1477 1859 1768 1993 1827 1359 1835 1872 1225 1602 1619 1699 1095 1946 1768 1025 1626 1144 1098 1985 1461 1133 1006 1458 1171 1460 1528 1160 1446 1474 1055 1459 1384 1074 1741 1407 1403 1497 1546 1642 1015 1507 1260 1166 1773 1921 1140 1509 1984 1006 1643 1926 1954 1455 1378 1216 1199 1938 1391 1165 1745 1992 1466 1409 1084 1173 1829 1773 1522 1282 1324 1293 1221 1983 1334 1776 1234 1964 1269 1149 1789 1080 1422 1400 1079 1844 1179 1927 1367 1013 1057 1779 1557 1992 1115 1178 1464 1521 1111 112 ความเชื่อ ความคิด ชีวิต เรื่องราว ธนพร: ขอแค่โอกาสให้แม่ได้อยู่กับลูก | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

112 ความเชื่อ ความคิด ชีวิต เรื่องราว ธนพร: ขอแค่โอกาสให้แม่ได้อยู่กับลูก

หากไม่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ธนพร หญิงชาวอุทัยธานีวัย 24 ปี คงอยากเร่งวันเวลาให้ถึงเดือนธันวาคม 2566 โดยเร็วเพราะเธอและสามีกำลังรอคอยสมาชิกใหม่อีกคนหนึ่งของครอบครัวที่กำลังจะลืมตาขึ้นมาดูโลก แต่สถานการณ์ชีวิตของธนพรในเวลานี้กลับอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะนับจากถูกจับกุมตัวในเดือนกันยายนปี 2564 ธนพรซึ่งขณะนั้นเพิ่งตั้งท้องลูกคนแรกต้องใช้ชีวิตอยู่บนความไม่แน่กับเสรีภาพที่ถูกแขวนอยู่บนเส้นด้ายมาโดยตลอด นับจากถูกจับกุมธนพรก็ให้การรับสารภาพทั้งต่อตำรวจและต่อศาล ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2565 ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดี ธนพรไปศาลในสภาพท้องแก่ โชคยังดีที่ศาลให้รอการลงโทษจำคุกของเธอเอาไว้ก่อน ธนพรจึงมีโอกาสคลอดลูกในสถานพยาบาลที่มีคุณภาพและได้ดูแลลูกน้อยที่เพิ่งลืมตาออกมาดูโลก 
 
หลังศาลชั้นต้นสั่งให้รอการลงโทษจำคุกเอาไว้ก่อน อัยการตัดสินใจอุทธรณ์คดีเพราะเห็นว่าความผิดของธนพรร้ายแรงเกินกว่าจะสมควรได้รับการรอการลงโทษจำคุกเอาไว้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งลูกคนโตของเธอเพิ่งมีอายุได้แปดเดือนศาลอุทธรณ์แก้โทษของธนพรเป็นให้จำคุกสองปีโดยไม่รอการลงโทษ ธนพรได้รับอิสระภาพแบบชั่วคราวระหว่างยื่นฎีกาคำพิพากษา ซึ่งในช่วงเวลาที่ธนพรกำลังต่อสู้คดีในชั้นศาลฎีกานี้เองเธอก็ได้ทราบว่ากำลังอุมท้องลูกคนที่สองและมีกำหนดจะคลอดในเดือนธันวาคม ทุกอย่างดูจะอยู่ในความไม่แน่นอน ไม่แน่นอนว่าลูกคนที่สองของเธอจะลืมตาขึ้นมาดูโลกก่อนหรือหลังศาลมีคำพิพากษา และไม่แน่นอนว่าในวันที่ลูกของเธอลืมตาออกมาดูโลก จะได้มีโอกาสได้อยู่กับแม่หรือต้องมาเยี่ยมแม่จากอีกฝากของกรงขัง 

2946       
 
ชีวิตที่ต้องดิ้นรน
 
แม้จะเพิ่งอายุ 24 ปี แต่ชีวิตของคุณแม่ลูกสองอย่างธนพรน่าจะผ่านอะไรมามากเกินกว่าคนในวัยเดียวกันอีกหลายๆคน ธนพรเล่าว่าโดยพื้นฐานครอบครัวของเธอก็ไม่ได้มีฐานะอะไรอยู่แล้วและบ้านของเธอก็อยู่ในจังหวัดเล็กๆ ทั้งไม่ได้อยู่ในเขตเมือง จึงเป็นการยากที่จะเข้าถึงโอกาสต่างๆ เมื่ออายุได้ประมาณ 13 ปี พ่อของเธอเสียชีวิต รายได้ที่แม่ของเธอพอจะหาได้ไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตของเธอกับแม่ ธนพรที่แม้จะมีผลการเรียนอยู่ในระดับดีก็ตัดสินใจเลิกเรียนหลังจบชั้นม.3 เพื่อออกมาทำงานหารายได้อย่างเต็มตัว
 
"ทำมาหลายงานแล้วพี่ ส่วนใหญ่ก็งานโรงงาน งานสุดท้ายที่ทำก็เป็นโรงงานรองเท้า" 
 
"จริงๆ หนูก็เป็นคนที่เรียนหนังสือได้ดีระดับนึงเลย แต่ชีวิตหนูมันปากกัดตีนถีบมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ แล้ว พอคุณพ่อมาเสียตอนหนูอายุได้ 13 ปี หนูก็ตัดสินใจเลิกเรียนแล้วมาทำงานเลยเพราะลำพังรายได้ที่แม่หามันไม่พอ"
 
"เอาจริงๆ ตั้งแต่ก่อนพ่อเสียหนูก็ต้องเข้ากรุงเทพมาทำงานแถวสาธุประดิษฐ์ช่วงปิดเทอมแล้ว พอพ่อเสียมันก็มีคำถามว่าถ้าเรียนต่อใครจะส่ง ซึ่งมันก็ไม่มีไง"
 
สนใจการเมืองเพราะต้องอยู่กับประยุทธ์ตั้งแต่เรียนหนังสือจนมีครอบครัว
 
ก่อนหน้าปี 2563 ธนพรไม่เคยสนใจเรื่องการเมืองมาก่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจังหวัดอุทัยธานีบ้านเกิดของเธอเป็นเพียงจังหวัดเล็กๆ ไม่ค่อยมีกิจกรรมทางการเมืองเหมือนในกรุงเทพหรือจังหวัดหัวเมืองใหญ่อื่นๆ  นอกจากนั้นบ้านของเธอก็อยู่ในเขตชนบทของอำเภอบ้านไร่ ซึ่งห่างจากอำเภอเมืองออกไปประมาณ 70 กิโลเมตร แม้จะมีการจัดกิจกรรมก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเดินทางไปเข้าร่วม ที่สำคัญธนพรมีภาระที่จะต้องทำงานหาเลี้ยงตัวเองทั้งต้องประหยัดเงินที่หาได้ไว้ใช้ในสิ่งจำเป็น การเดินทางเข้าเมืองที่แต่ละครั้งมีค่าใช้จ่าย จึงถูกสงวนไว้เฉพาะยามมีธุระจำเป็นเท่านั้น ในช่วงปี 2563 เมื่อบรรยากาศทางการเมืองคุกรุ่นขึ้น ธนพรก็เริ่มติดตามและอ่านข่าวการเมืองมากขึ้น โดยสิ่งที่ทำให้เธอหันมาสนใจสถานการณ์ทางการเมืองเกิดจากคำถามง่ายๆ ที่เธอตั้งกับตัวเอง
 
"พอการเมืองมันเริ่มเดือด หนูก็เลยฉุกคิดกับตัวเองว่า ถ้าบ้านเราเป็นประชาธิปไตยจริง เราจะอยู่กับเขา (พล.อ.ประยุทธ์) นานขนาดนี้เลยเหรอ เพราะอย่างหนูก็อยู่กับเขามาตั้งแต่หนูยังเรียนอยู่กับกระทั่งหนูมีสามี มีครอบครัว มันใช่แบบนี้เหรอ"
 
"อีกเรื่องคือเรื่องเศรษฐกิจ คืออย่างจังหวัดอุทัยเนี่ยส่วนใหญ่เขาก็ปลูกอ้อยปลูกอะไรกันแล้วราคามันก็ต่ำลงๆ หนูก็เลยสงสัยว่าทำไมยุคนี้เศรษฐกิจมันถึงแย่กว่ายุคก่อน"
 
จากคำถามที่มาจากเรื่องใกล้ตัว ธนพรเริ่มมองหาแหล่งข้อมูลอื่นๆ บนโลกออนไลน์ ซึ่งท้ายที่สุดเธอก็ตัดสินใจเข้าไปเป็นสมาชิกกลุ่มเฟซบุ๊กตลาดหลวง Royalist Market Place ที่ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการและผู้ลี้ภัยการเมืองเป็นคนก่อตั้ง
 
"หนูก็แค่สงสัยว่าสิ่งที่เคยเรียนมาหลายๆ อย่างมันเป็นจริงอย่างที่เคยถูกสอนมาหรือเปล่า ก็แค่นั้น"
 
เฟซบุ๊กปริศนากับคดีมาตรา 112
 
เพราะชีวิตที่ต้องดิ้นรน ธนพรใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางในการหารายได้เสริมด้วยการขายของออนไลน์ควบคู่ไปกับการทำงานประจำที่โรงงาน เธอจึงตั้งค่าเฟซบุ๊กเป็นสาธารณะ แม้ว่าเธอจะใช้เฟซบุ๊กเพื่อค้าขายเป็นหลักแต่ก็มีอยู่สองสามครั้งที่เธอใช้เฟซบุ๊กแชร์ข้อมูลอ่อนไหว แต่เมื่อถูกเพื่อนและแฟนทักท้วงเธอก็ลบข้อมูลที่แชร์มาออก ขณะที่ในกลุ่มตลาดหลวงธนพรก็ไม่ได้แสดงความคิดเห็นหรือโพสต์อะไร ได้แต่ไปอ่านข่าวหรือข้อมูลที่มีคนนำมาแชร์กันเท่านั้น ล่วงมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีบัญชีเฟซบุ๊กบัญชีหนึ่งที่ใช้ภาพและชื่อโปรไฟล์เป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่งในราชวงศ์ พยายามขอมาเป็นเพื่อนบนเฟซบุ๊กของเธอ ครั้งแรกเธอก็กดลบคำขอเป็นเพื่อนไป แต่ปรากฎว่าบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวก็ยังพยายามขอเป็นเพื่อนเธอมาอีกหลายครั้ง ด้วยความแปลกใจปนรำคาญ ธนพรตัดสินใจกดรับโดยที่ไม่รู้เลยว่าการตัดสินใจครั้งนั้นจะเปลี่ยนชะตาชีวิตเธอไปตลอด
 
"ช่วงปี 2564 อยู่ๆ ก็มีเฟซบุ๊กของคนที่ใช้ชื่อและภาพโปรไฟล์ของบุคคลสำคัญในราชวงศ์คนหนึ่งขอเป็นเพื่อนบนเฟซบุ๊กกับหนู ตอนแรกหนูก็ลบ งงว่าเป็นใครมาจากไหน แต่พอลบเขาก็ส่งคำขอมาอีกหลายรอบจนหนูตจัดสินใจว่ารับก็ได้วะ ลองดู"
 
"บัญชีนั้นเป็นบัญชีเปิดใหม่ มีเพื่อนไม่มาก แล้วก็โพสต์แต่เรื่องการเมืองแนวเสียดสี หนูก็ดันเผลอไปเขียนคอมเมนท์บนภาพๆ หนึ่ง ก็ยอมรับว่าเขียนไปแรงพอสมควร แล้วก็มีคนมากดแสดงความรู้สึกบนคอมเมนท์ของหนูพอสมควรเลย"    
 
"ปรากฎว่าไม่กี่วันหลังจากที่หนูไปเขียนคอมเมนท์ เจ้าของเฟซบุ๊กคนนั้นก็ลบโปรไฟล์ตัวเองทิ้งคือหายไปเลย หนูก็เริ่มเสียวสันหลังแล้วตอนนั้นว่าจะมีอะไรตามมาไหม แต่หนูก็ไม่ได้รู้ว่าสุดท้ายสิ่งที่ตัวเองทำมันจะเป็นความผิดที่มีโทษรุนแรงอะไรขนาดนั้น"
 
"ถ้าถามว่ารู้เรื่องมาตรา 112 ไหม ตอนนั้นก็พอได้ยินอยู่บ้างว่า แม่ปวินโดนอะไรแล้วต้องลี้ภัย แต่ก็ไม่ได้จินตนาการเลยว่าจะเจอเข้ากับตัวเอง สุดท้ายกลายเป็นว่าที่หนูถูกจับไม่ใช่เพราะตลาดหลวงอะไรเลย แต่เป็นเพราะเฟซบุ๊กที่แอดหนูแล้วหนูไปคอมเมนท์โพสต์ของเขา มาตอนหลังหนูถึงได้รู้ว่ามันน่าจะเป็นเฟซของพวกไอโอ"
 
จากบ้านไร่ถึงตลิ่งชัน เส้นทางวิบากของกระบวนการยุติธรรม
 
ธนพรถูกตำรวจบุกมาจับกุมถึงที่บ้านในช่วงเดือนกันยายน 2564 ซึ่งเป็นเวลาเกือบครึ่งปีหลังเธอโพสต์ไปเขียนคอมเมนท์ท้ายโพสต์ของบัญชีเฟซบุ๊กที่น่าจะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองบางอย่าง หลังถูกจับที่บ้านในช่วงเย็น ตำรวจพาเธอนั่งรถข้ามจังหวัดมานอนในห้องขังที่ สน.บางพลัดซึ่งเป็นสน.ท้องที่ที่มีคนมากล่าวโทษเธอไว้กับตำรวจหนึ่งคืนก่อนจะสอบปากคำเธอและพาตัวเธอไปส่งศาลในวันถัดไป แม้จะได้รับการประกันตัวในวันที่ไปศาลแต่การถูกดำเนินคดีก็ทำให้ชีวิตของธนพรมีภาระในการเดินทางมารายงานตัวตามนัด ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายประมาณหนึ่งพันบาทต่อการเดินทางเข้ากรุงเทพแต่ละครั้ง 
 
"ตำรวจมาตามหาหนูที่โรงงาน แต่วันนั้นหนูลางานเขาเลยเอารูปหนูไปเที่ยวถามหากับคนโน้นคนนี้แล้วก็ไปเจอกับญาติของหนูที่ทำงานโรงงานเดียวกัน ตกเย็นญาติหนูก็พาตำรวจมาที่บ้านเลย พอเจอตำรวจเขาก็เอาหมายให้ดูแล้วก็พาหนูมากรุงเทพค่ำวันนั้นเลย"
 
"ระหว่างที่นั่งบนรถหนูสับสนไปหมด แต่ก็ยังมีแม่นั่งรถมาด้วย ตอนอยู่บนรถตำรวจก็พยายามปลอบหนูว่าตอนเกิดเหตุหนูอายุยังน้อย โทษน่าจะไม่หนักมาก มีตำรวจที่อยู่บนรถคนหนึ่งถามหนูว่ามีคนมาประกันตัวไหม แล้วก็มีเพื่อนเค้าอีกคนพูดว่าไม่ต้องห่วงหรอก เดี๋ยวแฟนเขาที่ขับรถกระบะไททันสีขาวก็คงตามมา ถึงตรงนี้หนูก็รู้เลยว่าเขาคงตามดูหนูมาพักหนึ่งแล้ว ไม่งั้นคงไม่รู้ละเอียดถึงขั้นว่าแฟนหนูขับรถรุ่นไหน สีอะไร"
 
"พอมาถึง สน.บางพลัดหนูถูกเอาไปขังในห้องขังคืนหนึ่ง จากนั้นก็ถูกสอบสวนในวันรุ่งขึ้น หนูก็ไม่ใช่คนมีเงินเลยต้องใช้ทนายอาสาที่ตำรวจหามาให้ เพราะตอนนั้นก็ไม่ได้รู้จักว่ามีศูนย์ทนายฯ (ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน) ที่ให้ความช่วยเหลือคดีแบบนี้"
 
"พอตำรวจเขาถามว่าจะให้การยังไง หนูก็ตัดสินใจรับสารภาพไปเลย ตอนที่สอบสวนตำรวจเอาเอกสารมาให้ดู หนูก็มารู้ว่าคนที่แจ้งความเป็นอดีตนายทหารแล้วก็น่าจะอยู่ในกลุ่มรักสถาบันอะไรสักกลุ่ม ก็สงสัยอยู่ว่าเขามาเห็นคอมเมนท์ของหนูได้ยังไงทั้งๆ ที่หลังจากคอมเมนท์ได้ไม่กี่วันเจ้าของเฟซบุ๊กก็ปิดเฟซบุ๊กตัวเองไป พอสอบสวนเสร็จตำรวจก็พาไปศาลแล้วหนูก็ได้ประกันตัวออกมา หนูเองก็ไม่ได้มีเงินอะไรสุดท้ายเลยต้องไปหยิบยืมเงินญาติมาประกันตัวแสนนึง"
 
"ย้อนกลับไปวันที่ถูกจับ ถ้าถามเสียใจเรื่องอะไรที่สุดก็คงเป็นเรื่องครอบครัว ตอนที่ถูกจับหนูยังไม่รู้ว่าตัวเองตั้งท้อง หนูก็คิดว่าถ้าต้องติดคุกสองหรือสามปีก็ต้องรับให้ได้ แต่ที่เสียใจคือเหมือนหนูทำให้แม่กับแฟนต้องมาเดือดร้อนไปด้วย แทนที่เขาเอาเวลาไปทำงาน หรือเก็บเงินไว้ทำอย่างอื่นก็ต้องเอามาใช้จ่ายเป็นค่าเดินทาง หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคดีของหนูทั้งๆ ที่บ้านเราก็ไม่ได้มีฐานะอะไร"
 
"จากบ้านหนูมาที่ศาลตลิ่งชันถ้าขับรถจะต้องใช้จ่ายค่าน้ำมันประมาณ 2,000 บาท หนูเลยต้องนั่งรถสาธารณะเอา แล้วบ้านหนูมันก็ไม่ได้อยู่ในเขตเมือง ต้องนั่งรถหลายต่อกว่าจะมาถึงที่ศาล จะมาแต่ละครั้งก็ต้องออกบ้านแต่เช้ามืด พอเสร็จศาลก็ต้องรีบกลับเลยเพราะไม่งั้นรถจะหมด"
 
ลูกคือทั้งหมดของชีวิต
 
เมื่อครั้งที่ถูกจับ หากไม่นับเรื่องค่าใช้จ่ายและเวลาที่ต้องเสียไป ธนพรก็พอจะทำใจกับเรื่องที่เธออาจจะถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลาสองถึงสามปีได้ ทว่าในเดือนตุลาคม 2564 ธนพรก็ทราบว่าตัวเองกำลังตั้งท้อง ธนพรแม้จะดีใจและมีความสุขที่กำลังจะได้เป็นแม่ แต่ในสถานการณ์ที่อิสรภาพของเธอกำลังถูกแขวนไว้บนเส้นด้าย ความกลัวและความกังวลถึงอนาคตของลูกกลายเป็นความรู้สึกที่ธนพรต้องแบกไว้กับตัวตลอดเวลา 
 
"หนูกับแฟนตั้งใจจะมีลูกกันมาเป็นปีแล้วแต่น้องก็ยังไม่มาเกิด ตอนที่มีน้องหนูไม่รู้ตัวเลยเพราะปกติหนูเป็นคนที่ประจำเดือนมาไม่เป็นเวลาอยู่แล้ว แต่ช่วงเดือนตุลาคม 2564 หนูรู้สึกว่าน่าจะไม่ใช่แค่ประจำเดือนมาไม่ปกติเลยลองตรวจดูถึงได้รู้ว่ามีน้อง จำได้แม่นเลยว่ามารู้ว่าตัวเองมีน้องวันที่ 3 ตุลาคม 2564"
 
"พอรู้ว่าตัวเองมีลูกความรู้สึกทุกอย่างมันเหมือนตีกลับหมดเลย จากเดิมที่หนูทำใจเรื่องที่อาจจะติดคุกได้ระดับหนึ่ง ตอนนี้หนูคิดอย่างเดียวเลยว่าหนูจะติดคุกไม่ได้ เพราะถ้าหนูติดคุกลูกหนูจะอยู่ยังไง ตัวหนูเองอาจจะเรียนไม่สูงมากแต่หนูรู้ว่าการเลี้ยงลูกช่วงห้าปีแรกจะมีผลต่อพัฒนาการของเด็กมากที่สุด แล้วถ้าตอนนั้นหนูไม่ได้อยู่กับลูก ไม่ได้ให้นมลูก เขาจะโตขึ้นมาในสภาพไหน"
 
"ไม่ใช่แค่นั้น ระหว่างที่หนูอุ้มท้อง หนูก็ยังต้องมารายงานตัวที่ศาล ไปกับเที่ยวหนึ่งก็ตีไปครั้งละ 1,000 บาท เงินจำนวนนั้นแทนที่หนูจะได้เก็บไว้เตรียมฝากท้องลูกกลับต้องเอามาใช้เป็นค่าเดินเพื่อมารายงานตัวกับศาล"
 
"เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกหนูสี่ปี แต่หนูสารภาพเลยลดโทษให้เหลือสองปี แล้วก็ให้รอลงอาญาไว้เพราะหนูไม่เคยมีประวัติทำความผิดมาก่อน วันที่ไปศาลหนูท้องได้ประมาณหกเดือนแล้ว ไปศาลในสภาพท้องแก่เลย หนูคิดว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้หนูได้รอลงอาญาน่าจะเป็นเรื่องที่หนูกำลังท้องด้วย หลังศาลชั้นต้นพิพากษาได้ประมาณสามเดือนหนูก็คลอดลูกคนแรก ระหว่างนั้นหนูก็รู้มาว่าอัยการอุทธรณ์คดีขอให้ศาลสั่งจำคุกหนูเลย อ้างว่าสิ่งที่หนูทำมันเลวร้ายเกินกว่าจะรอลงอาญา"
 
"พอรู้ว่าอัยการอุทธรณ์คดีหนูก็ร้อนใจเลยลองแชทไปหาพี่แอมมี่ (ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ - แอมมี่ เดอะบอตทอมบลูส์) ที่เพจของเขาเพราะเขาเป็นศิลปินที่หนูชอบแล้วเขาก็ถูกดำเนินคดีนี้ พี่แอมมี่เขาก็แนะนำให้หนูรู้จักกับศูนย์ทนายความแล้วก็กองทุนที่ให้ความช่วยเหลือ (กองทุนราษฎรประสงค์) จนได้ทนายของศูนย์ฯ เข้ามาช่วยทำคดีในชั้นอุทธรณ์" 
 
"พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ (2566) ศาลอุทธรณ์ก็นัดหนูไปฟังคำพิพากษา ตอนไปหนูยังเชื่อว่าศาลน่าจะรอลงอาญาให้ แต่กลายเป็นว่าศาลสั่งให้จำคุกหนูเลย ตอนที่ได้ยินว่าต้องติดคุกเลยนี่คือหนูหูชาไปเลย แล้วก็ได้แต่ตั้งคำถามว่าหนูเป็นแค่คนตัวเล็กๆ ไม่ได้เป็นแกนนำอะไร แล้วก็เพิ่งถูกดำเนินคดีครั้งแรก ทำไมถึงไม่เมตตาให้โอกาสกันบ้าง ยิ่งหนูเพิ่งมีลูกอ่อน ถ้าต้องอยู่ในคุกลูกจะเป็นยังไง ที่ผ่านมาหนูพยายามเลี้ยงลูกเป็นอย่างดีเพื่อให้เขาเติบโตมาเป็นคนดี ให้เวลากับเขา เล่นกับเขา ให้ความอบอุ่นกับเขา ถ้าหนูต้องเข้าคุก ลูกก็จะไม่มีคนดูแล แล้วเขาจะเป็นยังไง ตอนที่ศาลบอกว่าต้องติดคุกเรื่องพวกนี้มันวนเวียนในหัวหนูไปหมด แต่ยังโชคดีที่ได้ประกันตัวออกมาระหว่างยื่นฎีกา"
 
"ช่วงเดือนพฤษภาคมหนูมารู้ว่าตัวเองกำลังจะมีลูกคนที่สอง ตอนนี้หนูไม่คิดเรื่องอื่นแล้ว คิดถึงลูกอย่างเดียว เพราะถ้าหนูไม่อยู่แฟนหนูหรือแม่ของหนูจะไปบอกลูกว่าแม่ที่คอยป้อนข้าวเค้าหายไปไหน แล้วถ้าบอกลูกจะรู้สึกยังไง ไม่ใช่แค่ลูกคนแรก ลูกคนที่สองที่น่าจะคลอดประมาณเดือนธันวาคมอีก ทุกวันนี้เหมือนอยู่กับความไม่แน่นอนเลยว่าจะได้คลอดลูกที่ไหน คลอดแล้วจะได้ให้นมลูกไหม"
 
"ตอนนี้หนูคงทำอะไรไม่ได้ นอกจากจะขอให้ศาลฎีกามีเมตตา อย่างน้อยๆ ก็รอลงอาญาให้หนูได้อยู่กับลูกทั้งสองคนในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขา หนูตั้งใจจะเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด แต่ถ้าต้องไปอยู่ในคุกก็คงยากที่หนูจะทำหน้าที่แม่ที่ดีได้"
ชนิดบทความ: