1103 1798 1174 1440 1102 1793 1054 1582 1840 1348 1505 1909 1540 1281 1138 1886 1049 1902 1124 1605 1216 1952 1461 1695 1097 1801 1546 1259 1553 1667 1137 1934 1235 1411 1176 1587 1413 1664 1072 1174 1401 1772 1684 1033 1571 1929 1252 1896 1698 1847 1323 1267 1974 1609 1289 1216 1758 1638 1019 1680 1371 1299 1471 1110 1502 1043 1391 1560 1242 1410 1954 1221 1616 1153 1530 1225 1441 1525 1719 1081 1592 1045 1436 1347 1775 1209 1384 1439 1289 1635 1425 1722 1384 1778 1882 1323 1985 1456 1974 RECAP 112 : ชวนรู้จักคดี “สามราษฎรใต้ : ข้าว-ฝน-เตย” ถูกกล่าวหาว่าทำผิด 112 ช่วงก่อน ร.10 เสด็จไปพัทลุง | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

RECAP 112 : ชวนรู้จักคดี “สามราษฎรใต้ : ข้าว-ฝน-เตย” ถูกกล่าวหาว่าทำผิด 112 ช่วงก่อน ร.10 เสด็จไปพัทลุง

 
2666
 
 

(1) ข้าว-ฝน-เตย เป็นใคร??

 
ศุภกร หรือ ข้าว, อลิสา หรือ ฝน และ ชมพูนุท หรือ เตย ทั้งสามคนมีจุดร่วมกันคือเป็นนักกิจกรรมในกลุ่ม “ราษฎรใต้” ศึกษาที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และเป็นสายกิจกรรม ร่วมกิจกรรมต่างๆ ในรั้วมหา’ลัย แต่พื้นเพและความสนใจบางเรื่องของทั้งสามคนก็แตกต่างกัน
 
ข้าว นิยามตัวเองในอดีตว่าเป็นผู้เพิกเฉยต่อการเมืองและไม่ชอบเรื่องการเมืองมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากเติบโตมาในครอบครัวที่มีพ่อเป็นแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรฯ ต่อมาเมื่อเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ การเรียนเรื่องเศรษฐกิจ นโยบาย ภาษี ประกอบกับการร่วมกิจกรรมของมหา’ลัย ออกค่ายอาสา ก็ค่อยๆ หล่อหลอมให้ข้าวสนใจการเมืองมากขึ้น และเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ได้จับไมค์ปราศรัยชุมนุมที่พื้นที่รั้วมหา’ลัย หลังเกิดเหตุการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่
 
ส่วนฝน เริ่มทำกิจกรรมเคลื่อนไหวประเด็นในภาคใต้มาตั้งแต่อยู่มัธยมศึกษาปีที่ 5 อายุ 17 ปี ด้วยความที่เติบโตมากับท้องทะเลและเรียนโรงเรียนที่ติดอยู่กับชายหาด จึงเห็นปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และเริ่มทำกิจกรรมเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ต่อมาเมื่อศึกษาในคณะนิติศาสตร์ ฝนก็ขยับมาทำกิจกรรมเรื่องสิทธิชุมชน ประเด็นความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านที่ต้องการปกป้องทรัพยากรทางธรรมชาติของชุมชนกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ และตั้งกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ หรือ Law Long Beach ขึ้นมา
 
ขณะที่เตย มีจุดร่วมกับข้าวตรงที่ครอบครัวมีแนวคิดทางการเมืองทำนองเดียวกัน เตยมองว่าตัวเองค่อนข้างมีความสนใจทางการเมืองเพียงแต่มีความคิดอยู่ในกรอบ เมื่อเข้ามหา’ลัย เตยทำกิจกรรมหลายอย่าง เช่น เป็นครูอาสา สมัครเข้าชมรม ช่วยงานในสโมสรนิสิต ทำให้เตยได้ทำงานเพื่อสังคม พูดคุยถึงประเด็นการเมือง และเริ่มตื่นรู้ทางความคิด และอีกหัวโขนหนึ่ง เตยก็เป็นสมาชิกกลุ่ม “เฟมินิสต์ปลดแอกภาคใต้” หรือเรียกสั้นๆ ว่า เฟมฯ ใต้  ทำงานเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสภาพจิตใจแก่กลุ่มนักกิจกรรมในภาคใต้รวมถึงบุคคลทั่วไปที่สนใจ
 
 

(2) ทำไมทั้งสามจึงถูกตั้งข้อหา ม.112 ??

 
เรื่องราวของคดีเริ่มต้นขึ้นเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 มีคนกลุ่มหนึ่งนำเลเซอร์ไปฉายข้อความตามสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดพัทลุง เช่น คิดถึงยอด SCB ใจจะขาด” “เผด็จการจงพินาศ เป็ดก้าบ ก้าบ จงเจริญ”  โดยเหตุเกิดไม่กี่วันก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดศาลหลักเมืองจังหวัดพัทลุง
 
o กรณีของข้าว
 
เวลาผ่านไปร่วมปี 23 พฤศจิกายน 2564 ข้าวเดินทางไปฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งอยู่ภายในพื้นที่ม.อ. แต่หลังข้าวฉีดวัคซีนเสร็จ จู่ๆ ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3-4 นายมารุมล้อมและแสดงหมายจับ โดยที่ข้าวไม่เคยได้รับหมายเรียกผู้ต้องหามาก่อนเลย หลังจากนั้น ตำรวจก็นำตัวข้าวไปยังสภ.เมืองพัทลุง ข้าวถูกคุมตัวเข้าห้องขังของสภ. หนึ่งคืน เนื่องจากพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนไม่อยู่
 
วันถัดมา 24 พฤศจิกายน 2564 พ.ต.ท.นพรัตน์ แก้วใจ พนักงานสอบสวน ก็แจ้งข้อกล่าวหากับข้าวสามข้อหา ได้แก่ 1) ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 2) ความผิดความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 3) ความผิดฐานนำข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
 
พนักงานสอบสวนแจ้งว่า ข้าวและพวกขับขี่รถยนต์ไปถ่ายรูปสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดพัทลุง จากนั้นได้ตัดต่อใส่ข้อความในภาพที่ถ่ายมา ก่อนจะนำไปโพสต์ในเฟซบุ๊กเพจ “พัทลุงปลดแอก” และเพจ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” โดยที่ภาพและข้อความที่ตัดต่อเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และพระราชินี ข้าวให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และวันเดียวกันนั้นเอง พนักงานสอบสวน ยื่นคำร้องขอฝากขังข้าวต่อศาลจังหวัดพัทลุงผ่านทางระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ อ้างว่าต้องสอบพยานเพิ่มเติมอีกหกปาก และรอผลตรวจลายนิ้วมือผู้ต้องหา แต่ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ข้าวได้รับการประกันตัวช่วงเย็นวันเดียวกัน โดยใช้ตำแหน่งทางวิชาการของ สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.อ. เป็นหลักประกัน
 
o กรณีของฝนและเตย
 
26 พฤศจิกายน 2564 หรือสองวันต่อมา ฝนและเตยเดินทางไปยังสภ.เมืองพัทลุงเพื่อรายงานตัวหลังทราบว่าถูกออกหมายจับ ทั้งคู่ต่างก็ไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อนเหมือนกันกับข้าว โดยทั้งสองให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ด้านพนักงานสอบสวนก็ใช้สเต็ปเดียวกันกับกรณีข้าว ยื่นขอฝากขังทั้งคู่ต่อศาลจังหวัดพัทลุง แต่ฝนและเตยก็ได้ประกันตัวโดยมีตำแหน่งทางวิชาการของนักวิชาการจากม.อ.เป็นหลักประกัน
 

(3) เปิดแฟ้มคดี มีอะไร “ผิดปกติ” ในคดีนี้บ้าง?

 
นอกจากการจับกุมโดยไร้หมายเรียกแล้ว ในกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาก็ยังมีปัญหา จากคำบอกเล่าของฝน ตอนที่ไปรายงานตัวเองตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาแล้วไม่ยอมให้สำเนาตัวจริงของบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา ให้จดเอาเอง ทำให้ไม่รู้เลยว่าถ้าเอกสารอยู่ในมือตำรวจแล้วจะเปลี่ยนแปลงไปยังไงได้บ้าง
 
ฝนเล่าต่อว่า หลังจากนั้น ตำรวจก็นัดไปทำบันทึกข้อกล่าวหาใหม่ และแจ้งข้อกล่าวหาใหม่ จึงให้สำเนามา แต่ก็ยังไม่จบ มีหมายเรียกมาที่บ้านอีกเป็นครั้งที่สาม ให้ไปสถานีตำรวจอีกรอบเพื่อแก้ไขข้อความในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา เพราะตำรวจคิดว่าตัวเองลงวันที่ที่ฉายแสงเลเซอร์ผิด แล้วก็เปลี่ยนข้อกล่าวหาใหม่เป็นการร่วมกันถ่ายภาพและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์แทน
 
15 กุมภาพันธ์ 2565 อัยการยื่นฟ้องข้าว เตย ฝน  ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ต่อศาลจังหวัดพัทลุง
 
ในคำฟ้อง มีใจความว่า  เมื่อวันที่ 24 – 25 พฤศจิกายน 2563 (ประมาณสามวันก่อนหน้าที่รัชกาลที่ 10 จะเสด็จพระราชดำเนินไปจังหวัดพัทลุง) จำเลยทั้งสามร่วมกันถ่ายรูปสถานที่ต่างๆ ทั้งอนุสรณ์สถาน พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ในท้องที่อำเภอเมืองพัทลุง นำไปตัดต่อกับข้อความที่จัดทำขึ้น ก่อนที่ภาพถ่ายที่ผ่านการตัดต่อรวมห้าภาพจะถูกโพสต์บนเฟซบุ๊กแฟนเพจ “พัทลุงปลดแอก” เช่น ข้อความว่า “คิดถึงยอด SCB ใจจะขาด” “เผด็จการจงพินาศ เป็ดก้าบ ก้าบ จงเจริญ”
 
นอกจากนั้นก็มีภาพอีก 15 ภาพ ที่ถูกตัดต่อด้วยข้อความต่างโพสต์ลงในเฟซบุ๊กแฟนเพจ ประชาธิปไตยในด้ามขวาน โดยข้อความที่ถูกนำไปตัดต่อประกอบภาพถ่าย เช่น ข้อความว่า “ก็เสียภาษีเหมือนกัน ทำไมถึงไม่มีรถไฟฟ้า ให้ดูที่บ้านเราบ้าง” “เราคือคนไทย เพราะเราถูกล่า อาณานิคม” “ประชาชน=เจ้าของประเทศ” “30 นี้เจอกันแบบเบิ้มๆ ที่หอนาฬิกาหาดใหญ่”
 
ในเหตุการณ์เดียวกันนี้มีผู้ต้องหาเยาวชนอีกคนหนึ่งด้วย คือ เบลล์ ซึ่งถูกแยกไปฟ้องที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพัทลุงเป็นอีกคดีหนึ่ง
 
ทั้งสามคนยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยคดีนี้ยังอยู่ในกระบวนการของศาล และยังคืบหน้าไปไม่มากนัก ศาลกำหนดวันนัดสืบพยานช่วงกลางปี 2566 ปลายทางของคดีจะเป็นอย่างไรต้องติดตามกันต่อไป