1307 1323 1066 1189 1109 1174 1159 1458 1694 1287 1867 1575 1809 1416 1904 1130 1216 1772 1730 1063 1980 1081 1846 1425 1029 1731 1795 1720 1630 1134 1420 1744 1718 1919 1476 1286 1221 1594 1908 1606 1731 1833 1642 1129 1690 1805 1529 1747 1063 1695 1648 1996 1349 1935 1608 1194 1877 1865 1581 1789 1257 1380 1141 1032 1792 1746 1709 1307 1330 1315 1784 1277 1537 1178 1135 1387 1560 1178 1894 1908 1938 1123 1394 1705 1674 1662 1529 1117 1079 1183 1262 1607 1338 1525 1996 1916 1086 1580 1471 แนวโน้มคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ในปี 2565 | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

แนวโน้มคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ในปี 2565

 
*ข้อมูล ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2565
 
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายอาญาที่มีบทลงโทษหนักคือจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี มักจะถูกนำมาบังคับใช้ในทางจำกัดเสรีภาพการแสดงออกและใช้ในการจัดการขั้วตรงข้ามทางการเมือง ระหว่างการรัฐประหาร 2557 เป็นอีกช่วงเวลาที่มาตรา 112 ถูกนำมาใช้ปราบปรามประชาชน การบังคับใช้ในช่วงเวลาดังกล่าวเห็นถึงปัญหาของตัวบทกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ตีความกว้างขวาง การลงโทษหนักหน่วงและจำเลยบางคนไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้เนื่องจากคดีอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหารและเหตุแห่งคดีเกิดระหว่างมีการประกาศกฎอัยการศึก แต่แล้วในปี 2561 เกิดปรากฏการณ์ที่พลิกโฉมการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีคดีที่ศาลยกฟ้องอย่างไม่ทราบสาเหตุ และเริ่มมีการนำกฎหมายอื่น เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาดำเนินคดีคนที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์บนโลกออนไลน์แทนมาตรา 112
 
ในปี 2563 การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษาและประชาชนมีการพัฒนาข้อเรียกร้องไปสู่เพดานสูงสุดอย่างการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นควบคู่ไปด้วยกับการวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผยทั้งในพื้นที่สาธารณะและบนโลกออนไลน์ แม้การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผยจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวแทบไม่มีการดำเนินคดีประชาชนด้วยมาตรา 112 ซึ่งทุกอย่างมาถูกเฉลยด้วยคำสัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563
 
“ทำไมมาตรา 112 ถึงไม่ถูกดำเนินคดี เพราะทรงมีพระเมตตา พระมหากรุณาธิคุณ ได้กำชับมากับผมโดยตรง ตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการใช้ไหม ม.112 ก็ละเมิดกันไปเรื่อย เพราะฉะนั้นทุกคนที่อยู่ในประเทศมีความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ก็ต้องช่วยกันด้วย”
 
แต่หลังจากนั้น การวิพากษ์วิจารณ์และข้อเรียกร้องต่อสถาบันพระมหากษัตริย์บนท้องถนนที่แหลมคมขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องไปกับการผลักดันนโยบายในรัฐสภาด้วยการรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 และร่างแก้ไขดังกล่าวที่ไม่ได้จำกัดว่า "ห้ามแก้หมวดหรือมาตราใด" ก็ได้สร้างความไม่สบายใจให้เหล่าผู้มีอำนาจที่อาจเข้าใจว่าร่างแก้ไขดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หรือเจตนาใดแอบแฝง แม้ระหว่างนั้นการชุมนุมจะอยู่ในกระแสสูง แต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก็ถูกผู้แทน (และส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง) ปัดตกไปในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 วันถัดมาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาออกแถลงการณ์ว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกบททุกมาตรา
 
และแล้วมาตรา 112 กลับมาอีกครั้ง...
 
จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือจำเลยที่ถูกดำเนินคดีเพราะการแสดงออกทางการเมืองมาตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 รายงานว่าตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 - 28 ธันวาคม 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 225 คน ใน 243 คดี
 
สังคมอาจจดจำว่า จำเลยมาตรา 112 คือ แกนนำนักกิจกรรมผู้ปราศรัยพังเพดานเสรีภาพที่เคยกดต่ำอย่างยาวนาน หากแต่คนที่ถูกดำเนินคดีจำนวนมากเป็นประชาชนทั่วไปที่โพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์ไม่ต่ำกว่า 100 คดี และพวกเขาเหล่านี้ต่างนับถอยหลังสู่วันพิพากษา จากจำนวนคดีที่มากกว่าหลัก 200 คดี มีอย่างน้อย 33 คดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว 
 
2764
 

ข้อสังเกต

o ในคดีที่ "ยกฟ้อง" ศาลให้เหตุผลประกอบคำพิพากษาไว้อย่างน่าสนใจ ได้แก่ คดีของอิศเรศและทิวากร ที่ศาลมีคำพิพากษาไปในทิศทางเดียวกันว่า จำเลย ไม่ได้กล่าวถึงองค์พระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ ขณะที่คดีของ "วุฒิภัทร" ศาลมีคำพิพากษาว่า มาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์อยู่ ณ เวลาเกิดเหตุเท่านั้น และคดีอื่นๆ ศาลให้เหตุผลว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่เพียงพอจึงยกประโยชน์ความสงสัยให้แก่จำเลย
 
อย่างไรก็ตาม ในคดีที่ศาลเห็นว่ามีความผิด ก็มีคำพิพากษาที่ขัดหรือแย้งกับคดีที่ยกฟ้องข้างต้น เช่น คดีของจรัส ศาลอุทธรณ์จังหวัดจันทบุรีมีความเห็นว่า มาตรา 112 คุ้มครองอดีตกษัตริย์ด้วย เนื่องจากการดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ กระทำโดยการสืบสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล ทำให้พระมหากษัตริย์จะสืบทอดทางสันตติวงศ์ทางสายพระโลหิตติดต่อกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์จักรี ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ต้นราชวงศ์ ตลอดมาจนกระทั่งรัชกาลปัจจุบัน และคดีของเพชร ธนกร ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำพิพากษาว่า มาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่ง แต่คุ้มครองทั้งสถาบันฯ
 
o อย่างน้อย 26 คดี ที่ศาลพิพากษาว่ามีความผิด มากกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 17 คดี ศาลลงโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี ซึ่งเป็นโทษขั้นต่ำที่สุดต่อกรรมที่มาตรา 112 กำหนดไว้ โดยจำเลยที่ต้องโทษหนักที่สุดสามลำดับในกลุ่มนี้คือ
(1) ภัคภิญญา บรรณารักษ์ชาวกรุงเทพฯ ที่ต้องเดินทางไกลไปสุไหงโก-ลก ศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษาว่ามีความผิด 3 กรรม ลงโทษกรรมละ 3 ปี รวม 9 ปี ไม่มีเหตุบรรเทาโทษ
(2) ก้อง-อุกฤษฏ์ นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุราม ที่ศาลอาญา รัชดา พิพากษาว่ามีความผิด 5 กรรม ลงโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 15 ปี ให้การรับสารภาพ เหลือจำคุก 5 ปี 30 เดือน
(3) “ปุญญพัฒน์” ผู้ป่วยพัฒนาการช้าและสมาธิสั้น ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษาว่ามีความผิด 4 กรรม ลงโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 12 ปี ให้การรับสารภาพ เหลือจำคุก 4 ปี 24 เดือน
 
ในหลายๆ คดีศาลมักจะหาเหตุบรรเทาโทษจำคุกให้จำเลย แต่มีอย่างน้อย 3 คดี คือคดีของสมบัติ ทองย้อย กัลยา และภัคภิญญา ที่ศาลไม่บรรเทาโทษให้จำเลย ทั้งสามจึงต้องรับโทษจำคุกเต็มเวลาจากการกระทำความผิดกรรมละ 3 ปี  
 
o มีจำเลยให้การรับสารภาพอย่างน้อย 14 คดี และศาลก็มีคำพิพากษาให้ “รอการลงโทษ” หรือรอลงอาญา จำนวน 8 คดี และ "ให้รอการกำหนดโทษ" อีก 2 คดี ส่วนคดีของ “พลทหารเมธิน”, “ปุญญพัฒน์”, สุทธิเทพ, "ปณิธาน",  พิทักษ์พงษ์และอุกฤษฏ์ ที่แม้จะรับสารภาพ แต่ศาลก็พิพากษาจำคุกโดยไม่รอการลงโทษ 
 
อย่างไรก็ตาม ภายหลังศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา สมบัติและอุกฤษฏ์ เป็นจำเลยที่ไม่ได้ประกันตัวระหว่างการอุทธรณ์คดี ในขณะที่จำเลยคนอื่นๆ ได้รับการประกันตัว
 

คดีมาตรา 112 ที่มีคำพิพากษาแล้ว มีดังนี้

 
2765
 
  • คดีที่ยกฟ้องทุกข้อหา : 6 คดี

1) คดีของอิศเรศ : โพสต์ข้อความถึงการไม่แต่งตั้งกษัตริย์ใหม่หลังการสวรรคต 
16 มีนาคม 2565 ศาลจังหวัดนครพนมยกฟ้องโดยระบุว่า ข้อความไม่ได้แสดงความอาฆาตมาดร้าย ไม่ได้ระบุถึงบุคคลให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอ และเมื่อไม่ผิดตามมาตรา 112 จึงไม่มีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 
 
2) คดีของทิวากร : โพสต์ภาพตนเองสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” และอีก 2 ข้อความ 
29 กันยายน 2565 ศาลจังหวัดขอนแก่นยกฟ้องทั้งมาตรา 112 และมาตรา 116 โดยระบุว่าข้อความและรูปภาพของจำเลยเป็นการกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยไม่ได้กล่าวถึงองค์พระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ 
 
3) คดีของสุริยศักดิ์ : ส่งข้อความผ่านไลน์
5 ตุลาคม 2565 ศาลอาญา รัชดา พิพากษายกประโยชน์ความสงสัยให้แก่จำเลย เนื่องจากพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีมีความขัดแย้งกันและพบพิรุธหลายประเด็น เช่น การเบิกความของพยานโจทก์ การพิสูจน์ตัวตนของจำเลยในการใช้บัญชีไลน์  
 
4) คดีของ "วารี" : คอมเมนต์รูปการ์ตูนบนเฟซบุ๊ก และอีก 2 โพสต์ 
6 ตุลาคม 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา เนื่องจากพยานโจทก์ไม่เพียงพอให้เชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ และมีเพียงผู้กล่าวหาคนเดียวที่เบิกความว่าจำเลยโพสต์ แต่กลับเบิกความถึงการเห็นโพสต์แตกต่างกัน อีกทั้งภาพที่นำมาแจ้งความไม่ปรากฏ URL ประกอบการคำเบิกความของพยานจำเลยซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งสองคนเห็นว่า ภาพมีการตัดต่อมา 
 
5) คดีของพิพัทธ์โพสต์ภาพรัชกาลที่สิบในรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส
26 ตุลาคม 2565 ศาลจังหวัดสมุทรปราการยกฟ้อง เนื่องจากหลักฐานเป็นเพียงการแคปภาพหน้าจอ ไม่ใช่สิ่งพิมพ์จากข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยตรง จึงไม่สามารถนำสืบได้ว่าข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์มีจุดเริ่มต้นส่งข้อมูล และปลายทางส่งข้อมูลเป็นอย่างไร หมายเลขประจำตัวเครื่องคอมพิวเตอร์คืออะไร ซึ่งเป็นข้อมูลระบุตัวตนสำคัญ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
 
6) คดีของ "ชัยชนะ" : โพสต์ข้อความวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์
21 ธันวาคม 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสยกฟ้อง เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยเป็นผู้ใช้งานหรือเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวจริง ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ที่เป็นพยานจำเลยก็เบิกความว่า ข้อมูลส่วนตัวที่ถูกเผยแพร่อยู่บนอินเทอร์เน็ต สามารถถูกนำไปตัดต่อ ปลอมแปลงเป็นภาพและข้อมูลเท็จได้ นอกจากนั้นจากการตรวจสอบโทรศัพท์ของจำเลยก็ไม่พบว่ามีประวัติการเข้าถึงเฟซบุ๊กที่เป็นปัญหาในคดีนี้ ประกอบกับจำเลยมีอาการทางจิต จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
 
  • คดีที่ยกฟ้องเฉพาะมาตรา 112 แต่ลงโทษตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ : 1 คดี

1) คดีของ “วุฒิภัทร” : โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ 3 จำเลยกรณีสวรรคต ร.8
25 มีนาคม 2565 ศาลจังหวัดสมุทรปราการยกฟ้องโดยเห็นว่า องค์ประกอบ ม.112 คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์อยู่เท่านั้น แต่ลงโทษในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (1) เนื่องจากเห็นว่าข้อความกระทบกระเทือนความรู้สึกของประชาชนทั่วไป จึงพิพากษาจำคุก 1 ปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 8 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ
 
  • คดีที่พิพากษาว่ามีความผิดตาม ม.112 : 26 คดี

o รอกำหนดโทษ : 2 คดี
 
1) คดีของชลสิทธิ์ จากการโพสต์ภาพวาดล้อเลียน รัชกาลที่ 10 ลงในสตอรี่เฟซบุ๊ก โดยศาลจังหวัดกันทรลักษ์ พิพากษาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ให้รอการกำหนดโทษ 2 ปี ให้คุมความประพฤติไว้ 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง และให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ 12 ชั่วโมง เนื่องจากไม่เคยทำผิดมาก่อนและขณะโพสต์รู้เท่าไม่ถึงการณ์
 
2) คดีของ "โจ" จากการแชร์โพสต์ข้อความจากเพจเยาวชนปลดแอกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับโอกาสครบรอบ 7 ปี การรัฐประหาร โดยศาลจังหวัดลำปางพิพากษาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ให้รอการกำหนดโทษ 2 ปี โดยพิจารณาถึงพฤติการณ์ของจำเลย ประวัติส่วนตัว ที่จำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อน ทั้งนี้ ในการสอบคำให้การของศาล โจได้ตัดสินใจให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา และศาลได้มีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจพฤติการณ์จำเลยเพิ่มเติมก่อนพิพากษา
 
o รอการลงโทษ (รอลงอาญา) : 8 คดี
 
1) คดีของ “บุญลือ” จากการคอมเมนต์ถึงลักษณะที่ดีของกษัตริย์และความจำเป็นในการปฏิรูปสถาบันฯ โดยศาลจังหวัดพังงาพิพากษาเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565  ให้จำคุก 3 ปี แต่ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน เพราะจำเลยรับสารภาพ ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และคุมประพฤติ 1 ปี โดยให้รายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง และทำกิจกรรมบริการสังคม 12 ชั่วโมง เนื่องจากเห็นว่าจำเลยกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เมื่อตักเตือนก็ยินยอมลบข้อความ ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ในทางการเมืองหรือหวังผลอย่างอื่นใด
 
2) คดีของ “ณชา” จากการคอมเมนต์ในโพสต์ข้อความในกลุ่มรอยัลลิสต์ มาร์เกตเพลส โดยศาลอาญา รัชดา พิพากษาเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ให้จำคุก 3 ปี แต่ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน เพราะจำเลยรับสารภาพ พร้อมเหตุผลว่า จำเลยไม่เคยรับโทษมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 เดือนครั้ง ภายใน 1 ปี ทำงานบริการสังคม 12 ชั่วโมง และริบโทรศัพท์ที่เป็นของกลาง
 
3) คดีของจรัส จากแสดงความคิดเห็นวิจารณ์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9
 
คดีนี้ ในเดือนสิงหาคม 2563 ตำรวจแจ้งข้อหาจรัสตามมาตรา 14(1) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่มาแจ้งข้อหาแจ้งมาตรา 112 เพิ่มภายหลังการประกาศใช้กฎหมายทุกบททุกมาตราของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยใน 30 พฤศจิกายน 2564 ศาลจังหวัดจันทบุรีศาลยกฟ้องมาตรา 112 เนื่องจากเห็นว่า องค์ประกอบมาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์อยู่เท่านั้น แต่ให้มีความผิดตามมาตรา 14(1) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พิพากษาจำคุก 2 ปี แต่ลดโทษให้เหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือนและปรับเงิน 26,666.66 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ให้รายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ใน 1 ปี 
 
ต่อมา ในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จังหวัดจันทบุรี กลับคำพิพากษา เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2565 โดยเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 เนื่องจากเห็นว่า การกระทำต่อพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้วนั้น ย่อมกระทบมาถึงกษัตริย์องค์ปัจจุบันด้วย ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี 
 
4) คดีของ เพชร ธนกร จากการปราศรัยในการชุมนุมคนนนท์ท้าชนเผด็จการ (ม็อบ10กันยา63) โดยศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจังหวัดนนทบุรี พิพากษาเมื่อ 22 ธันวาคม 2565 ให้จำคุก 3 ปี แต่พิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เพราะขณะเกิดเหตุจำเลยมีอายุ 17 ปี เหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน และให้รอลงอาญา 2 ปี 
 
 
5) คดีของ "อัปสร" จากการแชร์โพสต์ข้อความของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ วิจารณ์ราชวงศ์ไทย โดยศาลอาญาพิพากษาเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565 ให้จำคุก 4 ปี แต่ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 2 ปี เพราะจำเลยรับสารภาพ ให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี กับคุมประพฤติโดยให้ไปรายงานตัว 3 ครั้งภายในระยะเวลา 2 ปี เนื่องจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์และไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน 
 
6) คดีของพิทยุตม์ จากการวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์ ร.10 โดยศาลจังหวัดอุดรธานี พิพากษาเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2565 ให้จำคุก 5 ปี รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี 6 เดือน โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี คุมประพฤติเป็นเวลา 1 ปี โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง และทำงานบริการสังคม 24 ชั่วโมง
 
7) คดีของ "พนิดา" จากการพ่นสีใต้พระบรมฉายาลักษณ์ในเมืองพัทยาจำนวน 2 จุด โดยศาลจังหวัดพัทยาพิพากษาเมื่อ 14 ธันวาคม 2565 ให้จำคุกกรรมละ 3 ปี ให้การรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือกรรมละ 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 12 เดือน แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้เป็นเวลา 2 ปี และให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี พร้อมทั้งให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลา 12 ชั่วโมง
 
8) คดีของธัญดล จากการแชร์เฟซบุ๊กจากเพจ “KonthaiUK” 2 ข้อความ โดยศาลจังหวัดสมุทรปราการ พิพากษาเมื่อ 27 ธันวาคม 2565 ให้จำคุกกรรมละ 3 ปี รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 1 ปี 6 เดือน รวม 2 ปี 12 เดือน แต่เห็นว่าจำเลยสำนึกผิด ประกอบกับไม่เคยกระทำผิดมาก่อน จึงให้รอลงอาญา 3 ปี และให้คุมประพฤติ 3 ปี รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 เดือนต่อครั้ง
 
o กรรมละ 2 ปี ได้แก่ คดีของเพชร ธนกร จากการปราศรัยในการชุมนุมที่วงเวียนใหญ่ เมื่อ 6 ธันวาคม 2563 โดยศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง พิพากษาเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2565 ว่าแม้คำปราศรัยจะไม่ได้มีการกล่าวถึงพระนามของกษัตริย์พระองค์ใด แต่เห็นว่ามาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองแค่กษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง แต่คุ้มครองทั้งสถาบันกษัตริย์ กำหนดโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ม.142 (1) เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นคุมประพฤติ นำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน กำหนดขั้นต่ำ 1 ปี 6 เดือน ขั้นสูงไม่เกิน 3 ปี
 
 
o กรรมละ 3 ปี
 
1) คดีของ “ปุญญพัฒน์” ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ 4 ข้อความ
ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษาเมื่อ 20 มิถุนายน 2565 ให้จำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 12 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดโทษเหลือ 4 ปี 24 เดือน
 
2) คดีของพอร์ท ไฟเย็น ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ 3 ข้อความ
ศาลอาญาพิพากษาเมื่อ 15 สิงหาคม 2565 ว่าข้อความทั้งสามเป็นข้อมูลเท็จ ให้จำคุกกรรมละ 3 ปีรวม 9 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษเหลือ 6 ปี
 
3) คดีของสมบัติ ทองย้อย ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ 3 ข้อความ
ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาเมื่อ 28 เมษายน 2565 ว่าจากการโพสต์ 3 ข้อความ มี 2 ข้อความที่เป็นการกระทำด้วยเจตนาเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวกัน สมบัติจึงมีความผิด 2 กรรม ให้จำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 6 ปี ไม่มีเหตุลดโทษ
 
4) คดีของ “กัลยา” ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ 2 ข้อความ
ศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษาเมื่อ 2 สิงหาคม 2565 ให้จำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 6 ปี ไม่รอการลงโทษ ไม่มีเหตุลดโทษ
 
5) คดีของอุดม ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ 7 ข้อความ
ศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษาเมื่อ 26 กรกฎาคม 2565 ว่ามีความผิด 2 ข้อความ จำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 6 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือโทษจำคุก 4 ปี โดยอีก 4 ข้อความ ศาลมองว่าไม่ครบองค์ประกอบเนื่องจาก ม.112 คุ้มครองเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน ขณะที่อีก 1 ข้อความ โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าหมายถึงบุคคลใด
 
6) คดีของนรินทร์ ถูกกล่าวหาว่าแปะสติกเกอร์ “กูkult” คาดทับพระเนตรบนพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 10 
ศาลอาญาพิพากษาเมื่อ 4 มีนาคม 2565 ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการแสดงว่ามีความยิ่งใหญ่เหนือกว่าพระมหากษัตริย์ ให้จำคุก 3 ปี ให้การเป็นประโยชน์ลดโทษจำคุก 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี 
 
7) คดีของ นิว จตุพร ถูกกล่าวหาว่าใส่ชุดไทยเลียนแบบพระราชินี
ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาเมื่อ 12 กันยายน 2565 เห็นว่าจำเลยมีการแสดงตนเป็นราชินี ในเชิงล้อเลียนเสียดสี ก่อให้เกิดความตลกขบขัน จำคุก 3 ปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี 
 
8) คดีของภัคภิญญา ถูกกล่าวหาว่าแชร์เฟซบุ๊ก 6 ข้อความ
ศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษาเมื่อ 19 ตุลาคม 2565 ว่ามี 3 ข้อความที่เข้าข่ายมาตรา 112 ให้จำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 9 ปี
 
9) คดีของสุทธิเทพ ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ 1 ข้อความ
ศาลอาญา รัชดา พิพากษาเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2565 ให้จำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ 
 
10) คดีของพรชัย ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ 3 ข้อความ
ศาลจังหวัดยะลา พิพากษาเมื่อ 15 ธันวาคม 2565 ว่ามี 1 ข้อความที่เข้าข่ายมาตรา 112 ให้จำคุก 3 ปีให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือ 2 ปี ในขณะที่อีก 2 ข้อความให้ยกฟ้องเนื่องจาก ภาพหลักฐานไม่ปรากฏ URL ที่มาของข้อความในเอกสารที่นำมาแจ้งความ 
 
11) คดีของอุกฤษฏ์ ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ 5 ข้อความ
ศาลอาญา รัชดา พิพากษาเมื่อ 21 ธันวาคม 2565 ให้จำคุกกรรมละ 3 ปี รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 1 ปี 6 เดือน รวม 5 ปี 30 เดือน และเนื่องจากคดีเป็นเหตุร้ายแรง ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและดูหมิ่นเกลียดชังสถาบันฯจึงไม่มีเหตุให้บรรเทาโทษ 
 
o กรรมละ 4 ปี ได้แก่ 
 
1) คดีของมีชัย ถูกกล่าวหาว่า โพสต์วิจารณ์การใช้ภาษีของสถาบันกษัตริย์ โดยศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษาเมื่อ 18 กรกฎาคม 2565 ว่าข้อความที่โพสต์เป็นความเท็จ มีเจตนาลดเกียรติและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ จำคุก 4 ปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี 8 เดือน ไม่รอการลงโทษ
 
2) คดีของ "ปณิธาน" ถูกกล่าวหาว่า คอมเมนต์ในโพสต์ข้อความในกลุ่มรอยัลลิสต์ มาร์เกตเพลส โดยศาลอาญา รัชดา พิพากษาเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2565 ให้จำคุก 4 ปี รับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี ทั้งนี้ ศาลระบุว่าจากรายงานการสืบเสาะจำเลยประกอบอาชีพสุจริต ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ต้องเลี้ยงดูครอบครัว แต่การกระทำของจำเลยทำให้กษัตริย์เสื่อมเสียเกียรติยศ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง เป็นความผิดร้ายแรง ไม่สมควรรอการลงโทษ
 
o กรรมละ 5 ปี ได้แก่ 
 
1) คดีของ "พลทหารเมธิน" ถูกกล่าวหาว่าพาดพิงกษัตริย์ระหว่างเถียงกับคู่กรณีที่ขับรถเฉี่ยวชน โดยคดีนี้พิจารณาในศาลทหารกรุงเทพ เมื่อ 11 สิงหาคม 2565 จำเลยให้รับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน   
 
2) คดีของ พิทักษ์พงษ์ ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความพาดพิงถึงความประพฤติของกษัตริย์ โดยศาลอาญา รัชดา พิพากษาเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2565 ให้จำคุก 5 ปี รับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี 6 เดือน และเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ