1332 1495 1163 1532 1210 1208 1505 1721 1274 1918 1261 1253 1759 1676 1715 1206 1909 1443 1138 1670 1816 1455 1121 1560 1170 1373 1596 1772 1450 1163 1077 1211 1070 1057 1629 1557 1605 1766 1188 1121 1803 1790 1122 1753 1009 1737 1284 1073 1603 1563 1858 1677 1131 1188 1769 1679 1806 1969 1030 1499 1636 1126 1185 1275 1330 1019 1959 1651 1138 1410 1150 1478 1558 1883 1167 1628 1619 1725 1955 1591 1839 1474 1306 1888 1965 1352 1387 1070 1276 1534 1335 1247 1917 1758 1972 1157 1959 1607 1757 บทบันทึกปฏิรูปสถาบันฯเดือนสิงหา ‘63 สู่ข้อเรียกร้องยกเลิกม. 112 ที่ยังไปต่อ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

บทบันทึกปฏิรูปสถาบันฯเดือนสิงหา ‘63 สู่ข้อเรียกร้องยกเลิกม. 112 ที่ยังไปต่อ

 

 

เราซุกปัญหานี้ไว้ใต้พรมมาหลายปีแล้ว ไม่มีการเอ่ยอ้างถึงปัญหาอย่างแท้จริง ซึ่งมันนำมาสู่การแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เราต้องยอมรับความจริงว่า ที่นิสิต นักศึกษา และประชาชน ลุกขึ้นมาชุมนุมเรียกร้องทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลายคนต้องการตั้งคำถามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของพวกเรา

 

 

เป็นคำปราศรัยตอนหนึ่งของอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนระหว่างการชุมนุม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย” ในวันที่ 3 สิงหาคม 2563 มีผู้เข้าร่วมไม่มากเทียบกับการชุมนุมครั้งก่อนหน้าของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 หากการปราศรัยของอานนท์ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก ๆ ในการยกข้อถกเถียงเรื่องสถาบันกษัตริย์ที่เคยปักหลักบนโลกออนไลน์ลงมาบนท้องถนน เขากล่าวถึงสถาบันกษัตริย์โดยมีฐานข้อมูลหนักแน่นและตรงไปตรงมา หลังจากนั้นการชุมนุมที่เกิดขึ้นตามมาต่างแฝงด้วยข้อเรียกร้องและเนื้อหาปราศรัยเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ในอดีตการกล่าวถึงทำได้อย่างจำกัดด้วยบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวในสังคม  อย่างไรก็ตามการขยายเพดานการแสดงออกเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ทำให้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ถูกรัฐนำมาใช้อย่างแพร่หลายอีกครั้งหลังจากห่างหายไปตั้งแต่ปี 2561

 

 

ข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จนถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2566 มีประชาชนถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 255 คน ใน 275 คดี  ในจำนวนดังกล่าวมีเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี ถูกดำเนินคดีจำนวน 20 คน การดำเนินคดีประชาชนด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างกว้างขวางทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเห็นปัญหาของมาตรา 112 จนนำมาสู่การเข้าชื่อเสนอให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว เมื่อความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับมาตรา 112 บนท้องถนนดังขึ้นก็เป็นเรื่องยากที่ฝ่ายการเมืองจะละเลย ประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงโดยฝ่ายการเมืองเริ่มถูกนำเข้ามาสู่พื้นที่รัฐสภาทั้งเพื่อหารือและหาทางออกของปัญหาเร่งด่วน และเพื่อเสนอแก้ไขกฎหมาย กระทั่งหลังการเลือกตั้ง 2566 มาตรา 112 ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นหลักในการอภิปรายเพื่อคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของแคนดิเดตจากพรรคก้าวไกล

 

2871

 

 

บทเริ่ม – ขอบฟ้าที่ไม่อาจปิดกั้นด้วยความกลัวอีกต่อไป

            

 

ภูมิทัศน์ทางการเมืองในปี 2563 ความไม่พอใจในรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเติบโตขึ้นมาก สุมไฟซ้ำด้วยความไม่เป็นธรรมทางการเมือง ปัญหาโรคระบาดและเศรษฐกิจ ทั้งหมดนำสู่การต่อสู้บนท้องถนน จุดตัดสำคัญอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนคือ การชุมนุมเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 นำโดยนิสิตและนักศึกษาที่เคยขยายฐานมวลชนในพื้นที่สถานศึกษาสามารถขยายพื้นที่ชุมนุมและมวลชนออกนอกฐานที่มั่นเดิมได้ ความโกรธเกรี้ยวหลากประเด็นเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างข้อเรียกร้องที่เป็นรูปธรรมในเวลาต่อมา แม้การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อาจไม่ใช่ประเด็นหลักในตอนเริ่มต้นของเยาวชนปลดแอกหรือการชุมนุมในสถานศึกษา แต่มันมีให้เห็นตามเสียงตะโกนร้องป่าวแทรกเสียงปราศรัยหลัก หรือตามป้ายข้อความที่ซ่อนแอบท่ามกลางคลื่นมวลชน ประกอบกับกฎหมายปิดปากอย่างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ได้นำมาใช้แรมปี ว่ากันตามเหตุผลจากนายกรัฐมนตรีคือ เป็นเพราะในหลวงทรงมีพระเมตตาไม่ให้ใช้ เหล่านี้ล้วนมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมในการขยายขอบฟ้าที่เคยถูกปิดด้วยความหวาดกลัว

 

 

ในเดือนสิงหาคม 2563 การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เริ่มต้นขึ้นผ่านการชุมนุม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย”  เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ธีมของการชุมนุมอิงมาจากวรรณกรรมแฮร์รี่ พอตเตอร์กล่าวถึง “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” หรือลอร์ด โวลเดอร์มอร์ที่ตัวละครในเรื่องต่างหวาดกลัวและไม่กล้าเอ่ยชื่ออย่างตรงไปตรงมา สถานการณ์อาจเทียบเคียงได้กับการพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในช่วงที่ผ่านมาในสังคมไทย ซึ่งถูกกดปราบด้วยกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ การจับกุมคุมขัง หรือการถูกกล่าวหาว่า เป็นคนเสียสติ อานนท์กล่าวถึง “ข้อเรียกร้องระหว่างบรรทัด” จากป้ายข้อความหรือเสียงของผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ผ่านมา ซึ่งควรแก่การนำมาพูดถึงอย่างตรงไปตรงมาด้วยเหตุและผลตามหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีประเด็นดังนี้

 

 

  • ข้อสังเกตพระราชทานและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 แม้ผ่านประชามติมาแล้ว
  • กฎหมายจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ในปี 2560 เผยแพร่ผ่านราชกิจจานุเบกษา โดยไม่ปรากฏว่าหน่วยงานใดจัดทำร่างและเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และมีการพิจารณากันเมื่อใด
  • พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์และการตราพ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพล ซึ่งส่งผลให้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการบริหารจัดการทรัพย์สินและทรัพยากรบุคคลตามพระราชอัธยาศัยถูกขยายออกไป
  • งบประมาณจากภาษีที่ใช้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

 

นี่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญให้การชุมนุมครั้งที่เกิดขึ้นตามมาเต็มไปด้วยเนื้อหาเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และข้อเรียกร้องอย่างเป็นรูปธรรมอย่างการชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ตัวแทนออกแถลงการณ์สิบข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หนึ่งในนั้นมีข้อเรียกร้องเรื่องการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การชุมนุม “19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎรที่สนามหลวง” การปักหมุดคณะราษฎร 63 ที่ท้องสนามหลวงอันเป็นพื้นที่จัดราชพิธีต่างๆ และย้ำข้อเรียกร้องสิบข้อเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 และการชุมนุมของคณะราษฎร 63 ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 

 

 

บทปราบ – ปราบชุมนุมด้วยกำลัง ปิดกั้นพื้นที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ด้วย 112

 

 

ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ขยายตัวตามด้วยบทปราบแรก รัฐเริ่มใช้กำลังปราบผู้ชุมนุมโดยยกเหตุการณ์ “ขบวนเสด็จฝ่าม็อบ” เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563  เป็นสารตั้งต้นความชอบธรรมในประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ปราบม็อบ กวาดจับแกนนำ หยุดได้ไหม?...ภาพผู้ชุมนุมเรือนหมื่นเรือนแสนที่ออกมาชุมนุม “ทุกคนคือแกนนำ” ทั่วประเทศเป็นคำตอบ หลังจากมาตรการดังกล่าวไม่ได้ผล แกนนำเริ่มทยอยถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำเปิดหน้าชนเพื่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์โดยตรง เช่น การชุมนุมเขียนจดหมายถึงพระมหากษัตริย์เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ที่หน้าพระบรมมหาราชวัง ผู้จัดชวนให้ประชาชนเขียนจดหมายถวายคำแนะนำถึงพระมหากษัตริย์ว่าควรปรับตัวอย่างไรให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และการชุมนุมที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งพุ่งเป้าที่ที่การวิพากษ์วิจารณ์พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯซึ่งส่งผลให้ กรมทหารราบที่ 1 และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ถูกโอนไปอยู่ใต้การบังคับบัญชาของพระมหากษัตริย์ในฐานะส่วนราชการในพระองค์   รวมถึงการชุมนุม “กูสั่งให้มึงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” ที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งตรงกับวันที่ตัวแทนภาคประชาชนชี้แจงข้อเสนอรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในสภา 

 

 

เมื่อการชุมนุมและเนื้อหาการปราศรัยพุ่งเป้าไปที่พระมหากษัตริย์โดยตรงในหลายๆประเด็น วันที่ 19 พฤศจิกายน 2563  หรือหนึ่งวันให้หลังสภาปัดตกข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พล.อ.ประยุทธ์ออกแถลงการณ์ว่า จะใช้กฎหมายทุกมาตราดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่ทำผิดกฎหมายซึ่งเป็นเสมือนการส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 112 ปลายปี 2563 เหล่านักกิจกรรมเริ่มถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์จากการปราศรัยในพื้นที่ชุมนุมและการแสดงความเห็นบนโลกออกไลน์ รวมถึงประชาชนโดยทั่วไปก็ตกเป็นจำเลยในกฎหมายนี้ด้วยเช่นกัน จนสถิติพุ่งขึ้นแตะหลัก 200 คน และคนที่ถูกดำเนินคดีบางส่วนก็ถูกคุมขังก่อนศาลมีคำพิพากษาเป็นเวลานาน 

 

 

บทโต้ - มาตรา 112 จากท้องถนนสู่รัฐสภา 

 

 

หลังการกลับมาใช้มาตรา 112 “ปิดปาก” ผู้ชุมนุม การเมืองในสภาเริ่มเดินหน้า 10 กุมภาพันธ์ 2564 พรรคก้าวไกล นำโดยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เสนอร่างแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกจำนวน 5 ฉบับ โดยหนึ่งในนั้นคือ ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ. … ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแก้ไขความผิดฐานหมิ่นประมาทหลายมาตรา ไม่ว่าจะเป็นการเสนอยกเลิกมาตรา 112 เดิมและเสนอให้กำหนดหมวดใหม่ขึ้นมาที่ว่าด้วยเรื่องพระเกียรติของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ ระหว่างนี้การคุมขังนักกิจกรรมทางการเมืองระหว่างการพิจารณาคดีเป็นรูปแบบชัดเจนขึ้น คือ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์และสิงหาคม 2564 ข้อเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เบนเข็มสู่การเรียกร้องให้ “ปล่อยเพื่อนเรา” เคารพในสิทธิประกันตัว 

 

 

ท้ายสุดราวกับขบวนเคลื่อนไหวตกผลึกแล้วว่า หากไม่ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ พวกเขาคงตกในวังวน “ปล่อยเพื่อนเรา” อย่างมองไม่เห็นปลายทางของ “ความฝันเดิม” ประเด็นจึงหวนกลับมาที่การยกหนึ่งในข้อเรียกร้องสิบข้อเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 อย่างการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาผลักดัน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ภาคประชาชนในนาม “คณะราษฎรยกเลิก 112” รวมตัวกันจัดทำร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาให้ยกเลิกมาตรา 112 และใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 133 รวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 คน เพื่อเสนอต่อสภาเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564  มีผู้ร่วมลงชื่อเสนอร่างกฎหมายในที่ชุมนุม 3,760 ชื่อและในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 เมื่อเว็บไซต์ “no112.org” ถูกเปิดขึ้นเพื่อใช้ระดมรายชื่อออนไลน์ก็มีคนร่วมลงชื่อมากกว่า 100,000 ชื่อในคืนเดียว และพรรคการเมืองฝ่ายค้านในเวลานั้นอย่างพรรคเพื่อไทยออกมาขานรับโดยทันที

 

 

พรรคเพื่อไทยเผยแพร่เอกสารที่มีชัยเกษม นิติสิริ เป็นผู้ลงนามในคืนเดียวกันกับที่มีการเปิดตัวการรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 ของภาคประชาชนโดยมีสาระสำคัญว่า พรรคเพื่อไทยพร้อมนำข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 มาตรา 116 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา เพื่อตรวจสอบระบบการทำงานของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม และตรวจสอบการสั่งการโดยรัฐบาล รวมถึงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ และการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้ผู้ถูกดำเนินคดีได้รับการปล่อยตัว ซึ่งเป็นการฟื้นฟูความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของประเทศไทย ไม่กี่วันให้หลังทักษิณ ชินวัตรโพสต์เฟซบุ๊กทำนองว่า ปัญหาของมาตรา 112 อยู่ที่การบังคับใช้ ไม่ใช่ตัวกฎหมาย ตามด้วยชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยระบุว่า พรรคมีความมุ่งมั่นที่จะรับข้อเสนอจากทุกๆฝ่าย ในการแก้ไขกฎหมายพรรคไม่ได้มีความคิดจะเป็นผู้ยกร่างกฎหมายดังกล่าว แต่หากมีฝ่ายไหนส่งเข้ามาก็จะรับเข้ามาแล้วไปตัดสินกันในสภา 

 

 

บริบทปี 2565 นักกิจกรรมแนวแรกต่างถูกตรวนตราด้วยคดีความจำนวนมาก ทำให้การเคลื่อนไหวชะงักงันไปบ้าง แต่ความต้องการในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่เคยจางหายไป ทั้งจำนวนรายชื่อที่ต้องการให้ยกเลิกมาตรา 112 และนักกิจกรรมหน้าใหม่ที่เดินหน้าเรียกร้องต่อ เป็นการชุมนุมที่ผู้เข้าร่วมไม่มากแต่คำถามและข้อเรียกร้องยังส่งตรงถึงสถาบันกษัตริย์อย่างการเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุวังและนักกิจกรรมอิสระ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ตะวันและแบม สองนักกิจกรรมอิสระอดอาหารระหว่างการคุมขัง ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติด่วนต่อที่ประชุมรัฐสภาเพื่อขอให้พิจารณาสิทธิในการประกันตัว รวมถึงเรื่องการใช้กฎหมายล้นเกินในกระบวนการยุติธรรมที่ส่งผลกระทบต่อผู้แสดงความคิดเห็น หรือแสดงออกในทางการเมือง เพื่อให้สภาร่วมกันพิจารณาหาทางออก ในครั้งนั้นมีทั้งส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านและรัฐบาลร่วมกันอภิปรายเพื่อหาทางออกและกล่าวถึงปัญหาของมาตรา 112 เช่น องอาจ คล้ามไพบูลย์ พรรคประชาธิปัตย์

 

 

ผมคิดว่า มาตรา 112 นั้นไม่ใช่เป็นมาตราที่ใช้ปัจจุบัน มาตรานี้ได้ถูกใช้มาหลายรัฐบาล ในยุคของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาของการขับเคี่ยวอย่างหนักระหว่างสีต่างๆ ปรากฏว่า มีการใช้มาตรา 112 ดำเนินคดี แต่การแก้ไขขณะนั้นคือ มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาการบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 112 ขึ้นมาทำให้สถานการณ์คลี่คลายพอสมควร” และระบุด้วยว่า ต้องยอมรับความจริงว่า ข้อเรียกร้องครั้งนี้เป็นความจริงที่สังคมประจักษ์ระดับหนึ่งโดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 

 

 

บทสรุป : ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เปลี่ยนโฉมสังคมไทยแต่ยังต้องไปต่อ

 

 

ในปี 2566 เมื่อมีการยุบสภาและเข้าสู่ช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง มาตรา 112 คือหนึ่งในประเด็นที่ถูกพรรคการเมืองหยิบยกขึ้นมาใช้ในการหาเสียงอย่างกว้างขวางทั้งโดยฝ่ายที่เห็นว่าควรมีการแก้ไขกับฝ่ายที่ไม่ต้องการแก้ไขหรือแก้ไขเพื่อเพิ่มอัตราโทษ รวมถึงเป็นหนึ่งในประเด็นที่ผู้สื่อข่าวจะต้อง "เค้น" คำตอบจากตัวแทนพรรคการเมืองที่ให้สัมภาษณ์หรือขึ้นเวทีให้ได้ ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคงไม่เกิดขึ้นหากบทสนทนาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไม่ถูกหยิบยกมาบนพูดคุยในที่สาธารณะอย่างกว้างขวาง 

 

 

หลังการเลือกตั้งพรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่งและรวบรวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้ 312 เสียง การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลในเวลาดังกล่าวเห็นควรเสนอพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่า ประเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กลายเป็นเหตุผลใหญ่ที่ทั้ง “ส.ว.แต่งตั้ง” และส.ส.พรรคฝ่ายรัฐบาลเดิมใช้เป็นเหตุผลที่ไม่อาจสนับสนุนให้พิธาเป็นนายกรัฐมนตรี คำนูณ สิทธิสมาน หนึ่งในส.ว.ระบุว่า จิตวิญญาณความเป็นส.ว.ของเขาคือ “...การธำรงไว้ซึ่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ บทคุ้มครองฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ ให้ดำรงอยู่เทียบเท่ากับที่เคยเป็นมานับตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2475 มิให้กระทบหรือลดทอนลงไป เพราะการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามแนวทางของพรรคก้าวไกล ถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของการเป็นสมาชิกวุฒิสภาในสถานการณ์ปัจจุบัน”

 

 

ทำให้การโหวตครั้งนั้นพิธาไม่ได้คะแนนเสียงเพียงพอให้นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ซ้ำการโหวตครั้งที่สองยังถูกสกัดด้วยการตีความกฎหมายที่ผิดพลาด ท้ายสุดพรรคก้าวไกลต้องส่งไม้ต่อผู้นำการจัดตั้งรัฐบาลให้แก่พรรคเพื่อไทย มาตรา 112 กลายเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณาโหวตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของส.ว. อีกครั้ง มีการเรียกร้องให้เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของเพื่อไทยออกมาย้ำจุดยืนให้ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว วันที่ 1 สิงหาคม 2566 เพจทางการของพรรคเพื่อไทยเผยแพร่คำกล่าวของอนุสรณ์ เอื่ยมสะอาดระบุว่า เศรษฐายืนยันอย่างชัดเจนว่า ...ยอมรับการแก้มาตรา 112 ถือเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญ พรรคที่จะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในครั้งต่อไป จะต้องไม่มีเรื่องการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว. และจากหลายๆ พรรค ซึ่งประชาชนเห็นจุดยืนของ เศรษฐา ทวีสิน และพรรคเพื่อไทย ที่จะไม่ยกเลิก ไม่แก้ไขมาตรา 112 ชัดเจน และชัดเจนอีกครั้งในวันถัดมาในแถลงการณ์ของพรรค ไล่เรียงมาตั้งแต่พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจนถึงพรรคเพื่อไทยที่ได้เดินสายหารือพรรคการเมืองต่างๆ และส.ว. ที่เรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เป็นเงื่อนไขหลักและการไม่สนับสนุนพรรคก้าวไกล โดยพรรคเพื่อไทยและเศรษฐายืนยันว่า จะไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเป็นการกลับจุดยืนเรื่อง 112 ที่แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยเคยให้ไว้ก่อนการเลือกตั้ง

 

 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่การเคลื่อนไหวบนท้องถนนในเดือนสิงหาคม 2563 จนถึงการอภิปรายคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในเดือนกรกฎาคม 2566 รวมถึงกรณีที่ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระซึงเคยเป็นทนายความให้กับสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธะอิสระยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ สะท้อนให้เห็นถึงการปะทะกันระหว่างความพยายามที่จะเปิดพื้นที่การวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผยบนพื้นฐานหลักการและเหตุผลกับความพยายามรักษาสถานภาพเดิมที่การวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ โดยมีทั้งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และสมาชิกวุฒิสภาชุดแต่งตั้งเป็นกลไกสำคัญ 

 

 

ท้ายที่สุดไม่ว่าเส้นทางของการแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงการเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้การวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ที่ตั้งอยู่บนหลักการและเหตุผลเพื่อประโยชน์สาธารณะ จะเป็นเรื่องที่ดูห่างไกลความเป็นจริงสักเท่าใด ก็คงยากที่จะปฏิเสธว่าบทสนทนาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงแล้วนับจากเดือนสิงหาคม 2563 ขณะที่ข้อเสนอยกเลิกมาตรา 112 ของประชาชนยังรอวันเดินหน้าสู่สภา