2000 1515 1311 1715 1164 1381 1885 1183 1596 1039 1837 1226 1157 1702 1733 1476 1036 1764 1227 1461 1302 1249 1691 1675 1872 1315 1802 1603 1376 1690 1249 1842 1157 1633 1083 1777 1938 1572 1459 1915 1961 1039 1771 1721 1947 1256 1577 1481 1703 1119 1208 1171 1922 1774 1991 1712 1918 1714 1393 1837 1845 1536 1191 1156 1131 1681 1171 1486 1596 1474 1948 1538 1937 1555 1686 1670 1484 1953 1223 1570 1384 1695 1102 1648 1440 1284 1308 1254 1074 1575 1200 1291 1450 1360 1353 1027 1180 1293 1903 ถอดประสบการณ์ตำรวจคุมม็อบ ตำรวจอยู่ใต้รัฐบาล จะกู้เกียรติคืนได้ก็ต่อเมื่อมีรัฐบาลจากประชาชน | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ถอดประสบการณ์ตำรวจคุมม็อบ ตำรวจอยู่ใต้รัฐบาล จะกู้เกียรติคืนได้ก็ต่อเมื่อมีรัฐบาลจากประชาชน

18 กรกฎาคม 2564 เยาวชนปลดแอกและเครือข่ายนัดชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก, ลดงบสถาบันกษัตริย์และกองทัพเพื่อมารับมือกับโควิด 19 และจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด 19 ชนิด mRNA การชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้นให้หลังการปะทะที่กระทรวงสาธารณสุข ผู้จัดการชุมนุมจึงวางทีมดูแลผู้ชุมนุมและป้องกันไม่ให้มีการปะทะที่หน้าแนวตำรวจ อย่างไรก็ตามเมื่อผู้ชุมนุมยืนยันที่จะเดินขบวนผ่านถนนราชดำเนินกลางเพื่อไปทำเนียบรัฐบาล ตำรวจก็เริ่มใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำ, แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง ทั้งที่ไม่มีกฎหมายใดห้ามการชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาล
 
1912
 
เมื่อความรุนแรงเปิดฉากขึ้นจากฝ่ายตำรวจ มีผู้ชุมนุมบางส่วนตอบโต้ตำรวจด้วยขวดน้ำบ้าง หนังสติ๊กบ้าง การปะทะในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว วันถัดมาปิยะรัฐ จงเทพ กลุ่ม We Volunteer โพสต์ข้อความว่า หากผู้ชุมนุมที่ไม่เอาสันติวิธี ต้องการปะทะตำรวจอย่างเดียว เมื่อรัฐรุนแรงมาพร้อมจะตอบโต้ให้ประกาศแยกการชุมนุมต่างหากเลย ผู้ชุมนุมที่เน้นแนวทางสันติวิธีจะได้ไม่เผลอไปเข้าร่วมด้วย
 
สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ เราชวนพูดคุยถึงประสบการณ์และความรู้สึกของ “มนุษย์” ที่ทำงานในองค์กรตำรวจ สำหรับการสัมภาษณ์ชุดนี้มีสี่ตอนคือ ตำรวจและผู้ชุมนุมอย่างละสองตอน
 
 

ยืนเฝ้า "พื้นที่เปราะบาง" หน้าที่ตำรวจระหว่างคุมม็อบ

 
‘บี’ เป็นนายตำรวจชั้นผู้น้อย ซึ่งมีโอกาสมาทำหน้าที่ดูแลการชุมนุมในช่วงการชุมนุมของราษฎร เขาเล่าว่า ช่วงเดือนตุลาคม 2563 การชุมนุมเยอะขึ้น ตำรวจประเมินกำลังไม่ถูกจึงเกณฑ์กำลังพลจากพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศมาเตรียมพร้อมไว้ ในกรณีผู้ประเมินสถานการณ์มองว่า กำลังในพื้นที่นครบาลและใกล้เคียงเพียงพอแล้วจะไม่เรียกกำลังพลจากต่างจังหวัดให้เดินทางเข้ามา ระหว่างการชุมนุมจะมีชุดที่เฝ้าระวังในพื้นที่เปราะบางและชุดที่ใช้ในพื้นที่ชุมนุม ครั้งนั้นเขารับหน้าที่เป็นชุดเฝ้าพื้นที่ ผลัดเวรกันยืนกับเพื่อน หากมีกลุ่มที่คล้ายกับผู้ชุมนุมเข้ามาก็ต้องเข้าไปสอบถามและรายงานต่อผู้บังคับบัญชา
 
ในกรณีที่มีเหตุปะทะ ตำรวจชุดที่ได้รับมอบหมายทำหน้าที่เฝ้าพื้นที่อย่างเขาจะต้องออกแล้วให้ชุดรับมือที่อาจประกอบด้วยตำรวจนครบาลและตระเวนชายแดนมาเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุมแทน
 
ตำรวจนายนี้เล่าว่า โดยทั่วไปแล้วตำรวจทุกนายในขอบข่ายที่เขาทราบจะต้องฝึกการดูแลการชุมนุม เรียนรู้หลักการใช้กำลังตั้งแต่การใช้เสียงควบคุม ถ้าเริ่มมีความรุนแรง มีการชกต่อย การผลัก การปะทะ ตำรวจสามารถผลักดันกลับได้ แต่ถ้าผู้ชุมนุมมีอาวุธในมือเช่น มีด สามารถใช้กระบองตอบโต้ได้ แต่กรณีที่ผู้ชุมนุมมือเปล่า การใช้กระบองจะดูเกินกว่าเหตุ โดยรวมการใช้กำลังต่างๆ จะต้องดูความสมเหตุสมผลด้วย แต่ละครั้งเมื่อเหตุการณ์บานปลายเรื่อยๆ ผู้บัญชาการเหตุการณ์จะประกาศการใช้กำลังในระดับต่อไป ที่ผ่านมาการควบคุมฝูงชนจะเป็นการควบคุมพื้นที่ ถ้าสังเกตดูว่า ตำรวจจะบอกเสมอว่า ให้ผู้ชุมนุมอยู่บริเวณไหนได้บ้าง เมื่อผู้ชุมนุมจะดันหรือฝ่าแนวเข้ามาหาตำรวจจะมีการดันเพื่อยึดพื้นที่คืน
 
เรื่องการใช้กระสุนยาง เขาบอกว่า ตามบทเรียนจะมีการสอนมาตรฐานสากลของสหประชาชาติ ตำรวจระดับปฏิบัติจึงรับทราบดีว่า กระสุนยางมีอันตราย หากใช้ยิงในระยะประชิดหรือยิงเหนือเอวก็จะเป็นอันตราย จึงต้องใช้ยิงต่ำกว่าเอวลงมาเท่านั้น 'บี' บอกว่า จุดที่แน่นอนที่สุดควรจะเป็นบริเวณขาเพราะไม่มีอวัยวะสำคัญ เท่าที่เขาฝึกมาองค์ประกอบของการใช้คือ จะต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้หรือควบคุมลำบากแล้ว
 
"การใช้กระสุนยาง ท่าใช้อาวุธจะต้องประทับบ่า ตั้งฉากให้อาวุธเรามั่นคง เวลายิงจะต้องกดหัว[ปลายปืน]ลง ให้ยิงต่ำกว่าเอวลงมา ตัดสินใจให้เล็งเลยคือขาเพราะชัวร์ที่สุด ไม่มีอวัยวะสำคัญ"
 
อย่างไรก็ตามตำรวจควบคุมฝูงชนจะสามารถใช้กระสุนยางและอุปกรณ์พิเศษอื่นๆ เช่น แก๊สน้ำตา ก็ต่อเมื่อได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการเหตุการณ์แล้วเท่านั้น กรณีที่ใช้ก่อนที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์สั่งการ อาจจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยและหากกระทำจริง จะถูกไล่ออกจากราชการ
 
เวลาควบคุมฝูงชนวิธีการตั้งแถวของตำรวจจะเป็นลักษณะหน้ากระดาน และจัดแนวลึกลงไปด้านหลังลักษณะแนวจะแตกต่างกันตามพื้นที่ที่จะเข้าควบคุม ตำรวจที่ใช้อุปกรณ์พิเศษอย่างกระสุนยางจะเป็นกลุ่มที่อยู่แนวหลัง เมื่อตัดสินใจใช้จึงจะบอกแนวหน้าให้เปิดแนวโล่ออกมาและยิง อย่างที่ปรากฏภาพตามสื่อต่างๆ นอกจากนี้จากการสังเกตการณ์พบว่า โล่ตำรวจที่นำมาใช้มีสองแบบคือ โล่ใสและโล่สีดำทึบ นับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2553 ที่มีการใช้กระสุนยางปราบปรามผู้ชุมนุม ตำรวจกลุ่มที่ใช้กระสุนยางจะตั้งแนวตอนลึก แถวหน้าสุดใช้โล่สีดำทึบ แนวหลังมีตำรวจชี้เป้า ในเวลากลางคืนอาจใช้เลเซอร์ในการช่วยชี้เป้าและตำรวจที่มีปืนยาวสำหรับกระสุนยาง
 
กรณีที่จะจับกุมก็เช่นกันตำรวจแนวหน้าจะตั้งโล่ไว้และมีการชี้เป้าว่า จะจับกุมคนใด จากนั้นเมื่อบุคคลเป้าหมายเข้ามาใกล้แนว ตำรวจแนวหน้าจะเปิดแนวโล่ออกและล็อคตัวในลักษณะม้วนเข้ามาหลังแนว ระหว่างนั้นตำรวจแนวหน้าจะปิดแนวโล่
 
 

ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลตำรวจต้องรับใช้ หากจะกู้เกียรติคืนต้องมีรัฐบาลจากใจประชาชน

 
การชุมนุมในปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ตำรวจกลายเป็นด่านหน้ารับแรงเสียดทานจากสังคมอย่างมากทั้งเรื่องการดำเนินคดีที่ตำรวจมักจะอ้างเสมอว่า การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสลายการชุมนุม นับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ตำรวจเริ่มยกระดับการใช้อุปกรณ์สลายการชุมนุมหนักมือขึ้น นำกระสุนยางมายิงผู้ชุมนุมโดยปราศจากการแจ้งเตือน และตามมาด้วยการใช้ในวันที่ 20 มีนาคม 2564, 2 พฤษภาคม 2564 และวันที่ 18 กรกฎาคม 2564
 
เราเล่าให้ 'บี' ฟังถึงเรื่องการใช้กระสุนยางเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 มีช่างภาพ Plus seven ถูกยิงที่สะโพกก่อนการประกาศเตือนใช้กระสุนยาง มีช่างภาพข่าว The Matter ถูกยิงที่แขนซ้ายและมีเยาวชนคนหนึ่งถูกยิงบริเวณโหนกแก้ม เขาถามว่า ตำรวจได้ออกมาชี้แจงหรือไม่ เราตอบว่า รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลมีการขอโทษช่างภาพข่าว The Matter แล้ว ส่วนคนอื่นๆยังไม่มีความชัดเจน
 
เราเล่าให้เขาฟังว่า วันที่ 18 กรกฎาคม 2564 มีการใช้กระสุนยางก่อนการประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง จากนั้นผู้บัญชาการเหตุการณ์จึงประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง สั่งให้กำลังพลบรรจุกระสุนยางและอนุญาตให้ใช้ 'บี' ย้ำว่า การใช้อุปกรณ์พิเศษจะต้องได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการเหตุการณ์เท่านั้น แต่ไม่รู้แน่ชัดว่า คำสั่งจะออกมาในรูปใด ส่วนตำรวจจะรู้คำสั่งพร้อมกับประชาชนในการประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงหรือไม่เขาก็ไม่ทราบเช่นกัน
 
เขาบอกว่า เสียงวิจารณ์ที่มีต่อตำรวจในเรื่องต่างๆ เขารับรู้ดีและสถานการณ์เวลาที่ประจำการอยู่แนวหน้า มันอาจมีเรื่องอารมณ์และตัวแปรอื่นๆ ในฐานะตำรวจเขารู้สึกน้อยใจอยู่บ้าง สังคมอาจจะไม่รู้ว่า การดำเนินงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรี มีหลักการของตำรวจที่ต้องช่วยเหลือและร่วมมือกับรัฐบาล ซึ่งทำให้ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ต้องรับใช้ "ผมเป็นตำรวจก็น้อยใจนะ ทั้งๆที่ผมไม่ได้ชอบรัฐบาลชุดนี้"
 
เขารับรู้ว่า ผู้ชุมนุมออกมาเรียกร้องต้องการให้ประเทศนี้ดีขึ้น ถ้าสำเร็จทุกฝ่ายได้ประโยชน์อย่างแน่นอน แต่บางคนที่เป็นข้าราชการผู้ใหญ่อีกเจเนเรชั่นหนึ่ง มองว่า พวกเขาไม่จำเป็นต้องสนใจ มีเงินอยู่แล้ว ประเทศจะเป็นยังไงก็แล้วแต่จะเป็นไป รวมทั้งยังอาจมองว่า เด็กที่ออกมาเรียกร้องจะล้มสถาบันฯ ทั้งที่ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความหมายของคำว่า "ปฏิรูป" เลย "อาจจะต้องรอให้เขาตายหมดก่อน ประเทศไทยจะดีขึ้น"
 
"บี" ยังอธิบายถึงสาเหตุที่มีตำรวจน้อยมากที่จะออกมาแสดงความคิดทางการเมือง เพราะสถานการณ์ของตำรวจกับประชาชนต่างตกอยู่ภายใต้กลไกปิดปากผู้ใช้เสรีภาพการแสดงออกของรัฐบาลนี้เช่นกัน และสถานการณ์ของพวกเขาก็ไม่ได้ง่ายนัก
 
"ตำรวจอาจจะไม่ต้องเรียกมาคุย อาจจะต้องออกจากราชการ ในยุคนี้ถ้าผมจะต้องออกจากราชการ ผมก็มีครอบครัว ถ้าผมเลือกได้ผมไม่อยากรับราชการด้วยซ้ำ...ผมไม่ได้มีต้นทุนในชีวิตด้วย ต้องเดินไปตามทางที่คิดว่า ดีที่สุด..."
 
"ถ้าอยากให้ประชาชนให้เกียรติตำรวจมากขึ้น เราต้องมีรัฐบาลที่เป็นของประชาชนก่อน เมื่อไหร่ที่ประชาชนมีรัฐบาลที่ดีของประชาชน ตำรวจก็จะไม่ด่างพร้อย เป็นรัฐบาลที่เราเลือกด้วยปากกาของเรา เลือกมาด้วยหัวใจของเราเอง"
 

ตำรวจและสถานการณ์โควิด 19

 
"บี" เล่าเรื่องสวัสดิการของอาชีพตำรวจท่ามกลางสถานการณ์โควิด 19 ว่า ตอนนี้ได้ฉีดวัคซีนซิโนแวคสองเข็มแล้ว แต่ก็ต้องไปหาวัคซีนอื่นๆ มาบูสต์ภูมิคุ้มกัน ก่อนหน้านี้มีช่วงหนึ่งเขาต้องกักตัวเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงและต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินค่าตรวจหาเชื้อเองด้วย เขาย้ำว่า หากตอนนี้มีวัคซีนที่ดีเข้ามาก็ควรให้หมอพยาบาลก่อน พูดภาษาตำรวจคือ ถ้าแนวหน้าแตกแนวหลังก็ตายกันหมด
 
ในตอนท้ายเขาถามเราว่า ประชาชนจะฟ้องรัฐบาลได้ไหมที่ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 47 "บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย" เราตอบว่า มาตรา 16 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตัดกลไกการตรวจสอบอำนาจทางปกครองและมาตรา 17 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจตามกฎหมายนี้ แต่ก็ยังเปิดช่องให้เอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่กระทำการโดยขาดความสุจริต, เลือกปฏิบัติและเกินสมควรแก่เหตุ
 
ประเด็นนี้มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสเฟซบุ๊กว่า ถึงเวลาที่ศาลต้องสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายในการเอาผิดกับผู้บริหารสูงสุดของรัฐในการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผิดพลาดจนก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อประชาชน และวันต่อมาก็โพสต์ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า "นักกฎหมายต้องช่วยกันยืนยันว่า แม้แต่พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ไม่อาจยกเว้นความรับผิดในทางแพ่งและอาญาให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่งดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายได้" (https://ilaw.or.th/node/5910)