1625 1721 1696 1580 1127 1602 1992 1101 1209 1041 1807 1610 1193 1790 1257 1793 1772 1268 1607 1797 1371 1976 1424 1337 1252 1277 1652 1784 1818 1553 1417 1957 1859 1657 1072 1200 1853 1807 1253 1911 1522 1565 1074 1018 1923 1968 1917 1528 1148 1241 1639 1666 1618 1769 1616 1376 1868 1311 1290 1836 1901 1553 1727 1594 1266 1097 1277 1396 1234 1766 1845 1989 1084 1655 1629 1588 1293 1347 1221 1896 1776 1391 1755 1948 1952 1840 1856 1509 1128 1314 1655 1286 1042 1969 1574 1751 1856 1401 1930 ม.112 "ใครฟ้องก็ได้" หมายความว่าอะไร?? | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ม.112 "ใครฟ้องก็ได้" หมายความว่าอะไร??

 
1855
 
 
ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นข้อหาที่อยู่ในหมวดความผิดต่อพระมหากษัตริย์ฯ ซึ่งเป็น "ความผิดต่อแผ่นดิน" ความผิดในประเภทนี้คดีอาจริเริ่มขึ้นโดยใครก็ได้ที่พบเห็นการกระทำและนำเรื่องไปบอกกับตำรวจที่มีอำนาจหน้าที่ หรืออาจเรียกว่า "ใครฟ้องก็ได้" อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่า ประชาชนทุกคนในประเทศนี้จะมีอำนาจเป็นผู้ฟ้องคดีเอาผิดกับคนอื่นก็ได้เสมอไป
 
ตามหลักกฎหมายอาญาเบื้องต้น แบ่งความผิดทางอาญาออกเป็นสองประเภท คือ 
 
1) ความผิดต่อส่วนตัว หมายความว่า ความผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นกับบุคคลบางคนหรือบางกลุ่มเป็นการเฉพาะ จึงมีผู้เสียหายเป็นการเฉพาะ และความผิดต่อส่วนตัวจะเริ่มการดำเนินคดีได้ต่อเมื่อผู้เสียหายไป "แจ้งความ" ต่อตำรวจเพื่อร้องขอให้ดำเนินคดี หรือผู้เสียหายอาจยื่นฟ้องคดีต่อศาลเองก็ได้ แต่ถ้าหากผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความ คดีก็ไม่สามารถเริ่มขึ้นได้ ตัวอย่างของความผิดต่อส่วนตัว เช่น ข้อหาหมิ่นประมาท ข้อหาข่มขืน ข้อหาฉ้อโกง
 
2) ความผิดต่อแผ่นดิน หรือความผิดต่อส่วนรวม หมายความว่า ความผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับสังคมโดยรวมด้วย นอกจากจะทำให้บุคคลบางคนหรือบางกลุ่มได้รับความเสียหายแล้ว การกระทำที่มีลักษณะรุนแรงยังกระทบต่อความสงบเรียบร้อยในสังคม หรือทำให้คนอื่นในสังคมรู้สึกไม่ปลอดภัยด้วย ความผิดต่อแผ่นดินผู้เสียหายอาจไม่ต้องไปแจ้งความเพื่อร้องขอให้ดำเนินคดี แต่ถ้าหากตำรวจทราบเหตุแล้วก็สามารถริเริ่มการดำเนินคดีเองได้ หรือถ้าหากประชาชนคนอื่นพบเห็นการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ก็สามารถไปบอกตำรวจเพื่อให้ริเริ่มการดำเนินคดีได้ ซึ่งจะเรียกว่าการ "กล่าวโทษ" ตัวอย่างของความผิดต่อแผ่นดิน เช่น ข้อหาฆ่าคนตาย ข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ ข้อหาลักทรัพย์
 
สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่ในลักษณะ 1 ความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด 1 ความผิดต่อพระมหากษัตริย์ฯ ตามระบบกฎหมายที่ใช้อยู่ขณะนี้ถือเป็นความผิดต่อแผ่นดิน ที่การริเริ่มคดีไม่ต้องอาศัยผู้เสียหายเป็นคนแจ้งความ หากตำรวจเห็นเอง หรือมีผู้ใดพบเห็นการกระทำความผิดก็สามารถนำเรื่องและหลักฐานเท่าที่ทราบไปกล่าวโทษต่อตำรวจที่มีอำนาจหน้าที่ได้
 
อย่างไรก็ดี ในการดำเนินคดีที่เป็นความผิดต่อแผ่นดินทุกฐานความผิด ไม่ได้หมายความว่า เมื่อมีการกล่าวโทษว่าใครเป็นผู้กระทำความผิดเกิดขึ้นแล้ว ตำรวจจะต้องดำเนินคดี จับกุมผู้ต้องหา และสั่งฟ้องคดีเสมอไป แต่ตำรวจที่รับเรื่องไว้ก็มีหน้าที่ต้องแสวงหาพยานหลักฐานว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริงหรือไม่ การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่ และผู้ที่ถูกกล่าวหากระทำความผิดจริงหรือไม่ ถ้าหากเป็นกรณีที่ไม่มูลความผิด ตำรวจก็จะไม่ดำเนินคดีและสั่งไม่ฟ้องเพื่อให้คดีจบไปได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ถูกกล่าวหา นอกจากนี้หากตำรวจตัดสินใจดำเนินคดีและส่งฟ้องคดีต่ออัยการ อัยการก็ยังมีดุลพินิจที่จะพิจารณาว่าคดีมีมูลและมีเหตุควรจะฟ้องคดีต่อศาลหรือไม่อีกชั้นหนึ่ง
 
สำหรับคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เนื่องจากเป็นคดีความที่อ่อนไหวท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ตำรวจจึงไม่ได้ใช้นโยบายที่จะดำเนินคดีทุกคดีในทันทีที่ได้รับการร้องทุกข์กล่าวโทษมา ตรงกันข้าม ในปี 2553 สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งฉบับที่ 122/2553 แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง มีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธานเพื่อพิจารณาว่า คดีใดควรจะสั่งฟ้องหรือจะดำเนินคดีหรือไม่ ตำรวจที่อยู่ประจำสถานีตำรวจแต่ละแห่งซึ่งเป็นผู้รับเรื่องกล่าวโทษจากประชาชนทั่วไปไม่ได้มีดุลพินิจที่จะดำเนินคดีด้วยตัวเอง 
 
ต่อมาในปี 2563 คำสั่งฉบับที่ 122/2553 ถูกยกเลิกไป สำนักงานตำรวจแห่งชาติออกคำสั่งใหม่ฉบับที่ 558/2563 เรื่องแนวปฏิบัติในการดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคงฯ ให้ตำรวจที่มีหน้าที่รับผิดชอบรายงานข้อเท็จจริงและความเห็นว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ไปยังผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค หรือผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และให้ตั้งคณะกรรมการคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ โดยมีระดับรองผู้บัญชาการเป็นประธาน และมีผู้กำกับสถานีตำรวจท้องที่เป็นกรรมการ มีอำนาจพิจารณาทำความเห็นเสนอผู้บัญชาการ
 
หากดำเนินการตามขั้นตอนของทางตำรวจแล้วตัดสินใจสั่งฟ้องคดี และส่งคดีไปถึงชั้นอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดก็มีแนวปฏิบัติที่ไม่ให้อัยการเจ้าของคดีทุกคนตัดสินใจเองได้ แต่ให้ส่งเรื่องไปให้อัยการสูงสุดเป็นผู้สั่งคดีเท่านั้น ดังนั้น คดีที่จะถูกส่งฟ้องต่อศาลจึงต้องผ่านความเห็นของตำรวจระดับสูง และอัยการระดับสูงมาแล้วเท่านั้น
 
กรณีที่มีประชาชนไปกล่าวโทษต่อตำรวจเป็นจำนวนมากในเวลาพร้อมๆ กัน จึงไม่ได้หมายความว่า คดีทั้งหมดจะมีการจับกุมและส่งฟ้องต่อศาล เพราะยังอยู่ในอำนาจดุลพินิจของตำรวจ และอัยการว่าจะปฏิบัติอย่างไร แม้ว่าการริเริ่มคดีโดยคนทั่วไปจะกระจัดกระจายอยู่ตามสถานีตำรวจหลายแห่งทั่วประเทศ แต่ก็เป็นเป็นตำรวจและอัยการระดับสูงจากส่วนกลางเท่านั้นที่มีอำนาจตัดสินใจแบบรวมศูนย์ในคดีเหล่านี้
 
นอกจากนี้ หากประชาชนทั่วไปที่พบเห็นการกระทำความผิดที่เป็นความผิดต่อแผ่นดิน ในหมวดพระมหากษัตริย์ หากต้องการยื่นฟ้องคดีต่อศาลเองโดยตรง ก็ไม่สามารถทำได้ ศาลอาญาเคยวางบรรทัดฐานไว้ใน คดีหมายเลข อ.4153/2549 ซึ่งสุรศักดิ์ ยิ้มอินทร์ เป็นโจทก์ ร่างฟ้องยื่นต่อศาลฟ้องพ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยในข้อหามาตรา 112 และศาลอาญาไม่รับฟ้อง  โดยให้เหตุผลว่า
 
"กรณีคดีหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 เป็นความผิดต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร ไม่มีประชาชนคนใดได้รับความเสียหายเป็นพิเศษเป็นการเฉพาะตัว หากประชาชนทั่วไปต้องการจะเอาผิดดำเนินคดีต้องใช้วิธีการแจ้งความหรือกล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนและส่งฟ้องต่อไป"
 
โดยสรุปแล้ว กรณีความผิดตามมาตรา 112 แม้จะเป็นความผิดที่ใครจะริเริ่มแจ้งความก็ได้ แต่ไม่ใช่ใครจะไปฟ้องคดีเองได้ และตามกระบวนการของกฎหมาย คดีความทั้งหมดยังต้องผ่านดุลพินิจจากตำรวจและอัยการระดับนโยบายอีกชั้นหนึ่ง หากเป็นคดีไม่มีมูล คดีก็ไม่สามารถจะเดินหน้าต่อไป แต่หากมีการดำเนินคดีเกิดขึ้น หมายความว่า ไม่ใช่เพียงเกิดขึ้นเพราะ "ใครสักคน" ริเริ่มให้เกิดขึ้น แต่หมายความว่า เจ้าหน้าที่ระดับนโยบายในกระบวนการยุติธรรมได้สั่งให้เดินหน้าแล้ว
 
 
 
 
เอกสารแนบSize
คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติฉบับที่ 122/2553 เรื่องแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีหมิ่นฯ190.59 KB
คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติฉบับที่ 558/2563 เรื่องแนวทางปฏิบัติในการดำเนินความมั่นคงฯ.pdf341.82 KB