1997 1322 1554 1914 1072 1347 1768 1814 1067 1150 1106 1720 1600 1705 1383 1085 1038 1717 1316 1200 1122 1916 1820 1101 1628 1223 1591 1228 1187 1780 1991 1951 1272 1622 1298 1978 1369 1311 1622 1077 1664 1984 1243 1445 1145 1001 1089 1165 1619 1951 1610 1337 1820 1168 1061 1691 1546 1979 1887 1220 1649 1167 1173 1100 1120 1710 1978 1709 1696 1238 1122 1482 1603 1458 1886 1521 1900 1272 1021 1867 1422 1872 1623 1196 1457 1076 1363 1248 1019 1455 1385 1439 1664 1358 1084 1827 1801 1907 1278 ประจักษ์ชัย: กว่าสี่ปีรอไม่ไหว เขาจากไปก่อนได้ฟังคำพิพากษา | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ประจักษ์ชัย: กว่าสี่ปีรอไม่ไหว เขาจากไปก่อนได้ฟังคำพิพากษา

 

ภาพสุดท้ายที่เราจำเขาได้ เขาทำสีหน้าเหนื่อยหน่าย เบื่อเซ็ง ไม่พูดไม่จาสักคำ เขาหันหลังให้ทุกคนแล้วเดินจากไป เดินไกลออกไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ ไม่แม้แต่จะหันกลับมามองผู้คนและสถานที่ที่เขาวนเวียนเข้าออกอยู่นานกว่าสี่ปี แต่ในการจากไปของเขาก็มีแง่ดีอยู่บ้าง เมื่อเขาจะไม่ต้องกลับมาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายอีกต่อไป
 
เพราะเขาได้จากโลกนี้ไปแล้ว 
เขาจากไปก่อนที่จะได้รับรู้ว่า คนอื่นจะตัดสินการกระทำของเขาเป็นเรื่องผิดหรือถูก
 
.............................................
 
 
1144
 
ประจักษ์ชัย เป็นจำเลยคดีมาตรา 112 อายุสุดท้ายของเขา คือ 45 ปี เขาถูกจับกุมตั้งแต่ปี 2558 ขณะอายุได้ 41 ปี  
 
ประจักษ์ชัย เป็นชาวจังหวัดศรีสะเกษ ผิวคล้ำกร้านแดด ขอบตาคล้ำและลึก สีหน้าว่างเปล่า แววตาเหม่อลอย เขาตัวผอมเล็กแต่ท้องใหญ่เนื่องจากความเจ็บป่วยทางร่างกาย ประจักษ์ชัยเป็นโรคตับเรื้อรังจากการดื่มสุรามากมาตลอดชีวิต ในช่วงที่อาการกำเริบ จะส่งผลให้ท้องบวมใหญ่ผิดปกติ ประจักษ์ชัยเป็นผู้ป่วยทางจิต มีอาการหลงผิด ทุกครั้งเวลาพูดเขาจะมีร้อยยิ้มกว้างเห็นฟันขาว เขาพูดด้วยถ้อยคำช้าๆ ทีละคำๆ แต่การพูดของเขาวกไปวนมา คนฟังจับใจความได้ยาก 
 
จิตแพทย์เคยวินิจฉัยว่า ประจักษ์ชัย มีอาการหลงผิดชัดเจน มีความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เชื่อว่าตัวเองเป็นเจ้าของพระบรมมหาราชวังและเป็นเจ้าของประเทศ เรียบเรียงความคิดไม่ต่อเนื่อง  ความคิดไม่สามารถเป็นรูปร่างได้ ซึ่งอาการทั้ง 2 อย่างที่กล่าวมานั้น ถือเป็นโรคจิตเภทชนิดหนึ่ง นอกจากจะป่วยทางจิตแล้ว แพทย์ยังลงความเห็นว่า ประจักษ์ชัยมีสติปัญญาต่ำกว่าปกติด้วย  
 
19 กุมภาพันธ์ 2558 ประจักษ์ชัยนั่งรถเมล์ไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อบอกกับรปภ.ว่า จะมายื่นหนังสือร้องเรียน เหมือนกับที่เขาเคยทำเป็นประจำ แต่วันนี้เป็นครั้งแรกที่เขาได้รับอนุญาตให้เข้าไปข้างในบริเวณศูนย์รับเรื่องร้องเรียนที่มีทหารและตำรวจหญิงประจำอยู่หลายคน เจ้าหน้าที่เอากระดาษให้เขาเขียนเรื่องร้องเรียนด้วยลายมือ เขาเขียนข้อความยาวหนึ่งบรรทัดจากความต้องการตามความเชื่อของเขาเอง ลงท้ายว่า "ขอบคุณ ขอบคุณ" พร้อมกับลงชื่อ "เหล็ง" อันเป็นชื่อเล่น แล้วทันใดนั้น ตำรวจกว่าสิบนายก็ล้อมเข้ามาจับกุม
 
เขาถูกตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พนักงานสอบสวนสังเกตเห็นแล้วว่า ประจักษ์ชัยมีอาการพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่เนื่องจากเห็นว่า ยังพอถามตอบเรื่องทั่วๆ ไปได้อยู่ จึงตัดสินใจดำเนินคดีแล้วส่งเขาไปส่งศาลตามลำพังเพื่อขอฝากขัง ศาลทหารกรุงเทพสั่งให้ฝากขังและเขาต้องถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ 
  
เริ่มแรกเขาอยู่ข้างในเรือนจำโดยที่ไม่รู้จักใคร และไม่สามารถติดต่อใครได้ จนกระทั่งนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ด้วยกันทราบว่า เขาถูกคดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จึงแจ้งขอความช่วยเหลือออกมาและมีทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าเยี่ยม ระหว่างถูกคุมขังอาการโรคตับของเขากำเริบเข้าขั้นน่าเป็นห่วงและบางช่วงต้องไปนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์หลายวัน 
 
ประจักษ์ชัย ไม่เคยฝักใฝ่กลุ่มการเมืองสีเสื้อไหน แต่เขามีความคิดเกี่ยวกับการเมืองในแบบของตัวเองที่รุนแรง และนอกกรอบ คนรอบข้างไม่เข้าใจเขา
  
น้องสาวของประจักษ์ชัยซึ่งเปิดร้านขายกาแฟอยู่ที่กรุงเทพ เดินทางไปเยี่ยมประจักษ์ชัยที่เรือนจำเป็นครั้งคราวและพยายามติดต่อกับทนายความเพื่อประสานงานเรื่องการดำเนินคดี และด้วยความช่วยเหลือจากกองทุนเพื่อการเข้าถึงความยุติธรรมของนักโทษการเมือง กับผู้คนอีกหลายฝ่าย ประจักษ์ชัยจึงได้รับการส่งไปตรวจอาการทางจิตที่สถาบันกัลยาราชนัครินทร์ก่อนที่แพทย์จะลงความเห็นว่า เขาป่วยหนัก ต้องได้รับการรักษา ซึ่งการอยู่นอกเรือนจำจะเป็นประโยชน์กับการรักษามากกว่า จนเขาได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 100,000 บาท และได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2558 รวมเวลาที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำประมาณ 8 เดือน
 
ก่อนถูกจับกุม ประจักษ์ชัยมีงานทำเป็นช่างขัดอลูมิเนียม อยู่ที่โรงงานของเพื่อน แต่หลังได้ประกันตัวเขาไม่มีที่ไปต่อ จึงกลับไปอยู่บ้านเกิดที่จังหวัดศรีษะเกษ อยู่กับแม่ซึ่งชรามากแล้วและพี่สาว แต่ที่บ้านเขาไม่มีงานทำ และไม่มีรายได้ 
 
ตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นต้นมา ศาลทหารกรุงเทพก็นัดสืบพยานคดีของประจักษ์ชัยมาเรื่อยๆ โดยกระบวนการของศาลทหารจะนัดสืบพยานแบบไม่ต่อเนื่อง เมื่อสืบพยานเสร็จปากหนึ่งก็จะเลื่อนคดีไปอีก 2-3 เดือนจึงสืบปากต่อไป บางครั้งเมื่อจำเลยเดินทางมาศาลแล้วพบว่า พยานที่นัดไว้ในวันนั้นไม่สะดวกมาศาล ศาลก็จะเลื่อนการสืบพยานออกไปอีก 2-3 เดือน เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ
 
แม้ทางอัยการทหารที่ทำหน้าที่เป็นโจทก์เองจะเห็นว่า คดีนี้มีสาระที่เป็นประเด็นให้ศาลต้องวินิจฉัยไม่มากนัก จึงพยายามขอนัดสืบพยานวันละสองปาก หรือบางครั้งขอวันนัดติดต่อกันเพื่อให้คดีเดินหน้าไปได้เร็ว แต่ในความเป็นจริงก็ทำได้ไม่เร็วนัก ประจักษ์ชัยต้องเดินทางจากบ้านที่จังหวัดศรีษะเกษมาที่ศาลทหารกรุงเทพเพื่อเข้าฟังการพิจารณาคดีทั้งหมด 15 ครั้งในระยะสามปีเศษ โดยสืบพยานโจทก์ไปได้แปดปาก และมีนัดที่เดินทางมาถึงแล้วแต่ศาลกลับสั่งเลื่อน 6 ครั้ง ด้วยเหตุว่า พยานป่วยบ้าง ติดต่อพยานไม่ได้บ้าง หรือพยานไม่สามารถมาได้เพราะติดธุระอื่นบ้าง
 
ตลอดเวลาที่นั่งอยู่ร่วมในการพิจารณาคดี ประจักษ์ชัยไม่เคยได้พูดอะไรเลยแม้แต่คำเดียว
 
ตลอดเวลาที่พยานแต่ละคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเข้าเบิกความและทนายความลุกขึ้นถามค้าน ประจักษ์ชัยจะนั่งเงียบๆ อยู่ที่ม้านั่งของจำเลย ด้วยแววตาเหม่อลอย เขาไม่ได้จ้องมองที่พยานหรือสนใจคำตอบของพยานแต่ละคนด้วยซ้ำ ครั้งหนึ่งเมื่อเขาถูกถามว่า เขาเข้าใจกระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นหรือไม่ เขาเพียงมองกลับมาด้วยแววตาสดใสและฉีกยิ้มกว้าง
 
ทุกครั้งที่ต้องมาศาล ประจักษ์ชัยจะเดินทางมาจากบ้านที่ศรีษะเกษโดยรถทัวร์ เขาจะออกเดินทางมาตอนกลางคืน มาลงที่สถานีขนส่งหมอชิตตอนเช้าตรู่ และค่อยๆ นั่งรถเมล์มาถึงยังศาลทหาร ที่ตั้งอยู่ข้างสนามหลวงในช่วงเวลาประมาณแปดโมงเศษ เขาเดินทางมาตัวเปล่า ไม่มีกระเป๋าเสื้อผ้าหรือกระเป๋าใส่ของใดๆ เขาใส่ชุดคล้ายเดิมเป็นประจำ คือ เสื้อยืดคอกลมสีขาวไม่มีลาย และกางเกงยีนส์เก่าๆ กับรองเท้าแตะสีดำ จนเป็นเครื่องแบบประจำตัวของเขา และเนื่องจากเขาไม่มีบ้านอยู่ในกรุงเทพ เมื่อการพิจารณาคดีเสร็จลงในช่วงเวลาใกล้เที่ยงเขาก็จะขึ้นรถเมล์ไปหมอชิตอีกครั้ง และหาตั๋วรถทัวร์เดินทางกลับบ้านในช่วงบ่ายของวันเดียวกันทันที
 
ช่วงแรกๆ ของการเดินทางมาศาล ประจักษ์ชัยจะมากับแม่บ้าง มากับพี่สาวบ้าง หรือบางครั้งน้องสาวที่อยู่กรุงเทพก็จะมาศาลเป็นเพื่อนเขา
 
"ไม่เหนื่อย ไม่เป็นไร" ประจักษ์ชัยเคยบอกไว้อย่างมีความหวัง ความหวังเดียวของเขา คือ เขาจะไม่ต้องกลับเข้าไปในเรือนจำอีก 
 
มีครั้งหนึ่งที่เขาถูกเจ้าหน้าที่ศาลห้ามเข้าห้องเพราะใส่รองเท้าแตะมาศาล เมื่อเจ้าหน้าที่ถามว่า เป็นใครและมาทำอะไร เขาเพียงนิ่งเฉยและตอบคำถามไม่ได้ จนคนอื่นต้องช่วยพูดแทนว่า เป็นจำเลยในคดี เจ้าหน้าที่จึงสั่งให้เขาถอดรองเท้าไว้นอกห้องและเข้าไปนั่งในห้องพิจารณาด้วยเท้าเปล่า หลังจากนั้นเมื่อมาถึงศาลบางวันเขาก็ถอดรองเท้าวางไว้หน้าห้องด้วยตัวเอง 
 
มีครั้งหนึ่งที่ระหว่างการเดินทางฝนตก และเมื่อการพิจารณาเริ่มขึ้น จำเลยต้องปรากฏตัวต่อศาล เขาจึงต้องเดินเข้าไปนั่งในห้องพิจารณาคดีที่เปิดแอร์ทั้งที่เสื้อและกางเกงยังเปียกชุ่มอยู่ แต่เขาก็ยังคงนั่งอยู่ตรงนั้นเฉยๆ ด้วยแววตาเหม่อลอยเหมือนเช่นเคย จนทนายความต้องขออนุญาตศาลหาเสื้อคลุมให้เขาใส่ระหว่างการสืบพยาน
 
มีครั้งหนึ่งเขามาสาย เกือบไม่ทันการพิจารณาคดี เนื่องจากเป็นช่วงที่พื้นที่รอบสนามหลวงใช้จัดพระราชพิธีสำคัญ และมีการตรวจตรารักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด รวมทั้งการตรวจเรื่องเครื่องแต่งกาย เขาบอกเพียงว่า ต้องเดินอ้อมไปไกลมากกว่าจะเข้ามาได้ แต่คำอธิบายของเขาทำให้คนอื่นเข้าใจไม่ได้ว่า เขาต้องเดินอ้อมไปไกลขนาดไหน เพียงใด
 
"เหนื่อย เบื่อแล้ว ไม่อยากมา" เขาพูดขึ้นมาครั้งหนึ่ง ในช่วงปี 2561 หลังมาตามนัดแล้วปรากฏว่า พยานไม่มา
 
แต่เมื่อถามว่า เขาทราบไหมว่า คดีนี้จะต้องใช้เวลาไปอีกนานเท่าไร เขาไม่ได้ตอบอะไร
 
ในการเดินทางมาศาลครั้งหลังๆ เขาเริ่มพูดจากับคนที่มาสังเกตการณ์การพิจารณาคดีน้อยลง เขายังมีแววตาเหม่อลอยแต่ว่า มีรอยยิ้มน้อยลง เมื่อสืบพยานเสร็จและศาลลงจากบัลลังก์ เขาจะเดินออกจากห้องพิจารณาคดีทันที จนเคยลืมลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาและต้องตามตัวกลับมาอีกครั้ง ครั้งหนึ่งเมื่อเสร็จการพิจารณาเขาก็เดินลงจากชั้นสองของศาลทหาร และเดินตรงกลับไปขึ้นรถเมล์ทันที โดยไม่ได้บอกลา และไม่พูดกับใครสักคำเดียว จนทนายความต้องหันมาถามหาว่า มีใครเห็นตัวจำเลยบ้างหรือไม่ เพราะหายไปเร็วอย่างผิดปกติ
 
ในช่วงต้นปี 2562 การสืบพยานโจทก์ปากสุดท้ายสิ้นสุดลง พยานโจทก์ปากสุดท้าย คือ พนักงานสอบสวนผู้ทำสำนวนส่งฟ้องเล่าว่า เขาเพิ่งไปบวชในพุทธศาสนามา และระหว่างการบวชก็ได้ขออุทิศส่วนกุศลให้กับประจักษ์ชัยด้วย เพื่อขอให้ประจักษ์ชัยไม่ต้องติดคุก หลังจากนี้ไปก็จะเป็นการสืบพยานจำเลย โดยแม่ของประจักษ์ชัยจะมาเบิกความถึงอาการป่วยของประจักษ์ชัยในนัดต่อไป คือ วันที่ 19 กรกฎาคม 2562 และต่อจากนั้นก็จะขอให้แพทย์ที่ตรวจรักษามาเบิกความ
 
ไม่มีคิวของประจักษ์ชัยอยู่ในรายชื่อพยาน เจ้าตัวที่ต้องเดินทางมาศาลสิบกว่าครั้งจะไม่มีแม้โอกาสได้อธิบายจากมุมของตัวเองว่า เหตุใดเขาจึงเดินทางไปเขียนคำร้องเรียนคำนั้น
 
ในฐานะจำเลยที่เป็นผู้ป่วยทางจิตและเรียบเรียงเหตุผลให้คนอื่นฟังไม่ได้ การไม่ได้พูดอะไรเลยอาจจะเป็นประโยชน์กับคดีมากกว่า
 
หลังคดีนี้ใช้เวลาพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพมาสี่ปีกว่า วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เมื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งได้แล้ว คสช. ก็ออกคำสั่ง 9/2562 ยกเลิกการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร และสั่งให้โอนคดีกลับไปศาลปกติ ซึ่งในกระบวนการของศาลพลเรือน จะนัดสืบพยานอย่างต่อเนื่องและไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีง่ายๆ เมื่อคดีถูกโอนไปแล้ว ประจักษ์ชัยอาจจะต้องเดินทางมาศาลอีกเพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น และไม่น่าจะมีเหตุให้คดีต้องช้าออกไปอีก 
 
แต่ก่อนถึงวันนัดที่ทุกคนเตรียมจะเดินทางไปเพื่อรอฟังว่า ศาลทหารสั่งให้โอนคดีกลับศาลปกติได้แล้ว พี่สาวของประจักษ์ชัยโทรศัพท์มาแจ้งกับทนายความสั้นๆ เพียงว่า ประจักษ์ชัยและแม่จะไม่ได้มาตามนัดศาลในครั้งนี้ เพราะเขาเสียชีวิตแล้วด้วยโรคตับที่เขาเป็นมาเรื้อรังอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับส่งหลักฐานมาให้เป็นใบมรณบัตรลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ระบุว่า ประจักษ์ชัยเสียชีวิตเนื่องจากเลือดออกในกระเพาะอาหาร 
 
เขาได้จากโลกนี้ไปแล้ว 
เขาจากไปก่อนที่ศาลทหารจะพิจารณาคดีเสร็จ หรือได้สั่งให้โอนกลับศาลปกติ
เขาจากไปก่อนที่จะได้รับรู้ว่า คนอื่นจะตัดสินการกระทำของเขาเป็นเรื่องผิดหรือถูก
 
ภาพสุดท้ายที่เราจำเขาได้ เขาทำสีหน้าเหนื่อยหน่าย เบื่อเซ็ง ไม่พูดไม่จาสักคำ เขาหันหลังให้กับศาลทหาร เจ้าหน้าที่ศาล ทนายความ และผู้สังเกตการณ์ แล้วเขาก็เดินจากไป เดินไกลออกไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ ไม่แม้แต่จะหันกลับมามองผู้คนและสถานที่ที่เขาวนเวียนเข้าออกอยู่นานกว่าสี่ปี 
 
แต่ในการจากไปของเขาในครั้งนี้ก็มีแง่ดีอยู่บ้าง เมื่อเขาจะไม่ต้องกลับมาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายอีกต่อไป กระบวนการที่บังคับให้เขาต้องมานั่งฟังนานๆ โดยไม่เข้าใจเนื้อหา กระบวนการที่เคยส่งเขาเข้าไปอยู่ในเรือนจำนานแปดเดือน กระบวนการที่ไม่สามารถอธิบายถึงความเป็นธรรมได้ ไม่ว่าด้วยการใช้เหตุผลแบบ "คนไม่ป่วย" หรือด้วยการใช้เหตุผลแบบตัวของเขาเอง
 
 
 


ดูรายละเอียดคดีของประจักษ์ชัย ได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/case/666
 

 
 
ชนิดบทความ: