1102 1533 1043 1088 1352 1941 1841 1599 1393 1357 1294 1904 1692 1606 1846 1351 1315 1609 1654 1039 1445 1750 1705 1382 1959 1031 1240 1221 1168 1040 1329 1963 1275 1003 1269 1935 1022 1000 1032 1825 1121 1243 1793 1293 1291 1975 1725 1265 1510 1930 1312 1494 1549 1061 1878 1571 1744 1360 1278 1497 1989 1190 1410 1714 1725 1699 1509 1371 1688 1638 1320 1564 1023 1600 1579 1871 1569 1280 1517 1898 1639 1278 1791 1204 1082 1044 1051 1466 1534 1376 1163 1681 1308 1711 1957 1066 1205 1743 1995 ข้อเท็จจริงเหตุการณ์จับกุม 'ผู้ปราศรัย' รวม 13 คน และพฤติการณ์สร้างความกลัว | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ข้อเท็จจริงเหตุการณ์จับกุม 'ผู้ปราศรัย' รวม 13 คน และพฤติการณ์สร้างความกลัว

การเมืองบนท้องถนนระอุขึ้นมากอีกครั้งหลัง #เยาวชนปลดแอก จัดการชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 และหลังจากนั้นก็มีการชุมนุมในรูปแบบ "แฟลชม็อบ" เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศแทบทุกวัน โดยข้อเรียกร้องหลักสามข้อของผู้ชุมนุมหลายๆกลุ่ม สอดคล้องกัน ได้แก่
 
1. หยุดคุกคามประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหว 
2. ให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมผ่านการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ สสร. 
3 ให้พล.อ.ประยุทธ์ยุบสภา เปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่
.
ในบรรดาการชุมนุมที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม มีอย่างน้อยสามครั้งที่ผู้ถูกจับกุมถูกตั้งข้อกล่าวหาฐาน "ยุยงปลุกปั่น"ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ได้แก่ การชุมนุม #เยาวชนปลดแอก ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563, การชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตยวันที่ 3 สิงหาคม 2563 และการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ในวันที่ 10 สิงหาคม 2563
.
มีข้อน่าสังเกตว่า การดำเนินคดีกับผู้ปราศรัยหรือผู้ร่วมการชุมนุมทั้งสามครั้งเกิดขึ้นหลังวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากที่ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกหยิบยกมาปราศรัยในการชุมนุมอย่างเป็นสาธารณะ ทั้งในมิติของกฎหมายและพระราชอำนาจ และการดำเนินการกับผู้ต้องหาก็มีการใช้วิธีการออกหมายจับเพื่อจับกุมทันทีโดยไม่ออกหมายเรียกให้ไปรายงานตัวก่อน ซึ่งต่างจากการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมกรณีอื่นๆ ที่หากเจ้าหน้าที่ไม่จับกุมในพื้นที่การชุมนุมเลยก็จะใช้วิธีออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาก่อน
.
มีข้อน่าสังเกตด้วยว่า มีอย่างน้อยสองกรณีที่เจ้าหน้าที่จับกุมตัวผู้ต้องหาช่วงเย็นวันศุกร์และนำตัวไปฝากขังในช่วงหลังเวลาราชการ 

1492
คดีการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก 18 กรกฎาคม 2563

การชุมนุมที่จัดโดยกลุ่ม "เยาวชนปลดแอก" ร่วมกับสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.)นับเป็นการชุมนุมขนาดใหญ่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นบนถนนราชดำเนินหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 เริ่มคลี่คลายลงโดยมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมไม่น้อยกว่า 5,000 คน ในวันที่จัดการชุมนุมมีเหตุกระทบกระทั่งกันเล็กน้อยระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจแต่สุดท้ายไม่มีผู้ใดถูกจับกุมตัว 

ต่อมาในวันที่ 7 สิงหาคม มีการเปิดเผยว่าพนักงานสอบสวนสน.สำราญราษฎร์ ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่การชุมนุมขอให้ศาลออกหมายจับผู้ต้องหารวม 15 คน ในข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, ชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และร่วมกันจัดการชุมนุมในลักษณะสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคตามข้อกำหนดออกโดยมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เบื้องต้นมีการเปิดเผยรายชื่อผู้ถูกออกหมายจับเพียงรายเดียว คือ อานนท์ นำภา และน่าสังเกตว่าการเปิดเผยข้อมูลเรื่องหมายจับนี้เกิดขึ้นสี่วันหลังอานนท์นำภาปราศรัยประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในการชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย ในวันที่ 3 สิงหาคม 2563

บ่ายวันที่ 7 สิงหาคม 2563 อานนท์ นำภา ถูกจับกุมตัวเป็นคนแรกจากนั้นในเวลาไล่เลี่ยกันภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ "ไมค์ ระยอง" ซึ่งเป็นผู้ปราศรัยในงานอีกคนหนึ่งก็ถูกจับกุมตัวด้วย ภาณุพงศ์ถูกนำตัวไปที่สน.สำราญราษฎร์เพื่อสอบปากคำและแจ้งข้อกล่าวหา ส่วนอานนท์ถูกส่งตัวไปที่สน.บางเขน และต่อมาทั้งสองคนก็ถูกส่งตัวไปที่ศาลอาญาในช่วงค่ำเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง ซึ่งในช่วงเวลาประมาณ 22.30 น. ศาลได้สั่ง "คืนคำร้องฝากขัง" ให้พนักงานสอบสวน โดยให้เหตุผลว่า พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องฝากขังนอกเวลาราชการ หลังจากนั้นตำรวจได้นำตัวทั้งสองคนไปควบคุมไว้ที่สน.ห้วยขวาง และนำตัวไปขออำนาจศาลอาญาฝากขังอีกครั้งในช่วงเช้าวันที่ 8 สิงหาคม 2563 ซึ่งศาลอนุญาตให้ฝากขังก่อนจะอนุญาตให้ทั้งสองประกันตัวในช่วงเย็น โดยตีราคาประกันคนละ 100000 บาท พร้อมกับหนดเงื่อนไขว่าหากทั้งสองกระทำการในลักษณะเดียวกับการกระทำในคดีนี้จะถือว่าผิดสัญญาประกัน

หนึ่งสัปดาห์ต่อมาในวันที่ 14 สิงหาคม ในเวลาประมาณ 16.30 น. เจ้าหน้าที่จับกุมตัวพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่เมืองทองธานีก่อนที่พริษฐ์จะไปร่วมการปราศรัยในการชุมนุมท่าน้ำนนท์ ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงเย็นวันเดียวกัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า หลังการจับกุมเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะนำตัวพริษฐ์ไปที่สน.สำราญราษฎร์โดยพริษฐ์ถูกนำตัวขึ้นไปบนรถที่ไม่มีการประทับตราของหน่วยงานราชการ เบื้องต้นมีกระแสข่าวว่าหลังพาตัวไปสอบปากคำที่สน.สำราญราษฎร์แล้วพริษฐ์อาจถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่สถานีตำรวจอื่น แต่สุดท้ายก็ไม่มีการย้ายตัว พริษฐ์ถูกนำตัวส่งไปศาลอาญาในวันรุ่งขึ้นเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง ซึ่งศาลอนุญาตตามคำร้องของตำรวจแต่ก็ให้ประกันตัวโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ โดยกำหนดเงื่อนไขว่าหากกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาคดีนี้อีกจะถือว่าผิดสัญญาประกัน

จนกระทั่งวันที่ 19 สิงหาคม 2563 จึงมีการจับกุมผู้ต้องหาเพิ่มเติมอีก 3 คน ได้แก่ บารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน, กรกช แสงเย็นพันธุ์ จากกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และ สุวรรณา ตาลเหล็ก จากกลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย บารมีถูกจับกุมเป็นคนแรกในเวลาประมาณ 21 นาฬิกาบริเวณใกล้วัดบวรนิเวศระหว่างที่เขากำลังเดินทางไปให้กำลังใจอานนท์ นำภา ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่สน.ชนะสงคราม เมื่อบารมีถูกนำตัวไปที่สน.สำราญราษฎร สุวรรณาและกรกชได้ติดตามไปให้กำลังใจบารมีทั้งสองจึงถูกจับกุมตัวที่บริเวณใกล้เคียงกับสน.สำราญราษฎร์ จากนั้นในวันรุ่งขึ้นจึงมีการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับเพิ่มเติมอีก 5 คน ได้แก่ เดชาธร บำรุงเมือง นักร้องวง Rap Against Dictatorship, ทศพร สินสมบุญ, ธานี สะสม, ณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์ และธนายุทธ ณ อยุธยา รวมระหว่างวันที่ 19 และ 20 สิงหาคม มีผู้ถูกจับกุมในคดีนี้เพิ่มเติมทั้งหมด 8 คน 

จากนั้นวันที่ 26 สิงหาคม 2563 ในเวลา 12.00 น.ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี  หรือ "ฟอร์ด" จากกลุ่มเยาวชนปลดแอกซึ่งเป็นกลุ่มที่ประกาศจัดการชุมนุมและภานุมาศ สิงห์พรมก็ถูกจับตัวไปที่สน.สำราญราษฎรและถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลในเย็นวันเดียวกันก่อนที่ทั้งสองจะได้รับการปล่อยตัวโดยใช้ตำแหน่งนักวิชาการและตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

คดีการชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย 

วันที่ 3 สิงหาคม 2563 เครือข่ายมอกะเสดและกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยจัดการชุมนุม เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย ระหว่างการชุมนุมครั้งนั้นอานนท์ นำภา อภิปรายถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในหลายๆ มิติ เช่น การแก้ไขกฎหมายและพระราชอำนาจ การชุมนุมผ่านพ้นไปด้วยดีแต่หลังจากนั้นช่วงเย็นวันที่ 19 สิงหาคม 2563 อานนท์ นำภาก็ถูกจับกุมหลังทำงานเป็นทนายความที่ศาลอาญา 

อานนท์ นำภา โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กตั้งแต่ช่วงบ่ายว่า ตัวเขากำลังว่าความอยู่ที่ศาลอาญาและมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมารอจับกุมตัวเขาอยู่ที่ศาล แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการแสดงตัวอย่างเป็นทางการ อานนท์ไม่มั่นใจในความปลอดภัยจึงรออยู่ในบริเวณศาลจนกระทั่งเวลาประมาณ 19.30 น. ผู้อำนวยการศาลอาญาแจ้งอานนท์ว่าหมดเวลาทำการแล้วขอเชิญให้ออกนอกบริเวณศาล อานนท์จึงออกมาจากบริเวณศาลจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ชนะสงครามซึ่งรับผิดชอบท้องที่เกิดเหตุจึงแสดงตัวพร้อมหมายจับเข้าทำการจับกุม อานนท์ถูกควบคุมตัวจากศาลไปที่สน.ชนะสงครามและถูกควบคุมตัวอยู่ที่นั่นหนึ่งคืน ในวันรุ่งขึ้นจึงถูกนำตัวมาฝากขังที่ศาลอาญา ศาลอนุญาตให้ฝากขังอานนท์ นำภา และให้ประกันตัวโดยยังไม่ต้องวางหลักทรัพย์ 
นับจนถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2563 นอกจากอานนท์ยังไม่มีบุคคลใดถูกออกหมายเรียกหรือจับกุมตัวเพิ่มเติมจากเหตุการชุมนุมในครั้งนี้
 
คดีการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน

วันที่ 10 สิงหาคม 2563 เครือข่าย #ธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต การชุมนุมครั้งนั้นมีไฮไลท์อยู่ที่การอ่านข้อเรียกร้องสิบข้อเพื่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เข้ากับการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยอานนท์ นำภา และภาณุพงศ์ จาดนอกก็ได้ขึ้นปราศรัยและพูดถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยเช่นกัน จากนั้นมีรายงานในวันที่ 19 สิงหาคม 2563 ว่า พนักงานสอบสวนสภ.คลองหลวงขออำนาจศาลจังหวัดธัญบุรีออกหมายจับผู้ต้องหาที่ร่วมการปราศรัยในการชุมนุมครั้งนี้รวม 6 คน ได้แก่ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ภาณุพงศ์ จาดนอก, อานนท์ นำภา, ณัฐชนน ไพโรจน์, ธนวัฒน์ จันผลึก และสิทธิ์นนท์ ทรงศิริ 
.
จากนั้นในวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ระหว่างที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่จังหวัดระยอง ภาณุพงศ์ได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์โดยนำป้ายเขียนข้อความ "ถมทะเล 1000 ไร่ ชาวระยองได้อะไร" ไปชูประท้วงนายกรัฐมนตรี ระหว่างที่ภาณุพงศ์กำลังทำกิจกรรมเจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายจับศาลธัญบุรีมาแสดงและทำการจับกุมภาณุพงศ์ เขาถูกพาตัวมาที่สภ.คลองหลวงในวันเดียวกันโดยมาถึงที่หมายในเวลาประมาณ 19.30 น. ภาณุพงศ์ถูกควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจเป็นเวลาหนึ่งคืนก่อนจะถูกนำตัวไปฝากขังในวันที่ 25 สิงหาคม 2563 
.
ในวันเดียวกันทางตำรวจนำหมายจับไปแสดงและทำการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับอีกคนหนึ่งคืออานนท์ นำภา ซึ่งในช่วงเช้าเดินทางไปสน.นางเลิ้งเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาจากการจัดการชุมนุมที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 โดยเจ้าหน้าที่จากสภ.คลองหลวงได้แสดงหมายจับกับอานนท์หลังเสร็จสิ้นขั้นตอนการรับทราบข้อกล่าวหาในคดีที่สน.นางเลิ้งและนำตัวอานนท์ไปที่สภ.คลองหลวงทันทีก่อนจะนำตัวไปส่งศาลในวันเดียวกัน ซึ่งศาลให้อานนท์และภาณุพงศ์ประกันตัวในช่วงเย็นวันเดียวกันโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์และไม่กำหนดเงื่อนไข

• ข้อน่าสังเกตบางประการเกี่ยวกับการจับกุม

1.ตำรวจออกหมายจับผู้ชุมนุมโดยไม่ออกหมายเรียกก่อน

ประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 66 กำหนดว่า การออกหมายจับสามารถทำได้เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลที่ถูกออกหมายจับทำความผิดทางอาญาในคดีที่มีอัตรโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี หรือเมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลที่ถูกออกหมายจับน่าจะทำความผิดและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือจะไปก่อความอันตรายหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไม่มีตามหมายเรียกหรือหมายนัด 

ผู้ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี จึงอยู่ในข่ายที่จะถูกออกหมายจับได้เลย อย่างไรก็ตามพนักงานสอบสวนก็สามารถใช้ดุพินิจได้ว่าหากผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและไม่ได้มีพฤติการที่จะไปก่อความเสียหายร้ายแรงก็สามารถออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาก่อนได้ เมื่อไม่มาตามหมายเรียกโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรค่อยออกหมายจับภายหลัง 

ดังเช่นกรณีของผู้ต้องหาคดีผู้จัดการชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่สกายวอล์กปทุมวัน ที่ถนนราชดำเนิน และที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก ทั้งสามคดีผู้ต้องหาต่างถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ออกหมายจับในทันที หากแต่ออกหมายเรียกก่อนซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดก็มารายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาและเข้าสู่กระบวนการต่อสู้คดี อานนท์เองก็เคยถูกดำเนินคดีร่วมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งทั้งสามคดีที่กล่าวมาและก็ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่อย่างดี ส่วนผู้ต้องหาคนอื่น เช่น สุวรรณาก็เคยถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งซึ่งเธอก็ไปรายงานตัวตามหมายเรียกทุกครั้ง จึงสมควรตั้งคำถามว่าการออกหมายจับทันทีโดยไม่ออกหมายเรียกเป็นการใช้อำานจเกินสมควรแก่เหตุหรือไม่

2.ความเหมาะสมของพฤติการณ์การจับกุม

การจับกุมอานนท์และภาณุพงศ์ในคดี #เยาวชนปลดแอก เจ้าหน้าที่ทำการจับกุมตัวทั้งสองในช่วงบ่ายถึงเย็นและเร่งรีบนำทั้งสองไปศาลเพื่อขอฝากขังในช่วงค่ำหลังเวลาราชการ มีคำถามว่าเหตุใดจึงไม่ควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งสองไว้ก่อนแล้วค่อยนำตัวไปศาลในเวลาราชการเพราะพนักงานสอบสวนเองก็มีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาที่สถานีตำรวจไม่เกิน 48 ชั่วโมงอยู่แล้ว

การเลือกเวลาจับกุมตัว กรณีของเดชาธร นักร้องวง Rap Against Dictatorship ซึ่งมีรายงานว่าบุคคลที่น่าจะเป็นภรรยาของโพสต์ข้อความตำหนิพฤติการณ์การจับกุมของเจ้าหน้าที่ว่าทางเจ้าหน้าที่เองก็ติดตามความเคลื่อนไหวของสามีตัวเองและครอบครัว ก็น่าจะรู้ว่าเวลาที่ทำการจับกุมเดชาธรจะมีลูกเล็กไปด้วย แต่กลับเลือกจับกุมตัวในเวลานั้นรวมทั้งยังตั้งคำถามว่า เหตุใดขณะที่ขอนำรถยนต์กลับไปจอดที่บ้าน ตำรวจหญิงที่มานั่งบนรถต้องบันทึกภาพตัวเองกับลูกด้วย  

กรณีการจับกุมพริษฐ์ในวันที่ 14 สิงหาคม 2563 ซึ่งทางตำรวจก็ติดตามความเคลื่อนไหวของเขาอยู่แล้ว แต่ก็เลือกทำการจับกุมก่อนหน้าที่เจ้าตัวจะไปร่วมปราศรัยในการชุมนุมไม่นาน จึงมีคำถามว่า การเลือกจับกุมในเวลาดังกล่าวเป็นไปเพื่อสกัดกั้นการเข้าร่วมปราศรัย หรือมีเหตุผลอื่นใดให้ต้องทำการจับกุมในเวลานั้น

มีสามกรณีที่เจ้าหน้าที่เลือกจับตัวผู้ต้องหาช่วงเย็นวันศุกร์ ได้แก่ กรณีการจับกุมอานนท์และภาณุพงศ์ในวันที่ 7 สิงหาคม 2563 และการจับกุมพริษฐ์ในวันที่ 14 สิงหาคม 2563 แม้ว่าศาลจะมีระบบผู้พิพากษาเวรที่ทำหน้าที่พิจารณาคำร้องฝากขังหรือคำร้องประกันตัวช่วงเช้าวันเสาร์ แต่หากผู้ต้องหาต้องการเข้าถึงความช่วยเหลือในการประกันตัว เช่น ขออนุมัติหลักทรัพย์จากกองทุนยุติธรรมก็อาจติดขัดในเรื่องวันหยุดราชการด้วย

กรณีของสุวรรณา ผู้ต้องหาคดีการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก ซึ่งถูกจับกุมช่วงค่ำวันที่ 19 สิงหาคม 2563 มีรายงานการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่เพื่อจับกุม โดยระหว่างที่สุวรรณากำลังจะขึ้นรถของเพื่อนไปที่สน.สำราญราษฎร มีกลุ่มชายฉกรรจ์ที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่แต่ไม่แสดงตัวหรือหมายจับกระชากตัวเธอออกจากรถเพื่อสอบถามว่าจะไปที่สน.สำราญราษฎรใช่หรือไม่ ถ้าใช่ ให้ไปกับพวกเขา ซึ่งสวรรณาปฏิเสธเพราะชายฉกรรจ์กลุ่มดังกล่าวไม่ยอมแสดงตัวหรือหมายจับ จนกระทั่งเมื่อสุวรรณามาถึงที่สถานีตำรวจชายฉกรรจ์กลุ่มเดิมจึงได้แสดงตัวและหมายจับเพื่อทำการจับกุม 

3. พฤติการณ์การติดตามตัวที่มีลักษณะสร้างความหวาดกลัวและความรู้สึกไม่ปลอดภัย

นอกจากการจับกุมตัวตามหมายจับอย่าเงป็นทางการแล้ว พฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าทำการจับกุมก็เป็นประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตได้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น กรณีการจับกุมอานนท์ในวันที่ 19 สิงหาคม 2563 ที่เจ้าหน้าที่ส่งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปติดตามที่ศาล ทั้งที่น่าจะทราบอยู่แล้วว่าอานนท์ว่าความอยู่ที่ศาลไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี ซึ่งหากมีการติดต่อประสานงานอย่างเป็นทางการอานนท์ก็น่าจะยินดีให้ตำรวจจับกุมหลังว่าความเสร็จ โดยไม่จำเป็นต้องส่งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่เป็นชายฉกรรจ์และบางคนอาจไม่แสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ไปติดตามในบริเวณศาลจนอานนท์รู้สึกไม่ปลอดภัย 
หรือกรณีของจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ผู้ต้องหาตามหมายจับในคดีเยาวชนปลดแอก กับกรณีของปนัสยา ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ซึ่งทั้งสองเป็นผู้หญิง โดยมีรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปติดตามที่หอพักโดยไม่แสดงตัวและไม่แจ้งเหตุผลจนทำให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย

การตอบสนองของประชาชนต่อการจับกุมและการรับมือของฝ่ายรัฐ

ทั้งนี้ในช่วงที่มีการจับกุมนักกิจกรรมได้มีการเคลื่อนไหวของประชาชนเกิดขึ้น ได้แก่ การไปรวมตัวที่หน้าสถานีตำรวจหรือหน้าศาลเพื่อให้กำลังใจหรือเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมตัว หากเป็นการควบคุมตัวที่สถานีตำรวจข้ามคืน ก็ปรากฎว่า จะมีประชาชนส่วนหนึ่งนอนค้างคืนที่สถานีตำรวจด้วยเพื่อรอติดตามความเคลื่อนไหวและเพื่อความมั่นใจว่าผู้ถูกจับกุมจะไม่ถูกนำตัวไปที่อื่นโดยพลการ 
ขณะเดียวกันศาลและสถานีตำรวจก็รับมือโดยการจัดการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด ห้ามไม่ให้ผู้เกี่ยวข้องกับคดีเข้าพื้นที่ศาลหรือสถานีตำรวจทุกกรณี รวมทั้งมีการทำป้ายข้อกำหนดขนาดใหญ่มาติดด้วย เช่น

บริเวณหน้าศาลอาญามีแผ่นป้ายข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลมาติดไว้ ซึ่งเป็นประกาศที่เพิ่งออกเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ส่วนที่สถานีตำรวจเช่นที่สภ.คลองหลวงมีการติดข้อกำหนดสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในบริเวณสถานีตำรวจ ซึ่งมีสาระสำคัญห้ามประพฤติตนก่อความวุ่นวาย ใช้คำพูดหรือกริยาในทางที่ก่อไม่เกิดความสงบเรียบร้อย ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจคัดกรองอนุญาตให้บุคคลเข้าออกพื้นที่ ห้ามไม่ใช้โทรโข่งหรือเครื่องขยายเสียงในพื้นที่สภ.คลองหลวงเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ และห้ามห้ามบันทึกภาพ เสียง หรือถ่ายทอดสดหรือกระทำการอื่นใดโดยปรากฏข้อมูลอันเป็นเท็จและทำให้เกิดความเสียหายต่อราชการ
 

 

ชนิดบทความ: