- เว็บไซต์ไอลอว์
- ศูนย์ข้อมูลฯ
เปิดคำเบิกความ กรณีวอยซ์ ทีวีขอศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉินทุเลาคำสั่งกสทช.
15 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลปกครองนัดไต่สวนฉุกเฉิน กรณีสถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี ยื่นฟ้องกสทช. ต่อศาลปกครองและขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวทุเลาการบังคับตามคำสั่งของกสทช. ให้สามารถออกอากาศได้ก่อนมีคำพิพากษาเพื่อทุเลาผลกระทบต่อธุรกิจของสถานีฯและผลกระทบต่อเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน
เวลา 10.00 น. ตุลาการศาลปกครองเริ่มทำการไต่สวนโดยสอบถามรายละเอียดว่า วอยซ์ ทีวี ในฐานะผู้ฟ้อง และกสทช. ในฐานะผู้ถูกฟ้องมีผู้ใดในสองฝ่ายนี้จะให้การบ้าง วอยซ์ ทีวีระบุว่า มีเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี, ประทีป คงสิบ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายข่าวและเนื้อหารายการ สถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี, อธึกกิต แสวงสุข ผู้ดำเนินรายการ, ม.ล. ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้ดำเนินรายการ และทนายความผู้รับมอบอำนาจจากวอยซ์ ทีวีเป็นผู้ชี้แจง ขณะที่ฝ่ายกสทช. มีสมบัติ ลีลาพตะ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์ กสทช. และผู้รับมอบอำนาจอีกสองคนร่วมเป็นผู้ชี้แจงด้วย
ตุลาการฯ อธิบายว่า วันนี้จะไต่สวนในสามประเด็นคือ หนึ่ง คำสั่งกสทช.ออกมาไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร? สอง สืบเนื่องจากวอยซ์ ทีวี มีคำขอให้ศาลทุเลาคำสั่งของกสทช. อันเป็นการเยียวยาก่อนมีคำพิพากษา ตามปกติแล้วคำพิพากษาจะเป็นการเยียวยา แต่เยียวยาไม่ทันต่อเวลา ดังนั้นศาลอยากทราบความยากของการเยียวยาในกรณีนี้ และสาม กสทช. ใช้อำนาจปกครองในการออกคำสั่งระงับการออกอากาศวอยซ์ ทีวี ถ้าศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่ง กสทช.จะเผชิญอุปสรรคต่อการบริหารราชการอย่างไร?
พร้อมกับชี้แจงว่า ตามขั้นตอนปกติของศาลปกครองอาจมีระยะเวลาสองปีถึงจะสามารถมีคำพิพากษาได้ แต่เห็นว่า เป็นเรื่องที่มีความเร่งด่วนในการพิจารณาคดี เข้าข่ายข้อกำหนดตามที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครองสูงสุดให้สามารถใช้วิธีการเร่งด่วนได้ เนื่องจากคำสั่งมีผลในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 และจะสิ้นสุดในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 หากคำพิพากษาออกมาช้ากว่านั้นก็จะไม่มีประโยชน์ อย่างไรก็ตามตุลาการฯจำเป็นจะต้องเสนออธิบดีศาลปกครองก่อน หากสามารถทำตามข้อกำหนดการพิจารณาเร่งด่วนได้ ศาลจะนัดไต่สวนคดีในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 และวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 โดยจะมีคำพิพากษาในวันเดียวกันเลย
ประกาศคสช.มีเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในกิจการกระจายเสียงและถือเป็นกฎหมาย
ตุลาการฯ ขอให้กสทช. อธิบายขั้นตอนกฎหมายในการออกคำสั่ง สมบัติ ลีลาพตะ ผู้รับมอบอำนาจจากกสทช. ระบุว่า การอนุญาตให้ประกอบกิจการกระจายเสียงเป็นกรณีที่มีความเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553 (พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ) , พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551 (พ.ร.บ. ประกอบกิจการฯ) โดยให้กรอบอำนาจกสทช.ในการออกใบอนุญาตและให้กำกับดูแล, ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ 2555
นอกจากนี้มีประกาศคสช.ที่ 97/2557 แก้ไขเป็นประกาศคสช.ที่ 103/2557 มีสถานะเป็นกฎหมาย โดยในข้อ 3(5) ระบุว่า ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิด ความแตกแยกในราชอาณาจักร และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 41/2559 ระบุให้การเผยแพร่เนื้อหาต้องห้ามตามประกาศคสช.ที่ 97/2557 และ 103/2557 เป็นความผิดตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ
และกล่าวต่อว่า กสทช. กำหนดเงื่อนไขในวันที่ 25 เมษายน 2557 เงื่อนไขข้อ 18 ระบุว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องประกอบกิจการตามที่กำหนดและกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด รวมถึงคำสั่งของกสทช.ที่มีขึ้นในภายหลัง ขณะที่ประกาศคสช.ที่ 15/2557 มีคำสั่งให้ระงับการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม รวมถึงวอยซ์ ทีวีที่เป็นดิจิทัลทีวี ในการพิจารณาให้กลับมาออกอากาศมีการทำเป็นบันทึกข้อตกลง กำหนดไว้ว่า ให้ถือเป็นเงื่อนไขในการอนุญาต เห็นได้ว่า วอยซ์ ทีวียอมรับว่า เป็นเงื่อนไข
ตุลาการฯ ถามว่า กฎหมายให้ถือคำสั่งเป็นหลัก ทำไมต้องทำในรูปแบบบันทึกข้อตกลง?
สมบัติ ตอบว่า เป็นขั้นตอนในการพิจารณา ทำบันทึกข้อตกลงให้รับทราบทั้งสองฝ่ายว่า จะต้องไม่มีเนื้อหาอะไรบ้าง ซี่งก็เป็นเนื้อหาเดียวกันกับประกาศ คสช.ที่ 97/2557 และ 103/2557
ตุลาการฯถามว่า กสทช.มีอำนาจในการแก้ไขอยู่แล้ว ที่มีข้อสงสัยคือทางวอยซ์ ทีวี ไม่ยอมรับข้อตกลงนี้ มีรายละเอียดว่า ให้ถือเงื่อนไขในบันทึกข้อตกลงข้อ 2 (ห้ามออกอากาศเนื้อหาต้องห้ามตามระบุ) เป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขในการอนุญาตให้ใช้ความถี่ ประเด็นนี้ทนายความ ผู้รับมอบอำนาจจากวอยซ์ ทีวีกล่าวว่า กรณีข้อ 4 ของบันทึกข้อตกลง การแก้ไขเพิ่มเติมกสทช.จะต้องออกฝ่ายเดียว ไม่อาจออกเป็นสัญญาในการแก้ไข ลักษณะดังกล่าวผิดรูปแบบตามหลักวิธีการปฏิบัติตามปกครอง
ตุลาการฯ ขอให้สมบัติ อธิบายเรื่องเนื้อหาที่เข้าข่ายต้องห้ามตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ สมบัติอธิบายว่า มีเนื้อหาจากรายการ Tonight Thailand และ Wake up news เข้าข่ายขัดต่อมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ 4 ครั้ง เป็นการก่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุปลุกปั่นตามประกาศคสช.ที่ 97/2557 และ 103/2557 ดังนั้นจึงเป็นการขัดความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากว่า เจตนารมณ์ในการออกประกาศคสช.ทั้งสองฉบับคือ เพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยในกิจการกระจายเสียง ดังนั้นการออกอากาศเนื้อหาที่ขัดต่อมาตรา 97/2557 และ 103/2557 จึงเท่ากับขัดมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ
นอกจากนี้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 41/2559 ยังกำหนดสำทับอีกทีว่า การออกอากาศเนื้อหาที่ขัดต่อมาตรา 97/2557 และ 103/2557 เป็นการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิด การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบ ต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ
ตุลาการฯ สรุปว่า จากที่สมบัติกล่าวว่า กสทช.มองว่า รายการ Tonight Thailand และ Wake up news เข้าข่ายขัดต่อมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ
ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากวอยซ์ ทีวีขอโต้แย้งในประเด็นนี้ว่า ประกาศคสช.ที่ 97/2557 กำหนดบทลงโทษโดยเฉพาะ คือหากเนื้อหาขัดต่อประกาศดังกล่าวให้องค์กรที่เกี่ยวข้องเพิกถอนใบอนุญาต แต่ประกาศคสช.ที่ 103/2557 ได้ยกเลิกบทลงโทษ โดยหากเนื้อหาขัดต่อข้อต้องห้าม ให้เสนอสภาวิชาชีพดำเนินการต่อไป กฎหมายไม่ได้มีจุดประสงค์ให้เพิกถอนหรือระงับใบอนุญาตจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สมบัติ ระบุว่า ประกาศคสช.ที่ 97/2557 ระบุว่า ‘อาจ’ ส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพ ทั้งทางกสทช.มองว่า มีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 41/2559 มาสำทับอีกทีด้วย และอธิบายเพิ่มเติมว่า ในรายการ Wake up news กสทช. มองว่า ฝ่าฝืนประกาศคสช.ที่ 97/2557 จึงฝ่าฝืนมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ
รายการมีลักษณะแบ่งเป็นเผด็จการและประชาธิปไตยและผู้ดำเนินรายการมีลักษณะผูกตัวเองเข้ากับฝั่งใดฝั่งหนึ่ง
ตุลาการฯ ถามว่า ในคำฟ้องของวอยซ์ ทีวี มีการระบุว่า เป็นการใช้สิทธิตามหลักประชาธิปไตย แล้วเนื้อหารายการสร้างความสับสนอย่างไร?
ผู้รับมอบอำนาจจากกสทช. ตอบว่า การพิจารณาเนื้อหารายการมีทั้งหมด 5 เทปคือ รายการ Tonight Thailand 1 เทป คือเทปออกอากาศวันที่ 16 ธันวาคม 2561 และรายการ Wake up news 4 เทปคือ เทปออกอากาศวันที่ 21, 28 และ 29 มกราคม และ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ยกตัวอย่างในกรณีของรายการ Wake up news วันที่ 21 มกราคม 2562 ผู้ดำเนินรายการคือ วิโรจน์ อาลี, ม.ล. ณัฏฐกรณ์ เทวกุล และศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ให้ความเห็นเรื่องผลสำรวจของประชาชน ข้อกังวลในการเลือกตั้งและเศรษฐกิจ ผู้ดำเนินรายการมีความเห็นในทางเดียวกันว่า ผู้มีอำนาจไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่สับสน รายการมีความยาวประมาณ 1 ชั่วโมง มีลักษณะแบ่ง ‘เขา’ และ ‘เรา’ มีสองฟากฝั่งคือ เผด็จการและประชาธิปไตย ผู้ดำเนินรายการมีลักษณะผูกตัวเองเข้ากับฝั่งใดฝั่งหนึ่ง
อีกเรื่องหนึ่งคือ การวิพากษ์ว่า ซีพีได้สัมปทานโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงโดยไม่ต้องประมูล ทั้งที่ความจริงจะต้องมีกระบวนการก่อนหน้าการได้สัมปทาน
ประทีป กล่าวว่า เรื่องข้อกังวลของคนไทยเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ในการนำเสนอเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป การแสดงความเห็นต่อเนื่องกับข้อเท็จจริงที่นำเสนอไปก่อน ซึ่งถือว่า เป็นเสรีภาพของสื่อมวลชน ส่วนที่กล่าวอ้างว่า การเป็นสื่อต้องมีความเป็นกลาง การที่สื่อมีจุดยืนบนหลักการประชาธิปไตย ไม่ได้หมายความไม่เป็นกลาง ประชาธิปไตยเป็นหลักการสากล
ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กล่าวว่า เรื่องข่าวซีพีนั้นเป็นการพาดหัวข่าวของสื่อหลายฉบับ โดยข้อมูลที่ใช้ในวันนั้นเป็นข้อมูลโดยหนังสือพิมพ์ “โพสต์ ทูเดย์” เป็นการนำเสนอระยะสั้นๆ การนำพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์มาใช้เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของรายการเล่าข่าว เป็นเรื่องที่สื่อทำเป็นปกติและทำทุกสถานี
ตุลาการฯ กล่าวสรุปว่า วอยซ์ ทีวีพยายามยืนยันว่า เนื้อหาเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย เรื่องเนื้อหาจะพิจารณาในอีกขั้นหนึ่ง เข้าสู่ประเด็นที่สอง เรื่อง หากไม่ให้ทุเลาในครั้งนี้จะเกิดความเสียหายที่ยากต่อการเยียวยาอย่างไร
การปิดวอยซ์ ทีวีในช่วงเลือกตั้งสร้างความเสียหายต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
เมฆินทร์ กล่าวว่า เป็นความเสียหายต่อสังคมและสาธารณะ ตอนนี้สังคมกำลังเข้าสู่การเลือกตั้งจำให้เสียโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลจากวอยซ์ ทีวี ในช่วงการเลือกตั้งประชาชนต้องการการวิเคราะห์ข่าวการเมือง ดังนั้นการระงับการออกอากาศจึงเป็นความเสียหายต่อสิทธิขั้นพื้นฐานทางสังคมในวงกว้าง ส่วนความเสียหายในอุตสาหกรรม วอยซ์ ทีวีประกอบธุรกิจตั้งแต่ปี 2552-2558 มาด้วยความราบรื่น ไม่มีปัญหา มาจนกระทั่งปี 2558 เริ่มมีการลงโทษ ที่ผ่านมาวอยซ์ ทีวีได้สั่งสมความสามารถทางธุรกิจ ผู้ชมและความเชื่อมั่นของลูกค้า ถ้าเกิดมีการปิดสถานี 15 วัน จะสูญเสียแรงส่งที่สั่งสมมา สร้างความเสียหายทางธุรกิจอย่างไม่สามารถเรียกคืนได้ การสั่งสมฐานผู้ชมในช่วงนี้ที่เป็นจังหวะที่สำคัญก็จะส่งผลเสียหายเช่นกัน
อธึกกิต กล่าวว่า ความสนใจประชาชนที่มีต่อการเลือกตั้งสูงมาก วอยซ์ ทีวีที่คนทั่วไปเข้าใจว่า มีความเห็นต่างกับผู้มีอำนาจ คนดูจะรู้สึกได้ว่า มีการโต้แย้งในเนื้อหา ถึงแม้ว่าจะมีการออกอากาศออนไลน์ แต่ไม่สามารถเข้าถึงผู้ชมได้หมด ส่งผลต่อประโยชน์ในการเปรียบเทียบข้อมูลข่าวสาร การทำหน้าที่สื่อคือ การเสนอความเห็นที่หลากหลาย แต่ละช่องคิดอย่างไร การระงับการออกอากาศไม่ได้กระทบต่อวอยซ์ ทีวีเพียงช่องเดียว แต่มันสะดุ้งสะเทือนถึงสื่อทั้งหมด การใช้อำนาจค่อนข้างกว้าง คลุมเครือไม่ชัดเจน บางครั้งถูกลงโทษจากการเลือกปล่อยเสียงสัมภาษณ์ ทั้งที่ช่องอื่นก็ออกอากาศเหมือนกัน แต่ทำไมวอยซ์ ทีวีถึงโดน การลงโทษจะทำให้สื่ออื่นกังวลว่า หากช่องเห็นต่างจะเกิดผลกระทบหรือไม่ นอกจากนี้หัวหน้าคสช.ประกาศเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองแล้ว แต่ประกาศคสช.ยังถูกนำมาใช้อีก
ตุลาการฯ ถามว่า เรตติ้งที่เสนอเป็นภาพรวมของทุกสถานีใช่หรือไม่ ประทีปตอบว่า ใช่และกล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าพิจารณาเฉพาะรายการข่าวของทุกสถานี รายการ Wake up news ถือเป็นท็อปเทนของทีวีดิจิทัลทั้งหมด
หากกสทช.ยังปล่อยให้ออกอากาศต่อไปจะทำให้เกิดการแบ่งแยกไม่เป็นการปรองดองสมานฉันท์หรือไม่
สมบัติ กล่าวว่า ช่องรายการที่เป็นช่องข่าวเลยมีอยู่ 6 ช่อง นอกจากนี้ช่องที่เป็นวาไรตี้ไม่ใช่ช่องรายการข่าวก็มีการเสนอข้อมูลข่าวเป็นรายการหลัก เช่น ไทยรัฐทีวี หรือช่อง 7 ในเรื่องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารมองว่า ไม่มีผลกระทบเพราะไปดูสถานีอื่นก็ได้ มีการนำเสนอเรื่องการเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครดีเบต ประเด็นที่วอยซ์ทีวีมองว่า จะส่งผลกระทบต่อประชาชน วอยซ์ ทีวีก็ได้ระบุแล้วว่า ยังมีช่องทางออนไลน์ที่เป็นผู้ชมที่เป็นแฟนคลับก็ตามไปดูได้
อีกประเด็นหนึ่งคือ ธุรกิจเรื่องเรตติ้งที่ได้รับผลกระทบ ต้องเรียนว่า การประกอบกิจการในกรณีที่มีการนำเสนอที่ขัดต่อกฎหมายและยอมให้ออกอากาศต่อไป โดยไม่ได้ใช้มาตรการทางปกครอง มันจะก่อผลกระทบ ที่ทราบกันเป็นประจักษ์อยู่แล้วว่า วอยซ์ ทีวีเคยถูกปิดตอนที่มีการรัฐประหารและมีการให้ออกอากาศในภายหลัง เหตุที่สั่งให้ปิดก็เกิดจากเรื่องทางการเมืองเหมือนกัน หากยังปล่อยให้ออกอากาศต่อไปจะทำให้เกิดการแบ่งแยกไม่เป็นการปรองดองสมานฉันท์หรือไม่ กสทช.จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งและชั่งน้ำหนัก
ผู้รับมอบอำนาจจากกสทช. กล่าวเสริมว่า เป็นที่ยอมรับกันว่า ในการเลือกตั้งสื่อมีบทบาทสำคัญมาก การที่มีสื่อหลากหลายมีความสำคัญ แต่การมีสื่อเป็นกลางก็สำคัญเช่นเดียวกัน ในการเลือกตั้งมีการออกกฎหมายให้สื่อจัดเวลาสำหรับพรรคการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน กกต.จะจอความร่วมมือไปทางสถานีและจัดสรรเวลาแก่พรรคการเมืองวันละ 1 ชั่วโมง ในการดำเนินการจะต้องเท่าเทียมกันและตั้งอยู่บนฐานของจริยธรรมสื่อ ช่องอื่นๆก็จะทำแบบนี้ สื่อสำคัญถือเป็นวอทช์ด็อกคอยตรวจสอบ แต่หากสื่อ ‘เลือกข้าง’ หรือที่วอยซ์ ทีวีเรียกว่า ‘จุดยืน’ เสนอนโยบายพรรคการเมืองต่างๆ และบอกว่า นโยบายแบบนี้ไม่ดี ถ้าสื่อทุกช่องทำแบบนี้ก็จะส่งผลเสียหายต่อสังคม
ตุลาการฯ กล่าวว่า ขอให้กลับมาที่เรื่องคดีก่อน ที่กล่าวมาเป็นเรื่องของอนาคต ขั้นนี้ศาลจะพิจารณาเรื่องทีผ่านมา ถ้าศาลเห็นว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เห็นควรว่า ควรทุเลาคำสั่งให้ ตามโครงสร้างอำนาจของรัฐธรรมนูญ ฝ่ายปกครองจะใช้อำนาจเหนือเอกชน ศาลจะเป็นผู้เข้าไปตรวจสอบ ไม่ได้ทำให้เกิดความยุ่งยากในการกำกับดูแล กสทช.ยังคงมีอำนาจเต็มในการกำกับดูแลเท่าเดิม ซึ่งเมื่อสักครู่คำตอบก็ครอบคลุมไปถึงประเด็นที่สามบ้างแล้ว
สมบัติ ชี้แจงว่า อาจจะเกิดปัญหาต่อประชาชน สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ถ้าศาลมีคำสั่งคุ้มครอง ช่องรายการจะทำและยิ่งสร้างความสับสนต่อประชาชนมากขึ้น
ทุกครั้งที่มีการระงับรายการหรือระงับการออกอากาศ สปอนเซอร์จะยกเลิกสัญญาและแผนการโฆษณา
ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กล่าว่า วอยซ์ ทีวีแพร่ภาพตั้งแต่ปี 2552 ในช่วงรายการประกอบความเห็น (Commentary show) ที่ได้ทำมาโดยตลอดไม่เคยถูกประณามโดยองค์กรวิชาชีพสื่อ แต่ละครั้งที่กล่าวอ้างมีเพียงทางกสทช.ล้วนๆ โดยสภาวิชาชีพไม่เคยมีการลงโทษ และเป็นที่ยอมรับต่อสังคมโดยรวม ในการให้ความร่วมมือกับกสทช.กำกับดูแลเป็นไปด้วยดีมาตลอด แม้หลังการรัฐประหาร วอยซ์ ทีวีแสดงความเคารพต่อการตักเตือนทางการหรือไม่เป็นทางการมาตลอดและน้อมรับปฏิบัติตาม สิ่งที่กสทช.แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่า กสทช.มีความพร้อมในการปิดสถานีในแบบที่ทำลายความน่าเชื่อขององค์กร
ผู้ที่มีความพร้อมที่จะลงทุนกับวอยซ์ ทีวีตกอยู่ในสภาวะที่เชื่อว่า วอยซ์ ทีวี สามารถถูกเลือกปฏิบัติเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้อาจสายเกินไปที่จะเยียวยาในภายหลัง สื่อมีเหตุผลที่อยู่ได้คือ มีสปอนเซอร์มาลงทุน เมื่อหมดความเชื่อมั่นจะส่งผลต่อธุรกิจ ถ้าผ่านจุดนี้ไปตามอำเภอใจ ความเสียหายมันเกินการเยียวยา
ตุลาการฯถามว่า ที่ผ่านมาสปอนเซอร์ลดลงไหม เมฆินทร์ตอบว่า ทุกครั้งที่มีการระงับรายการหรือระงับการออกอากาศ สปอนเซอร์จะมีการยกเลิกสัญญาและแผนการโฆษณากับช่อง ถ้าปิดทั้งสถานีในช่วงที่มีการเติบโตจะเกิดผลอย่างชัดเจน ในช่วงปลายปี 2560 รายได้ตกลงเหลือ 47 ล้านบาทจากปีก่อนหน้าที่ได้ 147 ล้านบาท ทำให้วอยซ์ ทีวีต้องปรับตัวและดีลอย่างมาก กรณีของบริษัทไทยคม ที่เป็นสปอนเซอร์หลัก มีการวางแผนลงโฆษณาทั้งปี ถ้ามีเกิดสถานการณ์การลงโทษจากกสทช.จะยกเลิกทันที การที่สปอนเซอร์รายใหญ่มาซื้อโฆษณากับช่องจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้ารายอื่นๆ ถ้าสปอนเซอร์ใหญ่เช่นไทยคมยกเลิกจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อลูกค้ารายอื่นๆ
ประทีป กล่าวเสริมว่า ในเดือนมีนาคม 2560 กำลังจะเซ็นสัญญากับสสส. ในสัญญาวงเงิน 5 ล้านบาท พอมีเหตุการณ์การลงโทษจากกสทช. ทำให้สัญญานี้ยกเลิกไปเลย ทนายความผู้รับมอบอำนาจกล่าวว่า กสทช.สั่งระงับการออกอากาศทั้งสถานีระหว่างการเลือกตั้ง ผิดหลักในรัฐธรรมนูญ ไม่อาจเยียวยาได้ในภายหลัง กระชั้นชิดกับวันเลือกตั้ง ถ้าศาลไม่มีคำสั่งทุเลาคำสั่งของกสทช. สื่อจะเซนเซอร์กันหมด ผลกระทบมากกว่าการปิดวอยซ์ ทีวี
อธึกกิตกล่าวว่า กสทช.กล่าวว่า ถ้าผิดก็ปิดอีก หมายถึงว่า กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ อย่างที่เราได้เคยตั้งข้อสังเกตกันไว้ว่า เป็นเรื่องปกติที่มีการเสนอข่าวและวิจารณ์ การระงับการออกอากาศครั้งนี้เป็นการนำเทปออกอากาศมารัวเป็นชุดและปิดตอนที่กำลังเลือกตั้งพอดี มันไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะผู้ชม ถ้าผู้ชมดูออนไลน์ได้ก็คงไม่ต้องดูโทรทัศน์กันแล้ว
ม.ล. ณัฏฐกรณ์ กล่าวว่า ขอกล่าวเพิ่มเติมว่า ครั้งนี้องค์กรวิชาชีพไม่ได้มีปัญหา ในรอบนี้ก็มีการประนามการกระทำของกสทช.ว่า ลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชน ในจังหวะเวลาที่กำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง ผู้ร่วมดำเนินรายการได้เป็นแขกรับเชิญและแสดงความคิดเห็นคล้ายคลึงกัน ที่กล่าวถึงคือ กรณีของศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ไปร่วมเป็นแขกรับเชิญที่ไทยรัฐทีวีจัดและแสดงความคิดเห็นเช่นกัน วอยซ์ ทีวีถูกเลือกปฏิบัติจากผู้กำกับดูแลกิจการกระจายเสียงอย่างกสทช. ถือเป็นการบ่อนทำลายสถานีจะผู้กำกับดูแลกิจการกระจายเสียงโดยตรง ในที่สุดลูกค้าที่ซื้อโฆษณาก็จะเปลี่ยนไปลงโฆษณาที่อื่น
ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากวอยซ์ ทีวี กล่าวว่า รายการที่กสทช.กล่าวอ้างมาใช้ลงโทษทั้งหมดระบุว่า สร้างความสับสนในหมู่ประชาชน เป็นความพยายามผูกข้อเท็จจริงของกสทช. หากดูรายละเอียดเนื้อหาต้องห้ามตามประกาศคสช.ที่ 97/2557 ที่ตรงตัวคือ ข้อ 7 (3) เรื่องห้ามวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคสช. และการปล่อยให้ความผิดตามประกาศคสช.ที่ 97/2557 และ 103/2557 ไปผูกกับมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ เท่ากับว่า การวิพากษ์วิจารณ์คสช.ในช่วงเลือกตั้งนี้จะนำไปสู่การปิดสถานีเสมอ ซึ่งมองว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 35
กสทช.มีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 41/2559 คุ้มครองไม่ต้องรับผิดทางแพ่งและทางอาญา
เมฆินทร์ กล่าวว่า สิ่งที่วอยซ์ ทีวีร้องขอเป็นเพียงการขอความคุ้มครองฉุกเฉิน ตอนนี้เสียหายหนักจริงๆ ช่วงเวลานี้สาธารณะติดตามข่าวการเลือกตั้งประมาณร้อยละ 70 และวอยซ์ ทีวีเองก็มีจุดยืนในฝ่ายประชาธิปไตย นอกจากนี้กสทช.ยังได้รับความคุ้มครองตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 41/2559 ไม่ต้องรับผิดทางแพ่งและทางอาญา เกรงว่า การกำหนดโทษโดยไม่รอบคอบและก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง จะทำให้สถานะองค์กรหลุดออกจาก(หลักนิติรัฐ)
เวลา 12.00 น. เสร็จสิ้นการไต่สวนฉุกเฉิน ต่อมาเวลาประมาณ 21.00 น. ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ทุเลาคำสั่งระงับการออกอากาศวอยซ์ ทีวีของกสทช.