1016 1524 1459 1313 1286 1912 1645 1357 1517 1143 1591 1241 1178 1751 1013 1866 1596 1265 1851 1577 1705 1027 1885 1822 1869 1128 1261 1044 1345 1249 1659 1388 1505 1311 1230 1493 1375 1285 1905 1661 1071 1232 1157 1773 1072 1862 1136 1987 1903 1999 1185 1068 1012 1821 1461 1689 1270 1866 1197 1932 1659 1001 1043 1437 1286 1080 1927 1031 1503 1856 1333 1496 1464 1032 2000 1932 1758 1455 1922 1748 1328 1679 1978 1194 1562 1445 1593 1499 1303 1719 1495 1963 1584 1054 1310 1713 1631 1893 1102 รู้ไหมใครร้อง?? : “ศรีสุวรรณ จรรยา” ก็ริเริ่มคดี ม.112 ด้วย!? | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

รู้ไหมใครร้อง?? : “ศรีสุวรรณ จรรยา” ก็ริเริ่มคดี ม.112 ด้วย!?

 
270 คดี คือยอดล่าสุดของจำนวนคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือความผิดฐาน “หมิ่นประมาท” พระมหากษัตริย์ (ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566) 
 
เหตุผลหนึ่งที่จำนวนคดีมาตรา 112 พุ่งสูงขึ้นหลังปี 2563 ก็เพราะกฎหมายมาตรานี้มีคุณสมบัติสำคัญ คือ เป็นความผิดที่เขียนอยู่ในหมวด “ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” กฎหมายจึงอนุญาตให้ “ใครก็ได้” ที่พบเห็นการกระทำที่เข้าข่าย ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหาย ก็สามารถเดินไปริเริ่มคดีที่สถานีตำรวจใกล้บ้านได้เลย
 
ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคม สถิติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า จากจำนวนคดีทั้งหมด แบ่งเป็นคดีที่มี “ประชาชนธรรมดา” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน มากถึง 126 คดี หรือประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนคดีทั้งหมด และเมื่อพิจารณาจากรายชื่อผู้ริเริ่มคดีทั้งหมดก็จะพบว่า มี “พลเมืองดี” อยู่ไม่กี่คนที่ร่วมกันอาศัยช่องว่างของกฎหมายไปริเริ่มคดีจนเป็นปรากฏการณ์นักร้อง “หน้าซ้ำ”
 

หากนึกถึง นักร้อง(เรียน)ในไทย ชื่อของ “ศรีสุวรรณ” ก็คงปรากฏขึ้นมาเป็นลำดับแรกๆ

 
ทันทีที่เรื่องใดๆ กลายเป็นประเด็นถกเถียงของสังคมบนโลกออนไลน์ หน้าข่าวในเช้าวันต่อมาก็มักปรากฏชื่อของ “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ว่าได้ไปดำเนินการยื่นเรื่องกับหน่วยงานต่างๆ ให้เข้าตรวจสอบที่มาของประเด็นนั้นๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้วอยู่เสมอๆ
 
ตัวอย่างผลงานโดดเด่นของศรีสุวรรณที่หลายคนอาจจดจำได้ อาทิ การดำเนินการฟ้องร้อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กับ โน้ต-อุดม แต้พานิช เมื่อเดือนตุลาคม 2565 จากการพาดพิงถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการแสดงเดี่ยวไมโครโฟน 13  หรือการยื่นเรื่องให้ กกต. ตรวจสอบนโยบาย “เงินดิจิตัล” ของพรรคเพื่อไทยเมื่อพฤษภาคม 2566 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ในส่วนของเทรนด์ “ประชาชนการริเริ่มฟ้องประชาชนด้วยกันเอง” ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น นักร้องมือฉมังคนนี้ก็ไม่พลาดที่จะทำสถิติไว้มากถึงสี่คดี และมักเลือกริเริ่มคดีซึ่งมีที่มาจากกระแสข่าวในโลกออนไลน์เช่นเดียวกัน
 
แม้จำนวนคดีอาจไม่มากเป็นลำดับต้นๆ ในทำเนียบนักร้องมาตรา 112 มือฉมัง แต่ความโดดเด่นอย่างหนึ่งที่ทำให้ศรีสุวรรณต่างจากนักร้องคนอื่นๆ นั้นคือการ “ลงทุน” เดินทางข้ามภูมิภาคไปริเริ่มคดีที่สถานีตำรวจต้นทางในบางคดี เพราะหากพิจารณาจากช่องว่างของกฎหมายที่อนุญาตให้คนทั่วไปสามารถริเริ่มคดีจากที่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าบ้านของผู้ที่ถูกกล่าวหาอยู่แถวนั้นด้วยหรือไม่ ส่งผลให้ในบางพื้นที่เกิดปัญหาการกระจุกตัวของคดีในแต่ละจังหวัด แต่ศรีสุวรรณกลับเลือกที่จะไม่ทำเช่นนั้น 
 
และแม้ว่าเมื่อ 9 มิถุนายน 2566 อธิบดีกรมการปกครองจะมีคำสั่งยุบ “สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย” ของศรีสุวรรณหลังพบการแอบอ้างชื่อของผู้อื่นมาจดจัดตั้งสมาคม อย่างไรก็ตาม ศรีสุวรรณระบุว่าหลังจากนี้ภายใน 15 วันจะทำการยื่นอุทธรณ์ต่ออธิบดีกรมการปกครอง ซึ่งหากพิจารณาแล้วว่าคำอุทธรณ์มีน้ำหนักไม่เพียงพอ ตนก็ยินยอมให้เพิกถอนสมาคมได้ พร้อมยืนยันว่าไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือไม่ ตนก็จะทำหน้าที่ยื่นเรื่องร้องเรียนเช่นเดิมในนามปัจเจกบุคคล 
 
สำหรับคดีมาตรา 112 ที่ศรีสุวรรณเป็นผู้ไปริเริ่ม มีดังต่อไปนี้
 
2861
 
1) คดีรามิล-เท็น แสดงงานศิลปะคล้ายธงชาติไทยโดยไม่มีสีน้ำเงิน
 
คดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2564 มีการแสดงงานศิลปะระหว่างการชุมนุม “ยุทธการไล่ประยุทธ์” ที่บริเวณสนามรักบี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยภายในงานมีการแสดงผลงานชิ้นสำคัญของรามิล-ศิวัญชลี วิชญเสรีวัฒน์ และเท็น-ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ สองนักศักษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากกลุ่มศิลปิน "artn’t" ได้แก่ ป้ายผ้าลักษณะคล้ายธงชาติไทย โดยพื้นที่บริเวณช่องกลางถูกแทนที่ด้วยแผ่นพลาสติกใสพร้อมหุ่นคล้ายศพนอนอยู่ด้านใน
 
2862
 
ในระหว่างการจัดงาน ผู้จัดงานได้กล่าวเชิญชวนมวลชนที่ร่วมกิจกรรมให้เข้ามาเขียนความคิดเห็นลงในแผ่นพลาสติกดังกล่าว ซึ่งภายหลังปรากฏข้อความ อาทิ  “FUCK 112 IF YOU USE 112 FUCK YOU TOO”, “พอแล้วไอ้ษัตร์”, “สุนัขทรงเลี้ยงออกไป”, “พอทีภาษีกูเลี้ยงหอย” 
 
ต่อมา ผลงานชิ้นดังกล่าวปรากฏในหน้าข่าวอีกครั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 หรือวันเดียวกันกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีเสด็จพระราชดำเนินไปเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ กองพลทหารราบที่ 7 อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ สืบเนื่องจากในคืนก่อนหน้า (21 มีนาคม 2564) มีรายงานกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาตรวจสอบงานศิลปะในพื้นที่จัดแสดงงาน และผู้บริหารของคณะวิจิตรศิลป์ได้เข้ามาเก็บงานแสดงศิลปะของนักศึกษาจำนวนหนึ่งใส่ถุงดำ โดยระบุเหตุผลถึงเรื่องความสะอาดของพื้นที่ 
 
ข่าวดังกล่าวส่งผลให้ในวันที่ 26 มีนาคม 2564 ศรีสุวรรณเดินทางไกลไปที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ โดยเขาระบุว่าเหตุการณ์ที่กลุ่มคณบดี คณะวิจิตรศิลป์เข้ามายึดผลงานศิลปะของนักศึกษาใส่ถุงดำ ปรากฏพบวัตถุคล้ายธงผืนดังกล่าวนี้ในข่าว จึงต้องการมาร้องเรียนเพื่อดำเนินคดีกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแสดงงานศิลปะชิ้นนี้ 
 
ในคดีนี้ อัยการมีคำสั่งฟ้องในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ธงฯ มาตรา 51 โดยระบุว่า แผ่นพลาสติกคล้ายธงชาติไทยที่ไม่มีแถบสีน้ำเงิน สื่อว่านักศึกษาทั้งสองคนไม่ประสงค์ให้มีสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทย รวมทั้งข้อความที่ผู้ชุมนุมเขียนบนงานศิลปะดังกล่าวก็เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ 
 
2) คดีสายน้ำ แปะกระดาษและพ่นสีสเปรย์ทับพระบรมฉายาลักษณ์
 
2864 สายน้ำ นักกิจกรรมเยาวชนผู้ต้องหามาตรา 112
 
คดีนี้สืบเนื่องมาจากการชุมนุม #ทวงคืนประเทศไทยขับไล่ปรสิต เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ซึ่งเป็นการเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทําเนียบรัฐบาล ภายในวันดังกล่าวมีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน หนึ่งในนั้นคือพฤติการณ์ตามคำฟ้องมาตรา 112 ที่อัยการสั่งฟ้องต่อสายน้ำ นักกิจกรรมเยาวชน โดยระบุว่า สายน้ำเป็นผู้แปะกระดาษที่มีข้อความว่า “CANCLE LAW 112” และ “เอาช่วงเวลาชีวิตพวกกูคืนมา” ปิดทับบนพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ใกล้แยกนางเลิ้ง พร้อมกับใช้สีสเปรย์สีดำพ่นทับข้อความ “ทรงพระเจริญ” ด้วยคำหยาบคาย ก่อนจะจุดไฟเผาจนมีไฟลุกไหม้ผ้าแพรที่ประดับอยู่ด้านล่างของกรอบรูป 
 
ภายหลังการชุมนุมวันดังกล่าวสิ้นสุดลง บนโลกโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก “ปราชญ์ สามสี” ได้โพสต์รูปภาพบุคคลสวมใส่เสื้อกับกางเกงสีดำ สวมเสื้อเกาะอ่อนและหมวก พร้อมระบุชื่อว่าบุคคลในภาพคือสายน้ำ 
 
ต่อมา เมื่อศรีสุวรรณพบเห็นภาพดังกล่าว จึงเดินทางไปริเริ่มแจ้งความดำเนินคดีที่ สน.นางเลิ้ง เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 โดยเขาเบิกความต่อศาลในการสืบพยานว่า ได้หาข้อมูลจากโซเชียลมีเดียและพบว่าชายผู้กระทำผิดมีรูปพรรณคล้ายสายน้ำ รวมถึงในโซเชียลมีเดียก็ยืนยันว่าผู้กระทำผิดคนดังกล่าวคือสายน้ำจริง ซึ่งตนเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม จึงตัดสินใจมาแจ้งความดำเนินคดีนี้ นอกจากนี้ ศรีสุวรรณยังมองว่าการชุมนุมในวันดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกทั้งการชุมนุมก็ไม่ได้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย จึงยื่นฟ้องร้องสายน้ำในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วย
 
24 กรกฎาคม 2564 สายน้ำเข้าแสดงตัวต่อพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้งด้วยตนเอง จากนั้นตำรวจจึงแสดงหมายจับเพื่อนำตัวสายน้ำเข้าสู่กระบวนการสอบสวน และเนื่องจากสายน้ำมีอายุ 17 ปีในวันที่ไปรายงานตัว คดีของเขาจึงอยู่ภายใต้ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง พร้อมกับต้องเดินทางไปตามกำหนดนัดของสถานพินิจตลอดระยะเวลาที่คดียังไม่สิ้นสุด 
 
ล่วงเลยมาเป็นเวลาเกือบสองปี ศาลเยาวชนฯ มีคำพิพากษาเมื่อ 30 มีนาคม 2566 ให้ยกฟ้องในข้อหามาตรา 112 โดยระบุว่าภาพหลักฐานไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าเป็นผู้กระทำการตามข้อกล่าวหาจริงหรือไม่ ส่วนข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลลงโทษปรับ 6,000 บาท ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษปรับ เหลือ 4,000 บาท 
 
3) คดีมัมดิว-นารา-หนูรัตน์ โพสต์คลิปแคมเปญโฆษณา LAZADA
 
2863 ภากจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
 
คดีนี้กลายเป็นข่าวดังในโซเชียลมีเดียเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ภายหลังเว็บไซต์ LAZADA ได้โพสต์คลิปวิดีโอโฆษณาโปรโมทแคมเปญ 5.5 ผ่านทางแอพลิเคชั่น Tiktok เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565 โดยมีนักแสดงปรากฏในคลิปสามคนได้แก่ กิตติคุณ ธรรมกิติราษฎร์ หรือมัมดิว, ธิดาพร ชาวคูเวียง หรือหนูรัตน์ และอนิวัต ประทุมถิ่น หรือนารา https://tlhr2014.com/archives/44935 ซึ่งต่อมา มีเสียงวิพากษ์ว่าคลิปดังกล่าวเป็นการล้อเลียนคนป่วย รวมทั้งมีเจตนาหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ จนเกิดเป็นแฮชแท็ก #BanLAZADA ก่อนที่ในวันรุ่งขึ้น (5 พฤษภาคม 2565) ทางเอเจนซี่ผู้จัดทำโฆษณาจะออกแถลงการณ์ขอโทษและลบคลิปดังกล่าวออกไป  
 
7 พฤษภาคม 2565 ศรีสุวรรณเดินทางไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อยื่นเรื่องแจ้งความดำเนินคดีกับสามนักแสดง เอเจนซี่ที่จัดทำโฆษณา รวมทั้งแอพพลิเคชั่น LAZADA โดยระบุว่าเนื้อหาในคลิปเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามผู้พิการ และดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการกระทำที่คนไทยทั้งประเทศยอมรับไม่ได้ ตนจึงต้องแจ้งความเอาผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 
 
ประมาณหนึ่งเดือนต่อมา 16 มิถุนายน 2565 ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า ในเวลา 10.00 น. มัมดิวถูกตำรวจ บก.ปอท. เข้าแสดงหมายจับถึงบ้านพักและควบคุมตัวไปทำบันทึกการจับกุมตามหมายจับของศาลอาญา ก่อนที่นาราและหนูรัตน์จะถูกจับกุมและควบคุมตัวมาที่ บก.ปอท. ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน 
 
หนึ่งปีต่อมา 24 พฤษภาคม 2566 อัยการมีคำสั่งฟ้อง โดยทั้งสามคนได้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี พร้อมเงื่อนไขห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันที่อาจทำให้เสื่อมเสีย และห้ามชุมนุมที่อาจทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยวางหลักทรัพย์ประกันคนละ 90,000 บาท และศาลนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้ง 24 กรกฎาคม 2566 
 
ทั้งนี้ รายงานการสอบสวนและคำบรรยายฟ้องที่ศูนย์ทนายฯ เผยแพร่ ระบุพฤติการณ์ความผิดว่า นาราเป็นผู้ผลิตและอัปโหลดคลิปบน TikTok โดยปรากฏในคลิปว่าหนูรัตน์ได้แสดงบทบาทเป็นหญิงพิการแต่งชุดไทยประยุกต์ในสมัยรัชกาลที่ห้า นั่งรถเข็นในลักษณะเอียง ก่อนที่จะลุกขึ้นยืนเพื่อแสดงว่าตนเองไม่ได้พิการจริง ซึ่งเป็นการล้อเลียน และหมิ่นประมาทเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ว่าไม่ได้มีอาการป่วยจริง ขณะที่มัมดิวนั่งอยู่บนโซฟา ใช้สำเนียงการพูดช้าๆ มีลักษณะเฉพาะ มิใช่น้ำเสียงตามธรรมชาติ โดยสวมเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ แต่งหน้า และทําทรงผม มีลักษณะที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ว่าเป็นการแสดงเลียนแบบสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ 
 
4) คดีแพทย์ระยอง คอมเมนต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก
 
คดีนี้ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฏวัฒนะ ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีแพทย์จากโรงพยาบาลเอกชนรายหนึ่งโพสต์ข้อความหมิ่นเบื้องสูง ดังนี้
 
“นพ.ศราวิน ทองรอง แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน สำเร็จการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้โพสต์ข้อความวิวาทะในโลกออนไลน์ด้วยการใช้สรรพนามลบหลู่พระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาชฯ รพ.ใดที่รับนายแพทย์คนนี้ทำงานไม่ว่าจะ Full Time หรือ Part Time ขอให้เลิกจ้างมันเสียโดยเร็ว มิฉะนั้นผมจะดำเนินมาตรการทางสังคมต่อต้าน รพ.ต้นสังกัดอริราชศัตรูคราบเสื้อกาวน์ตัวนี้อย่างรุนแรง”
 
โพสต์ดังกล่าวเป็นเหตุให้ต่อมา วันที่ 6 มกราคม 2564 ทางโรงพยาบาลกรุงเทพระยองและโรงพยาบาลจอมเทียนได้ออกแถลงการณ์ถึงคำสั่งให้ นพ.ศราวิน พ้นสภาพจากการเป็นแพทย์ของโรงพยาบาล เนื่องจากกระทำการไม่เหมาะสม ผิดระเบียบบริษัทของโรงพยาบาล 
 
จากนั้น 8 มกราคม 2564 ศรีสุวรรณเดินทางไปริเริ่มคดีกับทาง บก.ปอท. เพื่อให้ฟ้องร้อง นพ.ศราวิน ในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยระบุว่า นพ.ศราวิน ได้แสดงความคิดเห็นในโพสต์เฟซบุ๊กของโรงพยาบาลกรุงเทพระยอง โดยใช้ถ้อยคำลบหลู่ดูหมิ่นต่อสถาบันเบื้องสูงซึ่งคนไทยทั้งประเทศเทิดทูนเคารพ และทราบว่าปัจจุบันเฟซบุ๊กดังกล่าวได้ปิดแอคเคาท์ไปแล้ว แต่บนโลกออนไลน์ยังมีการส่งต่อข้อมูลกันอยู่