1706 1269 1328 1708 1089 1406 1420 1594 1621 1775 1859 1778 1627 1266 1152 1392 1533 1225 1543 1267 1083 1586 1669 1350 1814 1126 1165 1122 1120 1314 1838 1132 1367 1231 1290 1543 1172 1878 1307 1131 1354 1794 1161 1311 1303 1555 1332 1511 1045 1610 1241 1709 1280 1254 1816 1709 1642 1689 1419 1085 1626 1863 1328 1657 1116 1709 1419 1770 1004 1288 1409 1990 1500 1855 1679 1641 1580 1263 1878 1281 1186 1351 1408 1305 1145 1233 1590 1606 1902 1008 1399 1886 1153 1888 1068 1024 1159 1862 1497 ชุมนุม 64 : ความท้าทายและความจำเป็นภายใต้โควิด19 | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ชุมนุม 64 : ความท้าทายและความจำเป็นภายใต้โควิด19

 
 
นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 แม้ประเทศไทยจะอยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 อย่างต่อเนื่อง และมีประกาศห้ามทำกิจกรรมรวมตัวหลายฉบับใช้ซ้ำซ้อนกันเปลี่ยนแปลงไปมา แต่กระแสความไม่พอใจต่อรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ยังทำให้มีการชุมนุมเกิดขึ้นทั่วประเทศแล้วไม่น้อยกว่า 766 ครั้ง 
 
เดือนเมษายนเป็นเดือนที่มีการชุมนุมมากที่สุดที่ 260 ครั้ง รองลงมาคือ เดือนพฤษภาคมที่ 138 ครั้ง ขณะที่เดือนกรกฎาคม 2564 มีการชุมนุมแล้วไม่น้อยกว่า 56 ครั้ง จังหวัดที่มีการชุมนุมมากที่สุดคือ กรุงเทพมหานครที่ 428 ครั้งและเชียงใหม่ที่ 62 ครั้ง ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีการสลายการชุมนุมไปแล้วทั้งสิ้น 12 ครั้ง เนื้อหาและข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ของการชุมนุมในเดือนกรกฎาคมเป็นเรื่องปัญหาการจัดการโรคโควิด 19 และการขับไล่รัฐบาลที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขยับจากบรรยากาศในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมที่เป็นการชุมนุมเรียกร้องความยุติธรรมในระบบศาลเป็นส่วนใหญ่ เนื่องด้วยแนวโน้มการ "ไม่ปล่อยตัวชั่วคราว" ผู้ถูกดำเนินคดีการเมือง
 
 

ต้นปีการชุมนุมเผชิญกับความรุนแรงที่ยกระดับไปถึงกระสุนยาง

 
 
เดือนมกราคม 2564 ระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกที่ 2 ซึ่งเริ่มการแพร่ระบาดจากคลัสเตอร์ตลาดกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร และบ่อนการพนันในภาคตะวันออก แม้ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในจังหวัดที่มีการชุมนุมจำนวนมากอย่างกรุงเทพมหานคร, ขอนแก่นและเชียงใหม่ ยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะตึงเครียดนัก แต่ผู้จัดกิจกรรมก็ระมัดระวังและนัดหมายจัดกิจกรรมน้อยลง, หลีกเลี่ยงการระดมพลและพยายามใช้พื้นที่ออนไลน์มากขึ้น ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2564 นักกิจกรรมทยอยถูกฝากขังระหว่างการพิจารณาคดีทั้งในชั้นตำรวจและระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ทำให้กิจกรรมที่ใช้การระดมพลเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่ช่วงต้นยังจำนวนคนเข้าร่วมยังไม่มากนัก
 
 
ในระยะนี้การชุมนุมมีแนวโน้มที่ผู้ชุมนุมบางส่วนจะปะทะกับเจ้าหน้าที่ โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมที่เชื่อว่าการเผชิญหน้าเหล่านี้ คือ การยกระดับ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ไม่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของการชุมนุม เกิดการปะทะประปรายระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุมในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นำไปสู่การพูดคุยอย่างกว้างขวางถึงแนวทาง ซึ่งท้ายสุดขบวนการเคลื่อนไหวยืนยันในแนวทาง "สันติวิธี" ระหว่างการปรับขบวนผู้ชุมนุมก็ต้องเผชิญกับการปราบปรามอย่างรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการชุมนุมของรีเด็มเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 บริเวณกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ราบ 1) ถ.วิภาวดี เป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้กระสุนยางยิงใส่ผู้ชุมนุม  
 
 
ต่อมาตำรวจยังใช้กระสุนยางมาในการปราบปรามผู้ชุมนุมอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ การชุมนุมของรีเด็มเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 บริเวณท้องสนามหลวง และการสลายการชุมนุม หลังรีเด็มประกาศยุติกิจกรรมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 ที่หน้าศาลอาญา ความแตกต่างของการใช้กระสุนยางทั้ง 3 ครั้ง คือ  2 ครั้งแรกเป็นการชุมนุมขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในพื้นปกป้องของรัฐ มีเงื่อนไขก่อนการเริ่มใช้กำลังเหมือนกัน คือ เมื่อผู้ชุมนุมเลื่อนเปิดแนวตู้คอนเทนเนอร์ของเจ้าหน้าที่ ขณะที่ครั้งที่ 3 เป็นการสลายการชุมนุมหลังเลิกการชุมนุมแล้ว แต่มีกลุ่มผุ้ชุมนุมที่ยังคงอยู่ในพื้นที่หน้าศาลอาญาอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 20 คน แต่เจ้าหน้าที่สั่งให้เลิกการชุมนุมและสลายการชุมนุมด้วยกระสุนยาง, แก๊สน้ำตาและรถฉีดน้ำแรงดันสูง 
 
 
อย่างไรก็ดี การกดปราบของรัฐด้วยกำลังไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวของประชาชนได้ ในการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์วันที่ 24 มีนาคม 2564 มีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 2,500 คน ในการชุมนุมครั้งนั้นตำรวจไม่ได้ห้ามและใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม แต่ความตึงเครียดระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมที่รู้สึกโกรธแค้นกับตำรวจชุดควบคุมฝูงชนยังมีอยู่ต่อไป
 
 

โควิดระบาดระลอก 3 การชุมนุมต้องปรับรูปแบบตาม

 
การชุมนุมชะลอตัวลงในช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 เนื่องจากจากการแพร่ระบาดระลอก 3 เริ่มจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ กิจกรรมของกลุ่ม "ไทยไม่ทน" ที่นัดหมายว่าจะชุมนุมต่อเนื่องประกาศหยุดลงชั่วคราว แต่กิจกรรมยืนเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราวนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังในเรือนจำยังไปต่อ โดยมีการปรับเข้ากับโรคระบาดด้วยการเว้นระยะห่าง การชุมนุมซาลงในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2564 หลังนักกิจกรรมได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวทั้งหมดแล้ว โดยระหว่างนี้ยังมีการเรียกร้องจากกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 แต่เป็นการรวมตัวโดยมีจำนวนคนไม่เยอะและใช้เวลาไม่นานนัก
 
 
การชุมนุมกลับมานัดหมายกัน "เต็มรูปแบบ" อีกครั้งในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 วันครบรอบ 89 ปีการอภิวัฒน์สยามเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหาษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ วันดังกล่าวไม่เพียงเป็นการรวมตัวในวันครบรอบ แต่ยังเป็นวันที่รัฐสภามีกำหนดลงมติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยังมีนัยยะแสดงออกถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 
 
 
แม้ว่า โรคระบาดยังไม่ทุเลาลง แต่สถานการณ์เริ่มชัดเจนขึ้นว่า การจัดการของรัฐบาลชุดนี้ล้มเหลว จัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพและแจกจ่ายอย่างเท่าเทียมไม่ได้ การชุมนุมจึงมุ่งเป้าไปที่การเรียกร้องให้ "เปลี่ยนม้า" เพื่อหาผู้บริหารที่มีความสามารถมากกว่ามาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วนด้วย ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอกกล่าวทำนองว่า อยู่บ้านก็นอนรอความตาย 
 
 
ต่อเนื่องมาในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 สถิติผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตรายวันเพิ่มสูงขึ้น หากการชุมนุมยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องโดยมีกลุ่มเคลื่อนไหวหลัก คือ ราษฎร, แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, เยาวชนปลดแอก, ไทยไม่ทนและประชาชนคนไทย รวมทั้งกลุ่มแรงงานต่างๆ เช่น เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนและสหภาพคนทำงาน รวมทั้งบุคลากรด้านสาธารณสุข ขณะที่สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ก็ริเริ่มการประท้วงแบบรักษาระยะห่างโดยการขับรถมา หรือคาร์ม็อบ
 
 
ความท้าทายของผู้ชุมนุมในเวลานี้ คือ การปกป้องตนเองอย่างดีที่สุดจากโรคระบาด แต่ยังคงไม่ถอยที่จะแสดงออกเพื่อยืนยันข้อเรียกร้องเดิม และกดดันให้รัฐมีมาตรการในการเยียวยาและจัดหาวัคซีนที่ดี มีประสิทธิภาพที่จะช่วยบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดได้
 
 

โควิดบทพิสูจน์ว่ารัฐธรรมนูญและปากท้องคือเรื่องเดียวกัน

 
รัฐธรรมนูญ 2560 เขียนขึ้นระหว่างการรัฐประหารและผ่านการประชามติที่เต็มไปด้วยข้อกังขา ไม่ว่าจะการปราบปรามผู้คัดค้านและการเขียนคำถามพ่วงด้วยประโยคซับซ้อน เรื่องการให้ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในระยะ 5 ปีแรก หลังรัฐธรรมนูญผ่านและเลือกตั้งเสร็จสิ้น พรรคพลังประชารัฐลงสมัครรับเลือกตั้งท่ามกลางกติกาที่เขียนขึ้นเองและกลไกต่างๆที่จัดตั้งขึ้นเอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ได้รับเสียงท่วมท้นจากทั้งส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและส.ว. 250 คนที่แต่งตั้งมาเอง เครื่องมือต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญ 2560 ปูทางเอาไว้ทำงานได้อย่างเห็นผล และทำให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อได้ ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากรัฐธรรมนูญของเขาเอง
 
 
หลังจากนั้นข้อเรียกร้องเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญในการตัดวงจรสืบทอดอำนาจ คสช. เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เยาวชนปลดแอกวางข้อเรียกร้อง 3 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ตามมาด้วยแคมเปญแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนที่มีผู้เข้าร่วมเสนอชื่อ 100,732 รายชื่อ ในเวลา 42 วัน เปิดทางให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทุกหมวดทุกมาตราจาก สสร. ท่ี่มาจากการเลือกตั้ง 100% อย่างไรก็ตามที่ประชุมสภาปัดตกเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 แต่ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงเดินหน้าต่อไป และกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2564 กลุ่ม Resolution รวบรวมรายชื่อประชาชนอีกครั้งได้ 150,921 รายชื่อและนำเสนอต่อรัฐสภาในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 กิจกรรมครั้งนี้เดินไปในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดหนักหนาสาหัสที่รัฐธรรมนูญและปัญหาปากท้องของทุกชนชั้นมาบรรจบกัน
 
 
การระบาดในระลอกที่ 4 เดือนกรกฎาคม คือ จุดตัดสำคัญของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ โรคระบาดทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื่้อกระจายเป็นวงกว้างโดยไม่อาจควบคุมได้ ประเทศไทยวางแผนจะกระตุ้นเศรษฐกิจกลับมาด้วยการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในปีนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปในทางตรงกันข้าม ผลกระทบทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิต และคุณภาพชีวิตของประชาชนตกต่ำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน วัคซีนซิโนแวคที่รัฐบาลนำเข้าและจัดให้บุคลากรทางการแพทย์ แสดงผลให้เห็นว่าไม่อาจป้องกันการติดเชื้อได้ ขณะที่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ แม้พร้อมจะจ่ายเงินเนื่องจากวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาไม่เพียงพอ
 
 
ความไม่พอใจในรัฐบาลเรื่องการแก้ปัญหาโควิด 19 กระจายไปในทุกวงการ โดยเฉพาะภาคธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจกลางคืน ธุรกิจร้านอาหารที่ต้องปิดตัว และบุคลากรสาธารณสุขที่เป็นด่านหน้า เป็นกลุ่มเสี่ยง และเป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญกับผลกระทบโดยตรง กลุ่มบุคลากรทางสาธารณสุขเสนอข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์แตกต่างไปจากรัฐบาล โดยชี้ให้เห็นว่า การที่รัฐบาลเลือก "แทงม้าเต็ง" อย่างแอสตร้าเซเนก้า เป็นวัคซีนหลักเพียงตัวเองส่งผลร้ายถึงชีวิตของประชาชน และซิโนแวค "ม้าตัวรอง" ที่บุคลากรด่านหน้าจำนวนมากได้รับก็ไม่อาจนำพาชาติพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ได้ ขณะที่กลางเดือนกรกฎาคมก็เข้าสู่สภาวะที่ระบบสาธารณสุขไม่อาจรองรับผู้ป่วยได้อีกต่อไป มีผู้ป่วยโรคโควิด19 ที่เข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลและต้องเสียชีวิต รัฐบาลก็ยังไม่เร่งร้อนที่จะนำเข้าวัคซีนเทคโนโลยี mRNA หรือวัคซีนที่มีประสิทธิภาพกว่า
 
 
ขณะที่โควิด 19 เป็นอุปสรรคท้าทายการจัดการชุมนุม แต่ก็กลายเป็นปัจจัยเร่งให้การชุมนุม "จำเป็น" เพื่อเปลี่ยนแปลงทิศทางบริหารของประเทศ
 
 
แต่ระหว่างที่กระแสเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งดังขึ้นเรื่อยๆ ก็ยังไม่เห็นท่าทีการตอบสนองของผู้อยู่ในตำแหน่งสูงสุดแต่อย่างใด ในเมื่อรัฐธรรมนูญยังคงค้ำยันอำนาจให้กับรัฐบาลสืบทอดอำนาจ คสช.  ก็ไม่มีปัจจัยเร่งที่พล.อ.ประยุทธ์ต้องยอมลาออกจากตำแหน่ง หรือยุบสภา และตราบใดที่รัฐบาลยังคงอยู่ในตำแหน่งได้โดยไม่ต้องห่วงสถานะและความนิยม ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนหรือปรับปรุงแนวทางการแก้ไขปัญหา สถานการณ์ทางสาธารณสุขและเศรษฐกิจของประเทศก็ยังไม่มีแนวโน้มที่จะกลับมาตั้งหลักได้
 
 
การชุมนุมวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ครบรอบ 1 ปีเยาวชนปลดแอกเป็นการชุมนุมที่หมายมั่นรวมพลจำนวนมาก โดยมีข้อเรียกร้องเดิมในปีที่ผ่านมาอย่างการให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาลาออกมา ภายใต้สถานการณ์โควิด 19 มีข้อเรียกร้อง คือ ปรับลดงบสถาบันฯ และใช้วัคซีนชนิด mRNA โดยเป็นครั้งแรกๆ ที่เครือข่ายบุคลากรด้านสาธารณสุขประกาศเข้าร่วมการชุมนุม พร้อมกับเครือข่ายแรงงานกลุ่มต่างๆ บ้างเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวเดิม บ้างเป็นหน้าใหม่ ซึ่งนับเป็นการขยายฐานการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ