1675 1125 1982 1558 1726 1192 1925 1492 1422 1815 1256 1798 1171 1252 1383 1281 1963 1331 1723 1106 1598 1543 1069 1881 1410 1843 1829 1034 1642 1548 1859 1083 1234 1766 1302 1406 1170 1421 1985 1732 1998 1061 1215 1826 1383 1883 1202 1064 1379 1394 1703 1581 1750 1113 1304 1128 1419 1127 1285 1491 1326 1912 1339 1966 1807 1400 1160 1382 1984 1644 1340 1590 1961 1394 1670 1915 1259 1525 1802 1316 1850 1116 1698 1920 1995 1971 1335 1094 1278 1541 1373 1944 1281 1230 1959 1690 1262 1818 1306 รู้จักกับเพกาซัส อาวุธไซเบอร์ที่ร้ายแรงที่สุดในโลก เครื่องมือของรัฐการล้วงข้อมูลคนเห็นต่าง | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

รู้จักกับเพกาซัส อาวุธไซเบอร์ที่ร้ายแรงที่สุดในโลก เครื่องมือของรัฐการล้วงข้อมูลคนเห็นต่าง

รวม 5 เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับเพกาซัส
 
1. เพกาซัสเป็นสปายแวร์ล้ำสมัย ผลิตโดยบริษัทสัญชาติอิสราเอล NSO Group เพกาซัสสามารถเจาะโทรศัพท์เป้าหมายได้โดยวิธีการ “ไร้การคลิ๊ก” (zero click) โดยที่เจ้าของไม่รู้ตัวผ่านช่องโหว่ในระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์
 
2. เมื่อเพกาซัสสามารถเจาะเข้าไปในโทรศัพท์เป้าหมายได้แล้ว โทรศัพท์เครื่องนั้นจะตกอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้เจาะสมบูรณ์ ข้อมูลทุกอย่าง เช่น รูปภาพ วีดีโอ แชท อีเมล หรือแม้กระทั่งการเปิดกล้องหรือไมโครโฟน จะสามารถถูกสั่งการจากทางไกลและโอนถ่ายข้อมูลไปยังผู้ควบคุมเพกาซัสได้
 
3. เพกาซัสเปรียบเสมือนอาวุธร้ายแรง ผู้ผลิตจะขายให้กับลูกค้าที่เป็นหน่วยงานของรัฐบาลเท่านั้น โดยก่อนจะขายต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลอิสราเอลด้วย
 
4. มีการเปิดโปงว่า รัฐบาลหลายประเทศฉกฉวยนำเพกาซัสไปใช้กับผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาลหรือระบอบ ไม่ว่าจะเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักข่าว นักกิจกรรมทางการเมือง นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ซึ่งรวมถึงประธานาธิบดี กษัตริย์ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงในองค์กรระหว่างประเทศ
 
5. NSO Group เจอกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นโดยเพกาซัส โดยต้องเจอกับการฟ้องร้องจากแอปเปิลและเมต้าจากกรณีกการเจาะระบบ รวมถึงการถูกรัฐบาลสหรัฐอเมริกาติด “บัญชีดำ” ไม่ให้สามารถทำธุรกิจกับสหรัฐฯ ได้
การเจาะโทรศัพท์เพื่อเข้ามาล้วงข้อมูล หรือการสั่งเปิดกล้องเพื่อแอบดูสิ่งรอบๆ ข้าง โดยที่เราไม่รู้ตัวอาจจะเป็นเรื่องที่ฟังแล้วดูน่าเหลือเชื่อ แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่ได้อยู่เพียงแต่ในเพียงจินตนาการ และเทคโนโลยีขั้นสูงที่ใช้เจาะโทรศัพท์ก็ไม่ได้ถูกนำไปใช้กับการหยุดยั้งแผนทำลายโลกเหมือนในภาพยนตร์ แต่บ่อยครั้งกลับถูกนำมาใช้ "สอดส่อง" กลุ่มคนที่ทำกิจกรรมต่อต้านรัฐบาล ราวกับนิยายดิสโทเปียมากกว่า
 
ฝันร้ายนั้นเกิดขึ้นจริงโดยสปายแวร์ที่ชื่อว่า “เพกาซัส” ซึ่งเป็นหนึ่งในอาวุธไซเบอร์ที่ร้ายแรงที่สุดในโลก เมื่อเพกาซัสสามารถเจาะเข้ามาในโทรศัพท์มือถือของใครได้แล้ว ก็สามารถล้วงข้อมูลได้ทุกอย่างที่อยู่ในโทรศัพท์ของเป้าหมายโดยที่เจ้าของเครื่องไม่รู้ตัว ที่ผ่านมา สปายแวร์ของบริษัทสัญชาติอิสราเอล NSO Group ถูกใช้เพื่อล้วงข้อมูลนักกิจกรรม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักการเมือง และคนสำคัญอีกมากมาย และยังเป็นต้นเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านความเป็นส่วนตัวอย่างรุนแรงจนกลายเป็นข่าวฉาวโฉ่ไปทั่วโลก
 
ทำความรู้จักกับเพกาซัส สปายแวร์ที่เปรียบดั่งปรสิต สามารถแฝงตัวเข้ามาขโมยข้อมูลส่วนตัวได้โดยไม่มีทางรู้ตัว
 
2443
 
อาวุธไซเบอร์ที่ร้ายแรงที่สุด เจาะมือถือด้วยระบบ 'zero click'
 
ในปี 2559 นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้รับข้อความจากเบอร์โทรศัพท์ที่ไม่รู้จัก โดยมีข้อความและลิงค์ที่น่าสงสัยแนบมาด้วย หลังจากที่ลิงค์ถูกส่งต่อไปให้กับนักวิจัยจาก Citizen Lab องค์กรที่จับตาเรื่องสิทธิมนุษยชนในโลกไซเบอร์สังกัดมหาวิทยาลัยโตรอนโต ผลการวิเคราะห์ได้ทำให้รู้จักกับสปายแวร์ที่มีความซับซ้อนสูง ราคาแพง และร้ายแรงมากที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ 
 
สปายแวร์ซึ่งใช้รหัสว่า “เพกาซัส” (Pegasus) มีความสามารถในการเจาะและล้วงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ แม้แต่ไอโฟนซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นโทรศัพท์ออกแบบมาให้ปลอดภัยกับผู้ใช้มากที่สุดก็ยังไม่สามารถป้องกันการลุกล้ำของเพกาซัสได้ เมื่อถูกเพกาซัสแฝงตัวเข้ามาในเครื่องแล้ว โทรศัพท์เป้าหมายจะถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นเครื่องมือสอดส่องโดยที่เจ้าของนั้นไม่รู้ตัว 
 
เพกาซัสผลิตขึ้นโดยบริษัท NSO Group ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศอิสราเอล ผู้คิดค้นและผลิตเพกาซัสถึงกับขนานนามม้าติดปีกตัวนี้ว่าเป็น “ม้าโทรจัน” ตามเทพนิยายอิเลียด ซึ่งสามารถถูกส่งให้ “บินไปในอากาศ” เพื่อล้วงข้อมูลของเหยื่อได้ ในรายงานความโปร่งใสบนเว็บไซต์ของ NSO อธิบายว่า เพกาซัสจะขายให้กับลูกค้าที่เป็นรัฐบาลเท่านั้น เพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันอาชญากรรมร้ายแรงและการก่อการร้าย ไม่ขายให้กับองค์กรเอกชนหรือกลุ่มใดที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ
 
จากข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผย การทำงานของเพกาซัส คือ การส่งเข้าไปที่โทรศัพท์ของเป้าหมายผ่านทางช่องทาง 'zero day' หรือช่องโหว่ที่ไม่มีใครเคยทราบมาก่อนของระบบปฏิบัติการโทรศัพท์ ในช่วงแรกที่การใช้เพกาซัสถูกตรวจพบ พบว่าการเจาะข้อมูลนั้นใช้วิธีฟิชชิง (phishing) ซึ่งเจ้าของโทรศัพท์เป้าหมายนั้นจำเป็นต้องกดลิงค์บางอย่างที่ส่งไปให้ก่อน หลังจากนั้นโทรศัพท์เครื่องนั้นก็จะตกอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ที่เจาะระบบ แต่ในระยะหลังพบว่าเพกาซัสพัฒนาตัวเองได้มากขึ้น โดยการเจาะระบบนั้นสามารถทำได้โดยวิธีการ “ไร้การคลิ๊ก” (zero click) ซึ่งไม่จำเป็นต้องส่งลิงค์อีกต่อไป แต่สามารถส่งสปายแวร์เข้าไปที่เป้าหมายได้เลยผ่านช่องโหว่ใน iMessage ของเครื่อง iPhone 
 
แม้ว่าผู้ผลิตโทรศัพท์อย่างบริษัท แอปเปิ้ล จะมีความพยายามในการอุดช่องโหว่ แต่การแก้ไขจุดบกพร้องของระบบก็เหมือนกับเล่น “แมวจับหนู” เพราะนักเจาะของบริษัท NSO Group ก็จะพยายามหาช่องโหว่ใหม่เพื่อส่งเพกาซัสไปที่เป้าหมายเหมือนเดิม ทำให้ผู้ผลิตไอโฟนก็ต้องแก้เพมกลับมาอุดช่องโหว่อีกครั้ง สำหรับผู้ใช้โทรศัพท์ทั่วไปแล้ว การป้องกันเพกาซัสจึงเป็นเรื่องที่ 'แทบจะเป็นไปไม่ได้' และทำให้สปายแวร์นี้น่าสะพรึงกลัวเป็นอย่างมาก
 
เมื่อเพกาซัสสามารถเข้ามาในโทรศัพท์ของเป้าหมายได้แล้ว ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเจาะระบบจะสามารถเข้าควบคุมโทรศัพท์เครื่องนั้นอย่างสมบูรณ์ ข้อมูลทุกอย่างบนโทรศัพท์จะตกอยู่ในมือของผู้เจาะทันที ไม่ว่าจะเป็น เอสเอมเอส อีเมล ข้อความในแชทต่างๆ รูปภาพ วีดีโอ ไฟล์ แอปโซเชียลมีเดีย ประวัติการโทรศัพท์ ตำแหน่งโลเคชั่นของเป้าหมาย รวมถึงรหัสผ่านต่างๆ ที่เคยใช้เพื่อเข้าสู่โปรแกรมในเครื่องนั้นๆ ที่ร้ายแรงมาก คือ อำนาจการสั่งเปิดกล้องหรือไมโครโฟนของโทรศัพท์เพื่อดักฟังและดูสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ โดยการขโมยข้อมูลส่วนตัวนี้จะเกิดขึ้นโดยที่เจ้าของโทรศัพท์ไม่สามารถทราบได้ว่ามีการเจาะระบบเกิดขึ้นหรือมีข้อมูลใดบ้างที่ถูกขโมยไป 
 
ในขณะที่มาตรการความปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้รับความนิยม เช่น การใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายเสมือน (VPN) การเข้ารหัสจากปลายทางถึงปลายทาง (as end-to-end encryption) หรือการยืนยันตัวตันสองชั้น (two-factor authentication) ก็ไม่สามารถป้องกัน “อาวุธไซเบอร์ที่ร้ายแรงที่สุดในโลก” นี้ได้
 
เปิดโปงเพกาซัส ใช้เจาะนักกิจกรรมไปจนถึงประธานาธิบดีและกษัตริย์
 
แม้ NSO Group บริษัทสัญชาติอิสราเอลผู้อยู่เบื้องหลังเพกาซัสจะอ้างว่าสปายแวร์ของตนเองถูกออกแบบมาเพื่อ “ป้องกันและสืบสวนการก่อการร้ายและอาชญากรรมร้ายแรง” เท่านั้น เช่น การก่อการร้าย การค้ามนุษย์ หรืออาชาญากรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด แต่เมื่อได้รับอาวุธไซเบอร์ที่ทรงพลังขนาดนี้เข้ามาอยู่ในมือแล้ว รัฐจำนวนมากก็ฉวยโอกาสใช้เพกาซัสกับบุคคลที่รัฐเห็นว่าเป็นภัยต่อรัฐบาลหรือระบอบแม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม 
 
อานุภาพของเพกาซัส และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ตามมาจากการใช้สปายแวร์เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างและกลายเป็นข่าวฉาวระดับโลกจากการเปิดโปงในช่วงกลางปี 2564 ของกลุ่ม Forbidden Stories ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักข่าวต่างประเทศจากสื่อหัวดังหลายสำนัก เช่น The Guardian Le Monde และ Washington Post การเปิดโปงที่เป็นที่รู้จักต่อมาในนาม Pegasus Project เริ่มมาจากนักข่าวได้รับเอกสารหลุดซึ่งมีเบอร์โทรศัพท์ของคนที่ต้องสงสัยว่าโดนเพกาซัสเจาะโทรศัพท์อย่างน้อย 50,000 หมายเลข
 
หลังจากการสืบข้อมูลและการวิเคราะห์ก็โดย Amnesty Tech พบว่ามีบุคคลสำคัญทางการเมือง และคนที่ทำงานอยู่ในด้านสิทธิมนุษยชนหรือสื่อสารมวลชนจำนวนมากที่มีชื่ออยู่ในฐานะผู้ต้องสงสัยว่าอาจตกเป็นเป้าหมายของเพกาซัส โดยมีผู้นำรัฐบาลหรือประมุขของรัฐอย่างน้อย 13 คน เช่น เอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส กษัตริย์โมฮัมเม็ดที่หกแห่งโมรอกโก อิมราน ข่าน นายกรัฐมนตรีของปากีสถาน รวมถึงผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WTO) นอกจากนี้ยังพบนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโลกและนักข่าวจากทั่วทุกมุมโลกอีกหลายร้อยคนที่ตกเป็นเหยื่อของเพกาซัส
 

2444

 
กรณีที่เป็นเรื่องอื้อฉาวระดับโลกคือการตรวจพบว่าคนใกล้ชิดสองคนของจามาล คาช็อกกี นักข่าวที่ลี้ภัยทางการเมืองออกมาจากซาอุดิอาระเบีย ถูกเพกาซัสเจาะโทรศัพท์ในช่วงก่อนและหลังที่คาช็อกกีจะถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมในสถานทูตซาอุดิอาระเบีย ณ กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี
 
จนถึงปี 2561 จากความพยายามติดตามการทำงานของเพกาซัสทั่วโลกของ Citizen Lab พบสปายแวร์ของ NSO Group อยู่ในอย่างน้อย 45 ประเทศ ต่อมาในต้นปี 2565 Citizen Lab ได้เผยแพร่รายงานว่ามีเจ้าหน้าที่และนักการเมืองระดับสูงในแคว้นคาตาลันของสเปน รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับขบวนการเคลื่อนไหวให้คาตาลันแยกตัวจากสเปนอย่างน้อย 63 คนตกเป็นเหยื่อของเพกาซัส การเปิดโปงเพกาซัสกลายเป็นข่าวฉาวระดับประเทศ และถูกเรียกว่าเป็น “วิกฤตประชาธิปไตย” ทำให้หัวหน้าหน่วยข่าวกรองของสเปนต้องถูกปลดออกจากตำแหน่ง ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เดือนเมษายน 2565 Citizen Lab ได้แจ้งไปยังรัฐบาลอังกฤษว่าบุคคลการที่ทำงานอยู่ในบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวน์นิง ซึ่งเป็นที่ทำงานของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษอาจตกเป็นเป้าหมายของเพกาซัสด้วย
 
นอกจากบริษัท NSO Group จะขายเพกาซัสให้กับลูกค้าที่เป็นรัฐบาลแล้ว การจะตัดสินใจขายสปายแวร์ยังมีรัฐบาลอิสราเอลเข้ามาเกี่ยวข้องและส่งผลต่อภูมิรัฐศาสตร์ด้วย เนื่องจากว่าเพกาซัสถูกจัดว่าเป็น “อาวุธไซเบอร์” จึงต้องได้รับไฟเขียวจากกระทรวงกลาโหมของอิสราเอลก่อนถึงจะขายให้รัฐบาลประเทศอื่นได้เฉกเช่นเดียวกับอาวุธสงครามอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลอิสราเอลจึงสามารถฉวยโอกาสนำเพกาซัสไปใช้เป็นเครื่องมือต่อรองในเวทีระหว่างประเทศได้ 
 
The New York Times รายงานว่า หลังจากที่ได้รับอนุญาตจากอิสราเอลให้เข้าถึงเพกาซัส บางประเทศเช่น เม็กซิโก และปานามา ก็เปลี่ยนแนวทางการโหวตของตนเองในสหประชาชาติในมติที่เกี่ยวข้องกับอิสราเอลและปาเลสไตน์ การตัดสินใจขายเพกาซัสยังมีความเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มประเทศอาหรับในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะกับซาอุดิอาระเบียซึ่งมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านอิหร่าน ศัตรูที่ทั้งประเทศอาหรับนิกายซุนหนี่และอิสราเอลมีร่วมกัน
 
ฟ้อง-ขึ้นบัญชีดำ NSO Group ในการต่อสู้ระดับโลก
 
การเปิดโปงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากเพกาซัสได้นำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง NSO Group อ้างว่าตนเองมีกลไกที่จะคัดกรองให้การใช้สปายแวร์ต้องตรงตามวัตถุประสงค์ ในขณะที่ยังกล่าวอีกว่าบริษัทไม่เก็บข้อมูลการใช้เพกาซัสของลูกค้า จึงไม่สามารถทราบได้ว่ามีบุคคลใดที่ตกบ้างเป็นเป้าหมายของสปายแวร์ อย่างไรก็ตาม รายงานจำนวนมากเกี่ยวกับผลร้ายที่เกิดขึ้นจากทั้งสื่อมวลชนและองค์กรภาคประชาสังคมจากทั่วโลกไม่ได้ช่วยให้คำแก้ตัวของ NSO Group ฟังขึ้นนัก นอกจากนี้ ซีอีโอของ NSO Group กลับเคยให้สัมภาษณ์ยอมรับว่าระบบของบริษัทสามารถตรวจสอบประวัติการใช้งานของเพกาซัสได้
 
NSO Group ต้องเจอกับแรงกดดันจากหลากหลายทิศทาง ในปี 2562 เฟซบุ๊ค (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเมต้า) ได้ยื่นฟ้องบริษัท NSO Group โดยกล่าวหาว่ามีการใช้เพกาซัสเจาะโทรศัพท์ผ่านช่องโหว่ในแอปแชท WhatsApp ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งของเฟซบุ๊ค ต่อมา หลังจากการเปิดโปงครั้งใหญ่ในช่วงกลางปี 2564 แอปเปิลก็ตัดสินใจฟ้องบริษัทสัญชาติอิสราเอลจากกรณีการใช้เพกาซัสเพื่อเจาะระบบไอโฟนด้วยเช่นกัน 
 
ปัญหาใหญ่ที่สุดที่ NSO Group ต้องเผชิญคือการถูกรัฐบาลสหรัฐนำบริษัทเข้าไปใน “บัญชีดำ” ทำให้บริษัทไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและตลาดอเมริกันได้ รวมถึงส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัทอย่างมหาศาล และอาจจะเป็นการบังคับให้ต้องขายบริษัท นอกจากนี้ รัฐสภายุโรป (European parliament) ยังมีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อสอบสวนการใช้เพกาซัสในยุโรป โดยเฉพาะในฮังการีและโปแลนด์ที่เรื่องราวของสปายแวร์ได้กลายเป็นข่าวฉาวครั้งใหญ่จนคนในรัฐบาลต้องออกมายอมรับว่ามีการใช้เพกาซัสในประเทศโปแลนด์จริง
 
สำหรับในประเทศไทย ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ช่วงเวลาเดียวกับที่แอปเปิลยื่นฟ้อง NSO Group ที่สหรัฐฯ นักกิจกรรม นักวิชาการ นักการเมืองฝ่ายค้าน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไทยนับสิบคนได้รับอีเมลจากแอปเปิลเพื่อเตือนว่าตนเองกำลังตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐ (state-sponsored attack) ซึ่งได้รับการเปิดเผยในภายหลังว่าคือเพกาซัส
 
อ่านรายงานปรสิตติดโทรศัพท์ฉบับเต็มได้ที่นี่
ชนิดบทความ: