1800 1406 1788 1741 1091 1967 1288 1009 1316 1588 1532 1043 1063 1865 1963 1010 1100 1883 1035 1159 1977 1896 1423 1589 1612 1092 1279 1817 1750 1388 1676 1475 1815 1664 1981 1978 1948 1222 1778 1109 1987 1534 1336 1610 1032 1799 1395 1483 1632 1061 1970 1570 1912 1287 1602 1078 1597 1855 1964 1019 1462 1703 1093 1067 1333 1336 1167 1218 1698 1768 1902 1889 1459 1432 1208 1418 1271 1527 1307 1088 1723 1942 1331 1970 1666 1329 1584 1066 1962 1466 1952 1840 1004 1588 1961 1951 1101 1574 1052 มีนาคม 2559: พิพากษาสามคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, ใช้ม.44 คุมผู้มีอิทธิพลแต่เริ่มเรียกชาวบ้านรายงานตัว | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

มีนาคม 2559: พิพากษาสามคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, ใช้ม.44 คุมผู้มีอิทธิพลแต่เริ่มเรียกชาวบ้านรายงานตัว

ช่วงเวลา ยอดรวมตั้งแต่รัฐประหาร 
31 มีนาคม
2559
ยอดรวมเฉพาะเดือนมีนาคม 
2559
คนถูกเรียกรายงานตัว 912 10
คนถูกจับกุมคุมขัง
จากการชุมนุมโดยสงบ
214 -
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลทหาร 157 2
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลพลเรือน 48 0
คนถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท
พระมหากษัตริย์ฯ (ม.112)
62 0
จำนวนคนที่ถูกคุมขังด้วยคดีตามมาตรา 112 ทั้งที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว
และที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี 
ในเดือนมีนาคม 2559
50

ในภาพรวม สถานการณ์เสรีภาพช่วงต้นเดือนถึงกลางเดือนมีนาคมยังไม่มีความเคลื่อนไหวมากนัก นอกจากการนัดฟังพิพากษาคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของนักเคลื่อนไหวทางสังคมสามคดี สถานการณ์มาร้อนแรงขึ้นในช่วงปลายเดือนเมื่อมีการตั้งข้อหายุงยงปลุกปั่นคนที่ถ่ายรูปคู่กับ "ขันแดง",การนำตัวสองนักการเมืองพรรคเพื่อไทยได้แก่อย่างวรชัย เหมะ และวัฒนา เมืองสุข ไปนอนค่ายทหารคนละ 3 วัน, การเรียกพบชาวบ้านที่เคลื่อนไหวประเด็นต่างๆ หลายคน รวมทั้งการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ขยายอำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในกระบวนการยุติธรรม

 

พิพากษาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สามคดี สามจังหวัด ชนะ1 แพ้1 เสมอ1

เดือนมีนาคม 2559 มีความเคลื่อนไหวสำคัญของคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่คนทำงานเคลื่อนไหวทางสังคมหรือนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตกเป็นจำเลยถึงสามคดี 
 
เริ่มจาก 9 มีนาคม 2559 ศาลจังหวัดเชียงใหม่อ่านคำพิพากษา คดีที่ ไมตรี นักข่าวพลเมืองชาวลาหู่ ถูกฟ้องว่าโพสต์คลิปวีดีโอและข้อความกล่าวหาว่าทหารตบหน้าชาวบ้าน ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า หลักฐานของฝ่ายโจทก์ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่าจำเลยเป็นคนโพสต์ข้อความ และแม้จำเลยจะรับว่าโพสต์ข้อความตามฟ้องบางส่วนจริง ศาลก็เชื่อว่าจำเลยโพสต์ไปโดยเข้าใจว่าเป็นความจริง จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิด 
 
ต่อมา 10 มีนาคม 2559 ศาลจังหวัดแม่สอดนัดสืบพยานคดีที่ สุรพันธ์ หรือ พ่อไม้ ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อ.วังสะพุง จ.เลย ถูกบริษัททุ่งคำ ฟ้องว่า โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเพจ "เหมืองแร่เมืองเลย" กล่าวหาว่าบริษัทได้สัมปทานการทำเหมืองแร่มาโดยมิชอบ ก่อนเริ่มการสืบพยานศาลให้ทั้งสองฝ่ายไกล่เกลี่ยกันและในที่สุดฝ่ายโจทก์ตกลงยอมถอนฟ้อง คดีนี้จึงสิ้นสุดไปโดยสุรพันธ์ยังไม่ได้ต่อสู้คดีพิสูจน์ความบริสุทธิ์
 
438

สุรพันธ์ หรือ พ่อไม้ ชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด
 
17 มีนาคม 2559 ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชอ่านคำพิพากษา คดีที่ กำพล นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ถูกนักวิชาการฟ้องว่าหมิ่นประมาทจากการโพสต์เฟซบุ๊กคัดค้านการนำขี้เถ้าถ่านหินมาทำเป็นปะการังเทียม ซึ่งศาลพิพากษาว่า กรณีนี้ข้อความที่โพสต์เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ในทางส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องประโยชน์สาธารณะ จึงให้จำคุกกำพลหนึ่งปี ปรับ 40,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้สองปี
 
439

กำพล นักอนุรักษ์จากจังหวัดนครศรีธรรมราช


ออกคำสั่ง 13/2559 ตามมาตรา 44 คุมผู้มีอิทธิพล แต่เรียกชาวบ้านที่เคลื่อนไหวเรื่องปากท้องไปรายงานตัว

29 มีนาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2559 โดยระบุเหตุผลของการออกคำสั่งไว้ว่า เนื่องจากมีบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์กระทําความผิดอาญาที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทําลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ มีบุคคลที่ดํารงชีพด้วยการกระทําผิดกฎหมายเช่น ค้ายาเสพติด เป็นเจ้ามือพนัน มีพฤติการณ์ซ่องสุมอาวุธ จึงจําเป็นต้องกําหนดกระบวนการในการป้องกันและปราบปราม การกระทําความผิดอาญาที่มีลักษณะดังกล่าวเป็นพิเศษ 
 
คำสั่งฉบับที่ 13/2559 ให้อำนาจทหารจับกุม ปราบปราม และสอบสวน ผู้กระทำความผิดในลักษณะเดียวกับอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558  ที่ให้อำนาจทหารเข้ามาปราบปรามคดีการเมือง ทำให้พอเข้าใจได้ว่าคำสั่งฉบับนี้มุ่งจะเพิ่มอำนาจทหารให้จัดการกลุ่มผู้มีอิทธิพลผิดกฎหมาย หรือกลุ่มมาเฟียในสังคมไทย ขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่งออกมาแสดงความกังวลว่าการออกประกาศฉบับนี้อาจทำให้ทหารมีอำนาจจัดการกับชาวบ้านที่เคลื่อนไหวเรื่องปากท้องหรือสิทธิชุมชน หรืออาจให้ทหารควบคุมการทำกิจกรรมรณรงค์เรื่องการทำประชามติ
 
มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และองค์กรด้านทรัพยากรธรรมชาติอีกหลายแห่ง ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลว่า คำสั่งดังกล่าวจะจะถูกนำมาใช้กับแกนนำชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ที่ทำงานเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และชุมชน รวมทั้งคัดค้านโครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐ โดยเจ้าหน้าที่อาจตีความว่า การทำงานของแกนนำชาวบ้านเป็นการบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก็แสดงความกังวล คล้ายกันว่า ประกาศดังกล่าวอาจถูกนำไปใช้กับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายของ คสช. อาทิ กลุ่มชาวบ้านที่พิพาทเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินกับหน่วยงานของรัฐ
 
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับที่มีการออกคำสั่งฉบับที่ 13/2556 ก็มีการเรียกแกนนำชาวบ้านที่เคลื่อนไหวในประเด็นปัญหาต่างๆเข้ารายงานตัวหลายราย เช่น 
 
29 มีนาคม 2559 ประชาไท รายงานว่า ทหารเข้าควบคุมตัวละม่อม บุญยงค์ ชาวบ้านประมงผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีน้ำมันรั่วลงทะเลที่จังหวัดระยองปีเมื่อปี 2556 พร้อมกับพวกอีก 2 คนเพื่อนำตัวไปปรับทัศนะคติ นอกจากการขับเคลื่อนประเด็นน้ำมันรั่วลงทะเล ละม่อมยังเคยร้องเรียนกรณีที่ทหารร่วมกับเทศบาลระยองจะดำเนินการไล่รื้อบ้านเรือนและที่ทำประมงต่อเนื่องบริเวณริมชายหาดต่ออนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย  
 
30 มีนาคม 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ทหารเรียกทวีศักดิ์ แกนนำคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ เชียงราก เข้าพบที่ที่ว่าการอำเภอสามโคก จ.ปทุมธานี โดยอ้างว่ามีชื่ออยู่ในรายชื่อผู้มีอิทธิพลที่ทัพภาค 1 ส่งมาให้ เจ้าตัวยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้มีอิทธิพล เพียงแต่เคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้าขยะเท่านั้น 
 
31 มีนาคม 2559 สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน รายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหาร เข้าไปถามหาและขอพบตัวจันทร โพธิ์จันทร์ ผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่เจ้าหน้าที่เข้ามาตัดสวนยางชาวบ้านถาม ที่บ้านในจังหวัดสกลนคร แต่ไม่พบตัว พบเแต่สอน โพธิ์จันทร์ ชายอายุ 82 ปีผู้เป็นพ่อ จึงใช้เวลารอที่บ้านประมาณเกือบหนึ่งชั่วโมงก่อนจะเดินทางกลับ
 

วรชัย - วัฒนา นอนค่ายทหารอีกคนละ 3 วัน 

26 มีนาคม 2559 วรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า มีทหารติดต่อว่าจะมาเอาตัวจากบ้านพักไปปรับทัศนะคติจากกรณีที่ตนเองเคยเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความรับผิดชอบ ลาออกจากตำแหน่งหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ซึ่งในต่อมาทหารจากกรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 รักษาพระองค์ ก็คุมตัววรชัยไปจากบ้านด้วยรถตู้ 
 
วรชัย ถูกปล่อยตัววันที่ 29 มีนาคม ครั้งนี้เขาถูกควบคุมตัวรวมสามวัน หากนับครั้งนี้ วรชัยจะถูกควบคุมตัวรวมอย่างน้อยห้าครั้ง
 
27 มีนาคม 2559 วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กว่า มีทหารยกกำลังมาที่บ้าน อ้างว่าจะขอควบคุมตัวไปโดยอำนาจตามมาตรา 44 จากกรณีที่เขาโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเรื่องการควบคุมตัววรชัย เหมะ วัฒนาระบุว่า ขณะที่ทหารมาบ้านเขาอยู่ข้างนอก จึงประสานกับทางทหารว่าเขาจะเดินทางไปพบทหารเองในวันรุ่งขึ้น ต่อมาวันที่ 28 มีนาคม 2559 วัฒนา เดินทางไปที่มลฑลทหารบกที่ 11 ตามที่นัดกับทหารไว้และถูกควบคุมตัวอยู่ 3 วัน วัฒนา ถูกปล่อยตัวเมื่อ 31 มีนาคม 2559 และได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ยืนยันจะแสดงความเห็นทางการเมืองต่อไป 
 
วัฒนาถูกเรียกปรับทัศนคติรวมอย่างน้อยสี่ครั้ง หนึ่งในนั้นเป็นกรณีที่ถูกจับเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559 ซึ่งหลังเข้าค่ายทหาร วัฒนาถูกพาตัวไปที่สน.นางเลื้ง เพื่อตั้งข้อกล่าวหาว่า กระทำความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ว่าใช้คำพูดไม่เหมาะที่กล่าวถึงกรณีทหารตามไปถ่ายรูป น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึงศาลาสวดศพว่าเป็นเพราะ "ท่านสวย" 
 
นับรวมตั้งแต่ คสช. เข้ายึดอำนาจการปกครอง ถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2559 มีผู้ถูกเรียกรายงานตัว/ไปคุกคามที่บ้าน อย่างน้อย 912 คน
 
440
 
 

โพสต์รูปคู่ "ขันแดง" จากทักษิณ เป็นคดี 116

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เมื่อ 29 มีนาคม 2559 พนักงานสอบสวนสภ.แม่ปิง นำตัวธีรวรรณ ผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากกรณีการถ่ายภาพคู่กับขันน้ำสีแดง มาขออำนาจฝากขังต่อศาลทหารที่เชียงใหม่ ศาลอนุญาตให้ฝากขัง และให้ประกันตัวผู้ต้องหาด้วยหลักทรัพย์ หนึ่งแสนบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง
 
ธีรวรรณ ถูกกล่าวหาว่า ถือขันน้ำสีแดงและถือภาพโปสเตอร์สวัสดีวันสงกรานต์ปีใหม่ไทย ซึ่งมีรูปภาพทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้นักข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐถ่ายรูป ซึ่งต่อมารูปดังกล่าวถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ 28 มีนาคม 2559 ธีรวรรณ ให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวนโดยระบุว่าไปเจอขันดังกล่าวและปฏิทินที่มีรูปอดีตนายกจึงนำมาถ่ายภาพร่วมกับเพื่อนๆและแชร์ในเฟซบุ๊ก แต่ไม่ทราบว่ามีผู้สื่อข่าวมาถ่ายภาพและไม่มีใครแจ้งว่าจะเอาภาพดังกล่าวไปเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานเพิ่มเติมอีกว่า 30 มีนาคม 2559 ชัยพินธ์ ขัติยะ หัวหน้าศูนย์ข่าวภาคเหนือตอนบนของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ถูกทหารค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่เรียกเข้าไปพบ โดยทหารระบุว่าขณะนี้สถานการณ์ของประเทศมีความละเอียดอ่อน การลงข่าวในลักษณะนี้อาจสร้างความแตกแยกในบ้านเมืองได้ เพราะเป็นการลงข่าวฝ่ายเดียว กลัวว่าอีกฝ่ายก็จะมีปัญหาและสร้างความขัดแย้งกัน จึงได้ขอความร่วมมือไม่นำเสนอข่าวในลักษณะนี้อีก
 
เท่าที่มีข้อมูล ธีรวรรณ เป็นคนที่ 39 ที่ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ในยุครัฐบาลคสช.
 

ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคดีต่างๆ: ปล่อยจ่าประสิทธิ์, ฐนกรได้ประกันตัว, ศาลปกครองเลื่อนคดีอ.สมศักดิ์ไม่มีกำหนด

ความเคลื่อนไหวคดีมาตรา 112 และคดีทางการเมืองอื่นๆ ในเดือนมีนาคม 2559 มีดังนี้
 
4 มีนาคม 2559 ประชาไทรายงานว่า ศาลปกครองกลางเลื่อนนัดการอ่านคำพิพากษาคดีที่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฟ้องเพิกถอนคำสั่งไล่ออกจากราชการออกไปโดยไม่มีกำหนดจากเดิมที่นัดในวันที่ 8 มีนาคม 2559
 
7 มีนาคม 2559 ศาลอาญานัดตรวจพยานหลักฐานคดีมาตรา 112 คดีที่สองของปิยะ ปิยะ่ถูกฟ้องว่าส่งอีเมล์หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ให้ธนาคารกรุงเทพ อัยการโจทก์แถลงขอสืบพยาน  23 ปาก และยื่นเอกสารเป็นหลักฐานอีก 14 รายการ ทนายจำเลยตกลงยอมรับข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อของจำเลย ศาลจึงให้ตัดพยานออกบางส่วน เหลือพยานของฝ่ายโจทก์ที่ต้องนำสืบจริงๆเก้าปาก ทนายจำเลยยื่นบัญชีพยานขอนำพยานเข้าสืบสามปาก คู่ความตกลงนัดสืบพยานกันวันที่ 27-29 กันยายน 2559
 
8 มีนาคม 2559 ฐนกร จำเลยคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ที่ถูกฟ้องว่ากดไลค์เพจหมิ่นฯ และโพสต์ข้อความเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว โดยศาลทหารกรุงเทพตีราคาประกันที่ 500,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ โดยก่อนได้รับการปล่อยตัวฐนกรถูกควบคุมตัวในเรือนจำมาแล้วรวม 86 วัน
 
11 มีนาคม 2559 ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานคดีมาตรา 112 ของธานัท หรือทอม ดันดี ผู้ถูกฟ้องว่าปราศรัยในลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ คดีนี้ศาลสั่งพิจารณาลับตลอดทั้งกระบวนการ ทนายจำเลยให้ข้อมูลในภายหลังว่าพยานที่มาเบิกความต่อศาลในวันนี้คือ พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) พ.ต.อ.โอฬารเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านโดยสรุปว่าจากการดูคลิปปราศรัยของธานัทเข้าใจว่าเป็นการพูดถึงพระมหากษัตริย์ในทางที่ไม่ดี แม้ธานัทจะไม่ได้เอ่ยพระนามหรือนามของใครในการปราศรัยก็ตาม
 
21 มีนาคม 2559 พนักงานอัยการนัดสะมะแอ นายกสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยเข้าพบเพื่อฟังคำสั่งจากกรณีไปยื่นหนังสือที่กระทรวงเกษตรโดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทำให้ถูกแจ้งข้อหาตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ อย่างไรก็ตามเมื่อถึงวันนัดพนักงานอัยการก็เลื่อนนัดออกไปเป็นวันที่ 25 มีนาคม 2559 ต่อมาในช่วงเย็นวันที่ 24 มีนาคม สะมะแอก็ได้รับการติดต่อจากพนักงานอัยการอีกครั้งว่าขอเลื่อนการฟังคำไปก่อนโดยยังไม่กำหนดวันนัดใหม่  
 
441
 
สะมะแอให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง
 
25 มีนาคม 2559 ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานคดีมาตรา 112 ของธารา ผู้ถูกฟ้องว่า อัพโหลดคลิปเสียงของบรรพตขึ้นเว็บไซต์ OKThai ก่อนเริ่มสืบพยานศาลสั่งให้พิจารณาคดีนี้โดยลับเพื่อประโยชน์ของความสงบเรียบร้อย ทนายจำเลยให้ข้อมูลภายหลังว่า พยานที่มาเบิกความต่อศาลในวันนี้คือ พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)  พ.ต.อ.โอฬาร เบิกความโดยสรุปได้ว่า ไม่เคยเปิดเข้าไปดูที่หน้าเว็บไซต์ OKThai ด้วยตัวเองแต่ทราบการกระทำความผิดมาจากสายข่าวทหาร การสืบพยานนัดนี้เป็นการสืบพยานนัดแรก และเกิดขึ้นหลังธาราถูกจับกุมมานานกว่าหนึ่งปี สำหรับพยานปากต่อไปศาลทหารนัดสืบวันที่ 8 กรกฎาคม 2559
 
26 มีนาคม 2599 มติชนออนไลน์รายงานว่า  จ่าประสิทธิ์ นักโทษคดีมาตรา 112 ได้รับพระราชทานอภัยโทษ และได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพในช่วงค่ำ 
 
29 มีนาคม 2559 ศาลทหารกรุงเทพ นัดสืบพยานคดีวรเจตน์ ภาคีรัตน์ฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของคสช. พยานที่มาเบิกความต่อศาลในวันนี้ คือ ร.ท.เอกชัย บุญประเทืองวงศ์ ทหารที่ทำหน้าที่ตั้งโต๊ะรับรายงานตัว ซึ่งเบิกความโดยสรุปว่าวรเจตน์เป็นบุคคลที่มีชื่อตามคำสั่งรายงานตัวแต่ไม่ได้มารายงานตัวตามคำสั่ง แม้ในภายหลังภรรยาของวรเจตน์จะมาแจ้งว่าสามีติดภารกิจอยู่ต่างประเทศแต่ก็ไม่มีหลักฐานมาแสดง ศาลทหารสืบพยานจนถึงเวลาประมาณ 12.00 น. แต่ก็ยังไม่แล้วเสร็จ จึงนัดสืบพยานปากนี้ต่อวันที่ 20 มิถุนายน 2559
 
ในวันเดียวกันศาลทหารกรุงเทพนัดไต่สวนจิตแพทย์ผู้ทำการรักษาประจักษ์ชัย จำเลยคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ผู้ถูกกล่าวหาว่ายื่นคำร้องที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ต่อเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาล แพทย์เจ้าของไข้ระบุว่า ประจักษ์ชัยป่วยเป็นโรคมีอาการหลงผิด หากเชื่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ไม่สามารถ เปลี่ยนแปลงได้ 
 
30 มีนาคม 2559 ศาลจังหวัดเลยพิพากษายกฟ้องคดีที่ บริษัททุ่งคำ ฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายชาวบ้านฐานหมิ่นประมาท จากการทำป้าย "หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง" ติดที่ซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้าน และบริเวณหมู่บ้าน ทนายความระบุว่า เหตุผลที่ยกฟ้องเพราะศาลเชื่อว่าชาวบ้านได้รับผลกระทบจริง และต่อสู้อย่างสุจริตไปตามครรลองคลองธรรม 
 

ความเคลื่อนไหวกรณีอื่นๆ : ห้ามประวิตรไปฟินแลนด์, ห้ามจัดงานผ้าป่าต้านเหมือง, ห้ามเลือกตั้งสภาทนายความ 

1 มีนาคม 2559 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ธัญญารัศมิ์ แกนนำกลุ่มต่อต้านเหมืองทองพิจิตร เปิดเผยว่า ในคืนวันที่ 29 กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ 19.00 น. มีกำลังตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง รวม 20 นาย เดินทางมาหาตนถึงบ้านโดยแบ่งกำลังส่วนหนึ่งเข้ามาคุยบริเวณใต้ถุนบ้าน อีกส่วนรอคุมเชิงอยู่หน้าบ้าน การเข้ามาของเจ้าหน้าที่เป็นไปในลักษณะจู่โจม ไม่มีหนังสือ หรือหมายใดๆ ประเด็นที่มาพูดคุยคือ ต่อรองไม่ให้นำหนังสือไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรีและห้ามกลุ่มผู้เดือดร้อนไม่ให้ไปกรุงเทพฯ 
 
2 มีนาคม 2559 สำนักข่าววาร์ตานี รายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารพราน จ.นราธิวาส มาที่บ้านของแม่ของอิสมาแอ เต๊ะ ประธานองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี หรือ HAP โดยเจ้าหน้าที่แจ้งกับน้องชายของอิสมาแอว่าต้องการคุยกับอิสมาแอเรื่องโครงการพาคนกลับบ้านและเรื่องอื่นๆ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหนึ่งวันหลังจาก HAP จัดงานอบรมการเก็บข้อมูลเพื่อการตรวจสอบเรื่องการซ้อมทรมาน ร่วมกับ OHCHR 
 
1-6 มีนาคม 2559 กลุ่มคนรุ่นใหม่ ในโครงการคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม จัดกิจกรรม "ปล่อยปีก" ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยส่วนหนึ่งของงานมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับเสรีภาพการแสดงออกที่ทำเป็นรูปส้วมสาธารณะ และติดภาพข้อมูลเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนเอาไว้ ทหารจากกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ไม่สบายใจจึงสั่งให้เอารูปออก และในพิธีปิดกิจกรรมมีการแสดงสัญลักษณ์จับมือกันเป็นรูปปีกนก ซึ่งทหารไม่พอใจและแจ้งว่าจะนำเรื่องไปพิจารณาว่าขัดต่อกฎหมายใดหรือไม่
 
442
 
ฝาห้องน้ำจำลอง นิทรรศการที่ถูกขอให้รื้อถอน

7 มีนาคม 2559 มติชนออนไลน์รายงานว่า หลังภาคีเครือข่ายองค์กรชาวพุทธประกาศย้ายการแถลงข่าวเพื่อแสดงท่าทีต่อผู้ตรวจการแผ่นดินหลังออกมาชี้ว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ทำผิดขั้นตอนการเสนอนามสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชจากที่โรงแรม S.D.Avenueไปที่ศูนย์ประชุมวัดศรีสุดาราม ก็ปรากฎว่ามีทหารตำรวจจำนวนหนึ่งไปประจำการอยู่บริเวณวัด จากนั้นตำรวจจำนวน 20 นาย นิมนต์พระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนพิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย (ศพศ.), พระเทพประสิทธิมนต์ เจ้าอาวาสวัดศรีสุดาราม และเชิญนายเสถียร วิพรมหา นายกสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) ซึ่งเป็นแกนนำของภาคีฯเข้าหารือในห้องประชุมกว่า 30 นาที เมื่อพระเมธีฯออกจากห้องก็แจ้งผู้สื่อข่าวว่าจะให้พระรูปอื่นเป็นผู้แถลงข่าวแทน พระทั้งสองรูปแถลงข่าวได้เพียงห้านาทีก็รีบเดินออกจากห้องประชุมก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ประกบตัว
 
9 มีนาคม 2559 ทหารและตำรวจกว่า 30 นายบุกเข้าจับกุมตัวสราวุธ ผู้ดูแลเพจ “เปิดประเด็น” ไปจากบ้านพักในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนำตัวไปควบคุมเพื่อสอบสวนที่มทบ.11 จนกระทั่งปล่อยตัวในวันที่ 16 มีนาคม 2559 โดยไม่ตั้งข้อกล่าวหา สราวุธถูกควบคุมตัวรวมแปดวัน
 
14 มีนาคม 2559 ประชาไทรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารนัดพบกับอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทยที่ห้างอิมพีเรียลลาดพร้าว โดยเจ้าหน้าที่ทหารขอให้อนุสรณ์ระมัดระวังในการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่างๆเพราะบ้านเมืองอยู่สภาวะเปลี่ยนผ่าน ในวันเดียวกัน อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ ฟอร์ด เส้นทางสีแดง นักกิจกรรมที่ทำงานรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็โพสต์ข้อความและรูปในเฟซบุ๊กว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารเดินทางมาที่บ้านโดยมาสอบถามอย่างเป็นมิตร โดยไม่ได้ห้ามทำกิจกรรมแต่อย่างใด อนุรักษ์ได้มอบเสื้อและสติ้กเกอร์ให้ทหารไว้ด้วย
 
16 มีนาคม 2559 สำนักข่าวอิศรารายงานว่า คสช. มีหนังสือด่วนที่สุด ให้ชะลอการจัดการเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความชุดใหม่ซึ่งกำหนดจัดในวันที่ 24 เมษายน 2559 ออกไปก่อน โดยให้เหตุผลว่า การเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความมีสมาชิกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการกำหนดหน่วยเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดตามเขตอำนาจศาลเป็นการดำเนินกิจกรรมที่ขัดแย้งกับประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน
 
24 มีนาคม 2559 ประชาไทรายงานว่า ทหารสั่งห้ามจัดกิจกรรมผ้าป่าสามัคคีเพื่อระดมทุนในการต่อสู้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินบำเหน็จณรงค์ ของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ โดยทหารระบุว่า การใช้คำว่าต่อสู้คัดค้านบนใบหน้าซองผ้าป่าและในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เพราะเป็นการสร้างความขัดแย้งในพื้นที่ และเสี่ยงต่อการสร้างความไม่สงบ พร้อมกำชับว่าหากงานยังมีการทอดผ้าป่าลักษณะดังกล่าวอยู่จะดำเนินคดีกับทุกคนที่มีส่วนร่วมจัดงาน
 
30 มีนาคม 2559 ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสที่เคยถูก คสช. เรียกรายงานตัว โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า คสช.ไม่อนุญาตให้เขาเดินทางออกนอกประเทศ ตามเงื่อนไขการปล่อยตัว เพื่อไปร่วมงานวันเสรีภาพสื่อโลก (World Press Freedom Day) ที่ประเทศฟินแลนด์ ตามคำเชิญของกระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์ ระหว่างวันที่ 1-7 พฤษภาคม นี้ จากนั้นไม่นาน Kirsti Westphalen เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ ประจำประเทศไทย ได้ทวีตแสดงความเสียใจต่อการตัดสินใจดังกล่าวของรัฐบาลไทย
 
 
ประเภทรายงาน: