1366 1041 1009 1994 1398 1658 1258 1496 1058 1975 1804 1119 1557 1965 1136 1919 1587 1051 1620 1304 1914 1613 1005 1173 1870 1503 1648 1865 1828 1331 1837 1467 1209 1019 1563 1847 1286 1648 1568 1356 1970 1110 1482 1824 1806 1273 1403 1066 1258 1442 1410 1298 1749 1989 1767 1755 1203 1355 1841 1995 1332 1289 1008 1349 1441 1088 1080 1549 1332 1147 1882 1836 1768 1770 1368 1255 1032 1436 1900 1308 1576 1192 1784 1487 1277 1214 1537 1244 1239 1913 1780 1308 1713 1853 1529 1953 1557 1763 1885 Change.NCPO "แม่หนึ่ง" จากแม่นักกิจกรรมคนหนึ่ง สู่จำเลยสองคดีการเมืองยุค คสช. | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

Change.NCPO "แม่หนึ่ง" จากแม่นักกิจกรรมคนหนึ่ง สู่จำเลยสองคดีการเมืองยุค คสช.

เท่าที่แม่จำได้ นิวน่าจะเริ่มทำกิจกรรมช่วงปี 2554 สมัยที่เรียนอยู่ปี 2 ที่ธรรมศาสตร์ ตอนแรกแม่ก็นึกว่านิวทำกิจกรรมแบบนักศึกษาทั่วไปอย่างออกค่ายชนบท แต่ไปๆมาๆก็รู้สึกว่ากิจกรรมของลูกออกจะแหวกแนวไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้ห้ามลูกนะแค่เตือนว่าทำกิจกรรมยังไงก็อย่าทิ้งการเรียน
 
ครั้งแรกที่นิวถูกจับคือตอนไปทำกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลักที่หน้าหอศิลป์ จำได้ว่าตอนนั้นแม่กำลังทำงานอยู่นิวโทรมาบอกว่า "แม่มาหานิวหน่อยได้ไหม" แม่ก็บอกว่าได้ ให้ไปหาที่ไหน นิวก็บอกเสียงนิ่งๆว่าสน.ปทุมวัน
 
พอรู้เรื่องแม่ก็รู้สึกเครียดมาก ร้องไห้เหมือนคนบ้าเลย ตอนนั้นก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องคดีเรื่องกฎหมายอะไร แล้วก็ได้ยินมาว่าอาจจะต้องใช้เงินประกันถึง 15,000 บาท แม่ก็มืดแปดด้านได้แต่ถามตัวเอง "แล้วกูจะไปเอาที่ไหนมาวะ" ตอนนั้นมืดแปดด้านจริงๆ
 
1170
 
พอวางสายจากนิวแม่ก็รีบออกจากบ้านที่มีนบุรีไปหาลูกที่สน.ปทุมวันเลย ทางมันก็ไกลอ่ะนะ แม่ก็สับสนเรื่องทางต้องโทรถามคนอื่นเป็นระยะ ตลอดทางก็ได้แต่คิดว่าจะไปหาเงินจากไหนเพราะถ้าลูกไปอยู่สน.ก็แปลว่าถูกจับต้องประกันตัวแล้วเราจะไปเอาตังค์จากไหน แม่ก็คิดเรื่องนี้วนไปวนมาตลอดทางที่ไปสน.
 
พอถึงสน.ปทุมวันแม่ก็เห็นคนเต็มไปหมด พอเจอตำรวจก็บอกว่ามาหาลูก ตำรวจถามว่าโดนคดีอะไร แม่ก็บอกไม่รู้ ได้แต่บอกว่าลูกเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ ตำรวจก็บอกว่า "อ๋อ จ่านิวใช่ไหม" แม่ก็งงๆนะตอนนั้นเพราะนิวอะลูกเราแต่จ่าหรือเปล่านี่ไม่รู้
 
ตำรวจคนนั้นก็ถามต่อว่า แล้วเตรียมเงินประกันมาหรือเปล่า พอแม่ถามว่าเท่าไหร่ ตำรวจก็บอกว่า แสนห้า แม่ก็ได้แต่คิดในใจ "ฉิบหายแล้วมึง" ตอนนั้นก็ยิ่งเครียดใหญ่ว่าเราจะไปเอาเงินมาจากไหน
 
ตอนแรกแม่ก็เข้าใจว่านิวน่าจะอยู่ในห้องขังเหมือนที่เราเคยดูในหนังแต่ตำรวจบอกว่านิวคุยกับตำรวจอยู่ชั้นบนของสน.ให้แม่รอข้างล่างเดี๋ยวก็ลงมาแล้ว ตอนแม่นั่งรอก็เห็นคนเต็มสน.เลยแต่แม่ก็ไม่รู้จักใคร แม่นั่งเครียดจนน้ำตาไหลรอลูกอยู่เงียบๆ สักพักมีคนรู้จักมาทัก แล้วเค้าก็พูดกันต่อๆไปว่าแม่จ่านิวมา พวกป้าๆที่มาให้กำลังใจนิวบางคนก็เลยเข้ามาคุยกับแม่
 
คืนนี้ก็อยู่กันที่สน.ทั้งคืนเพราะยื้อกันเรื่องเงื่อนไขปล่อยตัวที่ทางตำรวจจะปล่อยโดยไม่ต้องวางเงินประกันแต่จะกำหนดเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองหรือห้ามชุมนุมซึ่งนิวเค้าก็ไม่ยอม โชคดีที่วันนั้นจบลงโดยที่ไม่ต้องวางเงินประกันตัว หลังถูกดำเนินคดีครั้งนั้นนิวเค้าก็ยังทำกิจกรรมมาตลอดและก็ถูกดำเนินคดีอีกหลายครั้ง แต่ละครั้งแม่ก็เครียดไม่แพ้กัน เพราะต้องกังวลเรื่องเงินประกัน แม่รู้สึกด้วยว่าคดีแบบนั้นมันจะตึงเครียดผิดจากคดีอื่นๆเพราะตำรวจมักจะห้ามโน่นห้ามนี่ อย่างห้ามถ่ายรูป
 
พอนิวถูกจับบ่อยครั้งเข้าแม่ก็เริ่มขอไลน์ ขอเบอร์โทรพวกเพื่อนๆที่ทำกิจกรรมกับนิวเพราะแม่รู้เวลานิวถูกจับหรือมีปัญหาก็มักจะปิดโทรศัพท์ บางทีเพื่อนๆของนิวก็จะแชทมาคุยกับแม่บ้างแล้วก็กลายเป็นว่าแม่ต้องมาถูกดำเนินคดีเพราะไปคุยกับเพื่อนของนิวคนหนึ่ง เค้าแชทมาคุยกับแม่ คุยยาวมากแล้วเค้าก็บอกแม่ว่า ”วันนี้แรงไปหน่อยแม่อย่าว่าอะไรผมนะ” แม่ก็ตอบเหมือนเวลาตอบคนที่คุยด้วยว่า “จ้า” เท่านั้นแหละเป็นเรื่องเลย
 
คนที่คุยกับแม่เขาถูกจับจากที่ชุมนุมแล้วโดนข้อหา 112 พอรู้ข่าวแม่ก็ถามทนายว่าแม่จะโดนคดีไหม พอทนายรู้ว่าแม่ตอบคำว่า"จ้า" คำเดียวแล้วก็เป็นการคุยกันในแชททนายเค้าก็บอกว่าไม่โดนหรอกเพราะไม่ได้ทำอะไรผิด ที่ไหนได้กลายเป็นว่าแม่โดนหางเลขไปด้วย วันนึงระหว่างที่แม่กำลังทำงานนิวเค้าก็โทรมาบอกว่า แม่รู้มั้ยแม่โดนหมายแม่ แม่ก็งง ได้แต่ถามนิวว่าคดีอะไร พอนิวบอก 112 แม่ก็รู้สึกปวดหัวจี้ดเหมือนโดนค้อนทุบ ได้แต่คิดในใจว่า “ฉิบหายแล้ว”
 
1175
 
ถึงจะไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมการเมืองแต่ก็พอรู้อยู่บ้างว่า 112 เป็นคดีร้ายแรง แต่ที่สุดแล้วแม่ก็ตัดสินใจจะไปมอบตัวกับตำรวจ ทั้งทนายทั้งนิวพยายามถามแม่หลายครั้งว่าแน่ใจแล้วเหรอ แม่ก็ยืนยันว่าแน่ใจ แม่พอรู้ว่าคนที่โดนข้อหานี้ไม่ค่อยได้ประกันตัว แต่แม่คิดแบบเข้าข้างตัวเองว่าถ้าเราไปมอบตัว แสดงความบริสุทธิใจ ตำรวจก็น่าจะปล่อยเรา พอตัดสินใจแม่ก็สั่งเสียนิวว่าเตรียมกับข้าวไว้แล้ว ส่วงเงินก็ฝากไว้กับคนรู้จัก แล้วก็บอกนิวว่าไม่คงไม่ได้กลับบ้านสักสองวันนะ พอเตรียมทุกอย่างเรียบร้อยแม่ก็นั่งรถจากมีนบุรีไปที่สน.ทุ่งสองห้อง
 
ระหว่างทางที่นั่งรถไปหาตำรวจก็มีคนพยายามห้าม แต่แม่ก็ตัดสินใจแล้วและก็เป็นการตัดสินที่ถูกเพราะที่สุดศาลทหารก็ให้แม่ประกันตัวแต่ก็เฉียดต้องนอนคุกเพราะเวลารอคำสั่งประกันศาลทหารแม่ต้องไปรอในเรือนจำ ถ้าคำสั่งประกันมาช้ากว่านั้นไปอีกห้านาทีแม่ก็คงต้องนอนที่เรือนจำอีกหนึ่งคืนหลังจากที่ต้องนอนที่สน.ทุ่งสองห้องกับที่ปอท.(กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) มาแล้วที่ละคืน
 
หลังโดนคดีม.112 แม่ก็มาโดนคดีชุมนุมอีกคดีหนึ่ง (คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หอศิลป์กรุงเทพ) จริงๆแล้วตัวแม่เป็นคนทำมาหากิน ไม่เคยไปร่วมการชุมนุมที่ไหน แล้วเวลารู้ข่าวว่ามีการชุมนุมตรงไหนก็พยายามที่จะเลี่ยงไม่ไปตรงนั้น แต่มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่นิวโดนจับแล้วทำให้แม่ตัดสินใจว่าต่อไปนี้เวลาลูกไปชุมนุมจะต้องไปด้วย คือตอนที่นิวนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ครั้งนั้นระหว่างที่นิวถูกจับแล้วพาตัวเข้ากรุงเทพมันมีข่าวว่าเค้าจะพานิวไปที่โน่นบ้างที่นั่นบ้าง ข่าวสับสนจนไม่รู้ว่าจะไปตามนิวได้ที่ไหน แม่เครียดมากตอนนั้นเพราะเป็นห่วงลูก แม่เลยคิดว่าจะมัวรอรับโทรศัพท์เวลาลูกถูกจับไม่ได้แล้ว
 
ช่วงที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเริ่มชุมนุมแม่ตามนิวไปในที่ชุมนุมกับนิวด้วย เพราะอย่างน้อยถ้านิวจะถูกจับแม่ก็จะรู้ และให้ความช่วยเหลือได้ทันเพราะอยู่แถวนั้น ตัวแม่ทำงานรับจ้างทั่วไปแล้วแต่ใครมาจ้างไปซักผ้า ทำความสะอาด หรือทำอาหารแม่ก็จะไปทำให้ พอต้องเริ่มออกไปดูนิวเวลาชุมนุมแม่ก็ต้องจัดเวลารับงานใหม่ไม่ให้ชนกับเวลาที่นิวไปทำกิจกรรม เวลาอยู่ในที่ชุมนุมแม่จะยืนดูอยู่ห่างๆ ไม่ได้เข้าไปถือป้ายอะไรกับเขา บางทีนิวก็จะขอให้แม่ช่วยถือกระเป๋า หรือไปซื้อน้ำ ซื้อถ่านมาใส่โทรโข่งแม่ก็จะวิ่งไปให้แต่ไม่ได้เข้าไปร่วมชุมนุมด้วย
 
ตอนอยู่ในที่ชุมนุมแม่ก็ยืนห่างๆ ป้าๆที่มาชุมนุมบางคนเค้าชวนแม่ถือป้ายแม่ก็ปฏิเสธไปเพราะตัวแม่ติดเงื่อนไขประกันตัวอยู่ ป้าๆเค้าก็เข้าใจ แต่ปรากกฎว่าแม่กลายเป็นผู้ต้องหาคดีชุมนุมไปด้วย พอรู้เรื่องแม่ก็อึ้งได้แต่คิดในใจ “กูอยู่ห่างมากนะ” ถึงคดีชุมนุมมันจะไม่เน่ากลัวเท่าคดี 112 แต่สำหรับคนทำมาหากินแบบแม่มันก็เครียดไม่แพ้กัน เพราะแม่ต้องหาเลี้ยงสี่ชีวิตทั้งตัวแม่ ลูกสองคน แล้วก็คุณยายของนิว
 
เวลามาเซ็นชื่อกับอัยการแต่ละครั้งแม่ต้องเสียรายได้ไปทั้งวันเพราะต้องเดินทางจากบ้านแถวมีนบุรีมาถึงที่ปทุมวัน มาเพื่อเซ็นชื่อแล้วก็กลับ ไม่ใช่แค่เสียเวลาหรือเสียโอกาสทำงานมาแต่ละครั้งก็มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางอีก เวลามีข่าวว่าแม่กับพวกป้าๆถูกดำเนินคดี คนที่อ่านข่าวบางคนอาจจะนึกพวกเราสนุกมีระดมทุนค่าประกันตัวมียืนถ่ายรูปแอคชันที่หน้าสน.แต่จริงๆแล้วคนที่โดนคดีเค้าไม่ได้สนุกหรอกนะ ป้าบางคนมีแซวกันว่าจะเอาไปขังก็ขังเลยพร้อม แม่ได้แต่คิดในใจ “กูไม่พร้อมโว้ย”
 
หลังนิวเรียนจบนิวก็ขอแม่ว่าจะยังไม่ทำงาน แต่จะเรียนภาษาอังกฤษไปเรื่อยๆเพื่อสอบทุนไปเรียนต่อ แม่ก็บอกเค้าว่าเอาเลยลูกตอนนี้แม่ยังมีแรง แล้วนิวก็สอบทุนไปเรียนต่อที่อินเดียได้ ช่วงใกล้ๆจะถึงวันเดินทางนิวถามว่าถ้านิวไปเรียนต่อห้าไปแม่จะไหวมั้ย แต่ก็บอกว่าไปเลยลูกแล้วรีบกลับมา ตอนนี้แม่ยังมีแรงอยู่ แต่หลังจากนั้นนิวมาถูกทำร้ายร่างกายทำให้เรื่องเรียนต่อต้องชะลอออกไป
 
ถึงแม้การมีลูกเป็นนักกิจกรรมอย่างนิวจะทำให้แม่ต้องเครียดอยู่หลายครั้งเวลามีข่าวลูกเราถูกจับหรือถูกทำร้ายแต่ไม่ก็ไม่คิดจะห้ามเค้านะเพราะสุดท้ายแล้วมันคือทางที่เค้าเลือกเดิน ในฐานะแม่ตอนมีข่าวนิวถูกอุ้มขึ้นรถตู้แถวธรรมศาสตร์รังสิตตอนนั้นแม่เหมือนหัวใจจะหยุดเต้น คิดอย่างเดียว “กูจะได้ลูกคืนมามั้ย” เพราะในประเทศนี้ถ้ามีคนถูกอุ้มขึ้นรถตู้คงเป็นเรื่องยากที่จะได้กลับมา ยังโชคดีที่นิวได้กลับมา
 
แต่ในอีกมุมหนึ่งมันก็เหมือนเป็นทางเลือกที่นิวรู้อยู่แล้วว่าเขาจะต้องเจอกับอะไร แต่เขาก็เลือกที่จะทำ นิวก็คงต้องรับผิดชอบกับทางที่เขาเลือกเดิน สิ่งที่แม่ทำได้ก็คือไปยืนอยู่ข้างๆไม่ว่าจะในศาล หรือที่สถานีตำรวจ ถึงแม้แม่จะช่วยอะไรไม่ได้แต่อย่างน้อยเขาก็ได้รู้ว่าแม่ยังอยู่ตรงนี้ ยังอยู่ข้างๆ ถึงแม้จะแม่จะช่วยได้แค่ไปซื้อข้าวซื้อน้ำหรือส่งพาวเวอร์แบงค์ให้แต่อย่างน้อยนิวก็ได้รู้ว่าแม่อยู่ตรงนี้ ข้างๆเขา
 
 
------------------------------------------------------------------
 
พัฒน์นรีหรือ “แม่หนึ่ง” เป็นแม่ของสิรวิชญ์หรือ “นิว” นักกิจกรรมกลุ่ม Start Up People ที่ถูกดำเนินคดีการเมืองในยุคคสช. เช่น คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งรวม 4 คดี คดีจากการร่วมกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลัก เป็นต้น “แม่หนึ่ง” มาตกเป็นจำเลยคดีอาญาเองสองคดีได้แก่คดีตามมาตรา 112 จากการที่เธอสนทนากับจำเลยคดี 112 อีกคนหนึ่งที่ถูกจับกุมตัว กับคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หอศิลป์กรุงเทพ ()#MBK39)

คดี 112 ขณะนี้ยังอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลอาญาแต่ยังไม่มีวันนัดพิจารณาเนื่องจากคดีเพิ่งโอนย้ายมาจากศาลทหารกรุงเทพ ส่วนคดี #MBK39 อยู่ในการพิจารณาของอัยการสูงสุดว่าจะมีคำสั่งคดีอย่างไร แม้จะยังไม่มีการสั่งฟ้องคดีแต่แม่หนึ่งก็ต้องมารายงานตัวกับอัยการแล้วอย่างน้อย 16 ครั้ง โดยทุกครั้งที่มาอัยการสูงสุดเลื่อนนัดสั่งแม่หนึ่งจึงทำได้เพียงเซ็นชื่อรายงานตัวแล้วเดินทางกลับ
          
------------------------------------------------------------------
 
ในช่วงเวลากึ่งทศวรรษของการปกครองโดย คสช. เป็นเวลาที่นานพอจะให้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง เช่น เห็นอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารผู้เคยปฏิเสธว่า ตัวเอง "ไม่ใช่นักการเมือง" กลายเป็นนักการเมืองแบบเต็มขั้น เห็นระบบการเมืองที่หวนคืนไปสู่ระบบการเมืองแบบวันวาน เช่น การมี ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง 100% หรือเห็นรัฐธรรมนูญที่ย้อนกลับไปกำหนดให้นายกไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง เป็นต้น
 
ขณะเดียวกันระยะเวลาที่เนิ่นนานในยุค คสช. ก็นานพอที่จะเปลี่ยนชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านการรัฐประหารหรือการปกครองโดย คสช. จนมีคดีการเมืองติดตัวเป็นของขวัญ ผลงานชุด Change.NCPO จึงคัดเลือกภาพและเสียงของนักเคลื่อนไหวบางส่วนที่ถูกดำเนินคดีการเมืองเป็นครั้งแรกในช่วงปี 2557 - 2559 ซึ่งถือเป็นครึ่งแรกของการบริหารประเทศโดย คสช. มาบอกเล่าไว้ ณ ที่นี้
 
ภาพถ่ายโดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
 

 

ชนิดบทความ: