1924 1566 1431 1694 1573 1638 1513 1262 1602 1580 1293 1668 1734 1482 1320 1326 1887 1911 1439 1778 1667 1736 1085 1120 1840 1546 1958 1322 1623 1235 1563 1187 1454 1768 1701 1905 1963 1548 1638 1735 1369 1611 1494 1018 1737 1060 1816 1750 1345 1162 1064 1414 1707 1075 1631 1823 1090 1327 1366 1703 1599 1403 1010 1685 1671 1402 1914 1763 1779 1966 1648 1410 1221 1323 1082 1692 1789 1095 1248 1155 1627 1655 1373 1161 1254 1561 1916 1640 1708 1725 1990 1471 1512 1579 1346 1680 1291 1515 1751 ลูกเกด ชลธิชา : จดหมายถึงกษัตริย์และการตอบกลับด้วยมาตรา 112 | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ลูกเกด ชลธิชา : จดหมายถึงกษัตริย์และการตอบกลับด้วยมาตรา 112

หากพูดถึงนักกิจกรรมที่มีบทบาทในการต่อต้านรัฐประหาร 2557 ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด น่าจะเป็นหนึ่งรายชื่ออันดับต้นๆที่ฝ่ายความมั่นคงจับตามองด้วยความระแวดระวัง ในวันที่ 6 มิถุนายน 2557 หรือประมาณ 2 สัปดาห์หลังการรัฐประหาร ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) จัดกิจกรรม "ปิคนิค อ่านกวี ดูหนังรัฐประหาร" ที่ลานหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งนั้นลูกเกดก็ได้เข้าไปร่วมกิจกรรมด้วยเมื่อถูกบังคับให้ยุติกิจกรรมลูกเกดจึงพยายามต่อรองกับเจ้าหน้าที่ว่า ถ้าไม่ให้จัดอย่างน้อยๆก็ขอให้เธอกับเพื่อนๆได้แจกจ่ายขนมที่เตรียมมาให้กับคนที่มาร่วมกิจกรรมเสียก่อนจนเกิดกรณีที่มีเจ้าหน้าที่เข้ามายื้อแย่งแซนด์วิชไปจากเธอ 
 
หลังจากนั้นลูกเกดก็นัดกับเพื่อนไปจัดกิจกรรมกินแซนด์วิชอีกครั้งที่หน้าห้างสยามพารากอนในวันที่ 22 มิถุนายน 2557 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 เดือนของการรัฐประหาร ครั้งนั้นเธอกับเพื่อนๆถูกพาตัวไปปรับทัศนคติและลูกเกดก็ถูกเรียกขานโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงภาคสนามว่า "เจ้าแม่แซนด์วิช"
 
ต่อมาลูกเกดยังคงเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นระยะ จนกระทั่งในปี 2558 เธอไปร่วมกิจกรรมรำลึก 1 ปี การรัฐประหารจนถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง การถูกดำเนินคดีครั้งนั้นนำไปสู่ปฏิบัติการดื้อแพ่งของเธอและเพื่อนๆอีก 13 คน ที่ปฏิเสธเข้ารายงานตัวกับตำรวจและไปจัดการชุมนุมทั้งที่หน้าสน.ปทุมวันและที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจนเป็นเหตุให้เธอและเพื่อนๆถูกตั้งข้อหาหนักอย่างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และถูกดำเนินคดีในศาลทหาร และที่แย่ที่สุดน่าจะเป็นการที่เธอและเพื่อนๆต้องถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลา 12 วันจากความ "ดื้อ" ในครั้งนั้น 
 
หลังเรียนจบในปี 2558 ลูกเกดตัดสินใจเคลื่อนไหวต่อและร่วมกับเพื่อนตั้งกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยในช่วงปี 2560 เพื่อทำงานส่งเสริมประชาธิปไตยต่อไปโดยลูกเกดผันตัวจากคนที่อยู่แนวหน้ามาอยู่แนวหลังทำงานเสริมศักยภาพและให้ความช่วยเหลือนักกิจกรรมรุ่นใหม่แทน แต่แล้วในปี 2561 เมื่อมีกลุ่มประชาชนในนาม "คนอยากเลือกตั้ง" ออกมาชุมนุมทวงสัญญาจากพล.อ.ประยุทธ์ให้จัดการเลือกตั้งทั่วไปภายในปี 2561 ลูกเกดก็ออกมาร่วมชุมนุมด้วยและถูกดำเนินคดีรวมสามคดีจากการชุมนุมครั้งนั้น แต่ในยุคสมัยของคสช. (22 พฤษภาคม 2557 - 17 กรกฎาคม 2562) ลูกเกดไม่เคยถูกดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 
 
1786
 
 
++ เขียนจดหมายเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันฯ และมาตรการโต้กลับอย่างมาตรา 112 ++
 
ปี 2563 การเมืองบนท้องถนนทวีความเข้มข้นขึ้นตามลำดับและมีการผลักดันข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์มาอยู่ในพื้นที่การชุมนุมหรือพื้นที่อื่นๆ อาทิ บนสื่อสังคมออนไลน์ การวิพาษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ทั้งในฐานะตัวบุคคลและในฐานะสถาบันทางการเมืองที่อาจให้คุณในโทษต่อสาธารณะ ลูกเกดเฝ้ามองปรากฎการณ์ดังกล่าวด้วยความเคารพต่อความกล้าวหาญของนักเคลื่อนไหวรุ่นน้อง ขณะเดียวกันเธอและสมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยต่างก็พยายามที่จะสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือกับทั้งในด้านการเสริมศักยภาพ ทักษะ และช่วยเหลือด้านอื่นๆให้แก่นักเคลื่อนไหวรุ่นน้องเท่าที่จะได้รับการร้องขอ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานหลังบ้านหรืองานประสานงาน เช่นการอำนวยความสะดวกในการพูดคุยกับตำรวจ ช่วยแจ้งการชุมนุม หรือไปเป็นทีมงานหลังเวทีแต่จะไม่ขึ้นปราศรัย ตัวของลูกเกดจึงอยู่ว่าอยู่ในกลุ่ม "ความเสี่ยงต่ำ" ที่จะถูกดำเนินคดีมาตรา 112 
 
แต่แล้วในเดือนพฤศจิกายนเมื่อกลุ่มราษฎรจัดการรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนเขียนจดหมายถึงพระมหากษัตริย์เพื่อสื่อสารความต้องการและถวายคำแนะนำให้มีการปฏิรูปสถาบันฯเพื่อให้ดำรงอยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตยอย่างสง่างาม ลูกเกดก็ตัดสินใจเขียนจดหมายถวายพระมหากษัตริย์ด้วยหนึ่งฉบับพร้อมระบุว่าเธอเขียนจดหมายทั้งน้ำตาด้วยความรู้สึกที่ท่วมท้นจนเธออธิบายไม่ถูก โดยหวังว่า จดหมายที่เธอเขียนจะเป็นส่วนเล็กๆที่จะนำไปสู่การปฏิรูปสถาบันให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยซึ่งจะเป็นทางออกจากวิกฤตทางการเมืองโดยสันติตามความเชื่อของเธอ  1 เดือนหลังเผยแพร่จดหมายบนเฟซบุ๊ก ลูกเกดก็ได้รับจดหมายตอบรับเป็นหมายเรียกผู้ต้องหาคดีมาตรา 112
 
 
"เนื้อความในจดหมายของเรา ไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าการส่งเสียง ส่งความในใจของเราด้วยความบริสุทธิ์ใจต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อสะท้อนว่าในฐานะราษฎรเราอยากให้พระมหากษัตริย์และสถาบันปรับตัวอย่างไร ตอนที่เราเขียนจดหมายเราเต็มไปด้วยความรู้สึก ความรู้สึกกล้าหาญที่มีต่อตัวเองที่จะเขียนอะไรแบบนี้ต่อสาธารณะและความกล้าที่มีต่อพระมหากษัตริย์ที่เราจะเขียนความในใจเพื่อสื่อสารแบบตรงไปตรงมาด้วยความปรารถนาดี และความรู้สึกอีกก้อนที่เราบอกไม่ถูกที่เกิดขึ้นตอนเราเขียนชื่อผู้ลี้ภัยการเมืองที่ไปตายอยู่ต่างประเทศ เราเคยไปทำงานเป็นกรรมาธิการในสภาที่ติดตามเรื่องนี้ [การบังคับสูญหายผู้ลี้ภัยการเมือง] เราจำได้ว่าพอเขียนจดหมายมาถึงตรงนั้นเราก็ร้องไห้ มันรู้สึกเจ็บแค้นที่เพราะแค่พวกเขามีความเห็นต่อสถาบันฯในแบบที่รัฐไม่ต้องการให้มี พวกเขาก็ต้องลี้ภัย ถูกอุ้มหาย และถูกฆ่า"
 
"พอเขียนจดหมายเสร็จเราก็ปรินท์แล้วฝากเพื่อนไปหย่อนที่ตู้จดหมายในกิจกรรมที่สนามหลวง ส่วนไฟล์จดหมายเราก็เอามาทำเป็นไฟล์ภาพขึ้นเผยแพร่บนเฟซบุ๊ก เท่านั้นแหละได้เรื่องเลยมีคนเอาจดหมายของเราไปแจ้งความมาตรา 112"
 
"ในทางคดีเราก็ไปรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว จะยังไงก็พร้อมสู้คดีถึงที่สุด สิ่งที่เราเสียใจมากที่สุดไม่ใช่ถูกดำเนินคดี ไม่ใช่เรื่องที่เราเคยออกมาต่อสู้แล้วติดคุก เรื่องที่เราเสียใจคือกระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้มันหวังอะไรไม่ได้เลยตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากผู้มีอำนาจ คุณจะถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากร เป็นศัตรูของรัฐ ส่วนเรื่องที่เราถูกดำเนินคดีม.112 เราคิดว่ามันก็ทำให้เราตัดสินใจอะไรในทางการเมืองได้ง่ายขึ้นและถือว่าเราได้ใช้ความพยายามในการเรียบเรียงและสื่อสารความในใจของเราไปเรียบร้อยแล้วเป็นครั้งสุดท้าย" 
 
 
++ เสรีภาพและประชาธิปไตย : ความฝันที่ยังไกลกว่าจะไปถึง ++
 
"เราไม่คิดว่าจะมีใครอยากมาทำงานเคลื่อนไหวทางการเมืองไปตลอดชีวิตหรอก เราเองก็มีฝันของเรา ถ้าประเทศนี้มันเป็นประชาธิปไตยที่เคารพหลักสิทธิมนุษยชนและยึดหลักการคนเท่ากันอย่างแท้จริงแล้ว เราก็อยากไปทำงานในเรื่องอื่นบ้าง อย่างแรกเลยคือเราอยากไปทำงานประเด็นเรื่องสุขภาพจิต คือตัวเราเคยไปเข้ารับคำปรึกษาหลังจากที่เราเข้าเรือนจำแล้วเรารู้สึกเครียดและมีอาการแพนิค เราพบว่า ในเมืองไทยความเข้าใจเกี่ยวกับผู้มีปัญหาสุขภาพจิตมันเป็นเรื่องที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ การรักษาหลักๆเน้นให้ยาปรับยาแต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพูดคุยซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน และค่ารักษาพยาบาลเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่มีคุณภาพที่มีตอนนี้ก็แพงมากทั้งที่จริงๆแล้วมันควรถูกมองในฐานะปัญหาสุขภาพพื้นฐานที่ประชาชนควรเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีได้"
 
"อีกเรื่องที่เราอยากทำคือ Public space เราอยากทำธุรกิจเพื่อสังคมประมาณสร้างพื้นที่คล้ายๆคอมมูนิตีมอลที่ให้คนเช่าขายของและขณะเดียวกันก็มีคนมาใช้พื้นที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมได้ ซึ่งเราคิดว่าทุกวันนี้ในเมืองไทยมันแทบไม่มีพื้นที่สาธารณะไหนที่พวกเราพอใช้ทำกิจกรรมได้เลย"
 
"แต่กว่าจะถึงวันนั้นเราคิดว่ามันคงอีกนานเพราะลำพังแค่การต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยหรือหลักการคนเท่ากันทุกวันนี้ยังไม่มีทีท่าว่า จะชนะเลย"
 
"ที่พูดมาดูเหมือนเราจะสิ้นหวังแต่จริงๆแล้วเราแค่จะบอกว่ายังไงเราต้องสู้ยกนี้ให้ชนะก่อน มีคนถามว่าถ้ามันดูจะยากยังงั้นทำไมไม่ลืมมันซะ [อุดมการณ์ทางการเมือง] แล้วออกไปทำงานอย่างเลย เราก็ต้องถามกลับไปว่า ภายใต้โครงสร้างการเมืองที่เป็นเผด็จการและเศรษฐกิจที่มีการผูกขาดแบบนี้ไม่ว่าคุณจะทำงานหนักแค่ไหนสุดท้ายคุณก็โตได้แค่เท่าที่เขาอยากให้โต อย่างเราถ้าจะทำคอมมูนิตี้มอลแล้วให้คนมาทำกิจกรรมเช่นงานศิลปะวิจารณ์รัฐบาลหรือทหารในยุคนี้ก็คงไม่พ้นถูกคุกคาม" 
 
"ส่วนท้ายที่สุดถ้าเราจะไม่ได้ทำสิ่งที่ฝัน หรือถูกชะลอไปเพราะคดีมาตรา 112 ที่เราเผชิญอยู่ เราก็อยากบอกว่า เราหว่านเมล็ดพันธุ์ของความฝันในการปฏิรูปสถาบันฯไว้แล้ว ที่เหลือคือรอให้ลูกหลานของเราได้เก็บเกี่ยวดอกผล"
 
 
 
ชนิดบทความ: