- เว็บไซต์ไอลอว์
- ศูนย์ข้อมูลฯ
ข้อห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ไม่ชัดเจน ปราบโรคไม่อยู่ ปราบชุมนุมด้วยกำลัง
พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นครั้งแรกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร คสช. หลังการประกาศใช้เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 กฎหมายฉบับนี้ถูกใช้ซ้อนกับคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ที่สั่งห้ามการชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ส่งผลให้เกิดการปราบปรามเสรีภาพอย่างเป็นระบบ การชุมนุมที่ไม่ได้เข้าเงื่อนไขต้องห้ามตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เจ้าหน้าที่รัฐก็จะอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. แทน สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ใช่บทบัญญัติหลักและไม่ใช่กฎหมายที่เอื้ออำนวยเสรีภาพการชุมนุมอย่างที่ควรเป็น
ต่อมาวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 ยกเลิกข้อห้ามการชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ยกเลิก นับแต่นั้นพ.ร.บ.ชุมนุมฯ จึงเป็นบทบัญญัติหลักในการดูแลการชุมนุมเพียงฉบับเดียว ผ่านไปแปดเดือน วันที่ 25 มีนาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ คนเดิมอาศัยอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และสถานการณ์การบังคับใช้กฎหมายซ้ำซ้อนเพื่อควบคุมการชุมนุมก็กลับมาอีกครั้ง
ระบาดระลอก 1 : เริ่มใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ควบคุมโควิด ไม่ได้ห้ามการชุมนุมโดยตรง แต่ใช้ดำเนินคดี
ตามมาตรา 3 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เว้นการใช้บังคับพ.ร.บ.ในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ดังนั้น ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ยุคพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การควบคุมการชุมนุมจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายอื่น และเงื่อนไขภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เอง วันที่ 25 มีนาคม 2563 นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดฉบับที่ 1 ข้อ 5 ระบุว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ภายในพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงกำหนด”
วันที่ 3 เมษายน 2563 พลเอกพรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงออกประกาศกำหนดว่า “ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนหรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค”
วันที่ 29 เมษายน 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเริ่มทรงตัว นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดฉบับที่ 5 ห้ามให้จัดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะ “มั่วสุมประชุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย” เว้นแต่เป็น การจัดโดยเจ้าพนักงานหรือได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ โดยต้องเว้นระยะห่าง อยู่ในที่ไม่แออัดและใช้ระยะเวลาทำกิจกรรมไม่นาน รวมทั้งมีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด
จากข้อกำหนดและประกาศทั้งสามฉบับ เห็นได้ว่า ไม่มีคำสั่ง “ห้ามการชุมนุม” เพื่อแสดงออกซึ่งข้อเรียกร้องต่างๆ อันเป็นการใช้เสรีภาพตามปกติ การชุมนุมจะเกิดขึ้นได้ในเงื่อนไขที่ต้องไม่มีลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค หรือเป็นกิจกรรมที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่และมีมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด แนวปฏิบัติของตำรวจในระยะแรกเริ่มก็สะท้อนให้เห็นว่า การชุมนุมยังเป็นสิ่งที่ทำได้ เช่น การชุมนุมรำลึกวันครบรอบการเสียชีวิตของพลตรีขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 อนุรักษ์ เจนตวณิชย์ หรือ ฟอร์ด เส้นทางสีแดง ผู้จัดกิจกรรมประสานงานกับตำรวจสน.ลุมพินี โดยไม่ได้แจ้งการชุมนุม ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ขณะที่ท่าทีของตำรวจไม่ได้มีการห้ามไม่ให้จัดกิจกรรมโดยสิ้นเชิง
ตำรวจมีการจัดจุดคัดกรองและจัดหาพยาบาลตรวจวัดอุณหภูมิ มีการอำนวยความสะดวกและให้คำแนะนำในการจัดกิจกรรมที่จะไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตามในช่วงท้ายของการชุมนุมมีการถ่ายภาพร่วมกัน อันเป็นเหตุให้มีการกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วยเชื่อได้ว่า อาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคโควิด 19
ระยะต่อมาลักษณะการอำนวยความสะดวกจากตำรวจเช่นนี้ไม่เกิดขึ้นแล้ว แต่แนวปฏิบัติที่เกิดขึ้นและคงอยู่ คือ การเอาเครื่องเสียงมาอ่านประกาศข้อกำหนดที่ออกตามความพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และอาจตามมาด้วยการกล่าวหาคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯตามหลัง เช่น
๐ วันที่ 5 มิถุนายน 2563 สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทยนำโดยอั๋ว-จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุลและเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ จัดกิจกรรมที่สกายวอล์คปทุมวัน เพื่อเรียกร้องกรณีการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศกัมพูชา วันดังกล่างมีการเตรียมเจลล้างมือและเครื่องวัดอุณหภมิ ต่อมาทั้งหมดถูกแจ้งข้อกล่าวหาฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
๐ วันที่ 8 มิถุนายน 2563 ที่สถานทูตกัมพูชา ตัวแทนคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) 4 คนยื่นหนังสือต่อสถานทูตร้องขอให้รัฐบาลกัมพูชาติดตามหาตัววันเฉลิมสัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทยที่ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์พาตัวขึ้นรถไป ต่อมาพนักงานสอบสวนสน.วังทองหลางกล่าวหาทั้ง 4 คนในคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ผ่อนคลายระลอก 1 : กลับมาใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ยังใช้อยู่
วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 13 กำหนดว่า การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายตามหลักเกณฑ์กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะและและให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมจัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดด้วย เป็นเหตุให้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง ควบคู่ไปกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ระหว่างข้อกำหนดฉบับที่ 13 บังคับใช้นั้น ตำรวจได้รับมือและดูแลการชุมนุมโดยอ้างพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เช่น การพิจารณาว่าการชุมนุมที่ไม่ได้แจ้งล่วงหน้านั้นผิดกฎหมาย การห้ามชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐานและการออกคำสั่งห้ามการชุมนุมในรัศมี 50 เมตรจากศาล ขณะที่ยังปรากฏว่า มีการแจ้งเตือนโดยอ้างอิงข้อกำหนดและประกาศตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วย
การชุมนุมภายใต้เงื่อนไขที่ให้ใช้ทั้งพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เดินหน้าไปด้วยความสับสน ผู้ชุมนุมบางรายตัดสินใจ “แจ้งการชุมนุม” ล่วงหน้าก่อน บางรายไม่แจ้งก่อน จากการบันทึกข้อมูลพบว่ามีการชุมนุมเกิดขึ้น ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม-24 ธันวาคม 2563 อย่างน้อย 467 ครั้ง มีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่ตำรวจกล่าวหาผู้ชุมนุมว่าฝ่าฝืนทั้งพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปพร้อมกันอย่างน้อย 35 คดีและมีผู้ถูกกล่าวหารวม 67 คน
ตัวอย่างการบังคับใช้กฎหมายที่ซ้ำซ้อน ทำให้รัฐมีทางเลือกว่าจะอ้างกฎหมายใดก็ได้เพื่อให้อำนาจตัวเองปฏิบัติหน้าที่ได้ง่าย เช่น กรณีการสลายการชุมนุมของคณะราษฎรอีสาน
13 ตุลาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 9.00 น. คณะราษฎรอีสาน นำโดย ไผ่ -จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา พร้อมพวกได้รวมตัวกันตั้งเตนท์พักคอยที่หน้าแมคโดนัลด์อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เวลา 13.08 น. ตำรวจจราจรจากสน.สำราญราษฎร์มาเจรจาให้เลื่อนรถออกจากไหล่ทางหน้าแมคโดนัลด์ แต่จตุภัทร์แจ้งว่า หากกระทำผิดข้อหาใดให้มาแจ้ง ต่อมา 15.11 น. ตำรวจขอให้หยุดทำกิจกรรรม ระบุว่า วันนี้ตรงกับวันสวรรคตของรัชกาลที่ 9 และขอให้ขึ้นฟุตบาท แต่ผู้ชุมนุมยืนยันทำกิจกรรมต่อบริเวณเดิม รถยนต์ยังคงสัญจรผ่านไปมาได้ จากนั้นตำรวจจึงเริ่มต้นสลายการชุมนุมด้วยการจับกุมประชาชน 21 คนอันเป็นผลให้การชุมนุมดังกล่าวเป็นอันยุติลง
วันดังกล่าวตำรวจไม่ได้ใช้มาตรการตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ กล่าวคือ หากเป็นการชุมนุมที่ไม่ได้แจ้งต่อผู้รับแจ้งล่วงหน้า 24 ชั่วโมง ตำรวจมีอำนาจในการสั่งให้เลิกการชุมนุมภายในเวลากำหนด หากผู้ชุมนุมยังไม่เลิก ตำรวจจะต้องไปขออำนาจศาลแพ่งให้ไต่สวนการชุมนุม กรณีที่ศาลสั่งให้เลิกการชุมนุมแล้ว หากผู้ชุมนุมยังไม่ปฏิบัติตาม ตำรวจจึงจะประกาศเป็นพื้นที่ควบคุม หากพ้นระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ผู้ชุมนุมที่อยู่ภายในพื้นที่จึงจะถือเป็นผู้กระทำผิด และจึงใช้กำลังเข้าจับกุมได้
ภายหลังกองบัญชาการตำรวจนครบาลแจ้งว่า การจับกุมดังกล่าวเป็นการจับกุมผู้ชุมนุมที่ “กระทำผิดซึ่งหน้า” ในช่วงเย็นวันเดียวกันมีผู้ชุมนุมไปรวมตัวเรียกร้องความเป็นธรรมที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังจากนั้นมีการตั้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ จากการชุมนุมดังกล่าว และในการชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ของคณะราษฎรเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาล ตำรวจอ้างอำนาจตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯอีกครั้ง เช่น ให้แจ้งการชุมนุมและสั่งให้เลิกการชุมนุม แต่วิธีการสลายการชุมนุมตามขั้นตอนศาลถูกละเว้นอีกครั้ง เมื่อนายกรัฐมนตรีออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครตั้งแต่เวลา 04.00 น.ของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 การบังคับใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ในช่วงเวลานั้นจึงเป็นไปอย่างลักปิดลักเปิด
อ่านการสลายการชุมนุมคณะราษฎรอีสานเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563
อ่านการสลายการชุมนุมคณะราษฎรเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563
8 วันภายใต้ “ฉุกเฉินร้ายแรง” ก็ยังใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพิ่มความสับสน
เวลาประมาณ 4.00 น.ของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร ตามมาด้วยการออกข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องห้ามชุมนุมเกินห้าคน
ซึ่งเท่ากับเป็นการเลิกใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 13 ฉบับวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 และทำให้ประเทศอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ซึ่ง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จะไม่ถูกบังคับใช้ในระหว่างนั้น ในสถานการณ์นี้ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมโดยอ้างอำนาจของสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงถึงสองครั้ง คือ ช่วงเช้ามืดวันที่ 15 ตุลาคม 2563 และวันที่ 16 ตุลาคม 2563
แต่ปรากฏว่า มีตั้งข้อกล่าวหากับสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และทศพร เสรีรักษ์ ในความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไปพร้อมกัน จากการเข้าร่วมกิจกรรมที่แยกเกษตร เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 สร้างความไม่ชัดเจนขึ้นไปอีกว่า สถานะของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ในช่วงเวลานี้จะเป็นอย่างไร
หลังจากวันที่ 22 ตุลาคม 2563 นายกรัฐมนตรียกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง แนวปฏิบัติของตำรวจกลับมาเป็นเช่นระยะก่อนหน้า คือ การอ้างขั้นตอนของตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ อีกครั้ง เห็นได้ชัดเจนในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ตำรวจระดับสูงออกมาย้ำหลายครั้งให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ (อ่านลำดับเหตุการณ์ด้านล่างประกอบ) จึงพอสรุปได้ว่า ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 จนกระทั่งวันที่ 24 ธันวาคม 2563 เป็นช่วงที่ตำรวจดูแลการชุมนุมโดยอ้าง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่อิงกับข้อกำหนดฉบับที่ 13 เป็นหลัก
ระบาดระลอก 2 : พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามชุมนุมในสถานที่แออัด
กลางเดือนธันวาคม 2563 เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่จังหวัดสมุทรสาคร และทำให้สุานการณ์โรคระบาดเริ่มน่ากังวลอีกครั้ง วันที่ 25 ธันวาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ข้อ 3 ระบุว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ภายในพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงกำหนด”
วันที่ 29 ธันวาคม 2563 พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ดังนี้
ข้อ 2 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในพื้นที่ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศหรือมีคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และข้อ 3 การชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด...ต้องขออนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดก่อนดำเนินการ และต้องแสดงแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรคประกอบการพิจารณา
เมื่อข้อกำหนดฉบับที่ 15 มีเนื้อหาขัดกับข้อกำหนดฉบับที่ 13 เท่ากับต้องบังคับใช้ฉบับที่ใหม่กว่า จึงส่งผลให้กลับไปสู่สภาวะที่ไม่บังคับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ อีกครั้ง ลักษณะดังกล่าวเด่นชัดขึ้นในการสลายการชุมนุมเขียนป้ายผ้ายกเลิกมาตรา 112 ของการ์ดปลดแอกที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2564 ที่ตำรวจอ้างเพียงประกาศและข้อกำหนดที่ออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย โดยไม่อ้างพ.ร.บ.ชุมนุมอีก
อย่างไรก็ตาม ข้อห้ามการชุมนุมตามกฎหมายจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ คือ การชุมนุมในสถานที่แออัด ซึ่งผู้ชุมนุมในกิจกรรมดังกล่าวมีประมาณ 50 คน และการสลายการชุมนุมทำโดยตำรวจที่ยืนเรียงแถวติดกันทั้งบริเวณเกาะพญาไทและหน้าป้ายรถเมล์ไม่น้อยกว่า 200 นาย
ผ่อนคลายระลอก 2 : อ้างพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกนำหน้า ไม่กลับมาใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แล้ว
ปลายเดือนมกราคม 2564 แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเริ่มทรงตัวอีกครั้ง และประชาชนกลับมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติมากขึ้น การชุมนุมทางการเมืองเริ่มกลับมามากขึ้น แต่ข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังไม่ผ่อนคลายลง วันที่ 3 มกราคม 2564 นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนด ฉบับที่ 16 กำหนดห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามการจัดกิจกรรมในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย เช่น การประชุม การสัมมนา การจัดเลี้ยง ต่อมาวันที่ 29 มกราคม 2564 นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนด ฉบับที่ 18 กำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตามข้อกำหนดฉบับที่ 16
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ฉบับที่ 3 ยกเลิกประกาศฉบับที่ 2 ระบุว่า ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย ซึ่งมีประกาศหรือคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด ใจความสำคัญคือ การรวมคนที่มีความแออัด
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 14.00-16.00 น. ที่หน้าสหประชาชาติ ชาวเมียนมานัดชุมนุมต้านรัฐประหาร เริ่มแรกตำรวจวางแผงเหล็กล้อมพื้นที่การชุมนุมที่ฟุตบาทด้านหน้าสหประชาชาติผู้ชุมนุมเริ่มมากันตั้งแต่เวลาประมาณ 12.30 น. และเนื่องด้วยวันดังกล่าวเป็นวันอาทิตย์ทำให้มีชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครมารวมตัวกันมาก ต่อมาเวลา 13.59 น. ตำรวจสั่งให้เลิกการชุมนุมระบุว่า ไม่ต้องการให้เกิดคำถามเรื่องมาตรการการชุมนุมระหว่างคนไทยและเมียนมา จากนั้นใช้ตำรวจควบคุมฝูงชนตั้งแถวรุกไล่ผู้ชุมนุมให้ถอยร่นไปเรื่อยๆทางสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ท้ายที่สุดการชุมนุมต้องยุติลง ผู้ชุมนุมตัดสินใจย้ายไปที่สถานทูตเมียนมาต่อและสามารถจัดต่อได้
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 เวลาประมาณ 18.30 น. ราษฎรประกาศเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปศาลหลักเมือง ระหว่างนั้นตำรวจวางแนวสิ่งกีดขวาง 2 แนว คือ ที่แยกสะพานผ่านพิภพลีลาและที่บริเวณศาลฎีกา ใกล้กับศาลหลักเมือง ในการประกาศให้เลิกการชุมนุมตำรวจอ้างข้อกำหนดของนายกรัฐมนตรีรวม 3 ฉบับ คือ ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2563, ฉบับที่ 16 ลงวันที่ 3 มกราคม 2564 และฉบับที่ 18 ลงวันที่ 29 มกราคม 2564 รวมทั้งประกาศของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ฉบับที่ 3 และใช้กำลังเข้าจับกุมผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงโดยอ้างว่า เป็น “ความผิดซึ่งหน้า” จากการฝ่าฝืนข้อกำหนดเหล่านี้
การชุมนุมในครั้งต่อๆ มาก็ยังสามารถจัดได้เช่นกัน จากการสังเกตการณ์ชุมนุมส่วนใหญ่ไม่ปรากฏว่า ตำรวจได้อ้างอำนาจหรือแนวปฏิบัติตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ อีก อ้างแต่เพียงข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างไรก็ตามหลังสถานการณ์โควิด 19 คลายตัวการชุมนุมขยายตัวมากขึ้น
ยกระดับปราบการชุมนุมหนัก ละเลยหลักสากล
19 กุมภาพันธ์ 2564 พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ฉบับที่ 4 ระบุว่า ปัจจุบันยังปรากฏสถานการณ์การชุมนุมที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกอบกับคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 ให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยหลักในการ “ปฏิบัติตามมาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมในการระงับยับยั้ง การยุติการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือมั่วสุม” ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ให้ผบ.ตร.พิจารณาตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชน เกินสมควรแก่เหตุ
หลังจากนั้นการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมโดยตำรวจยกระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว ไปจนถึงการใช้กระสุนยางต่อผู้ชุมนุมโดยชัดเจนครั้งแรก นับปี 2553
๐ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 รีเด็มจัดชุมนุม #28กุมภาไปรังขี้ข้าปรสิต เคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ที่เป็นบ้านพักหลวงของพลเอกประยุทธ์ หลังผู้ชุมนุมเก็บลวดหนามหีบเพลงหน้าตู้คอนเทนเนอร์และเลื่อนเปิดตู้คอนเทนเนอร์ แม้ผู้ชุมนุมไม่ได้ท่าทีว่า จะเข้าไปในพื้นที่ราบ 1 แต่ตำรวจก็ตัดสินใจเคลื่อนกำลังจากสโมสรทหารบกและใช้กำลังในการจับกุม โดยไม่มีการเจรจาและทำร้ายร่างกายผู้ถูกจับด้วย ต่อมาในช่วงค่ำยังเริ่มใช้กระสุนยางที่ถือในแนวระนาบกับศีรษะ โดยไม่มีการแจ้งเตือน ตรงกันข้าม การใช้กระสุนยางเกิดขึ้นไล่เลี่ยกับตำรวจประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า “วันนี้ไม่มีการสลายการชุมนุม”
แม้ตำรวจจะพิจารณาแล้วเห็นว่า ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่มีอยู่ และขั้นตอนการสลายการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ได้บังคับใช้ แต่การกระทำใดๆจำต้องอยู่บนหลัก “ความจำเป็น” และ “ความเหมาะสม” ทั้งสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ที่นำกำลังเข้าสลายการชุมนุมได้พยายามหลีกเลี่ยงการใช้กำลังอย่างดีที่สุดแล้ว
๐ วันที่ 20 มีนาคม 2564 รีเด็มจัดชุมนุม #20มีนาไปสนามราษฎร เป็นการชุมนุมแบบปักหลักไม่เคลื่อนขบวน ก่อนหน้าเวลานัดหมายเจ้าหน้าที่ได้นำตู้คอนเทนเนอร์มาขวางเป็นแนวตั้งแต่กำแพงศาลฎีกา ถนนราชดำเนินในยาวไปปิดถนนหน้าพระลาน และพื้นที่โดยรอบเช่น ถนนมหาราชและถนนอัษฎางค์ พื้นที่ที่วางแนวกั้นนั้นเป็นพื้นที่ที่เดิมเคยจัดการชุมนุมได้และกรณีที่มีการปิดกั้นมักจะอ้างอำนาจตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เรื่องการห้ามชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐานคือ พระบรมมหาราชวัง ในขณะที่พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ได้บังคับใช้ จึงไม่แน่ชัดว่า ตำรวจได้ใช้ฐานอำนาจตามกฎหมายใดในการปิดกั้นพื้นที่
ต่อมาเมื่อผู้ชุมนุมบางส่วนเปิดแนวตู้คอนเทนเนอร์ออกหนึ่งแนว ตำรวจตัดสินใจสลายการชุมนุม โดยไม่ได้พิจารณาถึงมาตรการที่อาจหลีกเลี่ยงการจำกัดสิทธิการชุมนุมของผู้ชุมนุมรายอื่นๆ ที่ยังคงชุมนุมโดยสงบ แม้ว่า ตำรวจจะมีขั้นตอนในการแจ้งล่วงหน้าว่า จะให้ชุมนุมได้ในพื้นที่ที่กำหนด แจ้งเตือนขั้นตอนการใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนและมาตรการอื่นๆ เช่น ทางออกที่ปลอดภัย แต่ยังคงละเลยมาตรฐานสากลว่าด้วยการใช้กระสุนยางใช้ยิงในระดับศีรษะ โดยไม่มีการเจรจาและการแจ้งเตือนก่อนการใช้กระสุนยาง
อ่านการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564
ระบาดระลอก 3 : เสรีภาพล้มตายในยามที่โควิดยังยืนเด่นท้าพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
สถิติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ถึงปลายเดือนมีนาคม 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่น้อยกว่า 581 คน หรือคิดเป็น 268 คดี วัตถุประสงค์แรกเริ่มของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และบรรดาข้อกำหนดต่างๆ เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากความต้องการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่ท้ายสุดผู้ชุมนุมทางการเมืองตกเป็นเป้าเฝ้าระวังการใช้มาตรการตามกฎหมายและถูกดำเนินคดีตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยที่ยังไม่มีรายงานว่า จุดเริ่มต้นการแพร่ระบาดของโรคเกิดจากการมารวมตัวกันเพื่อแสดงออกทางการเมืองในครั้งใด
ในทางตรงกันข้าม แม้จะใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พร้อมกับข้อกำหนดต่างๆ ต่อเนื่องมานานกว่า 1 ปีเต็มแล้ว การระบาดของโรคโควิด19 ก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในการระบาดระลอกที่ 3 ในเดือนเมษายน 2564 ที่มีจุดแพร่กระจายของเชื้อจากสถานบันเทิง และอีกหลายแห่งที่ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง ซึ่งกฎหมายที่อ้างว่ามีขึ้นเพื่อควบคุมสถานการณ์นี้นั้นไม่สามารถป้องกันหรือแก้ไขปัญหาได้
จากหลักฐานเชิงประจักษ์ ยังแสดงให้เห็นว่า ตำรวจมักหยิบเอาข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขึ้นมาอ้างต่อผู้ชุมนุมว่า การชุมนุมนั้นๆ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสั่งให้เลิกการชุมนุมโดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่า เป็นการชุมนุมในสถานที่แออัดหรือไม่ มีการคัดกรองโรคหรือไม่ ผู้ชุมนุมเดินทางมาจากพื้นที่ใด หรือเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโรครุนแรงเพียงใด จนกระทั่งการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมก็ยังอ้างว่า เป็นเพราะผู้ชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
การใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งสั่งห้าม จับกุม และดำเนินคดี ประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุม โดยมีเงื่อนไขการห้ามชุมนุมที่กว้างขวางและเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ตลอดเวลา ทั้งที่ยังมีพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นกฎหมายหลักในการควบคุมดูแลการชุมนุมอยู่ เป็นสถานการณ์คล้ายกับยุครัฐบาลเผด็จการทหาร ที่มีทั้งพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ใช้ควบคู่กันไป ให้อำนาจและดุลพินิจกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเต็มที่ในการเลือกหยิบกฎหมายที่มีประโยชน์กับตัวเองมาอ้างอิง