- เว็บไซต์ไอลอว์
- ศูนย์ข้อมูลฯ
แจกแจงคำถามร่างนิรโทษกรรมประชาชน ทำไมต้องนิรโทษกรรม ครอบคลุมใครบ้าง?
หลังภาคประชาชน “เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน” เปิดตัวร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. …. เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2566 ปฏิกิริยาของคนในสังคมที่ตามมาจึงเป็นความแปลกใจ เนื่องจากส่วนมากแล้วการนิรโทษกรรมมักทำกับคณะรัฐประหาร หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน มากกว่าให้แก่ประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง
ดังนั้นนิรโทษกรรมประชาชนถือว่าเป็นเรื่องประหลาดและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนอาจจะทำไม่ได้และไม่ควรทำ จริงหรือ?
เรื่องนี้ พูนสุข พูนสุขเจริญ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล เจ้าหน้าที่จาก iLaw มาร่วมตอบคำถามไว้ในงานเสวนา “นิรโทษกรรมประชาชนไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมตามประวัติศาสตร์” โดยมี ณัฐชนน ไพโรจน์ เป็นผู้ดำเนินรายการ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2566 เวลา 15.00 - 15.30 น. ณ อาคาร All Rise เพื่ออธิบายให้ชัดเจนว่า การนิรโทษกรรมประชาชนไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ อีกทั้งยังสมควรทำในฐานะ “คดีการเมือง” ที่ถ้าไม่แก้ไข จะกลายเป็นระเบิดเวลารอกลับมาอีกในอนาคต
ทำไมต้องรวมมาตรา 112 ทำไมมาตรา 112 จึงเป็นคดีการเมืองที่ควรนิรโทษกรรม
ทำไมต้องนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 พูนสุขอธิบายว่า คดีมาตรา 112 เป็นหนึ่งในความขัดแย้งทางการเมืองที่อยู่คู่กับการเมืองไทยมาตลอด สามารถย้อนกลับไปได้ถึงช่วงวิกฤติทางการเมืองปี 2553 และนำมาสู่วิกฤติการเมืองในปี 2557 ที่ถูกนำเข้าสู่ศาลทหาร จนกระทั่งมีการยุติการใช้ไปชั่วครู่ในปี 2561 ถึงปี 2563 ในความหมายนี้คือไม่มีการฟ้องร้องคดี หรือถูกนำไปลงโทษไว้ในคดีอื่นๆ ซึ่งเป็นลักษณะที่ “แปลกประหลาด” ไปกว่าคดีอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด
มาตรา 112 แม้จะมีจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีไม่สูงเมื่อเทียบกับคดีการเมืองอื่นๆ อย่าง คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ก็สร้างความขัดแย้งในทางการเมืองสูง มีการบังคับใช้ที่รุนแรงกว่าคดีอื่นและมีการนำมาใช้อย่างไม่สม่ำเสมอ พูนสุขระบุว่า แม้ไม่ใช่มาตรา 112 แต่หากมีการบังคับใช้ในลักษณะนี้ก็ย่อมหมายความว่ากฎหมายมาตรานี้มีปัญหา เป็นความขัดแย้งทางการเมืองอย่างแน่นอน ทำให้การก้าวข้ามความขัดแย้งเพื่อให้สังคมยังเดินหน้าต่อไปได้ จะต้องรวมคดีมาตรา 112 เข้าไปในการนิรโทษกรรมด้วย การรวมมาตรา 112 เข้าไปในร่างนิรโทษกรรมประชาชนจึงเป็นการนำกฎหมายนี้เข้ามาพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ
“ตกลงเราคาดหวังอะไรในการนิรโทษกรรม ถ้าคาดหวังให้เหลืองแดงจับมือกันปรองดองกัน ก็อาจจะได้แล้ว แต่ถ้าคุณนิรโทษกรรมแต่บอกว่าไม่รวมมาตรา 112 นั่นคือการทิ้งระเบิดเวลาเอาไว้หนึ่งลูก… การทิ้งคนที่ถูกดำเนินคดีไว้มันไม่เคยหายไป มันกลับมาเสมอ การไม่รวมมาตรา 112 ในร่างมันคือการทิ้งระเบิดเวลาเอาไว้นั่นเอง”
ต่อมา รัชพงษ์ตอบคำถามเรื่องการนิยามคดีมาตรา 112 ที่มีกระแสว่า คดีมาตรา 112 คือคดีความมั่นคงไม่ใช่คดีการเมือง แต่รัชพงษ์ระบุว่า ทุกคดีความมั่นคงคือคดีการเมือง และคดีการเมืองก็ต่างมีแรงจูงใจเกี่ยวกับความมั่นคงทั้งนั้น การพยายามแยกสิ่งนี้ออกจากกันหมายความว่าผู้พูดไม่ซื่อสัตย์กับตัวเอง เป็นเพียงการสร้างหมวดใหม่ขึ้นมาเพื่อหยิบคดีที่ตัวเองชอบเข้าๆ ออกๆ หมวด “คดีการเมือง” เท่านั้น
รัชพงษ์ระบุต่อไปว่า มาตรา 112 กลายเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งทางการเมือง เป็นจุดตัดที่ประเทศไทยหลีกหนีการพูดถึงมาอย่างยาวนาน การคาดหวังว่าการนิรโทษกรรมทำให้คนที่เห็นไม่เหมือนกันหันหน้ากลับมาพูดกันได้ มาตรา 112 ก็สมควรถูกรวมไว้ในนั้นด้วย เพราะมาตรา 112 ปัจจุบันเหมือนเป็น “ยาแรง” ที่แรงที่สุดขนานหนึ่งในฐานะเครื่องมือทางการเมือง แม้ในแง่พัฒนาการของมาตรา 112 ก็ถูกคณะรัฐประหาร 2519 แก้ไขให้มีเนื้อหาเหมือนในปัจจุบันเพื่อเล่นงานประชาชน สิ่งนี้ชี้ชัดแล้วว่าทั้งที่มาและการใช้มีความเป็นการเมืองสูง ดังนั้นคดีความมั่นคงและคดีการเมืองเป็นเรื่องเดียวกันอย่างชัดเจน ไม่สามารถแยกขาดออกจากกันได้
ใครได้อะไรบ้างจากการนิรโทษกรรมฉบับนี้
พูนสุขตอบคำถามว่า ผู้ที่ถูกจำคุกจนออกจากเรือนจำ หรือจ่ายค่าปรับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะได้รับประโยชน์จากร่างกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ ซึ่งพูนสุขระบุว่าขึ้นอยู่กับขั้นตอนคดีนั้นๆ เช่น หากรับโทษเสร็จสิ้นแล้วหลายคนก็ยังมีประวัติอาชญากรรมติดตัวอยู่ ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงระบุให้ลบประวัติอาชญากรรมของบุคคลที่ถูกคดีการเมืองเหล่านี้โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ต้องให้ประชาชนไปยื่นทำเรื่องด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันการเยียวยาแม้ไม่ได้ระบุไว้โดยตรงในร่างกฎหมาย แต่ให้คณะกรรมการตามร่างกฎหมายนี้เสนอมาตรการเยียวยาหลังมีการศึกษาข้อมูลมาแล้วในภายหลัง
สิ่งเหล่านี้พูนสุขระบุว่า คือขั้นต่ำของการเดินไปข้างหน้า ซึ่งหมายความว่าข้อเสนอนี้ไม่สามารถเรียกร้องต่ำไปกว่านี้ได้แล้ว การนิรโทษกรรมคดีการเมืองจะเป็นจุดเริ่มต้นแรกของการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน แต่ ณ นาทีนี้ต้องเอาความเร่งด่วนของผู้เดือดร้อนทั้งหมดเป็นที่ตั้งก่อน
ข้อครหาต่อมาคือ ร่างนี้ถูกโจมตีว่าเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่นักการเมืองด้วย จุดนี้รัชพงษ์ระบุว่านักการเมืองที่ได้รับการนิรโทษกรรมไม่ใช่ได้รับการนิรโทษกรรมเนื่องจากเป็นนักการเมือง แต่ถูกนิรโทษกรรมเนื่องจากเขาได้ไปแสดงออกทางการเมืองในฐานะประชาชนจนถูกดำเนินคดีด้วยมูลเหตุทางการเมืองจากอำนาจรัฐ รัชพงษ์จึงระบุว่า การครหาว่าหากนิรโทษกรรมแล้วจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้นักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง สิ่งนี้เป็นข้อโต้แย้งที่ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่การเอาประโยชน์ฝ่ายเดียว การทำกฎหมายนิรโทษกรรมโดยไม่รวมมาตรา 112 เข้าไปด้วยต่างหากที่จะเป็นการเอาประโยชน์ฝ่ายเดียว เพราะจะมีเพียงไม่กี่กลุ่มที่ไม่ได้รับประโยชน์จากการกระทำดังกล่าว
สำหรับคำถามว่า ร่างนิรโทษกรรมของภาคประชาชนมีประโยชน์อย่างไรในเมื่อมีร่างนิรโทษกรรมจากฝ่ายการเมืองจำนวนมาก จุดนี้พูนสุขระบุว่า ร่างที่มีความชัดเจนจริงๆ มีแค่ ร่างนิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล กับร่างนิรโทษกรรมของประชาชนเท่านั้น ซึ่งร่างนิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกลใช้หลักการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดเพื่อพิจารณาว่าคดีใดบ้างที่มีมูลเหตุทางการเมือง แต่ร่างของภาคประชาชนระบุจากฐานความผิดไปเลย ขณะที่คดีอื่นๆ นอกเหนือไปจากฐานความผิดที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนในร่างกฎหมายก็ค่อยให้คณะกรรมการเป็นผู้ตัดสิน
การพูดถึงนิรโทษกรรมอย่างมีวุฒิภาวะ และวิธีการสังเกตร่างนิรโทษกรรมที่อาจจะมีต่อไปในอนาคต
กลไกที่ทำให้แต่ละฝ่ายสามารถเข้ามาพูดคุยกันคือสิ่งที่พูนสุขมองว่าจำเป็น เนื่องจากการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ไม่ใช่การแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 เรื่องนี้ยังจำเป็นที่จะต้องสื่อสารให้มากขึ้นเพราะยังมีผู้ไม่เข้าใจอยู่อีกเป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปร่วมกันกับคนทุกกลุ่มในสังคม ซึ่งอาจจะนำไปสู่การขยับประเด็นปัญหาทางสังคมอื่นๆ ต่อไปได้ในอนาคต
ขณะเดียวกัน รัชพงษ์ระบุว่าการตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมก็สามารถตั้งได้ แต่เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นการตั้งขึ้นมาเพื่อถ่วงเวลาเช่นเดียวกันกับคณะกรรมการศึกษาในประเด็นอื่นๆ การตั้งคณะกรรมการศึกษาฯ จึงต้องสามารถสั่งให้ยุติการดำเนินคดีที่มีอยู่ในชั้นศาลเอาไว้ก่อนได้ จนกว่าจะมีผลการศึกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้วจากคณะกรรมการฯ มิเช่นนั้นก็อาจจะกลายเป็นการถ่วงเวลาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแต่เพียงเท่านั้น
รัชพงษ์ระบุต่อไปว่า ในกรณีคดีการเมืองไม่สามารถใช้กระบวนการยุติธรรมตามปกติได้เพราะกระบวนการยุติธรรมก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะอำนาจตุลาการที่ไม่ได้มีการตรวจสอบจากอำนาจบริหารหรืออำนาจนิติบัญญัติตามที่ควรจะเป็น การนิรโทษกรรมจึงควรเป็นเครื่องมือของฝ่ายนิติบัญญัติในการถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายตุลาการ อย่างน้อยก็เป็นการแก้ไขปัญหาที่ฝ่ายตุลาการก่อเอาไว้ด้วย เป็นการตรวจสอบถ่วงดุลในอำนาจอธิปไตยไปในตัว
ช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมหลายฉบับ รัชพงษ์ระบุว่าประชาชนต้องดูสี่ประเด็นเพื่อตัดสินใจว่าจะสนับสนุนร่างกฎหมายนั้นหรือไม่ ดังนี้
1. “เริ่มเมื่อไหร่” ซึ่งส่วนมาก ณ ขณะนี้เริ่มหลังวิกฤติการณ์ทางการเมืองในปี 2549
2. “คดีใดบ้าง” ที่ถูกรวม ตัวอย่างสำคัญคือกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทยในปี 2556 ที่รวมคดีทุกรูปแบบ ทุกคน ทุกฝ่าย แต่ไม่รวมมาตรา 112 เป็นต้น
3. “ไม่รวมอะไรบ้าง” เช่น บางร่างกฎหมายจะไม่รวมคดีมาตรา 112 หรือคดีมาตรา 113 โดยจะระบุเอาไว้อย่างชัดเจน
4. “รวมเจ้าหน้าที่รัฐด้วยหรือไม่” ซึ่งกฎหมายนิรโทษกรรม 23 ฉบับที่ผ่านมา ส่วนใหญ่นิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่รัฐแทบทั้งสิ้น
สี่หัวใจสำคัญนี้ รัชพงษ์มองว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการประเมินร่างนิรโทษกรรมฉบับต่อๆ ไปในอนาคตที่กำลังมาถึง ไม่ว่าจะจากภาคประชาสังคมกลุ่มอื่นๆ จากรัฐบาล หรือจากพรรคการเมืองใดต่อไปก็ตาม