1872 1051 1664 1520 1775 1621 1450 1622 1308 1878 1684 1168 1639 1419 1034 1365 1083 1634 1182 1074 1053 1587 1532 1358 1309 1231 1824 1538 1546 1536 1680 1486 1317 1510 1274 1457 1279 1833 1252 1651 1427 1554 1281 1714 1049 1407 1150 1492 1012 1967 1586 1615 1467 1676 1638 1281 1209 1316 1929 1317 1280 1706 1617 1899 1199 1917 1288 1650 1980 1476 1653 1683 1593 1351 1029 1498 1392 1741 1402 1639 1504 1388 1087 1549 1363 1684 1782 1877 1366 1896 1897 1705 1599 1299 1085 1603 1494 1382 1028 90 ปี กษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ: ยิ่งลบยิ่งจำ - ทบทวนการอุ้มหายสัญลักษณ์คณะราษฎร การคุกคามคนติดตามของหาย และการคืนชีวิตให้คณะราษฎร | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

90 ปี กษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ: ยิ่งลบยิ่งจำ - ทบทวนการอุ้มหายสัญลักษณ์คณะราษฎร การคุกคามคนติดตามของหาย และการคืนชีวิตให้คณะราษฎร

2412
 
การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 เดินทางมาถึงขวบปีที่ 90 ในวันที่ 24 มิถุนายน 2565 การเปลี่ยนแปลงการปกครองน่าจะถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่มีความสำคัญอันดับต้นๆ ต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทยเพราะมันได้พลิกโฉมของประเทศไปอย่างมีนัยยะสำคัญ ทว่าในโอกาสพิเศษเช่นนี้กลับไม่มีความเคลื่อนไหวจากทางราชการว่าจะจัดงานรำลึกใดๆ ซึ่งอาจไม่ผิดคาดนักเพราะนับจากที่ในปี 2503 ที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เปลี่ยนวันชาติจากวันที่ 24 มิถุนายน ไปเป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้าและยังคงเป็นวันชาติเรื่อยมา เรื่องราวของการอภิวัฒน์ 2475 ค่อยๆเลือนหายไป วันที่ 24 มิถุนายน กลายเป็นวันธรรมดาๆ ขณะที่งานรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เป็นงานรำลึกที่จัดในหมู่นักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ
 
ช่วงหลังการรัฐประหารของคสช. กิจกรรมรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครองซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ชาติที่จัดโดยนักกิจกรรมถูกคสช.มอนิเตอร์อย่างใกล้ชิดถึงขั้นตั้งแนวรั้วล้อมหมุดและถ่ายภาพบัตรประชาชนของผู้ร่วมกิจกรรม ต่อมาในปี 2560 มีรายงานว่าหมุดที่เป็นสัญลักษณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองถูกแทนที่ด้วยหมุดลักษณะเดียวกันที่มีคำจารึกเป็นคำบนเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ไปฝังแทน ซึ่งทางราชการก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าหมุดถูกเปลี่ยนไปเพราะเหตุใด ขณะเดียวกันผู้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับหมุดกลับถูกคุกคาม จากนั้นในปี 2561 อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่หลักสี่ก็ถูกย้ายโดยไม่มีคำชี้แจงจากภาครัฐขณะที่ผู้ไปติดตามทวงถามกลับถูกคุกคาม คล้ายกับเรื่องราวและอนุสรณ์ทีเกี่ยวข้องกับการอภิวัฒน์สยามเป็นเรื่องต้องห้าม ทว่าความพยายาม "ลบ" ยิ่งกระตุ้นความกระหายใคร่รู้ของผู้คนจนทำให้การเคลื่อนไหวในช่วงปี 2563 - 2564 สัญลักษณ์และเรื่องราวของคณะราษฎรได้ถูกนำมาคืนชีพอีกครั้ง
 

อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ: อนุสาวรีย์ถูกย้าย-คนถ่ายรูปถูกจับ

 
2409
 
อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหรืออนุสาวรีย์ปราบกบฎซึ่งเคยตั้งอยู่ที่วงเวียนหลักสี่ ใกล้มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครและวัดพระศรีมหาธาตุ (ชื่อเดิมวัดประชาธิปไตย) ก่อสร้างแล้วเสร็จและมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2479 เพื่อเป็นอนุสรณ์และที่บรรจุอัฐิทหารตำรวจรวม 17 นายที่เสียชีวิตในการต่อสู้กับทหารของคณะกู้บ้านกู้เมือง นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดชกฤดากรที่หวังยึดอำนาจจากรัฐบาลคณะราษฎรในปี 2476  รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาตั้งเมรุชั่วคราวประกอบพิธีฌาปนกิจทหารและตำรวจทั้ง 17 นายที่ท้องสนามหลวงซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการประกอบพิธีศพของสามัญชนที่นี่ โดยพลชัย เพชรปลอด ระบุว่า รัชกาลที่ 7 ทรงไม่โปรดการดำเนินการดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง สำหรับสถานะของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ สถาพร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการกองโบราณคดี กรมศิลปากรระบุว่าอนุสาวรีย์ถือเป็นโบราณสถานตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ แล้วเพียงแต่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน 
 
2414
 
แม้จะเป็นอนุสาวรีย์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์แต่เท่าที่สืบค้นข้อมูลตั้งแต่ปี 2557 ไม่พบข่าวการประกอบรัฐพิธีที่อนุสาวรีย์แห่งนี้ โดยข้อมูลจากสถาบันปรีดีฯ ระบุว่าในสมัยที่จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับอนุสาวรีย์แห่งนี้อย่างมาก โดยจัดพิธีวางพวงมาลาทุกปีแต่เมื่อฝ่ายนิยมเจ้ามีอำนาจเหนือคณะราษฎร อนุสาวรีย์แห่งนี้ก็ถูกลดความสำคัญลง จากการสืบค้นข้อมูลพบว่าตั้งแต่ช่วงหลังปี 2550 กลับกลายเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ใช้อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นที่ชุมนุมหรือสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหว ได้แก่ กลุ่มคนเสื้อแดงที่จัดงานครบรอบ 78 ปี อนุสาวรย์ปราบกบฎในวันที่ 14 ตุลาคม 2555  และการจัดกิจกรรม "ปัดฝุ่นประชาธิปไตย" เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ของกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ โดยในกิจกรรมหลังเมื่อนักกิจกรรมที่มีจำนวนไม่ถึงสิบคนเดินเท้าจากวัดพระศรีมหาธาตุไปถึงวงเวียนหลักสี่ก็ถูกเจ้าหน้าที่อุ้มตัวขึ้นรถไปที่สน.บางเขน เพื่อตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนโดยที่พวกเขายังไม่มีโอกาสข้ามถนนไปที่ตัวอนุสาวรีย์ 
 
2415
 
ในปี 2558 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขออนุญาตกรมศิลปากรย้ายอนุสาวรีย์เพื่อทำการก่อสร้างรถไฟฟ้า ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2559 ศรัญญู เทพสงเคราะห์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งมีความสนใจประวัติศาสตร์การเมืองยุค 2475 ทราบว่าจะมีการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ จึงเดินทางไปสังเกตการณ์การเคลื่อนย้าย โดยในครั้งนั้นเขายังไม่ถูกคุกคามใดๆ ต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายนซึ่งเขาจำไม่ได้ว่าปี 2558 หรือปี 2559 ระหว่างที่เขาแวะถ่ายรูปอนุสาวรีย์ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาล้อมรถ ขอถ่ายบัตรประชาชนของเขา พร้อมทั้งข่มขู่ว่าห้ามโพสต์ภาพที่เขาถ่ายไว้
 
ต่อมาในวันที่ 27 ธันวาคม 2561 ศรัญญูทราบข่าวในช่วงบ่ายว่าจะมีการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ จึงไปสังเกตการณ์อีกครั้ง โดยไปถึงที่อนุสาวรีย์ในเวลาประมาณ 22.00 น. ปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจมาสั่งห้ามบันทึกภาพ ต่อมาเริ่มมีนักข่าวและประชาชนอีกจำนวนหนึ่งเข้ามาในพื้นที่ เจ้าหน้าที่พยายามคนที่มาห้ามถ่ายรูป ต่อมาศรัญญูถูกเชิญตัวไปที่ป้อมตำรวจและเจ้าหน้าที่ขอให้เขาเปิดโทรศัพท์ให้ดูว่าถ่ายภาพอะไรไปบ้าง “เจ้าหน้าที่ตำรวจขอถ่ายรูปบัตรประชาชนและสอบถามประวัติว่าเป็นใคร พร้อมทั้งขอเปิดดูมือถือ ในแอปพลิชั่นต่างๆ อย่างไลน์ เฟซบุ๊ก โดยอ้างว่าถ้าไม่ให้ดูจะไม่ปล่อยตัว” ศรัญญูระบุโดยเขาถูกควบคุมตัวจนถึงเวลาประมาณ 3.40 น. จึงได้รับการปล่อยตัว
 
นอกจากศรัญญูแล้วในวันเดียวกันก็มีกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ นักกิจกรรมอีกคนหนึ่งที่ไปถ่ายทอดสดการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ในวันที่ 27 ธันวาคม 2561 โดยหลังจากเขาทำการถ่ายทอดสดได้ไม่เกินห้านาทีก็มีชายประมาณสิบคนเดินเข้ามาหาถามว่าถ่ายอะไร หนึ่งในกลุ่มคนที่เดินเข้ามาหาเขายังดึงโทรศัพท์ไปจากมือเขาด้วย กาณฑ์ได้รับการปล่อยตัวในเวลาประมาณ 03.00 น. โดยที่โทรศัพท์ของเขายังถูกยึดไว้ เจ้าหน้าที่อ้างว่าจะยึดไว้ทำการตรวจสอบก่อนแล้วจะคืนให้ในช่วงเย็นวันที่ 28 ธันวาคม 2561
 
ทั้งนี้ภายหลังจากอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญซึ่งมีสถานะเป็นโบราณถูกย้ายออกไป สำนักข่าวประชาไทพยายามติดตามขอข้อมูลว่าบุคคลหรือหน่วยงานใดเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการย้ายอนุสาวรีย์และอนุสาวรีย์ถูกย้ายไปไว้ที่ใด แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ 
 
น่าสนใจว่าในขณะที่อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ สัญลักษณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฎคณะกู้บ้านกู้เมือง (กบฎบวรเดช) ถูกทำให้หายไป ชื่อของพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร หัวหน้าคณะกู้บ้านกู้เมืองและพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) นายทหารคนสำคัญของคณะกู้บ้านกู้เมืองที่เสียชีวิตในการปะทะกับทหารของรัฐบาลคณะราษฎรกลับถูกรื้อฟื้นโดยถูกนำไปตั้งเป็นชื่อห้องประชุม ที่มีการปรับปรุงใหม่ภายในกองบัญชาการกองทัพบก
 
วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหารระบุว่าที่กองทัพบกตั้งชื่อห้องประชุมศรีสิทธิสงคราม ไม่ได้หมายถึงเหตุการณ์กบฎบวรเดช แต่เพราะพระยาศรีสิทธิสงคราม เป็นนายทหารที่มีความจงรักภักดีอย่างที่สุด และไม่ได้ร่วมกับ คณะราษฎร ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เนื่องจากยึดมั่นในคำถวายสัตย์ฯ วาสนาระบุด้วยว่าแนวคิดการเปลี่ยนชื่อเป็นแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. และพล.อ.ประยุทธ์ ยังเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดใช้ห้องประชุมดังกล่าวในวันที่ 9 ตุลาคม 2562 ด้วย และต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นวันครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ในขณะนั้นมอบหมายให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รอง ผบ.ทบ.เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย พล.อ.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และบำเพ็ญกุศลแก่ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของนายทหารที่มีความจงรักภักดี
 
ตามรายงานของ The Standard แผนกแถลงข่าว กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพบกเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับพิธีบำเพ็ญตอนหนึ่งว่า
 
"ครั้น พ.ศ. 2476 ได้เกิดการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช โดยมีพระยาศรีสิทธิสงครามเป็นแม่ทัพ มีชื่อเป็นที่รู้จักกันว่า "กบฏบวรเดช" เนื่องจากพระองค์ทรงไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปกครองของพระยาพหลพลพยุหเสนา ที่มีลักษณะเป็นเผด็จการ
 
โดยเรียกร้องให้ รัฐบาลของพระยาพหลฯ ดำเนินตามแนวทางที่เสนอคือ ให้รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ และให้รัฐบาลมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยให้อำนาจฝ่ายรัฐสภาในการตรวจสอบมากขึ้นและจำกัดอำนาจของรัฐบาลมิให้คณะราษฎรกลายเป็นคณะเผด็จการ แต่ในที่สุดการก่อกบฏ ไม่เป็นผลฝ่ายรัฐบาลปราบปรามคณะกบฏลงได้
 
"วีรกรรมที่กล้าหาญและเสียสละของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และพระยาศรีสิทธิสงครามควรแก่การยกย่องในฐานะที่ทรงปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความจงรักภักดี และทรงมุ่งหวังให้ประเทศชาติดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”

 

หมุดคณะราษฎร: ทวงถาม "ของหาย" ได้เข้าค่าย "ปรับทัศนคติ"

 

2410

 
หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญหรือที่คนเรียกกันจนติดปากว่า "หมุดคณะราษฏร" เป็นหมุดกลมสีทองเหลืองจารึกข้อความ "24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ" ถูกฝังบนพื้นถนนข้างฐานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยเชื่อกันว่าจุดที่หมุดถูกฝังคือจุดที่พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรสายทหารบก ยืนอ่าน ‘ประกาศคณะราษฎร’ ฉบับแรก โดยหนังสือ "ไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ" ที่ตีพิมพ์ในปี 2482 ระบุในคำบรรยายภาพหมุดคณะราษฎรว่า มีพิธีฝังรากหมุดดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2479 เวลา 14.30 น. (อ้างใน ศรัญญู เทพสงเคราะห์ อ่านความหมาย "หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ" ในสมัยคณะราษฎร: ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 43 ฉบับที่ 8 มิถุนายน 2565 สำนักพิมพ์มติชน กรุงเทพมหานคร หน้า74 )
 
 
2418
 
การทำกิจกรรมที่หมุดคณะราษฎร 24 มิถุนายน 2557 ผู้เข้าร่วมต้องลงชื่อกับเจ้าหน้าที่ (ภาพโดย ประชาไท)
 
ในอดีตการจัดกิจกรรมที่หมุดคณะราษฎรมักเป็นการจัดกิจกรรมในช่วงเวลาสั้นๆ มีผู้เข้าร่วมไม่มากนัก รูปแบบกิจกรรมก็มีเพียงการอ่านบทกวีและวางดอกไม้บริเวณหมุด วาด รวีหรือ รวี สิริอิสสระนันท์ นักเขียนและกวีผู้ล่วงลับจากกลุ่มกวีมันสูญ คือหนึ่งในขาประจำที่เข้าร่วมกิจกรรมรำลึกที่ลานพระบรมรูปทรงม้า
 
กิจกรรมรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ถูกจับตาอย่างใกล้ชิดในช่วงเวลาที่คสช.อยู่ในอำนาจ กิจกรรมรำลึกในวันที่ 24 มิถุนายน จัดขึ้นในช่วงที่มีการประกาศใช้กฎอัยการหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แม้กิจกรรมจะดำเนินไปได้แต่ก็ถูกมอนิเตอร์โดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอย่างใกล้ชิด ถึงขั้นนำรั้วเหล็กมากั้นพื้นที่บริเวณหมุดพร้อมทั้งตรวจบัตรประชาชนและจดชื่อของผู้เข้าร่วมกิจกรรมรำลึกทุกคนไว้ มาถึงปี 2559 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่มีการจัดกิจกรรมรำลึกวันเปลี่ยนแปลงการปกครองที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าก่อนที่หมุดจะหายไป มีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่พยายามควบคุมตัวสิรวิชญ์หรือนิว นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวต่อต้านคสช. ออกจากพื้นที่แต่ก็ถูกคนที่ร่วมทำกิจกรรมประท้วงจนท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่ต้องยอมให้สิรวิชญ์ร่วมทำกิจกรรม
 
เดือนเมษายน 2560 ผศ.ศาสตรินทร์ ตันสุน จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มอบหมายงานให้นักศึกษาไปทำรายงานเรื่องหมุดคณะราษฎร นักศึกษากลุ่มแรกไปถ่ายภาพหมุดในช่วงประมาณวันที่ 1 หรือ 2 เมษายน โดยพบว่าหมุดยังเป็นหมุดเดิม ส่วนกลุ่มที่สองไปถ่ายภาพในวันที่ 8 เมษายน 2560 ซึ่งพบว่าหมุดถูกเปลี่ยนไปเป็นหมุดอันใหม่ ศาสตรินทร์จึงคาดว่าหมุดน่าจะถูกเปลี่ยนในช่วงระหว่างวันที่ 3 - 7 เมษายน 2560 หลังมีข่าวว่าหมุดหายมีประชาชนส่วนหนึ่งออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทว่าคำตอบที่ได้รับอาจไม่น่าพอใจนัก กทม.ชี้แจงในวันที่ 19 เมษายน 2560 ว่ากล้องวงจรปิดของกทม.บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าไม่สามารถใช้การได้เพราะถอดไปซ่อมบำรุงตั้งแต่ 31 มีนาคม 2560 ขณะที่กรมศิลปากรก็ระบุว่าหมุดคณะราษฎรไม่ใช่โบราณวัตถุและไม่ได้อยู่ในความดูแลของตัวเอง
 
เมื่อคำตอบจากภาครัฐไม่เป็นที่นี่พอใจประชาชนกลุ่มหนึ่งจึงออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ด้วยตัวเอง เช่น ศรีสุวรรณ จรรยา ไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ใช้อำนาจติดตามหมุดคณะราษฎรที่หายไป ปรากฎว่าเขาถูกควบคุมตัวไปปรับทัศนคติที่ค่ายทหาร โดยระหว่างถูกควบคุมตัวมีทหารคนหนึ่งมาขอให้เขายุติการเคลื่อนไหวเรื่องหมุดพร้อมกล่าวทำนองว่า เรื่องหมุดคณะราษฎรมันเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงมาก โดยศรีสุวรรณ ระบุด้วยว่าระหว่างที่เขาถูกนำตัวไปที่ค่าย เขาถูกปิดตาจากนั้นทหารจะขับรถวนไปเวียนมาคล้ายไม่อยากให้เขารู้ว่าจะพาไปที่ใด 
 
นอกจากกรณีของศรีสุวรรณก็มีกรณีของบุญสิน หยกทิพย์ ที่ถูกเชิญตัวไปปรับทัศนคติในค่ายทหารหลังเข้าร้องทุกข์ที่ สน.ดุสิตเพื่อขอให้ตำรวจทำการติดตามหมุดคณะราษฎร โดยบุญสินให้ข้อมูลกับนักข่าวด้วยว่าเขาคาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าจะถูกเอาตัวไป เพราะหลังแจ้งความกับตำรวจเสร็จเขาตั้งใจจะเดินเท้าไปยังลานพระบรมรูปทรงม้าและใช้เครื่องขยายเสียงพูดไปตลอดทาง โดยตัวเขาเองตั้งใจให้เจ้าหน้าที่พาตัวไปปรับทัศนคติอยู่แล้ว เพราะเขาเองก็ตั้งใจอยากจะไป "ปรับทัศนคติ" เจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ 
 
และยังมีกรณีของเอกชัย หงส์กังวาน ที่ประกาศว่าในวันที่ 24 มิถุนายน 2560 เขาจะไปขุดหมุดหน้าใสออกแล้วเอาหมุดคณะราษฎรจำลองไปฝังแทน ปรากฎว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่ดักควบคุมตัวที่บริเวณใกล้ลานพระบรมรูปทรงม้า เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวเขาพร้อมถังปูนและหมุดคณะราษฎรจำลองไปที่มทบ.11 เอกชัยได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งที่มีส่งเขาได้ทำการตรวจค้นบ้านเขาเพื่อหากล่องพัสดุที่ เอกชัยระบุว่ามีคนส่งหมุดคณะราษฎรจำลองมาให้เขาที่บ้านด้วย 
 

กำเนิดใหม่ คณะราษฎร

 
2411
 
นอกจากหมุดคณะราษฎรและอนุสาวรีย์ปราบกบฏแล้ว ยังมีสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรอีกส่วนหนึ่งที่ทยอยหายสาบสูญหรือถูกเคลื่อนย้ายเปลี่ยนแปลง โดยปรากฏการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2560 เดือนมกราคม 2563 มีการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ของพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรสายทหารบก ออกจากพื้นที่เดิมในศูนย์การทหารปืนใหญ่ หรือ ค่ายพหลโยธิน จังหวัดลพบุรี ซึ่งพระยาพหลเคยประจำการ ก่อนที่ในเดือนมีนาคมปีเดียวกันจะมีการเปลี่ยนชื่อค่ายดังกล่าวเป็นชื่อค่ายภูมิพล ขณะที่กองพลทหารปืนใหญ่ที่อยู่ในจังหวัดลพบุรีเช่นกันก็ถูกเปลี่ยนชื่อจากค่ายพิบูลสงครามเป็นค่ายสิริกิติ์ นอกจากนี้ก็ยังมีการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ของจอมพล ป.ที่เดิมตั้งอยู่ในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ถนนวิภาวดีรังสิตในเดือนมกราคม 2563 และการถอดชื่อจอมพล ป. ออกจากบ้านพักเก่าของจอมพล ป.ในจังหวัดเชียงรายเหลือเพียงคำว่า "ศูนย์การเรียนรู้เชิงประวัติ" ในป้ายชื่ออันใหม่ 
 
2417
 
ภาพจาก ประชาไท
 
อย่างไรก็ตามการลบประวัติศาสตร์คณะราษฎรดูจะไม่ได้ทำให้เรื่องราวของคณะราษฎรถูกลบเลือนไป และกลายเป็นว่าสัญลักษณ์แวดล้อมคณะราษฎรกลับยังถูกนำมาผลิตซ้ำหรือสร้างสรรค์ในลักษณะใหม่ๆ เป็นระยะ และที่สำคัญที่สุดคือการนำคำว่า "ราษฎร" ซึ่งเป็นคำเรียกสามัญชนในสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาใช้เป็นชื่อขบวนการเคลื่อนไหวที่ก่อตัวขึ้นในปี 2563
 
จากข้อมูลของ Mob Data Thailand ในวันที่ 24 มิถุนายน 2563 มีการชุมนุมหรือจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างน้อยเก้าครั้งในห้าจังหวัด โดยมีไฮไลท์อยู่ที่การจัดกิจกรรมในช่วงย่ำรุ่งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยฉายโฮโลแกรมเหตุการณ์การอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ในปี 2475 จากนั้นในช่วงสายคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ยังจัดการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเกียกกายเพื่อทวงถามความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 จาก คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยหนึ่งในไฮไลท์ของกิจกรรมดังกล่าวคือการนำหมุดคณะราษฎรจำลองขนาดใหญ่มาตั้งในพื้นที่และมีผู้นำนุมคนหนึ่งแต่งกายด้วยเครื่องแบบทหารสมัย 2475 มาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ประกอบเสียงอ่านแถลงการณ์คณะราษฎรด้วย 
 
แม้สัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรจะค่อยๆ ถูกทำลายในหลายพื้นที่ แต่มีความน่าสนใจว่าในปี 2563 พื้นที่ภาคอีสานยังมีสัญลักษณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเหลืออยู่ ทั้งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น และอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญที่มหาสารคามและสุรินทร์ ซึ่งมีการจัดกิจกรรมรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างคึกคัก
 
นอกจากการจัดกิจกรรมรำลึก 24 มิถุนาแล้ว การไล่ลบเรื่องราวเกี่ยวกับจอมพล ป.ยังส่งผลให้กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยจัดกิจกรรม “HAPPY BIRTHDAY แบบแปลกแปลก” ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 123 ปีชาตกาลของจอมพล ป.ด้วย โดยไฮไลท์ของงานดังกล่าวคือการเป่าเทียนเค้กวันเกิดที่มีรูปหน้าจอมพล ป.
 
2419
 
ภาพงานวันเกิดจอมพล ป. 14 กรกฎาคม 2563 
 
สัญลักษณ์แวดล้อมคณะราษฎรยังถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวในช่วงปี 2563 อยู่หลายครั้งด้วย เช่น ภาษาที่ใช้ในประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1 ที่มีสาระสำคัญคือ 10 ข้อเรียกร้องเพื่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นภาษาที่ล้อมาจากภาษาที่ปรากฎในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ต่อมาในการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ซึ่งเป็นการชุมนุมค้างคืนที่ท้องสนามหลวงระหว่างวันที่ 19 - 20 กันยายน 2563 ก็มีไฮไลท์สำคัญอยู่ที่การฝังหมุดคณะราษฎร 63 บนพื้นสนามหลวงในช่วงย่ำรุ่งของวันที่ 20 กันยายน 2563 แม้ว่าหน้าตาของหมุดคณะราษฎร 63 จะมีการออกแบบในลักษณะที่ไม่เป็นทางการทว่าคำจารึกบนหมุดที่ว่า "ณ ที่นี้ผองราษฎรได้แสดงเจตนารมณ์ ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่สมบัติของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง" ก็เป็นถ้อยคำที่ล้อไปกับคำในประกาศคณะราษฎร์ฉบับที่ 1 นอกจากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมยังได้เลือกใช้วิธี "ฝังหมุด" เช่นเดียวกับที่คณะราษฎรเคยทำเพียงแต่เปลี่ยนสถานที่จากลานพระบรมรุปทรงม้ามาเป็นท้องสนามหลวง และที่สำคัญในเดือนตุลาคม คำว่า "ราษฎร" ซึ่งเป็นคำเรียกประชาชนในยุค 2475 ยังได้ถูกนำมาใช้เรียกขบวนการเคลื่อนไหวที่ชูข้อเรียกร้องคือให้ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และองคาพยพลาออก 2.ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชนมีส่วนร่วม และ 3.ให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย
 
ขณะที่แวดวงวิชาการเองในช่วงหลังปี 2560 ก็มีการตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับคณะราษฎรที่เป็นการศึกษาในมิติใหม่ๆ ออกมาหลายเล่ม เช่น หนังสือ "หลังบ้านคณะราษฎร" ของชานันท์ ยอดหงษ์ (2564) ที่ศึกษาบทบาทของภรรยาผู้ก่อการคณะราษฎรหลายคนๆ ให้ห้วงเวลาก่อนและหลังการปฏิวัติ หนังสือ "2475 ราษฎรพลิกแผ่นดิน" ของนริศ จรัสจรรยาวงศ์ (2564) ซึ่งเป็นการปรับปรุงบทความของเขาที่เคยเผยแพร่ในวารสารศิลปวัฒนธรรมมารวมเล่มกับงานเขียนชิ้นใหม่ โดยผลงานของนริศมีจุดเด่นที่การค้นคว้าเอกสารชั้นต้นและภาพประกอบร่วมสมัยคณะราษฎรที่หาจากที่อื่นได้ยากและมีการศึกษาคณะราษฎรในมิติที่อาจยังไม่ถูกพูดถึงมากนัก อาทิ บทบาทของผู้ก่อการที่เป็นชาวมุสลิม และหนังสือ "ตามรอยอาทิตย์อุทัย" ของณัฐพลใจจริงที่ตีพิมพ์ออกมาในช่วงปี 2563 ศึกษานโยบายสร้างชาติของจอมพล ป.สงคราม ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยแรกซึ่งอยู่ในช่วงของสงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่สองในเอเชีย) โดยหนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์ในปีเดียวกับที่สัญลักษณ์แวดล้อมจอมพล ป. ที่กล่าวข้างต้นถูกทำให้หายไป
 
นอกจากการถูกคืนชิวิตบนท้องถนนและในงานวิชาการแล้ว คณะราษฎรยังถูกคืนชีวิตในรูปแบบของการสร้างสรรค์งานศิลปะ สินค้าที่ระลึก รวมถึงอาหารด้วย เช่น ร้านโตเกียวฮอทได้ร่วมเฉลิมฉลองวันอภิวัฒน์สยาม 2475 ด้วยการทำขนมโตเกียวลายหมุดคณะราษฎรออกขายในวันที่ 24 มิถุนายน 2563 โดยรายได้จากการขายเครปรูปหมุดในวันดังกล่าวจะถูกนำไปมอบให้มูลนิธิกระจก เพื่อเข้าในโครงการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขณะที่เนติวิทย์ก็เคยทำคุกกี้เป็นรูปหมุดคณะราษฎรออกขายด้วยเช่นกัน มูลนิธิป๋วยเคยทำปฏิทินภาพคณะราษฎรออกจำหน่ายอย่างน้อยสองครั้งได้แก่ปฏิทิน "ไทยใหม่" ปี 2563 ที่นำเสนอเรื่องราวงานวัฒนธรรมและสิ่งปลูกสร้างยุคคณะราษฎรเป็นภาพเขียน 12 ภาพในปฏิทิน และปฏิทินป๋วย ปี 2565 ที่นำเสนอภาพผู้ก่อการคณะราษฎร 12 คนด้วยลายเส้นคล้ายมาร์เวลคอมมิกส์ นอกจากนั้นยังมีการนำภาพหมุดคณะราษฎรและสมาชิกคณะราษฎรบางส่วนไปทำเป็นลวดลายบนเสื้อออกจำหน่ายด้วย ขณะที่ภาพของจอมพล ป. ยังถูกนำไปทำเป็นมีม "เชื่อกูแต่แรกก็จบแล้ว ไอ้สัส" ที่ถูกแชร์ในอินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย

 

ชนิดบทความ: