1937 1128 1294 1981 1571 1138 1371 1654 1369 1303 1995 1146 1964 1149 1998 1880 1409 1117 1203 1184 1423 1590 1228 1012 1077 1245 1107 1465 1158 1185 1014 1088 1073 1126 1303 1049 1634 1521 1884 1461 1850 1034 1097 1028 1114 1410 1279 1552 1705 1628 1989 1736 1317 1485 1791 1161 1652 1597 1695 1004 1840 1938 1915 1471 1166 1628 1777 1778 1620 1293 1208 1051 1651 1610 1273 1155 1029 1232 1581 1563 1802 1903 1554 1672 1944 1585 1420 1012 1284 1417 1236 1671 1664 1209 1606 1994 1963 1987 1576 ตำรวจอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุกคามนักศึกษาขอลดค่าเทอม และชาวบ้านค้านเหมือง | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ตำรวจอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุกคามนักศึกษาขอลดค่าเทอม และชาวบ้านค้านเหมือง

 
1393
 
หลังการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในวันที่ 26 มีนาคม 2563 ข้อห้ามต่างๆที่ออกโดยอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯถูกออกตามมา ซึ่งรวมการประกาศห้ามชุมนุม มั่วสุม และเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมบุคคลที่กระทำการดำกล่าวดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้
 
หลังจากผ่านการใช้กฎหมายดังกล่าวมาเดือนเศษ พบว่าตำรวจใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ข่มขู่ และควบคุมตัวประชาชนที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิหรือยื่นข้อเรียกร้องต่อภาครัฐให้บรรเทาความเดือดร้อนอย่างน้อยสองกรณี คือ กรณีข่มขู่กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ไปยื่นหนังสือขอลดค่าเทอมกับทางมหาวิทยาลัย และ กรณีควบคุมตัวชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ ที่จังหวัดชัยภูมิ
 
+++ นศ. มช. ยื่นหนังสือขอลดค่าเทอม ตำรวจเข้าสกัดชี้อาจผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน +++
 
ในวันที่ 24 เมษายน 2563 เพจ โครงการบัณฑิตศึกษา สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ข้อความว่าในวันที่ 25 เมษายน เครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะไปยื่นแถลงการณ์ และเอกสารต่อนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อขอให้พิจารณาลดค่าเทอมให้นักศึกษา  
 
จากนั้นในวันที่ 25  เมษายน 2563 นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เตรียมเข้ายื่นหนังสือต่อสมาชิกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มีกำหนดประชุมในวันดังกล่าวเพื่อขอให้พิจารณาเรื่องการลดค่าเทอม โดยระหว่างที่นักศึกษากลุ่มดังกล่าวจำนวน 4 คนเดินขึ้นตึกเพื่อไปยื่นหนังสือ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้ามาสอบถาม และไม่ยอมให้ขึ้นไปยื่นหนังสือ 
 
จากนั้นรศ.ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้ามาเจรจากับนักศึกษาให้ลงจากตึก ระบุว่า ก่อนหน้านี้เคยประชุมพูดคุยกันมาก่อนแล้วในเรื่องนี้และเรื่องก็อยู่ในวาระการประชุมของวันนี้แล้ว
 
ต่อมามีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบสองนายจาก สภ.ภูพิงค์ราชนิเวชน์ เข้ามาในพื้นที่ และสอบถามว่า นักศึกษามาทำอะไร นักศึกษาชี้แจงว่า มายื่นหนังสือและยื่นเสร็จก็จะกลับ เจ้าหน้าที่ตำรวจตอบว่า ที่มาชุมนุมกันอย่างนี้ มันจะผิดพ.ร.บ.  เจ้าหน้าที่อ้างเพียงคำว่าพ.ร.บ.โดยไม่ได้แจ้งชื่อกฎหมาย นักศึกษาจึงชี้แจงว่า ไม่ได้มาชุมนุม แค่มายื่นหนังสือ เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามให้นักศึกษากลับออกไปอ้างเหตุเรื่องโรคระบาดและให้ยื่นเอกสารตามระเบียบของมหาวิทยาลัย
 
ตำรวจอ้างว่า การยื่นหนังสือ และรวมตัวกันหลายคนเช่นนี้ เป็นการชุมนุมมั่วสุมผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯแต่นักศึกษาระบุว่า การยื่นหนังสือไม่ใช่การชุมนุม 
 
จากนั้นเจ้าหน้าที่สืบสวนนอกเครื่องแบบเดินเข้ามาแนะนำตัว พร้อมกล่าวว่า
 
“ใครเป็นหัวหน้าครับ ผมเป็นสารวัตรสืบฯ ขออนุญาตแนะนำตัว พี่จะอธิบายนะครับว่า น้องไปเอาข้อมูลจากไหนว่า มันไม่เข้าพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาจากตำราไหนครับ พี่จะอธิบายให้ฟังแบบนี้ว่า คือ ณ เวลานี้ ห้ามมีการชุมนุมมั่วสุม ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย พี่อธิบายให้ฟังก่อน ถ้ามันเข้าพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ น้องต้องยอมรับเอฟเฟคกลับมานะ พี่อธิบายให้ฟังแล้ว ทางเจ้าหน้าที่พยายามเริ่มจากเบาไปหาหนัก พยายามให้น้องเข้าใจก่อนว่า โอเค ตอนนี้มันก้ำกึ่ง น้องบอกว่า มีตำราไหนไม่เข้าก็เรื่องของน้อง แต่พี่ ตำราพี่มันเข้า พี่อธิบายให้ฟังก่อน แต่ถ้าน้องยังดื้อดึง น้องก็ต้องยอมรับสภาพในภายหลัง เพราะตอนนี้พี่มีภาพใบหน้าหมดแล้ว
 
ประเด็นที่สอง ถ้าเกิดความเสียหายมองว่า เป็นการก่อกวนการประชุม ทำให้เกิดการประชุมไม่ได้ ทางมหาวิทยาลัยไปแจ้งความดำเนินคดีน้องก็ต้องรับสภาพ พี่อธิบายให้ฟังและส่วนที่น้องบอกว่า มันไม่เข้าพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ...”
 
นักศึกษาแย้งว่า ไม่ได้กล่าวถึงพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่พูดถึงพ.ร.บ.ชุมุนมฯ เจ้าหน้าที่สืบรายดังกล่าวตอบว่า อันนี้ไม่ใช่เรื่องของพ.ร.บ.ชุมุนมฯ แต่เป็นเรื่องพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องเข้าใจแยกให้ออก ก่อนจะให้ดูพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายไม่มีใครยอมรับว่า เรียกตำรวจมาที่มหาวิทยาลัย ฝ่ายเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยมองว่า นักศึกษาโพสต์ข้อมูลบนสื่อโซเชียล ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบ
 
ท้ายที่สุดตัวแทนสมาชิกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยินยอมออกมารับหนังสือจากนักศึกษา และจนถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2563 ตำรวจก็ไม่ได้มีการดำเนินคดีความใดใดตามมา
 
 
+++ กอ.รมน. สั่ง ตำรวจ สภ.หัวทะเล บุกควบคุมตัวชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ ไปโรงพัก อ้างฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน +++
 
เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 เวลาประมาณ 8.00 น. เพจ เหมืองแร่ ชัยภูมิ รายงานว่า หลังจากที่ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ประมาณ 20 คน ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ ‘ล็อคดาวน์เหมืองแร่ หยุดฉวยโอกาสให้สัมปทานเหมือง’ เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอและหยุดกระบวนการพิจารณาในการอนุมัติ/อนุญาต รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมในการสำรวจและการทำเหมืองแร่ของทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนทั้งหมดเอาไว้ก่อน จนกว่าจะยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และไม่ให้เป็นการซ้ำเติมประชาชนที่มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และยังต้องต่อสู้ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของชุมชน 
 
จากนั้นเวลาประมาณ 10.00 น. ของวันเดียวกัน ตำรวจ สภ.หัวทะเล จำนวนเจ็ดคน แต่งกายในเครื่องแบบห้าคน นอกเครื่องแบบสองคน เดินทางด้วยรถยนต์จำนวนสามคัน ได้แก่ รถตู้ตำรวจ รถตำรวจตราโล่ และรถกระบะสีบรอนซ์เงิน เดินทางไปหาชาวบ้านที่เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ถึงทุ่งนาที่ขณะกำลังทำนาอยู่ พร้อมแจ้งว่ามาเชิญตัวไป สภ.หัวทะเล จากกรณีคลิปอ่านแถลงการณ์ล็อคดาวน์เหมืองแร่หยุดฉวยโอกาสให้สัมปทานเหมือง
 
ขณะที่ชาวบ้านคนดังกล่าวกำลังจะโทรศัพท์ติดต่อชาวบ้านคนอื่นๆ ในกลุ่ม ว่า ตนเองถูกตำรวจข่มขู่ และจะพาตัวไปโรงพัก ก็ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบคนหนึ่งเดินมายึดโทรศัพท์ไป และกล่าวว่า “ห้ามโทรติดต่อใครทั้งสิ้น” และทำการส่งข้อมูลที่อยู่ในโทรศัพท์ของชาวบ้านคนดังกล่าวเข้าโทรศัพท์ของตัวเองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของ และมีรายงานว่าการควบคุมตัวดังกล่าวไม่มีการแสดงหมายจับหรือแจ้งข้อกล่าวหาก่อนแต่อย่างใด
 
และก่อนที่จะพาตัวชาวบ้านคนดังกล่าวไปที่ สภ.หัวทะเล ตำรวจำยังบังคับให้ชาวบ้านคนดังกล่าวพาไปหาชาวบ้านมาเพิ่มเติมอีกสองคน เพื่อนำตัวมาให้ปากคำเพิ่มเติมด้วย แต่ชาวบ้านคนดังกล่าวไม่ยอมจึงได้พาตัวไปเพียงคนเดียว
 
จากนั้นเวลาประมาณ 10.40 น. ที่ สภ.หัวทะเล ร.ต.อ.โยธิน เดือนกลาง พนักงานสอบสวน สภ.หัวทะเล ได้ทำการสอบปากคำชาวบ้านคนดังกล่าว โดยไม่มีทนายความ และผู้ไว้วางใจอยู่ร่วมในการสอบปากคำด้วย โดยมีการถามชี้นำให้ชาวบ้านรับสารภาพว่า มีการจัดการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม และพยายามอ้างความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ให้ชาวบ้านคนดังกล่าวรับสารภาพ ซึ่งชาวบ้านคนดังกล่าวได้ให้การปฏิเสธไป และขอร้องให้ตำรวจคืนโทรศัพท์ให้ เนื่องจากไม่ได้บอกทางญาติพี่น้องว่าไปไหน และเกรงว่าทางบ้านจะเป็นห่วง ซึ่งทางตำรวจได้คืนโทรศัพท์ให้ และได้รีบติดต่อญาติพี่น้องและสมาชิกกลุ่มคนอื่นๆ ว่า ตนเองถูกตำรวจควบคุมตัวมา สภ.หัวทะเล และกำลังถูกสอบปากคำ
 
จากนั้นเวลาประมาณ14.00 น. เมื่อชาวบ้านในกลุ่มได้ทราบข่าว จึงได้เดินทางไป สภ.หัวทะเล ประมาณเจ็ดคนคน เพื่อติดตามสถานการณ์ ซึ่งชาวบ้านที่ไปสมทบได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวสมาชิกของกลุ่มออกมา เพราะชาวบ้านใช้สิทธิอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้ทำอะไรผิด และขอเข้าไปหาชาวบ้านที่ถูกจับตัวมา โดยตำรวจอนุญาตให้ชาวบ้านเข้าไปในห้องสอบสวนด้วยเพียงสองคนเท่านั้น
 
ในระหว่างการสอบสวนก็มีตำรวจแต่งชุดนอกเครื่องแบบเข้ามาให้ข้อมูลแทรกเป็นระยะๆ และท่าทีจะนำตัวชาวบ้านที่กำลังถูกสอบปากคำไปพูดคุยด้วยเป็นการส่วนตัว โดยชาวบ้านคนอื่นๆ ไม่ยอม และกล่าวว่า ถ้าจะคุยกันก็ต้องอยู่ด้วยกันทั้งหมดตรงนี้ ทำให้ตำรวจนายดังกล่าวเดินไปหาชาวบ้านคนอื่นที่มาติดตามสถานการณ์ และไปพูดในเชิงข่มขู่ชาวบ้านว่า “ที่ดินที่ไปแถลงการณ์เป็นที่ดินของชาวบ้านใช่ไหม? เป็นบ้านของใคร? จะโดนจับกันหมด” พร้อมทั้งอ้างว่า ตนเองสามารถช่วยชาวบ้านได้ถ้าชาวบ้านยอมรับสารภาพแต่โดยดี และให้ชาวบ้านทำตามที่ตนเองพูดด้วยการรับสารภาพว่า ชาวบ้านจัดกิจกรรมในที่สาธารณะ ตำรวจคนดังกล่าวยังพยายามข่มขู่ให้ชาวบ้านที่ถูกคุมตัวสารภาพด้วยว่าตัวเองจัดกิจกรรมในที่สาธารณะ และพยายามเอาตัวชาวบ้านออกไปคุยเป็นการส่วนตัวตลอดเวลา
 
ทางชาวบ้านได้พยายามสอบถามทางตำรวจว่า “ชาวบ้านที่ถูกจับมามีความผิดอะไร ผิดมาตราไหน ถูกเชิญมาในฐานะอะไร เราใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย” ทางตำรวจได้บ่ายเบี่ยงที่จะตอบคำถามชาวบ้าน และบอกเพียงว่า “เชิญมาในฐานะพยาน ต้องคุยกับนายก่อน ขอคุยกับผู้ใหญ่ของจังหวัดที่สั่งการมาว่าผู้ใหญ่จะว่ายังไง” และพูดเพิ่มเติมว่า “คดีนี้เป็นคดีที่ กอ.รมน.จังหวัด สั่งการมา ให้ดำเนินคดีกับชาวบ้านที่ออกมาอ่านแถลงการณ์ล็อคดาวน์เหมืองแร่หยุดฉวยโอกาสให้สัมปทานเหมือง โดย กอ.รมน.ส่วนกลาง ได้พบคลิปเผยแพร่ในเพจเหมืองแร่ชัยภูมิจึงสั่งให้ทาง สภ.หัวทะเล ดำเนินการตรวจสอบ นำตัวชาวบ้านมาสอบปากคำ และเตรียมแจ้งข้อกล่าวหาต่อไป”
 
จนกระทั่งเวลาประมาณ 16.00 น. ตำรวจได้ทำบันทึกคำให้การออกมา โดยชาวบ้านทั้งหมดเห็นว่า บันทึกคำให้การดังกล่าวมีความไม่ถูกต้องหลายจุด จึงไม่ขอเซ็นต์เอกสารใดๆ และยืนยันว่าชาวบ้านไม่ได้ทำความผิดทั้งสิ้น และถ้าหากจะกล่าวหาว่า ชาวบ้านมีความผิดจริงก็ให้แจ้งเป็นเอกลักษณ์อักษร แจ้งข้อกล่าวหามาก่อน แจ้งหมายมา ไม่ใช่ใช้วิธีการนอกกฎหมายข่มขู่คุกคามชาวบ้านแบบนี้ ซึ่งชาวบ้านยังคงยืนยันว่า สถานที่ที่จัดกิจกรรมไม่ถือว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะ เพราะจัดในที่ดินส่วนบุคคล
 
โดยเวลาประมาณ 16.10 น. ทางตำรวจได้สั่งให้ชาวบ้านพาไปดูสถานที่จัดกิจกรรม ซึ่งชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านได้เล่าว่า ก่อนหน้านี้ประมาณ 13.00 น. ได้มีตำรวจนอกเครื่องแบบสองคน มาดูสถานที่แล้วครั้งนึง โดยเดินทางมาด้วยรถตู้ และมาถ่ายรูปบ้าน รูปสถานที่จัดกิจกรรม ซึ่งทางตำรวจที่มาลงตรวจสอบพื้นที่พยายามมาบอกชาวบ้านว่า “ทำไมไม่ไปจัดในที่สาธารณะ มันจะได้มีพื้นหลังสวยๆ จะไปทำในบ้านทำไม ทำไมไม่ไปแถลงการณ์ที่ถนน”
 
เวลาประมาณ 18.06 น. ชาวบ้านคนดังกล่าวได้เดินทางไป สภ.หัวทะเล อีกครั้ง เพื่อลงบันทึกประจำวันจากกรณีการที่ตำรวจได้ยึดโทรศัพท์ของชาวบ้าน และคัดลอกข้อมูลในโทรศัพท์ออกไปโดยไม่ได้รับอนุญาต และการกระทำดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 157 โดยทางชาวบ้านจะขอดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
 
ทั้งนี้จนถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2563 ยังไม่มีข้อมูลว่าตำรวจมีการแจ้งข้อกล่าวหากับชาวบ้านคนดังกล่าวแล้วหรือยัง  
 
ชนิดบทความ: