1164 1756 1403 1201 1565 1196 1904 1065 1761 1826 1211 1895 1148 1009 1046 1544 1589 1474 1702 1587 1583 1532 1580 1755 1690 1660 1951 1042 1848 1864 1287 1103 1707 1869 1253 1676 1238 1323 1805 1158 1659 1395 1372 1707 1489 1113 1979 1653 1795 1094 1977 1884 1978 1031 1285 1277 1008 1553 1109 1601 1831 1375 1931 1495 1549 1773 1360 1740 1864 1120 1962 1092 1069 1351 1906 1778 1666 1547 1181 1321 1632 1256 1750 1329 1768 1762 1847 1700 1500 1095 1002 1142 1026 1264 1731 1939 1678 1354 1190 ย้อนสำรวจคดี #เทใจให้เทพา เมื่อคำพิพากษาระบุว่า “การชุมนุมเป็นเสรีภาพพื้นฐานที่จำเป็น” | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ย้อนสำรวจคดี #เทใจให้เทพา เมื่อคำพิพากษาระบุว่า “การชุมนุมเป็นเสรีภาพพื้นฐานที่จำเป็น”

2875
 
การชุมนุมทางการเมืองภายใต้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 หรือ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ บังคับให้ผู้ชุมนุมจำเป็นต้องไป "แจ้ง" การชุมนุมกับเจ้าหน้าที่รัฐภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมงก่อนการชุมนุมเริ่มขึ้น ขณะเดียวกันการไม่ไปจดแจ้ง ไปไม่ทัน หรือเกิดการกระทบกระทั่งกันเพียงเล็กน้อยระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็อาจเสี่ยงทำให้กลายเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เปิดช่องให้เกิดการสลายการชุมนุมหรือดำเนินคดีตามหลังได้ง่าย
 
แม้ว่าพ.ร.บ.ชุมนุมฯ จะประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2558 แต่เวลาส่วนใหญ่ประเทศไทยก็อยู่ภายใต้ "กฎหมายพิเศษ" ทำให้กฎหมายนี้ถูกใช้เป็นหลักไม่มากนัก เหตุการณ์ที่ประชาชนต้องถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมสาธารณะ และสามารถสู้คดีไปจนถึงชั้นฎีกายังมีไม่มาก หนึ่งในตัวอย่างสำคัญ คือ คำพิพากษาของศาลฎีกากรณีการชุมนุม #เทใจให้เทพา เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งผู้ชุมนุมถูกศาลอุทธรณ์ตัดสินว่ามีความผิดฐานไม่ยอมแจ้งการชุมนุมตามกรอบระยะเวลา แต่ศาลฎีกาตัดสินว่าไม่มีความผิด ซึ่งเป็นการวางบรรทัดฐานการตีความพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่สำคัญ
 
การ “พลิกผล” พิพากษา "กลับ" ของศาลฎีกา จึงมีความน่าสนใจว่า เป็นการพยายามกลับมาตอกย้ำหลักการพื้นฐานเรื่อง “ไม่มีหลักฐาน ย่อมไม่มีความผิด” และ “การชุมนุมเป็นเสรีภาพพื้นฐานที่จำเป็น” หลังประชาชนต้องต่อสู้คดีความมาตั้งแต่ พ.ศ. 2560 จนถึง พ.ศ. 2566 เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม รวมทั้งอาจจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้แก่คดีการเมืองอื่นๆ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการต่อสู้คดีอีกด้วย
 
 
สรุป #เทใจให้เทพา แบบรวบรัด: ใคร ทำอะไร ที่ไหน ได้คดีอะไรมา
 
 
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ได้มีเหตุการณ์ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของประชาชนครั้งสำคัญ การชุมนุมนี้ตั้งชื่อว่า #เทใจให้เทพา โดยประชาชนในอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ที่ต้องการคัดค้านก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเนื่องจากเกรงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำกิจกรรมเดินเท้าจากบ้านเพื่อไปยื่นหนังสือต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ซึ่งขณะนั้นกำลังเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ณ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 
 
การเดินเท้าเริ่มขึ้นจากชุมชนบ้านบางหลิง สิ้นสุดที่บ้านกรงอิตำ อำเภอเทพา เพื่อไปพักค้างคืนที่บริเวณหาดสะกอมในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 และเดินทางถึงบ้านปากบางสะกอม อำเภอจะนะ ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้ระบุว่าการชุมนุมครั้งนี้ผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 และไม่ยอมอนุญาตให้มีการผ่อนผันตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ มาตรา 12
 
ต่อมาในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ผู้ชุมนุมได้เดินทางจะเข้าอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เพื่อไปยื่นหนังสือตามกำหนดนัด และพบกับแถวแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองร้อยควบคุมฝูงชน หรือ คฝ. บริเวณข้างมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ถนนสงขลา-นาทวี ตอนเวลา 13.00 น. และผู้ชุมนุมได้พยายามเจรจาขอผ่านทางเพื่อไปรับประทานอาหารบริเวณหน้าโรงพยาบาลจิตเวชสงขลา แต่ คฝ. ไม่อนุญาตให้ผ่านไปได้ ต่อมาจึงมีผู้ชุมนุมเป็นลมหนึ่งคน จนทำให้ผู้ชุมนุมที่เหลือเริ่มพยายามผลักดันแนวกั้น
 
ผลที่ตามมา คือ การกระทบกระทั่งและบาดเจ็บของทั้งสองฝ่าย มีการจับกุมผู้ชุมนุมถึง 16 คน และดำเนินคดีต่อประชาชนถึง 17 คน ด้วยข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.จราจรฯ และข้อหาทำร้ายร่างกาย พกพาอาวุธ และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 มาตรา 371 และมาตรา 140 ตามลำดับ ส่วนการยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีไม่สามารถเกิดขึ้นได้
 
การดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ทั้งตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ฐานไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าและข้อหาอื่นๆ ศาลฎีกามีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” ในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 หลังศาลมีความเห็นว่า ประเด็นข้อกล่าวหาต่อจำเลยทั้ง 17 คนมีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และประเด็นข้อกล่าวหาต่อจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ว่ามีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ 
 
อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีนี้มีความน่าสนใจอยู่หลายส่วน โดยเฉพาะการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา และการปกป้องเสรีภาพของการชุมนุมสาธารณะ
 
 
ประเด็นน่าสนใจในชั้นฎีกา: ไม่มีความผิดหากไม่มีหลักฐาน หน้าที่พิสูจน์ให้ทราบเป็นของโจทก์
 
 
คำพิพากษาของศาลฎีกา ในคำพิพากษาหมายเลข 2317/2565 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ระบุว่า คดีนี้มีปัญหาขึ้นมาจนถึงศาลฏีกาเพียงสองประเด็นเท่านั้น คือ จำเลยมีการต่อสู้และขัดขวางไม่ให้เจ้าพนักงานทำหน้าที่ดูแลความสะดวกของประชาชนในการเข้าใช้พื้นที่สาธารณะด้วยอาวุธ และจำเลยไม่แจ้งว่าจะมีการชุมนุมก่อนการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จริงหรือไม่ โดยแต่ละเรื่องแบ่งออกได้ดังนี้
 
ศาลฎีการะบุถึงกรณีประเด็นแรกว่า ก่อนเกิดเหตุผู้ชุมนุมได้เดินทางตามถนนมาจนถึงบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จนกระทั่งเจอกับแถวกั้นหน้ากระดานของเจ้าหน้าที่ คฝ. ผู้ชุมนุมจึงขอเจรจากับเจ้าหน้าที่เพื่อผ่านทางไปรับประทานอาหารหน้าโรงพยาบาลจิตเวชสงขลา แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยินยอมให้ผ่านจึงเกิดการกระทบกระทั่งกัน
 
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 กล่าวไว้ในชั้นอุทธรณ์ว่า การที่ผู้ชุมนุมตะโกน “หิวข้าว ไปกินข้าวกัน” เป็นการสร้างความฮึกเหิมในการเดินฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ แต่ศาลฎีการะบุว่าไม่สามารถตีความพฤติกรรมนี้ให้เป็นสัญญาณของการปลุกระดมได้ เนื่องจากโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าผู้ชุมนุมนัดหมายให้ใช้ประโยค “หิวข้าว ไปกินข้าวกัน” เป็นสัญญาณในการชุมนุม ดังนั้นผู้ชุมนุมทั้งหมดอาจจะหิวข้าวจริงๆ ก็เป็นได้ ซึ่งตรงกับข้อเท็จจริงที่มีผู้ชุมนุมบางส่วนเป็นลมขณะรอการเจรจากับเจ้าหน้าที่
 
ขณะเดียวกันในส่วนที่ศาลอุทธรณ์ระบุว่า จำเลยมีการต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่จนเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บนั้น ศาลฎีการะบุว่า การวินิจฉัยว่าบุคคลใดทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญาจำเป็นต้องมีพยานหลักฐานยืนยันว่าบุคคลนั้นทำผิดจริง หากจำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาก็เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ ดังนั้นการจะระบุว่าจำเลยทั้ง 17 คนมีความผิดขณะที่ร่วมชุมนุมอยู่กับผู้ชุมนุมประมาณหนึ่งร้อยคน ก็ต้องหาหลักฐานมาระบุให้ได้ว่าเป็นจำเลยทั้ง 17 คนนี้จริง หากโจทก์หามาไม่ได้ก็ไม่สามารถวินิจฉัยให้ทั้งจำเลย 17 คนนี้มีความผิดตามข้อกล่าวหาได้
 
การตัดสินเช่นนี้ คือ การนำหลักการพื้นฐานของการตัดสินคดีอาญากลับมาใช้ เนื่องจากหลักทางกฎหมายอาญานั้นต้องถือว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธ์เอาไว้ก่อน ยกเว้นจะมีการพิสูจน์ทราบได้ภายหลังว่ามีความผิดจริง ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายโจทก์ที่ต้องนำสืบเพื่อเอาผิดให้ได้ มิเช่นนั้นศาลก็วินิจฉัยเอาผิดจำเลยไม่ได้
 
การชุมนุมครั้งนี้แม้จะมีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจากการกระทบกระทั่งจริง แต่หากเจ้าหน้าที่และโจทก์ไม่สามารถชี้ได้ชัดเจนว่า ผู้ที่ทำร้ายคือจำเลยทั้ง 17 จริง ก็ไม่สามารถเอาผิดจำเลยกลุ่มนี้ได้เช่นกัน 
 
 
ประเด็นน่าสนใจในชั้นฎีกา: การชุมนุมเป็นเสรีภาพที่สำคัญ คำสั่งของตำรวจที่ไม่อนุญาตให้ชุมนุมนั้นขัดรัฐธรรมนูญ
 
 
ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 ระบุให้ ผู้ที่ต้องการจะจัดการชุมนุมต้องแจ้งต่อตำรวจก่อนระยะเวลาชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง หรือหากแจ้งในกรอบระยะเวลาดังกล่าวไม่ทัน ก็ยังขอผ่อนผันไปแจ้งย้อนหลังได้ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 12 
 
ปัญหาที่ทำให้คดีนี้ขึ้นมาสู่ชั้นฎีกา คือ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ทำการแจ้งว่าประสงค์จะจัดการชุมนุมภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อให้การชุมนุมครั้งนี้ถูกกฎหมายหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาตัดสินว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 เป็นผู้ริเริ่มจัดการชุมนุม เนื่องจากจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นตัวแทนชาวบ้านระหว่างการชุมนุม และจำเลยที่ 4 เป็นผู้โพสต์นัดหมายการชุมนุมบนสื่อออนไลน์ ขณะที่จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุมเท่านั้น ไม่นับเป็นผู้จัด ดังนั้น การรวมตัวของชาวบ้านเทพาครั้งนี้ถือว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะ จึงต้องกระทำตามข้อปฏิบัติของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ 
 
ประเด็นนี้ศาลฎีการะบุว่า หลังจำเลยที่ 1 รู้ว่าการชุมนุมครั้งนี้เข้าข่ายเป็นการชุมนุมสาธารณะตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ก็ได้รีบไปแจ้งการชุมนุมตามขั้นตอนของกฎหมายทันทีกับผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเทพา จังหวัดสงขลา เมื่อเวลา 18.52 น. ของวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งถึงแม้จะเป็นการไปแจ้งหลังประชาชนเริ่มการชุมนุมไปแล้ว ศาลฎีกาก็ถือว่าจำเลยที่ 1 แสดงความจริงใจว่าต้องการจะปฏิบัติตามกฎหมายให้ถูกต้อง
 
อย่างไรก็ตาม ผกก.สภ.เทพา กล่าวกับจำเลยที่ 1 ว่า ผู้ชุมนุมจะชุมนุมได้ก็ต่อเมื่อถึงเวลา 18.52 น. ของวันถัดไป (25 พฤศจิกายน 2560) เพราะต้องกระทำตามกรอบระยะเวลา 24 ชั่วโมงของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ทำให้จำเลยที่ 1 ตัดสินใจไปยื่นหนังสือขอแจ้งการชุมนุมพร้อมคำขอผ่อนผันกำหนดเวลา โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 12 กับผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ซึ่งต่อมาก็ไม่ได้รับการอนุญาต
 
ศาลฎีการะบุว่า การสั่งไม่อนุญาตเช่นนี้ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจาก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 12 มีไว้ให้เกิดการผ่อนผันกรณีที่การชุมนุมเกิดขึ้นแล้วแต่ยังไม่ได้แจ้งการชุมนุม กฎหมายจึงหาทางออกให้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุม ซึ่งหากไม่สามารถให้เกิดการผ่อนผันได้กฎหมายก็คงไม่เปิดช่องทางนี้ไว้ในมาตรา 12 ตั้งแต่แรก 
 
ขณะเดียวกัน ศาลฎีการะบุว่า การชุมนุมครั้งนี้ได้มีการพิสูจน์ทราบแล้วว่าปราศจากอาวุธ ไม่ได้กระทำอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ต่อสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยอันดี หรือไปกระทบสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น แม้แต่การเดินทางไปชุมนุมก็ยังเปิดเส้นทางจราจรให้ประชาชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องสัญจรผ่านไปได้ การชุมนุมครั้งนี้จึงได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 44 และ ทำให้คำสั่งไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมและคำสั่งให้ยุติการชุมนุมของผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญในมาตรา 44 การที่ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวจึงไม่เป็นเหตุให้การชุมนุมครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
ประเด็นนี้ศาลฎีกาขยายความว่า เมื่อการชุมนุมครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมาย หากผู้ชุมนุมเห็นว่าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะสร้างความเดือดร้อนสู่ชุมชนจึงต้องเดินทางไปยื่นหนังสือให้แก่นายกรัฐมนตรี ผู้ชุมนุมย่อมมีเสรีภาพที่จะกระทำได้ เนื่องจากการชุมนุมเป็นเสรีภาพพื้นฐานที่จำเป็นของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
 
คดีนี้ศาลฎีกาจึงพิพากษากลับ ยกฟ้องทั้งหมด