1047 1329 1109 1586 1228 1896 1815 1664 1655 1053 1421 1136 1615 1822 1916 1292 1067 1474 1779 1288 1256 1899 1106 1282 1320 1920 1899 1641 1718 1513 1295 1596 1427 1539 1129 1212 1010 1456 1674 1880 1073 1736 1854 1485 1839 1204 1804 1497 1871 1437 1864 1385 1761 1993 1580 1428 1670 1624 1540 1095 1107 1513 1100 1142 1047 1971 1229 1786 1197 1424 1650 1430 1016 1844 1163 1936 1238 1182 1460 1309 1905 1418 1637 1123 1983 1611 1401 1952 1095 1975 1734 1529 1359 1310 1036 1326 1901 1074 1948 มาตรา 112 ถูกใช้ไปไกลแค่ไหน ในยุคที่มีการชุมนุมของคณะราษฎร - นักศึกษา 2563 | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

มาตรา 112 ถูกใช้ไปไกลแค่ไหน ในยุคที่มีการชุมนุมของคณะราษฎร - นักศึกษา 2563

 
1639
 
ในปี 2563 เราค่อยๆ ได้เห็นการไต่ระดับของปรากฎการณ์ "พังฝ้าทะลุเพดาน" ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยมาก่อน  เริ่มต้นจากการชุมนุมตามสถานศึกษาของนักเรียนนักศึกษาตั้งแต่ช่วงต้นปีเรื่อยมาจนมีการชุมนุมใหญ่เกิดขึ้นหลายครั้งช่วงกลางปีและปลายปี นัยยะสำคัญของการเคลื่อนไหวรอบนี้ไม่ใช่แค่จำนวนคนที่ออกมาร่วมชุมนุม แต่รวมถึงข้อเรียกร้องที่มีความหนักแน่น ชัดเจน และตรงไปตรงมาแบบที่ไม่เคยปรากฎในครั้งไหนๆ 
 
การเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกพูดถึงเป็นครั้งแรก โดยอานนท์ นำภา เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดยในการปราศรัยครั้งนั้น ประเด็นที่ถูกหยิบขึ้นมาพูดคือการขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ และความจำเป็นที่ต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 
 
อย่างไรก็ดี การปราศรัยในครั้งนั้นของ อานนท์ นับเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะหลังจากนั้น ในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้แถลงย้ำจุดยืนอีกครั้งด้วยข้อเรียกร้อง 10 ประการเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันฯ โดยมีใจความสำคัญเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์และการจำกัดพระราชอำนาจให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 
 
นับจากนั้นเป็นต้นมา การชุมนุมเกือบทุกครั้งที่เกิดขึ้นก็จะมีประเด็น "ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์" เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องที่แกนนำจะต้องพูดถึงอยู่เสมอ และข้อหา "หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์" ตามมาตรา 112 ก็ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้งเมื่อการชุมนุมมีแนวโน้มเข้มข้นขึ้น แต่สำหรับผู้ปราศรัยในประเด็นปฏิรูปสถาบันฯ เมื่อถูกดำเนินคดีช่วงแรกก็จะถูกตั้งข้อหาฐาน "ยุยงปลุกปั่น" ตามมาตรา116 เป็นข้อหาที่หนักที่สุด จนกระทั่งในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ว่า จะบังคับใช้กฎหมาย “ทุกฉบับ ทุกมาตรา” กับผู้ชุมนุมที่กระทำผิดกฎหมาย และตั้งแต่นั้นมาก็เกิดเป็นกระแสการระดมตั้งข้อหามาตรา 112 กับการแสดงออกทางการเมืองระลอกใหม่ ที่กว้างขวางกว่าที่เคยเป็นมา
 
 
+++ 112 รีเทิร์น เมื่อข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ถูกนำกลับมาใช้จัดการผู้ชุมนุม +++
 
พริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นับเป็นแกนนำคนแรกที่ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือมาตรา 112 โดยได้รับหมายเรียกในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 นับเป็นการดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ครั้งแรกหลังจากที่มีการหยุดพักการใช้กฎหมายดังกล่าวไปตั้งแต่ต้นปี 2561
 
หลังจากที่พริษฐ์ ได้รับหมายเรียก ผู้ปราศรัยคนอื่นๆ ที่เคยพูดถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์ ก็ทยอยได้รับหมายเรียก โดยบางคนได้รับการแจ้งเป็นคดีใหม่ บางคนถูกเรียกกลับไป "รับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม" ในคดีที่เคยโดนแจ้งข้อกล่าวหาอื่นไว้ก่อนแล้ว แต่มาเพิ่มข้อหามาตรา 112 ในภายหลัง จากตารางบันทึกข้อมูลคดีของไอลอว์ นับถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 มีจำนวนคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 44 คดี โดยเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม 24 คดี  มีผู้ต้องหาอย่างน้อย 58 คนซึ่งในจำนวนนี้มีเยาวชนอย่างน้อย 3 คน 
 
และจากตารางข้อมูลคดีดังกล่าว พบว่าการดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในยุคการชุมนุมของราษฎร 2563 นี้มีการกระทำและพฤติการณ์หลากหลายรูปแบบที่ถูกดำเนินคดี 
 
๐ การปราศรัยในที่ชุมนุม มีนักกิจกรรมอย่างน้อย 33 คน ที่ถูกดำเนินคดีจากการกล่าวคำปราศรัยบนเวทีที่ชุมนุม เช่น การชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่สนามหลวง มีผู้ถูกดำเนินคดี 7 คน หรือการชุมนุม #26ตุลาไปสถานทูตเยอรมัน ที่หน้าสถานทูตเยอรมัน มีผู้ถูกดำเนินคดีมากถึง 13 คน 
 
๐ การแต่งกาย มีผู้ต้องหาอย่างน้อย 9 คนที่ถูกดำเนินคดีจากการสวมชุดไทย และเสื้อครอปท็อปเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม
 
๐ การแขวนป้ายผ้า/ชูป้าย/พ่นสีสเปรย์/ติดสติ้กเกอร์ มีผู้ต้องหาอย่างน้อย 7 คนที่ถูกดำเนินคดี
 
๐ การแสดงความคิดเห็นบนโซเชี่ยลมีเดีย มีผู้ต้องหาอย่างน้อย 11 คนที่ถูกดำเนินคดี โดยที่อย่างน้อย 5 คนได้แก่ อานนท์, ปนัสยา, พริษฐ์, ภาณุพงษ์ และชลธิชา ถูกแจ้งข้อหาจากกิจกรรมโพสต์ “จดหมายถึงกษัตริย์” เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 นอกจากนี้ ยังมีกรณีของสมบัติ ทองย้อย และทราย เจริญปุระ ที่ถูกดำเนินคดีจากการโพสต์ข้อความว่า "#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ" 
 
๐ การผลิตสินค้าจำหน่าย มีผู้ต้องหาอย่างน้อย 3 คนที่ถูกดำเนินคดี จากการจำหน่ายปฏิทินเป็ดพระราชทานและการจัดพิมพ์หนังสือ “ปรากฎการณ์สะท้านฟ้า” ที่เป็นการรวบรวมบันทึกคำปราศรัยของอานนท์ 
 
 
(อ้างอิงจากตารางบันทึกคดีมาตรา 112 https://freedom.ilaw.or.th/node/817 )
 
1638
 
 
+++ ขอบเขตของม.112 อยู่ตรงไหน ประชาชนไม่เคยรู้ +++
 
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” 
 
ขอบเขตการตีความและการบังคับใช้มาตรา 112 เป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาที่มีการถกเถียงมากที่สุด เนื่องจากในแง่ตัวบทกฎหมายเองนั้น การบัญญัติให้องค์ประกอบความผิดที่ว่าด้วยการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายอยู่ด้วยกันในมาตราเดียว ย่อมทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการแสดงความคิดเห็นแบบใดเป็นความผิดบ้าง เนื่องจากเมื่อรวมกันแล้วเป็นองค์ประกอบความผิดที่กว้างมาก เปรียบเทียบกับความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา มาตรา 326 ที่ระบุบทนิยามของคำว่า "หมิ่นประมาท" ไว้ชัดเจนกว่า ประชาชนย่อมพอจะคาดหมายได้ว่า สิ่งใดที่ทำแล้วจะเป็นความผิดหรือไม่ อีกทั้งยังได้แยกความผิดฐานดูหมิ่นบุคคลธรรมดาไว้ในอีกมาตราหนึ่ง ส่วนการแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อบุคคลธรรมดาก็ไม่เป็นความผิด 
 
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 บัญญัติว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” 
 
นอกจากในแง่ของตัวบทแล้ว การบังคับใช้ก็นับเป็นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งเนื่องจากมีการตีความมาตรา 112 อย่างกว้างขวางเพื่อดำเนินคดีและเอาผิดกับการกระทำหลายรูปแบบอย่างไม่มีขอบเขต การกระทำบางอย่างดูเหมือนจะไม่ใกล้เคียงที่จะเป็นการ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย แต่ก็ถูกดำเนินคดี เช่น คดีนักศึกษาที่จ.ลำปาง แขวนป้ายผ้าข้อความว่า “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีน Covid19” หรืออย่างกรณีนักศึกษาที่จำหน่าย "ปฏิทินเป็ดเหลือง" ที่มีข้อความว่าปฏิทินพระราชทาน 
 
อย่างไรก็ตาม การตีความกฎหมายกว้าง ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคนี้ เพราะก่อนหน้านี้ ศาลเคยมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยโดยการตีความเกินตัวบทให้มาตรา 112 ครอบคลุมถึงรัชกาลที่ 4 หรือสมเด็จพระเทพฯ ทั้งที่ทั้งสองพระองค์นี้ไม่ได้เป็นบุคคลที่อยู่ในความคุ้มครองของมาตรา 112 
 
1637
 
 
+++ เมื่อกฎหมายตีความไปไกล ไม่ว่าจะพูดตรงๆหรือแสดงออกทางอื่น ก็โดน 112 +++ 
 
แกนนำผู้ปราศรัยหลายคนถูกดำเนินคดีจากการปราศรัยพาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงเรื่องพระราชอำนาจ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ และเรื่องอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งจากการติดตามบันทึกแจ้งข้อหาของศูนย์ทนายฯ พบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการถอดเทปคำปราศรัยและคัดเลือกถ้อยคำบางส่วนพร้อมกับระบุชัดเจนว่า ข้อความเหล่านั้นถือเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ จำเป็นต้องมีการดำเนินคดี 
 
อย่างไรก็ตาม มีผู้ต้องหาหลายคนที่ถูกดำเนินคดีจากการกระทำอื่นที่ไม่ใช่การปราศรัยหรือกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น
 
กรณีจตุพรและนภสินธ์ุเยาวชน 2 คน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามม. 112 จากการสวมเสื้อครอปท็อปและแต่งชุดไทย ไปเข้าร่วมการเดินแฟชั่นที่ถนนสีลมในกิจกรรม #เพราะทุกที่คือรันเวย์ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 โดยในบันทึกแจ้งข้อหาของจตุพร เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า ...การเดินบนพรมแดง สวมชุดหรือเครื่องแต่งกายและแสดงท่าทางประกอบการเดินแบบ โดยมีเจตนาให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นการแสดงการเสด็จเยี่ยมพสกนิกรของสมเด็จพระราชินี โดยระหว่างการเดินบนพรมแดง มีกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณโดยรอบที่ชมการแสดงอยู่ ได้แสดงท่าทางคล้ายหมอบกราบ การที่จตุพรได้แสดงท่าทางเลียนแบบจนบุคคลอื่นเข้าใจว่าเป็นการกระทำอันเป็นการล้อเลียนพระราชินี จนมีกลุ่มผู้ชุมนุมที่ชมการแสดงตะโกนว่า “พระราชินี” ตลอดการเดิน จึงเชื่อว่ามีเจตนาล้อเลียนสมเด็จพระราชินี ทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกเป็นการดูหมิ่น เกลียดชัง...
 
ส่วนกรณีของนภสินธุ์ มีการระบุว่า ...ที่แต่งกายสวมชุดเสื้อกล้ามครึ่งตัวสีดำ บริเวณผิวหนังด้านหลังปรากฎข้อความ “พ่อกูชื่อมานะไม่ใช่ วชิราลงกรณ์” แปลความได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ใช่พ่อกู เป็นการแสดงออกโดยมีเจตนาให้ประชาชนทั่วไป รู้สึกดูหมิ่นหรือเกลียดชัง สถาบันพระมหากษัตริย์ ประกอบกับแสดงกิริยาท่าทางประกอบโดยการเดินบนพรมแดง อีกทั้งผู้ชุมนุมโดยรอบที่ชมการแสดงอยู่ ตะโกนข้อความว่า “ทรงพระเจริญ” “ในหลวงสู้ๆ”พร้อมทั้งแสดงท่าทางคล้ายการหมอบกราบ เป็นการแสดงโดยเจตนาให้ประชาชนทั่วไปทราบว่าตนแสดงกิริยาท่าทางล้อเลียนพระมหากษัตริย์อันเป็นการทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชัง ลดคุณค่าต่อพระเจ้าอยู่หัว...
 
หรือ กรณีการดำเนินคดีกับทราย เจริญปุระ จากการชุมนุมหน้ากรมทหารราบที่ 11 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 ในบันทึกแจ้งข้อหามีข้อความปรากฎว่า ผู้ต้องหามีพฤติการณ์เป็นตัวการร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะร่วมกับแกนนำผู้ปราศรัยคนอื่นๆ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.บางเขนระบุพฤติการณ์ว่า "...อินทิรา มีหน้าที่จัดหารถตู้เพื่อใช้รับส่งประชาชนเพื่อให้ความสะดวกในการมาชุมนุมและเป็นผู้บริหารการทำงานของการ์ดและเป็นผู้ส่งอาหาร น้ำดื่มให้กับผู้ชุมนุม โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อมาใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์...” นอกจากนี้ยังได้มีการระบุพฤติการณ์อื่นประกอบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมว่า มีข้อความที่ปรากฎในเฟซบุ๊กของอินทิรา “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” “ก็ตาสว่างกันหมดแล้ว” “ฉันคงไม่กลับไปรักเธอ”  อันมีลักษณะเป็นการล้อเลียนสถาบันพระมหากษัตริย์ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ 
 
1636
 
 
+++ ไม่แจ้งพฤติการณ์คดี ตำรวจทำผิดขั้นตอนเสียเอง +++
 
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 บัญญัติว่า “เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียก หรือส่งตัวมา หรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเอง หรือปรากฏว่าผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนเป็นผู้ต้องหา ให้ถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิด และแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ทราบ”
 
กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดขั้นตอนในการแจ้งข้อหาของพนักงานสอบสวนไว้ว่า เมื่อผู้ต้องหามาปรากฎอยู่ต่อหน้าแล้ว จะต้องมีการถามชื่อ ข้อมูลส่วนตัว และต้องแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำผิดก่อนแล้วจึงแจ้งข้อหาให้ทราบ 
 
แต่มีเหตุการณ์อย่างน้อยหนึ่งครั้งที่พนักงานสอบสวนไม่ได้ทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด คือ กรณีการแจ้งข้อกล่าวหาคดีมาตรา 112 ต่อ พริษฐ์  เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 กรณีการปราศรัยที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 จากเอกสารบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ทำโดยตำรวจ สภ.เมืองขอนแก่น ระบุว่า "ผู้ต้องหาได้ร่วมกันกับพวกคบคิดและตกลงให้ผู้กระทำความผิดอื่นซึ่งยังไม่ปรากฎว่าเป็นผู้ใดทำหน้าที่ใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์(โทรศัพท์มือถือ) ล็อคอินเข้าระบบอินเทอร์เน็ตแล้วเข้าไปทำการถ่ายทอดสด(ไลฟ์สด)การปราศรัยของผู้ต้องหาผ่านเพจเฟซบุ๊ก “ขอนแก่นพอกันที” ซึ่งใช้ URL (ที่อยู่ทางอินเทอร์เน็ต)ว่า https://www.facebook.com/official.kkporgentee/ โดยตั้งค่าเป็นสาธารณะหรือที่บุคคลทั่วไปที่เป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กและเปิดใช้งานเฟซบุ๊กและเป็นผู้ติดตามหน้าเพจ "ขอนแก่นพอกันที" สามารถพบและฟังการปราศรัยผ่านเฟซบุ๊กได้ และการปราศรัยดังกล่าวมีประชาชนทั่วไปติดตามและฟังการปราศรัยเป็นจำนวนมาก และในการปราศรัยของผู้ต้องหา มีถ้อยคำปรากฎตามบันทึกการถอดคำปราศรัยโดย ส.ต.อ.สุทธิเทพ สายทอง จำนวน 6 แผ่นที่พนักงานสอบสวนได้ให้ผู้ต้องหาตรวจสอบและอ่านดูข้อความโดยตลอดแล้ว เป็นถ้อยคำที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย รัชกาลที่ 9 (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) และรัชกาลที่ 10 (พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว)"
 
การแจ้งข้อหาดังกล่าว มีข้อสังเกตคือ โดยหลักแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ในการบรรยายข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาให้พอเข้าใจถึงการกระทำความผิด ซึ่งถ้าเป็นกรณีการปราศรัยในที่ชุมนุม คดีอื่นๆ เกือบทุกคดีจะมีการถอดเทปคำปราศรัย และระบุชัดเจนว่า ข้อความตอนใดที่ตำรวจถือว่า เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
 
การแจ้งข้อกล่าวหาโดยไม่ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของการกระทำที่ถูกกล่าวหา สะท้อนให้เห็นถึงความละเลยและหละหลวมของกระบวนการยุติธรรมในชั้นตำรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจถือเป็นด่านแรกของกระบวนการยุติธรรม จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรอบคอบ รัดกุม เพื่อให้สิทธิของผู้ต้องหาได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ การไม่ระบุรายละเอียดให้ชัดเจนย่อมส่งผลให้ผู้ต้องหาไม่สามารถเข้าใจได้ว่าถูกดำเนินคดีจากการพูดประโยคใด และไม่สามารถเตรียมตัวเพื่อต่อสู้คดีได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ที่กฎหมายอาญามาตรา 112  เป็นประเด็นความขัดแย้งและมีอัตราโทษสูง การบังคับใช้ที่หละหลวมอาจมีผลต่อประเด็นทางการเมืองให้ขยายความขัดแย้งออกไปมากขึ้นได้
 
 
1635