1962 1448 1078 1039 1540 1363 1765 1286 1223 1350 1239 1158 1360 1082 1414 1771 1941 1126 1282 1772 1409 1297 1479 1548 1458 1743 1938 1661 1239 1958 1695 1028 1947 1656 1321 1051 1562 1904 1933 1743 1348 1088 1386 1585 1492 1278 1270 1823 1461 1446 1905 1512 1847 1507 1867 1170 1735 1501 1007 1747 1629 1685 1332 1116 1986 1576 1059 1357 1503 1685 1113 1584 1113 1970 1171 1620 1742 1699 1813 1867 1377 1689 1530 1343 1910 1401 1884 1871 1070 1117 1557 1041 1042 1371 1556 1653 1681 1369 1387 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) เวอร์ชั่นใหม่ความผิดหมิ่นกษัตริย์ฯ แทนที่ ม.112 | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) เวอร์ชั่นใหม่ความผิดหมิ่นกษัตริย์ฯ แทนที่ ม.112


 
จากกรณีที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์บัญชีนิรนาม หรือ #saveนิรนาม ถูกตำรวจเข้าจับกุมและควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ต่อมาศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลจังหวัดพัทยาไม่ให้ประกันตัวนิรนามเนื่องจากคดีมีพฤติการณ์ร้ายแรง โดยเขาถูกกล่าวหาตามมาตรา 14(3) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ  
 

ใครคือ นิรนาม
 
 
1347
 
นิรนาม เป็นชื่อของบัญชีทวิตเตอร์ @ssj_2475 ของเยาวชนคนหนึ่งที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อนามสกุลจริงต่อสาธารณะ โดยถึงวันที่เขาถูกควบคุมตัวมีผู้ติดตามเขาไม่น้อยกว่า 130,000 คน บัญชีดังกล่าวเปิดใช้เมื่อเดือนตุลาคม 2560 นิรนามเป็นที่รู้จักจากการทวีตเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย สถาบันกษัตริย์และเรื่องที่อยู่ในกระแสสังคมอื่นๆ การทวีตเนื้อหาของเขามี 2 ลักษณะ คือ เนื้อหาอ้างอิงข้อมูลทางประวัติศาสตร์จากแหล่งข้อมูล เช่น คลิปวิดีโอการสัมภาษณ์ บทความหนังสือหรือหนังสือพิมพ์ และอีกลักษณะ คือ การวิพากษ์วิจารณ์
 
 
ตั้งแต่ต้นปี 2563 นิรนามได้ทวิตเนื้อหาเกี่ยวกับการลบประวัติศาสตร์คณะราษฎร การสวรรคตของรัชกาลที่แปด สถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งเรื่องขบวนเสด็จและข่าวของหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสเรื่องรัชกาลที่สิบ
 
 
และด้วยลักษณะการโพสต์ที่เต็มไปด้วยข้อมูลที่ไม่ได้มีแพร่หลายหรือหาอ่านโดยง่ายนักและชั้นเชิงในการวิจารณ์ ทั้งยังไม่เคยตกจากกระแสสังคม ผู้ที่ติดตามเนื้อหาจากบัญชีนี้มักคาดการณ์กันว่า เจ้าของบัญชีต้องมีอายุและประสบการณ์ระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้ชาวทวิตเตอร์ฮือฮา เมื่อเขาเปิดเผยในวันเกิดของเขาว่า เขาอายุเพียง 20 ปีเท่านั้นและติดตามประวัติศาสตร์การเมืองมาประมาณ 10 ปีแล้ว
 
 
เมื่อถูกจับ ข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการที่ตำรวจแจ้งกับเขา คือ มาตรา 14(3) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการทวิตข้อความที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์
 
 
ย้อนปัญหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่มาของ “ยาแรงผิดขนาน”
 
 
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นกฎหมายที่มีข้อถกเถียงกันอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 14 มาตราที่นำมาใช้บ่อย คือ มาตรา 14(1) ซึ่งระบุว่า “ผู้ใด .... (1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน  หรือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” เจตนารมณ์ของกฎหมายมีขึ้นเพื่อการเอาผิดการฉ้อโกงหรือการปลอมแปลงในทางเทคนิค เช่น การปลอมแปลงไฟล์เพื่อแฝงตัวเข้ามาทำลายระบบคอมพิวเตอร์ หรือการทำเว็บไซต์ปลอมเพื่อหลอกเอาทรัพย์สิน (Phishing) แต่เมื่อใช้งานจริงมาตรานี้ถูกนำมาใช้ฟ้องร้องดำเนินคดีเอาผิดกับ "เนื้อหา" บนโลกออนไลน์
 
 
สถิติจากงานวิจัยผลกระทบจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และนโยบายของรัฐกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตั้งแต่กรกฎาคม 2550 ถึง ธันวาคม 2554 มีคดีความตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ขึ้นถึงชั้นศาลแบ่งเป็นความผิดต่อระบบ 62 คดี ความผิดต่อเนื้อหา 215 คดี ตัวอย่างการใช้มาตรา 14(1) เช่น คดีที่กองทัพเรือฟ้องสำนักข่าวภูเก็ตหวาน จากการเผยแพร่ข่าวบนเว็บไซต์ phuketwan.com อ้างอิงรายงานของรอยเตอร์ กล่าวหาว่าทหารเรือมีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับผลประโยชน์จากขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา
 
 
ต่อมาหลังปี 2557 มาตรา 14(1) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีแนวโน้มนำมาใช้ในคดีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมากขึ้น จากการรวบรวมข้อมูลมีไม่น้อยกว่า 32 คดี เช่น คดีที่ทหารกล่าวหาว่า วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กวิจารณ์บ้านเมืองในยุคคสช.และการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร กรณีทหารไปตามถ่ายรูปยิ่งลักษณ์ ชินวัตรว่า ไม่ให้เกียรติและเหยียดหยามทางเพศ การนำมาตรา 14(1) มาใช้ดำเนินคดีเพื่อต่อต้านการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นการเมือง หรือประเด็นสาธารณะ ทำให้คดีจากการแสดงความคิดเห็นเหล่านี้มีอัตราโทษสูง คือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
 
 
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คือ กฎหมายความมั่นคงฉบับย่อ
 
 
ต่อมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปลายปี 2559  ก่อนการพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 เกิดกระแสเรียกร้องให้ สนช. ชะลอการพิจารณากฎหมายดังกล่าว มีผู้เปิดแคมเปญล่ารายชื่อบนเว็บ change.org โดยมีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 300,000 คน แต่ไม่สามารถหยุดการออกกฎหมายดังกล่าวได้  วันที่ 16 ธันวาคม 2559 สมาชิก สนช. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทั้งหมด ลงมติด้วยเสียงเกือบเอกฉันท์ให้ความเห็นชอบให้ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับแก้ไข และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 ในการแก้ไขครั้งนี้ ทำให้มาตรา 14 ซึ่งถูกใช้งานเป็นหลักกับการดำเนินคดีกับเนื้อหาบนโลกออนไลน์ บัญญัติใหม่เป็นว่า
 

มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)
 

หลังการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังคงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการจำกัดการใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์เหมือนเดิม ซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคง โดยพอจะเห็นแนวโน้มใน 2 ลักษณะ ดังนี้
 
 
1.       การนำมาใช้แทนกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ต่อผู้โพสต์
 
 
หลังรัฐประหาร 2557 คสช. เคยใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ปราบปรามผู้ใช้เสรีภาพการแสดงออก ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึงปัจจุบันมีผู้ถูกกล่าวหาไม่น้อยกว่า 91 คน ปัญหาสำคัญ คือ การตีความกฎหมายอย่างกว้างเพื่อเอาผิดกับการกระทำของฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ความผิดฐานนี้มีโทษสูงและหลายคดีต้องขึ้นศาลทหาร จนกระทั่งปี 2561 มีสัญญาณความเปลี่ยนแปลงของแนวทางการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เดือนกุมภาพันธ์ 2561 สำนักงานอัยการสูงสุดออกแนวปฏิบัติสำหรับคดี มาตรา 112 โดยเฉพาะให้ทุกคดีต้องผ่านอัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาสำนวนและสั่งคดีเพื่อให้เกิดความรัดกุมยิ่งขึ้น
 
 
ส่วนคดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลนั้น เท่าที่สามารถติดตามได้ไม่น้อยกว่า 7 คดีที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหาก็ตาม เช่น คดีของทอม ดันดี คดีของสกันต์ เป็นต้น ลักษณะดังกล่าวทำให้เป็นความหวังว่า สถานการณ์เสรีภาพการแสดงออกในปีต่อๆ ไปจะดีขึ้น แต่ไม่เป็นเช่นนั้นเสียทีเดียว
 
 
ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วบนโลกออนไลน์ เดือนตุลาคม 2562 ระหว่างที่มีการวิจารณ์อย่างมากผ่านแฮชแท็ค #ขบวนเสด็จ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) จับกุมกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ นักกิจกรรมทางการเมือง จากการโพสต์ข้อความเรื่องการสิ้นสุดของสถาบันกษัตริย์ฝรั่งเศสบนเฟซบุ๊ก และกล่าวหาว่า กระทำความผิดตามมาตรา 14(3) ของพ.ร.บ.คอมฯ และล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ตำรวจได้เข้าจับกุมผู้ใช้บัญชีนิรนาม และกล่าวหาตามมาตรา 14(3) อีกเช่นกัน
 
 
มาตรา 14(3) บัญญัติไว้ว่า นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เมื่ออ่านตัวบทกฎหมายพบว่า ความผิดในมาตรานี้จะต้องผูกโยงเข้ากับความผิดในประมวลกฎหมายอาญาเรื่องความมั่นคงหรือการก่อการร้าย
 
 
ในคดีก่อนหน้ามาตรา 14(3) จะถูกนำมาใช้ในคดีความมั่นคง เช่น คดีตามมาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ หรือคดีมาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น แต่ต้องรับบทพระรองมาตลอด เนื่องจากเป็นการดำเนินคดีหลายข้อหาประกอบกัน จากการกระทำเดียวกัน หรือที่เรียกว่า "กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท" หากศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด ศาลจะลงโทษในกฎหมายบทหนักที่สุดคือมาตรา 112 หรือมาตรา 116 และไม่ได้ลงโทษตามมาตรา 14(3) 
 
 
แต่ในระยะหลังนี้มาตรา 14(3) ถูกตำรวจนำมาตั้งข้อกล่าวหาคดีเพียงข้อหาเดียว โดยไม่ตั้งข้อหาตามหมวดความมั่นคงหรือหมวดก่อการร้ายในประมวลกฎหมายอาญาประกอบด้วย ทำให้มาตรา 14(3) มีสถานะขึ้นมาใช้แทนที่ มาตรา 112 เดิมที่ช่วงหลังถูกใช้น้อยลง และนำไปสู่การตั้งคำถามทางกฎหมายว่า การตั้งข้อหามาตรา 14(3) ลอยๆ เพียงยข้อหาเดียว แต่ไม่ตั้งข้อหาใดข้อหาหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญาด้วยได้หรือไม่ และจะพิสูจน์ว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยกระทำความผิดเพียงข้อหาเดียวได้อย่างไร
 
 
2.       การนำมาใช้ขู่ สร้างความหวาดกลัวต่อผู้แชร์
 
 
ที่ผ่านมามีแนวโน้มการดำเนินคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการ "แชร์" ข้อความบนโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยคนที่ถูกดำเนินคดีเพียงกดแชร์ ไม่ได้เป็นคนที่เขียนข้อความขึ้นเอง โดยเฉพาะข้อความที่แสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ มาตราที่ให้อำนาจในการเอาผิดผู้แชร์คือ มาตรา 14(5) ระบุว่า “ผู้ใด...เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ”
 
 
องค์ประกอบการกระทำความผิด คือ ต้องเป็นการเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ และต้องเป็นการเผยแพร่โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4) ดังนั้น ในการดำเนินการเอาผิดคนที่แชร์ข้อความตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จึงต้องพิสูจน์ "เจตนา" ของผู้กระทำความผิดให้ได้ว่า "รู้อยู่แล้ว" เนื่องจากบางครั้งการแชร์โพสต์จากแฟนเพจต่างๆ ผู้แชร์อาจจะเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า สิ่งที่แชร์ไม่ใช่ข้อมูลเท็จที่เป็นความผิดตามวงเล็บอื่นๆ ของมาตรา 14 และหากพิสูจน์ได้ว่าไม่รู้จริงๆ ก็อาจจะไม่มีความผิดตามมาตรานี้ เนื่องจากขาดเจตนา
 
 
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องนำพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาใช้ดำเนินคดีกับผู้แชร์ข้อมูลบนโลกออนไลน์ โดยที่ยังไม่มีการดำเนินคดีกับคนที่โพสต์ข้อมูลจนได้ผลเป็นที่สุดว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็น "ข้อมูลเท็จ" ที่ผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) (2) (3) และ (4) หรือไม่ จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า มีกล่าวหาคดีไม่น้อยกว่า 5 คดีและมีผู้ถูกกล่าวหาไม่น้อยกว่า 63 คน โดยกรณีการแชร์เพจ KhonthaiUK เป็นกรณีที่มีผู้ถูกกล่าวหามากที่สุดคือ 36 คน