1087 1026 1562 1788 1935 1102 1249 1010 1573 1792 1070 1532 1116 1178 1156 1036 1167 1573 1516 1580 1303 1932 1049 1974 1006 1104 1677 1596 1750 1666 1643 1150 1765 1539 1083 1731 1803 1940 1604 1474 1678 1686 1213 1147 1056 1870 1516 1509 1744 1561 1167 1214 1954 1822 1067 1166 1874 1100 1134 1050 1061 1890 1942 1858 1446 1513 1710 1583 1882 1220 1700 1694 1239 1661 1041 1564 1631 1681 1852 1257 1958 1912 1498 1331 1900 1328 1939 1173 1817 1552 1544 1962 1570 1748 1180 1720 1776 1805 1126 “เหมือนถูกตัดสินแล้ว" เพชร ธนกร กับประสบการณ์ในกระบวนการยุติธรรมเยาวชน | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

“เหมือนถูกตัดสินแล้ว" เพชร ธนกร กับประสบการณ์ในกระบวนการยุติธรรมเยาวชน

 

 

“เหมือนถูกตัดสินแล้ว" เพชร ธนกร กับประสบการณ์ในกระบวนการยุติธรรมเยาวชน
 
เพชร ธนกร อดีตนักเรียนอาชีวะเป็นหนึ่งในเยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี ที่ถูกดำเนินคดีจากการร่วมการชุมนุมระหว่างปี 2563 - 2564 โดยหากนับจนถึงเดือนมิถุนายน 2564 เพชรถูกดำเนินคดีไปแล้วรวมห้าคดี เป็นคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำนวนสองคดี จากการร่วมชุมนุมเดินเท้าจากแยกอุดมสุขไปสี่แยกบางนาช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 และจากการร่วมชุมนุมที่สามย่านมิตรทาวน์ช่วงเดือนมกราคม 2564 คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หนึ่งคดีจากการร่วมชุมนุมที่ท่าน้ำนนท์ในเดือนกันยายน 2563 และคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกสองคดีจากการปราศรัยที่วงเวียนใหญ่และการร่วมกิจกรรมแต่งคร็อปท็อป เดินสยามพารากอนในเดือนธันวาคม 2563 โดยหากนับเฉพาะคดีมาตรา 112 เพชรเป็นหนึ่งในเยาวชนอย่างน้อยแปดคนที่ถูกดำเนินคดีนี้
 
โดยปกติการดำเนินคดีอาญากับเด็กหรือเยาวชนจะมีมาตรการที่มีลักษณะมุ่งเยียวยาและแก้ไขความผิดพลาดของเด็กมากกว่ามุ่งลงโทษ กระบวนการด้านจิตวิทยาและสังคมสงเคราะห์จึงถูกนำมาผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมของเด็กหรือเยาวชน แต่จากที่เพชรมีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับขั้นตอนต่างๆ โดยตรง เขากลับรู้สึกว่ามาตรการหลายๆ อย่างในคดีเด็กและเยาวชนมีลักษณะเป็นการตัดสินความผิดไปก่อนแล้ว และกระบวนการก็ไม่มีความแน่นอน เพชรเล่าว่าจากที่เขาเคยผ่านกระบวนการสอบสวนจากสถานีตำรวจสี่แห่งได้แก่ สน.ปทุมวัน สองคดี (คดีแต่งชุดคร็อปท็อปและคดีชุมนุมที่สามย่านมิตรทาวน์) ที่ สภ.นนทบุรี (คดีชุมนุมที่ท่าน้ำนนท์) สน.บางนา (คดีเดินขบวนจากแยกอุดมสุขไปแยกบางนา) และที่ สน.บุปผาราม (คดีมาตรา 112 จากการปราศรัยในการชุมนุมที่วงเวียนใหญ่) แห่งละหนึ่งคดี แต่ละที่ต่างมีการดำเนินการทางคดีที่ไม่เหมือนกัน
 
 
2562
 
 
• กระบวนการที่ไม่มีความแน่นอน
 
"คดีเยาวชนมันเป็นอะไรที่น่าปวดหัวมาก ไม่เหมือนคดีของผู้ใหญ่ที่เราพอจะรู้หรือคาดการณ์ขั้นตอนต่อไปได้ แต่คดีเยาวชนไม่ใช่แบบนั้น ตอนไปที่ สน.ปทุมวัน กับ สภ.นนทบุรี คือแบบเร็วมาก พอเสร็จขั้นตอนก็กลับบ้านได้เลย เจ้าหน้าที่แค่นัดว่าต้องไปสถานพินิจวันไหน แต่อย่างคดีที่ สน.บุปผาราม กับ สน.บางนา ไม่ใช่ พอสอบสวนเสร็จเจ้าหน้าที่จะเอาเราไปส่งศาลเยาวชนเลย ทำให้เรางงว่ามาตรการหรือขั้นตอนตามกฎหมายจริงๆ แล้วมันควรจะเป็นแบบไหน"
 
"พอถึงขั้นตอนที่ถูกเอาตัวมาศาลก็ไม่เหมือนกันอีกทั้งที่เป็นศาลเดียวกัน (ศาลเยาวชนกลางและครอบครัว) อย่างตอนที่ถูกพาตัวไปศาลจาก สน.บางนา หลังไปรายงานตัวคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พอเสร็จขั้นตอนตรวจสอบความถูกต้องของการควบคุมตัวศาลก็บอกว่าเดี๋ยวจะต้องประกันตัวนะ แล้วก็ให้เราลงไปรอที่ห้องควบคุมผู้ต้องขังข้างล่าง แต่ตอนที่ถูกพาตัวไปศาลหลังเข้ารายงานตัวในคดีมาตรา 112 ของ สน.บุปผาราม ปรากฎว่าไม่ต้องลงไปห้องขังอยู่กับทนายเลย ไปเดินเรื่องเอกสารประกันตัวก็ไปด้วยกัน พอเสร็จก็กลับได้เลย เราก็เลยงงว่าแม้แต่ขั้นตอนในศาลเดียวกันแต่ต่างคดีก็ยังไม่เหมือนกันเลย"
 
"จริงๆ แล้วตอนที่ไปพบตำรวจที่ สน.บางนา ทนายก็พยายามโต้แย้งว่า พนักงานสอบสวนยังไม่จำเป็นต้องส่งตัวเราไปที่ศาลเลยเพราะมันเป็นคดีที่มีอัตราโทษต่ำ แต่สุดท้ายตำรวจก็ส่งตัวเราไป นั่นทำให้เรามีประสบการณ์ต้องลงไปอยู่ในห้องขังใต้ถุนศาลประมาณ 2 ชั่วโมงเศษ ซึ่งนั่นไม่ใช่ประสบการณ์ที่น่าจดจำเลย ถึงสุดท้ายจะได้ประกันตัวก็ตาม"
 
 
• แบบสอบถาม นักจิตวิทยา คุ้มครองหรือตีตรา?
 
หนึ่งในกระบวนการที่มีในคดีเยาวชน แต่ไม่มีในคดีของผู้ใหญ่คือขั้นตอนการพูดคุยกับนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์เพื่อเยียวยาและหาทางแก้ไขหรือพัฒนาพฤติกรรมของเยาวชนด้วยวิธีการที่ไม่ใช่กระบวนการทางกฎหมาย อย่างไรก็ตามในคดีการเมือง เพชรมองว่าขั้นตอนนั้นไม่ใช่ขั้นตอนที่เป็นไปเพื่อคุ้มครองเด็กหรือเยาวชนแต่เป็นขั้นตอนที่เหมือนจะตัดสินตัวเยาวชนไปแล้ว "หลังจากไปรายงานตัวกับตำรวจและศาลเยาวชน เราต้องไปพบนักจิตวิทยาและเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ ตอนที่เราไปรายงานตัวกับศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเขาจะให้ใบนัดมาสองใบ ใบสีชมพูเป็นใบนัดศาล ส่วนใบสีเหลืองเป็นใบนัดพบนักจิตวิทยากับนักสังคมสงเคราะห์ รวมๆ แล้วทุกคดีเราน่าจะไปพบนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์มาแล้วไม่ต่ำกว่าสิบครั้ง ที่นนทบุรีนี่หนักหน่อยตรงที่สถานพินิจอยู่ไกลเหมือนเข้าไปกลางทุ่งนา แล้วเรากับพ่อเราก็อยู่คนละบ้านกัน หลังถูกดำเนินคดีเราตัดสินใจออกมาอยู่ข้างนอกเพราะไม่อยากให้การทำกิจกรรมของเราไปเป็นปัญหาเดือดร้อนที่บ้าน โดยเฉพาะการติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ รวมแล้วค่ารถไปกลับของเรากับพ่อทั้งไปศาล ไปสถานพินิจในทุกๆ คดีรวมๆ กันแล้วก็เป็นหมื่นอยู่"
 
"เท่าที่พูดคุยนักจิตวิทยา เราคิดว่านักจิตวิทยาที่สถานพินิจนนทบุรีค่อนข้างจะโอเค เป็นการพูดคุยตามปกติ แต่ก็มีนักจิตวิทยาบางคนที่ที่เรารู้สึกไม่โอเค" "เหมือนกับว่าเขาพยายามที่จะแสดงออกว่าเขาอ่านเราออก ตอนที่ไปพบกันครั้งแรกก็ไม่อะไรมากคุยกันปกติ แต่พอนัดที่สองเท่านั้นแหละรู้เรื่อง" "มันเหมือนเขาคอยสังเกต คอยจับตาดูเราทุกฝีก้าว ทั้งเรื่องที่เราแสดงออกกับพ่อเพราะเราสนิทกัน ต่อหน้านักจิตวิทยา อย่างฝากพ่อเอาขยะไปทิ้ง นักจิตวิทยาก็เอาไปเขียนในรายงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่เข้าใจ และไม่โอเค "เราต้องให้ไลน์ของเรากับนักจิตวิทยาเพื่อให้เขาโทรมาติดตามซึ่งเขาก็ไม่ได้โทรมาบ่อย น่าจะแค่ครั้งเดียว แต่ปรากฎว่าพอเขาเห็นรูปโปรไฟล์ไลน์เราที่มีรูปอาจารย์ปวิน (ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์) กับอาจารย์สมศักดิ์ (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล) เขาก็เอาไปเขียนทำนองว่าทัศนคติการเมืองของเราแย่ ทั้งที่จริงๆ แล้วไลน์มันเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเรา มันมีเฉพาะคนที่เราแอดเท่านั้นที่จะเห็น มันไม่เหมือนเฟซบุ๊กที่เป็นพื้นที่สาธารณะที่เราตั้งใจแสดงออกบางอย่างต่อสาธารณะ เราเห็นว่าถ้านักจิตวิทยาคนนั้นเขาจะไลน์มาพูดคุยกับเรามันก็เป็นไปตามหน้าที่แต่การเอาโปรไฟล์ที่เราตั้งในพื้นที่ส่วนตัวไปใส่ในรายงานแบบนี้เราว่ามันไม่ใช่ แล้วก็มีบางครั้งเวลาไปคุยเขาก็จะถามทำนองว่าเราคิดเห็นยังไงกับรัฐบาลบ้าง คิดยังไงกับสถาบันบ้าง แต่เราก็บอกเขาไปเลยว่าบางข้อเราขอไม่ตอบ"
 
"เรื่องเยอะมากนักจิตวิทยาคนนี้ มีครั้งหนึ่งเขาบอกเราว่าเดี๋ยวจะให้การบ้านนะ ให้ไปคัดลายมือศีลห้า มา 20 จบ แล้วก็คัดลายมืออาชีพสุจริตอีก 20 จบ เราก็แบบได้ กลับมาบ้านก็โพสต์เฟซบุ๊กด่าเลย คือแบบมันไม่ใช่ละ แล้วก็มีอีกครั้งที่เขาบอกเราว่าเดี๋ยวจะให้ไปเข้าค่ายอบรมในค่ายทหาร เราก็แบบอะไร ไปทำไม สุดท้ายพอเราโวยหนักเข้าทางโน้นก็เลยเปลี่ยนนักจิตวิทยาอีกคนมาดูแลเราแล้วก็ไม่ได้เจอกับคนนี้อีกแล้วก็ไม่ต้องไปเข้าค่าย" "มีอีกเรื่องที่เรารู้สึกไม่โอเคกับกระบวนการในคดีเยาวชนคือพวกแบบสอบถามที่เราต้องทำ เราคิดว่าคำถามเรื่องทัศนคติหรือพฤติกรรมต่างๆ มันมีลักษณะเป็นการตีตราหรือจัดประเภทเด็กอย่างไม่ยุติธรรม เช่น ถามว่าคุณสักลายไหม คุณกินเหล้าสูบบุหรี่ไหม และมีถึงขั้นว่าคุณเคยมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันไหม หรือถามทำนองว่าถูกจับเพราะอะไร ทำผิดกฎหมายมาตราไหน ทั้งหมดทั้งสิ้นทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่าแค่เด็กและเยาวชนแค่ก้าวขาเข้ามาในศาลก็เหมือนถูกตัดสินว่าผิดไปแล้ว ยิ่งเราถูกดำเนินคดีการเมืองเรายิ่งรู้สึกว่ามันไม่ใช่ เพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิด เราแค่ใช้เสรีภาพของเรา เราไม่ได้ไปฆ่า ทำร้ายร่างกาย หรือขโมยของใคร"
 
 
• กรอบคิด "เด็กดี" vs "เด็กเลว" หรือรัฐกำลังซุกปัญหาไว้ใต้พรม
 
ในตอนท้ายของบทสนทนา เพชรยอมรับว่าจากการผ่านกระบวนการทั้งหมด เขาพอเข้าใจได้ ที่เรื่องบางเรื่อง เช่น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และการสัก จะเป็นสิ่งที่รัฐเอามาใช้ในการวัดหรือประเมินความเป็น "เด็กดี" หรือ "เด็กไม่ดี" ในเบื้องต้น ซึ่งก็อาจมีกรณีที่เด็กหรือเยาวชนที่เคยก่อเหตุอาชญากรรมมีพฤติกรรมเหล่านั้น แต่ก็คงไม่ใช่ทั้งหมด นอกจากนั้นก็อาจจะมีเด็กหรือเยาวชนบางส่วนที่ก่อเหตุอาชญากรรมโดยที่อาจไม่ได้มีพฤติกรรม "ไม่พึงประสงค์" ในสายตารัฐเหล่านั้น ที่สำคัญเพชรเห็นว่าการจัดประเภทหรือการตีตราโดยรัฐอาจเป็นความพยายามในการผลักปัญหาการก่อเหตุอาชญากรรมในเด็กและเยาวชนที่เกิดขึ้นให้เป็นแค่ปัญหาส่วนบุคคลไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากความล้มเหลวในการบริหารประเทศหรือการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของรัฐ
 
"คำถามพวกสักลาย ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ มันสะท้อนว่า ”เด็กดี” ในสายตาของผู้ใหญ่หรือรัฐมันเป็นยังไง เราเข้าใจนะว่ามีเด็กหรือเยาวชนบางส่วนที่อาจจะสักหรือมีพฤติกรรมเหล่านั้นแล้วไปก่อเหตุ แต่ต้องย้ำว่านั่นไม่ใช่ทั้งหมด และเท่าที่เราได้ดูแบบสอบถามในภาพรวม มันเหมือนพยายามจะหาคำตอบหรือปัจจัยแวดล้อมว่าอะไรทำให้เด็กก่อเหตุ เช่น พื้นฐานครอบครัว ฐานะ พฤติกรรมของพ่อแม่อะไรแบบนี้ แต่สุดท้ายทุกอย่างมันย้อนกลับไปที่เรื่องโครงสร้างและนโยบายของรัฐ ถ้าดูจากแบบฟอร์มหรือสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น เด็กหรือเยาวชนที่อยู่ในชุมนุมแออัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะก่อเหตุทั้งจากความรุนแรงในครอบครัว หรือการให้เวลาของพ่อแม่กับเด็ก สภาพความเครียดที่เกิดจากการอยู่อย่างแออัด รัฐเองก็น่าจะรู้แต่ถามว่ารัฐเคยมีความพยายามที่จะเขาไปจัดการปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ไหม สภาพความเหลื่อมล้ำในประเทศนี้คงเป็นคำตอบ"
 
"แล้วในกรณีของเราที่เป็นคดีทางการเมือง ความพยายามที่นักจิตวิทยาหรือกระบวนการยุติธรรมพยายามจะหาปัจจัยที่ทำให้เราทำความผิด ไม่ว่าจะเรื่องครอบครัวหรือเรื่องอะไร เราคิดว่าคุณเริ่มจากจุดเริ่มต้นที่ผิดเพราะเราไม่ได้ก่ออาชญากรรม เราแค่ใช้เสรีภาพ เราแค่แสดงออกจุดยืนหรือความคิดของเรา" "นักจิตวิทยาเคยถามเราว่า ไม่ไปชุมนุม ไปดูแลคุณพ่อได้ไหม ตั้งใจเรียนแทนได้ไหม อย่ามาทำอะไรแบบนี้ เรื่องนี้คุณไม่ต้องมาบอกเราหรอก ทั้งเราและคนที่ออกมาเคลื่อนไหวรู้อยู่แล้วว่าการออกมาเคลื่อนไหวอาจมีผลกระทบอะไร มีความเสี่ยงอะไร ซึ่งทุกคนที่ออกมารวมทั้งเราก็พร้อมแล้วที่จะรับความเสี่ยงตรงนั้น ถึงได้ออกมา"