1448 1243 1263 1965 1506 1905 1947 1166 1533 1242 1724 1065 1217 1430 1198 1809 1675 1811 1900 1034 1018 1797 1703 1804 1530 1820 1729 1653 1741 1529 1372 1586 1390 1984 1171 1695 1958 1154 1454 1896 1003 1237 1600 1678 1973 1280 1544 1391 1263 1223 1392 1625 1410 1009 1737 1848 1620 1472 1974 1561 1356 1291 1709 1835 1055 1407 1977 1799 1811 1250 1714 1287 1182 1554 1910 1102 1957 1166 1075 1637 1059 1579 1076 1423 1186 1435 1772 1234 1482 1109 1904 1658 1605 1525 1826 1811 1207 1921 1769 ฟ้องด้วยภาพ "แคปไลน์" กลั่นแกล้งได้หรือไม่? คดีม.112 ของสุริยศักดิ์ มรดกตกค้างยุคศาลทหาร | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ฟ้องด้วยภาพ "แคปไลน์" กลั่นแกล้งได้หรือไม่? คดีม.112 ของสุริยศักดิ์ มรดกตกค้างยุคศาลทหาร

 

25 สิงหาคม 2565 ศาลอาญาสืบพยานคดีมาตรา 112 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของสุริยศักดิ์ อดีตแกนนำนปช.สุรินทร์เสร็จเรียบร้อยแล้ว และนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 5 ตุลาคม 2565 โดยคดีนี้ฝ่ายโจทก์มีหลักฐานเป็นเพียงกระดาษหนึ่งใบที่พิมพ์ภาพถ่ายจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือ เป็นภาพแชทไลน์ โดยเป็นภาพผู้ใช้ไลน์บัญชีที่ตั้งชื่อว่า “Suriyasak” ส่งข้อความคุยกันและมีข้อความกล่าวถึง "ระบอบกษัตริย์ที่ปกครองบ้านเมืองมาหลายร้อยปี" โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่น
 
 
 
2557
 
 
สุริยศักดิ์ถูกจับกุม เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2560 เวลาประมาณ 06.00 น. ที่บ้านในจังหวัดสุรินทร์ โดยทหารในเครื่องแบบหลายหน่วย ขณะถูกจับเขาอายุ 49 ปี เขาและผู้ต้องหาคนอื่นรวม 9 คน ถูกจับพร้อมกันในข้อหาเกี่ยวกับการก่อการร้าย โดยสะสมอาวุธและเกี่ยวข้องกับการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 ระหว่างการแถลงข่าว สุริยศักดิ์แสดงความคิดเห็นว่า ขอปฏิเสธความเกี่ยวพันกับอาวุธที่ตรวจยึดได้ทั้งหมด เพราะไม่ใช่แนวทางการเคลื่อนไหวของ นปช. เนื่องจาก นปช. เชื่อในแนวทางสงบสันติ ต่อมาในคดีเกี่ยวกับก่อการร้ายของผู้ต้องหาทุกคนอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ทำให้ทุกคนได้รับการปล่อยตัว 
 
แต่เมื่อได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 สุริยศักดิ์ถูกตำรวจมาอายัดตัวต่อเพื่อแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และส่งเขากลับเข้าไปในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ คดีของเขาอยู่ภายใต้ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และถูกส่งไปขึ้นศาลทหาร ซึ่งที่ศาลทหารเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวและการพิจารณาคดีก็ล่าช้าไม่ต่อเนื่อง ทำให้เขาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเป็นเวลานานกว่าสองปี จนกระทั่งได้ประกันตัวในวันที่ 12 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นเวลาหลังจัดการเลือกตั้งทั่วไปและพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อแล้ว หลังจากนั้นคดีของเขาซึ่งตกค้างอยู่ในศาลทหารก็ถูกสั่งให้โอนกลับมาพิจารณาคดีต่อที่ศาลปกติ
 
ศาลอาญานัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ในคดีนี้ในวันที่ 16-18 สิงหาคม 2565 โดยพล.อ.วิจารณ์ จดแตง นายทหารฝ่ายกฎหมายของคสช. ที่เป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ เบิกความว่า ได้รับเอกสารภาพถ่ายจากหน้าจอไลน์มาจากตำรวจสันติบาล ส่วนพล.ต.ท.สราวุฒิ การพาณิช ตำรวจสันติบาล ก็เบิกความว่า ได้รับภาพดังกล่าวมาจากสายลับที่เข้าไปตีสนิทกับสุริยศักดิ์ ส่วนพยานโจทก์ผู้ตรวจสอบโทรศัพท์ของจำเลยที่ยึดไปเบิกความว่า พบการติดตั้งแอพพลิเคชันไลน์ในโทรศัพท์มือถือ แต่ไม่พบบัญชีไลน์ที่ชื่อ “Suriyasak” ที่ส่งข้อความตามฟ้อง เนื่องจากบัญชีไลน์อาจถูกลบไปแล้ว โดยพยานโจทก์หลายคนก็เบิกความต่อศาลยอมรับว่า บัญชีไลน์ปลอมแปลงได้ง่าย อาจมีผู้ที่เอาภาพและชื่อของบุคคลอื่นไปตั้งบัญชีใหม่ได้ แต่สาเหตุที่ฟ้องจำเลยคดีนี้เพราะเห็นว่า รูปโปรไฟล์ในไลน์มีภาพรถยนต์ ซึ่งหมายเลขทะเบียนจดทะเบียนด้วยชื่อของจำเลย
 
ด้านจำเลยเบิกความในวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ว่า ไม่ได้เป็นผู้ส่งข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ก่อนถูกจับกุมไม่เคยใช้ไลน์เพราะไม่ถนัดเทคโนโลยี หลังได้ปล่อยตัวก็ใช้งานไลน์แล้วแต่สายตาไม่ดีจึงใช้ในแท็บเล็ต นอกจากนี้ยังมีเฟซบุ๊ก ซึ่งใช้ภาพตัวเองตั้งเป็นโปรไฟล์ในเฟซบุ๊ก เป็นภาพเดียวกับที่ปรากฏเป็นโปรไฟล์ไลน์ในคดีนี้ โดยเชื่อว่าการดำเนินคดีนี้มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเวลาที่ถูกจับกุม 
 
ในการทำคำพิพากษาคดีนี้ ศาลจึงต้องวินิจฉัยว่า ลำพังภาพถ่ายจากหน้าจอไลน์ว่า มีบัญชีชื่อและภาพคล้ายบุคคลหนึ่ง จะเพียงพอรับฟังว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ส่งข้อความเข้าไปในไลน์จริงหรือไม่ ติดตามผลคำพิพากษาได้ในวันที่ 5 ตุลาคม 2565 
 
 
 


ดูรายละเอียดคดีนี้เพิ่มเติมในฐานข้อมูล ได้ทาง https://freedom.ilaw.or.th/th/case/783#detail