1355 1567 1431 1437 1571 1336 1877 1180 1154 1942 1408 1743 1098 1222 1237 1609 1007 1255 1006 1643 1422 1485 1577 1692 1276 1187 1660 1105 1757 1419 1483 1586 1204 1930 1535 1788 1551 1255 1938 1860 1582 1899 1978 1999 1330 1728 1445 1303 1155 1860 1805 1647 1921 1485 1851 1071 1391 1674 1974 1103 1090 1117 1144 1185 1654 1991 1693 1816 1540 1471 1645 1824 1513 1405 1170 1791 1338 1796 1330 1784 1025 1443 1411 1331 1559 1343 1344 1240 1664 1344 1152 1094 1043 1975 1871 1358 1532 1615 1061 จากนักข่าวสู่จำเลยคดีสายลับ: คุยเรื่องสถานการณ์สื่อกัมพูชากับอดีตนักข่าวที่เคยติดคุก 9 เดือน | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

จากนักข่าวสู่จำเลยคดีสายลับ: คุยเรื่องสถานการณ์สื่อกัมพูชากับอดีตนักข่าวที่เคยติดคุก 9 เดือน

ปี 2560 เป็นปีที่สื่ออิสระซึ่งเผยแพร่เนื้อหาในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลกัมพูชาต้องเผฃิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก Cambodia Daily หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2536 ประกาศยุติการตีพิมพ์อย่างกระทันหันเนื่องจากถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังเป็นเวลาสิบปีเป็นเงินกว่า 6.3 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 195 ล้านบาท โดยทางหนังสือพิมพ์ระบุว่า จำนวนเงินที่ถูกเรียกเก็บไม่ใช่ยอดที่เกิดจากการตรวจสอบทางบัญชีแต่เป็นการเรียกเก็บตามอำเภอใจที่แฝงไว้ด้วยวัตถุประสงค์ทางการเมือง ขณะที่สมเด็จฮุนเซ็นนายกรัฐมนตรีกัมพูชาก็เคยพูดถึง The Cambodia Daily ไว้อย่างแข็งกร้าวว่า "พวกโจร (Cambodia Daily) ไม่ได้จ่ายภาษีให้รัฐบาลมากว่า 10 ปี ไม่เคยจ่ายภาษีเลยตั้งแต่ก่อตั้ง"
 
นอกจาก The Cambodia Daily สื่ออิสระที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลกัมพูชาอย่าง Radio Free Asia ก็เป็นสื่ออีกแห่งหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการทางภาษี Radio Free Asia (RFA) ถ้าแปลชื่อตรงตัว คือ "วิทยุเอเชียเสรี" เป็นองค์กรสื่อไม่แสวงกำไรของสหรัฐอเมริกาที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้กับประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างเสรี เช่น ในเวียดนาม ลาว และ กัมพูชา เป็นต้น โดยรับงบประมาณจากรัฐสภาสหรัฐผ่านทาง U.S. Agency for Global Media ในส่วนของกัมพูชา Radio Free Asia มีการก่อตั้งสำนักงานในกัมพูชาตั้งแต่ปี 2539
 
 
1126
 
ในเดือนกันยายน 2560 สำนักข่าว Radio Free Asia ตัดสินใจปิดสำนักงานที่กรุงพนมเปญหลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินมาตรการทางภาษีแต่ยังคงเผยแพร่เนื้อหาบนเว็บไซต์จากสำนักงานใหญ่ในกรุงวอชิงตันต่อไป โดยให้ผู้สื่อข่าวอิสระส่งข้อมูลจากภาคสนามไปให้สำนักงานใหญ่แทน ซึ่งต่อกรณีนี้ Ouk Kimseng โฆษกกระทรวงข้อมูลข่าวสารของกัมพูชาให้สัมภาษณ์ว่า "เมื่อผู้สื่อข่าวกระทำการในลักษณะเดียวกับสายลับก็เชื่อว่าเขาน่าจะมีเจตนาทำอะไรบางอย่างที่ไม่ดี" พร้อมระบุว่า การดำเนินการกับกรณีดังกล่าวอยู่นอกเหนือขอบเขตอำนาจของกระทรวงข้อมูลข่าวสารแต่เป็นเรื่องของกระทรวงมหาดไทย 
 
หลังจากนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2560  อดีตผู้สื่อข่าว Radio Free Asia สองคนชาวกัมพูชา ได้แก่ Yeang Sothearin และ Oun Chhin ถูกจับกุมตัวและตั้งข้อหาว่า เป็นสายลับ พวกเขาถูกคุมขังเป็นเวลาเก้าเดือนในเรือนจำระหว่างรอการพิจารณาคดีตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 ก่อนจะได้รับการประกันตัวออกมาต่อสู้คดีในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2561 หลังการเลือกตั้งทั่วไป
 
Yeang เล่าให้ iLaw ฟังว่า เขาเริ่มทำงานให้กับ Radio Free Asia มาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2556 โดยที่นี่เป็นที่แรกที่เขาทำงานในฐานะสื่อมวลชน ทางสถานีไม่มีคลื่นวิทยุ FM หรือช่องโทรทัศน์เป็นของตัวเอง การเผยแพร่ข่าววิทยุจะทำโดยใช้วิทยุคลื่นสั้น และเผยแพร่วิทยุและรายการโทรทัศน์ทางเว็บไซต์ของสำนักข่าว ตัวของ Yeang จัดรายการทั้งแบบภาพเคลื่อนไหวและรายการวิทยุผ่านทางเว็บไซต์และวิทยุคลื่นสั้นของสถานี รวมทั้งยังเขียนบทความเผยแพร่ด้วย 
 
เนื้อหาข่าวที่เขาทำจะเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ข้อพิพาทเรื่องที่ดินที่มักเกิดจากกรณีที่รัฐหรือบริษัทเอกชนเข้าไปไล่หรือยึดที่จากประชาชน รวมทั้งปัญหาข้อพิพาทบริเวณชายแดนระหว่างกัมพูชากับเวียดนาม นอกจากนั้นเมื่อมีรายงานเกี่ยวกับความมั่งคั่งและการครอบงำธุรกิจกัมพูชาของครอบครัวฮุนเซ็น Yeang ที่ถูกเปิดเผยโดยองค์กรชื่อ Global Witness Yeang ก็เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวออกเผยแพร่ ในเดือนกรกฎาคม 2559 Yeang เคยจัดรายการวิทยุวิเคราะห์การเมืองร่วมกับ Kem Ley หนึ่งในนักวิเคราะห์การเมืองชื่อดังของกัมพูชาที่มักจัดรายการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลฮุนเซน ปรากฎว่าหลังจาก Kem Ley มาออกรายการของ Yeang ได้เพียงสองวันเขาก็ถูกยิงเสียชีวิตในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญ
 
1127
 
Yeang ต้องยุติการทำงานกับ Radio Free Asia ที่เขารักและทำมานาน 4 ปี ในเดือนกันยายน 2560 เมื่อสำนักข่าว Radio Free Asia ตัดสินใจยุบสำนักงานที่กัมพูชา การสูญเสียงานประจำของ Yeang ดูจะเป็นแค่ "ของว่าง" ก่อนอาหารมื้อหลักเท่านั้น เมื่อชีวิตของเขาต้องมาเผชิญกับมรสุมลูกโตในเดือนพฤศจิกายนหรืออีกประมาณ 3 เดือนต่อมาเมื่อเขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวพร้อมกับ Oun Chhin อดีตนักข่าวอีกคนหนึ่งจากสถานีเดียวกัน 
 
Yeang เล่าว่าในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 Oun Chhin โทรมาหาเขาในช่วงคำว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบมาทำการตรวจค้นที่พักของเขา Yeang จึงรีบไปหาเพื่อนเขาโดยหวังว่า จะช่วยอธิบายกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า เพื่อนของเขาไม่ได้ทำอะไรผิดและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับ Radio Free Asia อีกแล้ว ทว่าเมื่อเขาไปถึงเขากลับถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวด้วยอีกคนหนึ่ง Yeang เล่าว่าเจ้าหน้าที่แจ้งกับเขาเพียงแต่ว่า ที่จับกุมตัวเขากับเพื่อนเป็นเพราะพวกเขาทำความผิดฐานให้ข้อมูลหหรือทำให้ต่างชาติสามารถเข้าถึงข้อมูลที่อาจบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 445 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกระหว่าง 7 - 15 ปี Yeang ระบุว่า หลังถูกจับกุมเขากับเพื่อนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกักตัวไว้สอบสวนที่สถานีตำรวจแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญเป็นเวลา 48 ชั่วโมงโดยระหว่างการสอบสวนไม่มีทนายความนั่งฟังหรือคอยให้คำปรึกษาแต่อย่างใด 
 
หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวเขาไว้ครบ 48 ชั่วโมง Yeang กับ Oun Chin ถูกพาตัวไปฝากขังต่อที่ศาลประจำกรุงพนมเปญซึ่งศาลไม่อนุญาตให้เขาประกันตัวระหว่างสู้คดีโดยให้เหตุผลว่า หากได้รับการปล่อยตัวเขาอาจหลบหนีออกนอกประเทศหรือไม่ให้ความร่วมมือกับศาล Yeang ระบุว่า เขาพยายามสอบถามทั้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและศาลว่า ที่กล่าวหาว่าเขาส่งข้อมูลอันเป็นภัยความมั่นคงให้กับต่างชาติ "ข้อมูล" ที่ว่ามีอะไรบ้าง ถูกส่งไปที่ไหน ในวันและเวลาใด และมีหลักฐานใดบ้างที่จะมาปรักปรำเขาทั้งสอง แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบทั้งจากตำรวจหรือศาล เจ้าหน้าที่บอกแต่เพียงว่าการกระทำความผิดของพวกเขาเกิดขึ้นในช่วงปี 2560 เท่านั้น 
 
หลังถูกคุมขังในห้องขังที่คับแคบและแออัดร่วมกับนักโทษคนอื่นๆ เป็นเวลา 9 เดือน Yeang กับ Oun Chin ก็ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในเดือนสิงหาคม 2561 Yeang ตั้งข้อสังเกตว่า การปล่อยตัวเขากับเพื่อนน่าจะเป็นความพยายามของรัฐบาลในการลดความร้อนแรงของสถานการณ์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2561 แม้ตลอดเก้าเดือนเขาจะต้องทนอยู่ในเรือนจำอย่างยากลำบากแต่ Yeang ก็รู้สึกมีกำลังใจเมื่อเขาได้รับทราบว่า การคุมขังเขาเป็นประเด็นที่คนในสังคมกัมพูชารวมทั้งเพื่อนสื่อมวลชนในประเทศอื่นๆ ให้ความสนใจเขาจึงยังมีกำลังใจที่จะทำงานในฐานะสื่อมวลชนต่อไป 
 
แม้ Yeang และ Oun Chin จะได้รับการปล่อยตัวแล้วแต่คดีของเขาทั้งสองยังไม่ยุติ ขณะนี้คดีถูกฟ้องเข้าสู่ชั้นศาลกรุงพนมเปญแล้วแต่ยังไม่มีวันนัดหมายพิจารณาคดี
 

1128

หนังสือพิมพ์ Cambodia Daily ยุติการตีพิมพ์ในปี 2560 (ภาพจากเพจพิพิธภัณฑ์สามัญชน)
 
Yeang ทิ้งท้ายว่า การคุกคามเสรีภาพสื่อรวมทั้งการปิดตัวของสำนักงาน Radio Free Asia ในกัมพูชาเป็นผลกระทบส่วนหนึ่งของการคุกคามสื่ออย่างเป็นระบบของรัฐบาลที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น (Commune Election) ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในปี 2560 หลังจากที่รัฐบาลเห็นว่าพรรคฝ่ายค้านได้รับเสียงสนับสนุนมากขึ้นอย่างน่าตกใจ นอกจากกรณีของ Radio Free Asia และกรณีของ The Cambodia Daily ที่ปิดตัวไปแล้ว ก็มีสถานีวิทยุท้องถิ่นอีกอย่างน้อย 30 แห่งซึ่งเคยให้สถานีวิทยุที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่าง Voice of America หรือ Radio Free Asia เช่าเวลาออกอากาศต้องปิดตัวลง โดยการคุกคามสื่อที่เกิดขึ้นนี้ก็น่าจะเกี่ยวข้องอย่างมีนัยยะสำคัญกับการเลือกตั้งทั่วไปที่เกิดขึ้นในปี 2561 และการที่เขากับเพื่อนถูกดำเนินคดีก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการคุกคามสื่อที่กล่าวไปข้างต้น 
ชนิดบทความ: