1877 1269 1009 1827 1676 1994 1302 1708 1676 1030 1365 1150 1306 1991 1414 1104 1981 1773 1774 1021 1230 1515 1191 1962 1051 1077 1512 1761 1452 1936 1944 1156 1414 1915 1528 1637 1951 1290 1374 1009 1244 1843 1315 1574 1353 1633 1550 1221 1718 1151 1072 1004 1940 1165 1546 1739 1262 1546 1183 1344 1630 1834 1766 1143 1192 1730 1081 1287 1027 1334 1628 1364 1654 1468 1029 1374 1789 1839 1263 1037 1276 1719 1501 1378 1459 1102 1786 1979 1376 1276 1258 1064 1859 1602 1886 1577 1407 1519 1302 ผู้แทนไทยแจงกลางวง UPR แก้ 112 เป็นเรื่องของสภา นานาชาติห่วงใช้กฎหมายขวางการแสดงออก | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ผู้แทนไทยแจงกลางวง UPR แก้ 112 เป็นเรื่องของสภา นานาชาติห่วงใช้กฎหมายขวางการแสดงออก

2072
 
วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 คณะผู้แทนไทยนำโดยธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เข้าสู่กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review หรือ UPR) ซึ่งเป็นกลไกลภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) ที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติกว่า 193 ประเทศจะต้องเข้าร่วมโดยแต่ละรอบจะมีระยะห่างสี่ปีครึ่ง โดยในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สามแล้วที่ไทยจะต้องชี้แจงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนต่อชาติสมาชิกสหประชาชาติ และต้องรับฟังข้อเสนอจากชาติสมาชิกสหประชาชาติอื่นๆ
 
ภายใต้กลไก UPR ประเทศที่ถูกทบทวนสถานการณ์จะต้องจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของตนเองนำเสนอต่อที่ประชุม ส่วนภาคประชาสังคมก็จะจัดทำรายงานคู่ขนานเพื่อให้ชาติสมาชิกอื่นๆได้รับทราบข้อเท็จจริงอีกด้านและนำไปประกอบการทำข้อเสนอแนะที่จะเสนอต่อรัฐบาลไทย ขณะที่ประเทศที่ถูกประเมินจะมีทางเลือกว่าตกลงจะนำข้อเสนอแนะนั้นไปปรับใช้ หรือเพียงแค่รับทราบข้อเสนอแนะก็ได้
 
ในกลไก UPR ทั้งสองครั้งที่ผ่านมาของไทยในปี 2554 และ 2559 ประเด็นปัญหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ หรือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกชาติสมาชิกหยิบยกขึ้นมาบ่อยครั้ง โดยมีข้อเสนอแนะตั้งแต่การให้ปรับแก้ไขลดโทษ ไปจนถึงการให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากลและข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคี เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) อย่างไรก็ตาม ผู้แทนไทยก็ไม่เคยรับข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับมาตรา 112 โดยให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องของความมั่นคง
 
รายงานของรัฐบาลไทยที่นำเสนอต่อที่ประชุมในการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรอบที่ 3 ระบุว่าไทยพยายามมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เป็นไปตาม SDG เช่น ประชาธิปไตยและเสรีภาพ รวมถึงมีโครงการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของท้องถิ่นอย่างโคกหนองนา ในด้านที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพทางการเมือง รายงานของรัฐบาลไทยกล่าวว่าไทยให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ไทยเป็นประเทศที่พระมหากษัตริย์ได้รับความเคารพเป็นอย่างสูง โดยมาตรา 112 มีเป้าหมายเพื่อปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ ไม่ใช่เพื่อขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อ ส่วนในคดีมาตรา 112 ที่มีความกังวลจากหลายฝ่ายนั้นก็มีการดำเนินคดีถูกต้องตามกระบวนการอันสมควรแก่กฎหมาย (due process of law) และมีการใช้กลไกหลาย ๆ อย่างเพื่อกลั่นกรองคดีรวมถึงยังมีช่องทางในการขอพระราชทางอภัยโทษอีกด้วย
 
ในการแถลงด้วยวาจาโดยธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงสถานการณ์การใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองว่า รัฐบาลไทยให้ความเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่การใช้เสรีภาพต้องเป็นการใช้อย่างสร้างสรรค์ ภายใต้กรอบของกฎหมาย ที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามแก้กฎหมายต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างเสรีภาพในการแสดงออก รัฐบาลไทยยังตระหนักถึงความสำคัญของคนรุ่นใหม่และได้มีความพยายามสร้างเวทีพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ระหว่างวัย นอกจากนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายที่ในขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา
 
ในส่วนของข้อแนะนำของชาติสมาชิกที่มีต่อรัฐบาลไทย มีทั้งการสนับสนุนร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหาย การแสดงความกังวลต่อการที่คณะรัฐมนตรีอนุมติร่างกฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ ส่วนประเด็นการขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองก็ได้รับการพูดถึงหลายครั้ง เช่น  รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยยกเลิกอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำ สาธารณรัฐไอร์แลนด์แนะนำให้รัฐบาลไทยยุติการจับกุมคุมขังนักกิจกรรมทางการเมือง รัฐบาลญี่ปุ่นแนะนำให้รัฐบาลไทยปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุม 
 
รัฐบาลลักเซมเบิร์กแนะนำให้รัฐบาลไทยพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่มีเนื้อหาจำกัดเสรีภาพการแสดงออก เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รัฐบาลมาลาวีแนะนำให้รัฐบาลไทยอบรมเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนของการควบคุมการชุมนุมให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ราชอาณาจักรเบลเยียมแสดงความกังวลต่อกรณีที่รัฐบาลไทยจับกุมผู้ชุมนุมและแนะนำให้รัฐบาลไทยแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 19 และรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) แนะนำให้รัฐบาลไทยปรับกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับเสรีภาพการชุมนุมและการแสดงออกให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและประกาศใช้กฎหมายป้องกันการบังคับสูญหาย เป็นต้น 
 
ในการตอบด้วยวาจารอบแรก ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศไทยกล่าวว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นภาพสะท้อนสังคมและประวัติศาสตร์ของไทยให้ความเคารพต่อสถาบันกษัตริย์ ดังนั้น กฎหมายจึงมีไว้เพื่อปกป้องสถาบันและความมั่นคงของชาติ ส่วนการแก้ไขทบทวนกฎหมายนั้นเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะต้องพิจารณา 
 
ผู้แทนไทยกล่าวต่อว่ารัฐบาลต้องหาจุดที่สมดุลระหว่างการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการปกป้องประมุขแห่งรัฐและความสงบเรียบร้อย นอกจากนี้ สื่อมวลชนในไทยมีเสรีภาพในการรายงานข้อมูลให้สาธารณชนทราบ มาตรการใด ๆ ที่เข้าไปแทรกแซงการรายงานนั้นก็เป็นไปเพื่อป้องกันการขยายตัวของข้อมูลที่ผิดพลาดซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ตัวแทนจากกระทรวงยุติธรรมเสริมต่อด้วยว่า กฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหายตอนนี้กำลังอยู่ในการพิจารณาของสภาซึ่งประกอบไปด้วยการมีส่วนร่วมจากผู้แทนทางการเมือง ข้าราชการ และภาคประชาสังคม
 
ส่วนในการตอบกลับรอบที่สอง ตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงร่างกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรไม่แสวงกำไรว่า เป็นกฎหมายที่มุ่งสร้างความโปร่งใสของการดำเนินงานของภาคประชาสังคม โดยร่างกฎหมายในตอนนี้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น คณะรัฐมนตรีเพิ่งจะมีมติรับหลักการเท่านั้น ในตอนนี้จะมีการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อรับประกันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิเสรีภาพ
 
ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงว่าไทยได้มีการแก้ไขมาตรา 14 ของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ และก่อนที่จะดำเนินการการสั่งระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ใด ๆ จะมีการสอบสวนโดยคณะกรรมการก่อนเสมอ นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมากระทรวงดิจิทัลฯ ได้เปิดศูนย์ต้านข่าวปลอมเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของข่าวปลอมและให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับสังคม
 
ทั้งนี้ การชี้แจงของผู้แทนไทยเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในวันนี้ในเวทีนานาชาติเกิดขึ้นพร้อมกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อซึ่งหนึ่งในนั้นคือการยกเลิกมาตรา 112 เป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง