1116 1630 1076 1131 1354 1266 1452 1162 1031 1728 1455 1450 1535 1409 1043 1805 1863 1491 1127 1552 1083 1773 1702 1229 1440 1398 1845 1847 1228 1379 1112 1432 1618 1914 1546 1227 1283 1164 1935 1718 1350 1271 1965 1574 1373 1465 1137 1461 1820 1500 1840 1995 1727 1107 1552 1037 1942 1096 1426 1099 1625 1284 1461 1517 1119 1647 1745 1082 1801 1133 1015 1254 1480 1863 1021 1705 1525 1408 1735 1268 1943 1814 1557 1158 1085 1710 1463 1056 1316 1850 1881 1985 1544 1392 1317 1132 1576 1946 1842 รอการลงโทษจำคุกเบนจา 2 ปี คดี 112 กรณีอ่านแถลงการณ์แนวร่วมมธ. ฉ.2 ศาลชี้เห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตัว | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

รอการลงโทษจำคุกเบนจา 2 ปี คดี 112 กรณีอ่านแถลงการณ์แนวร่วมมธ. ฉ.2 ศาลชี้เห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตัว

30 ตุลาคม 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดเบนจา อะปัญ อดีตนักกิจกรรมแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112  ที่เธอถูกกล่าวหาว่าปราศรัยและอ่านแถลงการณ์แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมฉบับที่สอง เรื่อง นายทุน-ขุนศึก-ศักดินา และการเมืองหลังระบบประยุทธ์ ระหว่างคาร์ม็อบวันที่ 10 สิงหาคม 2564 โดยที่เนื้อหาบางตอนของแถลงการณ์พาดพิงและก่อให้เกิดความเสียหายกับพระมหากษัตริย์ โดยศาลพิพากษาว่าเบนจามีความผิด ให้ลงโทษจำคุกในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเวลา 3 ปี และในความผิดฐานร่วมการชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 1 ปี กับปรับ 12,000 บาท  เนื่องจากเบนจาให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษจำคุกให้หนึ่งในสาม ลงโทษจำคุก 2 ปีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และจำคุก 8 เดือนกับปรับ 8,000 บาท ในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และศาลให้รอการลงโทษจำคุกไว้เป็นเวลา 2 ปีเพราะเห็นว่าเบนจาไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนทั้งขณะเกิดเหตุเบนจาเพิ่งอายุ 21 ปี จึงอาจกระทำการไปด้วยความคึกคะนอง สมควรให้โอกาสกลับตัวต่อไป

2959   
 
บรรยากาศที่ห้องพิจารณาคดี 402 ตั้งแต่ก่อนเวลานัด 9.00 น. มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยศาลประจำการอยู่บริเวณหน้าห้องพิจารณาคดี ขณะเดียวกันที่ทางเท้าฝั่งตรงข้ามศาลอาญากรุงเทพใต้ก็มีตำรวจอย่างน้อยสองนายประจำการอยู่โดยคาดว่าน่าจะมาเตรียมรับสถานการณ์เพราะก่อนหน้านี้สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ประกาศจะรวมตัวนั่งรถมาให้กำลังใจเบนจาที่ศาลในวันนี้ ตั้งแต่เวลาประมาณ 9.30 น. ผู้สังเกตการณ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงประชาชนที่ต้องการให้กำลังใจเบนจาประมาณ 30 คน ทยอยเดินทางมาถึงศาล โดยมีตัวแทนสหพันธ์สิทธิมนุษยชนนานาชาติ (FIDH) 2 คน แอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนลประเทศไทย 1 คน รวมอยู่ด้วย เนื่องจากในห้องพิจารณาคดีมีผู้เข้าสังเกตการณ์คดีนี้จนที่นั่งเต็ม ผู้พิพากษาจึงให้ผู้ที่ไม่มีที่นั่งสามารถยืนฟังคำพิพากษาได้ พร้อมกำชับให้ทุกคนอยู่ในความเรียบร้อย
 
เวลาประมาณ 10.00 น. เบนจามาถึงห้องพิจารณาคดี ผู้พิพากษาสอบถามเบนจาเรื่องการเรียนเล็กน้อยก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษาซึ่งพอสรุปได้ว่า พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นเป็นที่ยุติว่า ในวันและเวลาเกิดเหตุซึ่งอยู่ระหว่างเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด19 มีประชาชนมาชุมนุมกันที่หน้าอาคารชิโน-ไทย มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
 
ความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องห้ามรวมตัวกันทำกิจกรรมเกินห้าคนในสถานที่ใดๆ โจทก์มีพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความว่าขณะเกิดเหตุมีการประกาศห้ามรวมตัวทำกิจกรรมเกินห้าคนเนื่องจากขณะนั้นกรุงเทพมหานครถูกประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตัวพยานได้ทราบจากผู้บังคับบัญชาและจากเฟซบุ๊กของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมว่าจะมีการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปที่อาคารชิโน-ไทย จึงได้เตรียมการรับสถานการณืและได้ไปอยู่ในสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งพบว่าในเวลาประมาณ 14.00 น.ของวันเกิดเหตุ (10 สิงหาคม 2564) มีการชุมนุมและมีการปิดถนนที่หน้าอาคารชิโน-ไทย โดยมีผู้ชุมนุมบางส่วนยืนบนถนน และมีการแจกแผ่นพับ และเห็นว่าเบนจากำลังปราศรัยอยู่บนรถที่ติดเครื่องขยายเสียง นอกจากนั้นก็มีพยานที่เป็นประชาชนซึ่งเป็นผู้กล่าวหาจำเลย 2 คนเบิกความว่าเห็นจำเลยปราศรัยที่หน้าอาคารชิโน-ไทยผ่านทางเฟซบุ๊ก นอกจากนั้นก็ได้ความจากตัวจำเลยว่าเข้าร่วมและกล่าวปราศรัยจริงรวมทั้งมีหลักฐานเป็นภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวขณะจำเลยกำลังปราศรัยเป็นหลักฐานยืนยัน จึงเห็นว่าจำเลยเข้าร่วมการชุมนุมและอ่านแถลงการณ์จริง โดยที่ในขณะเกิดเหตุมีการประกาศให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามรวมตัวทำกิจกรรมเกินห้าคนในที่ใดๆโดยไม่ได้รับอนุญาต
 
เห็นว่า แม้จะไม่ปรากฎว่าจำเลยเป็นผู้ลงโฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมบนเฟซบุ๊กส่วนตัว แต่จากพฤติการณ์ที่จำเลยเป็นผู้อ่านแถลงการณ์บนรถติดเครื่องขยายเสียงแสดงให้เห็นว่าการชุมนุมครั้งนี้มีการวางแผนเตรียมการกันมา ทั้งการร่างแถลงการณ์ การกำหนดสถานที่ชุมนุมที่ตึกชิโน-ไทยเพื่อประท้วงการทำงานของอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่ากระกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ซึ่งจากพฤติการณ์ทำให้เห็นว่าแม้จำเลยจะไม่ได้เป็นผู้ลงโฆษณาให้คนมาร่วมชุมนุมแต่ก็เป็นผู้ร่วมจัดให้มีการชุมนุม แม้จำเลยจะต่อสู้ว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นรูปแบบคาร์ม็อบที่ต่างคนต่างอยู่บนรถของตัวเอง แต่ไม่ปรากฎว่าในการชุมนุมได้มีการชี้แจงมาตรการควบคุมโรคใดๆ ทั้งยังมีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งรวมตัวอยู่บนถนนมากกว่า 5 คน ไม่ได้ชุมนุมอยู่แต่บนรถดังที่จำเลยกล่าวอ้าง จำเลยจึงมีความผิดในข้อนี้
 
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ผู้กล่าวหาในคดีนี้เบิกความสอดคล้องกันว่าได้พบจำเลยอ่านแถลงการณ์บนเฟซบุ๊กโดยที่เนื้อหาของแถลงการณ์มีลักษณะเป็นการด้อยค่าใส่ร้ายพระมหากษัตริย์ทำนองว่าทรงมุ่งเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนโดยไม่คำนึงถึงการบริหารราชการแผ่นดิน และเห็นว่าจำเลยมุ่งกล่าวถึงพระมหากษัตริย์โดยตรง เห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 2 กำหนดให้ประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมาตรา 6 กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการระ ผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ ทั้งยังมีบทบัญญติตามประมวลกฎหมายอาญาที่กำหนดฐานความผิดที่กระทำต่อพระมหากษัตริย์เป็นการเฉพาะ ทำให้เห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ บุคคลจะใช้เสรีภาพในการเป็นปฏิปักษ์ต่อพระมหากษัตริย์ไม่ได้ รวมถึงจะกระทำการเสียดสีหรือเปรียบเปรยให้เกิดความเสียหายไม่ได้ 
 
ที่จำเลยกล่าวทำนองว่าที่ประเทศตกต่ำเป็นเพราะการบริหารงานของรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นรัฐบาลทรราชย์ โดยมีการเอ่ยพระนามของพระมหากษัตริย์จึงย่อมทำให้คนที่ได้ยินได้ฟังเข้าใจไปว่าจำเลยต้องการสื่อว่าที่ประเทศตกต่ำเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ และพระมหากษัตริย์ทรงมุ่งเอื้อประโยชน์ต่อชนชั้นสูง ส่วนที่จำเลยอ้างว่าในการปราศรัยเพียงแต่ต้องการโจมตีการบริหารงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จำเลยจะต้องเอ่ยพระนามของพระมหากษัตริย์ออกมา นอกจากนั้นในตอนท้ายของการอ่านแถลงการณ์จำเลยยังได้พูดถึงการหวังให้มีรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากประชาชนโดยตรง ไม่ได้มาจากชนชั้นศักดินาโดยได้มีการเอ่ยพระนามของพระมหากษัตริย์ก็ย่อมทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้ว่า จำเลยต้องการสื่อว่าต้องการรัฐบาลประชาธิปไตย ไม่ใช่รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ที่พระมหากษัตริย์แต่งตั้ง ซึ่งหากจำเลยต้องการตำหนิการบริหารของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์จริงๆก็ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องเอ่ยพระนามของพระมหากษัตริย์ในลักษณะดังกล่าว จึงแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย
 
การกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระ ให้ลงโทษการกระทำทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี ฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 1 ปี ปรับ 12,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้หนึ่งในสามมาตรา 112 จำคุก 2 ปี และจำคุก 8 เดือนปรับ 8,000 บาทในความผิดฐานร่วมจัดการชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมจำคุก 2 ปี 8 เดือนปรับ 8,000 บาท จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ขณะเกิดเหตุจำเลยเพิ่งอายุ 21 ปี จึงอาจกระทำความผิดไปเพราะความคึกคะนองและขาดประสบการณ์ ทั้งจำเลยยังศึกษาอยู่ จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัว โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี
 
สำหรับมูลเหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นวันครบรอบหนึ่งปี การชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทนเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มีการอ่านแถลงการณ์แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ฉบับที่หนึ่งที่มีข้อเรียกร้องสิบข้อเพื่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ สำหรับแถลงการณ์ที่เบนจาอ่านมีสาระสำคัญไปที่การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความล้มเหลวของรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนที่ตัวแถลงการณ์วิจารณ์ในเชิงตั้งคำถามว่าการบริหารจัดการวัคซีนอาจเป็นไปเพื่อการเอื้อประโยชน์ต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  ระบุด้วยว่า ในคดีนี้เบนจาไม่เคยถูกออกหมายเรียก แต่เจ้าหน้าที่สน.ทองหล่อทราบว่าเบนจาจะเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาคดีอื่นที่ สน.ลุมพินี ในวันที่ 7 ตุลาคม 2564 จึงได้ติดตามไปแสดงหมายจับและจับกุมตัวเธอที่หน้าสน.ลุมพินี พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อยื่นคำร้องขอฝากขังเบนจากับศาลอาญากรุงเทพใต้ในวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังจนครบผัดฟ้อง และไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเบนจาเป็นเวลา 99 วัน ก่อนให้ประกันตัวเธอในวันที่ 14 มกราคม 2565 โดยกำหนดเงื่อนไขเข้มขวด - ห้ามทำกิจกรรมที่จะกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 18:00 - 06:00 น. ห้ามเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตและให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว