1872 1445 1172 1314 1227 1716 1415 1746 1506 1831 1914 1003 1432 1758 1589 1532 1223 1736 1818 1092 1562 1575 1220 1431 1246 1842 1899 1796 1848 1890 1235 1897 1398 1854 1683 1261 1754 1222 1156 1700 1915 1561 1386 1144 1912 1671 1455 1605 1200 1068 1405 1128 1166 1133 1003 1725 1374 1733 1644 1996 1912 1703 1233 1219 1766 1317 1618 1330 1796 1107 1295 1719 1117 1431 1328 1316 1092 1606 1326 1760 1113 1263 1522 1517 1055 1118 1455 1021 1288 1334 1880 1857 1670 1297 1288 1088 1134 1133 1945 ตั้ม จิรวัฒน์: ถ้าต้องติดคุกก็ให้มันเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ตั้ม จิรวัฒน์: ถ้าต้องติดคุกก็ให้มันเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย

เช้าวันที่ 7 กรกฎาคม ตำรวจราว 13 นาย นำกำลังไปล้อมบ้านพักหลังหนึ่งย่านพระประแดง บ้านหลังนั้นไม่ใช่บ้านของพ่อค้ายาเสพย์ติด ไม่ใช่บ้านของคนร้ายคดีฆาตกรรม แต่เป็นบ้านของ "จิรวัฒน์" หรือ "ตั้ม" อดีตพนักงานบริษัทและเจ้าของเพจการ์ตูนเสียดสีการเมือง "คนกลมคนเหลี่ยม" ทันทีที่ตั้มเปิดประตูบ้านในเวลาประมาณเจ็ดโมงเช้าเขาก็พบว่ามีแขกที่ไม่ได้รับเชิญมารออยู่แล้ว แขกที่ตั้มไม่อาจปฏิเสธไม่ให้เข้าบ้านได้ 
 
หลังแสดงหมายค้นเจ้าหน้าที่ทำการค้นบ้านและยึดอุปกรณ์สื่อสารของตั้มทั้งโทรศัพท์มือถือและไอแพดที่เขาใช้วาดการ์ตูนไป จากนั้นจึงเชิญตัวเขาไปพูดคุยที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีหรือ ปอท. ในตอนที่ถูก "เชิญตัว" ไป ตั้มยังไม่ถูกแจ้งข้อหา แต่ทันทีที่เขากลับถึงบ้านหมายเรียกผู้ต้องหาก็ถูกมอบให้เขาพร้อมกับสถานะใหม่ "ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112"
 
ตั้มอาจจะไม่ใช่นักกิจกรรมที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในสังคมวงกว้าง แต่เขาก็ไม่ใช่คนหน้าใหม่ในแวดวงกิจกรรมทางการเมือง และคดีนี้ก็ไม่ใช่คดีแรกของเขา ก่อนหน้านี้ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งเป็นวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ต่อมาประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้มเคยถูกจับหลังจากเขาถ่ายวิดีโอขณะที่ปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ นักกิจกรรมทางการเมืองที่เป็นเพื่อนของเขาฉีกบัตรออกเสียงประชามติที่หน่วยออกเสียงประชามตินอกเขต บริเวณสำนักงานเขตบางนา ครั้งนั้นตั้มถูกดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติซึ่งเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าตั้มกับพวกอีกสองคนทำความผิดฐานร่วมกันก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติตามพ.ร.บ.ประชามติฯ และสั่งลงโทษจำคุกตั้มกับเพื่อนอีกสองคนเป็นเวลาสี่เดือนและปรับเงินคนละ 4,000 บาท ทว่าการถูกดำเนินคดีครั้งนั้นคงเทียบไม่ได้กับการถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในครั้งนี้
 
2551
 
จุดเริ่มต้นคือวันบวชหน้าไฟ
 
ตั้มเป็นคนกรุงเทพโดยกำเนิด เขาเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง แม่ของเขารับราชการส่วนพ่อเป็นร้านซ่อมเครื่องไฟฟ้าเล็กๆ ตั้มเล่าว่าเขาเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมครั้งแรกในสมัยที่เรียนชั้นประถม เมื่อญาติผู้ใหญ่ของเขาเสียชีวิตและเขาต้องไปบวชหน้าไฟ วันนั้นตั้มมีสอบที่โรงเรียน หลังสอบเสร็จเขาจึงรีบไปที่วัดโดยไม่ทันได้กินข้าวเพื่อไปทำพิธีบรรพชาเป็นสามเณร หลังบวชเรียบร้อยแม่ก็เอาข้าวมาให้เขากินเพราะกลัวว่าจะหิว ตั้มจึงถูกพระรูปหนึ่งตำหนิทำนองว่าถ้าไม่พร้อมปฏิบัติตามพระวินัยก็ไม่ควรมาบวช ตั้มยอมรับว่าเขาเองก็ทำผิดตามพระวินัยจริงแต่วันรุ่งขึ้นเขาก็เห็นว่าพระรูปนั้นไปลุ้นหวยอยู่  ภาพที่เห็นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่เขาถูกตำหนิในวันก่อน
 
"ประสบการณ์ตรงครั้งนั้นทำให้เริ่มเกิดคำถามต่อโครงสร้างหรือสถาบันทางสังคมอย่างสถาบันศาสนาว่าที่เห็นและเป็นอยู่มันคืออะไร พอเริ่มเรียนชั้นมัธยมห้องสมุดมันก็ใหญ่กว่าตอนเรียนประถม ผมเริ่มศึกษาเกี่ยวกับปรัชญาและศาสนาอย่างจริงจัง เริ่มหาหนังสือของพระที่เป็นนักคิดนักเขียนอย่างพระพุทธทาสหรือพระปัญญานันทภิกขุมาอ่าน ผมก็เริ่มเห็นว่าศาสนามันก็มีความเทาๆ อยู่ มีเรื่องแก่นมีเรื่องกระพี้ และบางครั้งผมก็รู้สึกว่าเรื่องที่คนเอามาต่อว่า เอามาประณามกันมันก็เป็นแค่กระพี้ไม่ใช่แก่นจริงๆ ของศาสนา"
 
เมื่อเข้าเรียนชั้นมัธยม ตั้มหาหนังสือเกี่ยวกับศาสนากับปรัชญามาอ่านมากขึ้น แต่ขณะนั้นเขาก็ยังไม่ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมหรือการเมืองสักเท่าไหร่ กระทั่งเขาเรียนจบมหาวิทยาลัย สิ่งที่จุดประกายความสนใจให้เขาคือคำถามที่น้องชายของเขาถามเขาเกี่ยวกับความเป็นมาเป็นไปของสังคม จากบทสนทนาธรรมดาๆ ในวันธรรมดาๆ วันนั้น จนได้เห็นภาพของความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบทด้วยสายตาตัวเองระหว่างไปทำงานเป็นเซลล์ในต่างจังหวัดได้ทำให้เขาครุ่นคิดเกี่ยวกับปัญหาทางโครงสร้างมากขึ้น
 
"ผมมาเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นโครงสร้างทางการเมืองครั้งแรกน่าจะเป็นช่วงอายุ 20 ปีเศษๆ จำได้ว่ามีอยู่วันหนึ่งผมคุยกับน้องชาย คุยกันเรื่องอะไรก็ไม่รู้แล้วน้องผมก็ถามขึ้นว่า โครงสร้างที่สังคมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มันควรจะเป็นแบบนี้จริงๆ หรือ แล้วถ้าโครงสร้างบางอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปสังคมเราจะพังทลายลงไปเลยหรือ คำถามของน้องคำถามนั้นน่าจะกลายเป็นคำถามที่เปลี่ยนชีวิตผมไปเลย"
 
"คำถามของน้องทำให้ผมหวนกลับไปศึกษาเรื่องสังคมการเมืองอย่างหนักขึ้น ผมไปค้นตำราทั้งรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และสาขาวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อมาหาคำตอบให้น้องชาย จริงๆ แล้วคำถามของน้องชายผมบางคนอาจจะมองว่ามันเป็นการตั้งคำถามที่ไม่เข้าท่า หรือเป็นคำถามที่ไม่ควรถาม แต่ตัวผมเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับศาสนามาตั้งแต่ตอนเด็กๆ แล้วตัวผมจึงค่อนข้างเปิดรับกับคำถามและคิดว่าอยากจะหาคำตอบ"
 
"ที่ผ่านมาผมก็อยู่แต่กรุงเทพ ถ้าเป็นแบบนี้ผมคงหาคำตอบให้น้องชายไม่ได้ เลยเริ่มมองหาลู่ทางที่จะออกไปดูโลก ไปดูว่าคนที่อยู่ที่อื่นๆ ของประเทศเขาอยู่กันอย่างไร สังคมของเขาเหมือนหรือต่างจากผมอย่างไร ผมเลยเลือกประกอบอาชีพตัวแทนขายเพราะผมจะมีโอกาสเดินทางไปต่างจังหวัด และก็มีรายได้มาเลี้ยงตัวเอง ผมมีโอกาสเดินทางไปหลายๆ จังหวัดในภาคใต้ ภาคเหนือ รวมทั้งภาคกลาง น่าจะมีแต่ภาคอีสานที่ผมไม่มีโอกาสเดินทางไป  
 
"ช่วงที่ผมเดินทางไปต่างจังหวัดบ่อยๆ ก็น่าจะประมาณ 10 ปีก่อน ผมได้เห็นภาพที่สะเทือนใจผมมาทุกวันนี้คือภาพเด็กตัวเล็กที่จังหวัดกาญจนบุรีไปโรงเรียนโดยเบียดเสียดกันไปบนรถสองแถวและมีบางคนต้องขึ้นไปอยู่บนหลังคารถ ผมได้แต่เฝ้าถามตัวเองจากวันนั้นว่าผมกับเขาอยู่ประเทศเดียวกันแต่ทำไมคุณภาพชีวิตเราถึงได้ต่างกันมากขนาดนั้นและก็ถามตัวเองต่อไปว่าในโครงสร้างของสังคมไทย อะไรคือสิ่งที่กดทับทำให้คุณภาพชีวิตของคนไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบทหรือความเหลื่อมล้ำของคนรวยกับคนจนในเมือง"
 
2552
 
คดีฉีกบัตรประชามติกับประสบการณ์ครั้งแรกในฐานะจำเลยคดีอาญา
 
แม้ตั้มจะเริ่มมีความสนใจและเริ่มตั้งคำถามต่อความบิดเบี้ยวของสังคมมาตั้งแต่อายุ 20 เศษๆ แต่ด้วยหน้าที่การงานเขาก็ยังไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวด้วยตัวเอง ได้แต่ติดตามข่าวสารต่างๆ จากสื่อเท่านั้น กระทั่งเกิดการรัฐประหารในปี 2557 เขาได้เข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารเป็นครั้งคราวจนได้รู้จักกับปิยรัฐ หรือ โตโต้ และ ทรงธรรม หรือ เดฟ ในเวลาต่อมา เหตุการณ์หนึ่งหลังการรัฐประหารที่ตั้มสะเทือนใจมากคือคือกรณีที่เจ้าหน้าที่บุกเข้าไปจับกุมตัวนักกิจกรรมคนหนึ่งที่กำลังรักษาอาการป่วยถึงโรงพยาบาล ทั้งที่สิ่งที่นักกิจกรรมคนดังกล่าวทำเป็นเพียงการไปร่วมการชุมนุมและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองบนเฟซบุ๊กเท่านั้น
 
"ผมมาเริ่มติดตามการเมืองอย่างจริงจังน่าจะเป็นช่วงตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 แต่ช่วงหลังการรัฐประหารใหม่ๆ ผมก็ยังไม่ได้ทำกิจกรรมแบบจริงจังนะ ได้แต่ติดตามข่าวจากหน้าสื่อหรือเขียนวิจารณ์การเมืองบนเฟซบุ๊กแล้วก็อาจไปร่วมชุมนุมบ้างเป็นครั้งคราวในฐานะมวลชนคนหนึ่ง เหตุการณ์หลังการรัฐประหารที่ผมรู้สึกไม่โอเคมากๆ คือครั้งที่นักกิจกรรมคนหนึ่งที่ชื่อธเนตร (นักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116) ถูกจับตัวไปจากโรงพยาบาล สำหรับผมมันเป็นเรื่องที่แย่นะ ที่เจ้าหน้าที่จะมาเอาตัวคนที่ป่วยไปจากโรงพยาบาลเพียงเพราะเขาแสดงความเห็นต่างจากรัฐ จำได้ว่าครั้งนั้นผมไปร่วมตามหาตัวธเนตรกับเพื่อนจนไปเจอว่าเขาถูกควบคุมตัวไปที่ไหน"
 
แม้ตั้มจะเริ่มออกมาเคลื่อนไหวหรือร่วมชุมนุมบ้างตามโอกาส ทว่าตัวเขาก็ยังไม่เคยถูกดำเนินคดีจากการมาร่วมการชุมนุมหรือการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์เลย จนกระทั่งตั้มมาถูกดำเนินคดีครั้งแรกแบบงงๆ ในวันออกเสียงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 เมื่อเขาร่วมเดินทางกับเพื่อนอีกสองคนคือปิยรัฐหรือโตโต้ ซึ่งต่อมาเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มมวลชนอาสา We Volunteer กับ ทรงธรรมหรือเดฟซึ่งเป็นนักกิจกรรมอีกคนหนึ่ง ไปที่หน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตที่สำนักงานเขตบางนา ตัวตั้มเองไม่ได้จะมาใช้สิทธิ แต่โตโต้เพื่อนของเขาลงทะเบียนมาใช้สิทธิที่นี่ ตั้มจึงเพียงมารอเพื่อนใช้สิทธิก่อนจะไปทำธุระกันต่อ ระหว่างที่โตโต้เข้าไปใช้สิทธิตั้มก็ถือโอกาสถ่ายวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ไว้ด้วย เมื่อเข้าไปในคูหา โตโต้ตัดสินใจทำอารยะขัดขืนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่เขาเห็นว่าไม่มีความชอบธรรม ด้วยการฉีกบัตรออกเสียงประชามติพร้อมตะโกนว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" หลังแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โตโต้ก็ยอมให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเขาแต่โดยดี
 
ตั้มกับเดฟติดตามโตโต้ไปที่ สน.บางนา ซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมตัวด้วย ระหว่างนั้นเขากับเดฟยังไม่ถูกควบคุมตัวสามารถเดินไปไหนมาไหนได้ แต่แล้วในช่วงค่ำหลังจากที่เขากับเดฟไปลาโตโต้เพื่อจะกลับบ้านไปก่อนแล้วจะกลับออกมาหาใหม่ ตำรวจก็ควบคุมตัวเขาพร้อมกับเดฟและแจ้งข้อกล่าวหาว่าเขาทั้งสองสมรู้ร่วมคิดในการกระทำของโตโต้เพราะเป็นคนบันทึกวิดีโอและอัพโหลดขึ้นบนเฟซบุ๊กของตั้ม อย่างไรก็ตามเขาได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวนจากตำรวจในวันคืนนั้น ต่อมาในเดือนธันวาคม 2565 เมื่ออัยการสั่งฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดพระโขนง ตั้ม โตโต้ และเดฟใช้ตำแหน่งนักวิชาการเป็นหลักประกันวางต่อศาลเพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวแต่ศาลยกคำร้องโดยอ้างเหตุว่านักวิชาการที่ให้ใช้ตำแหน่งเป็นหลักประกันไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาทั้งสามคนทำให้ตั้มต้องเข้าไปอยู่เรือนจำเป็นเวลาหนึ่งคืนก่อนจะมาได้รับประกันตัวในวันรุ่งขึ้นเมื่อทนายนำเงินมาวางต่อศาลเป็นหลักประกัน แม้จะอยู่ในเรือนจำเพียงคืนเดียวแต่ตั้มยังจำประสบการณ์เลวร้ายครั้งนั้นได้อย่างไม่รู้ลืม
 
"ผมได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำที่แย่ อาหาร ห้องน้ำมันไม่ถูกสุขลักษณะ สภาพความเป็นอยู่ก็แออัดและง่ายต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค คนที่อยู่ในนั้นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรสิ่งหนึ่งที่เขายังเป็นคือเป็นคนที่ควรจะต้องอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีกว่าสภาพที่เป็นอยู่ในเรือนจำ นึกย้อนไปตัวผมเองต้องถือว่าโชคดีเพราะอยู่ในนั้นแค่คืนเดียว ไม่งั้นผมคงจะรู้สึกแย่กว่านี้"
 
ตั้มกับเพื่อนของเขาสู้คดีฉีกบัตรประชามติ จนถึงชั้นศาลฎีกา ซึ่งมีคำพิพากษาเป็นที่สุดในวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ลงโทษจำคุกตั้มกับโตโต้และเดฟเป็นเวลาสี่เดือนและปรับคนละ 4,000 บาท ในความผิดฐานร่วมกันก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติ แม้ตั้มจะเชื่อว่าสิ่งที่เขาทำไม่น่าจะเป็นความผิดแต่ตั้มก็ดูจะรู้ว่าเขากำลังต่อสู้อยู่กับอะไรและพอจะรู้อยู่แล้วว่าคำพิพากษาจะออกมาแบบไหน  
 
"...ตัวผมยอมรับการตัดสินของศาลนะ แต่ผมก็ไม่สามารถบอกได้ว่าผมเห็นด้วย เพราะพยานหลักฐานในคดีมันไม่มีตรงไหนเลยที่ชี้ได้ว่าผมกับเพื่อนไปก่อความวุ่นวายอะไรเพราะคนที่มาใช้สิทธิก็ทำได้โดยไม่ถูกขัดขวาง แต่พอฉุกคิดอีกทีผมก็ไม่แปลกใจ เพราะในเมื่อผมเลือกที่จะสู้กับระบบโครงสร้างที่มันกดทับ การถูกดำเนินคดีและถูกตัดสินว่ามีความผิดมันก็คงเป็นบทลงโทษสำหรับคนที่บังอาจแข็งขืนต่อระบบโครงสร้างอันไม่เป็นธรรมอย่างผม"
 
2553
 
คนกลมคนเหลี่ยม การ์ตูนเสียดสีกับคดี 112   
 
การวาดรูปเป็นงานอดิเรกอีกอย่างที่ตั้มรักที่จะทำ ช่วงปี 2562 ตั้มตัดสินใจสร้างเพจการ์ตูนชื่อ "คนกลมคนเหลี่ยม" ขึ้นมาเพื่อสื่อสารประเด็นทางการเมือง ในขณะที่เริ่มทำเพจตั้มยังคงทำงานประจำอยู่ทำให้มีเวลาว่างไม่มากนัก ตั้มเลยเลือกที่จะวาดตัวการ์ตูนง่ายๆ เป็นตัวสี่เหลี่ยมบ้าง วงกลมบ้าง (จนเป็นที่มาของชื่อเพจ) แต่ละภาพจะจบในตอน ไม่เน้นความยาว แต่เน้นหยิบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นมาเสียดสี แบบที่ตั้มใช้คำว่า "ตบมุกกันโบ๊ะบ๊ะ" ตั้มอธิบายว่าสิ่งที่ผลักดันให้เขาวาดการ์ตูนเพื่อสื่อสารการเมืองคือค่านิยมเกลียดกลัวการเมืองในสังคมไทย ตั้มเห็นว่าคนไทยถูกกล่อมเกลาทั้งโดยครอบครัว ระบบการศึกษา ไปจนถึงผู้มีอำนาจว่าอย่าไปยุ่งเรื่องการเมือง อย่าเป็นคนสีนั้นสีนี้ ทั้งที่จริงๆ แล้วการเมืองคือเรื่องของทุกคนและมีผลกระทบกับทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะการตัดสินใจและนโยบายของรัฐล้วนมีผลกับประชาชนในประเทศ ในความเห็นของตั้มการ์ตูนถือเป็น "Soft Power" ที่มีพลังในการโน้มน้าวให้คนที่อาจจะไม่ได้สนใจการเมืองหันมาสนใจการเมืองได้ โดยเฉพาะถ้าคนอ่านไม่เข้าใจมุกบางมุกก็อาจไปหาคำตอบจนเข้าใจมุกแล้วก็เลยไปอ่านข่าวหรือหาข้อมูลที่จริงจังกว่าเดิมได้ 
 
ช่วงปี 2563 ตั้มเริ่มป่วยเป็นโรคซึมเศร้า อาการป่วยทำให้เขาต้องยุติการวาดการ์ตูนไปพักหนึ่ง รวมทั้งพลาดการเข้าไปร่วมการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาที่ต่อมาพัฒนาเป็นขบวนราษฎรด้วย ตั้มพยายามรักษาตัวจนหายจึงได้กลับมาวาดการ์ตูนอีกครั้ง ในช่วงที่ป่วยตั้มจำเป็นต้องออกจากงานมารักษาตัว หลังหายป่วยเขาจึงตัดสินใจหันไปทำงานอิสระอย่างการขับรถส่งอาหารซึ่งแม้รายได้จะไม่สูงเท่าสมัยที่ทำงานประจำแต่อย่างน้อยเขาก็ไม่ต้องเครียดกับการทำงานจนเกินไปและเขายังมีเวลาที่จะมาวาดการ์ตูนที่เขารักมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไปในปี 2563 ที่ประเด็นแวดล้อมสถาบันพระมหากษัตริย์มีการพูดคุยถกเถียงกันอย่างเปิดเผยมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่การชุมนุม การ์ตูนของตั้มเองก็อาจมีความแหลมคมมากขึ้นบ้างตามสถานการณ์ ซึ่งตั้มก็คาดการณ์ไว้แล้วว่าวันหนึ่งเขาคงไม่พ้นถูกดำเนินคดี คำถามคือจะช้าหรือเร็ว
 
"ผมคิดอยู่แล้วว่าสักวันคงโดนเพราะคนอาจตีความคอนเทนท์การ์ตูนของผมแตกต่างกันไป ตัวผมเองได้รับแรงบันดาลใจบางส่วนมาจากชาร์ลี เอ็บโด (Charlie Hebdo - การ์ตูนเสียดสีการเมืองจากประเทศฝรั่งเศส) ซึ่งเขาเสียดสีสถาบันเชิงโครงสร้างต่างๆ รวมไปถึงศาสนาอย่างแหลมคม ส่วนการ์ตูนของผมมันก็ไม่ได้แหลมคมอะไรขนาดนั้น ไม่ได้รื้อฝ้ารื้อเพดานขนาดการปราศรัยของทนายอานนท์ ผมก็เลยไม่ได้คิดจะเซนเซอร์ตัวเองตอนที่เผยแพร่การ์ตูน เพราะสุดท้ายมันก็แค่การ์ตูนล้อ ไม่ได้มีใครเจ็บใครตาย แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องจริง ผมอยากให้คิดกับมันเหมือนว่ามันเป็นจักรวาลคู่ขนานหรือจักรวาลอีกจักรวาลหนึ่ง แต่สุดท้ายก็มีคนเอาการ์ตูนผมไปแจ้งความ"
 
"หลังถูกดำเนินคดี 112 สิ่งหนึ่งที่ผมตกผลึกคือสังคมไทยยังอาจจะแยกไม่ออกระหว่างการบูลี่ (ข่มเหง ระราน) กับพารอดี (เสียดสี)" จริงๆ แล้วสองอย่างนี้มันมีเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง หากคนที่แสดงออกอยู่ในจุดที่มีอำนาจเหนือกว่า แสดงออกอะไรไปโดยที่อีกฝ่ายไม่อาจตอบโต้ได้นั่นคือบูลี่ แต่ถ้าเป็นคนตัวเล็กตัวน้อย คนไม่มีอำนาจทำกับผู้มีอำนาจมันเป็นแค่การพารอดี การเสียดสีหรือแซวกัน ซึ่งมันไม่ได้ทำให้ใครเจ็บใครตาย แต่ก็อย่างที่คดีของผมมันก็แสดงให้เห็นว่าประเทศนี้เหมือนจะไม่มีพื้นที่ให้แม้กระทั่งอารมณ์ขัน"
 
"วันที่ถูกจับ (7 กรกฎาคม 2565) ตำรวจสิบกว่านายมาล้อมบ้านผมตั้งแต่ประมาณหกโมงเช้า พอผมเปิดบ้านประมาณเจ็ดโมงเช้าเขาก็แสดงหมายค้นให้ผมดู แล้วก็เข้ามาค้นบ้านผมเพื่อยึดโทรศัพท์กับไอแพดของผม ใช้เวลาอยู่ที่บ้านประมาณชั่วโมงหนึ่งแล้วเขาก็เชิญผมไปที่ ปอท. ผมก็บอกตำรวจว่างั้นผมโทรหาทนายนะ ตำรวจบอกไม่ต้องโทรหรอก แค่จะพาไปคุยปรับความเข้าใจ ให้ผมไปคนเดียวง่ายกว่า ผมเลยบอกงั้นก็คุยที่บ้านผมเลยก็ได้ หรือถ้าบ้านผมแคบเพราะพวกพี่ (ตำรวจ) มากันหลายคนจะไปนั่งร้านกาแฟก็ได้ แต่ตำรวจก็ปฏิเสธแล้วบอกผมว่าให้ไปที่ปอท. น่าจะสะดวกกว่า ผมก็โอเคไปก็ไป"
 
หลังเดินทางไปถึงที่ปอท. ตำรวจก็พูดคุยกับตั้มเรื่องการเมืองทั่วๆ ไป กับเรื่องเพจคนกลม คนเหลี่ยมของเขา ระหว่างบรรทัดของบทสนทนาตั้มสังเกตได้ว่าสิ่งที่ตำรวจสนใจเป็นพิเศษคือเขารู้จักใครบ้าง โดยเฉพาะนักการเมือง ซึ่งตั้มไม่ได้รู้จักใครเป็นการส่วนตัวเลย มีเพียงโตโต้กับเดฟเท่านั้นซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของเขา หลังอยู่ที่ปอท.ได้สามถึงสี่ชั่วโมง ตำรวจก็แจ้งกับเขาว่ามีประชาชนมาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับเขาในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการ์ตูนสองตอนที่มีการกล่าวหาว่าเขาน่าจะเสียดสีรัชกาลที่สิบ ส่วนอีกสองตอนที่ถูกตีความว่าเขาน่าจะเสียดสีรัชกาลที่เก้าโดยเขาถูกกล่าวหาในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
 
หลังตำรวจบอกกับตั้มว่าเดี๋ยวจะมีการตั้งข้อกล่าวหา ตั้มขอร้องตำรวจว่าให้ออกเป็นหมายเรียก เขายินดีมาแสดงตัวตามหมาย แต่ไม่อยากให้นำกำลังไปจับแบบตอนที่ไปค้นบ้านของเขาอีก ตำรวจก็ให้คำมั่นกับเขาว่าเดี๋ยวจะออกหมายเรียกแล้วให้เจ้าหน้าที่ที่จะไปส่งตั้มที่บ้านถือหมายไปเรียกผู้ต้องหาไปด้วย พอไปถึงบ้านก็ให้เจ้าหน้าที่ส่งหมายอย่างเป็นทางการแล้วตั้มก็ค่อยมารายงานตัวตามหมายเรียก จากนั้นเจ้าหน้าที่ปอท.ก็ให้ร้อยเวรพิมพ์หมายเรียกแล้วเปิดทีวีให้ตั้มดูระหว่างรอก่อนที่จะพาตัวเขามาส่งบ้านในช่วงเย็นพร้อมกับมอบหมายเรียกให้เขา
 
แม้จะไม่ถูกเอาตัวไปคุมขังในทันที แต่ตั้มก็ถูกยึดโทรศัพท์มือถือและไอแพดไป ทำให้เขาไม่สามารถวาดการ์ตูนได้ สำหรับตั้ม นอกจากการกินยาแล้วการวาดการ์ตูนเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เขาใช้เยียวยาตัวเองและเป็นสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่าชีวิตมีความหมายเพราะได้สร้างสรรค์งาน เมื่อถูกยึดไอแพดตั้มก็ไม่สามารถวาดการ์ตูนต่อไปได้ ตั้มจึงตัดสินใจเปิดระดมทุนเพื่อนำเงินมาซื้อไอแพดเครื่องใหม่ซึ่งก็ใช้เวลาไม่นาน หลังจากนำเงินที่ระดมมาได้ไปซื้อไอแพดแล้วเงินที่เหลือจากการระดมทุนตั้มก็ไม่ได้เก็บไว้กับตัวแต่นำไปโอนเข้าบัญชีของกองทุนราษฎรประสงค์ซึ่งให้ความช่วยเหลือด้านเงินประกันตัวกับคนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองทั้งหมดเพราะเขาชื่อว่าเงินนั้นจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นต่อไป
 
2554
 
ถ้าต้องติดคุก ก็ให้มันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย
 
ตั้มยอมรับว่าการถูกตั้งข้อหาด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 น่าจะเป็นเรื่องร้ายแรงกว่าเมื่อครั้งที่เขาถูกตั้งข้อกล่าวหาในคดีพ.ร.บ.ประชามติหลายเท่าตัวเพราะโทษสูงและไม่อาจไว้ใจได้ว่าระบวนการยุติธรรม จะอำนวยให้เกิดความยุติธรรมในคดีอย่างแท้จริง ตัวตั้มเองถึงขั้นแอบทำใจไว้เรียบร้อยแล้วว่าเขาน่าจะถูกตัดสินว่าผิดและถูกคุมขัง แต่ถ้ามันจะไปถึงขั้นนั้นตั้มก็ถือว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่ต้องจ่ายระหว่างการเปลี่ยนผ่านการเมืองจากระบอบเผด็จการไปเป็นระบอบประชาธิปไตย 
 
"112 มันน่ากลัว เพราะใครจะไปแจ้งความก็ได้ซึ่งผมว่ามันผิด คดีแบบนี้มันควรเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบแจ้ง จะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระมหากษัตริย์ก็ได้ แต่ไม่ใช่ใครก็ได้ ไม่งั้นมันจะกลายเป็นกลั่นแกล้งกันไปทั่วอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งสุดท้ายถึงแม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องแต่มันก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตที่พังไปแล้วของผมหรือของคนอื่นๆ ที่ถูกดำเนินคดีไปแล้วกลับคืนมา"
 
"ดูจากสถานการณ์แล้วคดีของผมมันก็คงจะเดาได้ไม่ยากว่าผลจะออกมาอย่างไร แต่ถ้าสุดท้ายจะต้องถูกคุมขัง ผมก็ถือว่ามันคือราคาที่ต้องจ่ายระหว่างการเปลี่ยนไปจากเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งไม่รู้จะใช้เวลาอีกกี่สิบหรือกี่ร้อยปี สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมมันก็คงเป็นแค่เศษเสี้ยวเล็กๆในนั้น แต่อย่างน้อยวันหนึ่งผมก็คงพูดกับคนรุ่นหลังได้ว่าผมอยู่ในเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านตรงนั้น"
 
"ท้ายที่สุดผมอยากขอใช้พื้นที่นี้ขอบคุณแฟนเพจ "คนกลมคนเหลี่ยม" ทุกๆ คนที่สนับสนุนผมทั้งการติดตาม และการสนับสนุนด้านอื่นๆ ซึ่งจากนี้ตัวผมเองก็จะวาดการ์ตูนต่อไป การถูกดำเนินคดีมันบันทอนผมอยู่เหมือนกัน แต่ผมก็จะไม่หยุดวาดเพราะผมเชื่อว่ามันยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องถูกบอกเล่า และผมก็อยากให้การ์ตูนของผมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อเรื่องที่สังคมควรได้รับรู้หรือหันมาสนใจ เพราะสุดท้ายการเมืองมันคือเรื่องของเราและมันกระทบกับชีวิตของเราโดยตรง ไม่ใช่แค่โดยอ้อม"  
 
 
ชนิดบทความ: