1851 1842 1716 1643 1489 1747 1162 1869 1113 1376 1546 1195 1941 1190 1070 1463 1884 1856 1655 1187 1505 1986 1488 1616 1260 1687 1202 1040 1249 1937 1935 1240 1705 1418 1594 1503 1540 1766 1343 1629 1372 1409 1198 1718 1679 1767 1055 1433 1101 1120 1457 1795 1112 1024 1942 1058 1971 1890 1917 1616 1262 1210 1389 1078 1494 1186 1822 1948 1542 1389 1627 1798 1916 1766 1295 1428 1765 1876 1281 1644 1151 1727 1812 1907 1648 1838 1744 1872 1323 1492 1020 1175 1559 1939 1003 1616 1413 1128 1018 ทั้งเสนอแก้ไข - ยกเลิก ย้อนดูทางวิบากของการเสนอต่อมาตรา 112 | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ทั้งเสนอแก้ไข - ยกเลิก ย้อนดูทางวิบากของการเสนอต่อมาตรา 112

นับตั้งแต่ปี 2548 การเมืองไทยตกอยู่ในวังวนแห่งความขัดแย้งโดยมีเหตุการณ์ทางการเมืองใหญ่ๆ เกิดขึ้นเป็นระยะ มีการรัฐประหารสองครั้งคือรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีเหตุการณ์ใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมจนเกิดเหตุนองเลือดในปี 2552 และ 2553 และการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่อีกหลายต่อหลายครั้ง ในช่วงที่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองมีความแหลมคม โดยเฉพาะในการชุมนุมของราษฎรปี 2563 การวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางการเมืองไม่ได้จำกัดอยู่แค่นายกรัฐมนตรี ทหารหรือนักการเมือง หากแต่ขยายไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ด้วย ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวมีจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่มากเป็นพิเศษ
 
เมื่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกนำมาใช้อย่างเป็นระบบ ปัญหาต่างๆ ก็ปรากฏตัวออกมา ทั้งการตีความกฎหมายที่กว้างขวาง การปฏิเสธสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว รวมถึงการดำเนินคดีกลั่นแกล้งกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้มาตรา 112 ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งมีความพยายามที่จะเสนอให้มีการแก้ไขและยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทว่าความพยายามที่เกิดขึ้นก็ถูกขัดขวาง ไม่ให้สามารถเดินหน้าได้
 

2960


เอกสารให้ข้อมูลของครก.112 จัดพิมพ์ปี 2555 และเอกสารให้ข้อมูลของครก.112 จัดพิมพ์ปี 2564

ครก.112 รวบรวมรายชื่อเสนอ "แก้ไข" และถูกปัดตกโดยประธานรัฐสภา       
 
คณะรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ ครก.112 ถือกำเนิดขึ้นในเดือนมกราคม 2555 เพื่อผลักดันการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามแนวข้อเสนอของคณะนิติราษฏร์ ในช่วงบรรยากาศที่มาตรา 112 ถูกนำมาใช้อย่างหนักหลังการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง และมีคดีความเกิดขึ้นต่อเนื่อง เช่น ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ "ดา ตอร์ปิโด" ที่ถูกจับและดำเนินคดีจากการขึ้นปราศรัยในการชุมนุมที่สนามหลวงช่วงเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2551 สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ "สุรชัย แซ่ด่าน" ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รวมหกคดีที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปี 2554 โดยมีคดีที่ทำให้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้ามาอยู่ในความสนใจของสาธารณชนคือคดีของอำพลหรือ "อากง sms" ที่ถูกกล่าวหาว่าส่ง sms ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำหยาบคายไปที่หมายเลขโทรศัพท์ของเลขานุการนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะรวมสี่ข้อความถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลารวม 20 ปี
 
ความตื่นตัวของประชาชนต่อของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เกิดขึ้นจากคดีอากงรวมถึงคดีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ทำให้ในเดือนมกราคม 2555 นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางสังคมรวมตัวกันในนาม "คณะรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112" (ครก.112) ใช้กลไกการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อผลักดันข้อเสนอ โดยในการเสนอกฎหมายต้องใช้หลักฐานทั้งสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน ของประชาชนมากกว่า 10,000 คน
 
2961
 
29 พฤษภาคม 2555 รายชื่อของประชาชนที่รวบรวมโดยครก.112 ถูกบรรจุใส่กล่องดำเพื่อนำไปยื่นต่อรัฐสภา (ภาพจากเฟซบุ๊ก ครก.112
 
สำหรับร่างแก้ไขกฎหมายที่นำเสนอในเวลานั้นมีสาระสำคัญ คือ แยกฐานความผิดเป็นฐานหมิ่นประมาทกับฐานดูหมิ่นและอาฆาตมาดร้าย แยกความคุ้มครองให้การกระทำต่อพระมหากษัตริย์มีอัตราโทษสูงกว่าตำแหน่งพระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นอกจากนั้นก็ให้ปรับลดอัตราโทษจำคุกลงรวมทั้งให้มีบทยกเว้นความผิดและกำหนดผู้มีสิทธิในการกล่าวโทษเป็นการเฉพาะ 
 
แม้การรวบรวมรายชื่อในยุคนั้นจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก เพราะต้องใช้ทั้งสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านเป็นหลักฐาน รวมทั้งไม่สามารถลงชื่อออนไลน์ได้ และกระแสปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ยังแข็งกร้าว แต่ครก.112 ก็สามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้สนับสนุนร่างกฎหมายได้ถึง 26,968 รายชื่อ ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกนำไปยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 
 
ทว่าในวันที่ 11 ตุลาคม 2555 ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายก็ได้รับจดหมายระบุว่า สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทยวินิจฉัยว่า การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่เข้าข่ายเป็นการเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือในหมวด 5 ว่าด้วย แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ที่บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 จึงไม่เข้าข่ายเป็นกฎหมายที่ประชาชนมีสิทธิเสนอด้วยการเข้าชื่อ จึงไม่สามารถบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาในสภาได้  
 
หลังความพยายามในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎรล้มเหลวไปในปี 2556 สถานการณ์เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็เลวร้ายลงไปอีกเมื่อเกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา 112 ด้วยการใช้อำนาจพิเศษในการเรียกตัวบุคคลมาสอบถามและควบคุมตัวในค่ายทหารไม่เกินเจ็ดวันเป็นเครื่องมือในการติดตามตัวผู้ที่อาจจะเคยปราศรัยหรือแสดงออกเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112รวมทั้งออกประกาศฉบับที่ 37/2557 ให้ศาลทหารเป็นผู้พิจารณาคดีพลเรือน โดยนับจากที่คสช.ยึดอำนาจจนถึงวันที่ได้รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง มีประชาชนถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 จากการแสดงออกด้วยรูปแบบต่างๆ อย่างน้อย 98 คน 
 
ครย.112 บริบทที่เปลี่ยนไปกับข้อเรียกร้องที่เปลี่ยนแปลง
 
การบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เข้มข้นขึ้นนับตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 เริ่มผ่อนคลายลงจนถึงช่วงปี 2561 มีการออกแนวปฏิบัติของสำนักงานอัยการสูงสุด กำหนดให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีทั้งหมดเพียงผู้เดียว การออกแนวปฏิบัตินี้น่าจะเป็นการส่งสัญญาณถึงนโยบายจำกัดและผ่อนคลายการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 
 
ล่วงมาถึงปี 2563 มาตรา 112 ยังคงอยู่ในภาวะ "งดใช้" แม้การชุมนุมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่จะทวีความเข้มข้นขึ้น และผู้ชุมนุมบางส่วนแสดงออกถึงพระมหากษัตริย์มากขึ้นเป็นลำดับโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังมีกระแสข่าวการหายตัวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทยในกัมพูชา ในเดือนมิถุนายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าพระมหากษัตริย์ทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และปรามให้ผู้ที่แสดงความเห็นทางการเมืองให้งดแสดงความคิดเห็นพาดพิงพระมหากษัตริย์  
 
ต่อมาในการชุมนุมเสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย และการชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทนในเดือนสิงหาคม 2563 กลับยกระดับการพูดถึงพระมหากษัตริย์ในที่ชุมนุมให้ทวีความเข้มข้น ก่อนที่ผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่าราษฎรจะพัฒนาข้อเรียกร้อง "ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์" ให้เป็นส่วนหนึ่งของข้อเรียกร้องหลักในการชุมนุม ท้ายที่สุดในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 มีการออกแถลงการณ์นายกรัฐมนตรีเรื่องการบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตรา กับผู้ชุมนุมที่ทำความผิด  ซึ่งคล้ายเป็นการส่งสัญญาณในเชิงนโยบายที่จะนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กลับมาใช้อีกครั้ง และจะใช้อย่างเข้มเข้ม
 
หลังมีการออกแถลงการณ์ข้างต้น ตำรวจทยอยออกหมายเรียกนักกิจกรรมที่เคยปราศรัยพาดพิงพระมหากษัตริย์ให้มารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มเติมและ "กลุ่มปกป้องสถาบัน" ต่างๆเช่น ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) หรือ ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดบนโลกออนไลน์ (ศชอ.) ยังสอดส่องและบันทึกหลักฐานการดำเนินคดีมาตรา 112 กับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่แสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์อย่างกว้างขวางด้วย นับจาก 18 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มเยาวชนปลดแอก Free Youth จนถึง 31 ตุลาคม 2564 มีคนถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 อย่างน้อย 154 คน ในจำนวน 159 คดี ซึ่งมากกว่าจำนวนเท่าที่บันทึกได้ของผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ตลอดเวลาห้าปีเศษในยุคคสช.   ทำให้นักเคลื่อนไหวเห็นว่าจำเป็นจะต้องดำเนินการบางอย่างกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหา 
 
ในวันที่ 31 ตุลาคม 2564 เครือข่ายนักกิจกรรมในนาม "คณะราษฎรยกเลิก 112" (ครย.112) จึงนัดชุมนุมเปิดตัวแคมเปญเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่แยกราชประสงค์ โดยใช้ชื่อการชุมนุมว่า "ราษฎรประสงค์ ยกเลิก 112"
 
2962

การชุมนุมและเปิดรับรายชื่อครั้งแรกของคณะราษฎรยกเลิก 112 31 ตุลาคม 2564 
 
การชุมนุม "ราษฎรประสงค์ ยกเลิก 112" นับเป็นครั้งแรกที่คณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.112) เปิดให้ประชาชนที่ต้องการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ร่วมลงชื่อ ในขณะที่ตัวแทนเครือข่ายร่วมกันอ่านแถลงการณ์ที่มีข้อเรียกร้องให้ศาลรับประกันสิทธิในการประกันตัวและปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองทุกคน และให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเพื่อยกเลิกมาตรา 112 รุ้ง ปนัสยา หนึ่งในตัวแทนเครือข่ายที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 รวมสิบคดียังแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยใช้มีดกรีดแขนตัวเองเป็นตัวเลข 112 พร้อมลายเส้นขีดฆ่าหนึ่งเส้นด้วย หลังจบการชุมนุมครั้งนั้นมีประชาชนมาร่วมลงชื่อบนแบบฟอร์มกระดาษ 3,760 รายชื่อ  
 
ในช่วงดึกของวันที่ 31 ตุลาคม 2564 พรรคเพื่อไทยเผยแพร่เอกสารลงนามโดย ชัยเกษม นิติศิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย โดยมีสาระสำคัญว่าพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคการเมืองที่มีสมาชิกมากที่สุดในรัฐสภาขณะนั้นพร้อมนำข้อเสนอของภาคประชาชนเข้าไปหารือในรัฐสภาเพื่อตรวจสอบการทำงานของบุคคลในกระบวนการยุติธรรมต่อไป  จากนั้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในขณะนั้นได้ออกมาชี้แจงว่าเอกสารที่ออกมาเป็นเพียงการอาสานำปัญหามาหารือในสภาเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการประกาศว่าจะแก้ไขมาตรา 112  ขณะที่พรรคก้าวไกลก็เผยแพร่จุดยืนของพรรคในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ยืนยันว่ามาตรา 112 มีปัญหาทั้งตัวบทและการบังคับใช้
 
เนื่องจากพ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 กำหนดให้การเข้าชื่อเสนอกฎหมายสามารถทำผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ครย.112 เปิดเว็บไซต์ no112.org เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการรวบรวมรายชื่อ ซึ่งปรากฎว่าเพียงคืนเดียวมีประชาชนมาร่วมลงชื่อบนเว็บไซต์ 100,556 รายชื่อ ภายในเวลา 24 ชั่วโมง นับถึงเดือนธันวาคม 2564 มีประชาชนมาร่วมลงชื่อบนเว็บไซต์ no112.org มากเกิน 200,000 คน 
 
ล่วงมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีรายงานว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบางเครือข่ายไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ no112.org ซึ่งขณะนั้นสามารถรวบรวมรายชื่อได้ 240,338 รายชื่อ โดยหน้าคอมพิวเตอร์ปรากฎข้อความว่า เนื้อหาถูกระงับการเข้าถึงเพราะเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อมา ครย.112 จึงให้ทนายความไปยื่นคำร้องขอให้ศาลเปิดการไต่สวนว่าการปิดกั้นเว็บไซต์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรในวันที่ 1 มีนาคม 2566 ศาลมีคำสั่งให้ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ no112.org ต่อไป โดยให้เหตุผลว่า ข้อความ "สถาบันพระมหากษัตริย์ ในฐานะสถาบันการเมือง" ที่ปรากฎบนเว็บไซต์ในหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมาย เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เนื่องจากสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของชาติ ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมือง ข้อความดังกล่าวขัดต่อความสงบเรียบร้อย  
 
จนถึงขณะนี้คณะราษฎรยกเลิก 112 ยังไม่ได้นำร่างแก้ไขกฎหมายอาญา ยกเลิกมาตรา 112 ไปยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร
 
พรรคก้าวไกลเสนอ ก็ยังไม่ได้เข้า และกลายเป็นเหตุแห่งการยื่นยุบพรรค
 
นอกจากการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยภาคประชาชน ก็มีความพยายามที่จะใช้กลไกทางรัฐสภาแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรของพรรคก้าวไกลเคยเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา เพื่อปฏิรูปกฎหมายหมิ่นประมาททั้งระบบโดยมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมอยู่ด้วย โดยมีสาระสำคัญคือให้นำความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ออกจากประมวลกฎหมายอาญาหมวดความมั่นคง แล้วกำหนดลักษณะความผิดใหม่ คือ ความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นมาใหม่ และให้กำหนดบทยกเว้นความผิด และยกเว้นโทษ ลักษณะเดียวกับกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา นอกจากนั้น ข้อเสนอจากพรรรก้าวไกลยังกำหนดให้เฉพาะสำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ประชาชนทั่วไปจะริเริ่มคดีเองไม่ได้ 
 
แต่ความพยายามครั้งนี้ก็ไม่เป็นผล ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์ถึงร่างแก้ไขมาตรา 112 ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกลว่า สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่งได้รับมอบหมายจากเขาให้เป็นผู้รับร่างกฎหมายที่มีการเสนอต่อสภา ซึ่งสุชาติได้ปรึกษากับที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรแล้วได้ความเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 6 
 
“ร่างดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ คือสถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ใดละเมิดไม่ได้ ซึ่งท่านสุชาติรอบคอบมาก และนอกเหนือจากฝ่ายกฎหมายแสดงความคิดเห็นแล้ว ท่านยังให้ผ่านกระบวนการประสานงานที่ประกอบด้วยฝ่ายกฎหมายทุกฝ่ายของสภาอีกครั้ง ซึ่งทุกคนยังมีความเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้ท่านสุชาติไม่ได้บรรจุในวาระ และส่งกลับไปยังพรรคก้าวไกลเพื่อแก้ไข..." 
 
การให้สัมภาษณ์ของชวนออกมาในบริบทที่พรรคก้าวไกลกำลังเตรียมส่งปดิพัทธ์ สันติภาดา ลงชิงตำแหน่งประธานรัฐสภา โดยพรรคก้าวไกลเองเคยโพสต์ถึงเหตุผลที่ต้องการตำแหน่งประธานรัฐสภาว่า เพื่อให้ทำหน้าที่ผลักดันร่างกฎหมาย โดยที่พรรคก้าวไกลเคยระบุไว้ในสัญญาประชาคมก่อนการเลือกตั้ง 2566 ว่า จะแก้ไขกฎหมายอย่างน้อย 45 ฉบับ   ซึ่งมีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมอยู่ด้วย
 
ความพยายามของพรรคก้าวไกลในการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในสภาชุดที่แล้วกับการหาเสียงว่าจะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในการเลือกตั้ง 66 กลายเป็นเหตุผลที่ตัวแสดงทางการเมืองทั้งสว.และพรรคการเมืองอื่นๆ หยิบยกมาใช้สกัดกั้นโอกาสที่แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคจะได้รับความเห็นชอบในการลงมติของรัฐสภา จุดยืนและท่าทีของพรรคก้าวไกลที่มีต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกชาดา ไทยเศรษฐ์, สมชาย แสวงการ, คำนูณ สิทธิสมาน และเสรี สุวรรณภานนท์ หยิบยกมาใช้เป็นเหตุผลในการอภิปรายว่าเหตุใดจึงไม่สามารถสนับสนุนให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลดำรงตำแหน่งได้ 
 
"หากจะดูแนวทางของพรรคก้าวไกล ดูได้จากร่างแก้ไข ม.112 ที่เสนอโดย ส.ส.เพื่อพรรคก้าวไกลเมื่อปี 2564 แม้จะไม่ได้ถูกบรรจุเข้าวาระพิจารณา แต่ทางพรรคก้าวไกลก็ยืนยันว่าจะผลักดันต่อ หรือหากพรรคก้าวไกลจะไม่ยื่นกฎหมายแก้ไข ม.112 ก็อาจไปขยิบตาให้ภาคประชาชน เช่น ไอลอว์ยื่นกฎหมายเข้ามา หรือแม้กระทั่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องกำหนดกรอบด้วยว่าไม่แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 หรือจะไปจัดการกับองค์กรอิสระ ป.ป.ช. กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะท่านไม่ถูกใจแบบนี้ไม่ได้" สมาชิกวุฒิสภากล่าว
 
นอกจากถูกสกัดโอกาสในการเสนอแคนดิเดตนายกฯ การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ยังเป็นเหตุให้มีคนไปยื่นเรื่องให้ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่าการนำเสนอนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขัดต่อกฎหมายและเข้าข่ายที่จะถูกยุบพรรคได้หรือไม่หลายกรณี เช่น 
 
ในวันที่ 18 ตุลาคม 2565 สุขสันต์ แสงศรี โฆษกพรรคไทยภักดี ยื่นหนังสือถึงกกต. ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการกรณีที่พรรคก้าวไกลเสนอนโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 ว่าขัดต่อ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ที่ระบุไว้ชัดเจนว่าพรรคการเมืองต้องไม่ปฏิบัติการใดๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ หากพบว่ามีความผิด กกต.ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งความผิดอาจถึงขั้นยุบพรรค 
 
ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความของอดีตพระพุทธอิสระ เริ่มกระบวนการยื่นคำร้องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 โดยนำเอกสาร เช่น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปี 2562 ที่สั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ และคำวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องกับการคัดค้านมาตรา 112 ที่ตัวเองเป็นผู้รวบรวมมายื่นให้ กกต.ว่า การหาเสียงด้วยนโยบายเกี่ยวกับมาตรา 112 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ธีรยุทธไปยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุด เพื่อให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและมีคำสั่งให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์และพรรคก้าวไกลเลิกกระทำการใดๆ เพื่อยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่เนื่องจากอัยการสูงสุดไม่ได้ดำเนินการส่งเรื่องตามที่ธีรยุทธร้องภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับเรื่อง ธีรยุทธจึงใช้สิทธิยื่นเรื่องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาว่า กระทำการใดๆเพื่อยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพิธาและพรรคก้าวไกล เข้าข่ายเป็นการใช้เสรีภาพล้มล้างการปกครองหรือไม่ 
 
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาในวันที่ 12 กรกฎาคม 2566  หนึ่งวันก่อนหน้าวันที่รัฐสภามีกำหนดประชุมร่วมเพื่อให้ความเห็นชอบบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี