- เว็บไซต์ไอลอว์
- ศูนย์ข้อมูลฯ
เสียงจากผู้ถูกดำเนินคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับโควิด19
‘แชมป์ 1984’ นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยผู้โด่งดังจากการกินแซนด์วิชแล้วอ่านหนังสือ 1984 และเป็นหนึ่งในหกผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากการไปเรียกร้องกรณีวันเฉลิมหน้าสถานทูตกัมพูชาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563
“8 มิถุนายน เราไปที่หน้าสถานทูตกัมพูชาเพื่อเรียกร้องในกรณีวันเฉลิมถูกอุ้มหายที่กัมพูชา ตอนเราได้ยินข่าวก็รู้สึกตกใจ รู้แค่ว่าเขาต่อต้านรัฐบาลและลี้ภัยอยู่ แต่มันก็ตกใจเพราะไม่มีคนโดนอุ้มมาเป็นปีแล้ว ยุคประชาธิปไตยมันยังอุ้มกันอีกหรอ และมันต่างไปจากคนก่อนๆ วันเฉลิมเขาไม่ได้แตะสถาบัน ทำไมเขายังโดนอุ้มทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ทำอะไรสุ่มเสี่ยงเลย วันนั้นเราก็รู้ว่าเขายังใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่ แต่เราไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่ามันมีหรือไม่ ถ้าเรารู้สึกว่ามันทนไม่ได้ก็ต้องออกไปเท่านั้นเอง”
“ส่วนตัวรู้จักและเป็นเพื่อนกับคุณต้าใน Facebook มานานแล้ว รู้ว่าเขาเป็นผู้ลี้ภัยคนหนึ่ง แต่ช่วงหลังเราเห็นเขาต่อว่ารัฐบาล อาจจะเป็นผู้ถูกติดตามคนหนึ่ง เราก็ห่วงว่าเขาจะปลอดภัยไหม”
“เข้าใจว่าตอนที่รัฐบาลทักษิณออกพ.ร.ก.ฉุกเฉินมาใช้ก็มีข้ออ้างทำนองว่ากฎอัยการศึกดูจะรุนแรงไป เลยออกพ.ร.ก.เพื่อเอาไปใช้ในภาคใต้ให้มันซอล์ฟลง แล้วตอนหลังก็มีการออก พ.ร.บ.ความมั่นคงมาอีกฉบับบอกว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินมันแรงไป และดูเหมือนว่าในภาคใต้ก็ใช้ซ้อนกันไปหมดไม่แน่ใจว่าซ้อนกันทั้งสามฉบับเลยหรือเปล่า ที่ตลกอีกอย่างคือ พ.ร.ก.ชื่อ ‘ฉุกเฉิน’ ในความเข้าใจของผม ฉุกเฉิน มันน่าจะเป็นเรื่องชั่วคราวรีบใช้รีบจบแต่นี่กลายเป็นขยายต่อไปเรื่อยๆ”
“ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม ผมก็โพสต์เฟสบุ๊กเรื่องที่จะไปทำกิจกรรมระดมทุนด้วยการประมูลภาพวาดและร้องเพลงที่หน้าหอศิลป์ฯ จริงๆแล้วผมก็ไม่ได้ชวนคนให้มาชุมนุมนะ ผมแค่บอกว่าผมจะไปเปิดหมวกรับบริจาคคนที่ผ่านไปผ่านมาแถวนั้น แล้วบอกให้คนติดตามผ่านทางเฟสบุ๊กไลฟ์ ผมบอกเจตนาชัดเจนว่าผมไม่ได้จัดกิจกรรมให้คนมาชุมนุม แล้วผมก็รู้อยู่ว่าผมไม่ใช่แม่เหล็ก ที่พอประกาศว่าผมจะมาตรงนี้แล้วคนเฮมากันเป็นพันเป็นหมื่นคน ที่ผมเลือกไปจัดระดมทุนในวันที่ 22 พฤษภาคมส่วนหนึ่งผมก็แค่ต้องการสะท้อนความต่อเนื่องและความเชื่อมโยงว่าวันที่ 22 พฤษภา ปี 57 มันมีการรัฐประหาร จากนั้นก็มีการสืบทอดอำนาจแล้วก็แก้ไขปัญหากันไม่ได้โดยเฉพาะช่วงโควิดที่ปัญหาหนักขึ้นจนมีคนฆ่าตัวตาย ส่วนที่ผมต้องมาใช่สถานที่ตรงหอศิลป์ก็เป็นเพราะอยากให้มันได้บรรยากาศเท่านั้นเองเพราะในการระดมทุนผมก็เอาภาพวาดมาประมูลด้วย ถ้าผมนัดไลฟ์เฟสบุ๊กอยู่กับบ้านเนี่ยคนอาจจะไม่อยากดู เพราะมันแห้งและจืดชืด"
"ถึงวันที่ 22 ปรากฎว่ามีรั้วกั้นรอบลานหอศิลป์ไว้ ผมที่ตอนแรกตั้งใจเข้าไปอยู่ในลานก็งงว่าจะมากั้นทำไม ในเมื่อถ้าผมเข้าไปอยู่ในลานคนก็จะไม่แออัด มันเหมือนจะแกล้งกัน เอารั้วมาตั้งไว้แบบไม่มีเหตุผลอะไรทั้งสิ้น มีตำรวจมาคุยกับผมว่าจะมาทำอะไร ผมก็บอกว่าจะมาแสดงภาพเท่านั้นเองแล้วก็จะรับบริจาคเงิน ตำรวจเขาก็ไม่ได้ว่าอะไร ตอนหลังเขาก็มาแจ้งบอกว่าตอนนี้มันมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ไม่ได้บอกว่าถ้าผมทำแล้วเขาจะจับ"
“ตัวผมเองเป็นประธานศูนย์โควิดเพื่อไทย เพราะฉะนั้นที่จะมาจัดชุมนุมแล้วก่อให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคผมไม่ทำเด็ดขาด ตอนที่ผมโพสต์ข้อความถึงได้บอกชันเจนว่าให้ติดตามทางเฟสบุ๊กไลฟ์ ไม่ได้ชวนให้ออกมาร่วมกับผมที่หน้าหอศิลป์ฯเลย ผมมองว่ามันเป็นความเลวร้ายที่ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาจัดการทางการเมือง คือแต่ละคนที่ออกมาแล้วถูกดำเนินคดีเขาไม่ได้ไปเชิญประชาชนที่ไหนมาชุมนุมกัน อย่างเพนกวิ้นออกมาผูกโบว์ขาวก็ออกมากันสองสามคน ตำรวจก็ไปกีดกันแล้วก็ไปจับมาที่โรงพัก แต่ที่สุดตำรวจไม่กล้าทำอะไรก็ตั้งข้อหาแค่ผิด พ.ร.บ.ความสะอาดฯ แบบนี้มันตลกนะ หรือเมื่อล่าสุด 24 มิถุนาที่สภา ก็เห็นมีคนเยอะแต่ก็ไม่มีอะไร ผมไม่ได้หมายความว่าตำรวจควรต้องจับนะแต่พยายามจะชี้ว่าสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้มันไม่มีมาตรฐานอยากจะจับก็จับ ไม่อยากจับก็ไม่จับ"
"เราก็มีการประเมินมาก่อนว่าอาจจะโดนดำเนินคดีได้ พอมาโดนจริงๆ ยิ่งโทษมันคือจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท เราก็มีความกังวลว่าเราจะได้เข้าคุกกี่ปี อย่างที่บ้านหนูแม่เครียดมากว่าลูกจะติดคุกไหม ไม่อยากให้ลูกออกไปทำแล้ว แต่สุดท้ายแล้วพอเรานั่งคุยกับนักกิจกรรม พี่ๆ เพื่อนๆ เรา มันทำให้เรานึกย้อนกลับมาอีกครั้งว่าที่เราทำเราไม่ได้ทำผิดนะ ที่เราทำก็คืออุดมการณ์ของเรานะ เพื่อสิทธิของเรานะ เพื่อความเป็นอยู่ของเรานะ เพื่อชีวิตของเรานะ เราไม่ได้ทำผิดอะไร เราไม่ได้ได้ฆ่าใคร เราไม่ได้ลักทรัพย์ ถ้าเราโดนก็คือคดีการเมืองล้วนๆ"
"หลังเกิดเรื่อง (การหายตัวไป) ของ 'วันเฉลิม' เราก็คิดว่าเราจะทำยังไงดีกับปรากฏการณ์นี้ เราก็เลยตั้งใจจะไปถามหาข้อเท็จจริงว่ามันเกิดอะไรขึ้น เลยตั้งใจไปยื่นหนังสือกับสถานทูตกัมพูชา แล้วก็ไปที่ทำเนียบรัฐบาลต่อ"
ต้อ หรือ ณัฐวุฒิ รองเลขาธิการของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ผู้ถูกออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณียื่นหนังสือทวงถามชะตากรรมของวันเฉลิม สัตย์ศักดิสิทธิ์ ที่หน้าสถานทูตกัมพูชา
“วัตถุประสงค์ของการนำหนังสือไปยื่นที่สถานทูตกัมพูชาเพื่อส่งถึงนายกรัฐมนตรีกัมพูชานั้น หนึ่ง คือ เราเห็นข่าวการหายตัวไปของวันเฉลิม ในฐานะ กป.อพช.ก็คิดว่า เรื่องแบบนี้ ควรมีข้อเท็จจริงปรากฎสู่สังคม รวมถึงควรมีกลไกที่จะเร่งรัดในการติดตามตัววันเฉลิมจากทั้งสองรัฐบาล ให้เขาได้รับความปลอดภัยโดยเร็วที่สุด สอง คือ เราอยากยืนยันว่าการถูกอุ้มหายมันไม่ควรเกิดขึ้นกับใครก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะหรือสถานที่ใด”
เมื่อถามเหตุการณ์วันที่ไปยื่นหนังสือ เมื่อ 8 มิถุนายน 2563 ที่เป็นสาเหตุของการได้รับหมายเรียกฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้อเล่าว่า “วันนั้น ไปถึงสถานทูตกัมพูชา ประมาณสิบโมง ไปกันแค่สี่คน ไปถึงก็ไปแจ้งกับเจ้าหน้าที่หน้าประตูว่า เราอยากยื่นหนังสือ แล้วก็นั่งรอกันประมาณ 15 นาที ก็ยังไม่มีคนออกมารับ สุดท้ายเราก็ตัดสินใจวางหนังสือไว้ที่หน้าป้ายสถานทูตแล้วเราก็กลับ”
และเมื่อถามถึงความจำเป็นของการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาลในการจัดการกับโรคโควิด19 ต้อแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ระยะแรกที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการควบคุมโรค เราเข้าใจ แต่ตอนนี้มันควรยกเลิกได้แล้ว เพราะระยะในการควบคุมโรค ระยะปลอดภัย เราผ่านมาแล้ว ไม่มีคนติดเชื้อในประเทศเกินกว่า 28 วันมานานแล้ว รวมถึงมาตรการอื่น เช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อ ก็สามารถใช้ได้”
นอกจากนี้ ต้อยังเล่าให้ฟังอีกว่า “ก่อนหน้าที่ยังไม่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กป.อพช. ก็ไปยื่นหนังสือกันเป็นเรื่องปกติวิสัยมากๆ หรือแม้กระทั่งในช่วงที่มีการประกาศใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ แล้วก็ตาม เราก็มีไปยื่นหนังสือหลายเรื่อง ก็ไม่มีปัญหาอะไร ครั้งนี้เป็นครั้งแรกเลยที่มีการออกหมายเรียกฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน”
“เราควรมองสิทธิตามรัฐธรรมนูญให้มันคงอยู่ทุกสถานะมากกว่าการใช้พ.ร.ก.ในบางช่วงที่จำเป็นแล้วมาจำกัดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน เพราะในตอนนี้ สังคมเริ่มตั้งคำถามแล้วว่าการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินมันมีไว้เพื่อควบคุมโรคระบาดอย่างเดียวจริงหรือเปล่า”
แสงศิริ หรือ ตุ้ย จากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ผู้ถูกออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณียื่นหนังสือหน้าสถานทูตกัมพูชาในวันที่ 8 มิถุนายน 2563 เพื่อทวงถามชะตากรรมของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหวและผู้ลี้ภัยไทยในกัมพูชา
“ต้าร์ เป็นคนรุ่นใหม่ยุคแรกๆ ที่ทำงานเคลื่อนไหวเรื่องเอดส์ด้วยกันกับพี่ น้องเป็นคนแอคทีฟ กล้าคิด กล้าพูดในสิ่งที่เขาคิดว่า มันถูก กล้าตัดสินใจ กล้าทำ แต่ก็เป็นคนที่รับฟังคนอื่นเสมอ รู้จักกันมานาน มีแค่หลังๆที่ไม่ค่อยได้เจอ”
และจากเหตุการณ์ไปยื่นจดหมายในวันที่ 8 มิถุนายน 2563 พี่ตุ้ย และเพื่อนที่ไปร่วมยื่นจดหมายอีกสามคน ถูกออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ สน.วังทองหลาง ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2563 พี่ตุ้ยเล่าถึงเหตุการณ์วันนั้นว่า
“พออีกสามคนที่เหลือมาถึง เราก็ไปติดต่อที่ป้อม ถามว่า จะมีคนออกมารับจดหมายมั้ย เขาก็ตอบไม่ได้ ได้แต่บอกว่าให้รอ เรารอไป 15 นาทีก็ไม่มีไรเกิดขึ้น สุดท้ายเราก็ตัดสินใจกันว่า ให้เอาจดหมายวางทิ้งไว้ แล้วก็ทาง กป.อพช.อ่านแถลงการณ์ เสร็จก็แยกย้าย รวมแล้วใช้เวลาประมาณ 1.30 ชั่วโมง ไม่เกิน 2 ชั่วโมง”
ในส่วนความจำเป็นของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับการควบคุมโรคโควิด19 พี่ตุ้ยกล่าวว่า “ตอนที่โควิดระบาดแรกๆ แล้วมีการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็รู้สึกว่า มันเหมาะสม เพราะมันอาจจำเป็นที่ต้องออกคำสั่งบางอย่างเพื่อควบคุมโรค สถานการณ์ตอนนั้นทั้งในและนอกประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราก็เชื่อว่า มันน่าจะช่วยได้ แต่พอผ่านไปสักพัก มาตรการในการรับมือนั้นทำได้ดี กระทรวงสาธารณสุขก็มีวิธีจัดการโรคได้ดี ก็รู้สึกแปลกๆ แล้วว่า ทำไมถึงไม่ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สักที”
นก นภัสสร บุญรีย์ จำเลยคดีผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้งและนักกิจกรรมทางสังคมผู้ถูกออกหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินจากกรณีร่วมชุมนุมทวงถามชะตากรรมของวันเฉลิม สัตย์ศักดิสิทธิ์ ผู้ลี้ภัยการเมืองไทยในกัมพูชาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563