1492 1048 1552 1807 1754 1704 1380 1837 1118 1021 1304 1659 1500 1632 1942 1975 1953 1269 1266 1063 1150 1731 1593 1126 1704 1041 1660 1954 1486 1206 1078 1861 1204 1536 1206 1490 1366 1888 1789 1670 1161 1500 1411 1981 1039 1325 1368 1150 1315 1043 1285 1879 1755 1611 1781 1034 1992 1764 1989 1300 1932 1147 1811 1874 1983 1648 1451 1919 1292 1748 1810 1014 1318 1205 1523 1335 1131 1755 1779 1068 1545 1028 1241 1201 1477 1606 1733 1089 1399 1357 1801 1376 1173 1874 1759 1714 1658 1300 1690 Reflection from Prison: ประสบการณ์ 6 วันในเรือนจำของ 'ฟ้า' นักศึกษาหญิงผู้ถูกจับพร้อมคณะราษฎรอีสาน | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

Reflection from Prison: ประสบการณ์ 6 วันในเรือนจำของ 'ฟ้า' นักศึกษาหญิงผู้ถูกจับพร้อมคณะราษฎรอีสาน

"มันเป็นจุดตกต่ำที่สุดในชีวิตของหนูเลย ได้แต่ถามตัวเองว่าทำไมต้องเจออะไรแบบนี้ แค่ออกมาเรียกร้องสิทธิ เรียกร้องสังคมที่ดีกว่า ตอนที่ปล่อยตัว ที่บ้านก็ไม่ได้มารอรับหนูนะ คุยกับแม่ทีหลังเขาบอกว่าอย่าไปทำอะไรแบบนี้ได้มั้ย หนูบอกว่าเรื่องอื่นหนูยินดีทำให้ เรื่องเรียนหรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ แต่เรื่องอุดมการณ์มันคงไม่ได้จริงๆ และมันเป็นทางที่หนูเลือกเอง“

‘ฟ้า’ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หนึ่งในผู้ถูกจับจากการสลายการชุมนุมคณะราษฎรอีสานนำโดยไผ่ ดาวดิน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 เปิดใจหลังได้รับอิสรภาพจากการถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลา 6 วัน

1580

“วันที่ 13 ตุลาคม หนูกับพี่ๆ ในเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันนั้นยังไม่ใช่วันชุมนุมใหญ่แต่ทางเครือข่ายฯ อยากไปให้กำลังใจพี่น้องที่มาชุมนุมและมาตั้งเต็นท์ล่วงหน้า ตอนแรกหนูก็ไม่ได้ตั้งใจจะอยู่ยาวแต่พอช่วงบ่ายพี่ไผ่ (ไผ่ ดาวดิน ) ขึ้นเวที หนูกับพี่ๆ ในเครือข่ายก็เลยอยู่ต่อ ไปๆ มาๆ พอตำรวจเขาร่วมกระชับวงล้อมเวทีหนูก็เลยมายืนคล้องแขนเป็นโล่มนุษย์ด้านหน้าเวทีกับเขาด้วย เนื่องจากตอนนั้นคนน้อยมากจริงๆ“

"ตอนแรกที่ตำรวจควบคุมฝูงชนใส่ชุดกันฝนสีส้มๆ ล้อมรถเวที หนูก็ยังไม่ได้รู้สึกกลัวอะไรมาก ระหว่างนั้นตำรวจก็พยายามบอกให้เราถอย พวกเราก็ได้แต่ตอบไปว่าเราไม่ได้ทำอะไรหรือจะบุกไปไหนเลย หลังจากนั้นตำรวจอีกชุดหนึ่งที่สวมชุดสนามสีน้ำเงินทำท่าจะดันเข้ามา ตอนนั้นที่หนูเริ่มกลัว ตำรวจชุดหนึ่งแบ่งกำลังไปรื้อเต๊นท์ที่กางไว้ พวกเราก็พะว้าพะวงเพราะหลายคนวางของไว้ที่เต๊นท์จนมีส่วนหนึ่งไปที่เต็นท์ คนที่อยู่ตรงรถเวทีก็เหลือน้อยลง เรายื้อกันไปมาตรงนั้นประมาณครึ่งชั่วโมงได้ จริงๆ ตำรวจที่ใส่ชุดกันฝนสีส้มเขาไม่ได้มีท่าทีที่รุนแรงกับพวกเรา ดูจากสีหน้าเหมือนบางคนก็ไม่ได้อยากจะเข้ามาทำอะไรพวกเรา แต่ก็มีคนที่น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบด้านหลังและเจ้าหน้าที่บางคนที่บอกให้ดันไปเลย แล้วสุดท้ายก็มีพวกเราส่วนนึงถูกจับตามข่าว“

"ตอนที่เขาเริ่มจับยอมรับว่าตอนนั้นไม่ได้คิดว่าตัวเองจะโดนด้วย เพราะหนูเองไม่ได้มีบทบาทอะไร และไม่เคยขึ้นปราศรัยเลย แต่ที่ไปยืนคล้องแขนกับเขาด้านล่างรถเวทีเป็นเพราะสถานการณ์ตอนนั้นมันถอยไม่ได้แล้ว แล้วตำรวจก็มาจับพี่คนหนึ่งที่คล้องแขนกับหนู หนูพยายามล็อกพี่เขาไว้ไม่ให้ตำรวจเอาไป ยื้อกันอยู่สักพักเหมือนเขาหมดความอดทนก็เลยมากระชากแขนหนูอีกข้างเลยโดนไปพร้อมกัน ตำรวจที่จับหนูเป็นผู้ชายแต่เขาก็ไม่ได้ทำอะไรหนู ได้แต่บอกว่าอย่าขัดขืนแล้วก็จับแขนหนูไว้ คงเป็นเพราะหนูไม่ได้ขัดขืนก็เลยไม่โดนอะไรเหมือนพี่ๆ ผู้ชายบางคนที่น่าจะมีกระทบกระทั่งกับตำรวจระหว่างถูกจับ" 

"รถตำรวจที่ใช้คุมตัวพวกเราอยู่ห่างออกไปจากจุดที่หนูถูกจับไม่มาก จำได้ว่าถูกจับแป๊ปเดียวก็มาถึงรถแล้ว หนูคิดว่าเขาตั้งใจจับพี่ไผ่ (จตุภัทร์หรือไผ่ ดาวดิน) เพราะพอพี่ไผ่มาที่รถเขาก็ปิดประตูแล้วออกรถไปเลย “พอไปอยู่ที่รถตอนแรกจำได้ว่าตัวเองรู้สึกกลัวมาก ใจเต้นแรงมาก แต่บนรถนอกจากหนูก็ยังมีพี่ๆ แล้วก็มีคนที่ดูมีอายุ 2 คนเป็นผู้หญิง 1 คน ผู้ชาย 1 คนรวมเป็น 19 คน แล้วก็มีตำรวจในชุดสีน้ำเงิน 2 คนนั่งอยู่ด้วย บนรถพี่ๆ ผู้ชายถูกใส่กุญแจมือที่เป็นพลาสติก ส่วนหนูกับพี่ผู้หญิงที่มาจากขอนแก่นแล้วก็คุณป้าอีกคนไม่ได้ใส่ พวกพี่ๆ พยายามถามตำรวจว่าจะเอาพวกเราไปที่ไหน แต่ตำรวจที่อยู่บนรถก็ไม่ยอมตอบอะไรพวกเราเลย แล้วพี่ไผ่กับพี่ๆ ในเครื่อข่ายฯก็ไลฟ์เฟซบุ๊กกันช่วงที่รถกำลังวิ่ง ตำรวจที่นั่งอยู่ข้างหลัง 2 คนก็ไม่พูดอะไรเลยว่าจะพาไปไหน ทำอะไร จับเพราะอะไร“

"ตอนนั้นมีหลายอารมณ์ความรู้สึก ทั้งเครียด ทั้งกลัว แต่พอหันไปเห็นพวกพี่ๆ ที่รู้จัก ก็รู้สึกสงบขึ้น บอกตัวเองว่าต้องอดทน เพราะรู้อยู่แล้วว่าการมาอยู่ตรงนี้ (มาร่วมชุมนุม) ถึงจุดๆ นึงมันก็มีโอกาสจะโดนจับหรือโดนคดี“พวกเราอยู่บนรถตำรวจประมาณชั่วโมงเศษๆ ก็มาถึง ตชด.ในเวลาประมาณ 5 โมงเศษ พอมาถึงทุกคนถูกเอาตัวมาอยู่รวมกันในห้องที่เป็นคล้ายห้องโถงใหญ่ห้องหนึ่ง รอในห้องนั้น พี่ๆ ผู้ชายที่ถูกใส่กุญแจมือก็ยังถูกใส่กุญแจมือต่อไปกระทั่งเวลาผ่านไปประมาณ 1-2 ชั่วโมงเขาถึงมาถอดออกให้ ระหว่างที่อยู่ในห้องพวกเราไม่ได้ถูกยึดโทรศัพท์ ทำให้ยังพอติดตามข่าวสารจากข้างนอกได้ เลยได้รู้ว่าจริงๆ ทนายมาแล้วแต่เขายังไม่สามารถเข้ามาพบพวกเราได้ แล้วก็ได้รู้ข้อหาต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่เตรียมจะดำเนินคดีกับเรา แต่กลับไม่มีเจ้าหน้าที่แจ้งเราเลยว่าถูกควบคุมตัวเพราะอะไร“

"กระทั่งเวลาประมาณ 5 ทุ่มหรือเที่ยงคืนเขาถึงเรียกพวกเราไปสอบสวน ห้องที่ใช้สอบสวนเป็นห้องโถงอีกห้องหนึ่ง ตำรวจเอาโต๊ะมาตั้งเรียงๆ กันแล้วแยกพวกเราไปสอบตามโต๊ะ ตอนที่สอบสวนก็มีทนายมานั่งข้างๆ ตำรวจแจ้งสิทธิแล้วก็ทำไปตามขั้นตอน เราให้การปฏิเสธอย่างเดียว ตอนนั้นหัวมันแบลงค์ไปหมด ไม่ใช่กลัวนะเพราะมันเลยจุดนั้นไปแล้ว ตอนที่นั่งสอบมีพี่ทนายอยู่ใกล้ๆ ก็รู้สึกสบายใจ หลังสอบปากคำเสร็จตำรวจก็ให้ไปพิมพ์ลายนิ้วมือกับถ่ายรูปทำประวัติ หนูไม่อยากพิมพ์เลยเพราะมันเหมือนว่าเราเป็นอาชญากรไปแล้วทั้งๆ ที่เราก็แค่เรียกร้องสิทธิของเรา“

"ตำรวจสอบปากคำหนูเสร็จประมาณตี 2 พี่บางคนเขาก็นอนกันหลังสอบปากคำเสร็จ หนูพยายามนอนแต่ก็ไม่หลับ จากนั้นพวกเราถูกพาตัวมารอที่ศาลตั้งแต่เช้า อยู่ที่ศาลจนค่ำ เวลาหมดไปกับการรอ รอจนเกือบหลับไปก็มี ตอนแรกไม่ได้กลัวอะไรเพราะข้อหานี้ไม่ใช่ข้อหาร้ายแรง อีกอย่างเราก็ไม่ได้ทำอะไรผิด ยังไงก็น่าจะได้ประกัน เชื่อแบบนั้น แล้วพอเข้ากระบวนการของศาล ตอนแรกก็เหมือนจะได้ประกันแล้วนะ แต่สุดท้ายศาลก็มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว พอได้ยินอย่างงั้นหนูก็ตกใจ อึ้งและโกรธมาก รู้สึกเลยว่าเราไม่ได้รับความยุติธรรม แล้วความรู้สึกอื่นๆ มันก็ประเดประดังเข้ามาเต็มไปหมด ทั้งกังวลว่าเข้าไปข้างในจะเป็นยังไง กังวลเรื่องเรียน แล้วก็เรื่องที่บ้าน หนูไม่ได้บอกเรื่องที่ตัวเองโดนจับหรือเรื่องที่จะถูกขังด้วยหลายๆ เหตุผล ทั้งกลัวเขาจะเป็นกังวล กลัวเขาจะโกรธ กลัวว่าเขาจะห้ามเราทำกิจกรรมอีกในอนาคต แต่ก็เชื่อว่าที่บ้านคงรู้อยู่แล้วเพราะเรื่องนี้เป็นข่าวดัง“

"เสร็จจากศาลมันก็ค่ำแล้ว พอรู้ว่าต้องไปเรือนจำก็ต้องเอาของมีค่าและโทรศัพท์ฝากพี่ทนายไว้ รถของเรือนจำแบ่งเป็น 2 ตอนมีลูกกรงกั้น หนูกับพี่ผู้หญิงจากขอนแก่นและคุณป้าอีกคนหนึ่งนั่งอยู่ตอนหน้า ส่วนพี่ผู้ชายอยู่ด้านหลัง พวกเราตะโกนคุยเพื่อปลุกขวัญกำลังใจกันตลอด เราตะโกน ‘ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎรจงเจริญ’ แล้วก็ท่องบทกลอนที่เกี่ยวกับเสรีภาพและประชาธิปไตยไปตลอดทาง“ความรู้สึกตอนนั้นไม่รู้จะอธิบายยังไง ได้แต่บอกตัวเองว่ายังไงก็ต้องเข้มแข็ง เข้มแข็งเท่านั้น รถเรือนจำวนไปส่งผู้ชายก่อน จากนั้นพวกเราที่เหลืออีก 3 คนก็ถูกพามาที่เรือนจำหญิง พอเห็นประตูเรือนจำตอนนั้นทั้งเครียดทั้งกลัวแล้วก็รู้สึกอยากจะหนี อยากจะหายตัวไปจากตรงนั้น แต่ก็ต้องตั้งสติให้ได้“

"พอเข้าเรือนจำเราก็ต้องเอาของทั้งหมดไปฝาก เจ้าหน้าที่นำผ้าถุงมาให้เรานุ่งแล้วถอดเสื้อผ้าที่เราใส่มาจากนอกเรือนจำต่อหน้าเขา ขั้นตอนนี้ทำในห้องที่ไม่ได้มิดชิดอะไรและทำพร้อมกันทั้ง 3 คนและจะมีเจ้าหน้าที่มาจับคู่กับพวกเราคนละคนตลอดขั้นตอน หลังเปลี่ยนเสื้อผ้าเสร็จเราถูกสั่งให้ลุกนั่ง 3 ครั้ง รู้สึกแย่นิดหน่อยค่ะที่ต้องมาทำอะไรแบบนี้ อายเขา อายตัวเองด้วย เสร็จจากตรงนั้นเขาก็พาไปตรวจร่างกายและทำประวัติ กว่าจะได้อาบน้ำและขึ้นเรือนนอนก็ประมาณตี 1 แล้ว หนูกับคุณป้าถูกขังไว้ในห้องเดียวกันส่วนพี่ที่มาจากขอนแก่นถูกแยกออกไปอีกห้องนึง“ห้องที่หนูถูกพาไปขังมีคนที่ถูกขังอยู่ประมาณ 40 กว่าคน จากนั้นทุกๆ วันก็จะมีคนเข้าคนออกอยู่ตลอด แต่จำนวนผู้ต้องขังจะอยู่ประมาณนี้ พวกเรานอนเรียงกันเป็น 3 แถว ต้องนอนตะแคงแล้วก็ต้องงอขา ไม่อย่างงั้นเท้าเราจะไปโดนคนที่นอนแถวถัดไป คนที่เข้าเรือนจำใหม่ช่วงนี้จะถูกกักตัว 14 วัน ตามมาตรการป้องกันโควิด เราไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากห้องขัง ยกเว้นช่วงที่ไปอาบน้ำและพบทนาย แล้วก็ไม่ได้รับอนุญาตให้พบญาติ“

"เอาเข้าจริงหนูว่าการกักตัวแทบไม่มีประโยชน์อะไรเลย อย่างแรกในห้องขังมันแออัดมาก ต้องนอนติดกันเพราะฉะนั้นลืมเรื่องเว้นระยะห่างไปได้เลย ส่วนการใช้น้ำล้างมือก็เป็นถังน้ำที่อยู่ตรงส้วม น้ำที่นี่จะไหลเฉพาะเวลากลางวันเท่านั้น พวกเราจะต้องรองน้ำให้เต็มก่อนมืดแล้วพอตกกลางคืน ผู้ต้องขังที่เป็นหัวหน้าห้องหรือ "แม่ห้อง" จะสั่งพวกเราว่าให้ใช้น้ำได้แค่คนละครึ่งขันเท่านั้นไม่อย่างงั้นคนที่ทำธุระกลางดึกจะไม่มีน้ำใช้“

"หนูถูกขังในเรือนจำทั้งหมด 6 วัน ถ้าถามว่าเรื่องอะไรที่รู้สึกแย่หรือรับไม่ค่อยได้ หลักๆจะมีอยู่ 3 อย่าง เรื่องแรกคือการอาบน้ำที่เขาให้เวลาแค่คนละ 15 วินาที เรียกว่าถ้าถูสบู่ทั้งตัวก็ล้างออกไม่ทัน พี่ที่เป็นผู้ช่วยผู้คุมเขาก็ช่วยด้วยการจัดให้หนูเป็นคิวแรกๆ แล้วนับ 1-15 ช้ากว่าคนอื่นนิดหน่อย หนูเองเพิ่งเข้าไปอยู่ในเรือนจำยังไม่ได้บัตรประจำตัวซึ่งเอาไว้ใช้ซื้อของกินของใช้ก็เลยซื้อผ้าเช็ดตัวหรือผ้าถุงไม่ได้ เวลาอาบน้ำต้องอาศัยผ้าถุง กองกลางที่มีคนใช้อาบเสร็จแล้วทิ้งไว้มานุ่งอาบน้ำต่อ เสร็จแล้วก็ต้องสวมเสื้อผ้าทับผ้าถุงเพื่อผลัดผ้ากลายเป็นว่าต้องใส่เสื้อผ้าชื้นๆ ผู้ต้องขังที่ไม่ค่อยมีเงินเลยมักมีปัญหาเป็นผื่นหรือโรคผิวหนัง เนื่องจากเวลาอาบน้ำไม่พอและอับชื้น"   

“เรื่องที่สองคืออาหาร ที่นี่มันจะมีกลิ่นเหม็นฉุนบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกับข้าวประเภทไหนก็จะมีกลิ่นแบบนั้นติดมา จะกินไม่หมดก็ไม่ได้เพราะถ้ามีคนในห้องกินไม่หมดเขาจะไม่ให้เติมอาหารในมื้อถัดไป คนที่กินเยอะเขาก็จะกินไม่พอ หนูเลยต้องฝืนกินให้หมดไป อีกอย่างคือเราจะได้รับแจกช้อนพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งมา 1 อัน แต่หนูต้องเอากลับมาล้างแล้วใช้ช้อนนั้นกินข้าวทุกมื้อ น้ำที่ใช้ล้างก็คือน้ำในส้วมนั่นแหละ“

"เรื่องที่สามคือการขับถ่าย เชื่อไหมว่าหนูไม่ถ่ายหนักเลยตลอดเวลาที่อยู่ในนั้น 6 วันแล้วก็ถ่ายเบาทั้งหมดแค่ 3 ครั้ง ยังแอบคิดอยู่ว่าถ้าต้องถูกฝากขังต่อมันจะเป็นยังไง“

"อีกเรื่องที่หนูติดใจมากๆ คือการปฏิบัติของผู้คุม ในเรือนจำเราจะต้องเรียกผู้คุมว่า "คุณ" ทุกครั้งที่คุณเดินผ่านเราจะต้องย่อตัว หนูก็แบบอิหยังวะมาก หนูไม่อยากจะย่อเลยเพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ทาส แต่ถ้าไม่ทำก็อาจมีบทลงโทษตามมาเลยต้องยอม“

"สำหรับกิจวัตรประจำวัน เราจะถูกปลุกมาตอนตี 5 เพื่อสวดมนต์ จากนั้นนอนต่อได้นิดหน่อย แล้วก็ไปอาบน้ำเคารพธงชาติ กินข้าว แล้วก็อยู่ในห้องนั้นทั้งวัน ตั้งแต่ถูกควบคุมตัวหนูกับอีก 2 คนที่ถูกจับจากการชุมนุมถูกสั่งห้ามพูดคุยหรือมีปฏิสัมพันธ์กับนักโทษคนอื่น ผู้คุมคงกลัวเราไปปลุกระดมคนในนั้น มันตลกแล้วก็ดูเป็นคำสั่งที่ประหลาดมากๆ แต่เราก็ต้องทำตาม เวลาผู้ต้องขังคนอื่นจะมาคุยด้วย หนูต้องหันหลังใส่กล้องแล้วทำปากขมุบขมิบเอา หนูไม่ใช่คนที่พูดเยอะ เป็นพวก introvert ไม่ชอบสุงสิงกับใครมากเลยพอจะจัดการอารมณ์ความรู้สึกตัวเองจากการถูกสั่งห้ามพูดคุยกับคนอื่นได้“พอคุยกับใครไม่ได้ สิ่งที่ยากที่สุดคือต้องจัดการตัวเองจากความคิดฟุ้งซ่าน บางทีหนูก็ใช้วิธีร้องเพลงเงียบๆ ในใจ แต่ละวันหนูจะนั่งดูนาฬิกาให้มันผ่านไปจนถึงเวลาที่ได้พบทนาย เพราะนั่นจะเป็นเวลาที่เรามีโอกาสได้รับรู้ข่าวสารจากโลกภายนอกและได้คุยกับคนอื่น หนูยังแอบคิดอยู่เหมือนกันว่า ถ้าพี่ๆ ทนายไม่ได้มาเยี่ยมเลยหนูคงอึดอัดไม่น้อย“

"พอครบ 6 วันหนูก็เฝ้ารอด้วยความหวังว่าเราน่าจะได้ออก แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้ปล่อยตัวมั้ย พอถึง 6 โมงเย็นมีเจ้าหน้าที่เข้ามาหาที่ห้อง เอาเอกสารมาให้เซ็นรับทราบว่าเขาจะฝากขังต่อ ตอนนั้นเครียดมาก จิตตก คือแบบเราทนมาได้ 6 วัน แต่ถ้าต้องอยู่ต่อมันคงไม่ไหวแล้ว สภาพจิตใจมันย่ำแย่จนไม่รู้จะบรรยายออกมายังไง แต่พอ 2 ทุ่มเขาก็มาบอกว่าตกลงจะได้ปล่อยตัวนะ ตอนนั้นคือแทบจะกรี๊ดออกมาเลย“

"ถามว่า 6 วันร้องไห้บ้างไหม หนูร้องไห้แบบหนักมากอยู่ครั้งเดียวคือ ช่วงบ่ายวันที่ 15 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันที่อยู่เรือนจำแบบเต็มวันเป็นครั้งแรก มีผู้คุมคนหนึ่งเรียกให้หนูกับคุณป้าที่ถูกจับมาด้วยกันไปคุยที่ห้องทำงาน ตอนนั้นหนูเก็บความรู้สึกอะไรหลายๆ อย่างเอาไว้ พอเขาถามว่าเป็นไงบ้างเท่านั้นแหละ ร้องเลย ความรู้สึกมันท่วมท้น หนูร้องออกมาจนหมด จากนั้นก็ไม่ร้องอีกเลย“

"มันเป็นจุดตกต่ำที่สุดในชีวิตของหนูเลย ได้แต่ถามตัวเองว่าทำไมต้องเจออะไรแบบนี้ แค่ออกมาเรียกร้องสิทธิ เรียกร้องสังคมที่ดีกว่า ตอนที่ปล่อยตัว ที่บ้านก็ไม่ได้มารอรับหนูนะ คุยกับแม่ทีหลังเขาบอกว่าอย่าไปทำอะไรแบบนี้ได้มั้ย หนูบอกว่าเรื่องอื่นหนูยินดีทำให้ เรื่องเรียนหรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ แต่เรื่องอุดมการณ์มันคงไม่ได้จริงๆ และมันเป็นทางที่หนูเลือกเอง“

"พูดถึงเรื่องครอบครัวหนูนึกย้อนไปถึงตอนอยู่ในเรือนจำ เราได้เห็นวิธีคิดและอคติของเจ้าหน้าที่ ตอนซักประวัติเขาจะถามเรื่องส่วนตัวโดยเฉพาะเรื่องครอบครัวเราเยอะมาก ทั้งที่บางคำถามเรากรอกเอกสารไปแล้ว แล้วก็ยังมาพูดอีกว่า ทำแบบนี้แม่จะเสียใจมั้ย ทำอะไรคิดเยอะๆ บ้างนะ อะไรทำนองนี้ เราก็ได้แต่คิดว่ามันไม่ใช่เรื่องของคุณที่จะมาพูดแบบนี้กับเรา แถมยังพูดอีกว่าระวังนะมาติดคุกแบบนี้จะหางานลำบาก เรื่องนี้เราคุยกับพี่ๆ นักกฎหมายแล้วว่าคดีแบบนี้มันคือคดีการเมือง ไม่น่าจะมีผลกระทบกับการทำงาน เพราะเราไม่ได้ไปก่ออาชญากรรมอะไร ส่วนถ้าองค์กรไหนจะไม่รับเราเพราะเหตุผลแบบนี้ เราคิดว่าเราคงไม่อยากอยู่ในองค์กรที่นิยมหรือมีวิธีคิดแบบเผด็จการเหมือนกัน“

"การที่เขาเอาเราไปขังคงหวังให้เรากลัวแล้วเลิกเคลื่อนไหว แต่เขาคงไม่รู้ว่านั่นยิ่งทำให้เราโกรธ การที่เราได้มาเห็นความเหลื่อมล้ำในเรือนจำที่คนมีเงินสามารถจ้างผู้ต้องขังด้วยกันซักผ้าหรือทำอะไรให้ได้ เรายิ่งอยากสู้ต่อ เราไม่อยากปล่อยให้สังคมมันเป็นแบบนี้อีกแล้ว"


----------


วันที่ 13 ตุลาคม นักกิจกรรมซึ่งส่วนหนึ่งเรียกตัวเองว่า "คณะราษฎรอีสาน" เดินทางมาตั้งเต็นท์เตรียมเข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ของคณะราษฎรในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 หลังพวกเขาตั้งเต็นท์บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยฝั่งแม็คโดนัลด์ราชดำเนินแล้วเสร็จและเริ่มตั้งเวทีปราศรัย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ใช้กำลังเข้ารื้อเต็นท์และทำการจับกุมผู้ชุมนุมรวม 21 คน ไปควบคุมตัวที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 ปทุมธานี หนึ่งคืน 

ผู้ถูกจับกุมทั้ง 21 คน ถูกตั้งข้อกล่าวหารวม 10 ข้อกล่าวหา ได้แก่ 

ชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง, ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์, ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเจ้าพนักงาน, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร, ร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, 358, 368, 385, 391 ตามลำดับ  

ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมทำกิจกรรมในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค 

กระทำการซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายแพร่ระบาดออกไป ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6)

ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114

ร่วมกันขูด กระเทาะ ขีด เขียน พ่นสี บนพื้นถนน, ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน ตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12, 19 ตามลำดับ

ขณะที่จตุภัทร์หรือ ไผ่ ดาวดิน ถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพิ่มเติมอีกข้อหาหนึ่ง 


ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่คณะราษฎรนัดชุมนุมใหญ่ ผู้ต้องหา 19 คน ไม่รวมจตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นที่ถูกดำเนินคดีในศาลอาญาและผู้ต้องหาเยาวชนอีกหนึ่งคนที่ถูกดำเนินคดีในศาลเยาวชน ถูกนำตัวไปที่ศาลแขวงดุสิตเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง ซึ่งศาลมีคำสั่งให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวนและไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้งหมดประกันตัวโดยอ้างเหตุว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์รุนแรงและต่อสู้กับเจ้าพนักงาน ผู้ต้องหาทั้ง 19 คนถูกฝากขังเป็นเวลา 6 วัน ก่อนจะได้รับการประกันตัวในวันที่ 19 ตุลาคม 2563 เบื้องต้นศาลแขวงดุสิตไม่อนุญาตให้ผู็ต้องหาทั้ง 19 คน ประกันตัว แต่ทั้งหมดอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมดในวันเดียวกัน