศทางการเมืองจากการเข้ายึดอำนาจของ คสช. จึงอาจส่งผลต่อการเร่งรัดติดตามคดีให้รวดเร็วขึ้นได้

การดำเนินคดี 112 กับบุคคลที่ถูกเรียกรายงานตัวและถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก

หลังการรัฐประหาร คสช. ออกคำสั่งเรียกบุคคลเข้ารายตัวโดยให้เหตุผลว่า "เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ" อย่างน้อย 666 คน ผู้ถูกเรียกเข้ารายงานตัวส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองหรือแกนนำกลุ่มการเมือง แต่ก็มีการเรียกบุคคลซึ่งชื่อไม่เป็นที่รู้จักอีกเป็นจำนวนมาก

24 พฤษภาคม 2557 จ่าประสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เข้ารายงานตัวหลังมีชื่อในคำสั่งเรียกบุคคลคนรายงานตัวต่อ คสช. ฉบับที่ 5/2557 จ่าประสิทธิ์ถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกในค่ายทหารก่อนถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ที่ สน.โชคชัย ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 และถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพโดยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญามีคำพิพากษาวันที่ 3 ธันวาคม 2557 ให้ลงโทษจำคุกจ่าประสิทธิ์เป็นเวลา 5 ปี แต่ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน เพราะจำเลยให้การรับสารภาพ แต่ไม่ให้รอการลงโทษเพราะจำเลยเคยทำความผิดในลักษณะเดียวกันมาแล้วแต่กลับทำความผิดที่ร้ายแรงขึ้นไปอีก

1 มิถุนายน 2557 คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 44/2557 เรียกบุคคลเข้ารายงานตัว 28 คน ซึ่งมีชื่อของ เฉลียว สิรภพ คฑาวุธ และ “จักราวุธ” รวมอยู่ด้วย เฉลียว คฑาวุธ และ “จักราวุธ” เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง ส่วนสิรภพไม่เข้ารายงานตัวและถูกจับกุมในภายหลัง ทั้งสี่คนถูกดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ

เฉลียวถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ดัดแปลงและอัพโหลดคลิปเสียงที่เนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ลงในเว็บไซต์ 4Share.com เขาถูกฝากขังที่ศาลอาญาในวันที่ 10 มิถุนายน 2557 โดยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว วันที่ 29 สิงหาคม 2557 ศาลนัดสอบคำให้การ เฉลียวรับสารภาพ ศาลพิพากษาให้จำคุก 3 ปี แต่ลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน และให้รอการลงโทษไว้ ปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นศาลอุทธรณ์

คฑาวุธถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดรายการวิทยุที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต เขาถูกนำตัวมาฝากขังที่ศาลอาญาในวันที่ 10 มิถุนายน 2557 แต่ต่อมาในวันที่ 22 สิงหาคม 2557 เขาถูกย้ายไปฝากขังกับศาลทหาร เนื่องจากคลิปเสียงตามฟ้องยังเข้าถึงได้ทางอินเทอร์เน็ต จึงตีความว่าเป็นความผิดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร 18 พฤศจิกายน 2557 คฑาวุธให้การรับสารภาพ ศาลทหารพิพากษาจำคุก 10 ปี แต่ลดโทษเหลือ 5 ปี  

“จักราวุธ” เข้ารายงานตัวในวันที่ 13 มิถุนายน 2557 และถูกควบคุมตัวเรื่อยมา เขาถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ลงบนเฟซบุ๊กรวม 9 ข้อความ ก่อนหน้านี้เขาเคยถูกพนักงานสอบสวนควบคุมตัวครั้งหนึ่งในปี 2555 แต่ยังไม่มีการยื่นฟ้องจนกระทั่งหลังการรัฐประหาร 31 กรกฎาคม 2557 ศาลพิพากษาจำคุก 27 ปี 36 เดือน แต่ลดเหลือ 13 ปี 24 เดือน เพราะรับสารภาพ มีรายงานด้วยว่าเขาเคยเข้ารักษาอาการทางจิตมาก่อน

สิรภพ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2557 สิรภพถูกกล่าวหาว่าใช่นามแฝง “รุ่ง ศิลา” โพสต์บทความและกลอนหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ในเฟซบุ๊ก ซึ่งมีผู้มาร้องทุกข์ไว้แล้วก่อนหน้านี้ เบื้องต้นสิรภพถูกฝากขังที่ศาลอาญาแต่ต่อมาถูกย้ายมาที่ศาลทหารด้วยเหตุผลว่าโพสต์ดังกล่าวยังเข้าถึงได้ คดีของสิรภพเป็นคดีเดียวหลังการรัฐประหารที่จำเลยให้การปฏิเสธ และศาลทหารสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ

เห็นได้ว่า คสช. ให้ความสำคัญกับการติดตามตัวบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าทำความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ถึงขนาดใช้อำนาจประกาศเรียกและอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกควบคุมตัวบุคคลเป็นเวลา 7 วัน โดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา เพื่อสอบสวนดำเนินคดีเอง โดยมีผู้ที่ถูกประกาศเรียกตัวมาสอบสวนและดำเนินคดีตามมาตรา 112 อย่างน้อย 5 คน

ขณะที่มีบุคคลอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ทำให้เกิดความกังวลว่า หากบุคคลเหล่านั้นเข้ารายงานตัวหรือถูกจับกุมได้ภายหลัง จำนวนคดีความฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ อาจจะเพิ่มขึ้นสูงกว่านี้

โดยสรุปแล้ว คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการรัฐประหาร ทั้งการรื้อฟื้นเร่งรัดคดีที่การกระทำเกิดขึ้นนานแล้ว การจับกุมผู้ต้องหารายใหม่ๆ และการที่ คสช. ประกาศเรียกบุคคลต้องสงสัยมาดำเนินคดี นับเฉพาะคดีที่จำเลยใช้เสรีภาพในการแสดงออก ไม่นับการแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อหาผลประโยชน์ ในเดือนพฤษภาคมก่อนการรัฐประหารมีนักโทษในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์อยู่ในเรือนจำ เท่าที่ทราบ 5 คน และค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นเป็น 24 คน ในช่วงปลายปี

 

126 Lese Majeste Prisoners Statistic

 

ความเคลื่อนไหวคดีมาตรา 112 อื่นๆ ที่ดำเนินคดีต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร

10 กรกฎาคม 2557 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีของ อัศวิน ว่าจำเลยกระทำการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ด้วยการแอบอ้างสถาบันเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ โดยกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นจากยกฟ้องเป็นลงโทษจำคุก 5 ปี อัศวินได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 ระหว่างสู้คดีในชั้นฎีกา

19 กันยายน 2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้จำคุก สมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นเวลา 10 ปี ฐานเป็นบรรณาธิการนิตยสาร วอยซ์ออฟทักษิณ 2 เล่ม ซึ่งเผยแพร่บทความที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ 2 ชิ้น ที่วางจำหน่ายในปี 2553 คดีนี้ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 19 กันยายน อันเป็นวันครบรอบ 8 ปี ของการรัฐประหาร 19  กันยายน 2549 โดบไม่แจ้งให้จำเลย ทนายความ หรือญาติ ทราบวันนัดล่วงหน้าด้วย

28 พฤศจิกายน 2557 ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาคดีของ ยุทธภูมิ หรือคดีพี่ฟ้องน้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในเดือนกันยายน 2556 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องจำเลยเนื่องจากพยานหลักฐานของโจทก์มีเหตุให้สงสัยตามสมควร จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

ปรากฎการณ์และความท้าทายใหม่ๆ ของการต่อสู้คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ในปี 2557

พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร

โดยปกติ ศาลทหารจะมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาที่จำเลยเป็นทหารประจำการเท่านั้น ไม่มีอำนาจพิจารณาคดีที่จำเลยเป็นพลเรือน อย่างไรก็ตาม คสช. ก็ออกประกาศฉบับที่ 37/2557 ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือนที่ตกเป็นจำเลยในคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง รวมทั้งคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ

หากตีความโดยเคร่งครัด คดีที่จะอยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 จะต้องเป็นคดีที่การกระทำตามข้อกล่าวหาเกิดขึ้นหลังประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้เท่านั้น แต่มีอย่างน้อย 4 คดี ที่การกระทำตามข้อกล่าวหาเกิดขึ้นก่อนการออกประกาศฉบับที่ 37 แต่จำเลยกลับถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ได้แก่คดีของธานัท, คฑาวุธ, สิรภพ และ "สมศักดิ์"

คดีทั้ง 4 เหมือนกันตรงที่เป็นการกระทำบนโลกออนไลน์ ศาลทหารตีความว่า เมื่อเนื้อหาที่เป็นเหตุแห่งคดียังสามารถเข้าถึงได้อยู่ จึงเป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ต้องถือว่าการกระทำความผิดยังคงเกิดขึ้นอยู่หลังประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจการพิจารณาของตน

การพิจารณาคดีเป็นการลับ

ก่อนการรัฐประหารการสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับถือเป็นข้อยกเว้น ในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ 2553 - 2557 ศาลพลเรือนพิจารณาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ อย่างน้อย 41 คดี มีการสั่งให้พิจารณาโดยลับ 4 คดี อีก 37 คดีพิจารณาโดยเปิดเผย ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของจำเลยทุกคน ที่จะมีผู้สังเกตการณ์ภายนอกเข้าร่วมฟัง เพื่อช่วยรับประกันความโปร่งใสและความถูกต้องของกระบวนการพิจารณา

หลังการรัฐประหาร คดีของคฑาวุธ "สมศักดิ์ ภักดีเดช" สิรภพ ซึ่งพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ ถูกศาลสั่งให้พิจารณาเป็นการลับตลอดคดีทั้งสามคดี และคดีของ “ธเนศ” ที่พิจารณาที่ศาลอาญา ก็ถูกสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ มีความเป็นไปได้มากว่า คดีอื่นๆ ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาอาจถูกสั่งพิจารณาลับเช่นกัน

ลำพังการกำหนดให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหารก็เป็นสิ่งที่สังคมกังขาอยู่แล้ว การขึ้นศาลภายใต้สถานการณ์พิเศษที่จำเลยไม่สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกายิ่งเพิ่มความน่ากังวล การพิจารณาโดยเปิดเผยต่อหน้าผู้สังเกตการณ์จากภายนอก จึงเปรียบเสมือนไพ่ใบสุดท้ายที่พอจะสร้างความอุ่นใจให้กับจำเลยได้บ้างว่าการพิจารณาคดีน่าจะดำเนินไปอย่างถูกต้องเป็นธรรม การสั่งพิจารณาเป็นการลับตลอดทั้งกระบวนจึงเป็นการทำลายเกราะป้องกันชั้นสุดท้ายของจำเลย  

การไม่อนุญาตให้คัดถ่ายเอกสารในสำนวนของศาล

เพื่อให้จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ จำเลยจึงมีสิทธิที่จะเข้าถึงเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดี โดยปกติ ทนายความสามารถขอสำเนาเอกสารต่างๆ จากศาลได้ ทั้งคำฟ้อง บันทึกคำเบิกความพยาน รายงานกระบวนพิจารณา รวมทั้งคำพิพากษา

ในคดีของคฑาวุธ และสิรภพ ศาลทหารกรุงเทพไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยทำสำเนารายงานกระบวนพิจารณาของวันนัดสอบคำให้การที่ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับโดยตลอด เนื่องจากได้อ่านให้ฟังแล้ว ทั้งที่รายงานกระบวนพิจารณาในวันนั้น มีเพียงแต่คำสั่งศาลให้พิจารณาคดีเป็นการลับ คำแถลงขอเลื่อนการให้การของจำเลย และวันนัดใหม่เท่านั้น ไม่มีข้อความใดๆ ที่อ่อนไหวต่อความมั่นคง

ศาลทหารเพิ่มโทษเป็นเท่าตัว

อัตราโทษของคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ คือ 3 ถึง 15 ปีต่อความผิดหนึ่งกรรม ในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2553 - 2557 ศาลพลเรือนพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ อย่างน้อย 31 คดี เป็นการกำหนดโทษจำคุกกรรมละ 2 ปี 2 คดี, กรรมละ 3 ปี 7 คดี, กรรมละ 4 ปี 2 คดี, กรรมละ 5 ปี 17 คดี และกรรมละ 6 ปี 3 คดี โดยเฉลี่ยศาลพลเรือนกำหนดบทลงโทษจำเลยกรรมละ 4.4 ปี

คำพิพากษาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ของศาลทหารที่ออกมาแล้ว 2 ฉบับ ในคดีของคฑาวุธ ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 10 ปี ในความผิด 1 กรรม ก่อนลดโทษเหลือ 5 ปี เพราะจำเลยรับสารภาพ ขณะที่คดีของ "สมศักดิ์" ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 9 ปี ในความผิด 1 กรรม ก่อนลดโทษเหลือ 4 ปี 6 เดือน โดยเฉลี่ยศาลทหารกำหนดบทลงโทษจำเลยกรรมละ 9.5 ปี

นัดสมานฉันท์ วิธีทางแพ่งในคดีอาญา?

ในคดีของอัครเดช ศาลอาญาจัดให้มีนัดสมานฉันท์ขึ้น ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่สร้างขึ้นมาสำหรับคดีแพ่งเพื่อให้จำเลยและโจทก์มาประนีประนอมกันหรือทำข้อตกลงร่วมกัน แทนการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีและบังคับคดี

คดีอาญาที่เป็นความผิดต่อแผ่นดินอย่างคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เป็นคดีที่ยอมความหรือทำข้อตกลงร่วมกันไม่ได้ และไม่มีโจทก์ในคดีที่มีอำนาจในการเจรจาประนีประนอมกับจำเลย เมื่อประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยให้การปฏิเสธในตอนแรก แต่กลับมารับสารภาพระหว่างกระบวนการนี้ จึงน่าสงสัยว่า ศาลในคดีนี้อาศัยกระบวนการนัดสมานฉันท์ทำตัวเป็นโจทก์มาเจรจากับจำเลยเสียเอง

การรุกล้ำความเป็นส่วนตัวและการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว

หลังการรัฐประหารเกิดปรากฎการณ์ใหม่คือ การที่เจ้าหน้าที่ยึดอุปกรณ์เก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ถูกจับกุมหรือถูกเรียกรายงานตัว เช่น โทรศัพท์มือถือ ไปตรวจสอบและนำผลการตรวจสอบมาดำเนินคดี ดังเช่น กรณีของอภิชาติที่ถูกจับกุมจากการชุมนุม แต่ต่อมาถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เพราะเจ้าหน้าที่ไปตรวจโทรศัพท์ของเขา

การยึดโทรศัพท์และการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลเช่นนี้กลายเป็นแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐในทุกครั้งที่มีการจับกุมบุคคลในคดีการเมือง สร้างบรรยากาศความกลัวขึ้นในพื้นที่การสื่อสารส่วนตัวของประชาชน และมีความกังวลว่า จำนวนคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ อาจพุ่งสูงขึ้นไปอีก   

การใช้มาตรา 112 กับขบวนการแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ เพื่อเรียกรับผลประโยชน์ส่วนตัว

ก่อนหน้าปี 2557 มีกรณีศึกษาการดำเนินคดีมาตรา 112 จากการแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ เพื่อเรียกรับผลประโยชน์ส่วนตัว 2 คดี คือ คดีของประจวบ และอัศวิน หลังการรัฐประหารในปี 2557 มีข่าวใหญ่โตคือการจับกุมและดำเนินคดีกับบุคคลอย่างน้อย 16 คน และมีบุคคลที่ถูกออกหมายจับแต่ยังไม่มีรายงานการจับกุมอีกอย่างน้อย 3 คน ซึ่งบุคคลเหล่านี้ถูกเชื่อมโยงว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ ที่นำโดย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

นอกจากนี้ยังมีรายงานการจับกุมดำเนินคดีบุคคลอีกอย่างน้อย 4 คน ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 จากข้อกล่าวหาเรื่องการแอบอ้างด้วย [ดูรายงานการดำเนินคดีฐานแอบอ้าง ด้วยมาตรา112 และการสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่น่ากังวล คลิก]

บทสรุปส่งท้ายปี 2557 แนวโน้มมีความท้าทายใหม่ๆ อีกในปี 2558

ช่วงต้นปี ดูเหมือนว่าบรรยากาศของเสรีภาพในการแสดงออกกับข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ กำลังจะเดินไปในทิศทางผ่อนคลายลง มีคำพิพากษาที่คำนึงถึงประโยชน์ของจำเลยและสังคมโดยรวม แต่หลังการรัฐประหาร สถานการณ์กลับพลิกมาเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่ตึงเครียดที่สุดในประวัติศาสตร์ของการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ

นอกจากจำนวนคดีที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังมีการนำพลเรือนมาขึ้นศาลทหาร และใช้แนวปฏิบัติที่มีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิจำเลยหลายประการ เช่น การสั่งพิจารณาลับ หรือการลงโทษจำเลยหนักกว่าศาลพลเรือนถึงสองเท่าตัว สถานการณ์ที่เหมือนกำลังจะก้าวไปข้างหน้าอย่างช้าๆ ช่วงต้นปี จึงกลายเป็นถอยหลังกลับไป 3 ก้าว และดูเหมือนว่าสถานการณ์จะยังทวีความตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ

สิ้นปี 2557 นักโทษในเรือนจำตามมาตรา 112 เพิ่มเป็น 24 คน สูงที่สุดในรอบหลายปี เทียบกับจำนวนสูงสุดหลังการสลายการชุมนุมในปี 2553 คือ 13 คน และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในปี 2558 ศาลมีแนวโน้มที่จะไม่ให้ประกันตัวจำเลยคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ อย่างต่อเนื่อง จำเลยมีแนวโน้มเลือกที่จะรับสารภาพเพราะไม่เชื่อว่าจะสามารถต่อสู้คดีในบรรยากาศการเมืองแบบเผด็จการทหารได้ การกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดขยายเข้าไปในพื้นที่ใหม่ๆ มากขึ้น ส่งผลให้ความหวาดกลัวแผ่ขยายออกไป สร้างบรรยากาศให้เสรีภาพในการแสดงออกต้องเงียบงันไปทั่วประเทศ

ในปี 2558 มีแนวโน้มว่าจะเป็นปีที่กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จะถูกนำมาใช้ในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ทางการเมือง และจำเลยในคดีนี้อาจต้องเผชิญหน้ากับกระบวนการพิจารณาคดีที่มีความท้าทายใหม่ๆ อย่างที่เราเองก็ไม่สามารถคาดเดาทิศทางได้เช่นกัน

 

ดูสรุปสถานการณ์ประจำปี 2557 กรณีอื่นๆ

สรุปสถานการณ์ปี 2557: การขัดขวางการใช้สิทธิโดยภาคประชาชน ที่ปูทางสู่การยึดอำนาจและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง

สรุปสถานการณ์ปี 2557 1/5 : การเรียกบุคคลไปรายงานตัว การจับกุมและการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก

สรุปสถานการณ์ปี 2557 3/5: เสรีภาพการชุมนุม/การแสดงออกสาธารณะ และการตั้งข้อหาทางการเมือง 

สรุปสถานการณ์ปี 2557 4/5: การฟ้องคดีหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อปิดกั้นการแสดงออก 

 
ไฟล์แนบ: 
ประเภทรายงาน: