1746 1833 1232 1609 1387 1200 1294 1118 1727 1516 1328 1141 1376 1009 1339 1993 1822 1818 1669 1994 1029 1314 1453 1727 1721 1126 1842 1502 1950 1217 1950 1374 1034 1825 1619 1760 1012 1972 1506 1645 1942 1276 1039 1000 1290 1279 1427 1009 1846 1166 1654 1112 1999 1131 1784 1731 1548 1509 1785 1577 1727 1313 1510 1616 1158 1820 1708 1478 1017 1210 1384 1526 1949 1519 1544 1808 1953 1425 1444 1817 1824 1415 1569 1237 1501 1387 1389 1817 1949 1070 1432 1764 1999 1846 1229 1046 1299 1584 1353 มาตรา 112: มรดกจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถึงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

มาตรา 112: มรดกจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถึงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

หากย้อนไปสำรวจประวัติศาสตร์ชาติไทยก็จะพบว่า ความผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ นั้นมีมาตั้งแต่ยุคก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพบเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรครั้งแรกใน 'กฎหมายตราสามดวง' สมัยรัชกาลที่ 1 ก่อนจะมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขตามบริบทและพลวัตรทางสังคมและการเมืองเรื่อยมา จากเดิมที่มุ่งคุ้มครองทั้งตัวพระมหากษัตริย์และพระราชอำนาจอย่างกว้างขวางตามแบบฉบับการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ค่อยๆ ถูกปรับแก้ให้มุ่งคุ้มครองเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ เพื่อให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย
 
แต่ก็ใช่ว่าการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ ทุกครั้งจะเป็นการแก้ไขเพื่อให้กฎหมายมีความก้าวหน้าทางประชาธิปไตย เพราะว่าระบอบประชาธิปไตยไทยเองก็ถูกแทรกแซงและโค่นล้มจากกลุ่มอำนาจเก่าก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองอยู่บ่อยครั้ง ด้วยเหตุนี้ ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หรือที่เรียกว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันจึงเป็นผลพวงมาจากคณะรัฐประหารหลังการสังหารหมู่นักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นบรรยากาศที่สถานการณ์สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยอยู่ในจุดตกต่ำ
 
 
2008 article 112 before and after '6 oct'
 
 
ความผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์ ในยุครัฐจารีตจนถึงยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์
 
ย้อนไปในสมัยรัชกาลที่ 1 แม้รัฐไทยจะยังไม่ได้มีความเป็น ‘รัฐชาติ’ หรือมีอำนาจการปกครองเหนือดินแดนและประชากรที่แน่นอน แต่อำนาจภายในรัฐก็ยังถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด ดังนั้นการกระทำใดๆ ที่ละเมิดต่อกษัตริย์หรือบารมีของกษัตริย์จะถูกจัดให้เป็นความผิด หรือที่เรียกกันว่า ‘ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ ซึ่งมีขอบเขตที่กว้างขวางกว่ามาตรา 112 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และถือเป็นความผิดที่เรียกว่า ‘อาชญาหลวง’ หรือความผิดที่หลวง (รัฐ) ต้องเข้ามาจัดการ เพราะถือว่าละเมิดต่อผู้มีสถานะสูงสุดทางสังคม และกระทบกระเทือนต่ออำนาจของผู้ปกครอง
ด้วยเหตุนี้ กฎหมายที่เกี่ยวกับความผิดต่อพระมหากษัตริย์ในยุคดังกล่าวจึงมีการกำหนดความผิดที่หลากหลายและกว้างขวาง อย่างเช่น
 
๐ พระอัยการอาชญาหลวง มาตรา 7 ที่กำหนดความผิดฐานเจรจาหยาบช้าต่อพระเจ้าอยู่หัวและประมาทหมิ่นพระราชบัญญัติและพระบันทูลโองการ
๐ พระอัยการอาชญาหลวง มาตรา 72 ความผิดฐานติเตียนนินทาว่ากล่าวพระเจ้าอยู่หัว
 
อีกทั้งบทลงโทษในสมัยนั้นก็ถือว่ารุนแรง เช่น ความผิดตามมาตรา 7 มีการกำหนดโทษไว้ 8 สถาน ให้ลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ ให้ฟันฅอริบเรือน, ให้ตัดปากตัดหูตัดมือตัดตีนเสีย, ให้ทวนด้วยลวดหนัง 25-50 ที, ให้จำ(คุก)ไว้เดือนหนึ่งแล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง (เอาตัวไปทำงานเป็นคนเลี้ยงช้าง), ให้ไหมจัตุระคูร (ให้ปรับ 4 เท่า) แล้วเอาตัวลงเปนไพร่, ให้ไหมทวีคูน (ให้ปรับ 2 เท่า), ให้ไหมลาหนึ่ง, ให้ภาคทัณฑ์ไว ้
 
หลังสมัยรัชกาลที่ 4 รัฐไทยมีการปฏิรูปโครงสร้างกลายเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เริ่มมีเขตแดนทางอำนาจที่ชัดเจนมากขึ้นและมีการปฏิรูปกฎหมายให้ทันสมัย แต่ยังคงรักษาอำนาจสูงสุดให้เป็นของพระมหากษัตริย์ท่ามกลางสถานการณ์การล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ด้วยเหตุนี้ จึงมีการกำหนดความผิดและบทลงโทษฐาน “หมิ่นประมาท” ต่อพระมหากษัตริย์ ไว้ในพระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.118 อาทิ
 
 ๐ มาตรา 4 "ผู้ใดหมิ่นประมาทพระผู้เปนเจ้าซึ่งดำรงสยามรัฐมณฑล ฤาสมเด็จพระอรรคมเหษี ฤาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชก็ดี ฤาสมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้า ผู้ครองเมืองต่างประเทศ ฤามหาประธานาธิบดีผู้ครองเมืองต่างประเทศ ซึ่งมีทางพระราชสัมพันธมิตรไมตรีอันสนิทด้วยกรุงสยามก็ดี โดยกล่าวเจรจาด้วยปาก ฤาเขียนด้วยลายลักษณอักษร ฤากระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในที่เปิดเผย ท่ามกลางประชุมชนทั้งหลาย ด้วยกายวาจาอันมิบังควร ซึ่งเปนที่แลเห็นได้ชัดว่าเปนการหมิ่นประมาทแท้ ท่านว่าผู้นั้นกระทำผิด"
 
อีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนความเป็นสมัยใหม่จากการปรับปรุงกฎหมายในยุคดังกล่าวคือ การเปลี่ยนบทลงโทษ จากเดิมที่มีการกำหนดความผิด 8 สถาน ก็แก้เป็นให้จำคุกไว้ไม่เกินกว่า 3 ปี หรือ ปรับเป็นเงินไม่เกินกว่า 1,500 บาท หรือทั้งจำคุกทั้งปรับ
 
ต่อมารัฐไทยจัดทำ ‘กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127’ ขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรก และได้มีการเขียนบทบัญญัติความผิดฐานหมิ่นประมาทและอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ไว้ในกฎหมาย ดังนี้
 
 ๐ มาตรา 98  “ผู้ใดทนงองอาจ แสดงความอาฆาฎมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระมเหษีก็ดี มกุฎราชกุมารก็ดี ต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลารักษาราชการต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินกว่าเจ็ดปี แลให้ปรับไม่เกินกว่าห้าพันบาทอีกโสดหนึ่ง”
 
๐ มาตรา 100 “ผู้ใดทนงองอาจ แสดงความอาฆาฎมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อพระราชโอรส พระราชธิดา ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ว่ารัชกาลหนึ่งรัชกาลใด ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินสามปี แลให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง”
 
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดความผิดจากการทำให้เกิดการดูหมิ่นและขาดความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ในหมวด 2 ว่าด้วยความผิดฐานกบฎภายในพระราชอาณาจักรไว้ด้วยว่า
 
๐ มาตรา 104 “ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่คนทั้งหลาย ด้วยประการใดใด โดยเจตนาต่อผลอย่างหนึ่งอย่างใด ที่ว่าต่อไปในมาตรานี้ คือ (1) เพื่อจะให้ขาดความจงรักภักดีหรือดูหมิ่น ต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ต่อรัฐบาลก็ดี หรือต่อราชการแผ่นดินก็ดี…ท่านให้เอามันผู้กระทำการอย่างใดใดโดยเจตนาเช่นว่ามานี้ ลงอาญาจำคุกไม่เกินกว่าสามปี แลให้ปรับไม่เกินกว่าพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง”
 
 
ความผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย
 
หลังการ ‘อภิวัฒน์สยาม’ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ประเทศไทยหรือสยามได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน 
กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จึงถูกจำกัดขอบเขตให้คุ้มครองแต่สถาบันกษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ หรือคุ้มครองชื่อเสียงและเกียรติยศของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งประมุขของรัฐ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยควบคู่ไปด้วย
 
โดยในปี 2478 รัฐสภาได้มีการแก้ไขกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 อย่างน้อย 2 มาตรา ได้แก่
 
หนึ่ง ยกเลิกมาตรา 100 ที่กำหนดความผิดฐานแสดงความอาฆาฎมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อพระราชโอรส พระราชธิดา ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ว่ารัชกาลหนึ่งรัชกาลใด 
 
สอง แก้ไขมาตรา 104 (1) เป็น "ผู้ใดกระทำการให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรือด้วยอุบายอย่างใดๆ ดังต่อไปนี้ ก) ให้เกิดความดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์ หรือรัฐบาล หรือข้าราชการแผ่นดินในหมู่ประชาชนก็ดี... ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่า 7 ปี และให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง 
 
แต่ถ้าวาจา หรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรืออุบายอย่างใดๆ ที่ได้กระทำไปภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อสาธารณะประโยชน์ หรือเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือเป็นเพียงการติชมตามปกติวิสัย ในบรรดาการกระทำของรัฐบาลหรือของราชการแผ่นดิน การกระทำนั้นไม่ให้ถือว่าเป็นความผิด"
 
จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นว่ามีการเพิ่มบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองการใช้เสรีภาพในการแสดงออกเพื่อสาธารณะประโยชน์ หรือการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือการติชมตามปกติวิสัย ภายใต้ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ความผิดต่อพระมหากษัตริย์มีบทบัญญัติยกเว้นความผิด
 
อย่างไรก็ดี ความผิดต่อพระมหากษัตริย์ในมาตรา 98 ของกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 กลับไม่ได้ถูกแตะต้อง ทำให้แสดงความอาฆาฎมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมเหษี มกุฎราชกุมาร และต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ยังอยู่ แต่ทว่า บรรยากาศของการบังคับใช้ก็เป็นไปอย่างค่อนข้างจำกัด
 
ยกตัวอย่างเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1081/2482 เป็นคดีที่จำเลยผู้อวดอ้างเป็นผู้วิเศษสามารถชี้ให้พระเจ้าแผ่นดินมากราบไหว้ก็ได้ ทำให้จำเลยถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกตามมาตรา 98 และ 335 เป็นเวลา 1 ปี 1 เดือน แต่สุดท้าย ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า คำกล่าวของจำเลยเป็นแต่คำอวดอ้าง มิได้มีเจตนาที่จะแสดงความอาฆาตมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
 
หรือในคดีของ 'ดร.หยุด แสงอุทัย' ปรมาจารย์ด้านนิติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาญา ที่ถูกดำเนินคดีจากเนื้อหาบทความ "อำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย" ที่ระบุว่า "องค์พระมหากษัตริย์ไม่พึงตรัสสิ่งใดอันเป็นปัญหา หรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง หรือทางสังคมของประเทศ โดยไม่มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ" (ตามหลักการ 'The king can do no wrong') แต่สุดท้ายตำรวจก็ไม่ดำเนินการต่อโดยแจ้งว่าการกระทำดังกล่าวไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย
 
 
ความผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์ หลังยุคเผด็จการทหารไปจนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19
 
แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง แต่ระบอบประชาธิปไตยก็หาได้มั่นคง โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2490 ที่เกิดการรัฐประหารนำโดย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ เป็นต้นมา อำนาจทางการเมืองของกลุ่มคณะราษฎรโดยเฉพาะฝ่ายพลเรือนได้ลดลง ในขณะกลุ่มทหารที่มีแนวคิดอำนาจนิยมและอนุรักษ์นิยมกลับเติบโตขึ้น และทำให้เกิดการฟื้นฟูสถานะและบทบาทสถาบันกษัตริย์เพื่อส่งเสริมความชอบธรรมให้กับกองทัพเรื่อยมา
 
ต่อมาในปี 2499 รัฐสภาได้มีการแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดต่อพระมหากษัตริย์ โดยเปลี่ยนมาตรา 98 ของกฎหมายลักษณะอาญาฯ มาเป็นมาตรา 112 และจัดวางความผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์จากหมวดประทุษฐร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัวมาไว้ในหมวดความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งทำให้ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดร้ายแรง เป็นคดีอาญาแผ่นดินที่ยอมความไม่ได้ และรัฐต้องเข้ามาจัดการเมื่อมีผู้มากล่าวโทษ (แจ้งความ) ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ด้วยบทลงโทษดังนี้
 
๐ มาตรา 112  "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี"
 
แม้ว่าประเทศไทยจะกลับเข้าสู่หนทางระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่ทว่า ประชาธิปไตยก็ถูกลดทอนและบดขยี้จากฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างต่อเนื่อง โดยมีการต่อต้าน กวาดล้าง และปราบปรามขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนและกลุ่มนักศึกษาในข้อหาเป็น ‘คอมมิวนิสต์’ และนำไปสู่เหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก่อนจะตามมาด้วยการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในวันเดียวกัน
 
ในยุคนี้เองที่มีการใช้คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเพื่อแก้ไขมาตรา 112 ในส่วนของอัตราโทษ และกลายเป็นกฎหมายที่บังคับใช้อยู่กันในปัจจุบัน (พ.ศ.2564) ดังนี้
 
 ๐ มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
 
โดยเบื้องหลังของการแก้ไขเพิ่มโทษความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ คือ การเข้ามาจำกัดอุดมการณ์ทางการเมืองของขบวนนักศึกษาและประชาชน เนื่องจากชนชั้นนำมีความวิตกกังวลต่อแนวคิดหรืออุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์เพราะกลัวว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อสถาบันกษัตริย์ในขณะนั้น และก็กลายเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงปี 2564
 
จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เราอาจจะเห็นแล้วว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ตามบริบทของสังคม อีกทั้งไม่ใช่เรื่องแปลกหากคนรุ่นใหม่จะตั้งคำถามกับกฎหมายมาตรา 112 ซึ่งถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2499 ว่าสอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบันหรือไม่ สมควรแก้ไข ยกเลิก หรือเดินหน้าต่อไปในทิศทางอื่นได้หรือเปล่า
 
โดยเฉพาะในยุคที่ผู้คนหันมาให้คุณค่ากับความเป็นประชาธิปไตย ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง และเรื่องสิทธิมนุษยชน