1425 1101 1696 1555 1109 1006 1695 1743 1054 1986 1745 1335 1909 1865 1149 1481 1635 1540 1749 1353 1014 1955 1611 1556 1540 1979 1861 1100 1619 1781 1240 1343 1844 1204 1979 1451 1918 1702 1102 1194 1799 1927 1487 1429 1993 1874 1471 1107 1099 1908 1870 1070 1765 1316 1030 1509 1683 1489 1462 1275 1128 1688 1364 1915 1107 1542 1180 1765 1385 1812 1592 1244 1757 1445 1651 1675 1869 1378 1157 1697 1114 1242 1851 1240 1088 1650 1373 1955 1627 1349 1118 1056 1386 1220 1727 1809 1155 1136 1057 วิจารณ์อย่างเท่าทัน ทำความเข้าใจกฎหมายพื้นฐาน หมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

วิจารณ์อย่างเท่าทัน ทำความเข้าใจกฎหมายพื้นฐาน หมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

 
ทุกวันนี้การแสดงความเห็น การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่างๆ ในโซเชียลมีเดียทำได้ง่าย เร็ว และแรงเท่าที่ใจนึก ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นได้ง่าย เร็ว และแรงตามไปด้วย ท่ามกลางฝุ่นตลบนั้น กฎหมายหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นเครื่องมือที่ถูกนึกถึงและนำมาใช้มากที่สุด จนหลายคนสงสัยว่า 'ฉันพูดอะไรได้บ้าง' ขอบเขตของเสรีภาพนั้นอยู่ตรงไหน พูดอย่างไรจะปลอดภัยในทางกฎหมาย ด้วยเหตุนี้จึงอยากชวนมาทำความเข้าใจกับข้อกฎหมายเบื้องต้นเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท และดูตัวอย่างบางคดีที่แม้ถูกผู้เสียหายฟ้องร้องดำเนินคดี แต่ศาลตัดสินว่าไม่มีความผิด
 
1433
 

แบบไหนเข้าข่ายหมิ่นประมาททางอาญา

 
 
ประมวลกฎหมายอาญา กำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาทไว้ใน มาตรา 326 โดยมีมาตรา 328 เป็นบทเพิ่มโทษบัญญัติไว้ว่า "มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
 
 
การแสดงความคิดเห็นที่อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 นั้น จะต้องเป็นการ 'ยืนยันข้อเท็จจริงกับบุคคลที่สาม’ ซึ่งข้อความนั้นอาจเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ได้ แต่จะต้องชัดเจนเพียงพอให้บุคคลที่สามทราบว่าผู้ถูกใส่ความเป็นใคร และการกระทำที่ถูกใส่ความนั้นหมายความว่าอย่างไร โดยจะต้องเป็นพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับหรือน่ารังเกียจ จนน่าจะทำให้ผู้ที่ถูกใส่ความนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง  นอกจากนี้ การกระทำจะเป็นความผิดทางอาญาต่อเมื่อเกิดจากความตั้งใจของผู้กระทำ หากเป็นการกล่าวถึงโดยไม่ตั้งใจ หรือ ‘ประมาทเลินเล่อ’ ย่อมไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
 
 
"มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทําโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทําให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทําโดยการกระจายเสียง หรือการ กระจายภาพ หรือโดยกระทําการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท"
มาตรานี้กำหนดโทษหนักขึ้นเพื่อเอาผิดกับคนที่ทำให้ข้อความหมิ่นประมาทเผยแพร่ไปในวงกว้าง
 
 
ก่อนหน้านี้ ความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา มักถูกนำมาใช้กับสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวแต่ในระยะหลังนี้ คนทั่วไปที่ใช้เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ฯลฯ โพสต์ข้อความวิจารณ์พาดพิงถึงบุคคลอื่นก็มักจะถูกดำเนินคดีด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาพ่วงกับความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ (ฉบับก่อนการแก้ไข) เช่นเดียวกัน
 
 
ตัวอย่างเช่น
 
 
กองทัพเรือฟ้องผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการเว็บไซต์ภูเก็ตหวานในความผิดฐานหมิ่นประมาท และคดีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  จากการเผยแพร่รายงานของรอยเตอร์ส ที่อ้างว่า กองกำลังทางเรือของไทยได้รับผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา
 
คดีนี้ ศาลพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า การที่จำเลยอ้างอิงข้อความมาจากรอยเตอร์ส ไม่ได้เขียนเอง ไม่ถือว่าเข้าข่ายการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามมาตรา 328  ประมวลกฎหมายอาญา อีกทั้งไม่ปรากฎว่าข้อความตามฟ้องที่จำเลยอ้างจากรอยเตอร์สเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ หรือเป็นข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหมวดความมั่นคง นอกจากนี้เจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็ไม่ได้มุ่งเอาผิดกับความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เพราะมีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 บัญญัติความผิดฐานนี้ไว้แล้ว จึงพิพากษายกฟ้อง 
 
 
2. คดีสมลักษณ์ โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์เหมืองทองคำที่จังหวัดพิจิตร 
 
บริษัท อัครา เจ้าของเหมืองทองคำ ยื่นฟ้องสมลักษณ์ หุตานุวัตร และสมิทธ์ ตุงคะสมิต เป็นจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์ข้อความในเฟสบุ้คส่วนตัว คดีนี้ ศาลมีคำสั่งให้ยกฟ้อง โดยศาลเห็นว่า จำเลยไม่ได้มีเจตนาทำให้โจทก์ได้รับการดูหมิ่นหรือเกลียดชัง เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมตามวิสัยของประชาชนพึงกระทำ ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท พิพากษายกฟ้อง
 
 
จะเห็นได้ว่า ในคดีแรก ศาลพิจารณาแล้วเชื่อว่า ข้อความที่ถูกฟ้องร้องเป็นข้อความที่แปลมาจากสำนักข่าวต่างประเทศที่เชื่อถือได้แหล่งหนึ่ง ไม่ได้เป็นกรณีที่จำเลยเขียนขึ้นเองโดยมีเจตนากล่าวหาหรือใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง ศาลจึงเห็นว่า ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เช่นเดียวกับในคดีที่สองที่ศาลไม่ถือว่าเป็นความผิดเช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นการแสดงความเห็นตามปกติวิสัยจึงถือว่าขาดเจตนาที่ต้องการให้โจทก์ได้รับการดูหมิ่นหรือเกลียดชัง อันเป็นองค์ประกอบหลักของความผิดหมิ่นประมาท
 
 
 

ข้อยกเว้นของกฎหมายหมิ่นประมาท

 
ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายยังได้กำหนด 'ข้อยกเว้น' สำหรับความผิดหมิ่นประมาทอยู่หลายกรณี เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล ดังนี้
 
"มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
             (1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
             (2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
             (3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทํา
             (4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
             ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท"
 
 
"มาตรา 330 ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่า เป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน"
 
 
เหตุผลส่วนใหญ่ที่ศาลมักจะยกขึ้นอ้างเพื่อยกฟ้องจำเลยในคดีหมิ่นประมาท คือ หากเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ได้มุ่งหมายโดยตรงให้บุคคลใด ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง หรือกรณีที่เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมตามวิสัยของประชาชนทั่วไป ก็จะไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญา 
 
 
ตัวอย่างเช่น
 
 
คนงานชาวพม่า 14 คน เปิดโปงเรื่องราวการละเมิดสิทธิแรงงาน และยื่นเรื่องร้องเรียนต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่นายจ้าง คือ บริษัท ธรรมเกษตร เอาเหตุที่ยื่นเรื่องดังกล่าวมายื่นฟ้องคนงานทั้ง 14 คน ฐานหมิ่นประมาท คดีนี้ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าจำเลยมีเจตนาสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 329(1) จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
 
 

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มักมาคู่กับหมิ่นประมาท

 
ในปี 2550-2560 หากมีการแสดงความคิดเห็น หรือวิพากษ์วิจารณ์กันบนโลกออนไลน์ แล้วผู้ที่ถูกกล่าวถึง ไม่พอใจก็จะมีการนำ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) มาใช้มาดำเนินคดีหรือบางครั้งก็จะฟ้องควบคู่กับความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยความผิดตามมาตรา 14(1) มีโทษสูงกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาท คือ จำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ในความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) โจทก์จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าจำเลยนำข้อเท็จจริงหรือข้อมูลเข้ามาในระบบคอมพิวเตอร์แตกต่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงอย่างไรบ้าง อันแสดงให้เห็นว่า ข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลปลอมหรือเท็จ ถ้าโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ ศาลก็ไม่มีอำนาจลงโทษจำเลย
 

ตัวอย่างคดีเช่น
 
 
ไมตรีถูกดำเนินคดีด้วยพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังเผยแพร่วิดีโอคลิปการเจรจาระหว่างทหารกับชาวบ้าน โดยใส่ข้อความประกอบคลิปวิดีโอนั้นมีใจความตอนหนึ่งว่า 'ทหารตบเด็ก เยาวชนและคนแก่' คดีนี้ ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า จำเลยนำไปโพสต์ในเฟซบุ๊กเพราะเข้าใจว่าเป็นความจริง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) ได้ก็ต่อเมื่อจำเลยโพสต์ข้อความโดยรู้ว่าข้อมูลนั้นปลอมหรือเป็นเท็จ พิพากษายกฟ้อง
 
 
 
ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ฟ้องรสนา โตสิตระกูล ตามมาตรา 14 และ 15 ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีที่รสนา ได้โพสต์บทความเรื่อง  “มหากาพย์ฮุบท่อก๊าซ สมบัติชาติ” ลงในเพจเฟซบุ๊กของตน คดีนี้ ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่ครบตามองค์ประกอบความผิดของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจาก จำเลยเป็นผู้เขียนข้อความและนำเข้าสู่เฟซบุ๊กเพจด้วยตัวเอง พยานหลักฐานของโจทก์ไม่ได้พิสูจน์ว่า จำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมแต่อย่างใด อีกทั้ง เมื่อข้อความที่จำเลยเขียนขึ้นเป็นการแสดง “ความเห็น” ของตัวจำเลยเอง ข้อความพิพาทจึงไม่อาจเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จได้  คดีจึงไม่มีมูล
 

 

SLAPPs สาเหตุหนึ่งในการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

 
 
อย่างไรก็ดี ภายหลังมีการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) และประกาศใช้ในปี 2560 โดยเขียนใหม่ให้ชัดขึ้นว่า ไม่ให้ใช้กฎหมายนี้มาดำเนินคดีควบคู่กับความผิดฐานหมิ่นประมาท ทำให้การดำเนินคดีต่อการแสดงความคิดเห็นบนสื่อออนไลน์ด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ลดลงในบางแง่มุม
 
 
“มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
 
(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา”
 

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระบุถึงเจตนารมณ์ของการแก้ไขส่วนหนึ่งว่า เดิม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยเฉพาะมาตรา 14 (1) มักถูกนำมาใช้ตั้งข้อหากับคนที่โพสต์ด่าทอกันทางออนไลน์ รวมถึงดำเนินคดีต่อผู้แสดงความเห็นทางการเมือง เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน องค์กรภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ในลักษณะที่เรียกว่า ‘ฟ้องปิดปาก’ หรือ SLAPPs (ย่อมาจาก strategic lawsuits against public participation) การฟ้องปิดปาก หรือ SLAPPs นับว่าเป็นช่องทางที่หยิบยืมมือของกระบวนการยุติธรรมเพื่อกลั่นแกล้งคู่ขัดแย้ง เนื่องจากเป็นการสร้างภาระให้แก่จำเลยในคดีอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นภาระค่าใช้จ่าย ค่าเอกสาร ค่าทนายความ รวมถึงต้องเสียเวลากับการต่อสู้คดี แม้ท้ายที่สุดจำเลยอาจเป็นฝ่ายชนะคดีแต่ก็มักจะไม่คุ้มกับสิ่งที่ต้องเสียไประหว่างทางการสู้คดี

 

ชนิดบทความ: