1632 1540 1629 1067 1603 1295 1357 1438 1848 1315 1756 1092 1848 1274 1888 1839 1957 1359 1414 1906 1165 1089 1617 1393 1184 1363 1303 1446 1610 1247 1334 1016 1464 1877 1803 1894 1984 1490 1511 1065 1592 1636 1885 1046 1803 1993 1379 1428 1385 1721 1087 1156 1599 1671 1529 1806 1164 1016 1523 1544 1356 1463 1546 1578 1196 1119 1914 1354 1922 1623 1761 1571 1870 1975 1650 1719 1056 1741 1072 1534 1618 1552 1929 1043 1931 1301 1094 1617 1460 1358 1110 1116 1259 1769 1176 1600 1956 1325 1057 8 ปี ไม่เปลี่ยนผัน อานนท์ นำภา จากจำเลยคดีชุมนุมสู่ผู้ต้องขังคดี 112 | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

8 ปี ไม่เปลี่ยนผัน อานนท์ นำภา จากจำเลยคดีชุมนุมสู่ผู้ต้องขังคดี 112

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เวียนมาครบรอบแปดปีในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ระยะเวลาแปดปีที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในประเทศนี้หลายประการ เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผันตัวจากหัวหน้าคณะรัฐประหารมาเป็นนายกรัฐมนตรีที่เข้าสู่อำนาจตามกลไกปกติรัฐธรรมนูญ 2560 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ คสช.ผันตัวเป็นนักการเมืองแบบเต็มตัวด้วยการสมัครเป็นสมาชิกและขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขณะเดียวกันสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาจากการแต่งตั้งของคสช. ก็แปลงรูปร่างใหม่เป็น ส.ว.แต่งตั้ง จากนั้นก็มีการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ในวันที่ 24 มีนาคม 2562
 
การเลือกตั้งในปี 2562 และการสิ้นสภาพของคสช. น่าจะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพของประชาชนดีขึ้นแต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลกตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 พล.อ.ประยุทธ์ก็ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศและบริหารประเทศด้วยอำนาจพิเศษอีกครั้ง แม้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะไม่กว้างขวางและเข้มข้นเท่าอำนาจตามมาตรา 44 ก็ตาม ขณะที่การบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เข้มข้นในช่วงต้นหลังการยึดอำนาจของคสช. ก่อนจะเริ่มผ่อนคลายในไปในช่วงปี 2560 ก็ถูกนำกลับมาบังคับใช้อย่างเข้มข้นอีกครั้งหลังเดือนพฤศจิกายน 2563 และถูกใช้หนักกว่ายุคที่คสช.มีอำนาจเต็มเสียด้วยซ้ำ
 
เมื่อผู้นำไม่เปลี่ยนหน้าและสถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง นักกิจกรรม รวมถึงนักการเมืองบางส่วนที่เคยเคลื่อนไหวต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์คสช. จึงยังคงมีบทบาทในทางการเมืองอยู่ในปัจจุบันมากบ้าง น้อยบ้าง แตกต่างกันไป ในโอกาสครบรอบแปดปีการรัฐประหาร เราอยากชวนย้อนดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชีวิตของทนายอานนท์ นำภา ทนายความและนักกิจกรรมทางการเมืองที่เคยออกมาเคลื่อนไหวในยุคคสช. จนถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. และคดียุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ก่อนที่เขาจะเริ่มมีบทบาททางการเมืองมากขึ้นในการชุมนุมช่วงปี 2563 และเป็นผู้เริ่มปราศรัยประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผยเป็นทางการในที่ชุมนุมเป็นคนแรกจนทำให้เขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รวม 14 คดี (นับถึง 11 พฤษภาคม 2565) ซึ่งมากเป็นอันดับที่สองในบรรดาคนที่ถูกดำเนินคดี 112 ตั้งแต่พฤศจิกายน 2563
 
2381
จากเลือกตั้งที่(รัก)ลักถึงคนอยากเลือกตั้ง "ทนายน้อยๆ" ในยุคคสช.
 
ทนายอานนท์อาจไม่ใช่คนใหม่สำหรับแวดวงการเมืองเพราะในช่วงหลังการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 ทนายอานนท์ก็เข้าไปทำงานเป็นทนายความให้คนเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดีความมั่นคงด้วย นอกจากนั้นก็เป็นทนายความให้เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในปี 2554 อย่างไรก็ตามบทบาทข้างต้นก็ยังถือว่าเป็นการแสดงบทบาทในวิชาชีพทนายความไม่ใช่ในฐานะนักเคลื่อนไหวทางการเมือง
 
ทนายอานนท์ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านคสช.ในฐานะผู้ชุมนุมจนตัวเองตกเป็นจำเลยครั้งแรกในกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลัก ซึ่งจัดในวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ 2558 เพื่อรำลึกถึงการเลือกตั้ง 4 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ถูกประกาศให้เป็นโมฆะ โดยก่อนวันที่จะมีกิจกรรมดังกล่าวทนายอานนท์ยังร่วมแสดงในมิวสิควิดีโอ จูบเย้ยจันทร์โอชา มิวสิควิดีโอเสียดสีการเมืองที่ใช้โปรโมทกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลักด้วย 
 
"ผมก็มีความเป็นพลเมือง ไม่ได้เป็นทนายความ 24 ชั่วโมง ในความเป็นพลเมืองก็ต้องพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพ" คือเหตุผลที่ผลักดันให้ทนายอานนท์ตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองควบคู่ไปกับการทำหน้าที่ทนายความว่าความให้ผู้ถูกดำเนินคดีเพราะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง
 
ในวันที่ทำกิจกรรมทนายอานนท์และผู้เข้าร่วมกิจกรรมอีกสามคนถูกควบคุมตัวไปที่ สน.ปทุมวันเพื่อตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน และถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร แม้ว่าในคดีนี้ทนายอานนท์จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในวันเดียวกันแต่เนื่องจากราชทัณฑ์ไม่มีส่วนงานที่ศาลทหารทนายอานนท์จึงถูกนำตัวไปอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพระหว่างรอคำสั่งประกันซึ่งครั้งนั้นนับเป็นครั้งแรกที่เขาต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำเป็นการชั่วคราว ก่อนที่เขาจะกลายเป็นแขก "พักยาว" ในเวลาต่อมา 
 
"ไม่คิดว่าจะถูกจับเพราะการทำกิจกรรมแบบนี้ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่คาดหมายได้ว่าจะถูกปิดพื้นที่ไม่ให้จัด อย่างมากก็อาจจะโดนเรียกไปคุย เวลาทำกิจกรรมแต่ละครั้งที่ผ่านมาก็จะมีทหารและตำรวจมาคอยทำให้การจัดไม่ราบรื่น เราคิดว่าการพูดถึงการเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก็คงเป็นเรื่องอ่อนไหวที่ทหารตำรวจไม่อยากให้พูด"
 
"ผมอยากทำให้คนอื่นที่ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอะไรได้เห็นเป็นตัวอย่างนะ เวลาคิดเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมือง จะคิดเรื่องการติดคุกไม่ได้ เราต้องคิดว่าสิ่งที่เราทำมันเป็นสิ่งที่ทำได้ การถูกขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่รัฐ นั้นเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ใช่ความผิดของคนออกมาเคลื่อนไหว" คือบางช่วงบางตอนที่ทนายอานนท์เปิดใจหลังถูกดำเนินคดีเลือกตั้งที่(รัก)ลัก
 
หลังเกิดคดีนี้ทนายอานนท์ยังคงเคลื่อนไหวจนตัวเองถูกดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง เช่น ในช่วงเดือนเมษายน 2559 ซึ่งมีกรณีที่วัฒนา เมืองสุข และประชาชนเก้าคนถูกทหารใช้อำนาจพิเศษบุกควบคุมตัวถึงบ้านในช่วงเช้ามืด ทนายอานนท์ นำภาก็โพสต์เฟซบุ๊กประกาศว่าจะไปยืนสงบนิ่งที่สกายวอล์กอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อเรียกร้องให้ทหารปล่อยตัวประชาชนที่ถูกควบคุมตัวส่งผลให้เขาถูกดำเนินคดีในความผิดฐานไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ อีกสองคดี 
 
ทนายอานนท์มาเริ่มถูกตั้งข้อหาความมั่นคงครั้งแรกในปี 2561 เมื่อเขาออกมาร่วมการชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งและมีบทบาทในการขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีคสช. โดยเขาถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากการร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งรวมสี่คดี ได้แก่คดีการชุมนุมที่สกายวอล์กซึ่งเป็นการชุมนุมครั้งแรก (คดี MBK39) คดีการชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน (คดี RDN50) คดีการชุมนุมที่หน้ากองทัพบก (คดี Army57) และ คดีการชุมนุมที่หน้าที่ทำการสหประชาชาติ (คดี UN62) แต่ในการถูกดำเนินคดีเหล่านั้นทนายอานนท์ยังไม่เคยถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี
 
นอกเหนือไปจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองและว่าความให้จำเลยคดีการเมืองแล้ว ทนายอานนท์ยังมีบทบาทในการระดมทุนสาธารณะเพื่อนำเงินมาใช้เป็นหลักทรัพย์ประกันตัวของผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองด้วย โดยเขาประกาศระดมทุนครั้งแรกเมื่อตัวเขาและนักกิจกรรมอีกสามคนถูกดำเนินคดีจากกิจกรรม "เลือกตั้งที่(รัก)ลัก" ทนายอานนท์สามารถระดมเงินบริจาคเพื่อนำไปใช้เป็นหลักทรัพย์ประกันตัวของเขาและนักกิจรรมอีกสามคนได้ถึง 500,000 บาทในเวลาอันรวดเร็ว แต่เนื่องจากศาลทหารกรุงเทพเรียกหลักทรัพย์ประกันตัวไม่ถึงเงินที่ระดมไว้ อานนท์จึงเก็บเงินที่เหลือไว้และเมื่อมีคนถูกจับจากการแสดงออกทางการเมืองเขาจะโพสต์ข้อความขอความเห็นเรื่องการนำเงินที่ระดมทุนที่เหลือมาให้วางเป็นหลักทรัพย์ให้จำเลยคนอื่นๆและประกาศขอระดมทุนเพิ่มเติมในบางโอกาสเมื่อเงินประกันไม่พอ เพื่อความโปร่งใสอานนท์จึงให้ วีรนันท์ ฮวดศรี ทนายอาสาของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนอีกคนหนึ่งและ ไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา บรรณาธิการวารสารอ่านซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันผู้ต้องขังคดีการเมืองหลายคนมาร่วมถือบัญชีและการเบิกจ่ายแต่ละครั้งต้องใช้รายชื่อผู้ถือบัญชีสองในสาม
 
“เป้าหมายของการระดมทุนไม่เพียงแค่เพื่อช่วยนักโทษทางการเมืองเท่านั้น แต่เราอยากส่งสารถึง คสช. ว่าการกระทำของเรามีประชาชนจำนวนมากให้การสนับสนุน” คือแนวคิดเบื้องหลังการระดมทุนตามคำบอกเล่าของทนายอานนท์ ในช่วงปี 2563 เมื่อทนายอานนท์ตกเป็นจำเลยในคดีการเมืองโดยเฉพาะคดีมาตรา 112 หลายคดี เขาจึงถอนตัวจากการเป็นผู้ถือบัญชีร่วม ส่วนเงินในบัญชีที่เหลือก็ได้ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของ "กองทุนราษฎรประสงค์" ในเวลาต่อมา 
 
เปิดฟ้ารือเพดาน คำปราศรัยว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์และชีวิตในพันธนาการ 
 
"ด้วยความให้เกียรติและเคารพต่อตัวเอง ให้เกียรติและเคารพต่อพี่น้องที่มาฟังและเคารพและให้เกียรติอย่างสูงสุดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เรามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพูดถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เกี่ยวกับการเมืองไทย ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้" คือคำเกริ่นนำของทนายอานนท์ นำภาก่อนกล่าวปราศรัยในการชุมนุมเสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตยเมื่อ 3 สิงหาคม 2563 การปราศรัยครั้งนั้นกลายเป็นอิฐก้อนแรกที่ปูให้การปราศรัยเรื่องการสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่ชุมนุมกลายเป็นเรื่องธรรมดาไม่ใช่เรื่องต้องห้ามเช่นแต่ก่อน
ในขณะทึ่ทนายอานนท์ปราศรัย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ยังอยู่ระหว่าง "งดใช้ชั่วคราว" ดังที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยให้สัมภาษณ์สื่อไว้ในเดือนมิถุนายนว่า ในหลวงรัชกาลที่สิบทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เบื้องต้นทนายอานนท์จึงถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะมาแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มเติมกับเขาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ออกแถลงการณ์ว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรากับผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563
 
หลังขึ้นปราศรัยในวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ทนายอานนท์ยังคงเข้าร่วมการชุมนุมและขึ้นปราศรัยอยู่เป็นระยะๆ โดยการปราศรัยครั้งสำคัญๆ ได้แก่ การปราศรัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 การชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่ท้องสนามหลวง และการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นการเคลื่อนขบวนจากท้องสนามหลวงไปทำเนียบรัฐบาล เป็นต้น โดยในหลายๆ ครั้งที่ขึ้นปราศรัยทนายอานนท์อภิปรายประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จนเป็นเหตุให้หลังมีการเปลี่ยนนโยบายเรื่องมาตรา 112 ทนายอานนท์ถูกตั้งข้อกล่าวหาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มมากขึ้น หากนับถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 เขามีคดี 112 รวมทั้งสิ้น 14 คดี 
 
ระหว่างปี 2563 - 2565 ทนายอานนท์ถูกคุมขังทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาลห้าครั้งคิดเป็นเวลารวม 339 วัน โดยช่วงเวลาที่ถูกคุมขังนานที่สุดเป็นเวลา 202 วัน ระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 เมื่อเขาถูกฝากขังในคดีการชุมนุมที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 (คดีปราศรัยเสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน - ปราศรัยแฮรี พอตเตอร์ ภาค 2) ในวันที่ 3 มีนาคม 2564 ซึ่งศาลอาญานัดสืบพยานคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้าที่ทำการสหประชาชาติ (คดี UN62) ทนายอานนท์ซึ่งเป็นทั้งจำเลยและทนายความให้จำเลยในคดีนี้ถูกเบิกตัวมาศาลจากเรือนจำในชุดนักโทษ ซึ่งทนายอานนท์เองก็ได้สวมชุดครุยทับชุดนักโทษทำหน้าที่ทนายความในคดีดังกล่าวด้วย โดยผู้พิพากษาที่นั่งบัลลังก์พิจารณาคดีกล่าวกับทนายอานนท์ว่า
 
“ในเมื่อศาลยังไม่ตัดสิน ก็ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ เมื่อยังเป็นทนายความอยู่ ก็ถือว่ายังมีศักดิ์และสิทธิ์ตามกฎหมาย ควรจะมีสิทธิมานั่งทำหน้าที่ทนายความได้” 
 
สุดท้ายแม้ศาลจะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแต่ทนายอานนท์ก็ถูกจำกัดความเคลื่อนไหวด้วยเงื่อนไขตามสัญญาประกันของศาล ซึ่งได้แก่ ห้ามทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ที่อันจะทำให้เกิดความเสื่อมเสีย หรือด้อยค่าต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันศาลในทุกด้าน ห้ามจำเลยกระทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล ห้ามจำเลยโพสต์ข้อความที่เป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น หรือซักชวนให้มวลชนเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดียหรือเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามจำเลยออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 19 นาฬิกา ถึงเวลา 6 นาฬิกา ของวันใหม่ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเพื่อการรักษาพยาบาลหรือได้รับอนุญาตจากศาลและ ให้จำเลยติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อจำกัดระยะเวลาเดินทาง เป็นต้น