1614 1502 1629 1834 1981 1064 1063 1266 1457 1282 1832 1819 1507 1852 1972 1127 1980 1080 1564 1751 1529 1920 1587 1628 1449 1084 1398 1793 1366 1857 1319 1924 1615 1909 1919 1723 1473 1039 1830 1105 1578 1558 1093 1881 1995 1799 1723 1614 1727 1515 1180 1092 1882 1715 1800 1989 1010 1353 1897 1565 1972 1205 1085 1031 1341 1456 1786 1175 1680 1378 1711 1856 1912 1826 1443 1699 1753 1109 1724 1650 1689 1586 1654 1141 1652 1813 1886 1084 1879 1606 1299 1736 1209 1891 1988 1998 1647 1150 1345 ย้อนดูมหากาพย์คดี "ศูนย์ปราบโกงประชามติ" หลังศาลแขวงราชบุรีสั่งยกฟ้องคดีสุดท้าย 23 กันยายน 2562 | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ย้อนดูมหากาพย์คดี "ศูนย์ปราบโกงประชามติ" หลังศาลแขวงราชบุรีสั่งยกฟ้องคดีสุดท้าย 23 กันยายน 2562

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่บังคับใช้ในปัจจุบัน นับเป็นฉบับที่ 2 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีการประกาศใช้ หลังการออกเสียงประชามติ เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากการรัฐประหารสองฉบับสุดท้ายได้แก่ ฉบับปี 2550 และฉบับปี 2560 ต่างประกาศใช้หลังการลงประชามติของประชาชนทั้งสองฉบับ อย่างไรก็ตามบรรยากาศการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับกลับแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง 

ในขณะที่การรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ต่อมาประกาศใช้เป็นฉบับปี 2550 มีการรณรงค์อย่างคึกคักทั้งฝ่ายเห็นชอบและไม่เห็นชอบ เช่น มีการจัดดีเบทใหญ่ให้ประชาชนเข้าฟังและถ่ายทอดสอดจากบ้านมนังคศิลา รวมทั้งมีการรณรงค์ไม่เห็นชอบร่างอย่างกว้างขวางโดยเท่าที่มีข้อมูลไม่พบว่ามีการดำเนินคดีประชาชนที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มีเพียงกรณีของสมบัติ บุญงามอนงค์หรือบก.ลายจุดที่ถูกนำตัวเข้าค่ายระหว่างการรณรงค์ที่จังหวัดเชียงราย 
 
การออกเสียงประชามติที่เกิดขึ้นในปี 2559 เพื่อให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ต่อมาประกาศใช้เป็นฉบับปี 2560 กลับเป็นการออกเสียงประชามติที่ทำภายใต้บรรยากาศที่ปิดและมีการดำเนินคดีประชาชนไม่ต่ำกว่า 100 คน ในกรณีของการทำกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ เท่าที่ทราบมีผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหา "ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน" ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 อย่างน้อย 142 คน  จากอย่างน้อย 7 จังหวัดเช่น กรุงเทพมหานคร อุดรธานี และ ราชบุรี โดยคดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่จังหวัดราชบุรีนับเป็นคดีสุดท้ายที่ศาลเพิ่งมีคำพิพากษาออกมาในวันที่ 23 กันยายน 2562 หลังการออกเสียงประชามติผ่านไปแล้วสามปีเศษหรือเป็นเวลา 9 เดือนกับหนึ่งวัน นับจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 อันเป็นมูลเหตุแห่งคดีถูกยกเลิก  

 

คดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติบ้านโป่ง ตอนอวสานมหากาพย์คดีศูนย์ปราบโกง

 
วันที่ 23 กันยายน 2562 ศาลแขวงราชบุรีพิพากษายกฟ้อง 18 จำเลยคดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี 18 คนโดยให้เหตุผลว่ากฎหมายที่เป็นมูลเหตุในการดำเนินคดีถูกยกเลิกไปแล้ว ในฐานะคดีที่เป็น "บทสรุป" ของมหากาพย์คดี "ศูนย์ปราบโกง" คดีที่อำเภอบ้านโป่งมีความน่าสนใจหลายประการ ทั้งประเด็นที่คดีที่นี้ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐแต่เป็นประชาชนทั่วไปที่มีความเห็นต่างจากจำเลยคดีนี้  นอกจากนั้นก็มีประเด็นที่อัยการศาลทหารนำสำนวนคดีไปให้อัยการศาลปกติทำคดีตั้งแต่ก่อนหัวหน้าคสช.มีคำสั่งให้ย้ายคดีในศาลทหารกลับศาลปกติ รวมทั้งประเด็นที่อัยการคงยืนยันฟ้องคดีแม้คำสั่งฉบับที่ 3/2558 จะยกเลิกไปก่อนมีการฟ้องคดีแล้ว
 
1205
 
การเปิดศูนย์ปราบโกงที่บ้านโป่ง ราชบุรี ภาพจากบริบูรณ์ หนึ่งในจำเลยในคดี

 

When my neighbor turned against me

 
บริบูรณ์ หนึ่งในจำเลยคดีศูนย์ปราบโกงที่บ้านโป่งระบุว่าผู้ที่ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ตำรวจดำเนินคดีเขากับพวก คือ อาทิตยา แดนมะตาม กลุ่มกปปส.บ้านโป่งที่มีแนวคิดทางการเมืองตรงข้ามกับพวกเขา บริบูรณ์ระบุด้วยว่า กลุ่มของเขากับกลุ่มกปปส.ในพื้นที่บ้านโป่งเคยมีเหตุกระทบกระทั่งกันเมื่อครั้งที่โรงพยาบาลบ้านโป่งเคยขึ้นป้าย "ไม่ต้องการรัฐบาลโกง" ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2557 กลุ่มของบริบูรณ์เคยมาชุมนุมคัดค้านให้นำป้ายดังกล่าวออก ขณะที่กลุ่มกปปส.ในพื้นที่ก็มีการชุมนุมในวันเดียวกันเพื่อให้กำลังใจผู้อำนวยการโรงพยาบาลจนเกือบเกิดเหตุปะทะกัน 
 
ขณะที่ "ป้านาง" จำเลยอีกคนเล่าว่าพอถูกดำเนินคดีคนในพื้นที่ที่มีความเห็นต่างจากเธอและทำการค้ากับเธอก็เยาะเย้ยเธอทำนองว่า "เป็นไงหล่ะโดนคดีแบบนี้" ซึ่ง "ป้านาง"ก็ได้แต่ตอบว่าจะเป็นอะไรได้นอกจากเสียเวลา ปากคำของบริบูรณ์และ "ป้านาง" ก็น่าจะเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ระดับหนึ่งว่าเหตุในการดำเนินคดีที่บ้านโป่งต่างจากคดีศูนย์ปราบโกงอื่นๆ ที่ผู้ริเริ่มคดีไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐแต่เป็นประชาชนที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกันเลยมีข้อพิพาททางการเมืองในระดับพื้นที่
 
มีความน่าสนใจด้วยว่าในการร้องทุกข์กล่าวโทษ นิตยาร้องทุกข์ว่าคดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่บ้านโป่งเกิดขึ้นในวันที่ 16 มิถุนายน 2559 แต่วันที่บริบูรณ์กับพวกรวมตัวกันจริงคือวันที่ 19 มิถุนายน 2559
 

การย้ายศาลที่ยังต้องการคำอธิบาย

 
ประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 กำหนดให้คดีพลเรือนบางประเภท รวมทั้งคดีฝ่าฝืนประกาศคำสั่งคสช.ที่เหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2557 เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร คดีเปิดศูนย์ประชามติปราบโกงทุกคดีรวมทั้งคดีที่บ้านโป่งจึงนับว่าอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหารเพราะข้อหาที่ใช้ฟ้องคือข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาต
 
แม้ในวันที่ 12 กันยายน 2559 จะมีการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 55/2559 ยกเลิกคำสั่งให้นำพลเรือนขึ้นศาลทหาร แต่คำสั่งดังกล่าวก็ระบุชัดเจนว่าให้มีผลเฉพาะคดีที่เหตุตั้งแต่วันที่มีการออกคำสั่งเป็นต้นไป คดีเปิดศูนย์ปราบโกงบ้านโป่งซึ่งเหตุเกิดในวันที่ 19 มิถุนายน 2559 (หรือวันที่ 16 มิถุนายน 2559 ตามที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษ) จึงเกิดขึ้นก่อนหน้าที่คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 55/2559 จะมีผลบังคับใช้
 
อย่างไรก็ตามในวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 อัยการศาลทหารราชบุรีกลับส่งสำนวนคดีนี้ให้อัยการศาลแขวงราชบุรีเป็นผู้พิจารณาแม้ในขณะนั้นน่าจะยังไม่มีข้อกฎหมายใดรองรับ จากการสอบถามทนายจำเลย อัยการทหารให้ความเห็นในส่งต่อสำนวนทำนองว่าคดีนี้ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษเป็นบุคคลธรรมดาไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ หรือเจ้าหน้าที่ทหาร คดีจึงอยู่ในอำนาจของอัยการและศาลพลเรือนตามปกติ แต่หากพิจารณาจากประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 เรื่องให้คดีพลเรือนบางประเภทอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลทหารจะไม่พบว่ามีการเขียนเรื่องผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษไว้เป็นเงื่อนไขในการกำหนดเขตอำนาจศาลแต่ประการใด
  

Life goes on case still on

 
ในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ซึ่งนับเป็นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งฉบับที่ 22/2561 เรื่องให้พรรคการเมืองและประชาชนทำกิจกรรมทางการเมือง   ยกเลิกประกาศคำสั่งที่เป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมทางการเมืองฉบับต่างๆ รวมทั้งคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน
 
หลังคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ถูกยกเลิก คดีที่จำเลยถูกฟ้องต่อศาลด้วยข้อหาดังกล่าวเพียงข้อหาเดียวเริ่มทยอยถูกจำหน่ายออกจากสารบบความโดยศาลทหารหรือถูกยกฟ้องโดยศาลยุติธรรม ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2561 ในเดือนมกราคม 2562 คดี 19 แกนนำ นปช. เปิดศูนย์ปราบโกงที่อิมพีเรียล ลาดพร้าว ซึ่งมีการฟ้องคดีต่อศาลทหารกรุงเทพตั้งแต่ช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม 2559 ถึงเดือนกันยายน 2560 ก็ถูกศาลทหารสั่งจำหน่ายคดีไปตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2562
 
อย่างไรก็ตามคดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติบ้านโป่งซึ่งจนถึงเดือนมกราคม 2562 ยังไม่มีการฟ้องคดีกลับคงอยู่ต่อไป อัยการยังคงนัดจำเลยทั้ง 18 คนมาฟังคำสั่งคดีที่ฐานความผิดถูกยกเลิกไปแล้วเป็นระยะก่อนจะทำการฟ้องคดีต่อศาลในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2562 แม้คำสั่งสั่งฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 จะถูกหัวหน้าคสช.ยกเลิกไปแล้วก็ตาม จำเลยทั้ง 18 คนเพิ่งจะได้รับการยกฟ้องคดีโดยศาลแขวงราชบุรีเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา
 

อะไรนะ ศูนย์ปราบโกง?

 
กิจกรรมการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่อำเภอบ้านโป่ง  เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ริเริ่มโดยกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งมีการเปิดตัวครั้งแรกในวันที่ 5 มิถุนายน 2559 ครั้งนั้นแกนนำกลุ่มนปช. เช่น จตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และธิดา ถาวรเศรษฐ เตรียมจัดแถลงข่าวเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ ที่ชั้นห้า ห้างอิมพีเรียลลาดพร้าว แต่ในวันนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้ามาเจรจาขอให้งดกิจกรรมแถลงข่าวโดยอ้างว่าผู้บังคับบัญชาขอความร่วมมือ โดยจตุพรในฐานะประธานนปช.ได้ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่าภายในวันที่ 20 มิถุนายน จะนัดหมายให้มีการเปิดศูนย์ปราบโกงทั่วประเทศ ขณะที่พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช.ก็กล่าวถึงกรณ๊การเปิดศูนย์ปราบโกงของกลุ่มนปช.ว่า การกระทำดังกล่าวอาจไม่เหมาะสมและสุ่มเสี่ยงทำให้สังคมเข้าใจว่าเป็นกิจกรรมทางการเมือง อีกทั้งก็กกต.ก็เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้การออกเสียงประชามติเป็นไปอย่างโป่งใสอยู่แล้ว
 
1203

ป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติ ภาพจากเพจ พิพิธภัณฑ์สามัญชน
 
1204
 
เสื้อรณรงค์ที่ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใส่ในการถ่ายภาพเปิดศูนย์ปราบโกง ภาพจากเพจ พิพิธภัณฑ์สามัญชน
 

ขึ้นป้ายศูนย์ปราบโกงพรึ่บ เปิดได้บ้าง โดนปิดบ้าง

 
หลังประธานนปช.ระบุในวันที่ 5 มิถุนายน 2559 ว่าจะมีการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติภายในวันที่ 20 มิถุนายน 2559 ในวันที่ 19 มิถุนายน ก็มีรายงานการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติในหลายจังหวัดโดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคอีสาน โดย "ศูนย์ปราบโกง" ที่ว่า คือการขึ้นป้ายไวนิลเขียนข้อความ "ประชามติต้อง... ไม่ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า ศูนย์ปราบโกงประชามติ UDD Referendum Monitoring Center" ตามอาคารพาณิชย์หรือบ้านส่วนบุคคล โดยมีเบอร์โทรศัพท์หรือไลน์ไอดีสำหรับใช้แจ้งเรื่องร้องเรียนแยกตามภูมิภาคเขียนไว้บนป้ายด้วย  
 
เจ้าหน้าที่รัฐมีมาตรการดำเนินการกับศูนย์ปราบโกงแต่ละแห่งในลักษณะแตกต่างกันไป เช่น ในวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจสนธิกำลังไปที่ร้านค้าแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปางที่มีการติดป้ายศูนย์ปราบโกงและขอความร่วมมือให้เจ้าของร้านถอดป้ายออก ซึ่งเจ้าของบ้านก็นำลงแต่โดยดี ขณะที่จังหวัดพะเยาก็มีการ "เชิญ" แกนนำนปช.จังหวัดพะเยาเข้าค่ายเพื่อพูดคุย "ขอความร่วมมือ" ไม่ให้เปิดศูนย์ปราบโกงในพื้นที่ 
 
ต่อมาในวันที่ 19 มิถุนายน 2559 มีการเปิดศูนย์ปราบโกงอย่างเป็นทางการในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ที่กรุงเทพ แกนนำกลุ่มนปช. 19 คนนัดผู้สื่อข่าวแถลงข่าวเปิดศูนย์ปราบโกงอย่างเป็นทางการที่ห้างอิมพีเรียลลาดพร้าว แต่ปรากฎว่าก่อนจะมีโอกาสแถลงข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เข้าคุมพื้นที่จัดงาน ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนแกนนำกลุ่มนปช.จังหวัดต้องปลดป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติ หลังถูกเจ้าหน้าที่ทหารเชิญตัวไปทำข้อตกลงว่าจะไม่เปิดศูนย์ปราบโกง  
 
ในขณะที่การเปิดศูนย์ปราบโกงที่กรุงเทพ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และพะเยาถูกสกัดกั้น ก็มีบางพื้นที่ที่ทำกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติได้สำเร็จ เช่น ที่จังหวัดสุรินทร์ แกนนำกลุ่มนปช.จังหวัดร่วมกันถ่ายภาพกับป้ายศูนย์ปราบโกงและแถลงวัตถุประสงค์ของการเปิดศูนย์ปราบโกงว่า มุ่งหวังให้คนไทยออกไปใช้สิทธิ์ในวันที่ 7 สิงหาคมให้มากที่สุด โดยปราศจากการครอบงำจากทุกกลไกอำนาจ และขอให้ คสช.ยุติการประชาสัมพันธ์โดยรัฐเพียงฝ่ายเดียว พร้อมเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงความเห็นอย่างอิสระ  
 
1201
 
การเปิดศูนย์ปราบโกงที่จังหวัดสุรินทร์ ภาพจาก ประชาไท
 
ที่จังหวัดอุดรธานี แกนนำนปช.ผู้ไม่ประสงค์ออกนามให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยสรุปได้ว่า บ้านของแกนนำนปช.จังหวัดที่อยู่ในอำเภอเมืองและอำเภอโนนสะอาดมีเจ้าหน้าที่มาเฝ้าสังเกตการณ์อย่างต่อเนื่องก่อนวันที่ 19 กันยายน อย่างไรก็ตามในช่วงตีห้าของวันที่ 19 มิถุนายนเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าบ้านของแกนนำในพื้นที่อำเภฮโนนสะอาดได้ถอนตัวออกไปเพราะเข้าใจว่าน่าจะไม่มีการจัดกิจกรรม แต่บ้านของแกนนำที่อำเภอเมืองยังถูกจับตาอย่างใกล้ชิดทางกลุ่มจึงหาทางประสานผู้ต้องการร่วมเปิดศูนย์ปราบโกงประมาณสองถึงสามร้อยคนมาทำกิจกรรมขึ้นป้ายเปิดศูนย์ปราบโกงร่วมกันที่บ้านของแกนนำในพื้นที่อำเภอโนนสะอาด และสามารถเปิดศูนย์ปราบโกงได้สำเร็จ
 
1206
 
บรรยากาศการเปิดศูนย์ปราบโกงที่อุดรธานี ภาพจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
 
แกนนำคนเดียวกันเล่าด้วยว่า หลังทางกลุ่มถ่ายภาพ และแถลงเปิดศูนย์ปราบโกงแล้วก็มีการถ่ายภาพส่งให้ผู้สื่อข่าวรวมทั้งแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าพวกเขาทำกิจกรรมเสร็จแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็เร่งเข้ามาในพื้นที่เพื่อปลดป้าย เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งที่เข้ามาในพื้นที่พูดกับแกนนำคนดังกล่าวทำนองว่า "มาทำแบบนี้ในบ้านผมได้อย่างไร" ซึ่งเธอก็ตอบไปว่า "ท่านย้ายมากจากพื้นที่อื่นแต่บ้านของฉันอยู่ที่นี่"
 
ขณะที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี การทำกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติสามารถทำไปได้โดยไม่มีเจ้าหน้าที่มาแทรกแซงแต่ผู้ร่วมกิจกรรมมาถูกดำเนินคดีหลังมีประชาชนในพื้นที่นำเรื่องไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจในภายหลังดังที่ระบุไปข้างต้น
 

นักรบย่อมมีแผล: ชะตากรรมจำเลยคดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ

 
เท่าที่มีข้อมูลนอกจากประชาชน 18 คน ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาต ในคดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่อำเภอบ้านโป่งแล้ว ยังมีประชาชนอีกอย่างน้อย  119คนที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันจากการทำกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงในพื้นที่อื่นๆ เช่น 23 คนที่จังหวัดอุดรธานี 17คน ที่จังหวัดสุรินทร์ 19 คน ที่กรุงเทพมหานคร และ 22 คน ที่จังหวัดสกลนคร เป็นต้น ในจำนวนนี้ผู้ตถูกตั้งข้อกล่าวหาบางส่วนที่ยอมเข้าโครงการปรับทัศนคติในค่ายทหารเจ้าหน้าที่จะถือว่าคดีให้เลิกแล้วกันไป แต่คนที่ไม่ยอมเข้ารับการปรับทัศนคติก็จะถูกดำเนินคดีต่อ โดยมีคดีที่น่าสนใจดังนี้
 
คดีเปิดศูนย์ปราบโกงที่จังหวัดสกลนคร ผู้ร่วมเปิดศูนย์ปราบโกง 20 คน จากทั้งหมด 22 คนที่ตัดสินใจสู้คดีแทนการเข้ารับการปรับทัศนคติ ตัดสินใจให้การรับสารภาพหลังคดีเข้าสู่การพิจารณาโดยศาลทหารอุดรธานีเนื่องจากจำเลยส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุที่ต้องเหมารถมาขึ้นศาลทหารที่จังหวัดอุดรธานีเพราะที่จังหวัดสกลนครไม่มีศาลทหารทำให้ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายจึงตัดสินใจรับสารภาพเพื่อให้ศาลทหารสั่งปรับและคดีจบ จะได้ไม่ต้องมีภาระในระยะยาว 
 
คดีเปิดศูนย์ปราบโกงที่จังหวัดอุดรธานี แกนนำนปช.ที่ให้ข้อมูลทางโทรศัพท์ข้างต้นให้สัมภาษณ์ว่า เจ้าหน้าที่ตั้งข้อกล่าวหากับผู้ร่วมถ่ายภาพเปิดศูนย์ปราบโกงรวม 23 คน เพื่อไม่ให้ผู้ร่วมกิจกรรมต้องรับภาระในการสู้คดีผู้เข้าร่วม 19 คน ยอมเข้ารับการปรับทัศนคติกับเจ้าหน้าที่ส่วนผู้เข้าร่วมและแกนนำอีกรวมสี่คนตัดสินใจไม่เข้าร่วมการปรับทัศนคติและขอต่อสู้คดีก่อนจะมาให้การรับสารภาพในชั้นศาลและถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 1 เดือน 15 วัน แต่โทษจำคุกได้รับการรอลงอาญา 
 
สำหรับคดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่ห้างอิมพีเรียลลาดพร้าวของ 19 แกนนำกลุ่ม นปช. คดียุติลงด้วยการจำหน่ายคดีของศาลทหารกรุงเทพช่วงเดือนมกราคม 2562 เพราะในระหว่างที่คดียังอยู่ในชั้นศาลมีการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558  
 
1202
 
จำเลยคดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติและทนายความถ่ายภาพที่หน้าศาลแขวงราชบุรี หลังอัยการฟ้องคดีต่อศาล 30 กรกฎาคม 2562 
 
ในส่วนของคดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติบ้านโป่งซึ่งเท่าที่ไอลอว์มีข้อมูลเป็นคดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติคดีสุดท้ายที่อยู่ในสาระบบความของศาล แม้ถึงที่สุดศาลแขวงราชบุรีจะมีคำพิพากษาในเดือนกันยายน 2562 แต่จำเลยที่ต่อสู้คดีมาอย่างน้อยสามปีสามเดือนนับจากถูกออกหมายเรียกในวันที่ 20 มิถุนายน 2559 ต่างไม่รู้สึกว่าการยกฟ้องคือความยุติธรรม  
 
ภาณุวัฒน์หรือ "เหน่อ" หนึ่งในจำเลยระบุว่า ระหว่างถูกดำเนินคดีเขากำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้แพร่ การต่อสู้คดีทำให้เขาต้องขาดเรียนและบางครั้งก็ขาดสอบเพื่อมารายงานตัวตามนัดตำรวจหรืออัยการ ต้องเสียเวลาเสียเงิน ไปกับการสู้คดีอยู่ไม่น้อย แต่คดีนี้มีการเลื่อนนัดฟังคำสั่งอัยการออกไปอย่างน้อยแปดครั้งเท่ากับว่าหลายๆครั้งที่มารายงานตัวเขาต้องจ่ายทั้งเงินและเวลาไปอย่างสูญเปล่าสำหรับเขาแม้จะเคารพคำพิพากษาของศาลแต่ก็ไม่ได้มองว่าการยกฟ้องทำให้เขาได้รับความยุติธรรม
 
ขณะที่ "ป้าแดง" จำเลยวัย 74 ปี ก็ระบุว่า การถูกดำเนินคดีทำให้เธอไม่สามารถใช้ชีวิตวัยเกษียณได้อย่างสงบเพราะต้องคอยพะวงเรื่องการมารายงานตัวกับอัยการซึ่งทุกครั้งสามีเธอซึ่งเป็นจำเลยคดีนี้และอายุเท่ากับเธอก็ต้องขับรถไปกลับเกือบ 70 กิโลจากบ้านที่อำเภอบ้านโป่งมาที่สำนักงานอัยการในอำเภอเมืองจังหวัดราชบุรีเพื่อรายงานตัวซึ่งมีอย่างน้อยแปดครั้งที่การมาของเธอและสามีเป็นการขับรถไปกลับ 70 กิโลเมตรเพียงเพื่อมารับทราบคำสั่งเลื่อนนัดอัยการซึ่ง "ป้าแดง" น่าจะบรรยายความรู้สึกแทนจำเลยคนอื่นๆในคดีนี้ได้อย่างดีว่า "รู้สึกว่าเบื่อ มันเบื่อเหลือเกิน"
ชนิดบทความ: