1711 1399 1847 1252 1516 1350 1011 1018 1020 1891 1732 1093 1727 1906 1996 1598 1007 1182 1999 1534 1903 1425 1984 1828 1074 1987 1433 1304 1879 1795 1861 1582 1388 1722 1198 1902 1140 1014 1770 1127 1560 1650 1193 1152 1163 1947 1338 1893 1292 1114 1870 1591 1342 1133 1447 1956 1375 2000 1560 1641 1099 1749 1116 1165 1254 1899 1295 1133 1095 1748 1527 1549 1309 1470 1701 1593 1698 1238 1982 1221 1683 1360 1611 1615 1759 1247 1066 1187 1345 1245 1767 1847 1179 1277 1489 1397 1620 1150 1250 The bumpy road ahead : หนทางข้างหน้ายังไม่ง่าย | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

The bumpy road ahead : หนทางข้างหน้ายังไม่ง่าย


ในปี 2561 บรรยากาศการเมืองไทยเริ่มเข้าสู่การพูดคุยเรื่องการเลือกตั้ง นักการเมืองและประชาชนเริ่มออกหน้าแสดงความคิดเห็น เพดานเสรีภาพที่เคยถูกกดไว้คล้ายถูกคลาย ออกด้วยคำว่า “เลือกตั้ง” และตามมาด้วยการที่ คสช. ค่อยๆ ออกคำสั่งตาม "มาตรา 44" ให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ทีละนิด จนกระทั่งคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/2561 ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. ที่เคยห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอดสี่ปีกว่าที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังมีประกาศและคำสั่งของ คสช. อีกจำนวนไม่น้อยที่เหลือคงค้างบังคับใช้อยู่ ไม่นับรวมกฎหมายที่ คสช. ตราเป็นพระราชบัญญัติและใช้เป็นเครื่องมือปราบปรามเสรีภาพในการแสดงมาตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา

 


จากบทเรียนการออกเสียงประชามติภายใต้ คสช. เมื่อปี 2559 ก็ทำให้วางใจไม่ได้ว่า การรณรงค์สื่อสารเรื่องการเมืองต่อประชาชนจะเป็นไปโดยเสรีไม่อยู่ภายใต้อำนาจความหวาดกลัวใดๆ โดยก่อนและระหว่างการทำประชามติครั้งนั้น คสช. ใช้ประกาศและคำสั่ง คสช. และกฎหมายอื่นๆ จำกัดเสรีภาพการแสดงออก ดังนี้

 

1020

 


พ.ร.บ.ประชามติฯ : ปิดปากผู้วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ

 


พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ. พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติฯ) กำหนดโทษจำคุกไม่เกินสิบปีหรือปรับ ไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้ที่เผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือช่องทางอื่น ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือ รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่เพื่อให้ผู้มีสิทธิไม่ไปใช้สิทธิหรือใช้สิทธิทางใดทางหนึ่ง โดยมีประชาชนถูกกล่าวหาตามมาตรานี้อย่างน้อย 41 คน เหตุแห่งคดี เช่น เขียนวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 บนเฟซบุ๊ก, แจกใบปลิวรณรงค์ให้ไปลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และการส่งจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
 

 


คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 : ห้ามทำกิจกรรมเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่ขัดใจ คสช.

 


คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ระบุว่า ผู้ใดมั่วสุม  หรือชุมนุมทางการเมือง  ณ  ที่ใด ๆ  ที่มีจํานวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวถูกใช้เป็นข้ออ้างที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าแทรกแซงหรือห้ามการทำกิจกรรมเพื่อวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นไปในทางตรงข้ามกับ คสช. มีกิจกรรมที่จัดเพื่อแสดงออกเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ถูกตำรวจทหาร และกลไกต่างๆ ของรัฐปิดกั้น อย่างน้อย 20 ครั้ง และมีผู้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับการทำประชามติถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 149 คน โดยคดีทั้งหมดอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหารและในปัจจุบันยังมีคดีคงค้างอยู่ในการพิจารณาของศาลจำนวนมาก
กฎหมายคุมสื่อ : ให้อำนาจกสทช.จัดการสื่อเสียดสีเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ

 


หลังจากการเข้ายึดอำนาจของ คสช. เครื่องมือสำหรับการควบคุมเนื้อหาในสื่อถูกประกาศใช้ ได้แก่ ประกาศ คสช. ที่ 97/2557 และ 103/2557 ที่ห้ามสื่อเผยแพร่เนื้อหาที่อาจก่อให้เกิดความสับสนหรือความขัดแย้ง เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือเป็นการวิจารณ์ คสช. โดยไม่สุจริตด้วยข้อมูลเท็จ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 ให้อำนาจคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พิจารณาเนื้อหา ตามประกาศ คสช. ที่ 97/2557 และ 103/2557  ในช่วงการออกเสียงประชามติ กสทช. มีมติในเรื่องที่สื่อนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญสองครั้ง คือ ขอความร่วมมือให้วอยซ์ทีวีระมัดระวังการออกอากาศรายการ จากการนำเสนอเนื้อหาส่อเสียดโดยนำรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาเปรียบเทียบกับฉบับปัจจุบัน และมติพักการดำเนินรายการของผู้ดำเนินรายการวอยซ์ทีวีเป็นเวลาสิบวันจากการออกอากาศเนื้อหาเรื่อง ฉันทามติสังคม ไม่ให้ คสช. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป, ประยุทธ์ประกาศอยู่ยาว ไม่สนร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านไม่ผ่าน และเรื่องๆ อื่นๆ
 

 


ข้อหายุยงปลุกปั่น : จดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญสร้างความปั่นป่วน

 


ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือที่รู้จักกันในชื่อข้อหา "ยุยงปลุกปั่น" ระบุว่า ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืน ใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย หรือ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

 


ระหว่างประชามติมีประชาชนถูกกล่าวหาตามมาตรา 116 ไปไม่น้อยกว่า 11 คน หรือ 1 คดี  เหตุแห่งคดีเกิดจากการส่งจดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญหลายจุดใน จังหวัดลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ ผู้ถูกกล่าวหา 4 คนจากทั้งหมดเป็นนักการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีสายสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทย



สำหรับช่วงการเลือกตั้งที่จะถึงในปี 2562 คสช. ก็ยังมีอำนาจพิเศษตามประกาศและคำสั่งที่ออกมาบังคับใช้เอง และยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่สามารถนำมาใช้จำกัดเสรีภาพในช่วงก่อนการเลือกตั้งได้อีก ตัวอย่างเช่น

 


กฎหมายเลือกตั้ง : ให้อำนาจ กกต. คุมหาเสียง

 


ในการเลือกตั้งปี 2562 กฎหมายสำคัญที่จะถูกนำมาใช้กับนักการเมืองก็คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 (กฎหมายเลือกตั้ง) โดยมีข้อกำหนดเช่น ห้ามผู้สมัครหรือพรรคการเมืองหาเสียงทางวิทยุหรือโทรทัศน์ เว้นแต่อยู่ภายใต้การควบคุมของ กกต., การหาเสียงออนไลน์จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ กกต. กําหนดขึ้น รวมทั้งการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมือง ต้องไม่ขัดกับแนวทางที่เป็นนโยบายของพรรคการเมือง กกต. ยังจะเข้ามาควบคุมกระทั่ง ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองต้องไม่เกินจํานวนที่ กกต. กำหนด ด้วย โดยการฝ่าฝืนข้อห้ามแต่ละข้อนั้นมีบทกำหนดโทษแตกต่างกันไป
 

 

นอกจากนี้กฎหมายเลือกตั้งยังให้อำนาจ กกต. ในช่วงก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หาก กกต. สืบสวนหรือไต่สวนแล้วเห็นว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดกระทําการอันเป็นเหตุให้การเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้สมัครผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทํา สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทําการดังกล่าว หรือรู้ว่า มีการกระทําดังกล่าวแล้วไม่ดําเนินการเพื่อระงับการกระทํานั้น ให้ กกต. สั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครที่กระทําการเช่นนั้นทุกรายไว้เป็นการชั่วคราว หรือการแจก "ใบส้ม"

 


กฎหมายคุมสื่อ :  สื่อตรงข้ามคสช.อ่วม โดนปิดเป็นระลอก

 


ก่อนหน้าการรัฐประหาร กสทช. มีหน้าที่กำกับดูแลเนื้อหาของสื่ออยู่แล้ว โดยใช้อำนาจตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551 (พ.ร.บ. ประกอบกิจการฯ) แต่หลังการเข้ายึดอำนาจของ คสช. ประกาศ คสช. ที่ 97/2557, 103/2557 และข้อตกลง MOU ที่ คสช. บังคับให้สื่อทุกแห่งต้องยินยอมลงนามไว้ กลายเป็นเครื่องมือคุมสื่อที่เพิ่มขึ้น เมื่อประกอบกับอำนาจตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ที่กว้างขวางมากอยู่แล้ว ทำให้ขอบเขตของเนื้อหาที่ต้องห้ามออกอากาศของสื่อกว้างขวางมากขึ้นไปอีก

 


จากรายงานการประชุมของ กสทช. เท่าที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 – 3 กรกฎาคม 2561 พบว่า มีการออกมติให้ลงโทษสื่อมวลชนจากการนำเสนอเนื้อหาในประเด็นทางการเมืองไปแล้ว อย่างน้อย 54 ครั้ง สถานีที่ถูกสั่งลงโทษมากที่สุดคือวอยซ์ ทีวี 20 ครั้ง และรองลงมาคือ พีซทีวี 13 ครั้ง ในจำนวนการปิดกั้นทั้งหมดมีไม่น้อยกว่า 35 ครั้งที่ กสทช. พิจารณาลงโทษสื่อ ตามเงื่อนไขของประกาศและคำสั่งของ คสช. กฎหมายทั้งหมดที่ให้อำนาจกับ กสทช. ในการควบคุมสื่อเหล่านี้ก็ยังคงใช้บังคับอยู่ก่อนและระหว่างการเลือกตั้งโดยไม่มีท่าทีว่าจะถูกยกเลิก

 


คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 : เรียกรายงานตัวแล้วขังไว้ 7 วัน

 


แม้ว่า คสช. ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการห้าม "ชุมนุมเกินห้าคน" ไปแล้ว แต่อำนาจการเรียกบุคคลมารายงานตัวและคุมขังไว้เจ็ดวัน อำนาจทหารที่จะบุกค้นที่อยู่อาศัย พาหนะ รวมถึงการยึดหรืออายัดทรัพย์สินยังคงมีอยู่

 


อำนาจดังกล่าวเป็นอำนาจที่ คสช. ใช้เป็นเครื่องมือรหยุดยั้งการแสดงความคิดเห็นของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง บางครั้งก็อ้างว่าเป็นการเอาตัวมาเพื่อ "ปรับทันศนคติ" หรือการ "เชิญตัวมาพูดคุย" ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นไปเพื่อสร้างบรรยากาศความกลัวให้คนไม่กล้าแสดงความคิดเห็นหรือเคลื่อนไหวในทางที่เป็นปฏิปักษ์กับ คสช. หลังการยกเลิกข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ไปแล้ว คสช. ก็ยังใช้อำนาจที่เหลือในการคุมตัวบุคคลในค่ายทหาร เช่น กรณีการควบคุมตัวกลุ่มคนเสื้อดำที่แสดงออกเกี่ยวกับกิจกรรม "Bike อุ่นไอรัก" ในวันที่ 5 ธันวาคม 2561 ไม่น้อยกว่า 7 คน หลังปล่อยตัวออกมาแล้วทหารก็ยังใช้อำนาจซ้ำควบคุมตัวผู้ที่ถูกปล่อยตัวมาแล้ว 4 คน กลับเข้าไปที่ค่ายทหารอีกครั้ง

 


พ.ร.บ.ชุมนุมฯ : บทหลักจัดการชุมนุมช่วงเลือกตั้ง
 

 

พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) เป็นกฎหมายที่ควรจะถูกใช้เพื่อดูแลการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย โดยสั่งให้ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งการชุมนุมต่อตำรวจในท้องที่ล่วงหน้า 24 ชั่วโมง ห้ามการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตรจากพระราชวัง ห้ามกีดขวางทางเข้าออกหน่วยงานของรัฐ ห้ามก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชน ห้ามพกอาวุธ ห้ามปิดบังใบหน้า ห้ามข่มขู่ให้เกิดความกลัว ห้ามเคลื่อนขบวนตอนกลางคืน ฯลฯ โดยการฝ่าฝืนข้อห้ามแต่ละข้อนั้นมีบทกำหนดโทษแตกต่างกันไป
 

 

ที่ผ่านมา คสช. ไม่ได้ใช้กฎหมายนี้เพื่อดูแลอำนวจความสะดวกในการใช้เสรีภาพให้กับประชาชน แต่กลับบังคับใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ควบคู่กับคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ข่มขู่เพื่อให้การชุมนุมหรือการจัดกิจกรรมถูกยกเลิกให้ได้ การบังคับใช้ควบคู่กันไปนำไปสู่การใช้เลือกหยิบกฎหมายมาสั่งห้ามชุมนุมอย่างตามอำเภอใจ โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐสามารถหยิบยกสารพัดเงื่อนไขตามกฎหมายใดมาก็ได้ที่เอื้อต่อเป้าประสงค์ในการปิดกั้นเรื่องราวที่รัฐไม่ต้องการรับฟัง อย่างไรก็ดี เมื่อคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ยกเลิกไป พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ก็จะกลายเป็นเครื่องมือหลักของรัฐสำหรับจัดการการชุมนุม ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะถูกบังคับใช้อย่างเข้มข้นขึ้นอีกเรื่อยๆ ในปีหน้า

 


พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ : มาตรา 14(2) เทรนด์ใหม่ใช้ปิดปากผู้วิจารณ์รัฐออนไลน์

 


พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2560 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) มาตรา 14 (2) ระบุว่า ผู้ใดนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

 


เดิมทีมาตรา 14(2) มักจะถูกนำมากล่าวหาควบคู่กับคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (ข้อหายุยงปลุกปั่น) แต่ในปี 2561 แนวทางการร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อคนที่แสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะกรณีของบุคคลที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง เนื่องจากไม่อาจตีความให้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหมวดความมั่นคง เช่น มาตรา 112 หรือ มาตรา 116 ได้ แนวทางจึงเปลี่ยนมาเป็นดำเนินคดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) อย่างเดียวแทน

 


ตลอดสี่ปีที่ผ่านมามีประชาชนถูกกล่าวหาตามมาตรา 14(2) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจของรัฐบาลหรือบุคคลในรัฐบาล ไม่น้อยกว่า 44 คน ใน 23 คดี แต่เฉพาะปี 2561 มีไม่น้อยกว่า 25 คนหรือ 12 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีของนักการเมือง 3 คดี คือ คดีของวัฒนา เมืองสุข ที่วิจารณ์คสช. กรณีซื้อดาวเทียมไธอา (THEIA), คดีของพิชัย นริพทะพันธุ์ วิจารณ์ คสช. เรื่องการดูดส.ส. และคดีของธนาธร กับแกนนำพรรคอนาคตใหม่จากการไลฟ์เฟซบุ๊กวิจารณ์ คสช. เรื่องการดูดส.ส.

 


ข้อหายุยงปลุกปั่น : คนอยากเลือกตั้งสร้างความปั่นป่วน

 


หลังการรัฐประหารในปี 2557 มาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาหรือข้อหายุยงปลุกปั่น ถูกใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ต่อกลุ่มคนที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองในทิศทางตรงข้ามกับรัฐบาลทหาร คดีความส่วนหนึ่งไม่มีความคืบหน้า มีแค่การตั้งข้อหาในช่วงการจับกุมและเผยแพร่เป็นข่าวต่อสาธารณะเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวเท่านั้น ขณะที่คดีความส่วนหนึ่งต่อมาก็สั่งไม่ฟ้อง หรือศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตยังไม่เข้าข่ายเป็นความผิด โดยเฉพาะในยุคของ คสช. คดีความตามมาตรา 116 ส่วนใหญ่ผู้ต้องหาก็จะไม่ต้องรับโทษในข้อหานี้

 


ตลอดสี่ปีที่ผ่านมามีประชาชนถูกกล่าวหามาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาไม่น้อยกว่า 92 คนหรือ 33 คดี แต่เฉพาะปี 2561 มีไม่น้อยกว่า 24 คนหรือ 6 คดี โดยส่วนใหญ่เหตุแห่งคดีเป็นการจัดชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง 4 ครั้ง

ประเภทรายงาน: