1342 1172 1286 1842 1110 1802 1886 1954 1919 1048 1684 1349 1785 1104 1733 1643 1499 1678 1233 1731 2000 1585 1478 1140 1203 1101 1915 1936 1795 1925 1320 1601 1383 1604 1798 1961 1867 1683 1083 1741 1012 1172 1294 1625 1148 1616 1117 1286 1496 1116 1224 1091 1623 1435 1597 1993 1018 1535 1273 1401 1710 1890 1234 1326 1066 1023 1520 1381 1889 1850 1992 1093 1006 1322 1789 1702 1741 1324 1768 1705 1093 1124 1843 1757 1322 1216 1447 1324 1938 1734 1370 1224 1027 1085 1199 1628 1518 1906 1257 สรุปสถานการณ์ปี 2558: ระบบยุติธรรมตามสั่ง เสรีภาพขาดตลาด | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

สรุปสถานการณ์ปี 2558: ระบบยุติธรรมตามสั่ง เสรีภาพขาดตลาด

 
365
 
สถานการณ์เสรีภาพการแสดงออกภายใต้รัฐบาลคสช. ตลอดปี 2558 ยังอยู่ในภาวะวิกฤติ ช่วงกลางปีบรรยากาศการปิดกั้นดูเหมือนจะผ่อนคลายลงกว่าปีที่แล้วบ้างแต่ก็กลับมาร้อนแรงกว่าเก่าในช่วงปลายปี การ "ปรับทัศนคติ" ยังมีต่อเนื่องโดยรูปแบบเปลี่ยนจากการเรียกรายงานตัวเป็นการไปหาที่บ้านและการไปหาคนใกล้ชิด ประชาชนที่แสดงความคิดเห็นโดยสงบยังถูกตั้งข้อหาทางการเมืองทั้งมาตรา 112, มาตรา 116, ชุมนุมเกินห้าคน, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ การชุมนุมสาธารณะและการจัดกิจกรรมต่างๆ ทำได้ยากเมื่อถูกขัดขวางทั้งทางกายภาพและด้วยการอ้างพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะที่ออกใหม่ แต่ก็ขยับได้เล็กน้อยเมื่อมีกระแสสังคมสนับสนุน "ขบวนการประชาธิปไตยใหม่" 
 
ในปีนี้ยังมีเรื่องเด่นๆ ที่น่าจดจำ เมื่อศาลทหารพิพากษาลงโทษคดีมาตรา 112 สูงสุดเป็นสถิติใหม่ จำคุก 60 ปี จากการกระทำ 6 กรรม มีการตั้งข้อหามาตรา 112 จากการกดไลค์และพูดถึงสุนัขทรงเลี้ยง ยังมีกรณีผู้ต้องหาคดีแอบอ้างสถาบันฯ เสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำที่ตั้งขึ้นเป็นพิเศษในค่ายทหาร และมีคำพิพากษาที่อาจวางบรรทัดฐานสำคัญๆ อีกหลายคดี
 
 
คดี 112 จับเพิ่ม 37 คน จากการแสดงออก, ข่าวใหญ่ปีนี้ “หมอหยอง” ตายในคุก
 
ช่วงต้นปี 2558 สถานการณ์คดี 112 อยู่ในภาวะตึงเครียด เจ้าหน้าที่กวาดจับผู้ต้องหาอย่างน้อย 21 คนในเวลาไล่เลี่ยกัน ผู้ต้องหา 14 คนในจำนวนนี้ ถูกจับเพราะเจ้าหน้าที่เชื่อว่ามีส่วนร่วมผลิตและเผยแพร่คลิปเสียงรายการคุยการเมือง "บรรพต" จากนั้นสถานการณ์เริ่มผ่อนคลายลง 
 
ท่าที่บันทึกข้อมูลได้ มีการจับกุมผู้ต้องหารายใหม่ในเดือนเมษายน 1 คน เดือนพฤษภาคม 1 คน เดือนมิถุนายน 1 คน ช่วงเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนตุลาคม ไม่มีการตั้งข้อหา 112 รายใหม่กับบุคคลที่แสดงความคิดเห็น จนกระทั่งช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนและต้นเดือนธันวาคม มีผู้ถูกตั้งข้อหา 112 จากการแสดงออกรายใหม่อย่างน้อย 7 คน ซึ่ง 6 คนถูกสงสัยว่า วางแผนจะก่อเหตุรุนแรงช่วงเทศกาล Bike for Dad และกรณีของฐนกร ที่ถูกตั้งข้อหา 112 จากการกดไลค์และการพาดพิงสุนัขทรงเลี้ยง
 
ตลอดทั้งปี 2558 มีผู้ถูกจับกุมและตั้งข้อหาด้วยมาตรา 112 จากการแสดงความคิดเห็น เท่าที่ยืนยันได้ คือ 37 คน เมื่อนับรวมคนที่ถูกจับกุมในปี 2557 และกรณีที่ไม่สามารถยืนยันวันเวลาการจับกุมได้ ทำให้นับจากการรัฐประหารถึงสิ้นปี 2558 มีบุคคลที่ถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างน้อย 61 คน คลิกที่นี่เพื่อดูตารางคนถูกตั้งข้อหาทั้งหมด  
 
 
ศาลพิพากษาอย่างน้อย 17 คดี หลายกรรมเลยเจอโทษหนัก 60-56-50 ปี เป็นข่าวดังทั่วโลก 
 
361
 
ปี 2558 มีคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ในทุกชั้นศาลรวมอย่างน้อย 17 คดี เป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้น 12 คดี แบ่งเป็นศาลยุติธรรม 3 คดี และศาลทหาร 9 คดี เป็นคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ 2 คดี และคำพิพากษาศาลฎีกา 3 คดี ตัวอย่างเช่น คดีละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 5 ปี ลดเหลือ 2 ปี 6 เดือน, คดี “เครือข่ายบรรพต” ซึ่งมีจำเลย 10 คน ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาจำคุกคนละ 10 ปี ส่วนผู้สนับสนุนให้จำคุกคนละ 6 ปี ก่อนลดโทษครึ่งหนึ่ง, คดีโอภาส ถูกฟ้อง 2 คดีจากการเขียนห้องน้ำ 2 แห่ง ศาลทหารสั่งจำคุกโอภาสคดีละ 3 ปี ลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน เหมือนกันทั้ง 2 คดี
 
คดีที่ศาลลงโทษหนักเพราะถูกฟ้องหลายกรรมและกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกในปีนี้ ได้แก่ เธียรสุธรรม ศาลทหารพิพากษาว่ามีความผิด 5 กรรมจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 5 ข้อความ ถูกลงโทษจำคุกรวม 50 ปี ลดเหลือ 25 ปี, พงษ์ศักดิ์ ศาลทหารพิพากษาว่ามีความผิด 6 กรรม จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 6 ข้อความ ถูกลงโทษจำคุก 60 ปี ลดเหลือ 30 ปี, ศศิวิมล ถูกศาลทหารเชียงใหม่พิพากษาว่ามีความผิดรวม 7 กรรม ลงโทษกรรมละ 8 ปี รวมจำคุก 56 ปี ลดเหลือ 28 ปี 
 
คดีที่ขึ้นศาลในปีนี้ส่วนใหญ่จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจึงมีคำพิพากษาได้อย่างรวดเร็ว ส่วนคดีที่จำเลยต่อสู้และศาลมีคำพิพากษาแล้ว เช่น "ธเนศ" ซึ่งถูกฟ้องว่าส่งอีเมล และต่อสู้ว่าทำไปโดยมีอาการทางจิตโดยมีใบรับรองแพทย์ประกอบ ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุก 5 ปี ลดเหลือ 3 ปี 4 เดือน, ชาญวิทย์ ซึ่งถูกฟ้องว่าแจกใบปลิว และต่อสู้ในประเด็นจำนวนกรรม ศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี โดยไม่ลดหย่อนโทษให้
 
ส่วนคดีที่จำเลยต่อสู้คดีในศาลทหาร เช่น คดีสิรภพ, คดีอัญชัญ, คดีทอม ดันดี ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณา ตั้งแต่มีประกาศให้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือนในปี 2557 เป็นต้นมา ศาลทหารนัดพิจารณาคดีแบบไม่ต่อเนื่อง และในบางนัดพยานโจทก์ไม่มาศาล จนถึงสิ้นปี 2558 จึงยังไม่มีคดีที่จำเลยให้การปฏิเสธและพิจารณาแล้วเสร็จเลย
 
 
การฉ้อโกงโดยแอบอ้างสถาบันฯ ถูกทำให้กลายเป็นความผิด 112 อย่างเป็นระบบ 
 
แม้ว่าการนำมาตรา 112 ซึ่งเป็นความผิดลักษณะหมิ่นประมาท มาดำเนินคดีกับบุคคลที่แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ทั้งที่การกระทำเข้าข่ายการฉ้อโกงมากกว่า จะเป็นประเด็นทางกฎหมายที่ยังต้องถกเถียงกันต่อไป แต่ในทางปฏิบัติ การจับกุมและดำเนินคดีลักษณะนี้เกิดขึ้นจำนวนมากอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ต่อเนื่องมาในปี 2558 ซึ่งกำลังทำให้การแอบอ้างสถาบันฯ ถูกจดจำในฐานะความผิดตามมาตรา 112 ไปแล้ว
 
เท่าที่บันทึกข้อมูลได้ มีการจับกุมรายใหม่ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 6 คน เดือนเมษายน 3 คน เดือนสิงหาคม 6 คน กรณีเหล่านี้ไม่เป็นข่าวใหญ่โต และส่วนใหญ่แต่ละคดีจะมีผู้ต้องหาหลายคนซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่วมมือกันทำเป็นขบวนการ หลังจากนั้นมีการจับกุมรายใหม่ในเดือนตุลาคม 3 คน คือ สุริยันต์ หรือหมอหยอง พร้อมพวกอีก 2 คน ตามมาด้วยการออกหมายจับข้าราชการทหารตำรวจชั้นผู้ใหญ่อีกอย่างน้อย 5 คน 
 
คดีของ “หมอหยอง” เป็นข่าวใหญ่ของปีนี้ เมื่อผู้ต้องหา 2 คน เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวในเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ค่ายมทบ.11 พ.ต.ต.ปรากรม เสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม โดยกรมราชทัณฑ์ให้ข่าวว่าผู้ต้องหาพยายามผูกคอตายในห้องขัง ส่วน “หมอหยอง” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน โดยใบมรณบัตรระบุว่า เสียชีวิตเนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด ทั้งสองกรณีได้รับความสนใจจากสังคมอย่างกว้างขวาง ยังไม่มีรายงานการไต่สวนการตายโดยศาล 
 
ตลอดทั้งปี 2558 มีผู้ถูกจับกุมและตั้งข้อหาด้วยมาตรา 112 จากการแอบอ้างฯ เท่าที่ยืนยันได้ อย่างน้อย 18 คน โดยมีบุคคลอีกอย่างน้อย 5 คน ที่ถูกออกหมายจับแต่ยังไม่มีการจับกุมตัว นับจากการรัฐประหารถึงสิ้นปี 2558 มีบุคคลถูกจับหรือตั้งข้อหาด้วยมาตรา 112 จากการแอบอ้างฯ อย่างน้อย 42 คน คลิกที่นี่เพื่อดูตารางคดีแอบอ้างฯ ทั้งหมด 
 
 

เรียกคุยอย่างน้อย 234 คน ผุดวิธีใหม่! เยี่ยมบ้านแทนประกาศเรียก นักวิชาการ – สื่อมวลชน โดนถ้วนหน้า

 
ปี 2558 การเรียกตัวบุคคลไปปรับทัศนคติยังเป็นเครื่องมือที่คสช.ใช้งานอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายส่วนใหญ่ที่รัฐบาลคสช.และเจ้าหน้าที่รัฐต้องการควบคุม คือ กลุ่มนักการเมือง โดยเฉพาะแกนนำพรรคเพื่อไทยหรือแกนนำกลุ่มเสื้อแดง ที่ยังแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง ด้านกลุ่มนักศึกษา นักกิจกรรม นักวิชาการ สื่อมวลชน ที่ทำกิจกรรมแสดงออกทางการเมือง หรือกลุ่มที่เคลื่อนไหวประเด็นอื่นๆ ก็ถูกเจ้าหน้าที่คุกคามหลายรูปแบบ เพราะต่างก็ถูกมองว่าการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงออกทางความคิดเห็นนั้นเป็นภัยต่อความสงบของประเทศในสภาวะเช่นนี้
 
 
วิธีการเรียกรายงานตัวเปลี่ยนไป - ชวนกินข้าว เชิญพูดคุย ไปเยี่ยมบ้าน 
 
ปีที่แล้ว คสช. เรียกบุคคลเข้ารายงานตัวโดยใช้วิธีออกคำสั่งทางสื่อทุกชนิด แต่วิธีการนี้ไม่ใช้แล้วในปี 2558 ตลอดทั้งปีเจ้าหน้าที่พยายามเปลี่ยนวิธีเป็นการไปหาที่บ้าน ชวนไปดื่มกาแฟ ชวนไปกินข้าว ส่วนการเรียกตัวไปพูดคุยปรับทัศนคติที่ค่ายทหารก็ยังมีอยู่บ้าง แต่จะใช้การโทรศัพท์หรือส่งหนังสือเชิญ
 
ตัวอย่าง ในเดือนมกราคม นักการเมืองจากพรรคเพื่อไทยหลายคนถูกเรียกไปปรับทัศนคติ เช่น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ถูกเรียกไปที่สโมสรกองทัพบก หลังโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลผ่านเฟซบุ๊ก พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีทหารมารับจากบ้านไปปรับทัศนคติที่กองทัพภาคที่ 1 หลังออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องราคาน้ำมัน ในเดือนกุมภาพันธ์ ทหารค่ายกาวิละ เชิญแกนนำเสื้อแดงเชียงใหม่ ไปกินข้าวและพูดคุยการเมือง ในเดือนเมษายน รัฐบาลโดยศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป เชิญนักการเมือง นักวิชาการ และกลุ่มนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่ลงชื่อคัดค้านการใช้มาตรา 44 เข้าร่วมหารือเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง ที่สโมสรกองทัพบก โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า เจ้าหน้าที่เชิญผู้เข้าร่วมทั้งหมด 82 ราย 
 
ช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม การเมืองร้อนแรงขึ้นจากการเคลื่อนไหวของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ นอกจากการเรียกรายงานตัว เจ้าหน้าที่เปลี่ยนวิธีหาข้อมูลเป็นการเดินทางไปหาเป้าหมายที่บ้านโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ทหารหลายพื้นที่เข้าพูดคุยกับครอบครัวของนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ เพื่อเกลี้ยกล่อม ไปจนถึงข่มขู่คุกคาม ให้ผู้ปกครองพาลูกหลานมารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ 
 
มีรายงานอีกว่า หลายคนที่เคยถูก “ปรับทัศนคติ” ยังคงถูกทหารตามไปพบที่บ้าน หรือนัดมาพูดคุยอีกหลายครั้งตลอดทั้งปี เพื่อหาข้อมูลหรือเพื่อตรวจสอบว่าไม่ได้ร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว เช่น ณัฐ อดีตนักโทษคดี 112, สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการที่ใช้เฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์การเมือง, สาวตรี สุขศรี นักกฎหมายกลุ่มนิติราษฎร์, จิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงาน เป็นต้น ส่วนคนที่เคยถูกเรียกรายงานตัวแต่ไม่ไป เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็มีเจ้าหน้าที่ทหารไปที่บ้านเพื่อพบครอบครัวหลายครั้ง 
 
 
นักวิชาการในมหาวิทยาลัย – สื่อมวลชน ก็ยังไม่มีเสรีภาพ โดนเรียกคุยถ้วนหน้า
 
การทำกิจกรรมของกลุ่มนักศึกษา การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และการทำงานของนักวิชาการ ไม่อาจอาศัยรั้วมหาวิทยาลัยเป็นเกราะป้องกันให้มีเสรีภาพได้ในยุคของรัฐบาลคสช. ด้านการทำหน้าที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนก็เช่นกัน
 
ตัวอย่าง ในเดือนเมษายน นักศึกษากลุ่มลูกชาวบ้าน มหาวิทยาลัยบูรพา 2 คน ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจคุมตัวไปสอบสวน หลังเข้าตรวจสอบงานเสวนา "เกี่ยวกับ ม.นอกระบบ" เดือนกรกฎาคม ตำรวจไปที่มหาวิทยาลัยนเรศวรเพื่อตรวจสอบกรณีอาจารย์ลงชื่อเรียกร้องปล่อยตัวนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่ถูกคุมขัง และที่มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าหน้าที่ทหารขอเข้าพบอาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา เพื่อขอความร่วมมือว่าถ้าจะทำกิจกรรม ขอให้แจ้งทหารที่ดูแลพื้นที่ และขอให้เพลาเนื้อหาลง 
 
เดือนกันยายน 2558 สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ถูกทหารตามประกบ ขณะลงพื้นที่สำรวจข้อมูลพื้นฐานเศรษฐกิจชุมชนและการมีส่วนร่วมภายในชุมชน จ.อุดรธานี และในเดือนพฤศจิกายน 2558 อาจารย์มหาวิทยาลัย 8 คน ต้องเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนที่ สภ.ช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 หลังร่วมกันอ่านแถลงการณ์ "มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร"
 
ด้านสื่อมวลชน กรณีที่โดดเด่นของปีนี้ คือ การเรียกตัว ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสของหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น ที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ ไปกักตัวในค่ายทหารหลายคืนในเดือนกันยายน 2558 ต่อมาในเดือนตุลาคม 2558 ศักดา แซ่เอียว หรือ “เซีย ไทยรัฐ” นักวาดการ์ตูนที่ถูกเรียกจากเนื้อหาของการ์ตูนที่สะท้อนปัญหาบ้านเมือง และ ทวีพร คุ้มเมธา นักข่าวประชาไทที่ถูกเรียกจากกรณีภาพอินโฟกราฟิก เกี่ยวกับคดี 112  
 
นอกจากนี้ คนที่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง ก็ถูกเจ้าหน้าที่เรียกไปปรับทัศนคติด้วย เช่น ชาวบ้าน จ.ร้อยเอ็ด ที่เคลื่อนไหวเรื่องที่ดิน, กลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี, ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ จากเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย หรือ กลุ่มคนแม่สอดรักษ์ถิ่น ที่เคลื่อนไหวคัดค้านเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น
 
จะเห็นได้ว่าปี 2558 เจ้าหน้าที่มียุทธวิธีหลากหลายมากขึ้นในการเรียกบุคคลไปรายงานตัวและปรับทัศนคติ เพื่อลดแรงเสียดทานจากสังคมและปรับภาพลักษณ์จากท่าทีแบบห้ามปรามเป็นการ “ขอความร่วมมือ” อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากการเรียกตัวและการไปพบที่บ้านในปีนี้ อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาล คสช. ยังไม่มีท่าทีจะผ่อนคลายความเข้มงวดในการควบคุมการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไม่ว่าจะโดยใครก็ตาม
 
โดยในปี 2558 มีบุคคลถูกเรียกรายงานตัว ปรับทัศนคติ และเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมถึงบ้าน อย่างน้อย 234 คน และหากนับตั้งแต่รัฐประหาร พฤษภาคม 2557 ถึง ธันวาคม 2558 มีจำนวนอย่างน้อย 829 คน  
 
 

เริ่มผ่อนให้ชุมนุมบ้างหลังกระแส “ประชาธิปไตยใหม่” เพิ่มกลเม็ดปิดกิจกรรมหลากหลายวิธี

 
362
 
ช่วงต้นปี 2558 แทบไม่มีการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกในที่สาธารณะ เพราะบรรยากาศการปิดกั้นที่เข้มงวดต่อเนื่องมาจากปีก่อน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เมื่อกลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรม “เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก” ต่อด้วยกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” ในเดือนมีนาคมก็ถูกควบคุมตัวและตั้งข้อกล่าวหา ขณะเดียวกัน การชุมนุมที่แม้ไม่ใช่เรื่องการเมือง เช่น การคัดค้านการสั่งย้ายนายแพทย์ การเรียกร้องสิทธิแรงงาน หรือแม้แต่การชุมนุมของกลุ่มแฟนฟุตบอล ก็ถูกห้ามด้วย
 
22 พฤษภาคม 2558 วันครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหาร นักกิจกรรมหลายกลุ่มออกมาจัดกิจกรรมและถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าจับกุม เช่น นักศึกษากลุ่มดาวดิน ออกมาชูป้ายคัดค้านการรัฐประหารที่จังหวัดขอนแก่น กลุ่มวายพีดี จัดงานเสวนา และกลุ่มนักศึกษา จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันนั้นมีคนถูกจับกุมจากการแสดงออกอย่างสงบรวมอย่างน้อย 43 คน มากที่สุดนับตั้งแต่การรัฐประหารจนถึงสิ้นปี 2558
 
หลังถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศห้ามชุมนุมทางการเมืองของคสช. นักศึกษากลุ่มดาวดินและนักศึกษาที่ถูกจับจากหน้าหอศิลป์ฯ รวมตัวกันทำกิจกรรมต่อภายใต้ชื่อ “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ประกาศทำอารยะขัดขืน ไม่หนี ไม่ให้ความร่วมมือ และเดินหน้าจัดการชุมนุมต่อเนื่อง จนถูกจับกุมอีกครั้งในเย็นวันที่ 26 มิถุนายน หลังการจับกุม นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ 14 คนถูกฝากขังต่อศาลทหารในช่วงกลางดึกของวันเดียวกัน และถูกส่งตัวเข้าเรือนจำทันที
 
สังคมและสื่อกระแสหลักให้ความสนใจกับเหตุการณ์นี้มาก หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวจนเกิดเป็นกระแส มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น การติดโพสต์อิทให้กำลังใจ การจุดเทียนและร้องเพลงหน้าเรือนจำ รวมถึงการชุมนุมหน้าศาลทหาร ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ปล่อยให้กิจกรรมต่างๆ ดำเนินไปโดยไม่ขัดขวาง จนต่อมาศาลทหารสั่งปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกควบคุมตัวโดยไม่มีเงื่อนไข
 
ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา การชุมนุมหลายครั้งดำเนินไปได้ แม้เจ้าหน้าที่จะยังคุมเข้มและพยายามกดดันด้วยหลายวิธีการ แต่ก็ไม่มีการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปราม ไม่มีการจับกุม เช่น กิจกรรมกรวดน้ำคว่ำขันรัฐธรรมนูญ, การชุมนุมรำลึก 9 ปี รัฐประหาร 19 กันยาฯ, การชุมนุมรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เป็นต้น รวมถึงการชุมนุมในประเด็นอื่นๆ ที่ไม่ใช่การต่อต้านรัฐบาล ก็เริ่มเกิดขึ้น เช่น การคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ การจัดงานรำลึกเกษตรกรที่ถูกลอบสังหาร ที่จ.สุราษฏร์ธานี เป็นต้น 
 
แม้ในช่วงครึ่งหลังของปี คสช.จะผ่อนคลายให้ประชาชนรวมตัวและแสดงออกได้มากขึ้น แต่กิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ของกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา ซึ่งจัดในช่วงเดือนธันวาคมก็ถูกขัดขวาง โดยตำรวจและทหารหยุดรถไฟที่สถานีบ้านโป่ง จ.ราชบุรี และควบคุมตัวผู้จัดกิจกรรมและผู้เข้าร่วมอย่างน้อย 35 คน ทำให้เห็นว่าบางประเด็นยังอ่อนไหวในระดับที่รัฐบาลนี้ไม่ยินยอมให้แสดงออกได้
 
 
ประกาศใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นเครื่องมือ “ขู่” ห้ามเคลื่อนไหว
 
ความเคลื่อนไหวของสถานการณ์เสรีภาพการชุมนุมและการจัดกิจกรรมสาธารณะที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งของปี 2558 ได้แก่การผ่านพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งล่วงหน้า 24 ชั่วโมง และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขด้วย
 
หลังพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ถูกประกาศใช้ มีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่อ้างอำนาจตามกฎหมายดังกล่าวเพื่อขู่ไม่ให้มีการชุมนุมหรือเดินขบวน ทั้งการชุมนุมทางการเมืองและการชุมนุมประเด็นอื่น เช่น การชุมนุมคัดค้านการย้ายสถานีขนส่ง หรือ คัดค้านการปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล เป็นต้น โดยเท่าที่บันทึกได้ มีการบังคับใช้จริง 1 ครั้ง คือ กรณีสั่งปรับผู้จัดงานรำลึกนวมทองฯ จากการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
 
 
งานเสวนายังจัดได้ยากแม้ไม่ได้ต้านคสช. การให้เหตุผลยังสับสน แนวโน้มทหารออกหน้าน้อยลง
 
สำหรับบรรยากาศการจัดงานเสวนาสาธารณะ หรือกิจกรรมอื่นๆ ในปี 2558 ก็ยังคงมีการปิดกั้นอย่างหนัก แม้ในการพูดคุยประเด็นที่ไม่ใช่การต่อต้านรัฐบาลคสช. เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน สิทธิชุมชน มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ฯลฯ โดยเหตุผลที่เจ้าหน้าที่อ้าง ยังเป็นเรื่องการไม่ขออนุญาตก่อน บางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ชี้แจงว่า เกรงว่าการจัดกิจกรรมอาจเป็นแบบอย่างให้กลุ่มอื่น หรืออาจจะขยายไปสู่การเคลื่อนไหวประเด็นอื่น ข้อสังเกต คือ เจ้าหน้าที่ที่มาประสานงานส่วนใหญ่เป็นระดับผู้น้อยที่รับคำสั่งมาอีกทอดหนึ่ง จึงยากที่ผู้จัดจะทราบเหตุผลของการปิดกั้น
 
สำหรับวิธีการที่ใช้ในการปิดกั้นหรือแทรกแซงมีหลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ เช่น การกดดันเจ้าของสถานที่ให้ยกเลิกการให้ใช้สถานที่ การตัดไฟฟ้าบริเวณที่จัดกิจกรรม การขอบันทึกวีดีโอและจดรายชื่อผู้เข้าร่วม การขอให้เปลี่ยนชื่องาน การขอให้มีทหารหรือคนของรัฐมาเป็นวิทยากรด้วย ฯลฯ รวมทั้งการยกกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปขอให้ยกเลิกงาน รูปแบบหนึ่งที่เห็นได้ คือ ทหารมีแนวโน้มจะเข้ามาดำเนินการเองน้อยลง ให้ตำรวจเป็นผู้ออกหน้าเป็นส่วนใหญ่ หลายกรณีตำรวจเน้นการเจรจาเพื่อหาจุดที่ยอมรับได้ร่วมกันแทนการปิดกั้นงานทั้งงาน 
 
สำหรับกิจกรรมที่ไม่ใช่การต่อต้านรัฐบาล การปิดกั้นอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น รูปแบบกิจกรรมเป็นการเดินขบวนบนท้องถนน ผู้จัดงานเคยมีประวัติเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหาร หรือผู้จัดงานมีศักยภาพที่จะรวมคนจำนวนมากได้ จากการเก็บข้อมูลพอเห็นได้ว่า การปิดกั้นหรือแทรกแซงแต่ละครั้งมีลักษณะเพื่อ “ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม” ไม่ให้การรวมตัวกันเกิดขึ้นได้ง่ายและบานปลาย ไปจนถึงการป้องกันไม่ให้เกิดการชุมนุมที่เป็นแบบอย่างสำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มทางการเมืองต่างๆ
 
เท่าที่บันทึกข้อมูลได้ ตลอดปี 2558 มีการปิดกั้นหรือแทรกแซงการชุมนุมสาธารณะ และการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างน้อย 63 ครั้ง แบ่งเป็นการชุมนุมหรือกิจกรรมแสดงออกต่อสาธารณะ 19 ครั้ง การจัดงานเสวนาหรือกิจกรรมในสถานที่เฉพาะอย่างน้อย 44 ครั้ง มีอย่างน้อย 11 ครั้งที่ประเด็นของการชุมนุมหรือกิจกรรมไม่ใช่เรื่องสถานการณ์การเมือง การต่อต้านคสช.หรือนโยบายของคสช. 
 
หากรวมตั้งแต่การรัฐประหาร ถึงสิ้นปี 2558 มีการปิดกั้นหรือแทรกแซงการชุมนุมสาธารณะ และการจัดกิจกรรมต่างๆ โดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างน้อย 104 ครั้ง
 
 

สถิติการตั้งข้อหากับการแสดงความคิดเห็นพุ่งต่อ: มาตรา 116 มาแรง, ข้อหาชุมนุม 5 คน-พ.ร.บ.คอมฯ ยังทำงาน   

 
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี ยอมให้จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกได้ ภายใต้เงื่อนไขบางประการ แต่จะจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อปกป้องรัฐบาลจากการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปี 2558 พบว่ารัฐบาลคสช. ละเมิดเงื่อนไขดังกล่าวอยู่หลายกรณี ผ่านการบังคับใช้กฎหมายที่มีเจตนารมณ์มุ่งรักษาความมั่นคงของรัฐ อย่างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) รวมทั้งกฎหมายของคสช.เอง คือ ประกาศคำสั่งคสช.เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง  
 
ในปี 2558 มีผู้ถูกจับกุมและดำเนินคดีตามมาตรา 116 อย่างน้อย 28 คน สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนที่บันทึกได้เพียง 7 คน กรณีที่ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 116 ที่บันทึกไว้ในปีนี้ ได้แก่ กรณีนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ 14 คนจัดกิจกรรรมปราศรัยและแขวนป้ายผ้า ‘เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ’ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ในเวลาต่อมา บารมีผู้ให้ที่พักชั่วคราวแก่นักกิจกรรมกลุ่มดังกล่าวก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันด้วย 
 
กรณี พันธุ์ศักดิ์ จัดกิจกรรมการเดินเท้าเพื่อเรียกร้องไม่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร "พลเมืองรุกเดิน" ในเวลาต่อมา ปรีชา ซึ่งไปมอบดอกไม้ให้พันธุ์ศักดิ์ระหว่างทำกิจกรรม ก็ถูกจับกุมและตั้งข้อหา 116 เช่นกัน, กรณีพลวัฒน์โปรยใบปลิวต่อต้านรัฐประหารที่จ.ระยอง, กรณีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถานีฟ้าให้ทีวี 5 คน ที่ถูกควบคุมตัวและตั้งข้อหาจากการออกอากาศรายการของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล, กรณีฐนกรแชร์แผนผังการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ และกรณีธเนตร โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์รัฐบาล
 
การโพสต์ข้อความหรือแชร์ข้อมูลบนเฟซบุ๊ก นำไปสู่การตั้งข้อหาตามมาตรา 116 ได้แก่ การโพสต์ข่าวลือเกี่ยวกับการปฏิวัติซ้อนของชญาภา การโพสต์ข่าวลือว่านายกรัฐมนตรีโอนเงินจำนวนหลายหมื่นล้านไปสิงคโปร์ของรินดา การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ของจุฑาทิพย์ และการโพสต์แผนผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์ของฐนกร ทั้งสี่กรณีนี้มีลักษณะคล้ายกัน คือ เป็นการโพสต์ข่าวลือที่มีอยู่ทั่วไปในโลกออนไลน์ ในช่วงที่มีข่าวลือแพร่สะพัดจะมีคนหนึ่งคนถูกจับพร้อมการแถลงข่าวใหญ่โต คล้ายเป็นวิธีการ “เชือดไก่ให้ลิงดู” ของรัฐบาลเพื่อหยุดยั้งไม่ให้ข่าวลือแพร่กระจายต่อไป
 
แม้ว่าในภาพรวม สถานการณ์การบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ดูจะมีความน่ากังวล แต่จากการเก็บข้อมูลการดำเนินคดีมาตรา 116 ส่วนใหญ่พบว่า ผู้ต้องหาจะถูกพามาแถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชน หลังจากประกันตัวได้แล้ว คดีก็ไม่ถูกเร่งรัดอีก นับตั้งแต่การรัฐประหารจนถึงสิ้นปี 2558 มีเพียงคดีของชัชวาลย์คดีเดียวที่พิจารณาเสร็จแล้ว และศาลทหารเชียงใหม่พิพากษายกฟ้อง ในช่วงปลายปีศาลทหารก็มีคำสั่งในคดีรินดาว่า ข้อความที่โพสต์ไม่ใช่การยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 น่าจะเป็นคดีหมิ่นประมาทธรรมดา ซึ่งศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดี จึงพอจะเห็นได้ว่าข้อหามาตรา 116 ถูกใช้ในลักษณะเพื่อปรามไม่ให้ผู้อื่นกระทำลักษณะเดียวกันอีก และน่าติดตามว่า คดีอื่นๆ ที่คล้ายกันศาลทหารจะมีคำสั่งไปในทางใด
 
สำหรับปัจจัยที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 กลายเป็นเครื่องมือที่ถูกหยิบยกมาใช้มากขึ้น อาจเป็นเพราะเป็นกฎหมายที่มีโทษหนัก การประกันตัวต้องใช้หลักทรัพย์สูง ประมาณ 70,000-150,000 บาท และข้อหานี้ยังอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร ในบริบททางการเมืองเช่นนี้ ผู้ถูกกล่าวหาย่อมเหมือนถูกแขวนป้ายว่าเป็นภัยต่อชาติบ้านเมืองก่อนที่ศาลจะตัดสิน รวมทั้งอาจเป็นเพราะมาตรา 116 เป็นกฎหมายที่มีอยู่แล้วในประมวลกฎหมายอาญา ในแง่ของภาพลักษณ์ การใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิมย่อมดูดีกว่าดำเนินคดีโดยใช้ประกาศคำสั่งคสช. 
 
อีกข้อหาหนึ่งที่ถูกนำมาใช้กับการแสดงออกทางการเมือง คือ ข้อหาฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 หรือฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในปีที่แล้วคนส่วนใหญ่ที่ถูกตั้งข้อหานี้ คือ คนกลุ่มที่ออกมาชุมนุมคัดค้านการรัฐประหาร ส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมที่เคยเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ในปี 2558 คนส่วนใหญ่ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นกลุ่มนักศึกษา นักกิจกรรม นักวิชาการ ในปีนี้กลุ่มคนที่เป็นเหยื่อของการตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองจึงเปลี่ยนไปด้วย
 
ในปี 2558 มีคนถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองอย่างน้อย 37 คน เช่น กลุ่มพลเมืองโต้กลับ 4 คน จากการจัดกิจกรรม “เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก”, นักศึกษากลุ่มดาวดิน 7 คน ที่ชูป้ายต่อต้านการรัฐประหาร, กลุ่มนักศึกษาหน้าหอศิลป์ 9 คนที่ทำกิจกรรมวันครบรอบ 1 ปี การรัฐประหาร, กลุ่มอาจารย์ 8 คนที่แถลงข่าวมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร เป็นต้น นับจากการรัฐประหารถึงสิ้นปี 2558 มีบุคคลที่ถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน อย่างน้อย 85 คน คลิกที่นี่เพื่อดูตารางคนถูกตั้งข้อหาทั้งหมด  
 
สำหรับข้อหาอื่นๆ ที่ใช้กับผู้เคลื่อนไหวแสดงออกทางการเมือง พบว่า มีการนำข้อหาเล็กน้อยที่มีเพียงโทษปรับมาบังคับใช้ เช่น กรณีกลุ่มเสรีชนไทยแลนด์ ถูกปรับคนละ 100 บาท ในข้อหาก่อความเดือดร้อนรำคาญ จากการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ‘นกถูกมัดปากและขา’ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ อานนท์ นำภาทนายความและนักกิจกรรม ถูกปรับ 200 บาท จากการใช้เครื่องขยายเสียงโดยมิได้ขออนุญาตก่อน ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ
 
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังเป็นกฎหมายที่ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับผู้ที่แสดงออกในประเด็นต่างๆ แม้ไม่ใช่การต่อต้านรัฐบาลคสช. โดยตรงด้วย เช่น กรณีไมตรี ชาวลาหู่โพสต์วิดีโอชายแต่งกายคล้ายทหารตบหน้าชาวบ้าน, สุรพันธ์ ชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมืองทองคำที่จ.เลย ถูกบริษัทเหมืองฟ้องต่อศาลจังหวัดแม่สอด จากข้อความในเพจ “เหมืองแร่ เมืองเลย” หรือกรณีชาวบ้าน อ.แม่สอด จ.ตาก โพสต์เฟซบุ๊กค้านการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็ถูกขู่ดำเนินคดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 
 
 

คำพิพากษาคดีที่น่าสนใจ: ยกฟ้องภูเก็ตหวาน, รอลงอาญาคดี112, สองฎีกายกฟ้องจากหลักฐานคอมพิวเตอร์

 
คดีที่ศาลมีคำพิพากษาที่น่าสนใจในปีนี้ มีทั้งคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ่วงความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ บวกความผิดฐานหมิ่นประมาท คดีฝ่าฝืนประกาศ คสช. ตลอดจนคดียุยุงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
 
ศาลฎีกามียกฟ้องคดีมาตรา 112 สองคดีซึ่งเกี่ยวข้องกับการรับฟังพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ คดีของสุรภักดิ์ ที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ บนเฟซบุ๊ก โดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้อง เพราะคอมพิวเตอร์ของจำเลยถูกเปิดหลังถูกยึด โจทก์อ้างแคชไฟล์ที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้ พยานหลักฐานของโจทก์มีพิรุธ ไม่อาจพิสูจน์จนสิ้นสงสัยว่าจำเลยทำผิดจริง และ คดีของนพวรรณ ที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความดูหมิ่นพระราชินีและรัชทายาท ด้วยนามแฝงว่า “เบนโตะ” บนเว็บบอร์ดประชาไท โดยศาลฎีกาพิพากษาให้ยกฟ้อง ด้วยเหตุผลว่า เพียงหมายเลข IP address ยังบ่งชี้ไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความ
 
ทั้งสองคดีแสดงให้เห็นว่า ศาลใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการตัดสินคดี 112 ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหว เมื่อหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าจำเลยทำผิดจริง จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย เพราะการตัดสินลงโทษทั้งที่พยานหลักฐานมีพิรุธ นอกจากไม่ยุติธรรมต่อจำเลยแล้ว ยังอาจสร้างความแตกแยกในสังคมด้วย
 
ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกคดีมาตรา 112 แม้จำเลยจะไม่ใช่ผู้ผลิตเนื้อหาเอง คือ คดี "พิภพ": คนขายหนังสือกงจักรปีศาจ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยจำหน่ายหนังสือดังกล่าวโดยรู้อยู่ก่อนแล้วว่าภายในเล่มมีข้อความเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เนื่องจากบนหน้าปกมีข้อความ "บทวิเคราะห์กรณีสวรรคตของในหลวงอานันท์ 9 มิถุนายน 2489" ประกอบกับจำเลยตั้งแผงขายหนังสืออยู่ในงานชุมนุมทางการเมือง ซึ่งไม่ใช่สถานที่ค้าขายโดยทั่วไป ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำคุก 3 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา
 
ศาลทหารให้รอลงอาญาในคดีของ เนส และ นิรันดร์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่แถลงการณ์สำนักพระราชวังปลอม เนื่องจากจำเลยทั้งสองลบออกทันทีที่รู้ว่าเป็นข้อมูลเท็จ ศาลจึงนำพฤติการณ์ในคดีมาพิจารณาประกอบการกำหนดโทษด้วย
 
ศาลจังหวัดภูเก็ตยกฟ้อง คดีระหว่างกองทัพเรือ กับ สำนักข่าวภูเก็ตหวาน ด้วยข้อหาหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการเผยแพร่รายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่อ้างว่า กองกำลังทางเรือของไทยได้รับผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ศาลจังหวัดภูเก็ตเห็นว่าจำเลยไม่ได้เขียนข้อความดังกล่าวเอง แต่นำมาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท นอกจากนี้ เจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็ไม่ได้มุ่งเอาผิดกับความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่บัญญัติขึ้นเพื่อใช้กับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์
 
ศาลแขวงดุสิต วางบรรทัดฐานสำหรับคดีฝ่าฝืนประกาศ คสช. ไว้น่าสนใจ ในคดีของสมบัติ บุญงามอนงค์ ที่จำเลยถูกดำเนินคดีตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 จากการไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคสช. ที่ 3/2557 โดยศาลเห็นว่าประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับ เป็นการกำหนดโทษย้อนหลังและมุ่งใช้กับบุคคลเฉพาะราย ซึ่งขัดกับหลักของกฎหมายอาญา ประกาศคสช.ทั้งสองฉบับจึงใช้บังคับไม่ได้ แต่ศาลเห็นว่าการไม่มารายงานตัวโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง เป็นความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 และพิพากษาให้ปรับ 500 บาท
 
ศาลจังหวัดเชียงรายลงโทษ คดีของออด ถนอมศรี และสุขสยาม ด้วยข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 คดีนี้จำเลยถูกกล่าวหาว่าติดป้ายผ้าขอแยกเป็นประเทศล้านนา จำเลยทั้งสามถูกศาลจังหวัดเชียงรายพิพากษาจำคุกตามมาตรา 116 คนละ 4 ปี ลดโทษเหลือ 3 ปีเพราะจำเลยให้การเป็นประโยชน์ และให้รอการลงโทษไว้ 5 ปี โดยศาลเห็นว่า ในช่วงที่มีความแตกแยกทางการเมือง อาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย และข้อความบนป้ายก็เข้าข่ายต่อต้านอำนาจรัฐ ส่วนที่จำเลยอ้างว่า ติดป้ายเพื่อประชดต่อความอยุติธรรม ถือเป็นเรื่องที่จำเลยคิดไปเอง
 

 

ประเภทรายงาน: