1123 1432 1938 1983 1314 1497 1063 1289 1569 1507 1428 1540 1570 1375 1671 1983 1535 1343 1543 1177 1448 1423 1167 1580 1012 1089 1532 1483 1285 1387 1042 1750 1784 1049 1418 1183 1902 1377 1319 1806 1044 1773 1525 1678 1113 1767 1434 1733 1610 1544 1009 1895 1334 1981 1229 1986 1682 1849 1013 1017 1591 1282 1302 1242 1797 1941 1513 1717 1107 1500 1483 1610 1243 1372 1985 1382 1174 1600 1678 1388 1628 1280 1164 1989 1693 1609 1974 1341 1677 1473 1102 1236 1519 1753 1679 1672 1470 1449 1949 112 ALERT! ชวนเปิดแฟ้ม “เพชร ธนกร” คดีปราศรัย #ม็อบ6ธันวา ก่อนพิพากษา | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

112 ALERT! ชวนเปิดแฟ้ม “เพชร ธนกร” คดีปราศรัย #ม็อบ6ธันวา ก่อนพิพากษา

ตัวเลข 20 คือจำนวนคดีมาตรา 112 ที่มีผู้ต้องหาเป็นเยาวชน ภายหลังการประกาศแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีว่าจะนำกฎหมาย “ทุกฉบับทุกมาตรา” กลับมาใช้ดำเนินคดีกับประชาชนอีกครั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ส่งผลให้นี่เป็น “ครั้งแรก” ในประวัติศาสตร์ไทย ที่มีการนำกฎหมายมาตราดังกล่าวซึ่งมีโทษสูงสุดถึง 15 ปี มาบังคับใช้กับเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี 
 
ภาพของนักเรียนมัธยมผูกโบขาวชูสามนิ้วระหว่างเคารพธงชาติที่ถูกเผยแพร่ในช่วงปี 2563 คือหลักฐานยืนยันว่า กระแสความตื่นตัวทางการเมืองในช่วงเวลานั้นเกิดขึ้นในหมู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยหลายคนที่อายุยังไม่ถึง 18 ปีไม่เพียงไปเข้าร่วมการชุมนุมเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในฐานะ “นักปราศรัย” ที่ไปขึ้นเวทีปราศรัยสลับกับบรรดารุ่นพี่อีกด้วย
 
เพชร ธนกร คือหนึ่งในเยาวชนอายุ 17 ปีที่ต้องโทษมาตรา 112 รวมกันถึงสามคดี จากการจับไมค์ปราศรัยตั้งคำถามถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเด็นต่างๆ และต้องพบเจอกับความกดดันที่ตามมาจากการเข้าสู่กระบวนการของ “ศาลเยาวชน” ทั้งการต้องไปพบพนักงานคุมประพฤติหรือนักจิตวิทยาตามกำหนดนัด ไปจนถึงข้อกำหนดการพิจารณาคดีแบบ “ปิดลับ” ที่ไม่อนุญาตให้ทนายความและเพื่อนๆ สามารถเข้าไปร่วมฟังการพิจารณาได้
 
ท่ามกลางคดีมาตรา 112 ที่ผู้ต้องหาเป็นเยาวชนกว่า 20 คดี คดีของเพชรมีความสำคัญในฐานะคดีเยาวชน “คดีแรก” ที่จะมีคำพิพากษา
 
ภายหลังการสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางก็นัดฟังคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ของเพชรจากการปราศรัยที่วงเวียนใหญ่ใน #ม็อบ6ธันวา เป็นวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.00 น. แต่ก่อนที่นาฬิกาของคำพิพากษาจะเดินไปถึง ไอลอว์ชวนทำความรู้จักคดีมาตรา 112 ของเพชรให้มากขึ้น
 
 

(1) เพชรเป็นใคร? ทำไมโดนฟ้อง ม.112 ?

 

2674
 
 
o ผู้ริเริ่มคดี: จักรพงศ์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)
o ผู้ถูกกล่าวหา: เพชร ธนกร เป็นนักกิจกรรม อดีตนักเรียนอาชีวะ เกิดและเติบโตที่จังหวัดสมุทรปราการ
 
เพชรนิยามว่าตนเองเป็น “เด็กร้านเกม” ที่ใช้เวลาว่างไปกับการขลุกตัวอยู่ในร้านอินเทอร์เน็ตและใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางในการติดตามข่าวดาราเกาหลี เพชรเล่าว่าทวิตเตอร์ทำให้ได้เห็นข่าวการเมืองหลายๆ ข่าวที่ทำให้ต้องตั้งคำถาม และเริ่มหาข่าวหรือคอมเมนต์จากอินฟลูเอนเซอร์ทางการเมืองมาอ่านมากขึ้น จนกระทั่งการติดตามเนื้อหาการเมืองกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเพชรมาตั้งแต่อายุยังไม่เข้าเลขสอง
 
ในวัย 17 ปี เพชรเป็นเยาวชนที่มีคดีความทางการเมืองอย่างน้อยห้าคดี ได้แก่ คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวนสองคดี และคดีที่มีอัตราโทษสูงอย่างมาตรา 112 อีกจำนวนสามคดี (1) จากการปราศรัยที่วงเวียนใหญ่ใน #ม็อบ6ธันวา (2) คดีจากร่วมกิจกรรมแต่งคร็อปท็อปเดินสยามพารากอน เมื่อ 20 ธันวาคม 2563 และ (3) คดีจากปราศรัยในการชุมนุม #คนนนท์ไม่ทนเผด็จการ ที่ท่าน้ำนนทบุรี เมื่อ 10 กันยายน 2563
 
สำหรับคดีที่กำลังจะมีคำพิพากษาในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 คือคดีมาตรา 112 คดีแรกจากการปราศรัยเมื่อ 6 ธันวาคม 2563 ที่วงเวียนใหญ่ โดยเนื้อหากล่าวถึงบทบาทของกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของไทย และมีผู้ริเริ่มคดีคือ จักรพงศ์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)
 
ตามคำฟ้องของอัยการระบุใจความว่า เพชรได้ปราศรัยตั้งคำถามถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในปัจจุบัน การลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหาร และการปฏิรูปโครงสร้างของประเทศ ในลักษณะใส่ความรัชกาลที่ 10 ซึ่งทำให้บุคคลที่สามเข้าใจว่า “พระองค์เป็นบุคคลไม่ดี ไม่เคารพกฎหมาย ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ทำสิ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิดก็ไม่ต้องรับผิดใดๆ และสามารถกระทำการใดๆ เกินกว่าที่กฎหมายจะบังคับได้” รวมทั้งใส่ความต่อรัชกาลที่ 9 ว่า “ทรงสนับสนุน อนุญาต ยอมรับหรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการทำรัฐประหารและปกครองระบอบเผด็จการ โดยทรงลงนาม (เซ็น) ยินยอมให้มีการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2557” 
 
นอกจากนี้ ในวันดังกล่าวยังมีนักกิจกรรมอีกสองคนที่ขึ้นปราศรัยและถูกตั้งข้อหามาตรา 112 เช่นเดียวกับเพชร ได้แก่ ชูเกียรติ แสงวงค์ และวรรณวลี ธรรมสัตยา (ตี้ พะเยา) แต่เนื่องจากเพชรยังมีสถานะเป็นเยาวชน เจ้าหน้าที่จึงต้องดำเนินการแยกฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
 
 

(2) บาดแผลที่ต้องพบเจอใน “ศาลเยาวชน”

 

2675
 
 
ในขณะที่เกิดเหตุคดีมาตรา 112 ทั้งสามคดี เพชรยังอายุไม่ถึง 18 ปี คดีทั้งหมดของเพชรจึงอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลเยาวชนซึ่งมีกระบวนการและขั้นตอนที่แตกต่างออกไปจากการพิจารณาคดีของผู้ใหญ่ เช่น ต้องไปพบนักจิตวิทยา และต้องเข้ารับการพิจารณาคดีแบบ “ปิดลับ”
 
เพชรเล่าว่า มีนักจิตวิทยาคนหนึ่งซึ่งมีหน้าที่พูดคุยระหว่างการถูกดำเนินคดีเขียนรายงานการติดตามความประพฤติว่า “มีทัศนคติการเมืองที่ไม่ดี” เนื่องจากเห็นว่าเพชรใช้รูปภาพของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเป็นภาพโปรไฟล์ในแอพลิเคชันไลน์ ซึ่งเพชรเห็นว่าโปรไฟล์ไลน์ถือเป็นพื้นที่ส่วนตัว
 
มากกว่านั้น นักจิตวิทยาคนดังกล่าวยังเคยสั่งให้เพชรทำการบ้านด้วยการคัดลายมือเป็นข้อความศีลห้าและข้อความอาชีพสุจริตด้วย การถูกสั่งเช่นนี้ทำให้เพชรรู้สึกถูกลดทอน เพราะเพชรมองว่าสิ่งที่ทำให้ถูกดำเนินคดีเป็นเพียงการแสดงความความคิดเห็นทางการเมืองเท่านั้น
 
นอกจากนี้ ข้อกำหนดที่ให้การพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนต้อง “พิจารณาโดยลับ” ยังทำให้เพชรรู้สึกโดดเดี่ยว เนื่องจากเพชรมองว่าคดีของตนเป็นคดีการเมือง ซึ่งมีลักษณะเป็นคดีสาธารณะ การมีประชาชนที่สนใจหรือเพื่อนร่วมอุดมการณ์มาให้กำลังใจในห้องพิจารณาคดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่เพียงเท่านั้น การมีเพียงผู้ปกครองอยู่ในห้องพิจารณาคดียังจำกัดแนวทางการต่อสู้คดีของเพชรด้วย เพราะเมื่อเวลาต้องการที่จะโต้แย้งกับผู้พิพากษา เพชรก็ต้องเผชิญความกดดันเพราะพ่อมีความคิดเห็นต่อแนวทางการต่อสู้คดีที่แตกต่างออกไป พ่อของเพชรเป็นห่วงว่า หากเพชรโต้เถียงกับผู้พิพากษาหรือมีท่าทีแข็งกร้าวเกินไป อาจจะส่งผลเสียในทางคดีได้
 
“มันแย่มากเลย ช่วงการสืบพยานศาลไม่อนุญาตให้ใครเข้าห้อง ไม่อนุญาตกระทั่งทีมงานของศูนย์ทนายฯ ที่จะเข้าไปช่วยจดประเด็นเพราะคดีของเราประเด็นมันเยอะ ทนายคนเดียวยังไงก็จดไม่ทัน คดี 112 เป็นคดีการเมือง ถูกเอามาใช้ในสถานการณ์ทางการเมือง แล้วเราจะเชื่อได้ยังไงว่าจะได้รับความเป็นธรรม”
 
“ใจจริงเราอยากให้คนนอกเข้ามานั่งฟังการพิจารณาคดีของเราได้ เราจะได้รู้สึกว่าเราเข้าถึงความยุติธรรมจริงๆ ถ้ามีตัวแทนสถานทูตหรือองค์กรสิทธิฯ มาฟังด้วยมันคงดีกว่านี้ แต่นี่ไม่มีเลย”
 
 

(3) เกิดอะไรขึ้นกับ “เพชร” หลังถูกดำเนินคดี ?

 

2676
 
 
ภายหลังถูกดำเนินคดีทางการเมือง เพชรเล่าว่าชีวิตของตนในปี 2564 วนเวียนอยู่กับสถานีตำรวจ อัยการและศาล แม้จะมีทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนคอยให้ความช่วยเหลือทางคดีโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่ “ราคา” ของกระบวนการยุติธรรมก็ไม่ได้มีเพียงเท่านั้น เพราะคดีของเด็กและเยาวชนมีขั้นตอนพิเศษ คือการต้องเข้าพบ “พนักงานคุมประพฤติ” หรือนักจิตวิทยาตามกำหนดนัด
 
“คดีที่นนทบุรีนี่หนักหน่อยตรงที่สถานพินิจอยู่ไกลเหมือนเข้าไปกลางทุ่งนา แล้วเรากับพ่อเราก็อยู่คนละบ้านกัน หลังถูกดำเนินคดีเราตัดสินใจออกมาอยู่ข้างนอกเพราะไม่อยากให้การทำกิจกรรมของเราไปเป็นปัญหาเดือดร้อนที่บ้าน โดยเฉพาะการติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ รวมแล้วค่ารถไปกลับของเรากับพ่อทั้งไปศาล ไปสถานพินิจในทุกๆ คดีรวมๆ กันแล้วก็เป็นหมื่นอยู่...”
 
ภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการถูกดำเนินคดีทำให้เพชรตัดสินใจมองหาลู่ทางอาชีพใหม่ๆ จากเดิมที่เคยทำงานพิเศษด้วยการรับจ้างล้างจาน การต้องไปสถานพินิจและขึ้นโรงขึ้นศาลทำให้เพชรไม่สามารถหางานประจำที่ทำงานเป็นเวลาได้ ทางเลือกของเพชรจึงจำกัดอยู่ที่การทำอาชีพอิสระ โดยมีช่วงหนึ่งที่เพชรตัดสินใจซื้อหนังสือดูดวงและไพ่มาสองชุด ในบางครั้งเพชรทำรายได้ได้ถึงวันละพันบาท แต่ก็ยังเป็นงานที่มีรายได้ขึ้นลงไม่แน่นอน
 
ช่วงปี 2564 เพชรยังคงไปร่วมการชุมนุมบ้าง แต่ไม่บ่อยเท่าเดิมเพราะเริ่มมีภาระมากขึ้น ก่อนที่ในปี 2565 เพชรและเพื่อนๆ ก็แทบไม่ค่อยได้ไปร่วมชุมนุมอีกต่อไป
 
“ช่วงแรกๆ ที่ออกมาอยู่กับเพื่อนๆ มันคือเซฟโซน แต่ตอนนี้ไม่ใช่แบบนั้นแล้ว หลายคนอยู่ในช่วงที่สภาพจิตใจไม่ดีและต้องการการพักฟื้น หลายๆ คนรวมทั้งตัวเราต่างรู้ว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองมันเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของชีวิต เราก็ยังมีชีวิตส่วนอื่นๆ ที่ต้องใช้ มีอีกหลายๆ เรื่องที่ต้องจัดการ”
 
“เพื่อนนักกิจกรรมหลายคนเริ่มถอยไปโฟกัสกับชีวิตตัวเองมากขึ้น ตัวเราเองก็เริ่มต้องหันมาหาอาชีพหาทางเลี้ยงดูตัวเอง จริงอยู่สมัยที่เราขึ้นปราศรัยอาจจะมีแฟนคลับ มีคนที่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราออกมาเคลื่อนไหวให้การสนับสนุนเรา แต่ต้องไม่ลืมว่ามันก็เป็นแค่เรื่องเฉพาะกิจ สุดท้ายเราทุกคนก็ต้องมีอาชีพ ต้องหารายได้ ต้องมีชีวิตของตัวเอง ไม่มีใครจะมาสนับสนุนเราไปได้ตลอด เราทุกคนต่างต้องยืนด้วยตัวเอง”